“ไทยแพ้คดี เสียดินแดนให้เขมร” เขียนโดย บุญร่วม เทียมจันทร์ ประภาส เฉลยมรรค และ ศรัญญา วิชชาธรรมรัฐบาลไทยประท้วง คำตัดสินของศาลโลก
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕ หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว ๒๐ กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก โดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม
นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเอาปราสาทพระวิหารกลับคนมาในอนาคตด้วย
ต่อไปนี้เป็นคำประท้วง
“ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๕๙ (พ.ศ.๒๕๐๒) และซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร
“ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) และ ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ ๙๔ ของกฎบัตร
“ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา”
“ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย”
บันทึกกระทรวงการต่างประเทศ
เกี่ยวกับคำพิพากษาคดีเขาพระวิหาร
วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๕ กระทรวงการต่างประเทศ (ดร.ถนัด คอมันตร์ รมต.กระทรวงการต่างประเทศ) ได้ทำบันทึกข้อสังเกตเกี่ยวกับคำพิพากษาคดีเขาพระวิหาร ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดของคำพิพากษาของศาลโลก รวม ๑๒ ประเด็น เสนอการประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี นับว่าเป็นประโยชน์แก่นักกฎหมายและประชาชนโดยทั่วไป
บันทึก
ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำพิพากษา
คดีปราสาทพระวิหาร
๑.เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิพากษาว่า ซากปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา โดยอาศัยเหตุผลแต่เพียงว่า ประเทศไทยได้นิ่งเฉยมิได้ประท้วงแผนที่ฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ซึ่งส่งมาให้รัฐบาลไทยใน ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) และ ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) แล้ว แผนที่ฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว แต่บังเอิญมีเครื่องหมายแสดงซากปราสาทพระวิหารไว้ในเขตกัมพูชา
๒.คดีปราสาทพระวิหารนี้ เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือซากปราสาทพระวิหาร ประเด็นสำคัญซึ่งที่พึงพิจารณา คือ การปักปันเขตแดน ถ้าได้มีการปักปันเขตแดนที่ถูกต้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในปราสาทพระวิหารก็จะตกเป็นของไทยอย่างไม่มีปัญหา แต่เหตุผลที่ศาลนำมาเป็นหลักในการวินิจฉัยคดี มิใช่หลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยกรรมสิทธิ์ หรือการได้มาซึ่งอธิปไตยแห่งดินแดน หรือจารีตประเพณีในการปักปันเขตแดน ซึ่งย่อมคำนึงถึงบทนิยมเขตแดนในสนธิสัญญากำหนดเขตแดนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการปักปันเป็นสำคัญแต่กลับไปใช้หลักกฎหมายทั่วไปมาหักล้าง เจตนาของคู่สัญญาว่าในบริเวณที่พิพาทให้ถือสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน ศาลจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องชี้ขาดว่า เส้นสันปันน้ำที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ถ้าศาลได้ยกข้อนี้ขึ้นพิจารณาแล้วก็จะต้องตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทยอย่างไม่มีข้อสงสัย แม้แต่ความเห็นเอกเทศของผู้พิพากษา เซอร์ เจรัลด์ ฟิตซ์ มอริส ก็ยังได้ยอมรับในทัศนะนี้
๓.ความเคารพพันธกรณีตามสนธิสัญญา เป็นรากฐานสำหรับความแน่นอนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ว่าคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ ในขณะเดียวกับที่แสวงหาความแน่นอนและความสิ้นสุดยุติของข้อพิพาท คำพิพากษานี้เองกลับก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้น และหาได้พัฒนาไปในแนวนั้นไม่
๔.กัมพูชาได้บรรยายฟ้องว่า แผนที่ภาคผนวก ๑ ซึ่งมีเส้นเขตแดนแสดงปราสาทพระวิหารไว้ในกัมพูชานั้น มีผลผูกพันไทย เพราะเป็นแผนที่ซึ่งคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) ได้ทำขึ้นทั้งๆ ที่ศาลยอมรับฟังข้อโต้เถียงของไทยว่า แผนที่ภาคผนวก ๑ นั้น ไม่มีผลผูกพันประเทศไทย เพราะเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสและกัมพูชาเป็นผู้ทำขึ้น เมื่อพ้นจากหน้าที่ในคณะกรรมการปักปันแล้ว (คำพิพากษาหน้า ๒๑) โดยฝ่ายไทยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องและมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผสม แต่ศาลกลับวินิจฉัยต่อไปว่า สำหรับปราสาทพระวิหารที่พิพาทนั้น มีเครื่องหมายแสดงไว้ชัดเจนในแผนที่นั้นว่าอยู่ในเขตกัมพูชา และฝ่ายไทยก็มิได้ประท้วงหรือคดค้านแต่ประการใด แต่ได้นิ่งเฉยเป็นเวลานาน ซ้ำยังได้พิมพ์แผนที่ขึ้นอีก แสดงเส้นเขตแดนเช่นเดียวกะภาคผนวก
๕.ศาลได้พิพากษาว่าประเทศไทยเสียสิทธิในการที่จะต่อสู้ว่าปราสาทพระวิหารมิใช่ของกัมพูชา โดยที่ศาลเองก็ยังลังเลใจไม่กล้าระบุชัดลงไปว่าเป็นหลักใดแน่ จะเรียกว่า estoppel หรือ preclusion prescription หรือ acquiescence ก็ไม่ใคร่ถนัดนัก เพราะแต่ละหลักนั้น ไม่อาจนำมาใช้กับข้อเท็จจริงในคดีได้
ก.ถ้าศาลจะแสดงออกมาว่าเป็นหลัก estoppel หรือ preciusion ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นหลักกฎหมายปิดปาก ก็เป็นการยอมรับว่าทั้งๆที่ข้อเท็จจริงทางภูมิประเทศปรากฏอยู่ตำตาแล้วว่า แผนที่ภาคผนวก ๑ มิได้เป็นไปตามเส้นปันน้ำประเทศไทยก็ยังถูกปิดปากมิให้โต้แย้งหลักนี้นอกจากจะเป็นการไม่เป็นธรรม ในกรณีที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนของรัฐอันเป็นเรื่องสำคัญเช่นนี้แล้ว ยังจะต้องอาศัยข้อพิสูจน์ว่า ประเทศไทยได้กล่าวหรือกระทำการใดมาก่อน ซึ่งเป็นการแสดงอย่างชัดแจ้งว่าไทยเชื่อและยินยอมว่าพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่กัมพูชาก็มิอาจพิสูจน์ได้ นอกจากนี้ ตามหลักกฎหมายปิดปาก กัมพูชาจะต้องแสดงว่าการกระทำต่างๆ ของไทยทำให้กัมพูชาหรือฝรั่งเศสหลงเชื่อ จึงไดทำกิจสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นโดยเข้าใจผิด และไทยโต้แย้งไม่ได้ ซึ่งหาตรงกับข้อเท็จจริงในคดีความนี้ไม่ เพราะแผนที่ซึ่งไทยโต้แย้งว่าผิดจากสันปันน้ำ ได้ทำขึ้นก่อนการกระทำใดๆ ของไทย
ข.ถ้าศาลจะแสดงออกมาว่าเป็นหลัก Prescription หรืออายุความได้สิทธิสำหรับกัมพูชาและเสียสิทธิสำหรับไทยศาลก็จะต้องอาศัยข้อพิสูจน์ว่ากัมพูชาได้ใช้อธิปไตยในการครอบครองที่เป็นผลโดยสงบเปิดเผยและโดยปรปักษ์ เป็นเวลาต่อเนื่องกันพอสมควร (คำพิพากษาหน้า ๓๒)พูดถึงระยะเวลา ๕๐ ปี แต่ศาลก็มิได้ลงเอยว่ากัมพูชาได้สิทธิตามหลักอายุความ เพราะนอกจากจะไม่มีหลักฐานสนับสนุนแต่ประการใดแล้ว ยังเป็นการฝืนต่อเหตุผลแห่งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายด้วย เพราะไทยก็ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นเป็นอย่างชัดแจ้ง ซึ่งศาลเองก็ได้ยอมรับ(คำพิพากษา หน้า ๓o) แล้วว่า ฝ่ายไทยก็ไดใช้อำนาจการปกครองในบริเวณปราสาทพระวิหารเสมอมา
ค.ถ้าศาลจะแสดงออกมาว่า เป็นหลัก Acquiescence หรือการสันนิษฐานว่ายอมรับโดยนิ่งเฉย ก็มีความหมายว่าไทยกับฝรั่งเศสได้ทำความตกลงขึ้นใหม่ เพื่อใช้แทนบทบัญญัติในสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) และ ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๕๕๐) ซึ่งก็จะเป็นการขัดต่อเหตุผลและข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน เพราะในสนธิสัญญาต่อๆ มา คือ ใน ค.ศ.๑๙๒๕ (พ.ศ.๒๔๖๕) และ ค.ศ.๑๙๓๗ (พ.ศ.๒๔๘๐) ทั้งไทยและฝรั่งเศสกลับยืนยันข้อบทแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) และ ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ในเรื่องเขตแดนว่าเป็นไปตามสันปันน้ำ
ผู้พิพากษาอาลฟาโร ได้ให้ความเห็นเอกเทศไว้ว่าคำพิพากษาไม่อธิบายถึงหลักเหล่านี้เพียงพอจึงได้อ้างอิงหลักอื่นๆ ทำนองนี้อีก คือ หลักปิดปากและหลักสันนิษฐานว่ามีการยินยอม เพราะมิได้มีการประท้วง หรือคัดค้าน หรือตั้งข้อสงวน หรือมีการสละสิทธิ์ นิ่งเฉย นอนหลับทับสิทธิ์ หรือสมยอมแต่ผู้พิพากษาอาลฟาโรเอง ก็มิได้ปักใจลงไปแน่นอนว่าจะยึดถือหลักใดเป็นเกณฑ์
สรุปได้ว่า ศาลยังไม่แน่ใจทีเดียวว่าจะนำหลักใดในบรรดาหลักที่กล่าวถึงข้างต้นมาปรบกับคดีปราสาทพระวิหารนี้ และหลัก acquiescence ที่นำมาใช้นั้นก็เป็นหลักใหม่สำหรับเรื่องแผนที่ เหตุไฉนจึงนำหลักใหม่นี้ไปใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกาลเวลาที่ล่วงเลยมาแล้วกว่า ๕๐ ปี เป็นที่เสียหายแก่ฝ่ายไทยเล่า เพราะหลักนี้เอง ถ้าจะนำมาใช้กับแผนที่ในกาลปัจจุบันก็ยังเป็นหลักที่นักนิติศาสตร์กำลังถกเถียงกันอยู่
๖. ศาลได้ยึดถือเอาภาษิตลาตินที่ว่า “ผู้ที่นิ่งเฉยเสียเมื่อควรจะพูดและสามารถพูดได้นั้น ให้ถือเสมือนยินยอม” (Qui tacet consentire videtur si loqui debuiset sc potuisset) ในหน้า ๒๓ ของคำพิพากษา ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้กับคดีปราสาทพระวิหาร ย่อมขัดต่อเหตุผลทั้งในแง่กฎหมายและในแง่ความยุติธรรม
ก.ในแง่กฎหมาย ศาลหาได้คำนึงไม่ว่า หลักที่ศาลยืมมาใช้จากหลักกฎหมายทั่วไปนี้ เป็นที่ยอมรับนับถือกันในภูมิภาคเอเชียนี้หรือไม่ เพราะหลักนี้มิใช่หลักกฎหมายระหว่างประเทศสากล ศาลควรจะคำนึงถึงจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นด้วยอนึ่ง หลักกฎหมายทั่วไปไม่พึงนำมาใช้กับกรณีที่มีสนธิสัญญากำหนดเส้นเขตแดนที่แน่นอนแล้ว เพราะเป็นเพียงหลักย่อยหลักหนึ่ง ต่อเมื่อไม่ใช่เรื่องที่สนธิสัญญาระบุไว้อย่างชัดแจ้ง จึงอาจพิจารณาปฏิบัติกรรมของไทยได้
ข.ในแง่ความยุติธรรม ศาลได้เพ่งพิจารณาแต่เพียงปฏิบัติกรรมของไทย และสันนิษฐานเอาเองว่า การที่ไทยนิ่งเฉยไม่ประท้วง แปลว่า ไทยยินยอม แต่ศาลหาได้พิจารณาถึงปฏิบัติกรรมของฝรั่งเศสและกัมพูชาไม่ ซึ่งถ้าได้พิจารณาแล้วก็จะพบว่า ฝรั่งเศสเองก็มิได้ถือว่าแผนที่ภาคผนวก ๑ นั้นผูกพันแต่ประการใด จึงมิได้ประท้วงการครอบครองพระวิหารของไทยจนกระทั่ง ค.ศ.๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) และเมื่อทำการประท้วงก็มิได้อ้างแผนที่ภาคผนวก ๑ ว่ามีผลผูกพัน แต่คงอ้างหลักสันปันน้ำซึ่งกำหนดไว้ในสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) และ ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงในสายตาหาได้เข้าใจถึงความเป็นอยู่ และปฏิบัติการของรัฐสมัยนั้นในภูมิภาคเอเชียไม่ โดยเฉพาะศาลไม่พยายามเข้าใจถึงสถานะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย ในเอเชียในขณะนั้น ซึ่งมีประเทศเอกราชอยู่ไม่กี่ประเทศ และต้องเผชิญกับนโยบายจักรวรรดินิยมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ตรงกันข้าม ผู้พิพากษาส่วนมากกลับพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนการแผ่ขยายอาณานิคมของประเทศตะวันตก (หน้า ๓๔-๓๕) ซึ่งโดยแท้จริงแล้วผู้พิพากษาเหล่านั้นไม่มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำเช่นนั้นเลย
จึงสรุปได้ว่า คำพิพากษาของศาล นอกจากมิได้ใช้หลักกฎหมายที่ถูกต้องดังจะแจ้งรายละเอียดในข้อต่อไปแล้ว ยังไม่ตรงต่อหลักความยุติธรรมอันเป็นหลักหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ในหลักกฎบัตรสหประชาชาติควบคู่กับกฎหมายระหว่างประเทศและมีคุณค่าไม่ด้อยไปกว่ากัน นักนิติศาสตร์ย่อมทราบดีว่าการให้ความยุติธรรมอย่างเดียวนั้น ยังไม่พอจะต้องทำให้ปรากฏชัดด้วยว่าเป็นความยุติธรรม
๗.ศาลมิได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่คู่คดีเสนอโดยละเอียดเท่าที่จะพึงกระทำได้ แต่ได้ใช้การอนุมานสันนิษฐานเองแล้วก็ลงข้อยุติทางกฎหมายจากข้อสันนิษฐานนั้น ซึ่งบางครั้งก็เป็นอนุมานซ้อน หรือเป็นการสันนิษฐานที่ขัดกันเอง และขัดต่อข้อเท็จจริง ดังจะยกตัวอย่างพอสังเขปดังต่อไปนี้
(๑) ทั้งๆ ที่ศาลยอมรับ (ในคำพิพากษาหน้า ๑๘ วรรคแรก) ว่าไม่ปรากฏหลักฐานแสดงว่าคณะกรรมการปักปันได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร แต่ก็ยังสันนิษฐานเอาได้(ในคำพิพากษาหน้า ๑๙ วรรคสุดท้าย) ว่าคณะกรรมการปักปันชุดแรกจะได้ปักปันเขตแดนเรียบร้อยแล้ว ตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) คือถือเอาตามเส้นที่ลากไว้ในแผนที่ภาคผนวก ๑ แสดงว่าพระวิหารอยู่ในกัมพูชา มิฉะนั้นคณะกรรมการปักปันชุดที่สอง ตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ก็คงจะต้องทำการปักปันเขตแดนตอนนี้ เพราะพิธีสาร ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) คลุมถึงปราสาทพระวิหาร ซึงตั้งอยู่บนเขาคงรักด้านตะวันออกด้วย ศาลได้ตั้งข้อสันนิษฐานนี้ขึ้นโดยมิได้พิจารณาโครงวาดต่อท้ายพิธีสาร ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ซึงแสดงอาณาเขตที่คณะกรรมการปักปันชุดที่สองจะต้องทำการปักปัน คือ เพียงแค่ช่องเกนทางด้านตะวันตกของทิวเขาดงรักเท่านั้น ข้อสันนิษฐานนี้จึงขัดกับโครงวาด แต่ศาลก็กลับลงข้อยุติโดยอาศัยข้อสันนิษฐานที่ผิดพลาดนี้ได้ว่า ในบริเวณปราสาทพระวิหารนั้น คณะกรรมการปักปันชุดแรกได้ปักปันแล้ว และสันนิษฐานต่อไปว่าปักปันตามที่ปรากฏในแผนที่
(๒) ศาลใช้ข้อสันนิษฐานอธิบายสาเหตุแห่งการที่ประธานคณะกรรมการปักปันของฝรั่งเศสชุดแรกคาดว่า จะมีการประชุมกันอีก แต่ในที่สุดก็ไม่มีการประชุมไปในทางที่เสียประโยชน์แก่ฝ่ายไทย โดยเดาเอาว่าถ้าได้มีการประชุมก็คงจะได้รับรองเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่ (คำพิพากษา ๒๐ วรรคแรก)
(๓) ศาลกล่าวขึ้นมาลอยๆ (ในคำพิพากษา หน้า ๒๐ วรรค ๒) ว่าพิมพ์แผนที่เป็นงานสุดท้ายของคณะกรรมการปักปัน ทั้งๆ ที่ศาลก็ทราบดีอยู่แล้วว่าคณะกรรมการปักปันได้มีมติไว้แล้วว่า การปักปันนั้นแบ่งออกเป็นสามชั้น คือ ๑.การตระเวนสำรวจ ๒.การสำรวจภูมิประเทศ และ ๓.การอภิปรายและกำหนดเขตแดน โดยมิได้กล่าวถึงการพิมพ์แผนที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานปักปัน ตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า การพิมพ์แผนที่เป็นเรื่องนอกเหนือจากการปักปันเขตแดนงานชิ้นสุดท้ายในการปักปันดังจะมีต่อไปอีกก็เห็นจะเป็นการปักหลักเขตแดน มิใช่การพิมพ์แผนที่
(๔) ศาลสันนิษฐานเอง (ในคำพิพากษา หน้า ๔๒) ว่าในการที่ฝรั่งเศสส่งแผนที่นั้นไม่ถูกต้องตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการปักปัน และสันนิษฐานต่อไปว่าฝ่ายไทยมิได้คัดค้านนั้น อาจจะเป็นเพราะว่ามีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ถือว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ทั้งที่ในตอนต้น(คำพิพากษาหน้า ๑๘ วรรคแรก) ศาลก็ได้ยอมรับแล้วว่า ไม่มีหลักฐาน แสดงว่าคณะกรรมการปักปันได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร กระนั้นก็ยังสันนิษฐานเอาจนได้ เป็นการสันนิษฐานที่ไทยเสียประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง
(๕) ศาลได้ใช้ข้อสันนิษฐานต่อไปอีก (ในคำพิพากษา หน้า ๒๖ ) โดยถือเอาว่ากรรมการปักปันของไทยคงจะทราบดีแล้วว่าแผนที่ภาคผนวก ๑ ไม่ได้รับความเห็นชอบระหว่างการประชุมคณะกรรมการปักปัน แต่ถ้าได้รับไว้โดยมิได้ตรวจดูให้แน่นอนเสียก่อนว่า ถูกต้องตามหลักสันปันน้ำตามสนธิสัญญาหรือไม่แล้ว จะมาอ้างภายหลังว่าแผนที่ผิดไม่ได้ ข้อสันนิษฐานข้อนั้นตรงกันข้ามกับข้อสันนิษฐานในวรรคก่อน แต่ก็ยังลงข้อยุติได้เหมือนกันโดยอาศัยหลักซึ่งผู้พิพากษาฟิตช์มอริสในความเห็นเอกเทศ เรียกว่า Caveat emptor กล่าวคือ ผู้ซื้อย่อมต้องใช้ความระมัดระวัง
(๖) ศาลได้ใช้ข้อสันนิษฐานต่อไปอีก (ในคำพิพากษาหน้า ๒๘ วรรคแรก) ว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก ๑ แล้วโดยการไม่ประท้วง ทั้งๆ ที่ทราบว่า แผนที่นั้นไม่ตรงกับตัวบทสนธิสัญญา อย่างไรถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ศาลก็สันนิษฐานซ้อน (ในคำพิพากษา หน้า ๒๙ วรรคแรก) ว่าไทยได้ยอมรับแผนที่นั้นโดยการนิ่งเฉย มิได้คำนึงว่าแผนที่จะผิดหรือถูกประการใด
(๘) ศาลอ้างเป็นข้อสันนิษฐานที่ชี้ขาดการยอมรับแผนที่ภาคผนวก ๑ ของไทย โดยยกเหตุผล (ในคำพิพากษา หน้า ๒๗ และ ๒๘) ว่าประเทศไทยมีโอกาสหลายครั้งที่จะขอแก้ไขแผนที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเจรจาทำสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๒๕ (พ.ศ.๒๔๖๘) และ ๑๙๓๗ (พ.ศ.๒๔๘๐) ศาลให้เหตุผลตรงกันข้ามกับข้อยุติของศาลเองว่า แผนที่ภาคผนวก ๑ มิได้เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) หรือ ๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ซ้ำยังตีความข้อบัญญัติในสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๒๕ (พ.ศ.๒๔๖๘) และ ๑๙๓๗ (พ.ศ.๒๔๘๐) ที่คลาดเคลื่อนจากถ้อยคำของข้อบทสนธิสัญญาอีกด้วย (คำพิพากษาหน้า ๑๗) เมื่อพิจารณาดูถ้อยคำของ ข้อ ๒๗ แห่งสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๒๕ (พ.ศ.๒๔๖๘) และข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗ (พ.ศ.๒๔๘๐) แล้ว จะพบสนธิสัญญาทั้งสองฉบับนี้มิได้ยืนยันเขตแดนตามแผนที่แต่ประการใดไม่ กลับไปยืนยันบทนิยามเขตแดนตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๑๔ (พ.ศ.๒๔๕๗) และ ๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) กล่าวคือให้ถือตามหลักสันปันน้ำ
จึงสรุปได้ว่า ศาลได้มีความสนธิสัญญา โดยขัดกับถ้อยคำของสนธิสัญญานั้นเอง และสันนิษฐานเป็นที่เสียประโยชน์แก่ฝ่ายไทยว่าไทยได้ยินยอมยกพระวิหารให้ฝรั่งเศส เพราะมิได้ฉวยโอกาสขอแก้ไขสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) หรือ ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) แต่เมื่อพิจารณาดูให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ชัดว่าฝรั่งเศสต่างหากที่เป็นฝ่ายยินยอม และมิได้ฉวยโอกาสผนวกแผนที่เข้าไว้กับสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๒๕ (พ.ศ.๒๔๖๘) หรือ ค.ศ.๑๙๓๗ (พ.ศ.๒๔๘๐) และ ความจริงสนธิสัญญาทั้งสองฉบับนี้ยืนยันสันปันน้ำต่างหาก ซึ่งก็เป็นการประกาศอย่างชัดแจ้งว่าหลักสันปันน้ำจะต้องสำคัญกว่าแผนที่ใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ถ้ามีการแคลงใจเรื่องแผนที่ว่าจะไม่ถูกต้องตามหลักสันปันน้ำตาที่ไทยได้ค้นพบในการสำรวจ ค.ศ.๑๙๓๔-๑๙๓๕ (พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๗๘) ยืนยันหลักสันปันน้ำแล้ว อันเป็นการปฏิเสธแผนที่ที่ขัดกับสันปันน้ำโดยตรง
๙. ฝ่ายไทยได้ยืนยันต่อศาลโลกตลอดมาว่า เส้นเขตแดนในบริเวณที่พิพาทนั้น เป็นไปตามสันปันน้ำ และว่ารัฐบาลไทยก็ถือตามนี้ เพราะสนธิสัญญาทุกฉบับได้ยืนยันสันปันน้ำเป็นเขตแดน
ข้อสำคัญที่ศาลอาจจะมองข้ามไปคือ หนังสือประท้วง ปี ค.ศ.๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) ที่ฝ่ายฝรั่งเศสส่งมายังรัฐบาลไทย โดยอ้างพิธีสาร ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) เป็นหลัก พิธีสารฉบับนี้กล่าวไว้อย่างชัดแจ้งว่า เขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองในบริเวณนั้น ถือตามเส้นสันปันน้ำ ซึ่งข้อนี้แสดงชัดแจ้งว่าฝ่ายฝรั่งเศสและกัมพูชาเองก็เชื่ออยู่ตลอดเวลาว่า เขตแดนนั้นเป็นไปตามสันปันน้ำ ฝ่ายฝรั่งเศสจึงได้อ้างพิธีสารมาในหนังสือประท้วง ค.ศ.๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) ในลักษณะเช่นนี้
ในการพิจารณาคดีนี้ ในเมื่อศาลเองถือเอาเจตนาของคู่กรณีเป็นหลักสำคัญในการวินิจฉัยคดีแล้ว เหตุไฉนเล่าศาลจึงไม่ให้ความสำคัญแก่เจตนาอันชัดแจ้งของทั้งสองฝ่าย ในเรื่องให้ยึดถือสันปันน้ำเป็นเขตแดนในบริเวณที่พิพาท แสดงว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นขัดกับข้อยุติธรรมของศาลที่ว่าภาคีทั้งสองได้มีเจตนาทำความตกลงขึ้นใหม่ในการกำหนดเขตแดนในบริเวณนั้น (พึงสังเกตด้วยว่าพิธีสาร ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) ได้เอ่ยถึง “เส้นซึ่งคณะกรรมการปักปันเขตแดนขุดก่อนได้ตกลงไว้เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐)” นั้น เกี่ยวกับปลายเขตแดนด้านตะวันออก ซึ่งกำหนดให้บรรจบแม่น้ำโขงที่ห้วยดอนมิได้เกี่ยวกับบริเวณพระวิหาร)
๑๐.ศาลรับฟังข้อเท็จจริงที่ผิดพลาด แห่งความเชื่อถือตามข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดนั้น อันเป็นผลเสียหายแก่รูปคดีของไทย
(๑) ศาลถือ (ในคำพิพากษา หน้า ๑๕ วรรคแรก) ว่า ปราสาทพระวิหารเป็นสถานที่สักการบูชา ซึ่งตามข้อเท็จจริงเป็นเทวสถานตามลัทธิพราหมณ์ที่ปรักหักพัง และแทบจะไม่มีผู้ใดไปสักการบูชา เพราะประชาชนทั้งในไทยและกัมพูชาก็นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ การที่ศาลเชื่อเช่นนี้พ้องกับข้อเสนอของกัมพูชาว่าคนกัมพูชาใช้ปราสาทเป็นที่สักการบูชา
(๒) ศาลกล่าวไว้หลายแห่ง (ในคำพิพากษา หน้า ๑๖ และ ๑๗) ว่าคณะกรรมการปักปันตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) มีสองแผนก (Sections) คือแผนกฝรั่งเศส และแผนกไทย แต่เป็นกรรมการเดียวทั้งๆ ที่ตามตัวบทสนธิสัญญาข้อ ๓ หมายถึงกรรมการ ๒ คณะ (Commissions) เป็นพหูพจน์และไม่มีการกล่าวถึงคำว่าแผนกในสนธิสัญญา หรือในรายงานการประชุมของคณะกรรมการปักปัน และ ฝ่ายไทยก็แย้งไว้แล้วว่า แผนที่ภาคผนวกซึ่งทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส ถึงแม้จะอาศัยชื่อของคณะกรรมการปักปันฝรั่งเศส (Commissionde Delimitation) ก็ไม่มีผลผูกพันฝ่ายไทยได้ เพราะไม่ใช่แผนที่ของคณะกรรมการผสม (Mixed Commissions) การที่ศาลถือเอาว่าเป็นคณะกรรมการเดียวแต่มีสองแผนก จึงทำให้เข้าใจผิดได้ว่า แผนที่ที่ฝรั่งเศสทำเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันทั้งคณะ คือคณะกรรมการร่วมกันของฝ่ายไทยและฝ่ายฝรั่งเศส
๑๑.ศาลได้นำเหตุผลที่ขัดกันมาใช้ในการพิจารณาข้อโต้เถียงของไทยแล้ววินิจฉัยว่าข้อโต้เถียงของไทยฟังไม่ขึ้น คือ
ก.ศาลให้ความสำคัญแก่การที่กรมแผนที่ไทยยังพิมพ์แผนที่แสดงว่าพระวิหารเป็นของฝรั่งเศสเรื่อยไป และกว่าจะพิมพ์แผนที่แสดงพระวิหารไว้ในเขตไทยก็ต่อเมื่อถึง ค.ศ.๑๙๔๕ (พ.ศ.๒๔๙๗) แล้ว ศาลน่าจะเข้าใจว่า เพราะเหตุนี้การพิมพ์แผนที่จึงไม่มีความสำคัญ เพราะก่อนหน้า ค.ศ.๑๙๕๔ (พ.ศ.๒๔๙๗) นี้เอง ทั้งๆ ที่ยังพิมพ์แผนที่ผิดอยู่ กัมพูชาและฝรั่งเศสก็ได้ประท้วงมาว่า พระวิหารเป็นของกัมพูชา เมื่อ ค.ศ.๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) และ ค.ศ.๑๙๕๐ (พ.ศ.๒๔๙๓) แต่ในทางตรงข้าม ศาลกลับไม่ถือว่ากิจกรรมเกี่ยวกับการปกครอง ตลอดจนการที่บุคคลสำคัญของรัฐบาลกลางไปเยือนพระวิหารในปีต่างๆ ระหว่าง ค.ศ.๑๙๐๗-๑๙๓๙ (พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๘๒) เป็นของสำคัญ กลับถือว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่ ซึ่งขัดกับท่าทีอันแน่นอนของรัฐบาลกลาง จึงต้องมองข้ามไป แสดงว่าศาลใช้มาตรฐานและเครื่องทดสอบที่ไม่สม่ำเสมอกัน
ข. ทั้งๆ ที่ศาลถืออยู่ตลอดเวลา (โดยเฉพาะในคำพิพากษา หน้า ๓๐) ว่าการปกครองบริเวณปราสาทพระวิหารของไทยนั้นไม่มีความสำคัญ เพราะเป็นเพียงขั้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเท่านั้น แต่พอถึงที่ที่จะตีความให้ไทยเสียประโยชน์ เพราะการปกครองพระวิหาร (ในคำพิพากษา หน้า ๓๓ วรรค๒) ศาลกลับเห็นเป็นของสำคัญ โดยกลับถือว่า เพราะไทยได้ปกครองพระวิหารเรื่อยมา จะมาอ้างว่าไม่รู้ว่าแผนที่ผิดไม่ได้ เพราะถ้าคิดว่าถูกแล้วยังใช้อำนาจปกครองก็จะเป็นการรุกรานไป แสดงว่าข้อเท็จจริงอันเดียวกัน ศาลถือว่าไม่มีความสำคัญ ถ้าเป็นประโยชน์แก่ไทย แต่ถือว่าสำคัญมากในตอนที่ไทยจะต้องเสียประโยชน์ คล้ายๆ กับว่าศาลจงใจจะตีความให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ พอจะมาพิจารณา (ในคำพิพากษา หน้า ๒๘ วรรค ๓) ถึงเรื่องการกลับสู่สภาพเดิมก่อนอนุสัญญากรุงโตเกียว ค.ศ.๑๙๕๑ (พ.ศ.๒๔๙๔) ศาลกลับปัดไม่ยอมพิจารณาเรื่องการครอบครองพระวิหารเสียเฉยๆ
ค.(ในคำพิพากษาหน้า ๓๑ วรรคแรก) ศาลตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งไทยและฝรั่งเศสก็มิได้มั่นใจว่าพระวิหารเป็นของตนในขั้นแรก ทั้งๆที่ศาลยอมรับ (ในคำพิพากษา หน้า ๓๐) ว่าไทยได้ใช้อำนาจปกครอง แต่ก็ยังกล่าวได้เต็มปากว่า ความเชื่อของไทยว่าพระวิหารเป็นของฝรั่งเศสนั้น สอดคล้องกับท่าทีของไทยโดยตลอดมา
๑๒.ศาลถือว่าไทยมีหน้าที่คัดค้าน เมื่อรับแผนที่จากฝรั่งเศสใน ค.ศ.๑๙๐๘ – ๑๙๐๙ (พ.ศ.๒๔๕๑ – ๒๔๕๒) แต่เมื่อมาพิจารณาดูข้อเท็จจริงและพฤติการณ์โดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ว่าไทยไม่มีหน้าที่คัดค้านแต่ประการใดเลย ฝรั่งเศสและกัมพูชาต่างหากที่มีหน้าที่คัดค้านการครอบครองปราสาทพระวิหารของไทยในสมัยนั้น แต่ก็มิได้คัดค้าน เช่น เมื่อส่งแผนที่มาให้ ก็มิใช่เป็นการแสดงว่าขัดกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการปักปัน และจะไปคัดค้านได้อย่างไร ถ้าสันปันน้ำที่แท้จริงตรงกับแผนที่ และปันพระวิหารไปอยู่ในเขตไทยหรือกัมพูชา ฝ่ายตรงข้ามก็มิอาจคัดค้านได้ และถ้าคัดค้านก็ไม่มีประโยชน์อะไร
กระทรวงการต่างประเทศ
๔ กรกฎาคม ๒๕๐๕
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น