เปิดบันทึกเงื่อนไขข้อตกลงอินโดนีเซีย ฉบับแปล
ตัวแทนประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา ไปเจรจากันที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ 7-8 เมษายน เพิ่งผ่านมา มีถ้อยแถลงถ้อยทีถ้อยอาศัยกันทั้งสองฝ่าย เห็นชอบจะว่าจ้างบริษัทเอกชนทำสำรวจพื้นที่ชายแดนร่วมกัน และจะหารือเรื่องปักปันเขตแดนกันในขั้นตอนต่อไป กัมพูชาเองก็เข้าใจการผลักดันเจบีซี 3 ฉบับ ที่ยังไม่ผ่านรัฐสภาไทย
แต่ที่แน่ ๆ กัมพูชาไม่พอใจกองทัพไทยที่ไม่ยอมให้ผู้แทนสังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าในพื้นที่เขาพระวิหาร ส่วนนอกเหนือจากนี้ ในสาระสำคัญการเจรจาและข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ประชาชนก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเอง
สำหรับฝ่ายตรวจสอบรัฐบาลนอกรัฐสภา ในนามนักวิชาการ เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ขอเสนอเอกสารที่ฝ่ายรัฐไม่เปิดเผย คือ เงื่อนไขการทำสัญญา การวางทีมผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (IOT) ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย มีสาระอย่างละเอียดให้พิจารณาดังต่อไปนี้ ;
ข้าพเจ้าขอขอบคุณอีกครั้งในการดำเนินให้เกิดผลลัพธ์ในทางที่ดี จากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2011
จากการติดตามผลของประชุมดังกล่าวและเพื่อให้สอดคล้องกับ “คำแถลงของประธานอาเซียน ตามด้วยการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2011” ข้าพเจ้าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะมอบรายการดังต่อไปนี้
1. จดหมายร่างเงื่อนไขการทำสัญญาหรือ TOR ในการจัดวางทีม IOT ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย
2.ภาคผนวกเพิ่มเติมจากจดหมาย กล่าวคือ TOR หรือเงื่อนไขการทำสัญญา การวางทีมผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (IOT) ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย
เป็นความหวังอย่างจริงใจว่า ข้าพเจ้าสามารถรับความคิดเห็นจากกัมพูชาและไทยต่อจดหมายร่างนี้โดยเร็ว เพื่อจะได้นำไปใช้กับร่างที่จะตามมา ข้าพเจ้าทำได้เพียงเริ่มกระบวนการแลกเปลี่ยนจดหมายเมื่อข้อตกลงนั้นได้ไปสู่ 3 ประเทศกล่าวคือ กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย
ขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าขอเรียนว่า อินโดนีเซียได้ริเริ่มเตรียมการระดับชาติสำหรับหน้าที่ที่ได้รับมอบให้สังเกตการณ์สิ่งที่กล่าวมาแล้ว
ด้วยความนับถืออย่างสูง
ดร.อาร์.เอ็ม มาร์ตี้ เอม.นาตาเลกาวา
ฯพณฯ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรไทย
นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา
กรุงจาการ์ตา , กุมภาพันธ์ 2011
ข้าพเจ้าเป็นเกียรติที่กล่าวถึงคำแถลงโดยประธานของอาเซียน ตามด้วยการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2011
ยินดีต้อนรับคำเชิญจากกัมพูชาและไทย ที่จะขอให้อินโดนีเซีย, ซึ่งเป็นประธานอาเซียนอยู่ ณ ปัจจุบัน, ส่งคณะผู้สังเกตการณ์ไปประจำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของคู่ภาคีเรื่องเขตแดนกัมพูชา-ไทย, เพื่อเฝ้าดูความยึดมั่นของทั้งสองฝ่าย ที่ว่าจะหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ โดยให้คณะผู้สังเกตการณ์มีภาระหน้าที่ดังนี้ ;
"ช่วยและสนับสนุนทั้งสองฝ่ายให้สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังระหว่างกันให้จงได้ โดยการเฝ้าดูและส่งรายงานอย่างถูกต้องเป็นกลางในเรื่องที่เกี่ยวกับการร้องเรียน ว่าด้วยการละเมิดความตกลง แล้วส่งรายงานนั้นไปยังแต่ละฝ่าย ผ่านอินโดนีเซียผู้เป็นประธานปัจจุบันของอาเซียน”
ในการนี้ข้าพเจ้าเป็นเกียรติที่จะเสนอเงื่อนไขการทำสัญญาหรือ TOR การวางทีมผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (Indonesian Observers Team : IOT) ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย ในภาคผนวก
พร้อมกันนี้ข้าพเจ้าได้ยื่นจดหมายเดียวกันนี้และแนบภาคผนวกที่กล่าวถึงให้กับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา
จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งหากท่านจะยืนยัน ในฐานะรัฐบาลไทย ในการยินยอมรับการจัดทำ TOR และยืนยันความเข้าใจในจดหมายและภาคผนวกนี้ พร้อมทั้งตอบกลับมาจะถือเป็นการประกอบเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างอินโดนีเซีย ไทย และ กัมพูชา
TOR จะมีผลบังคับใช้ในวันที่อินโดนีเซียรับการยืนยันจากคู่ภาคีรายสุดท้ายว่าด้วยการตกลงยอมรับ TOR ซึ่งข้าพเจ้าจะแจ้งให้คู่ภาคีทราบต่อไปในการเริ่มบังคับใช้ TOR
ด้วยความนับถืออย่างสูง
ภาคผนวก
เงื่อนไขการทำสัญญา (TOR) การวางทีมผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (IOT) ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย
วัตถุประสงค์เป็นไปตามคำกล่าวของประธานอาเซียนในโอกาสการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2011 ว่า
"ช่วยและสนับสนุนทั้งสองฝ่ายให้สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังระหว่างกันให้จง ได้ โดยการเฝ้าดูและส่งรายงานอย่างถูกต้องเป็นกลางในเรื่องที่เกี่ยวกับการร้อง เรียนว่าด้วยการละเมิดความตกลง แล้วส่งรายงานนั้นไปยังแต่ละฝ่าย ผ่านอินโดนีเซียผู้เป็นประธานปัจจุบันของอาเซียน"
องค์ประกอบทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย (IOT) จะประกอบด้วยข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือนของอินโดนีเซีย รวม 30 คน
ทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย 30 คนนี้ จะมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
• IOT กัมพูชา 15 คน จะอยู่ในพื้นที่กัมพูชาที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย
• IOT ไทย 15 คน จะอยู่ในพื้นที่ไทยที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา
สถานะภาพ
ทีม IOT จะมีสิทธิพิเศษในฐานะที่เป็นตัวแทนทางการทูต
พื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ครอบคลุมของ IOT กัมพูชา จะเป็นพื้นที่กัมพูชาที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย กล่าวคือ (จะระบุภายหลัง)
พื้นที่ครอบคลุมของ IOT ไทย จะเป็นพื้นที่กัมพูชาที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวคือ (จะระบุภายหลัง)
บทบาทและความรับผิดชอบ
ทีม IOT จะต้อง :
ก. สังเกตและตรวจสอบการหยุดรบตามที่คู่ภาคีได้ตกลง
ข. ตรวจสอบความจริงในพื้นที่ตามรายงานการปะทะตามที่คู่ภาคีได้ตกลง
ค. ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกในการตรวจสอบความจริงในพื้นที่ ตามรายงานการปะทะตามที่คู่ภาคีได้ตกลง
ง. รักษาความยุติธรรม ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระ อย่างเคร่งครัด ที่จะปฏิบัติตามคำสั่งและภารกิจของคู่ภาคี และจะเคารพกฎกติกาของกัมพูชา(สำหรับทีม IOT กัมพูชา) และของไทย(สำหรับทีม IOT ไทย)
จ. ในการดำเนินพันธกิจให้ตลอดรอดฝั่ง จะระมัดระวังท่าทีที่จะมีผลให้เกิดการขัดแย้งกัน
ฉ. ยึดถือกฎระเบียบและการประชุมกับคู่ภาคี เพื่อแก้ปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่
ช. ไม่ติดอาวุธ แต่จะต้องใส่เครื่องแบบและตราประจำตำแหน่ง
คู่ภาคีจะต้อง :
ก. รับผิดชอบเต็มรูปแบบต่อความปลอดภัยของทีม IOT ในการปฏิบัติหน้าที่
ข. ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกมาตรการ ในการปกป้องและรักษาความปลอดภัยให้แก่ทีม IOT
ค. รับรองว่าจะให้การเคลื่อนที่ที่เป็นอิสระโดยทั่ว ในพื้นที่ที่ครอบคลุมการปฏิบัติงานของทีม IOT
ง. จัดเตรียมเส้นทางปลอดภัยในทันที กรณีที่ต้องเคลื่อนย้ายคณะออกจากพื้นที่ครอบคลุม
การรายงานก. ทีม IOTจะส่งรายงานประจำวันต่ออินโดนีเซียผู้เป็นประธานปัจจุบันของอาเซียน
ข. ทีม IOTจะส่งรายงานด่วนในกรณีที่มีการสู้รบตามที่คู่ภาคีได้ตกลงกัน และกรณีอื่น ๆ ที่เป็นที่สนใจอย่างเร่งด่วนจากอินโดนีเซียผู้เป็นประธานปัจจุบันของอาเซียน
การบริหารและการจัดการสนับสนุนคู่ภาคีจะต้องจัดหา :
ก. ที่พักอย่างเพียงพอ พร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเดินทางและติดต่อสื่อสาร
ข. การขนส่งทั้งทางอากาศและทางบกอย่างเหมาะสม พร้อมด้วยนักบินและคนขับ
ค. เจ้าหน้าที่ประสานงานและหน่วยเคลื่อนที่ที่จะอำนวยการประสานงาน
รัฐบาลอินโดนีเซียจะรับผิดชอบสำหรับ :ก. เงินเดือนและเงินได้อื่นๆ
ข. ค่าพาหนะไปยังเมืองหลวงของประเทศคู่ภาคี แต่ค่าพาหนะหรือการขนส่งไปยังพื้นที่ชายแดนจะเป็นภาระรับผิดชอบของคู่ภาคี
ช่วงเวลาดำเนินการ
ช่วงเวลาของสัญญากำหนด.........เดือน (จะระบุภายหลัง) จากวันที่ที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายของ TOR และจะแก้ไขได้ด้วยการตกลงระหว่างสามภาคีที่เกี่ยวข้อง
การทำให้เป็นผลตาม TOR ของทีม IOT จะมีการทบทวน .........เดือน (จะระบุภายหลัง)
การสิ้นสุดและ/หรือ การชะลอ
รัฐบาลอินโดนีเซียจะยุติหรือจะชะลอการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีการแจ้งเตือนไปถึงคู่ภาคีในกรณี :
ก. สถานการณ์ในพื้นที่นำไปสู่อันตรายและการคุกคามต่อชีวิตของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย
ข. คู่ภาคีไม่ทำตามสัญญาและความรับผิดชอบในการหยุดรบตามที่ระบุไว้ใน TOR หรือ
ค. คู่ภาคีมีเจตนาเพิกเฉยที่จะดำเนินการตามที่รับการแนะนำในการละเมิดการหยุดรบ
ดร.อาร์.เอ็ม มาร์ตี้ เอม.นาตาเลกาวา
ฯพณฯ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรไทย
ข้อสังเกตภาคประชาชนไทย
เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า การเกิดมี “ทีโออาร์ อินโดนีเซีย” ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และอาเซียน ได้รับรู้ข้อมูลถึงการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ของทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา โดยรอเพียงรัฐบาลไทย ยินยอมรับการจัดทำ TOR และยืนยันความเข้าใจในจดหมายและภาคผนวกนี้ พร้อมกับตอบกลับประธานอาเซียนก็มาจะถือเป็นการประกอบเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างอินโดนีเซีย ไทย และ กัมพูชา
TOR จะมีผลบังคับใช้ในวันที่อินโดนีเซียรับการยืนยันจากคู่ภาคีรายสุดท้ายว่าด้วยการตกลงยอมรับ TOR ซึ่งก็คือประเทศไทย แต่ประชาชนไทยกลับไม่ได้รับรู้ความจริง โดยความจริงที่ควรจะเป็น ตัวแทนประเทศไทยไม่สมควรยอมรับทีโออาร์ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นลักษณะพหุภาคี โดยดึงในนามกลุ่มอาเซียนเข้าไปรองรับการปฏิบัติที่ผิดธรรมเนียมตั้งแต่การก่อเกิดกลุ่มอาเซียน
ยังดีสำหรับประเทศไทย ก่อนการประชุมที่โบกอร์ ผบ.เหล่าทัพของไทยได้ยืนกรานหนักแน่นอย่างเป็นทางการ จะเจรจาคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ จีบีซี ในกัมพูชาหรือในไทยเท่านั้น รวมทั้งไม่ยอมให้ผู้แทนสังเกตการณ์ฯขึ้นไปบนเขาพระวิหารซึ่งเป็นของประเทศไทย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยยิ่งขึ้นไปอีก
เราจะวางใจไม่ได้ โดยเฉพาะในวงเล็บที่จะระบุรายละเอียดเพิ่มเติมลงไป จะวางใจไม่ได้ ตราบใดคนที่อ้างเป็นตัวแทนประเทศไทยไปทำลับ ๆ ล่อ ๆ สมยอมประเทศกัมพูชา ที่ทำตัวประหนึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข่มเหงประเทศไทยสยาม หลายหนหลายคราว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค
บทความย้อนหลัง
-
▼
2011
(568)
-
▼
เมษายน
(71)
-
▼
13 เม.ย.
(8)
- สัมพันธ์ลึก-ผลประโยชน์ลงตัว ปราสาทพระวิหาร-ทักษิณ-...
- Abhisit, wake up and accept Asean's help [-Thai op...
- ประวัติการเสียดินแดนของไทย 14 ครั้ง พอหรือยัง?
- ปราสาทพระวิหารควรเป็นของใคร?
- mou 43
- บันทึกเครือข่ายภาคประชาชนกรณีข้อเท็จจริงกรณีปราสาท...
- สัมพันธ์ลึก-ผลประโยชน์ลงตัว ปราสาทพระวิหาร-ทักษิณ-...
- เปิดบันทึกเงื่อนไขข้อตกลงอินโดนีเซีย ฉบับแปล
-
▼
13 เม.ย.
(8)
-
▼
เมษายน
(71)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น