บันทึก
เครือข่ายภาคประชาชน
กรณีข้อเท็จจริงกรณีปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ
ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้จัดเวลาในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคประชาชน โดยการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ระหว่างเวลา 10.00 น. – 13.00 น.นั้น เครือข่ายภาคประชาชนซึ่งติดตามเรื่องปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบขอประกาศจุดยืนดังต่อไปนี้
1. เราขอบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับ
และยืนยันว่าไทยยึดหลักสันปันน้ำตามทิวเขาดงรักเป็นเส้นเขตแดนอย่างเคร่งครัด
ยืนยันว่าเฉพาะปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และไทยได้โต้แย้งและสงวนสิทธิ์เอาไว้แล้วตามหนังสือกระทรวงการต่างประเทศ เลขที่ (0601) 22239/2505 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ดังนั้นฝ่ายไทยจึงยังถือว่าพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้น อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย
ยอมรับว่าฝ่ายกัมพูชาได้รุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยในบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารนั้นเป็นความจริง
ยืนยันว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยด้วยมาตรการการทูตและการทหาร
ยืนยันว่าไทยจะไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (ICC) ที่จะทำหน้าที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืนที่ตัวปราสาทพระวิหารในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ยืนยันจะคัดค้านการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารของกัมพูชาเป็นมรดกโลกต่อไปอย่างต่อเนื่อง และจะคัดค้านแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าในช่วงที่เป็นฝ่ายค้านได้ขอให้มีการถอนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบกรอบการเจรจาออกจากการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551
ยืนยันว่ายูเนสโกได้ละเมิดอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ตามธรรมนูญของยูเนสโกในข้อ 1 วรรค 3 ว่าห้ามมิให้ยูเนสโกแทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก
ยืนยันว่าเอกสารและการดำเนินการที่จะผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนอีกครั้ง ก่อนขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เช่น พิจารณาเห็นชอบหรือรับรองรายงานการประชุมลับของรัฐสภาเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551, ร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร, ฯลฯ
2. การอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรณีเนิน 491 ระหว่างไทย
-พม่า และกรณีของไทย-กัมพูชา นั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่บังควรที่นำพระราชดำรัสในต่างกรรมต่างวาระมากล่าวสรุปปิดท้ายรายการโดยมีความประสงค์ที่จะกลบเกลื่อนเพื่อเบี่ยงเบนปัญหาที่มีอยู่จริง เพราะกรณีเนิน 491 นั้น ยังไม่มีความชัดเจนในการครอบครองซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ปราสาทพระวิหารซึ่งมีเขตแดนชัดเจนอยู่แล้ว และกรณีไทย-กัมพูชา ในขณะนั้น ก็มีความแตกต่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ฝ่ายกัมพูชามีเป้าหมายในการรุกล้ำและเข้ามายึดครองดินแดนไทย โดยใช้ MOU 2543 เป็นเครื่องมือ ในกรณีหากมีข้อพิพาทห้ามใช้กำลัง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น
3. เราขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ได้จัดทำเสร็จสิ้น
โดยคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส เมื่อ 103 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะทิวเขาดงรักอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร คณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส ได้มีมติให้ยึดหลักสันปันน้ำตามสนธิสัญญาแล้ว ดังนั้นเขาพระวิหารอันเป็นที่ตั้งของตัวปราสาทพระวิหารจึงไม่มีความจำเป็นต้องปักปันเขตแดนใหม่ หรือจัดทำหลักเขตแดนใหม่แต่ประการใด การระบุเอาไว้ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (MOU 2543) ในข้อ 1 ค. ซึ่งระบุให้การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ด้วย ย่อมทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปใช้ต่อไปในอนาคตทั้งที่การปักปันเขตแดนได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907 ( พ.ศ. 2450)
เราขอยืนยันว่าแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น เป็นแผนที่ที่ผิดพลาด ไม่สามารถนำมาใช้ได้ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่เคยพิพากษาแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่ดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่ควรกำหนดแผนที่ดังกล่าวไว้ใน MOU 2543 อนึ่ง คำพิพากษาแย้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 นั้นระบุว่าแผนที่ดังกล่าวมีข้อผิดพลาดหลายแห่ง
4. การที่กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือแจ้งไปรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2551 ว่า
ฝ่ายไทยไม่ยึดถือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ในระวางที่เรียกว่าดงรัก เพราะถือว่าไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยเอกสารดังกล่าว แจ้งให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบอย่างชัดเจนโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามการแสดงออกดังกล่าวยังอยู่ในระดับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศของไทยฝ่ายเดียว และไม่มีผลเท่ากับการยกเลิก MOU 2543 ตามที่ภาคประชาชนร้องขอแต่ประการใด
นอกจากนี้ความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศในยุคปัจจุบันยังมีความคลาดเคลื่อนอย่างมากจากความเป็นจริงและขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ เข้าใจผิดว่าการยึดแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 นั้นมีความสำคัญมากกว่าข้อบทแห่งสนธิสัญญาเพราะแผนที่เกิดขึ้นภายหลัง, เข้าใจผิดว่าแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เป็นผลงานของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส, เข้าใจผิดว่าแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เป็นผลของการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างสยาม –ฝรั่งเศส, นอกจากนั้นยังเข้าใจคำพิพากษาของศาลโลกไม่ถูกต้องว่าได้พิพากษายอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าไทยยังคงใช้ MOU 2543 ต่อไป
ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยการออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนในการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จและเป็นข้อกฎหมายที่ผิดพลาด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
5. เราเห็นว่าบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่าง
ไทย-กัมพูชา (MOU 2543) ถือได้ว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ แต่กลับไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 224
6. กรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าในช่วงที่เป็นฝ่ายค้านได้ขอให้มีการถอนแผนที่
มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบกรอบการเจรจาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เราขอให้มีการบันทึกกรณีดังกล่าวในรายงานการประชุมของรัฐสภา
7. ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีอ้างว่า MOU 2543 มีประโยชน์เพียง
เพื่อให้รู้ว่าฝ่ายกัมพูชาละเมิดตาม MOU 2543 ซึ่งฝ่ายไทยได้ทำหนังสือประท้วงไปไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการถูกรุกล้ำอธิปไตยและเข้ายึดครองดินแดนไทยได้ จึงเป็นเหตุสมควรที่จะยกเลิก MOU 2543 ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1969 ได้ในทันที
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงอำนาจอธิปไตยของไทยในพื้นที่ซึ่งถูกรุกล้ำนอกเหนือจากมาตรการทางการทูตและการทหาร เช่น การทำหน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, การทำหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย, การจัดเก็บภาษีต่างๆของกระทรวงการคลัง ตลอดจนใช้กำลังทหารในการผลักดัน เพื่อปกป้องรักษาดินแดนและอธิปไตยของไทย
8. เราขอยืนยันว่า หากยกเลิก MOU 2543 แล้ว ไทยไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด
และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการอธิบายกับนานาชาติได้ว่าสาเหตุในการยกเลิกเพราะมีเหตุสืบเนื่องมาจากการละเมิด MOU 2543 ของฝ่ายกัมพูชา และถึงแม้ยกเลิก MOU 2543 แล้วเขตแดนไทยตามสันปันน้ำบริเวณทิวเขาดงรักก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
9. เราขอให้รัฐบาลไทยทำการประท้วงนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา กรณีที่
ประกาศว่ากัมพูชาได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่จากการที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้ไปลงนามในร่างมติประนีประนอมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งจะกลายเป็นมติมรดกโลกต่อไป และทำหนังสือยืนยันคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชา ที่นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกตั้งแต่ครั้งที่ 31 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
10. คำแถลงของ ฮุน เซน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และวันจันทร์ที่ 9
สิงหาคม พ.ศ. 2553 ว่าพร้อมจะนองเลือด ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีความขัดแย้งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ และการประกาศของฝ่ายกัมพูชาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกัมพูชานั่นเองที่จะเป็นผู้เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน จึงขอรัฐบาลไทยทำการประท้วงและทำหนังสือแจ้งไปยังองค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการมรดกโลก และยูเนสโก ว่าในกรณีนี้กัมพูชาซึ่งเป็นฝ่ายรุกล้ำอธิปไตยและเข้ายึดครองดินแดนไทยจะเป็นผู้ที่เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน ดังนั้นย่อมเป็นการตอกย้ำว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกครั้งนี้ เป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน
เครือข่ายภาคประชาชน
10 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น