วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556
โค้งสุดท้าย : ปราสาทพระวิหาร การตีความในสิ่งที่ไม่อยู่ในคำพิพากษาปี 2505 !!?
ในขณะที่ชาวไทยในประเทศกำลังเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ แต่ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ณ กรุงเฮก กลับปรากฏการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา มีกำหนดการกล่าวถ้อยแถลงด้วยวาจาเพิ่มเติม (Further Oral Explanations) ในช่วงระหว่างวันที่ 15-19 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นการอธิบายทางวาจาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ศาลโลกจะมีคำพิพากษาในช่วงปลายปี 2556
ทั้งนี้ ความขัดแย้งในการครอบครองพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร หรือเปรี๊ยะ วิเฮียร์ ในภาษาเขมร ได้นำมาซึ่งศาลโลกได้รับคำร้องจากรัฐบาลกัมพูชาที่ยื่นขอให้ศาลโลก "ตีความ"
คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ใน 2 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.อธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา 2.ให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ต่อมาในปี 2505 กัมพูชาได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลโลกวินิจฉัยเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็นคือ 1) ขอให้ตัดสินชี้ขาดเขตแดนไทย-กัมพูชา 2) แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ระวางดงรัก ที่ฝ่ายกัมพูชาผนวกตามคำฟ้องให้มีผลกับไทย และ 3) ให้ไทยคืนโบราณวัตถุทั้งหมดจากปราสาทพระวิหารคืนกัมพูชา (ข้อสังเกต 2 ประเด็นแรก ศาลโลกไม่ได้มีคำพิพากษาออกมา)
ศาลโลกได้ตัดสินในวันที่ 15 มิถุนายน 2505 โดยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา รวมไปถึงตัดสินให้ทางการไทยนำทหารออกจากพื้นที่ และคะแนนตัดสิน 7 ต่อ 5 เสียง ชี้ว่าไทยจะต้องคืนวัตถุโบราณทุกชิ้น ซึ่งทางการไทยภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน 2554 ทางกัมพูชาได้ยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความใหม่ใน 2 เรื่อง คือ การขอตีความในเรื่องพื้นใกล้เคียงประสาทพระวิหาร หรือ Vicinity ซึ่งทางกัมพูชาอ้างว่า ควรเป็นไปตามแผนที่สัดส่วน 1 : 200,000 ตร.กม ตามที่ได้แนบคำฟ้องในปี 2502 โดยรวมพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.เข้าไปด้วย กับขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งสำหรับข้อเรียกร้องประการหลังนั้นศาลโลกได้นั่งบัลลังก์ตัดสินไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554
โดยให้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 17.6 ตารางกิโลเมตร
การถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ไทยและกัมพูชาได้มอบให้คณะกรรมการร่วมชายแดนทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย รมต.กลาโหม และคณะทำงานร่วมที่ประกอบด้วยฝ่ายทหารชั้นสูงของทั้งสองฝ่าย หารือกันในเรื่องเขตแดนให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาลโลก นำมาสู่การปรับกำลังทหารเมื่อปี 2555 โดยทางกัมพูชาตัดสินใจถอนทหารออกจากพื้นที่ และนำกำลังตำรวจเข้าประจำการแทน ซึ่งไทยก็ปฏิบัตินั้นเช่นกัน
สำหรับแนวทางการต่อสู้คดีครั้งนี้ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมการต่อสู้กับทางกัมพูชา เป็นเอกสารสำหรับศาลโลกพิจารณาจำนวน 1,300 หน้า โดยนายวีรชัย
พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และหัวหน้าคณะต่อสู้คดี ได้อธิบายถึงแนวทางการสู้คดีของไทย 3 ประเด็นดังนี้
1) ศาลโลกไม่มีอำนาจ เพราะแม้อำนาจการตีความของศาลนั้นไม่มีอายุความ แต่ต้องจำกัดอยู่ภายในกรอบคำพิพากษาเดิม ตามคำพิพากษาปี 2505 ระบุให้ไทยต้องถอนทหารออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท (Vicinity) ซึ่งกัมพูชาต้องการให้ศาลตีความคำนี้ตามเขตแดนที่กัมพูชาถ่ายทอดจากแผนที่ 1 : 200,000
แต่ฝ่ายไทยแย้งว่า นี่ไม่ใช่คำขอตีความ แต่เป็นการฟ้องร้องคดีใหม่ เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวกับเขตแดน ซึ่งไม่ได้ปรากฏในคำพิพากษาตามคดีเก่า (ปี 2505) ฉะนั้นเมื่อออกนอกกรอบคำพิพากษาเดิม ศาลจึงไม่มีอำนาจตัดสิน
2) ไทยกับกัมพูชาไม่ได้เห็นต่างกันในเรื่องเขตแดน เพราะไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเดิมของศาลในปี 2505 เป็นที่เรียบร้อย คณะรัฐมนตรีไทยมีมติให้กั้นแนวรั้วลวดหนาม กำหนดเขตรอบตัวปราสาท และถอนกำลังทหารออกมาหมดแล้ว
ซึ่งหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทางกัมพูชาก็ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิบัติของไทย
และ 3) คำร้องของกัมพูชาเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาเดิม ซึ่งจะกระทำมิได้ เพราะในครั้งนี้กัมพูชาร้องขอในสิ่งที่ศาลโลกปี 2505 เคยปฏิเสธมาแล้ว นั่นคือ การกำหนดเส้นเขตแดน และระบุสถานะทางกฎหมายของแผนที่ 1 : 200,000 การยื่นตีความรอบปัจจุบันจึงเท่ากับเป็นการขออุทธรณ์คำพิพากษาในอดีตนั่นเอง
กระทรวงการต่างประเทศไทยได้ว่าจ้างคณะทนายเพื่อต่อสู้คดีซึ่งนำโดย James Crawford ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, Donald McRae ปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ, Alain Pellet ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ที่เป็นหัวหน้าคณะต่อสู้คดี
ด้านนายศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ให้ความคิดเห็นต่อกรณีข้อพิพาทครั้งนี้ว่า ทั้งหมดนี้คือผลพวงจากยุคอาณานิคมในเรื่องเขตแดน ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตของคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกันจากทั้งประเทศไทยและกัมพูชา
"ความเป็นอยู่ของชาวภูมิซรอลที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่พิพาทเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำคัญต่อการหาของป่าเพื่อดำรงชีพของคนในพื้นที่ หากพื้นที่พิพาทเป็นของกัมพูชา ดังนั้นรัฐควรกำหนดเขตแดนทางวัฒนธรรมขึ้นใหม่ และไม่ควรหาประโยชน์จากพื้นทับซ้อน" นายศรีศักรกล่าว
อย่างไรก็ตาม การกล่าวถ้อยแถลงด้วยวาจาเพิ่มเติม ถือเป็นถ้อยแถลงครั้งสุดท้ายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคำพิพากษาในช่วงปลายปีนี้ สามารถรับฟังการถ่ายทอดสดถ้อยแถลงด้วยวาจาของทั้ง 2 ฝ่ายได้จากเว็บไซต์ http://www.icj-cij.org/homepage ซึ่งจะเป็นให้เสียงที่ใช้จริงที่เป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ศาลโลกยังจะมีการเผยแพร่คำแถลงของทั้ง 2 ฝ่ายผ่านทางเว็บไซต์ของสหประชาชาติที่ http://webtv.un.org ส่วนทางกระทรวงต่างประเทศได้จัดช่องทางรับชม โดยสามารถเลือกรับฟังเสียงจริงที่เป็นภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาอังกฤษ และเสียง
ที่แปลแล้วเป็นภาษาไทยได้ที่ http://www.phraviharn.org และยังสามารถรับฟังได้ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 92.5 และ AM 891 รวมไปถึงสถานีวิทยุสราญรมย์ที่คลื่น AM1575 ด้วย
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น