ปราสาทพระวิหารควรเป็นของใคร?
โดย Boon Wattanna เมื่อ 15 พฤษภาคม 2011 เวลา 3:20 น.
ปราสาทพระวิหารควรเป็นของใคร
15 กพ 2553
พ.ต.พันธ์ศักดิ์ ศรีเฟื่องฟุ้ง
เมื่อ สัปดาห์ที่แล้วผมบังเอิญเปิด TV ดู พบว่าช่อง 3 หรือ 5 (ไม่แน่ใจ) ได้เชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งซึ่งไว้หนวด มาเป็นวิทยากรในรายการที่วิเคราะห์สถานการณ์การมาเยือนเขาพระวิหาร และบริเวณชายแดนที่ติดกับไทยของนายฮุนเซน นายกเขมร วิทยากรท่านนั้นได้เริ่มเกริ่นนำว่า ”การ เยือนเขาพระวิหารนั้นคงไม่มีปัญหา เพราะ ไทยได้ยอมรับว่าเป็นของเขมร แต่การไปเยือนในบริเวณที่อื่น ๆ นั้นอาจเกิดปัญหาได้ เพราะ ทั้งสองฝายต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อน 4.7 ตร.กม.”
ฟัง แค่นี้คนทั่วไปก็คงไม่รู้สึกอะไร ไม่มีอะไรแปลกเหมือนน้ำแข็งลอยในแก้วน้ำแต่สำหรับผมกลับเกิดความไม่สบายใจ อย่างมาก คิดถึงนายก คิดถึงนายสาทิตและคิดถึงนายกษิต ว่าจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่า เพราะ ผมไม่คิดว่านี่คือก้อนน้ำแข็งลอยในแก้ว แต่เป็นก้อนน้ำแข็งลอยในมหาสมุทรแบบที่เรือไททานิคเจอ ทำไมผมจึงคิดเช่นนั้น?
การที่อาจารย์คนหนึ่งออกมาพูดแบบนั้น แล้วคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่รู้สึกอะไรแสดงว่าคนไทย มองไม่ออกว่าอาจารย์ได้พูดคลาดเคลื่อน ในสิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับอธิปไตยของประเทศไทย แสดงว่าคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอธิปไตยของประเทศไทย ถ้าคนในชาติเข้าใจคลาดเคลื่อนขาดความรู้ที่ถูกต้อง อีกไม่นานเราก็จะเห็นเจ้ากรมแผนที่ทหาร, อธิบดีกรมสนธิสัญญา, และนักการเมืองไทย ตกลงยอมยกดินแดนที่ควรเป็นของไทยให้เขมรอีกเพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่าง ประเทศ
อะไรบ้างที่คลาดเคลื่อน?
1.การ ที่พูดว่าไทยได้ยอมรับว่าเป็นของเขมรนั้นคลาดเคลื่อน เพราะ รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ได้ ตกลงยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก แต่ได้ประท้วงและแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา รวมทั้งตั้งข้อสงวนสิทธิอันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้ เพราะฉะนั้นจะถือว่ายอมรับว่าปราสาทพระวิหารเป็นของเขมรไม่ได้
2. การที่พูดว่า “ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อน 4.7 ตร.กม.” จริง ๆ แล้วก็ไม่ถึงกับคลาดเคลื่อนแต่ฟังคล้ายกับว่าทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์เท่ากัน และคนไทยทั่วไปก็เข้าใจว่าต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ โดยอ้างแผนที่คนละฉบับบ้าง หรือเข้าใจว่าไทยอ้างสนธิสัญญาแต่เขมรอ้างแผนที่ ไม่รู้ว่าใครถูกใครผิดกันแน่ ผมคิดว่าถ้าคนไทยมีความเข้าใจแค่นี้อีกไม่นาน เราคงเจรจาแบ่งดินแดนที่ทับซ้อน 4.7 ตร.กม. นี้ให้เขมรครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นการประนีประนอม
ย้อนกลับไปเรื่องคดี ปราสาทพระวิหาร คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าศาลโลกเข้าข้างเขมร เพราะมีฝรั่งเศสหนุนหลัง จึงไม่ได้ตัดสินด้วยความเป็นธรรม บางคนก็ว่าเพราะคนไทยมีไส้ศึกในกระทรวงต่างประเทศ เอาแผนการต่อสู้คดีไปให้ฝ่ายเขมร แต่คนไทยเหล่านี้ไม่สามารถตอบโดยอิงหลัก กม. ว่าศาลโลกตัดสินไม่ยุติธรรมอย่างไร เวลาไปบอกเพื่อนบ้านในอาเซียน หรือบอกฝรั่งเราก็พูดแต่เพียงว่าศาลโลกตัดสินไม่ยุติธรรมปราสาทพระวิหารควร เป็นของไทย แต่ที่ศาลอ้างว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้แสดงการยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศสจัด ทำ ในหลายกรณีเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี คนไทยก็จะบอกว่านั่นเป็นเพราะ เจ้าหน้าที่ไม่รู้ แต่คนไทยพูดไปก็ไม่สบายใจ เพราะ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ไทยไม่รู้เป็นเวลายาวนานมาก แม้กระทั่งเมื่อไทยตั้งกรมแผนที่ทหารทำแผนที่ใช้เองได้ แผนที่ก็ยังเคยแสดงเขตแดนว่าปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร(ดูความเห็นแย้งของ ผู้พิพากษามอรี่โน่ ควินตานา ย่อหน้าแรก หน้า 71)
เอาเป็นว่าเมื่อ ไม่ถึง 2 ปีมานี้ ในรัฐบาลนายสมัคร ก็ยังทำร่างคำแถลงการณ์ร่วมกับเขมรสนับสนุนให้เขมรนำปราสาทพระวิหารไปขึ้น ทะเบียนมรดกโลก ซึ่งก็คือยอมรับว่าปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร โดยเขมรได้แนบแผนที่ไปกับแถลงการณ์ร่วมด้วย แล้วเจ้ากรมแผนที่ทหาร, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, อธิบดีกรมสนธิสัญญา ก็ยังออก TV ยืนยันว่าไทยไม่เสียดินแดนและไม่เสียหายจากการทำร่างคำแถลงการณ์ร่วม
จริง ๆ แล้วปราสาทพระวิหารควรเป็นของใคร?
เรื่อง นี้ต้องเริ่มตั้งแต่สนธิสัญญา คศ. 1904(พศ. 2447) ไทยยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส การกำหนดเขตแดนในข้อ 1. ของสนธิสัญญาเขียนว่า “เขตแดนระหว่างประเทศสยามกับกัมพูชา เริ่มต้นบนฝั่งซ้ายของทะเลสาบจากปากแม่น้ำสะตุง โรลูโอส และไปตามเส้นขนานจากจุดนั้นในทางทิศตะวันออก จนกระทั่งถึงแม่น้ำแปรก กำปงเทียม แล้วเลี้ยวไปทางด้านทิศเหนือไปพบกับเส้นตั้งฉากจากจุดบรรจบนั้น จนกระทั่งถึงทิวเขาดงรัก จากที่นั่นเส้นเขตแดนคือสันปันน้ำ ระหว่างลุ่มน้ำของแม่น้ำเสนและแม่น้ำโขงด้านหนึ่งกับแม่น้ำมูลอีกด้านหนึ่ง และสมทบกับทิวเขาภูผาด่าง โดยถือยอดเขาเป็นเส้นเขตแดนไปทางทิศจะวันออก จนถึงแม่น้ำโขง จากจุดนั้นทวนน้ำขึ้นไปให้ถือแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนของอาณาจักรสยามตามข้อ 1. แห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ 3 ตค. คศ. 1893(พศ. 2436) “
นี่ คือถ้อยคำในสนธิสัญญาที่ไทยตกลงยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศสในปี คศ 1904 จะเห็นได้ว่าอ่านเข้าใจยากมาก(เหมือนการบอกทางให้เพื่อนทางโทรศัพท์ ถ้าหลายเลี้ยวมาก ๆ ฟังแล้วจะงงทุกที) และเนื่องจากยังไม่มีการทำแผนที่ที่ได้มาตรฐานในบริเวณดังกล่าวมาก่อน คนไทยก็ยังไม่มีความรู้เรื่องการทำแผนที่ จึงปล่อยให้ฝรั่งเศสทำแผนที่แต่เพียงฝ่ายเดียว 3 ปีต่อมา(คศ. 1907) ทหารฝรั่งเศสก็ทำแผนที่เสร็จ มีชุดละ 11 แผ่น ส่งให้รัฐบาลไทยหลายชุด ไทยก็รับเอาแผนที่นี้และใช้เรื่อยมา โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าทหารฝรั่งเศสเล่นไม่ซื่อ กล่าวคือ แผนที่ ของฝรั่งเศสนั้นไม่ได้สอดคล้องกับถ้อยคำในสนธิสัญญาในหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณเขาพระวิหาร ทหารฝรั่งเศสเห็นว่าบริเวณนี้สวยดีอยากได้ อยากให้เป็นของฝรั่งเศสก็ขีดเส้นพรมแดนตรงนั้นให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขต แดนเขมร ทั้ง ๆ ที่ในสนธิสัญญากล่าวว่าบริเวณนั้นให้ยึดถือแนวสันปันน้ำเป็นหลัก และถ้าแผนที่ได้ถูกทำขึ้นอย่างสอดคล้องกับสนธิสัญญา ปราสาทพระวิหารก็ต้องอยู่ในเขตไทย
เป็นอันว่าคน ฝรั่งเศสที่ทำแผนที่มีเจตนาฉ้อฉลมาแต่แรก เพราะมีความรู้เรื่องการทำแผนที่เป็นอย่างดี แต่กลับจงใจทำให้ปราสาทพระวิหารและพื้นที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งตกเป็นของเขมร
ในทางหลัก กม. แผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นนี้จึงควรตกเป็นโมฆะ เพราะ ผู้ทำมีเจตนาฉ้อฉล ขีดเส้นพรมแดนโดยไม่มีหลักการอ้างอิงและขัดต่อสนธิสัญญา คศ.1904 ซึ่งเป็นแม่บทและเป็นพื้นฐานที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสต้องการให้มีการ จัดทำแผนที่
การที่เจ้าหน้าที่ไทยจำนวนมากทั้งผู้ใหญ่และ ผู้น้อย หลงใช้แผนที่โดยไม่คัดค้านก็เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริง(ถ้ารู้ใครจะยอมยกบ้าน ตัวเองให้คนอื่น) อย่างไรก็ดีการไม่คัดค้านและการยอมรับเอามาใช้ก็ไม่ได้ทำให้สิ่งที่เป็นโมฆะ ตั้งแต่ต้นกลับมาดีขึ้นได้ เพราะ เป็นการยอมรับในลักษณะสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ไม่เคยมีเจตนายกดินแดนให้ฝรั่งเศสเพิ่มเติมไปจากในสนธิสัญญา
คำพิพากษาศาลโลกนั้นพูดยืดยาวมากในเรื่องพฤติกรรมที่ข้าราชการไทยยอมรับการใช้แผนที่และไม่ได้ปฏิเสธแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้น ฉะนั้นรัฐบาลไทยในปี 2553 จึงควรทำความเข้าใจกับคนไทยทั้งประเทศและต่อชาวโลกให้ได้ว่า
1. ไทย ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติโดยการถอนกำลังทหารออกจากตัวปราสาท แต่ไทยไม่ยอมรับและไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษานั้น ไทยจึงถือว่าปราสาทพระวิหารยังคงเป็นของไทย
แผนที่ ทางราชการควรแสดงอาณาเขตของไทยครอบคลุมถึงตัวปราสาทพระวิหาร(แผนที่ต่างจาก นี้ให้เผาทิ้งให้หมด) การจะแสดงแนวเขตลวดหนามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึง
2. ไทยยังคงยืนยันว่าเขตแดนไทยกับเขมรต้องเป็นไปตามสนธิสัญญา คศ.1904 ข้อ 1. และแผนที่ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นโดยเจตนาฉ้อฉลนั้นเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น ไม่อาจรับรองให้ใช้บังคับได้ ไม่ว่าโดยคนไทยคนหนึ่งหรือหลายคน(แต่ การยอมรับของคนไทยบางคนย่อมทำให้ข้ออ้างสิทธิของไทยอ่อนลง และคงจะมีผู้พิพากษาบางคนยึดถือเป็นหลัก) เรื่องการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรือยกดินแดนให้ประเทศอื่นนั้นเป็นเรื่องใหญ่ มาก โลกยุคประชาธิปไตยนี้นอกจากต้องทำสนธิสัญญาโดยรัฐบาลแล้วยังต้องได้รับความ เห็นชอบจากสภาอีกด้วย (ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องอยู่ในพระราชอำนาจเท่านั้น)
ไทยแพ้คดีก็เพราะแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้น ถ้าเรายอมรับแผนที่นี้ เราก็จะต้องเสียดินแดนอีก(บริเวณ 4.7 ตร.กม. และพื้นที่ในทะเล) เขมร(โดยฮุนเซน) รู้เรื่องนี้ดีจึงพยายามแนบแผนที่ฝรั่งเศสนี้ไว้ท้ายข้อตกลงทุกฉบับ แต่ไทยก็ยังไม่ประสีประสายอมแนบแผนที่ตามคำขอของเขมรทุกครั้ง จึงต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ และไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก
3. รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการ เพื่อสำรวจแนวสันปันน้ำที่แท้จริงให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ชี้แจงและทำแผนผังอย่างง่าย ๆ แต่ถูกต้องแจกจ่ายให้ประชาชนทราบ อย่านึกว่าการหาแนวสันปันน้ำเป็นเรื่องง่าย เพราะ ในการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารนั้น ไทยได้อ้างการสำรวจของผู้เชี่ยวชาญชาวดัทช์ ซึ่งทำแผนผังมีเส้นสันปันน้ำและที่ตั้งปราสาทพระวิหารอยู่ในฝั่งไทย แต่เขมรก็อ้างผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันซึ่งทำแผนผังมีเส้นสันปันน้ำอีกเส้น และที่ตั้งปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งเขมร (ดูความเห็นแย้งของผู้พิพากษา เวลลิงตัน คู ข้อ 51)
จึงควรมีการเทน้ำและบันทึกวีดีโอ แสดงทิศทางของการไหลของน้ำประกอบมาตรการทางเทคนิคอย่างอื่น การเผยแพร่วิดีโอแสดงทิศทางการไหลของน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ และควรมีการเทน้ำลงหลาย ๆ จุด บริเวณไหนน้ำไหลมาทางเรา บริเวณนั้นก็เป็นของเรา บริเวณไหนน้ำไหลไปทางเขมรเราต้องยกให้เขมร
ท่านนายกอภิสิทธิ์ ท่านรัฐมนตรีสาทิต ท่านรัฐมนตรีกษิต ท่านได้ทำในสิ่งควรทำเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติหรือยัง?
ข้อมูลคำพิพากษาศาลโลกและความเห็นแย้ง : www.icj-cij.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น