ทั้ง ฝ่ายไทย และ ฝ่ายกัมพูชา ต่างก็ออกมาแสดงท่าทีพอใจต่อคำสั่งของศาลโลก ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายชนะ เพื่อผลทางจิตวิทยาการเมือง
เช้า วันอังคาร นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกประชุมกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และฝ่ายกฎหมาย พิจารณาคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก แล้วแถลงต่อสื่อว่าได้พิจารณาพิกัดที่ระบุในคำสั่งศาลโลกให้เป็น เขตปลอดทหาร นั้น มีพื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตร
คุณอภิสิทธิ์บอกว่า ถ้ายึดตามหลักสันปันน้ำ เขตแดนจะกินพื้นที่ของไทย 8.5 ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่กัมพูชา 8.8 ตารางกิโลเมตร แต่ถ้าพิจารณาตามหลักเขตแดนของกัมพูชา จะกินพื้นที่กัมพูชา 13 ตารางกิโลเมตร แต่ไทยยึดตามหลักสันปันน้ำ และว่าคำสั่งศาลโลกครอบคลุมดินแดนทั้ง 2 ประเทศ
ในแง่กฎหมาย คุณอภิสิทธิ์ บอกว่า กระทรวงการต่างประเทศและกลาโหมต้องไปคุยกับกัมพูชาก่อน หากกฎหมายกำหนดให้ต้องพิจารณาผ่านคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา คงต้องเกิดขึ้นกับรัฐบาลชุดใหม่ แต่ขณะนี้ต้องให้กำลังพลอยู่ในพื้นที่ก่อน และบอกว่าคำสั่งศาลโลกนี้ไม่กระทบต่ออธิปไตยของไทย
ทั้งหมดที่ นายกฯอภิสิทธิ์ แถลง เป็นเพียงการพิจารณาในสาระสำคัญของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาลึกลงไปถึง “สาระสำคัญของคดีที่แท้จริง” อันเป็นที่มาของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเยอะ และมีผลผูกพันต่ออธิปไตยของไทยในอนาคตแน่นอน
คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของคดีเท่านั้น
สาระสำคัญของคดีคือ คำฟ้องของกัมพูชา ที่ขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกปี 2505 ที่ให้ฝ่ายไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหาร ต่างหาก
หาก อ่านคำสั่งศาลโลกให้ดี จะเห็นว่า ศาลโลกรับฟ้องคดีที่กัมพูชาฟ้องไทย โดยระบุว่า ความขัดแย้งที่ดูเหมือนยังดำรงอยู่ระหว่างคู่ความ ที่เกิดขึ้นจากความหมายภายในขอบเขตแห่งคำพิพากษาของศาลนี้ เมื่อปี 1962 (พ.ศ.2505) ดังนั้น ศาลจึงสามารถดำเนินการวินิจฉัยเพื่อให้ตีความตามที่กัมพูชาเป็นผู้ยื่นคำ ร้องขอเอาไว้ คดีนี้จึงมีมูลเหตุพื้นฐานเพียงพอ
คำสั่งศาลโลก ยังระบุว่า ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิต่างๆที่อ้างโดยกัมพูชา เกิดขึ้นเนื่องจากคำพิพากษาศาลโลกปี 1962 การขอให้ตีความดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้ การขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ก็เพื่อปกป้องสิทธิตามที่กัมพูชาอ้างถึง และศาลโลกยังเห็นว่าความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายที่ไม่อาจบูรณะซ่อมแซม ได้ ต่อสิทธิตามที่กล่าวอ้างโดยกัมพูชา มีอยู่จริง ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุด ดังนั้น จึงถือเป็นภาวะจำเป็นเร่งด่วน
เห็นไหมครับ อ่านแบบไม่ต้องตีความก็พอจะเห็น ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ผมไม่รู้ว่าในที่ประชุม นายกฯอภิสิทธิ์ได้พูดถึงการสู้คดีหรือไม่ เพราะไม่ได้แถลง
คดีความที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลโลก ผมจึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ามาตรการคุ้มครองชั่วคราวเยอะ ยิ่งอ่านท่าทีของศาลโลกจากคำชี้แจงในการรับฟ้อง และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่กัมพูชาร้องขอแล้ว ผมก็ยิ่งเป็นห่วง พอมาเห็น นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ แสดงท่าทีกระหยิ่มหลังมีคำตัดสินของศาลโลกบอกว่า ท่าทีของกัมพูชา (ฮอร์ นัมฮง) ไม่ยิ้มแย้มเท่าเรา ผมก็ยิ่งห่วงเป็นสองเท่า หวังว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะตั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ที่มีบุคลิก ความรู้ ความสามารถมากกว่านี้ เพื่อสู้คดีต่อ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น