หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์รายงานเมื่อวันจันทร์ (6 มิ.ย.) ว่า ฝ่ายไทยจะไม่ดำเนินการตามคำสั่งของศาลระหว่างประเทศ (ไอเจซี) โดยอ้างการรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่อ้างคำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าฝ่ายไทยจะยอมรับการตัดสินของศาลไอเจซี ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ไอซีเจ "ไม่มีอำนาจ" สั่งการให้ฝ่ายไทยถอนทหารออกจากบริเวณชายแดนตามที่กัมพูชาร้องขอ
ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ก็รายงานด้วยว่า นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล ให้ความเห็นสนับสนุน รมว.กลาโหม โดยกล่าวว่า "ไอซีเจ ไม่มีอำนาจในการบังคับให้ไทยถอนทหาร"
พนมเปญโพสต์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความเห็นของ รมว.กลาโหมและโฆษกรัฐบาลไทยจะทำให้เกิดความวุ่นวายครั้งใหม่ในการแก้ปัญหา ชายแดนไทย-กัมพูชาที่ยืดเยื้อมานาน
ทั้งสองประเทศได้ให้การต่อศาลไอซีเจ หลังจากที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความคำสั่งศาลเมื่อปี 2505 ที่ระบุให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาอ้างว่าคำสั่งศาลดังกล่าวหมายรวมถึงพื้นที่โดยรอบปราสาทด้วย
ด้านนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ศาลไอซีเจจะใช้เวลาประมาณ 40-45 วัน ในการลุถึงคำตัดสิน
ขณะที่นายอังเดรย์ พอสคาคูกิน หัวหน้าแผนกข้อมูลแห่งไอซีเจ กล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ไอซีเจไม่มีอำนาจในการบังคับใช้คำพิพากษา เพราะโดยทั่วไปแล้วคู่ความแต่ละประเทศจะเคารพต่อคำพิพากษาของศาล แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล คู่ความอีกฝ่ายก็สามารถยื่นเรื่องสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อพิจารณาต่อไปได้
ส่วนนายกอย เกือง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชายืนยันว่า กัมพูชาไม่หวั่นไหวต่อท่าทีของไทย และหากไทยไม่เคารพต่อคำพิพากษาของศาลโลกที่ระบุให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ ชายแดน ก็จะเป็นปัญหาของไทยกับไอซีเจเอง
ฮุนเซนปฏิเสธข่าวข้อเสนอบริหารร่วม
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟรายงานข่าวระบุว่า บายนทีวีและหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพของกัมพูชา เมื่อช่วงเย็น (6 มิถุนายน 2554) รายงานอ้างคำกล่าวของฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พร้อมแนะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยไปคิดแต่เรื่องการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งเถิด อย่าได้พูดอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพรมแดนอีก พร้อมกันนั้นได้ส่งสารยืนยันแจ้งมายังกรุงเทพฯ แจ้งชาวไทยและชาวกัมพูชาว่า กัมพูชาและไทยไม่มีพื้นที่ทับซ้อนทางบก ไม่มี ไม่ว่าเป็นพื้นที่ไหน มีพื้นที่ทับซ้อนเฉพาะในทะเล
ส่วนกรณีที่ได้เสนอให้กัมพูชา-ไทย ทำธุรกิจร่วมกันในพื้นที่ขัดแย้ง 4.6 ตร.กม. พร้อมเงื่อนไข 3 ข้อนั้นสมเด็จฮุนเซน บอกว่าเรื่องพรมแดน 100 ปี ก็พูดกันไม่จบสิ้น ตอนนี้ข้อไหนก็กำหนดให้ได้ทำงานร่วมกันก่อน ไม่ได้ให้มาเจรจากัน
"ไม่ได้หารือกับใครเลย อย่าว่าแต่หารือเลย พบก็ไม่ได้พบ เรื่องปัญหาเกี่ยวข้องไปถึงพื้นที่ทับซ้อนนั้น กัมพูชาไม่รู้ ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังว่ามีพื้นที่ทับซ้อนทางบก แล้ว พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ไปเอามาจากไหน" สมเด็จฮุนเซนกล่าวและว่า นายกรัฐมนตรีของไทยควรทำงานให้ถี่ถ้วนกว่านี้ กล่าวคือ กรรมสิทธิ์ร่วมนั้นไม่มี ดินแดนเขมรต้องชัดว่าเป็นดินแดนเขมร ดินแทนไทยต้องชัดว่าเป็นดินแดนไทย กัมพูชาไม่สามารถถอนกองทัพออกจากดินแดนของตนได้
นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวยืนยันในตอนท้ายว่า เรื่องกัมพูชา-ไทยอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ แล้วอาเซียนควรดำเนินการต่อ ส่วนเรื่องที่ศาลกรุงเฮกก็ยืนยันไม่ถอน ไม่ว่ารัฐบาลไทยปัจจุบันหรือรัฐบาลไหน จนกว่าปัญหาจะยุติ พร้อมกันนี้ ฮุนเซนได้สั่งย้ำไปยังกองทัพแห่งชาติกัมพูชาว่าควรต้องเสริมขีดความสามารถใน การป้องกันตนเอง
บัวแก้วแจงกัมพุชาปัดละเมิดน่านฟ้า
นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันนี้ (6มิ.ย.) กระทรวงการต่างประเทศ จะมีหนังสือไปยังสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย เพื่อปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา กรณีที่กัมพูชากล่าวหาว่า ฝ่ายไทยละเมิดน่านฟ้าและเตรียมที่จะโจมตีกัมพูชา
"จะได้ชี้แจงข้อ เท็จจริง และยืนยันแนวทางปฏิบัติทางทหารของไทย ที่ต้องรักษาระยะการบินใกล้เส้นแขตแดนอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้การปฏิบัติการใด ๆ ในพื้นที่ชายแดน ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะศาลโลกติดตามพัฒนาการในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเช่นกัน" นายธานี กล่าว
มั่นใจเปลี่ยนรัฐบาลไม่กระทบสู้คดีศาลโลก
วันเดียวกัน นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย นายอิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้แถลงรายละเอียดเกี่ยวกับการสู้คดีในศาลโลก เรื่องการตีความคำพิพากษาเรื่องปราสาทพระวิหารปี 2505 ว่า การไปชี้แจงเมื่อวันที่ 30 - 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นแค่ยกแรก คือ คัดค้านคำร้องขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาที่ให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ระหว่างรอให้ศาลตีความเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเข้าสู่การพิจารณาเรื่องการตีความ ซึ่งไทยมั่นใจในข้อมูลที่ใช้สู้คดี
ส่วน ที่ว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จะกระทบต่อแนวทางการสู้คดีหรือไม่นั้น นายอิทธิพร ยืนยันว่า ไม่กระทบ เพราะทีมกฎหมายได้กำหนดแนวทางการสู้คดีเอาไว้ชัดเจนตั้งแต่แรก ทั้งเรื่องข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
กระนั้น ก็ยอมรับว่า ในส่วนของท่าทีต่อคดี อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เช่นการเพิ่มหรือตัดบางประเด็น ที่รัฐบาลคิดว่า จะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น