หนองจาน ถึงคุกเปร็ยซอ คดีอัปยศข้ามชาติ
โดย : ประชุม ประทีป
ซ้ำซัดซับซ้อนสับสน ยุดยื้อยึกยัก ชิงไหวชิงพริบสร้างภาพ ใครหลายคนหวังผลคดี”วีระ, ราตรี"ติ่งของปัญหาไทย-เขมร แต่อาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียววันหน้า
29 ธันวาคม 2553 ประมาณ 13 นาฬิกา ชะตาชีวิตสองคนหักเหอย่างแรง จากทีม 10 คนให้รอที่รถ 3 อีก 7 คน* ก้าวพ้นถนนศรีเพ็ญเข้าบริเวณบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ไปดูปัญหาคนไทยร้องเรียนที่ดินใกล้หลักเขตแดนที่ 46 ถูกต่างชาติยึดครอง
เดินเข้าไปประมาณ 600 เมตร คนที่รถเห็นทหารกัมพูชา 5-6 คนถืออาวุธมาคุมตัวทั้งหมดเดินหายไป
สำหรับ วีระ บริเวณนี้เขาเคยมาสำรวจด้วยเรื่องเดียวกันนี้ และถูกจับเมื่อ 20 สิงหาคมปีกลาย ตชด.ไทยช่วยเจรจาปล่อยตัวออกมา
เขาคัดค้านอย่างสุดตัว ไม่ยอมให้กัมพูชายึดดินแดนที่มีหลักฐานคนไทยครอบครอง เขาร่วมชุมนุมค้านนำร่างบันทึกข้อตกคณะกรรมาธิการชายแดนไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี เข้าสู่รัฐสภาเพื่ออนุมัติ คัดค้านยูเนสโก้เข้าข้างเขมรจะรวบรัดรับรองแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาท พระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว
"วีระ" เป็นคนเดียวไปประท้วงการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่บราซิล มิ.ย.53
เขาร่วมระดมมวลชนนำไปสำแดงพลังทวงคืนเขาพระวิหาร ปะทะกับชาวบ้านภูมิซรอล ถึงสองหน!
วันนั้น เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ เทียนพุทธ พุทธพงษ์อโศก ผอ.สถานีโทรทัศน์ FMTV นำมวลชนชุมนุมหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลไทย เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ขับไล่ทหารกัมพูชาและชุมชนกัมพูชาออกจากดินแดน ไทย และนำคนไทยกลับบ้าน
เล่ห์เขมร กลไทย
ข่าว จับ 7 คนไทยดังไปทั่วราวไฟลาม แต่ระหว่างนั้น การให้ข่าวของคนในรัฐบาล และกองทัพพูด ล้วนวกอ้อมไม่ชัดเจน ซ้ำไปเพิ่มน้ำหนักข้อกล่าวหาคนไทยกระทำผิดได้ทั้งสิ้น ผ่านไประยะหนึ่งจนกระทั่งประเมินได้ว่า การเคลื่อนไหวมวลชนอย่างเดียว กดดันรัฐบาลไทยที่ไม่เอาธุระไม่พอ ที่ประชุมเครือข่ายคนไทยฯ ตั้งหลักจะต่อสู้เพิ่มด้วยแนวทางกฎหมายระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาเจนีวา และตั้งทีมเฉพาะกิจไปช่วยสู้คดี
นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ส. ส.ว.บุรีรัมย์ เป็นทนายความ พูดภาษาเขมรถิ่นซึ่งสื่อสารได้กับกัมพูชา มีประสบการณ์ในกัมพูชาพอตัว เป็นหัวหน้าทีม
กำหนด “ธงนำ” ไม่รับคำตัดสินทุกศาลของกัมพูชา
หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกตั๋วการบินไทยไว้ล่วงหน้า 2-3 วัน ในฐานะส่วนหนึ่งครอบครัวการบินไทย ทีมที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายคนไทยฯ 7 คนบินไปพนมเปญถึงเช้าวันอาทิตย์ 9 ม.ค. สถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประสานงานมีรถตู้มารับและพาส่งโรงแรมเดอะ รีเจนท์ พาร์ค 10 โมงเช้า
พลันรถจอดหน้าหน้าโรงแรม เธอเปิดเครื่องโทรศัพท์มือถือ ข้อความมีสคอลเพียบ และสัญญาณดังขึ้น กดรับ เป็นผู้สื่อข่าวไทยเร่งเร้าถาม “อาจารย์หม่อมอยู่ไหนแล้ว” ...ไม่นานล็อบบี้โรงแรมก็พรึ่บ กองทัพนักข่าว
"หนึ่งทุ่มคืนนี้ สถานทูตให้ไปพบ" การุณ เอ่ยขึ้น
...หัวโต๊ะทำดูราวราชสีห์ คือ ประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทยประจำพนมเปญ ธรรมเนียมไทยยกมือไหว้ต่างทิ้งหมด ญาติของวีระ สมความคิด ญาติ นฤมล จิตรวะรัตนา ญาติของราตรี ต่างมากันเองอยู่ร่วมโต๊ะด้วย
ท่านทูตแหงะหน้าดูคนนั้นที คนนี้ที แล้วถามขึ้น
"คุณเป็นใคร?" การุณ นั่งใกล้หัวโต๊ะ ถัดมา ณฐพร โตประยูร และ ม.ล.วัลย์วิภา สองคนแรกแนะนำตัวอย่างเสียมิได้ แต่เธอไม่ทันจะเอ่ย ท่านทูตโบกมือพลางว่า “ไม่ต้องแล้ว อาจารย์วัลย์วิภา ผมรู้จักดี”
บรรยกาศการหารือไม่ค่อยเป็นกันเองนัก ดูราวกับไม่ญาติเชื้อคนไทยกำลังหารือจะช่วยคนไทยด้วยกัน ตกลงวันจันทร์ 10 ม.ค. ก็ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าเยี่ยม
เหยียบพนมเปญหนนี้ “จันศรี นิวาส” กรรมการเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ ชาวขุนหาญ ศรีสะเกษ โผล่มาแสดงตัว ดักรอที่โรงแรม พร้อมกับชาวเขมรสองคน กุลีกุจอช่วยยกของ ขับรถตามเหมือนอารักขา ไปรอหน้าเรือนจำเปร็ยซอ หากาแฟให้ดื่ม
จันศรี มีเชื้อสายเขมร แม่ของ”จันศรี” ข้ามมาฝั่งไทยหนีสงครามกลางเมือง จนลูกได้สัญชาติไทย แต่น้า น้องสาวแม่ยังอยู่ในกัมพูชา สายสัมพันธ์จึงแน่นแฟ้น ไปมาหาสู่กัน
"วีระ" ลั่นเจตนารมณ์หนแรกพนมเปญ 13-14 ม.ค. การุณ ล่วงหน้าไปตั้งสำนักงานย่อย พยายามติดต่อพบทนายความกัมพูชาที่สถานทูตไทยว่าจ้างช่วยคดี นายรุ โอน ทนายของราตรี นายปริก วิจิตรา ทนายของวีระ
สถานทูตไทยให้เบอร์มา ก็ไม่ตรง กลับเป็นชาวเขมรเสียอีกช่วยค้นชื่อเบอร์โทร พาตามหา แต่ก็ติดต่อไม่ได้อยู่ดีเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว คณะให้พาตระเวนร้านหนังสือ ไปซื้อรัฐธรรมนูญกัมพูชา และวิธีพิจารณาความ ไป council of Bar คล้ายสภาทนายความของไทย
ไม่นานก็สืบรู้ว่า "ออกญา ลี ยง พัต" ส.ว.กัมพูชา เจ้าของคาสิโนตามแนวชายแดน ต่างหากเป็นคนออกค่าจ้างทนายชาวเขมรให้ดูคดีคนไทย รวม 1.4 ล้านบาท
ดังนั้น...ชวนให้ทุกคนคิด!
ก่อนหน้านั้น พณิช กับ นฤมล ได้ประกันตัวออกมาอยู่สถานทูตไทยก่อน ด้วยเหตุผลป่วย มีโรคประจำตัว นที่สุด ศาลชั้นต้นกัมพูชา ตัดสินให้ทั้งหมดมีความผิดรุกล้ำดินแดน เข้าหมู่บ้านโจกเจ็ย(โชคชัย) จ.บันเตียเมียนเจ็ย
จนกระทั่ง 19 ม.ค. อีก 4 คนศาลปล่อยตัวชั่วคราว รวมทั้ง ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ด้วยมาพักอยู่สถานทูตไทย ทีมเครือข่ายคนไทยฯ จึงได้เข้าเยี่ยม และวันรุ่งขึ้นจึงได้รับอนุญาตเข้าเยี่ยม วีระ สมความคิด
ทันทีเห็นหน้า เขาตรงเข้ากอดการุณอย่างแน่น ตัวสั่นเทิ้ม ใบหน้า ดวงตาก่ำ
"ผมรอวันนี้นาน ผมรู้ว่าต้องมีวันนี้" สีหน้า แววตา กระตือรือร้น ขณะที่ยังไม่ได้นั่งเก้าอี้กันเลย
"พี่สู้เลยนะ ตามที่พี่เห็นสมควร ผมสู้ตลอด ผมอยู่ได้" วีระ บอกเจตนารมณ์
คืน 20 ม.ค. เวลา 20.30 น. มีประชุมกับทีมทนายชาวกัมพูชา จากนั้นราวเที่ยงคืน สถานทูตเรียกให้ 6 คนลงนามหนังสือยื่นขอให้ศาลกัมพูชาร่นเวลาตัดสินให้เร็วขึ้นทุกคน ยกเว้น ราตรี ไม่ลงนาม เหตุผลคือเชื่อแนวทางต่อสู้ของวีระ เธอเสียสละจะอยู่สู้คดีด้วย ส่วนคนอื่นๆ ก็คิดหนัก สำหรับ นฤมลนั้นโรคประจำตัวคือไทรอยด์ จึงไม่น่าจะดีนักจะยืดอยู่สู้คดี
วันรุ่งขึ้น ศาลชั้นต้นพนมเปญเริ่มกระบวนครั้งที่สอง ตัดสิน 5 คนไทยที่สารภาพรุกล้ำแดนกัมพูชา จำคุก 9 เดือน โทษจำให้รอลงอาญา ปรับคนละ 1 ล้านเรียล ประมาณ 1 หมื่นบาท และส่งกลับเมืองไทย 22 ม.ค.
แต่ 2 คนกลับถูกเพิ่มโทษกล่าวหา 3 สถานหนัก เป็นจารชน มุ่งจารกรรมข้อมูลที่ตั้งทางทหาร
ขณะที่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งเวทีชุมนุมสะพานมัฆวานรังสรรค์วันแรก 25 ม.ค.ตามกำหนดเดิม
ศาลชั้นต้นเขมร กำหนดพิจารณาตัดสินสองคนไทย 1 ก.พ. จู่ ๆ ล่วงหน้าหนึ่งวัน สหพันธ์นักข่าวอาเซียน มีนักข่าวคนไทยด้วยชื่อ "ประสิทธิ์" ติดต่อ ม.ล.วัลย์วิภา อยากให้มาหารือ นายเขียว กัณฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารกัมพูชา สำทับอีกว่า “จะมีผลต่อรูปคดีในศาล”
เช้า วันนั้น การุณ, วัลย์วิภา กับ สก โสวัน ประธานสหพันธ์นักข่าวอาเซียน(ยูเอ็มเอ) นายโปรย สมบัติ รองเลขาธิการสหพันธ์ฯ เป็นคนไทย มาพร้อมกับนายเขียว
"ให้พี่วีระออกไปก่อน อย่างไงก็ได้...วีรบุรุษต้องรู้จักการเอาตัวรอด" รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสื่อสาร เอ่ยขึ้น
"รัฐบาลสองฝ่ายไม่สามารถยุ่งกระบวนการ ตุลาการได้ แต่จะช่วยเท่าที่ช่วยได้ จะเอาคำขอนี้ไปปรึกษานายกฯฮุนเซน คือเอาคนไทยกลับบ้านก่อน" คำพูดของนายเขียว
"ที่ดินไม่สูญหายหรอก จะเป็นของใครก็ตาม" นายเขียว ว่าต่อ
"ความยุติธรรมก็ต้องไม่สูญหายเหมือนกัน" อาจารย์หม่อม ตอบสวน
"ช้างชนกัน หญ้าแพรกแหลกลาญ" รัฐมนตรีสื่อสาร เปรยภาษิตคุ้นเคยทั้งสองชาติ เสริมให้มีนัยยะ
"เราก็มีภาษิตอย่างนี้เหมือนกัน" เธอตอบ
"ทางเก่า จะสะดวกกว่าทางใหม่"
การุณ และ ม.ล.วัลย์วิภา รู้หมายถึงทางเก่าไม่ต้องขึ้นศาล แต่การเจรจาในห้อง ล้มเหลว!
ออกจากห้องเจรจา นักข่าวหลายคนมาท้วง "รูปคดีอยู่ในมือคุณ เขียนให้ฉบับได้ไหม เชื่อมั่นในเจบีซี"
เธอฉุนขึ้นมาทันที "ถ้าเจบีซี ไม่ต้องมาพูดเลย"
แต่นักข่าวพวกนี้ยังไม่ลดละ เสนออีกว่า “ก็แค่เขียนว่าเชื่อมั่นคณะกรรมการไทยกัมพูชา ท่านเขียวรออยู่นะ"
"ขอโทษ ฉันไม่สามารถ ไม่ต้องมาอะไรกับฉัน" เธอตัดบท
ค่ำวันเดียวกัน ทีมไทยได้พบทนายกัมพูชาทั้งสองคน จึงชวนไปภัตตาคารจีนแห่งหนึ่ง สั่งอาหารมาเยอะ แต่แทบไม่ได้กิน เน้นทำความเข้าใจกับทนายเขมรไปพร้อมๆ กับพี่ชายของราตรี
"คุณต่อสู้ไม่มีเอกสารอะไรเลย เราสิทำให้ได้ทั้งหมด แฟ้มเบ้อเร่อ" การุณ พูดภาษาเขมร เชิงกำชับ
แต่ ทนายกัมพูชาทำเหมือนแค่รับทราบ จังหวะนั้นญาติของราตรีถามขัดขึ้น "จะเชื่อถือได้เหรอ" การุณ พยายามอธิบายอย่างเนิบ ๆ กลับถูกสำทับให้อีก "ไปพบท่านทูตไม่อ่อนน้อม ทำให้ผลออกมาอย่างนี้"
"แล้วจะให้คลานไปกราบหรือไง" ม.ล.วัลย์วิภา โพล่งขึ้น ทำเอาทั้งวงอึ้ง รวมวงคณะติดตามอีกโต๊ะด้วย
ศาลเขมร ชี้ชะตาโหด
1 กุมภาพันธ์ ที่ศาลชั้นต้นกัมพูชา กรุงพนมเปญ
เผอิญ หรือลางชะตา เสียงกรี๊ดร้องโหยหวนของหมูจากโรงเชือดดังขึ้น มีเสียงทุบหนัก ๆ ดัง ป๊อก เงียบไป นี่ฆ่าหมูข่มขวัญกันหรือไง...เปล่าหรอก เข้าเทศกาลตรุษจีน
กลิ่นสาบความตายคลุ้งแตะนาสิก สัญญาณไม่เป็นมงคลเสียเลย
...อัยการ(ซก เฮียน) ลุกขึ้นถามและสรุปในศาลตอนหนึ่งความว่า ท่านเข้ามาในเขตกัมพูชา เห็นกองฟาง คูนา นั่นคือ ยุทธศาสตร์ที่อ่อนของกัมพูชา แต่ถ้าไม่ได้เห็นอะไร ก็คือ ยุทธศาสตร์ที่แข็งของเรา
นี่มันกำปั้นทุบดินชัด ๆ เห็นหรือไม่เห็นอะไร ก็ผิดอยู่ดี!
ล่ามที่ศาลเลือก แปลคำโต้ตอบของวีระ ไม่ค่อยตรงนัก ที่ตลกร้าย ล่ามคนเดียวกัน ก็วิ่งเป็นนักข่าวด้วย ทั้งสองคนไทยจึงร้องขอเปลี่ยนล่ามคนใหม่ แต่ศาลพนมเปญก็ไม่อนุญาต ไม่สนกระทั่งแฟ้มเอกสารพยานหลักฐาน แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ
ล่ามชั้นดีและที่ปรึกษาชาวกัมพูชา เป็นหญิง ภาษาราชการได้ เธอเคยอยู่สถานทูต ภาษาชาวบ้านก็ดี คุณสมบัติอีกอย่างคือ เธอพูดไทยได้ เพราะอดีตสามีเธอเป็นวิศวกรคนไทย คอยบอกข้อผิดพลาดของฝ่ายโจทก์
คืนก่อน ได้ขอตัวราตรีจากสถานทูต มาซักซ้อมการเบิกความ และจะต้องนำแนวทางนี้บอกกับวีระ ด้วย เพราะอยู่ใกล้กัน
ในศาลเธอกระซิบบอก วีระ ชั่วเสี้ยวนาที สารัตถะ คือ เหมือนสู้คดีศาลนางรอง คนของเครือข่ายถูกจับ 4 คน ศาลนางรองตัดสินยกฟ้อง ศาลนางรองไม่รับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เอกสารวางอยู่ตรงนั้น มีอะไรบ้าง วีระเรียนกฎหมายและผ่านการฟ้องร้องมาพอสมควร จึงยกมือให้การค้านอย่างฉะฉาน แต่ศาลไม่สนใจหลักฐานต่าง ๆ เลย
ในแฟ้มนั้นแสดงรายการตามหมวด 30 กว่าเรื่อง เช่น แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ รัฐธรรมนูญกัมพูชา ทั้งเน้นมาตรา 2 กัมพูชาถือแผนที่ประเทศมาตราส่วน 1 ต่อ 1 แสนด้วย และประมวลกฎหมายอาญากัมพูชา มาตรา 38 ตรงกับ หลักการ "น็อน คอมมูนิกาโด้"
ในที่สุด ศาลชั้นต้นก็ตัดสินให้ทั้งสองมีความผิด เมื่อปิดศาล ราตรีเดินออกมาอย่างหงอย ๆ ส่วนวีระหันมาทางทีมคนไทยและสื่อมวลชนตะโกนว่า
"ผมบริสุทธิ์ ผมจะสู้ ๆ" เป็นครั้งที่สองยืนยันเจตนารมณ์
กุมภา บีบคั้นมหาโหดช่วง กุมภาพันธ์ บีบคั้นหัวใจทีมที่ปรึกษากฎหมาย ที่ต้องอุทธรณ์คดีให้ได้ แต่ขอเยี่ยมกี่ครั้งก็ถูกบอกเลื่อนตลอด 11 ก.พ. โทรมาล่วงหน้าวันเดียว กำหนดเยี่ยม 17 ก.พ.ก็อีกโทร 16 ยกเลิก อ้างมียิงปะทะที่ชายแดน หลายครั้ง อ้าง นายฮอ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศ ไปภารกิจต่างประเทศ 3 ทุ่มโทรมาเลื่อน กำหนด 23 ก.พ.ก็โทรมาสี่โมงเย็น
ทีมกฎหมายจึงขึงขังเอาว่า ขอให้บอกมาเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างน้อยเป็นอีเมล์ ไม่ใช่แค่โทรบอก
เธอกับทีมกฎหมายแน่ชัดแก่ใจว่า การต่อสู้คดีของงวีระ ราตรี เป็นการยืนยันอธิปไตยเขตแดน ทั้งสองคือพยานอ้างอิงเป็นประโยชน์ต่ออนาคต
แต่ในประเทศไทยมี 3 จำพวก คือ พวกแนวทางเสียชาติ กับแนวทางต่อสู้กู้ชาติ และไม่มีแนวทาง(กูไม่สนใจเรื่องนี้) ก็จะมีค่าเท่ากับแนวทางแรก
เรื่องมันยากไปกันใหญ่ เมื่อ ณฐพร โตประยูร ซึ่งร่วมคณะไปด้วยตั้งแต่แรก ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย จู่ ๆ ไม่มีมติเครือข่ายคนไทยฯ เลย เขานำแม่กับน้องชายวีระ เข้าพบนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัวเขาไม่พูด แต่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ ว่าเป็นคนนำญาตินายวีระมาเล่าสภาพ และขอความช่วยเหลือ ซึ่งแนวทางก็คือขออภัยโทษ
เครือข่ายคนไทยฯ เรียกประชุมและมีมติปลด ณฐพร ออกจากที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายฯ
พิรุธ มีมาก แต่เพิ่งถูกทบทวนก็คราวนี้ หลังศาลพนมเปญตัดสิน 2 คนไทย ณฐพร บินกลับมาก่อน ทุกคนก็เดินทางกลับเมืองไทยตอนหัวค่ำ เมื่อเครื่องบินลงจอดสนามบินสุวรรณภูมิ “การุณ” ก็ถูกตำรวจจับคดีร่วมกับพันธมิตรฯ ยึดสนามบิน ก่อการร้าย
ปกติ ณฐพร จะมารอรับที่สนามบิน แต่ค่ำนั้นเขาส่งลูกน้องมาแทน
"ณฐพร คุณอยู่ไหน" ม.ล.วัลย์วิภา โทรศัพท์ถาม
คำ ตอบอ้างว่า "อยู่แถวนี้แหละ อาจารย์กลับได้เลย" เธอยังถามย้ำอีก "คุณอยู่ไหน" แต่ดูเหมือนไร้ประโยชน์จะเซ้าซี้ เธอกับเลขาต้องขนอุปกรณ์สำนักงานของการุณ กลับด้วย
ก่อนขึ้นเครื่องที่พนมเปญก็จะโทรบอกแล้วว่า อีกหนึ่งชั่วโมงจะถึงให้มาช่วยขนอุปกรณ์ แต่ ณฐพร ไม่รับโทรศัพท์
ไปพนมเปญครั้งที่ 2 ณฐพร โทรบอกเธอว่า "อาจารย์ไม่ต้องมาหรอก ผู้หญิง เป็นเรื่องผมกับการุณ"
ครั้นรุ่งเช้า การุณ โทรมาหา "อาจารย์หม่อม มาช่วยกันคิดซี"
ณฐพร ให้ข่าวบ่อย ๆ ทั้งๆ ที่การจะแถลงอะไร ต้องผ่านการหารือประเด็นก่อน พูดถึงความรู้กฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าฟังจับความให้ดี สิ่งที่ ณฐพร พูดเรื่องอนุสัญญาเจนีวา และอะไรอีกมากมาย ก็เหมือนลอกความมาจาก อาจารย์ธนบูลย์ จิรานุวัฒน์
ระหว่าง 28 ก.พ. ถึง 1 มี.ค. ความพยายามเข้าเยี่ยมวีระ เพื่อให้ลงนามมอบอำนาจยื่นอุทธรณ์ ท่ามกลางข่าวสะพัด การขออภัยโทษ ทีมกฎหมายก็หนักใจ กัมพูชามันจะให้อุทธรณ์ได้หรือไม่
สำหรับราตรี ลงนามขออุทธรณ์ไว้แล้วช่วงได้ประกันตัว ช่วงนั้นส่งตัวแทนไปสำนักงานกาชาดระหว่างประเทศ เรียกร้องให้เป็นคนกลางนำหนังสือให้วีระเซ็นมอบอำนาจแทน กาชาดระหว่างประเทศ ไม่ทำ การุณ กับม.ล.วัลย์วิภา กับทีมทำงานก็ไปหาสถานทูตไทย เรียกร้องในเรื่องเดียวกัน ยื่นหนังสือลงนามมอบอำนาจทำการแทน ขอให้ทูตไทยทำหน้าที่ นำไปอธิบายวีระให้เข้าใจ ว่าเครือข่ายกำลังทำตามเจตนารมณ์ของเขา ทูตมอบให้ จักรกฤษณ์ ตอนแรกอ้างว่า เกรงจะไม่ทัน แต่พวกเขายืนยัน ไม่ทันไม่เป็นไร เรื่องเป็นเรื่องตายของวีระ เขาควรจะได้รับรู้
เธอยก เรื่องสถานทูตยังเรียกทนายเขมรมาพบได้เป็นเวลาสามทุ่มแล้ว เรื่องนี้ถ้าจะทำให้จริง ย่อมทำได้
"คุณมีเอกสารไหม เอามาให้ดูด้วย คุณวีระ คุณราตรี ไม่อุทธรณ์ เรื่องอุทธรณ์นี่ ถ้ายื่นไปแล้ว เขาไม่พอใจก็ถอนได้ เพราะต้องยื่นภายใน 1 เดือน และเราอุทธรณ์ตามหลัก น็อน คอมมูนิกาโด้" เธอบอก
สถานทูตยังยืนยัน แม่ของวีระไม่อุทธรณ์ ทีมงานจึงโทรศัพท์ติดต่อน้องชายวีระ แต่ปิดเครื่องหมด
28 ก.พ.เป็นโอกาสสุดท้าย พรุ่งนี้ต้องยื่นอุทธรณ์ให้ได้ ทีมเครือข่ายฯ ยืนยัน ถ้าสถานทูตดำเนินการอย่างไรก็ให้โทรศัพท์มาเลย กลับไปรอที่ห้องพักโรงแรม การุณ ดูร้อนใจ เธอแนะให้อยู่นิ่ง ๆ รอจนหลังหลังเที่ยงวันไปแล้ว เราก็รอจนนาทีสุดท้าย ก็ไม่มีโทรศัพท์มา
กระทั่ง บ่ายสามโมง ม.ล.วัลย์วิภา การุณ กับล่ามหญิงชาวเขมร จึงไปยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้น "การุณ"คนเดียวแปะโป้งเป็นพยาน รับรองเอกสารเลขที่ 159 ลงวันที่ 1 มี.ค.2554 เวลา 15.30 น.
ในคำอุทธรณ์ ใช้หนังสือลงนามชื่อราตรี และพ่วงวีระลงไป "ข้าพเจ้าทั้งสองคนไม่ยอมรับคำตัดสินศาลกัมพูชา และขออุทธรณ์สู้คดี"
แทบจะเฮ ปิดโทรศัพท์ กระทั่ง 6 โมงเย็นวันถัดมา จึงแถลงข่าวอุทธรณ์ได้แล้ว แต่ก็ไม่ปฏิเสธญาติขออภัยโทษ ใครต่อสู้แนวไหนได้ก็ทำไป
มีใครในรัฐบาลไทยพูดบ้าง กัมพูชากระทำขัดรัฐธรรมนูญกัมพูชา มาตรา 38 และแน่นอนกฎหมายไทยย่อมมี ตามหลักกฎบัตรระหว่างประเทศ นั่นคือหลัก “น็อน คอมมูนิกาโด” คนถูกคุมขัง ไร้สภาพการสื่อสารกับโลกภายนอก ไม่รู้ข้อมูลความจริงอันใด ถูกรบเร้า โน้มน้าว ข่มขู่ ให้ลงชื่ออะไร ย่อมไร้สภาพบังคับ
ย้อนไปช่วงหลังตัดสินประมาณ 2 สัปดาห์ วีระก็ล้มป่วยหนักกะทันหัน อาหารเป็นพิษ เนื่องจากที่ครอบฟันหลุด แต่สถานทูตไทยไม่เข้าไปช่วย นายพนิชเองเป็นคนเปิดเผยกับสื่อ ซึ่งล่วงเลยเข้าต้นมี.ค.แล้ว
ปรีชา กับแม่วิไลวรรณ ต้องรีบแจ้นไปเยี่ยม พบหน้ากัน ก็โอบกอดกันร้องไห้ วีระตัวสั่นเทิ้ม นัยน์ตารื้นแดงก่ำ
“แม่รู้ไหม ผมเกือบตาย”
หลัง จากบอกอาการให้ฟังแล้ว เขาก็วกมาถามถึงความยากลำบากของแม่ น้องชายต้องเสียการงานมาเป็นภาระ วีระ ไม่มีเมีย ไม่มีลูก ได้แต่ถามถึงหลาน ๆ ด้วยความคิดถึง ยิ่งตัวเล็กสุด ที่เขาเอ็นดู หยอกเอิน
ข่าวล้มป่วย เหมือนจะเป็นจุดหักเห เป็นแรงกดดันให้ญาติต้องขอพบนายกอภิสิทธิ์ เมื่อ 8 มี.ค. เพื่อขอคำยืนยันแนวทางขออภัยโทษ ตามที่ยื่นไป
รัฐบาลหมอง- มอง"วีระ"อย่างปุถุชน วี ระ เมื่อเห็นน้ำตาแม่ ขอร้องอยากให้ยื่นขออภัยโทษ เขาก็ยอม เดิมทีรัฐบาลไทยบอกคงไม่ทันในสิ้นกุมภา แต่ล่วงเลยมีนาคม จนมิถุนายน ก็ยังไม่ได้ขออภัยโทษ
เสมือนตัวประกันในคุกเปร็ยซอ โยงเป็นหนึ่งเงื่อนไขในหลายๆ เงื่อนไข ที่กัมพูชากดดันไทย แต่ดูเหมือนศัตรูจะมาก พวกนักการเมืองไม่ชอบขี้หน้า รวมทั้งคนในประเทศไทยก็มีจำนวนไม่น้อยคิดต่างสุดขั้วด้วย จึงไม่ส่งผลอะไรกับรัฐบาลนัก
สถานทูตไทยในพนมเปญหว่านล้อมด้วยข้อมูล เหตุผลข้างเดียวว่า รัฐบาลไทยยังไม่สามารถขออภัยโทษได้ เพราะพวกเครือข่ายคนไทยฯ ไปจุ้นจ้าน จึงต้องให้ถอนอุทธรณ์ออกไป
ข่าวกระท่อนกระแท่นแบบนี้ส่งผลเสียต่อเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ถูกมองเป็นจำเลยสังคมไป
"เราเป็นผู้หญิงในทีม ไม่สบายนักหรอก เรื่องความปลอดภัย ลองใครมันแกล้งเมามาใกล้ ๆ เสียบเราก็ได้ เราถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนชัด ๆ ทำไม่จะปกป้องตัวเองไม่ได้ แล้วทำไมรัฐบาลไทยต้องเพลี้ยงพล้ำกัมพูชาตลอด เขาเดินเกมนี้อยู่แล้ว ประสานสื่อมวลชนด้วย" ม.ล.วัลย์วิภา โอด
เธอรู้ด้วยว่า 4 ก.พ. วีระเขียนคำอุทธรณ์ด้วยลายมือตัวเอง แต่ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ไปเกลี้ยกล่อม แล้วใบนั้นหายไป ทนายเขมรนำร่างหนังสือขออภัยโทษมาให้ดู ภาษาไทยกับภาษาเขมร...สารภาพรุกล้พดินแดน วีระขอปากกามาเขียนแก้ว่า ถูกจับในดินแดนไทย แล้วส่งกลับให้ไปแก้ จนกระทั้ง 14 มี.ค.นำมาให้ดู แต่เป็นภาษาเขมร วีระก็พาซื่อเซ็นไป
เขาคิดว่า นายกประเทศไทยจะทำให้ได้ คิดว่ามีคนหวังดีจะช่วย แต่ฮุนเซนย้ำแล้วว่า ต้องติดคุกสองในสามก่อนจึงจะขออภัยได้
21 มี.ค.น้องชายเข้าเยี่ยมวีระ และ 25 มี.ค.ทีมที่ปรึกษาเครือข่ายคนไทยฯ และญาติของราตรีไปเยี่ยมด้วย พบหน้ากันคราวนี้ วีระ แววตาสลด พูดเกือบจะเป็นโอดครวญ "ขออภัยโทษ ดูสิป่านนี้ยังไม่ได้ รัฐบาลหลอกกระทั่งแม่ผม"
การุณ เอ่ยขึ้น เอาล่ะจะอธิบายให้ฟังถึงแนวทางการต่อสู้ แล้วเราทำอะไรบ้าง ฯลฯ
"คุณ แค่อยู่นิ่ง ๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ประตุ 4 ประตู 5 ทำเนียบ หรือไปศาลโลก คุณอยู่ที่นี่ ทำสมาธิ คุณอุทธรณ์ ไม่ใช่ ขออภัยโทษ การขออภัยโทษคือเสียแผ่นดินอย่างเดียว คุณเข้าใจไหม"
การุณ ยังพูดถึงหลักการใหญ่ การจับกุมตั้งข้อกล่าวหาและตัดสินคดีไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ไม่เข้าข่ายความผิด มีอนุสัญญาเจนีวาบัญญัติไว้
แววตาวีระกลับมีประกายอีกครั้ง "ผมจะสู้ถึงที่สุด ผมอยู่ได้ ผมจะประทังชีวิตด้วยการกินข้าว กินให้มาก ๆ จะได้มีแรง"
เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ครั้งที่สาม
เล่ห์ไทย บทตีหน้าเฉย เอ่ยแค่เยื่อใย แล้ว เหตุอุปสรรคก็โผล่ 4 เม.ย. เครือข่ายคนไทยฯ นำมวลชนไปหน้ากระทรวงต่างประเทศ พร้อมหนังสือคำร้องให้ดำเนินการ ลงนาม ดร.มาลีรัตน์ เอี้ยวสกุล ลงนามตัวแทนเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ยื่นเรียกร้องต่อบัวแก้ว ไปมอบเอกสารให้ วีระ, ราตรี ลงนามมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน แต่บัวแก้วไม่ส่งให้ 18 พ.ค.มวลชนจึงไปทวงถามอีก คืบหน้าอย่างไร ให้ตอบมา
การุณ แถลงบรรยายเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ว่า “บัวแก้วใช้เอกสาร 2 แผ่นตบหน้าเรา แผ่น 1 ภาษาเขมร เนื้อความถอนการมอบอำนาจให้ผมและอาจารย์หม่อม ขอถอนทั้งหมด ลง 31 มีนาคม 2554 เราเพิ่งเห็น 18 พฤษภาคม 2554 อีกแผ่นภาษาไทยให้ยกเลิกทั้งหมดเช่นกัน แต่ลงวันที่ 9 พฤษภาคม จึงต้องเดินทางไปเปร็ยซอ 21 พฤษภาคม ตอนนี้ครบ เจ้าหน้าที่เรือนจำ วีระ ทนายความเขมร สถานทูตไทย คุณแม่ น้องชายวีระ ผม เจริญ กับล่าม”
ล้มเหลวเพราะ แม้จะยื่นอุทธรณ์ได้ทัน 1 มี.ค. แต่ 6 มี.ค. ได้พบกับครอบครัววีระ กับราตรี ที่สำนักสันติอโศก สองคนต้องการให้ไปถอนอุทธรณ์ วันนี้คณะได้เห็นเอกสารลงวันที่ 17 ก.พ. 21 ก.พ. 24 ก.พ. และ 3 มี.ค.
17 ก.พ. ญาติทั้งสองไปพบวีระ ราตรี ทำเรื่องถวายฎีกาต่อกษัตริย์กัมพูชา เรือนจำส่งกระทรวงมหาดไทยๆ ส่งกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ๆ แถลงข่าวจะให้อภัยโทษต้องติดคุกแล้ว 2 ใน 3
21 ก.พ. ราตรี ก็ไม่อุทธรณ์ และขออภัยโทษ 24 ก.พ. ทั้งภาษาไทยและเขมร ไม่อุทธรณ์ และขออภัยโทษ เอกสารไทยและเขมร 3 มี.ค. สองคนลงชื่อขอถอนอุทธรณ์ เพื่อถวายฎีกาขออภัยโทษ
แต่กระทั่ง 25 มี.ค. เข้าเยี่ยม วีระก็ยืนยันจะสู้ถึงที่สุด เรียกหาเอกสารจะเซ็นใบมอบอำนาจ แต่เรือนจำดึงตัวเขาออกไป
จนถึง 18 พ.ค.มวลชนจึงไปทวงถามกระทรวงบัวแก้วอีก คืบหน้าอย่างไร ให้ตอบมา
"บัว แก้วใช้เอกสาร 2 แผ่นตบหน้าเรา แผ่น 1 ภาษาเขมร เนื้อความถอนการมอบอำนาจให้ผมและอาจารย์หม่อม ขอถอนทั้งหมด ลง 31 มีนาคม 2554 เราเพิ่งเห็น 18 พฤษภาคม 2554 อีกแผ่นภาษาไทยให้ยกเลิกทั้งหมดเช่นกัน แต่ลงวันที่ 9 พฤษภาคม จึงต้องเดินทางไปเปร็ยซอ 21 พฤษภาคม ตอนนี้ครบ เจ้าหน้าที่เรือนจำ วีระ ทนายความเขมร สถานทูตไทย คุณแม่ น้องชายวีระ ผม เจริญ กับล่าม”
นายการุณ พูดต่อหน้านำหนังสือมาแสดง 17 ก.พ.คุณเซ็นสู้คดีใช่ไหม 21 ก.พ. 3 มี.ค.ยื่นถอนทั้งไทยทั้งเขมรใช่ไหม ยอมรับเซ็นเองทั้งหมดใช่ไหม มีการถวายฎีกาใช่ไหม “ใช่”
หลัง 25 มี.ค. 6 วันถัดมา เซ็นยกเลิกอำนาจใช่ไหม “ใช่” 9 พ.ค.เซ็นภาษาไทยใช่ไหม “ใช่” ยืนยันลงนามเอง โดยครอบครัวยินยอม
วีระบอกเขาและครอบครัวต้องการให้ใช้ใบ มอบอำนาจนี้หลังการเลือกตั้งเสร็จแล้ว จะเป็นรัฐบาลใครก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีพรรคใดช่วยแล้ว จะมอบอำนาจให้เครือข่าย
"คุณวีระจะทำหมายเหตุไว้ แต่เราติง เอกสารนี้จะส่งให้ยูเอ็น กาชาดระหว่างประเทศ คณะมนตรีความมั่นคง ใช้ได้ไหม ขีดฆ่าวันที่ 20 พฤษภาคม ได้ไหม หลังเลือกตั้งให้ดำเนินการแทน ใครจะเชื่อ”
การุณ สรุปจบ “ก็ได้ขอยุติ ไม่ขีดฆ่า 20 พฤษภา ไม่หมายเหตุ แต่จะมอบให้แม่ น้องชาย รักษาไว้”
ถึงกระนั้น “น็อน คอมมูนิกาโด้” ยังเป็นแนวทางต่อสู้ เรียกร้องความบริสุทธ์ให้ทั้งสองได้ และยังคงทำอยู่.
*7 คนไทยถูกจับ ได้แก่ พนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ นายวีระ สมความคิด ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายตายแน่ มุ่งมาจน นางนฤมล จิตรวะรัตนา และนายกิชพลธรณ์ ชุสนะเสวี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น