เหมือนข้อพิพาท เรื่องการยืนขอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งนี่ถือเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศที่อ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้แผนผลักดันเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ได้เริ่มขึ้นในปี 2547 ที่คณะรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา มีมติเห็นชอบให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เขาพระวิหารเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ศึกษาประวัติศาสตร์ และกำหนดให้ดำเนินการเสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก
กระทั่งในเดือนมิถุนายน ปี 2550 ในการประชุมยูเนสโกที่เมืองไครซ์เชิร์ท นิวซีแลนด์ รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะพื้นที่ในเขตของกัมพูชาเท่านั้น ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ยื่นทักท้วงรัฐบาลกัมพูชา เพราะเห็นว่าควรจะเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน เนื่องจากองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ต่างๆ อาทิ ปราสาทโดนตวล,บรรณาลัย,สถุปคู่,สระตราว รวมถึงโบราณสถานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นอยู่ฝั่งไทย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งตามหลักประวัติศาสตร์ของเทวาลัยระดับโลก ต้องรวมองค์ประกอบทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน
จากผลการประท้วงดังกล่าว ยูเนสโกจึงเลื่อนการพิจารณาออกไป โดยให้ 2 ประเทศ(ไทย-กัมพูชา)ไปตกลงหาข้อยุติ แล้วค่อยนำเสนอที่ประชุมในเดือนมิถุนายน 2551
แต่การหารือของ 2 ประเทศนอกจากไม่มีอะไรคืบหน้าแล้ว ทางกัมพูชายังมีโครงการสร้างถนนจาก จ.พระวิหาร และ จ.กัมปงธม ขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหาร เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาทางขึ้นจากฝั่งไทย
จากเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลให้เขาพระวิหารกลับมาเป็นที่สนใจของผู้คนอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ทางหน้าท่องเที่ยวจึงขอหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับเขาพระวิหารที่เคยนำเสนอไปในวันที่ 13 สิงหาคม 2550 เพื่อฉายภาพบางด้านของเขาพระวิหารให้สาธารณะชนได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งคงต้องติดตามดูว่าประเทศไทยและกัมพูชาจะหารือ และมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร...
หลังคณะกรรมการยูเนสโกได้ประกาศเลื่อนการประกาศให้ "เขาพระวิหาร" เป็นมรดกโลก ในการประชุมใหญ่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ในปี 50 เพราะเห็นว่ายังเป็นประเด็นที่ทางการไทยและกัมพูชาต้องหารือกันให้ชัดเจน โดยยูเนสโกขอให้สองประเทศตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยให้รัฐบาลกัมพูชาเสนอเรื่องเข้าไปใหม่ในปีหน้า(51)
ซึ่งในอนาคตเขาพระวิหารจะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อใดนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ว่าหลังจากเกิดข่าวนี้ขึ้นมา เรื่องราวของเขาพระวิหารก็ได้กลายมาเป็นที่สนใจของผู้คนอีกครั้งหนึ่ง
มองเขาพระวิหาร ผ่านนักวิชาการไทย
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2550 ที่ผ่านมา ณ ท้องพระโรง มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ได้มีการจัดงานเสวนาที่หยิบยกเรื่องราวของเขาพระวิหารมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ในหัวข้อเรื่อง “เขาพระวิหาร มรดกโลกของเขมร” โดยภายในงานได้มีเหล่านักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี หลายท่านได้ออกมาแสดงทัศนะในหัวข้อเรื่องดังกล่าว
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการแห่งมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และประธานที่ปรึกษา โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้แสดงทัศนคติเรื่องเขาพระวิหารในประเด็นที่ว่า เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาว่า เรื่องนี้มีความสำคัญมากเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชา ซึ่งจัดได้ว่ามีปัญหามากที่สุดระหว่างอาเซียน ละเอียดอ่อนที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีรูปแบบ ทั้งรัก ทั้งชัง เรียกว่า love-hate relationship เป็นประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยบาดแผล
“เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีข่าวจากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยออกมาแถลงว่า ประเทศไทยให้การสนับสนุนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ในความเห็นชอบก็ได้แย้งว่าทั้งสองประเทศยังไม่ได้มีการปักปันเขตแดนที่สมบูรณ์ จากข่าวดังกล่าวเป็นเหตุให้สถานทูตไทยในกัมพูชา ต้องเรียกประชุมคนไทยทั้งหมดในกัมพูชา เพราะคงไม่แปลก ถ้ากรณีข่าวนี้จะทำให้บริษัทห้างร้านไทยในกัมพูชา อาจจะต้องเจอกับเหตุการณ์วิกฤต ดังเช่นการเผาสถานทูตเหมือนเมื่อปีพ.ศ.2546” ดร.ชาญวิทย์กล่าว
หากจะมีใครถามว่าเรื่องความขัดแย้งนี้มาจากไหน ดร.ชาญวิทย์อธิบายว่า เกิดขึ้นจาก “ลัทธิอำมาตย์นิยม” ที่ไม่ยอมรับระบอบราชาธิปไตยในปี พ.ศ.2482 ผู้นำในสมัยนั้นคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เริ่มต้นเรียกร้องให้มีการปรับปรุงพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสสมัยสงครามโลก ไทยได้ดินแดนเพิ่มขึ้น 4 จังหวัด คือ ไชยะบุลี นครจำปาศักดิ์ เสียมราฐ ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม และพระตะบอง ซึ่งไทยจะคิดว่าเขาพระวิหารเป็นของเราตอนไหน ก็คงอาจจะเป็นช่วงนี้
และเพื่อให้ประเทศไทยมีความชอบธรรม สมัยนั้นมีการเสนอแนวคิดที่ว่า “ขอมไม่ใช่เขมร” ดังนั้น เมื่อขอมไม่ได้เป็นบรรพบุรุษของเขมร เขมรปัจจุบันก็ไม่มีสิทธิจะครอบครองเขาพระวิหาร หรือการเสนอแนวคิดเรื่อง "คนไทยอยู่ที่นี่" มาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว
ดังนั้น คนไทยก็น่าจะเป็นแรงงานกรรมกรในการสร้างเขาพระวิหาร ตลอดจนบรรดาปราสาทขอมทั้งหลายในอีสาน เหตุนี้ผู้นำจึงสร้างแนวคิดว่าควรเป็นสิทธิอันชอบธรรมของไทยที่จะได้เขาพระวิหาร อีกทั้งยังมีการใส่ความคิดลงไปในงานวรรณกรรม สร้างจิตสำนึกว่าเขาพระวิหารเป็นของไทย อาทิงานของ น. ณ ปากน้ำ พลูหลวง นายหนหวย งานเหล่านี้จะถูกใส่ในกรอบวิธีรับรู้ เมื่อเกิดกรณีสมเด็จนโรดมสีหนุ ยื่นฟ้องต่อศาลโลกในปีพ.ศ.2502 และต่อมาในปีพ.ศ.2505 ไทยแพ้ ผู้คนในประเทศจึงช็อคกันมาก
กฏหมายปิดปาก
ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดของ ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระ ซึ่งเขากล่าวในงานเดียวกันว่า ไม่แปลกใจเลยกับความสงสัยของคนไทย แต่เข้าใจว่าทำไมคนไทยชอบตั้งคำถามว่า เขาพระวิหารควรเป็นของไทย ในเมื่อทางขึ้นอยู่ฝั่งไทย ซึ่งถ้าหากยึดตามหลักภูมิศาสตร์เขาพระวิหารก็น่าจะเป็นของไทย
แต่เราจะมองเฉพาะส่วนไม่ได้ อย่าลืมมองว่าประเด็นนี้มีเรื่องสนธิสัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสมัยนั้นเมื่อฝรั่งเศสได้ขีดพรมแดนให้เขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีน รัฐบาลสยามก็ไม่ได้ประท้วงแผนที่ ซึ่งฝรั่งเศสทำขึ้นตามสนธิสัญญา พ.ศ.2447 และ พ.ศ. 2450 ทั้งๆ ที่อยู่ภายในเขตสันปันน้ำฝั่งไทยซึ่งถือว่าเป็นหลักการแบ่งเขตแดนสากล การนิ่งเฉยโดยมิได้มีการท้วงติงก็เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายหรือเป็น “กฎหมายปิดปาก” นั่นเอง
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมัยที่ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จตรวจเยือนโบราณวัตถุสถานมณฑลนครราชสีมา ได้เสด็จไปยังเขาพระวิหารก็ได้ทรงแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ข้าราชการอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งได้มาถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการ มีการประดับธงทิวฝรั่งเศสเหนือปราสาท เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งต่อมาก็เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ทางกัมพูชานำเสนอต่อศาลโลกในปี พ.ศ.2505 ว่าสยามยอมรับว่าปราสาทเขาพระวิหารขึ้นอยู่กับอธิปไตยอีกฟากหนึ่งของพรมแดน
“ผมมองว่าลุ่มน้ำนี้เดิม คือเขตอาณานิคมของเขมร แทนที่เราจะคิดว่าเสียเขาพระวิหารไป ทำไมเราไม่คิดบ้างว่าเราได้ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง เมืองละโว้ หากไทยเป็นห่วงว่าการที่กัมพูชาเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงอย่างเดียว โดยไม่รวมเอาโบราณสถานที่เป็นส่วนหนึ่งของเขาพระวิหารซึ่งอยู่ในฝั่งไทย อาทิ สระตราว บรรณาลัย ปราสาทอื่น ๆ และภาพสลักนูนต่ำที่ผามออีแดง ผนวกเข้าร่วมเป็นมรดกโลกด้วยนั้น ผมว่าไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เพราะเป็นหลักการอยู่แล้วที่มรดกโลกเขาจะไม่ให้แบ่งส่วน ถ้าจะได้เส้นทางวรมันทั้งเส้นที่เป็นองค์ประกอบเดียวกันต้องได้หมด เหมือนที่ให้นครวัดก็ต้องให้นครธมด้วย ประเด็นหนึ่งที่เราไม่พูดถึงคือ การประกาศผลมรดกโลกปีพ.ศ.2550 ที่ผ่านมา ทวีปเอเชียมีสถานที่ที่ได้เป็นมรดกโลกทั้งหมด 7 แห่ง แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีประเทศใดได้เลย ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องคิด” ธีรภาพกล่าวพร้อมตั้งข้อสังเกต
ดร.ชาญวิทย์ยังได้แสดงทัศนคติต่อไปอีกว่า เมื่อ 45 ปีก่อน คือ พ.ศ.2505 ตนคิดว่าเขาพระวิหารเป็นของไทยเนื่องจากได้รับเอากรอบวิธีการรับรู้ดังที่กล่าวในข้างต้น แต่เมื่อพ.ศ.2550 ตนกลับคิดว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา เป็นมรดกโลกของกัมพูชา เพราะหากพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยไม่มีอคติในเรื่องชาตินิยมแล้ว ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกทางอารยธรรมล้ำค่า และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของชาวกัมพูชาและประเทศกัมพูชา
ทั้งนี้ยังกล่าวอย่างติดตลกว่า 45 ปีก่อน ที่เขาพระวิหารเป็นประเด็นขึ้นศาลโลก นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม 45 ปี ให้หลังเขาพระวิหารจะถูกเสนอเป็นมรดกโลก ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยมีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศนามสกุลพิบูลสงครามเช่นกัน
ในขณะที่ธีรภาพได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า หลังการสละบัลลังก์ของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุและกัมพูชาได้กษัตริย์พระองค์ใหม่ การเมืองเขาค่อนข้างนิ่ง ถ้าคนที่เคยไปเขาพระวิหารจะเห็นป้ายข้อความเตือนที่ทางเขมรเขียนเตือนสติชาวไทยว่า “เขาพระวิหารเป็นขวัญใจของชาวเขมร” ฉะนั้นจะเห็นว่าเขาพระวิหารเป็นตะกอนอย่างหนึ่งที่พร้อมจะคุกกรุ่นขึ้นมาท่ามกลางความราบเรียบ อาจจะนำมาซึ่งความร้าวฉานระหว่างไทย – กัมพูชาได้เสมอ
เที่ยวเขาพระวิหารไร้ปัญหา
ด้านความเห็นของ นพรัตน์ กอกหวาน ผอ.ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 2 กล่าวถึงกรณีของเขาพระวิหาร ว่า เรื่องของปัญหาเขตแดนที่เกิดขึ้นในกรณีของเขาพระวิหาร ส่งผลกระทบอยู่บ้างในส่วนของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ เนื่องจากบริษัททัวร์ไม่กล้าที่จะนำเสนอขายเพราะไม่แน่นอน ถ้ามาแล้วนักท่องเที่ยวไม่ได้ขึ้นจะเสียเวลาเปล่า แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยมีความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ยังคงให้ความนิยมมาเที่ยวกันตามปกติ
“การที่ทางประเทศกัมพูชาเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น ผมมองว่าถ้าได้เป็นมรดกโลกจริงๆจะเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์เขาพระวิหารมาก เพราะทุกวันนี้เขาพระวิหารทรุดโทรมเป็นอย่างมาก และที่สำคัญเขาพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อาเซียนร่วมกันขายได้ ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมร่วม โดยเฉพาะไทยที่เป็นประตูขึ้นสู่เขาพระวิหารเราย่อมได้รับผลประโยชน์แน่นอน สำหรับททท.เขต2 เอง ตอนนี้ก็ประชาสัมพันธ์เขาพระวิหารพร้อมกับผามออีแดงที่อยู่ฝั่งไทย เนื่องจากในฤดูฝนทัศนียภาพบนเขาพระวิหารสวยงามมาก สามารถมองเห็นทะเลเมฆที่ลอยผ่านเขาพระวิหาร เราเรียกว่าการอาบเมฆ ด้านการประสานงานระหว่างสองประเทศตอนนี้อยู่ในเกณฑ์ดีไม่มีปัญหาใดๆ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเสมอ” นพรัตน์กล่าว
ส่วนความเคลื่อนไหวทางฝ่ายกัมพูชา เมื่อเร็วๆ นี้ มีกระแสข่าวออกมาว่าสหรัฐอเมริกายินดีสนับสนุนการเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหารอย่างเต็มที่ อีกทั้งทางนายกรัฐมนตรีฮุนเซนแห่งกัมพูชายังได้สั่งตัดถนน 2 สาย ซึ่งหนึ่งในนั้นสายหนึ่งตัดจาก จ.กัมปงธม (Kampong Thom) ตรงไปยังพระวิหาร เชื่อว่าเป็นความพยายามที่จะลดการพึ่งพาทางขึ้นไปเที่ยวชมเขาพระวิหารที่อยู่ในดินแดนไทย
อนึ่ง ทางผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อมูลล่าสุดถึงความชัดเจนเรื่องการเสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์เขาพระวิหาร และทางจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ ต้องรอให้ทางกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แถลงข่าวความคืบหน้าเท่านั้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค
บทความย้อนหลัง
-
▼
2011
(568)
-
▼
เมษายน
(71)
-
▼
18 เม.ย.
(7)
- เขาพระวิหาร”(อีกครั้ง) เป็นมรดกใคร? ก่อนไปเป็นมรดกโลก
- "เขาพระวิหาร" บนเส้นทางความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
- กลุ่มการเมืองใช้เขาพระวิหารบังหน้าแลกประโยชน์-เปลี...
- โอกาสไทยทวงคืน “ประสาทพระวิหาร” ย้อนดูคำประท้วงคำต...
- ชี้เหตุ พิพาท ไทย-เขมร มีไส้ศึกไม่ต่างกับกรุงแตกคร...
- ลักษณะของทักษิณ ตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก
- มาดามฟรังซัวส์ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่...
-
▼
18 เม.ย.
(7)
-
▼
เมษายน
(71)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น