วงเสวนาระบุ นักการเมืองต้นเหตุการโกง ครอบงำ ขรก.จับตาโครงการจัดจ้างพิเศษช่องโหว่ทุจริตง่าย ยอดไถใต้โต๊ะพุ่ง 50% แต่ยอมรับจับตัวได้ยาก เพราะใช้วิธีสั่งปากเปล่า ด้านศาลปกครอง แนะ ขรก.ใช้วิธีย้อนคำสั่งกลับเป็นลายลักษณ์อักษรแก้ลำ...
น.ส.สมทรง สัจจาภิมุข กรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชันแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงาน “เสวนาจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ” จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้มีการพบข้อมูลว่าอัตราการเรียกรับสินบนของนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา และบางโครงการมีการเรียกรับสูงถึง 50% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเกิดขึ้นในโครงการที่มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษ เพราะไม่สามารถเข้าถึงการตรวจสอบเอกสาร และตัวบุคคลได้ อีกทั้งยังสืบหาผู้บงการได้ลำบาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการสั่งด้วยปากเปล่า
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ข้าราชการไทยเกี่ยวกับการคอรัปชันถือว่าดีขึ้นจากอดีต เพราะหลายหน่วยงานได้รณรงค์ปลูกฝังจริยธรรมในการทำงานมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถกำจัดการคอรัปชันออกไปได้หมด เพราะการทำงานยังมีความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ซึ่งบางกลุ่มยังคงขาดจริยธรรม และเป็นต้นเหตุให้ข้าราชการต้องปฏิบัติงานแบบขาดจริยธรรม ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อการทำงาน
ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดงานครั้งนี้เพื่อส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเน้นย้ำการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ การปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาองค์กร การตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุก และการปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์คอรัปชันของประเทศไทยดีขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายเจตน์ สถาวรศีลพร ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากฎหมายมหาชนและปฏิบัติหน้าที่สำนักประธานศาลปกครองสูงสุด สำนักงานศาลปกครอง กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นในกรณีที่ข้าราชการประจำชั้นผู้น้อยถูกนักการเมืองสั่งงานที่อาจเป็นช่องให้เกิดการทุจริตคอรัปชันได้นั้น ให้ใช้วิธีการย้อนคำสั่งกลับเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อจะได้มีหลักฐานพยานยืนยันการกระทำผิดของนักการเมืองผู้นั้น และยังเป็นหลักฐานในการป้องกันความผิดของตัวเองด้วย
นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ต้นเหตุที่เกิดการโกง และคอรัปชันในไทย เนื่องจากสังคมเป็นบริโภคนิยม และเป็นสังคมอุปถัมภ์มากจนเกินไป ทำให้เกิดมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน ซึ่งการแก้ไขจะต้องเร่งสร้างค่านิยม และปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่ระดับเยาวชน ตลอดจนภาครัฐต้องออกกฎระเบียบในการตรวจสอบ และเอาผิดให้ชัดเจน เช่น สิงคโปร์ ที่มีการตรวจสอบทรัพย์สินก่อนเข้ารับตำแหน่ง ตั้งแต่ข้าราชการระดับชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงนักการเมือง ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดการฉ้อราษฎร์บังหลวงลงได้.
ไทยรัฐ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น