บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

สำนวนเขมรกรณีปราสาทพระวิหารที่ส่งไปยังศาลโลก


โดย เทพมนตรี ลิมปพะยอม


หลังจากเขมรได้ยื่นคำขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 ใหม่อีกครั้งหนึ่งต่อประเด็นพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ศาลได้ออกคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวออกมาให้สองประเทศได้ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตร (ตามที่เขมรได้ส่งแผนผังการคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลโลก) แต่ในขณะนี้ทั้งสองประเทศยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอย่างใด สำนวนของเขมรที่ส่งไปยังศาลโลกนั้นมีความสำคัญต่อการต่อสู้คดีในชั้นศาลเป็นอันมาก สมควรจะได้นำมาวิเคราะห์พิจารณากัน

“ข้าฯ แต่ศาลที่เคารพ การตัดสินของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 แม้ศาลโลกจะไม่ตัดสินตามคำขอของฝ่ายกัมพูชาตามข้อ 2 ที่กล่าวถึงสถานะของแผนที่ 1:200,000 ว่าเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส และข้อ 3 เส้นเขตแดนที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ 1:200,000 นั้น มีความถูกต้อง แต่ศาลได้ใช้แผนที่ 1:200,000 ที่เราได้เสนอเป็นหลักฐานสำคัญนั้นเป็นมูลฐานแห่งคดีอันนำไปสู่การตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาต้องตามคำฟ้องข้อ 1 และต้องไม่ลืมว่าต่อมาหลังคำตัดสินเพียง 34 ปี รัฐบาลไทยกลับปฎิบัติต่อแผนที่ 1:200,000 ดังนี้

1. รัฐไทยได้ทำการปักปันเขตแดนไทย-ลาวจนเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยบันทึกความตกลงไทย-ลาวซึ่งลงนามเมื่อ พ.ศ. 2539 และได้ใช้แผนที่ 1:200,000 ที่ศาลโลกมิได้พิจารณานั้นให้มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งยังส่งผลให้มีผลจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้รัฐไทยยังยอมรับว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส อันทำให้เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมของรัฐไทยได้ยอมรับแผนที่นั้นแล้วอย่างเห็นได้ชัด

2. ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2543 รัฐไทยได้ทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พฤติกรรมรัฐไทยก็ยังคงยอมรับแผนที่ 1:200,000 อันเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส และมีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

โดยพฤติกรรมของรัฐไทยได้แสดงให้ศาลเห็นแล้วว่าได้ยอมรับว่าแผนที่1:200,000 เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส ข้าฯแต่ศาลที่เคารพ รัฐไทยมักแสดงการกล่าวอ้างว่าไม่เคยยอมรับแผนที่ดังกล่าวจนศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 หลงเชื่อและไม่ได้ตัดสินตามข้อ 2-3 ที่กัมพูชาได้ร้องขอ จึงก่อให้เกิดปัญหาเส้นเขตแดนขึ้นตรงบริเวณปราสาทพระวิหาร รัฐไทยไม่เคยปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วน แต่อาศัยช่องว่างที่มีอำนาจทางการทหารที่เหนือกว่าดำเนินการจัดการปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยลำพัง ฝ่ายกัมพูชาไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวเลย
ข้าฯ แต่ศาลที่เคารพ ตามที่รัฐกัมพูชาได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าพฤติกรรมรัฐไทยได้ยอมรับแผนที่ 1:200,000 ทุกระวาง และรวมไปถึงระวางดงรักที่รัฐไทยเคยปฏิเสธอย่างแข็งขันในการสู้คดีปราสาทพระวิหารเมื่อ ค.ศ. 1962 ความตกลงไทย-ลาวเมื่อ ค.ศ. 1996 ที่รัฐไทยกระทำกับรัฐลาวเพื่อปักปันเขตแดนกันใหม่ โดยรัฐไทยยืนยันอยู่หลายจุดในเรื่องของแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ว่าเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน-ฝรั่งเศส

แม้ว่าในบางตอนของการปักปันเขตแดนรัฐลาวจะโต้แย้งว่าแผนที่มาตราส่วน1:200,000 นั้น ไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันฯ แต่อย่างใด รัฐไทยกลับยืนยันต่อรัฐลาวว่าแผนที่ชุดนี้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันฯ อย่างแน่นอนและยังกล่าวอีกว่ารัฐลาวอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิ์จากฝรั่งเศสจึงอยู่ในสภาพการบังคับใช้แผนที่นี้

เมื่อรัฐไทยทำบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (MOU43) ค.ศ. 2000 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา รัฐไทยได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ว่า แผนที่ 1:200,000 มีผลผูกพันตามกฎหมายระว่างประเทศ โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐกัมพูชา พฤติกรรมของรัฐไทยไม่ได้ปฏิเสธแผนที่เหมือนที่เคยกระทำการอย่างฉ้อฉลและบิดเบือนไว้เมื่อ ค.ศ. 1962

ข้าฯ แต่ศาล พฤติกรรมของรัฐไทยยังปรากฏว่าได้มีการประชุมกันที่จังหวัดอุบลราชธานีในการจัดทำคู่มือการปฏิบัติการ การสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนหรือที่เรียกกันว่า TOR 2003 ในโอกาสนี้แทนที่รัฐไทยจะปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 หากแต่กลับตอกย้ำและยอมรับว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ทุกระวางเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันฯ และยังให้ความสำคัญต่อแผนที่อย่างยิ่งยวด พฤติกรรมของรัฐไทยย่อมทำให้ศาลเห็นว่า รัฐไทยไม่เคยปฏิเสธเรื่องแผนที่ชุดนี้อีกเลย แม้รัฐไทยอาจสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญของตัวเอง แต่ก็ไม่มีรัฐบาลไหนของรัฐไทยจะนำเอาความตกลงไทย-ลาว และ MOU 43 หรือ TOR 46 ไปดำเนินการตามกฎหมายเลย แม้มีกลุ่มประชาชนชาวไทยในนามคนเสื้อเหลืองหรือกลุ่มอื่นๆ เรียกร้องให้รัฐบาลของรัฐไทยนำบันทึก MOU 43 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรอิสระตีความ รัฐบาลของรัฐไทยก็ไม่เคยยอมทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

นั่นก็เป็นเพราะรัฐบาลของรัฐไทยได้ตระหนักดีแล้วว่าแผนที่ 1:200,000 เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันฯ จริงอย่างไม่ต้องสงสัย และทั้งนี้ก็ย่อมเข้าใจตรงกับรัฐบาลของรัฐกัมพูชาแล้วว่า ตลอดแนวพรมแดนด้านตะวันออกทั้งหมดตั้งแต่ประเทศลาว และกัมพูชา รัฐไทยยอมรับสถานะของแผนที่ในภาคผนวกหนึ่งตามอรรถคดีที่รัฐกัมพูชาได้แสดงให้ศาลได้เห็นตั้งแต่ ค.ศ. 1962 แล้ว และบัดนี้รัฐไทยได้แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดและความเข้าใจผิดต่อแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนฯ อย่างเห็นได้ชัด

เส้นเขตแดนตรงบริเวณปราสาทพระวิหารตามแผนที่ระวางดงรักหรือแผนที่ในภาคผนวกหนึ่งได้ปันให้ปราสาทพระวิหาร และบริเวณโดยรอบเป็นของรัฐกัมพูชาอย่างไม่ต้องสงสัย และรัฐไทยพยายามผลักดันประชาชนกัมพูชาออกจากพื้นที่แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะรัฐกัมพูชามีกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า ทำให้รัฐไทยต้องถอยร่นออกไปจนประชิดแค่เขตแดน และเหตุนี้แม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐกัมพูชาได้เข้าใจสถานการณ์อย่างถ่องแท้จึงสั่งการไม่ให้ทหารไทยต่อสู้หรือรุกล้ำดินแดนของรัฐกัมพูชาเข้ามาอีกเพราะตระหนักดีเรื่องเส้นเขตแดน

ข้าฯ แต่ศาลที่เคารพ รัฐไทยได้บังอาจนำดินแดนของกัมพูชาไปขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติอยู่หลายปี แต่รัฐกัมพูชาได้ส่งกองทัพไปรักษาอธิปไตยและเส้นเขตแดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ภูมะเขือและบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร อย่างไรก็ดี รัฐกัมพูชาประสงค์จะให้ศาลตีความคำพิพากษาในคดีนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันเส้นเขตแดนตามแผนที่ 1:200,000 ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ข้าฯ แต่ศาลที่เคารพ รัฐกัมพูชาขอเสนอข้อมูลอันสำคัญที่ทำให้เห็นว่ารัฐไทยมิได้สนใจต่อการกระทำของกัมพูชาบนดินแดนของกัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอความเห็นมายังรัฐบาลกัมพูชาว่า ปราสาทพระวิหารที่ตั้งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะเป็นสถานที่สำคัญสวยงามเหมาะสมกับนักท่องเที่ยว

กัมพูชาได้จัดทำแผนและร่างโครงการที่จะนำเสนอปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2006 ซึ่งรัฐบาลของรัฐไทยไม่เคยประท้วงทวงติงรัฐกัมพูชา และยังให้การสนับสนุนในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอย่างเป็นทางการ ตามรายงานที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อ ค.ศ. 2007 ซึ่งตรงกันกับรัฐบาลคณะปฏิวัติ

และในเวลาต่อมา เมื่อ ค.ศ. 2008 รัฐบาลของรัฐที่มาจากการเลือกตั้งภายในประเทศได้ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีของรัฐไทย ได้แสดงความประสงค์และสนับสนุนให้รัฐกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยได้ทำคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐทั้งสอง รัฐกัมพูชารู้สึกยินดีที่รัฐไทยได้ตระหนักถึงขอบเขตและบูรณาภาพแห่งดินแดนของรัฐกัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหาร รัฐกัมพูชาได้แสดงความเห็นไปยังศูนย์กลางมรดกโลก ณ กรุงปารีส โดยขอให้นำเรื่องที่รัฐไทยและกัมพูชาได้ตกลงกันไว้ในแถลงการณ์ร่วมบรรจุในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศแคนาดา และทำการจัดตั้งองค์กรแห่งชาติปราสาทพระวิหาร

โดยรัฐกัมพูชาได้ให้หน่วยงานที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการนครวัดคือ องค์กรอัปสราได้จัดทำแผนบริหารการจัดการโดยได้รับความร่วมมือจากประเทศอินเดียได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วม รวมถึงรัฐไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ว่าด้วยการอนุรักษ์เข้าร่วมประชุมอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดรัฐกัมพูชาและรัฐไทยได้ตกลงร่วมกันว่าจะมีการจัดตั้งองค์การแห่งชาติปราสาทพระวิหารร่วมกัน และรัฐไทยจะเข้าร่วมบริหารจัดการในฐานะรัฐภาคีสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลก ต่อมารัฐไทยได้ทำการฉ้อฉลตระบัดสัตย์ในสิ่งที่ได้ตกลงกันเอาไว้ นับตั้งแต่การประชุมที่บราซิลเมื่อ ค.ศ. 2010 ซึ่งไทยยอมรับในเบื้องต้นต่อเอกสารที่กัมพูชาได้เสนอ มีการลงนามโดยประธานคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย ต่อมามีการประชุมกันที่ปารีสเมื่อ ค.ศ.2011 รัฐไทยกลับไม่สนใจถึงความสัมพันธ์อันดีที่มีมายาวนานและถือโอกาสแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ

จนในที่สุด เมื่อไม่สามารถทัดทานหลักฐานที่ถูกต้องของรัฐกัมพูชาที่ได้นำเสนอต่อผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกได้ รัฐไทยจึงดำเนินการลาออกตามเอกสารที่รัฐกัมพูชาได้เสนอให้ศาลไปแล้วตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2011 หลักฐานที่กัมพูชานำเสนอได้รับการรับรองจากรัฐฝรั่งเศสและรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มนักวิชาการคนไทยที่ได้ทำรายงานตามทุนอุดหนุนกระทรวงการต่างประเทศของรัฐไทยนั่นเอง

ข้าฯ ศาลที่เคารพ อย่างที่รัฐกัมพูชาได้กล่าวมาตั้งแต่เบื้องต้นแล้วว่า พฤติกรรมของรัฐไทยทำการกลับไปกลับมาและมิได้เป็นเฉพาะรัฐกัมพูชาเท่านั้น หากแต่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ก็ถูกรัฐไทยเอารัดเอาเปรียบอยู่เป็นประจำ รัฐไทยได้เคยแสดงให้ประชาคมอาเซียนเห็นว่ารัฐไทยได้รุกรานประเทศเพื่อนบ้าน และยึดเอาดินแดนไปอย่างไม่แยแสโดยไม่เคยคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีที่มีมาแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นรัฐลาวและไม่เว้นแม้แต่รัฐพม่าที่รัฐไทยได้ยึดเอาดินแดนไปเป็นจำนวนมากบริเวณด่านเจดีย์สามองค์

ข้าฯ แต่ศาลที่เคารพ รัฐกัมพูชายังไม่ได้กล่าวถึงการโจมตีการรุกล้ำอธิปไตยของทหารไทยจำนวนมาก ทำให้ทหารกัมพูชาต้องต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรี เอกสารการรุกล้ำอธิปไตยของรัฐไทยกัมพูชาได้ส่งไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้นำเสนอตัวบุคคลที่จะส่งเอกสารประกอบในโอกาสต่อไป และรัฐกัมพูชาโดยคณะประธานคณะกรรมการมรดกโลกของรัฐกัมพูชาได้เสนอเอกสารหลักฐานทั้งหมดไปยังองค์การยูเนสโก และศูนย์กลางมรดกโลกที่ปารีส รวมถึงอาเซียน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง