จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- บทความนี้เกี่ยวกับคดีปัจจุบัน สำหรับคดีที่ตัดสินไปแล้ว ดูที่ คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505
เนื้อหา[ซ่อน] |
[แก้] การตั้งต้นคดี
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ เพื่อขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 (คำพิพากษาเดิม) อันป็นคดีพิพาทเดิมระหว่างไทยและกัมพูชาซึ่งศาลฯได้เคยตัดสินเมื่อ พ.ศ. 2505 [1] และในวันเดียวกันกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลฯเพื่อขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน [2] โดยในคำร้องทั้งสองฉบับกัมพูชาได้กล่าวอ้างถึงความขัดแย้งไทย-กัมพูชาที่ยังคงเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบันต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ศาลฯได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า คำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลฯตีความคำพิพากษาเดิมนั้นถือเป็นการเริ่มต้นคดี ใหม่ ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลฯระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้นถือเป็นกระบวน พิจารณาที่เกี่ยวเนื่องกับคดีใหม่ดังกล่าว [3] [4]
[แก้] คำร้องขอให้ตีความคำพิพากษา
[แก้] เนื้อหาคำร้องของกัมพูชา
กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเป็นภาษาฝรั่งเศสความยาว 17 หน้า[5] มีใจความสำคัญดังนี้กัมพูชาระบุว่าไทยมีข้อขัดแย้งต่อความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิมในประเด็นดังต่อไปนี้
1. ประเด็นที่กัมพูชาเห็นว่าคำพิพากษาเดิมนั้นได้อาศัยเขตแดนระหว่างประเทศที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างให้การยอมรับ
2. ประเด็นที่กัมพูชาเห็นว่าเขตแดนดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่ในภาคผนวก 1 ที่ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาซึ่งศาลฯได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษาเดิม ซึ่งศาลฯได้อาศัยแผนที่ฉบับนี้เพื่อวินิจฉัยว่าการที่กัมพูชามีอธิปไตยเหนือ ปราสาทพระวิหารนั้นเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นเองจากการที่กัมพูชามีอธิปไตย เหนือบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่
3. ประเด็นที่คำพิพากษาเดิมได้ตัดสินให้ไทยมีพันธกรณีต้องถอนกำลังทหารหรือ บุคคลากรอื่นออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทที่ตั้งอยู่บนเขตแดนของกัมพูชา โดยกัมพูชาเห็นว่าพันธกรณีที่มีลักษณะทั่วไปและต่อเนื่องดังกล่าวย่อมเป็นไป ตามถ้อยคำในคำพิพากษาเดิมที่ศาลฯได้ยอมรับว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือบริเวณ ดังกล่าว
กัมพูชาอธิบายต่อว่า แม้ไทยจะไม่โต้แย้งว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร แต่เมื่อไทยโต้แย้งว่ากัมพูชาไม่มีอธิปไตยเหนือบริเวณโดยรอบและใกล้เคียง ปราสาทพระวิหาร ย่อมถือว่าไทยโต้แย้งว่าเส้นเขตแดนที่ศาลฯได้ยอมรับไว้ตามคำพิพากษาเดิมนั้น ไม่ถูกต้องทั้งหมด ซึ่งย่อมกระทบไปถึงบริเวณตัวปราสาทด้วยเช่นกัน
กัมพูชาจึงมีขอให้ศาลวินิจฉัยและสั่งว่า พันธกรณีที่ไทยต้องถอนกำลังทหารหรือกำลังตำรวจใดๆ หรือเจ้าหน้าที่ยามหรือผู้เฝ้าดูแลอื่นๆ ที่ไทยได้เคยให้ประจำอยู่ ณ ตัวปราสาทหรือบริเวณใกล้ตัวปราสาท (ตามบทปฏิบัติการข้อ 2 ของคำพิพากษาเมื่อ พ.ศ. 2505) เป็นผลโดยเฉพาะที่เกิดจากพันธกรณีอันทั่วไปและต่อเนื่องที่ไทยจะต้องเคารพ บูรณภาพอาณาเขตของกัมพูชา โดยที่บริเวณตัวปราสาทและบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตดังกล่าวได้มีการปักปัน โดยเส้นเขตแดนตามแผนที่ซึ่งศาลได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษาเดิมอันศาลได้อาศัยเป็นฐานในการพิพากษา
[แก้] ลักษณะการพิจารณาคดี
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีที่รัฐร้องขอให้ศาลฯตีความคำ พิพากษาตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 60 ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคี ประกอบกับกฎของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 98 โดยศาลฯจะอาศัยเพียงคำร้องของกัมพูชาฝ่ายเดียวเพื่อรับคดีไว้พิจารณาก็ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฯได้รับคดีเข้าสู่สารบบความแล้ว ก่อนที่ศาลจะสามารถตีความคำพิพากษาเดิม ศาลฯจะต้องวินิจฉัยคำร้องของกัมพูชาเสียก่อนว่ามีเหตุแห่งคดีที่เข้า เงื่อนไขให้ตีความได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากแนววินิจฉัยในอดีตแล้ว [6] ศาลฯจะพิจารณาเงื่อนไขสองประการคือ1. คำร้องของกัมพูชาต้องมุ่งหมายให้ตีความคำพิพากษาเดิมอย่างแท้จริงเพื่อให้ ความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิมชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยมิใช่เพื่อตอบคำถามใหม่ที่ไม่ได้ถูกพิพากษาตามคำพิพากษาเดิม
2. คำร้องของกัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาและไทยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาดังกล่าว
หากคำร้องไม่เข้าเงื่อนไขทั้งสอง ศาลฯก็จะพิพากษาว่าคำร้องดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การตีความคำพิพากษาเดิม ได้ อย่างไรก็ดีหากคำร้องบางส่วนหรือทั้งหมดเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ศาลฯก็จะพิจารณาคำร้องส่วนดังกล่าวเพื่อตีความคำพิพากษาเดิม โดยการตีความจะปรากฏในคำพิพากษาฉบับใหม่
[แก้] กระบวนพิจารณาคดีล่าสุด
กระทรวงการต่างประเทศคาด ว่าไทยจะต้องทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรให้ศาลฯภายในประมาณเดือนตุลาคม 2554 ซึ่ง คาดว่ากระบวนพิจารณาการตีความอาจจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2555 [7][แก้] คำร้องขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราว
[แก้] เนื้อหาคำร้องของกัมพูชา
กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเป็นภาษาฝรั่งเศสความยาว 3 หน้า [8] มีใจความสำคัญดังนี้กัมพูชากล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2554 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นบริเวณปราสาทพระวิหารและจุดอื่นๆ ตามเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและต้องเดินทางหนีภัย ซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวได้ดำเนินมาจนกระทั่งเวลาที่กัมพูชาได้ยื่นคำ ร้องต่อศาลฯ โดยไทยเป็นฝ่ายที่ตั้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ทั้งหมด ศาลฯจึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองรักษาสิทธิของกัมพูชา และป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น หากปราศจากมาตรการของศาลฯและไทยยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ก็จะทำให้ปราสาทพระวิหารเสียหาย รวมไปถึงทำให้ผู้คนล้มตายและทุกข์ทรมานจากการปะทะกันโดยอาวุธ ซึ่งจะร้ายแรงยิ่งขึ้น
กัมพูชาจึงขอให้ศาลฯระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังต่อไปนี้
1. ให้ไทยถอนกำลังจากจุดต่างๆ ในบริเวณประสาทพระวิหารอันเป็นดินแดนของกัมพูชาโดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข
2. ห้ามมิให้ไทยดำเนินการทางทหารใดๆ ในบริเวณประสาทพระวิหาร
3. สั่งให้ไทยไม่กระทำการใดๆที่อาจแทรกแซงสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น
[แก้] ลักษณะการพิจารณาคดี
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตาม ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 41 ซึ่งไทยเป็นภาคี ประกอบกับกฎของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 73 ถึง 78 โดยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวถือเป็นส่วนหนึ่งของคดี ที่กัมพูชาได้ขอให้ศาลฯตีความคำพิพากษาเดิมก่อนที่ศาลฯจะสามารถระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ศาลฯต้องวินิจฉัยคำร้องว่าได้ปรากฏเหตุที่เข้าเงื่อนไขให้สามารถระบุมาตรการ คุ้มครองชั่วคราวได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากแนววินิจฉัยในอดีตแล้ว [9] ศาลฯจะพิจารณาเงื่อนไขสามประการคือ
1. กัมพูชาต้องแสดงให้ศาลฯเห็นถึงมูลคดีในเบื้องต้นว่าการขอให้ตีความคำพิพากษา เดิมนั้นสามารถนำไปสู่การพิจารณาในเนื้อหาต่อไปได้ กล่าวคือศาลฯต้องพอใจในเบื้องต้นว่ากัมพูชามิได้ขอให้ตีความคำถามใหม่ที่ไม่ ได้ถูกพิพากษาตามคำพิพากษาเดิม และกัมพูชาและไทยต่างมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาดัง กล่าวอยู่จริง (อย่างไรก็ดี ไทยย่อมมีสิทธิต่อสู้หักล้างมูลคดีเบื้องต้นดังกล่าวในภายหลังได้)
2. กัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ามาตรการคุ้มครองชั่วคราวจำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิของกัมพูชาจากความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ภายหลัง
3. กัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากความเสียหายที่ไม่ สามารถเยียวยาได้ภายหลังอาจเกิดขึ้นก่อนที่ศาลฯจะได้พิจารณาคดีที่ขอให้ตี ความคำพิพากษาเดิมแล้วเสร็จ
[แก้] กระบวนพิจารณาคดีล่าสุด
กระทรวงการต่างประเทศคาด ว่าศาลฯจะนัดฟังการแถลงคดีด้วยวาจาโดยกัมพูชาและไทย ประมาณวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2554 เพื่อให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูลต่อศาลฯเกี่ยวกับการขอให้มีมาตรการ คุ้มครองชั่วคราว โดยแต่ละฝ่ายจะมีเวลาแถลงคดีด้วยวาจาประมาณฝ่ายละ 4 ชั่วโมง [10][แก้] อ้างอิง
- ^ http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16471.pdf
- ^ http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16473.pdf
- ^ http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16480.pdf
- ^ http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16481.pdf
- ^ http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16471.pdf
- ^ http://www.icj-cij.org/docket/files/13/1935.pdf
- ^ http://www.mfa.go.th/web/3037.php?id=27269
- ^ http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16473.pdf
- ^ http://www.icj-cij.org/docket/files/140/14801.pdf
- ^ http://www.mfa.go.th/web/3037.php?id=2726
แหล่งข้อมูลอื่น
- แหล่งสำรองเอกสาร (กรณีเว็ปไซต์ศาลฯขัดข้อง) โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ดูที่ sites.google.com/site/verapat/temple
- ข่าวสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
- สำเนาเอกสารแจ้งสื่อมวลชนโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
- เปิดคำร้องกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีพระวิหาร โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
- เขมร-ไทย กับศาลโลก : เขมรขอตีความคำพิพากษา พ.ศ.2505 ไม่ใช่พิจารณาคดีใหม่ (เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยฅน) โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
- นิติราษฏร์ ฉบับ ๒๐ (ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช) ข้อสังเกตเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร
- นัยของการยื่นศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ของกัมพูชา โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์
- พระวิหารกับศาลโลก ๒๕๕๔ โดย ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น