กรุงเทพธุรกิจ
เมื่อ วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ค่ายทหารพราน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จัดงานพิธีครบรอบ 33 ปีการก่อตั้งกรมทหารพราน โดยพลโทจีระศักดิ์ ชลประสบ แม่ทัพน้อยภาคที่ 2 เป็นประธานพิธีคล้ายวันสถาปนา มีทหารพราน และอดีตทหารพราน ข้าราชการ และประชาชนเข้าร่วม รฤก วีรกรรมของเหล่าทหารพราน ที่เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาอธิปไตยอย่างมีเกียรติและสม ศักดิ์ศรี
หลังเสร็จสิ้นพิธีการวางพวงหรีด และยิงปืนสลุต 3 ชุด คารวะอนุสาวรีย์วีรชนทหารพราน ตามด้วยพิธีสงฆ์เสร็จแล้ว ประธานได้มอบเข็มกลัดทองพร้อมใบประกาศเกียรติคุณให้หน่วยงานองค์กร ตลอดจนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ช่วยเหลือสนับสนุนด้านเครื่องอุปโภค บริโภค ยุทธปัจจัยในยามสถานการณ์คับขันด้านชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ผ่านมาหลัด ๆ
ตัวแทนหมู่บ้านอเมริกา-ดาร์สปวง ก็อยู่ในจำนวนนี้ที่ได้รับเกียรติเชิญมารับเข็มและใบประกาศ ในฐานะเป็นชุมชนอาสาแนวหน้าป้องกันการรุกรานดินแดนจากทหารกัมพูชา และชาวกัมพูชาที่มาตั้งหมู่บ้านประชิดและรุกล้ำชายแดนไทย
แน่นอนในสถานการณ์สู้รบและตึงเครียด ตลอดหลายเดือน การตั้งหมู่บ้านย่อมยากลำบาก สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐและคนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจ และไม่มีความชัดเจนในเรื่องสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
อเมริกา-ดาร์สปวง!หมู่บ้านอเมริกา-ดาร์สปวง ไม่เคยปรากฏในแผนที่การปกครอง หรือแผนที่ปฏิบัติการฉบับใด ของทางราชการอย่างแน่นอน แต่อาจเริ่มปรากฏในเอกสารรายงานการข่าวของหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งก็มิได้มีความสำคัญต่อการมีหรือไม่มีอยู่ของคนไทยกลุ่มนี้ มิสลักสำคัญเท่ากับเนื้อหาสาระแท้จริง ว่าด้วยสิทธิความชอบธรรมในการมีที่ดินทำกิน อันเคยมีมาแต่เดิม และสำคัญอย่างยิ่งเป็นหมู่บ้านแนวกันชนกับรัฐเพื่อนบ้านมีผู้นำก้าวร้าว
ถอยหลังไปช่วง พ.ศ.2519 - 2523 สงครามตัวแทนต่างลัทธิยังไม่จางจากแถบอินโดจีน กระทบต่อการดำรงชีวิตปกติ การประกอบอาชีพของชาวไทยตามแนวชายแดนติดกับกัมพูชาอย่างหนัก เพราะไม่อาจทนฝ่ากระสุนปืน กับระเบิด ในที่ดินทำกินแต่เดิมได้ เคยมีคนเสี่ยงฝ่าปราการนี้เข้าไป ต้องเสียชีวิต เสียอวัยวะ และจึงจำใจทิ้งเรือกสวนไร่นาออกมา
หลังสถานการณ์สู้รบเบาบางและยุติประมาณ พ.ศ.2523 เป็นต้นมา ชาวไทยกลุ่มหนึ่งกลับไปทำกินในที่ดินเดิม แต่กลับเจออุปสรรคจากรัฐไทยสร้างขึ้น เมื่อได้ออกประกาศรัฐทับพื้นที่ทำกินประชาชนในรูป อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์ป่าและพันธุ์พืช ป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่ความมั่นคง
ประกาศดังกล่าวครอบคลุมหลายจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี จนถึง ตราด
ประกาศกฎหมายเหล่านี้ กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนถึงขั้นจำคุก จึงเป็นอุปสรรคกีดกันสิทธิของประชาชนคนไทยเจ้าของที่ดินเดิม
ขณะที่ประชาชนไทยไม่สามารถเข้าไปทำกิน ในที่ดินเดิมของตนเองหรือของบรรพบุรุษได้ แต่กลับมีชาวกัมพูชาจำนวนหลายร้อยครอบครัว บุกรุกยึดถือครองที่ดินดังกล่าวแทน ปลูกสร้างบ้านเรือนตั้งหมู่บ้านขึ้น ตัดไม้หวงห้ามไปจำนวนมากลำเลียงขาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยมิได้แยแสดำเนินการสกัดขัดขวางมาเป็นเวลานาน เพราะมีบางคนระดับบิ๊ก สมคบกันแบ่งปันผลประโยชน์กับกัมพูชา
พฤติการณ์เลือกปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยทุจริต มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ที่ผ่านมา ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องคนใดใส่ใจ ยำเกรงกลัวความผิด...เพราะน้อยรายหรือไม่มีเลยจะถูกเอาผิด!
ตรงกันข้าม กลับบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับประชาชนคนไทยด้วยกันอย่างเข้มงวด ไร้ความชอบธรรม ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย ยกตัวอย่างกรณี ชาวบ้านตกเป็นจำเลยต้องขึ้นศาลจังหวัดนางรอง
เครือข่ายไร้ที่ทำกิน ทวงคืนแผ่นดิน26 ม.ค.2553 เวลา 14.00 น. ชาวบ้านไร้ที่ทำกินในนาม เครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ และ เครือข่ายสภาประชาชน 4 ภาค เป็นคนไทยจาก สระแก้ว สุรินทร์ มหาสารคาม และบุรีรัมย์ กว่า 500 คน รวมตัวนำสัมภาระ เครื่องมือทำการเกษตร เข้าไปแผ้วถางเตรียมแบ่งที่ดินเพื่อจัดสรรที่ทำกินบริเวณเขตป่าสระสาม บ้านราษฎร์รักแดน ต.หนองแวง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ พื้นที่กว่า 500 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรอยต่อชายแดนไทย-กัมพูชา
ชาวบ้านยึดครอบครองพื้นที่บริเวณนี้ไว้ เบื้องต้นเพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตแดนของชาวกัมพูชา และต้องการมีที่ทำกินด้วย ต่อมา ตำรวจ สภ.ละหานทราย ทหารพรานที่ 26 ตชด.215 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และฝ่ายปกครอง อ.ละหานทราย นำกำลังเข้าสกัดกั้นชาวบ้าน เจรจาให้ชาวบ้านหยุดแผ้วถางป่าและผลักดันออกไป ระบุว่าเป็นป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำ
ตำรวจได้คุมตัว นายสมร พลเกิด ประธานเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ อ.บ้านกรวด กับพวกรวม 4 คนไปสอบสวนที่ สภ.ละหานทราย แต่ยังไม่แจ้งข้อหา ส่วนชาวบ้านแม้จะถูกผลักดันออกจากเขตป่าสระสาม แต่ยังคงยืนยันจะปักหลักอยู่บริเวณถนนทางเข้า เพื่อรอให้ปล่อยตัวแกนนำ และยังคงยืนยันจะเข้าทำกินในป่าผืนดังกล่าว
แกนนำยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่า ที่ดินผืนดังกล่าวเคยเป็นที่ทำกินของชาวบ้านมาในอดีต แต่ต้องอพยพหนีการสู้รบกับทหารกัมพูชาฝ่ายเฮง สัมริน และฮุน เซน ต่อมา มีประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา ทับลงไป ซึ่งชาวบ้านต้องการจะเรียกร้องให้จัดสรรที่ทำกินเช่นเดิม และมีเจตนารมณ์จะเป็นหมู่บ้านกันชนปกป้องดินแดนไทยตามตะเข็บชายแดนไว้ด้วย
ต่อมา ชาวบ้านทั้ง 4 คนก็ถูกตั้งข้อหามีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กับพวกประมาณ 500 คนบุกรุกยึดครอง แผ้วถาง ป่าหินเพลิง จำนวน 8 ไร่ เผาทำลาย ความเสียหายประมาณ 545,954.40 บาท และส่งฟ้องศาลจังหวัดนางรอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1072/2553
จนกระทั่ง 29 มีนาคม 2554 ศาลจังหวัดนางรอง พิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ 690/2554 พิพากษายกฟ้องประชาชนกลุ่มนี้ โดยชี้ว่า
"ศาลพิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ร่วมกับประชาชนประมาณ 500 คนว่า เดินทางไปอย่างเอิกเกริก เป็นที่รับรู้ทั่วไปของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ ผิดวิสัยของบุคคลจะไปกระทำความผิด นอกจากนี้ประชาชนยังได้แยกย้ายกันกลับออกจากที่เกิดเหตุภายในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 12 นาฬิกา หลังจากเจรจากับพนักงานเจ้าหน้าฝ่ายต่าง ๆ โดยที่พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ดำเนินการกับบุคคลที่อ้างว่ากระทำความผิด สำเร็จตามโฆษณาหรือประกาศของจำเลยทั้งสี่แล้วแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่และประชาชนที่ไปวันเกิดเหตุมีเจตนาป้องกันประเทศและ รักษาผลประโยชน์ของชาติไม่ให้สูญเสียแก่กัมพูชา อันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 71 จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสี่มีเจตนาโฆษณาหรือประกาศให้บุคคลกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสี่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง”
แต่เพราะประเทศนี้ใช้กฎหมายระบบกล่าวหา ภาระจึงตกกับประชาชน กว่าจะพิสูจน์ความจริงในศาล ต้องเสียทั้งเวลาและเงินทองในการต่อสู้คดี
ณ วันนี้ แนวทางปักหลักตั้งชุมชนเพื่อเป็นที่ทำกินและเป็นแนวหน้าปกป้องอธิปไตยแผ่นดินไทย จึงเป็นการช่วยทางการรัฐไทยอย่างแน่นอน
ดาร์สปวง ชื่อต้นไม้ตระกูลจันผา ใช้เป็นชื่อสำนักสงฆ์ดาร์สปวง ต.แนงมุด* อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ นำมาตั้งชื่อหมู่บ้านคนไทยไร้ที่ดินทำกิน บุกบั่นจะเข้าไปทำกินในที่ดินเดิม สนธิความหมายความสัมพันธภาพกับคนไทยในอเมริกา ได้ร่วมใจสนับสนุนมอบปัจจัยและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นกับการยืนหยัด เป็นแนวหน้าร่วมต้านภัยรุกรานกับทหารหาญ จึงเป็นที่มาของหมู่บ้านอเมริกา-ดาร์สปวง
*แนงมุด ยกเป็นตำบล พ.ศ.2514 แยกจาก ต.บักได อ.พนมดงรัก เรื่องเล่าในอดีต มีหญิงคนหนึ่งไปเจอแหล่งน้ำกลางป่า ลงไปมุดงมจับปลาที่เต็มไปด้วยปลาดุก แล้วถูกเงี่ยงปลาดุกทิ่มมือ แหล่งปลาดุกนี้ขึ้นชื่อมาก จึงเป็นที่มาชื่อเรียกสถานที่มาจนบัดนี้
ปลาดุก ภาษาเขมร เรียกเต็ม ๆ เตร็ยอ็อนแนง คนท้องถิ่นเรียกสั้น รัว กร่อนเหลือ "เตร็ยแนง" และ "แนง" คำเดียวก็เข้าใจ ส่วน มุด มุดน้ำ, ดำน้ำ มาจาก ชมุจ ตัดบริบท เงี่ยง ออกไป "แนงมุด" จึงอมความหมายถึง ดำน้ำจับปลาดุก เงี่ยงทิ่มมือ นั่นเอง (บรรณาธิการ)
Tags : หมู่บ้านอเมริกา-ดาร์สปวง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น