นับ ไปไม่เนิ่นนานการประชุมคณะทำงานร่วม (JWG) ระหว่างไทยกับเขมรคงจะเริ่มขึ้น ซึ่งเนื้อหาสาระหลักมีเพียงเรื่องเดียวคือการถอนทหาร เพื่อน้อมไปตามมาตรการชั่วคราวของศาลที่กรุงเฮก ซึ่งเป็นศาล “การเมือง” ระหว่างประเทศ ตามที่ฝ่ายเขมรร่ำร้องขอ “เปิดคดีใหม่” ตีความคำตัดสินเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ให้กว้างไกลกินความเกินกว่าขอบเขตการพิจารณาและคำตัดสินในคดีเดิม ซึ่งช้านานเกินกว่าจะขอตีความและประเทศไทยก็มิได้อยู่ภายใต้การรับอำนาจศาล มากว่า ๕๐ ปี ขณะที่ศาลโลกมากด้วยน้ำใจต่อเขมรจนเหลือประมาณนั้น ฝ่ายรัฐบาลไทยก็เปี่ยมไปด้วยความอ่อนน้อมไม่กล้าอ้าปากงัดง้างว่าศาลโลกไม่ มีซึ่งอำนาจ สมยอมให้สมสู่คดีกันไปตามกระบวนการ
จะเป็นว่าเมื่อ ๕๐ ปีก่อนเคยมั่วไปหยิบเอากฎหมายปิดปากของอังกฤษมาทำมึนตัดสินยกปราสาทให้เขมร เพราะหาเหตุที่ชอบด้วยหลักเหตุผลไม่ได้ ปลายปีนี้หรือปีหน้า ศาลโลกก็คงหน้ามึนเหมือนเดิม อย่างไรอย่างนั้น มิใช่จะมองโลกในแง่ร้าย แต่เมื่อมองหลายองค์ประกอบประกอบเข้าด้วยกัน ก็พอจะประมาณได้ว่าประเทศไทยคงเสียหายหนักหนาสาหัสกว่าเก่า ซึ่งรัฐบาลคงไม่ว่าอะไร และคนไทยส่วนใหญ่ก็คงไม่ว่ากระไรเพราะมิใช่แผ่นดินบนโฉนดที่ตนถือ ส่วนพื้นที่อีกหลักแสนไร่ที่เคยว่า ๆ กัน ก็รอวันได้รับผลกระทบจากแผนที่อันฉ้อฉลของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส แต่กว่าความเดือดร้อนจะปรากฎจริงคงใช้เวลาอีกพอประมาณ ณ ขณะนี้โคคอกนั้นยังมิทันหาย
หนึ่งในประเด็นที่ยังถกเถียงกันไม่จบจนการถอนทหารยังไม่เกิดในขณะนี้ คือเรื่องจุดตรวจ ที่ฝ่ายไทยกำหนดไปสามที่ คือ ช่องบันไดหัก บันไดทางขึ้นปราสาทและวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ส่วนทางสายใหม่หลังวัดแก้วฯ ก็ปล่อยโล่งโจ้งให้สะดวกเขมร
(ซ้าย) สิ่งปลูกสร้างอำนาวยความสะดวกนักท่องเที่ยวของเขมรหน้าบันไดทางขึ้นปราสาท (ขวา) บ้านเรือนชาวเขมรรอบวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระที่เพิ่มขึ้นอย่างหนาตาในปัจจุบัน
เมื่อกล่าวถึงวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ วัดแห่งนี้เขมรได้สร้างรุกล้ำบนแผ่นดินไทย ๔.๖ ตร.กม. ค่อย ๆ เติมค่อย ๆ ต่อ ส่วนฝ่ายไทยก็รื้อทำลายวัดด้วยหนังสือประท้วงทางการทูต จนกระทั่งกลายเป็นวัดถาวรมีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีอาคารหลายหลัง ดังที่เห็นในปัจจุบัน มี “ธงงานวัด” ประดับประดาสวยงาม มีชุมชนห้อมล้อมร้อยกว่าหลังคาเรือน แม้วัดจะถูกสร้างเมื่อราวปี ๔๐ กว่า ๆ แต่เป็นที่รู้จักอย่างจริงจังในสังคมไทยก็เมื่อหลังเหตุการณ์ ๑๕ กรกฏาคม ๒๕๕๑ ที่ พล.ท.กนก เนตระคะเวสนะ บุกพังประตูห้วยตานี นำกำลังขึ้นช่วยคนไทยที่ถูกทหารเขมรจับตัว แล้วประจำการทหารไทยเต็มพื้นที่บนวัดแห่งนั้น แต่ต่อมาภายหลังก็มีการปรับลดกำลัง ลดสิบ ลดห้า ตามลำดับจนไม่เหลือทหารไทยหลังเหตุการณ์ปะทะ ๔-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งเข้าใจได้ คงไม่มีใครต้องการให้ทหารกลับขึ้นไปเสี่ยง เห็นใจและเข้าใจ เพราะแม้มิใช่ญาติพี่น้องแต่ก็เป็นทหารของคนไทย เว้นแต่ว่าผู้บังคับบัญชาระดับบนเห็นควรประจำการเต็มกำลังหนึ่งหมวดหนึ่งกอง ร้อยหรือตามสมควร เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้เพราะนายทหารระดับสูงได้ลั่นคำไว้หลายต่อ หลายครั้งแล้วว่าสัมพันธ์ที่ดีมีค่าเหนืออื่นใด
นับตั้งแต่การปะทะเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วสงบลง สถานการณ์ในพื้นที่เข้าสู่สภาวะปกติ เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ชาวเขมรก็ขึ้นมาตั้งบ้านเรือนมากขึ้น ทางการกัมพูชาเร่งปลูกสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกรอบบริเวณปราสาทมากยิ่งขึ้น และล่าสุดเมื่อช่วงปีใหม่ หลังคณะทำงานระดับชาติพื้นที่พระวิหารของเขมรเข้าไล่ที่บ้านสวายจรุมแล้วส่ง ต่อพื้นที่ให้กับองค์การพระวิหาร เพื่อพัฒนาตามแผนบริหารจัดการ ชาวเขมรส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมย้ายไปอยู่หมู่บ้านธรรมชาติสมเด็จเดโชที่ทางการจัดสรรที่ดินไว้ให้ ก็พากันขึ้นมาปลูกบ้านเรือนรอบวัดฯ ส่วนใหญ่เป็นบ้านของทหารหรือครอบครัวทหารที่ประจำการอยู่บนปราสาท นอกจากนี้ พ่อค้าแม่ขายที่อยู่บนตลาดหน้าบันไดทางขึ้นปราสาท ถ้าไม่ใช่ครอบครัวทหารก็เป็นทหารหญิงของกัมพูชาเสียเอง ที่มีดาวหลายดวงแทบทั้งสิ้น หมายความว่า ปัจจุบัน บนพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม. หลังประตูเหล็กข้ามห้วยตานีขึ้นไป อันเป็นแผ่นดินภายใต้อธิปไตยของไทย มีแต่คนเขมรอยู่อาศัยครอบครอง จะอยู่ในสภาพชุดพลเรือนหรือชุดอื่นก็ล้วนเป็นทหารเขมรทั้งสิ้น
(ซ้าย) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. เยี่ยมฐานปฏิบัติการทหารไทยที่พลาญยาว ทางตะวันตกของภูมะเขือ เมื่อ ๒๕ ม.ค. ๕๕ ภาพจาก หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ ๒๓ (ขวา) ทหารไทยที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ เมื่อ ๑๗ ก.ค. ๕๑
เมื่อวันที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมชายแดนพระวิหาร หลายฝ่ายชื่นใจที่นายทหารระดับสูงผู้นี้ใส่ใจลงพื้นที่ด้วยตัวเอง และเดินทางไปที่พลาญยาว ไม่ใช่เฉียดไปแค่ที่ผามออีแดงเหมือนคณะอื่น ๆ แต่ก็อดเสียดายไม่ได้ ที่ไม่ว่า ผบ.สส. ผู้นี้หรือคณะไหน ก็ไม่มีใครขึ้นไปเยี่ยม “แผ่นดินไทย” ที่วัดแก้วฯ ฝั่งตะวันตกของตัวปราสาท ตลาด ชุมชนเขมร และที่ยอดภูมะเขือ เลยแม้แต่คณะเดียว เพื่อเป็นความชื่นใจของคนไทยว่าพื้นที่เหล่านั้นยังเป็นของเรา แม้ขณะนี้จะถูกสรุปรวบเอาว่าเป็นพื้นที่ “พิพาท” ระหว่างรอศาลโลกให้ความเห็น แต่ก็เป็นพื้นที่พิพาทที่ประหลาดที่สุด คือถูกเขมรยึดครองเบ็ดเสร็จแต่ฝ่ายเดียว และที่ขำไม่ได้ร้องไห้ไม่ออก คือฝ่ายที่ยึดครองแผ่นดินเขาไปร้องขอศาลโลกตัดสินยกแผ่นดินนั้นให้ตนเอง ขณะเจ้าบ้านไม่หืออือแม้แต่น้อยเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น