ความขัดแย้ง ระหว่างไทยกับกัมพูชา ในกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างทั้งสองประเทศอยู่ระดับย่ำแย่ที่สุด
สาเหตุของความขัดแย้งถือว่าค่อนข้างซับซ้อนอย่างมาก จึงไม่อาจอธิบายได้ด้วยปัจจัยหนึ่งปัจจัยเดียว หากได้ติดตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เราจะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจากการเมืองภายในของทั้งสองประเทศ อย่างแยกไม่ออก แต่เรื่องอันแปลกประหลาดก็เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขึ้นมาบริหารประเทศ ความขัดแย้งที่มีแนวโน้มว่าจะไปไกลถึงองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็สงบลงอย่างคาดไม่ถึง ประหนึ่งว่าทั้งสองประเทศไม่มีความขัดแย้งกันมาก่อนหน้านี้เลย
แน่นอนว่า นักวิเคราะห์การเมืองต่างให้น้ำหนักไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีบทบาทอย่างมากที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งสิ้นสุดลง เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา และนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยหลายคนก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมือง ฝ่ายกัมพูชา ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีเหมือนเดิม และเชื่อว่าความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจะเป็นไปด้วยดีตลอดอายุ รัฐบาล
ดังนั้น หากติดตามความเคลื่อนไหวและท่าทีของนักการเมืองฝ่ายไทย ทั้งในระดับรัฐบาลและระดับมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล เช่น กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับที่ดีมากต่อกัมพูชา โดยเฉพาะกรณีจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างนักการเมืองของทั้งสองประเทศในช่วง ที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนกัมพูชา และในช่วงเวลานั้นก็มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางมาที่กัมพูชาด้วย แต่ความสัมพันธ์เช่นนี้ในสายตาคนนอกอาจเห็นว่าค่อนข้างประหลาดอยู่มาก
เราไม่รู้ว่า ฝ่ายกัมพูชาจะมองความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้อย่างไร กัมพูชาอาจกำลังหาประโยชน์ในบางด้านจากความขัดแย้งทางการเมืองในไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่มองได้หลายด้าน ขึ้นอยู่กับว่าจะประเมินอย่างไร แต่ในฝ่ายไทยนั้น เท่าที่ติดตามจากท่าทีแสดงให้เห็นว่าเป็นการน้ำจิตใจน้ำใจในฐานะมิตรที่ดี ต่อกัน โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างไร หากทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปด้วยดี แต่ก็ควรตระหนักว่านี่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องการแสดงถึงมิตรไมตรีกันแบบไทยๆ
อันที่จริง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น มีรูปแบบและขั้นตอนที่กล่าวได้ว่าเป็นไปตามกติกาสากล เรามีองค์กรที่เป็นทางการมากมายในปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งระดับรัฐบาลและเอกชน แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีไปเยือน กัมพูชาจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลคือความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อจากนี้คงแปลกประหลาด อย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดีและเลว ตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ราวกับประหนึ่งว่ากัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภายในของไทย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น