อาทิตย์ อุไรรัตน์ ชี้พิพาทไทย-เขมร ครั้งนี้ ไม่ต่างกับกรุงศรีแตกครั้งที่ 2 เหตุคนในขายผลประโยชน์ไทยให้ชาติอื่น สมปอง สุจริตกุล ย้ำชัดไทยไม่เคยยอมรับแผนที่กัมพูชา-ฝรั่งเศส เหตุคำพิพากษาแย้งบอกชัดเจนว่าแผนที่ผิด ด้านบก.ข่าวความมั่นคง ทีวีไทย แนะทางรอดของประเทศ คือ ภาคประชาชนต้องกดดันเพื่อให้รัฐชัดเจนกว่านี้
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 คณะนิติศาสตร์และคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนากรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารรัตนคุณากร (อาคาร 11) มหาวิทยาลัยรังสิต
ภายในงาน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเป็นอธิปไตยของชาติไทยมีผลประโยชน์มหาศาลต่อการท่องเที่ยว เพราะเป็นชัยภูมิที่ดี ขณะนี้สถานการณ์ประเทศไทยเป็นการสูญเสียแบบน้ำตื้น ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องความสามารถ หรือชาญฉลาดของคนไทย แต่มันส่อให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคนไทยที่ใช้พื้นที่นี้ ทำมาหากิน เวลานี้ประเทศไทยไม่ต่างอะไรกับกรุงศรีอยุธยากำลังจะเสียกรุงครั้งที่ 2 เราเสียกรุงเพราะคนในเป็นไส้ศึก คนในชาติมีผลประโยชน์เพื่อตนเอง ขายผลประโยชน์ของชาติเราให้แก่ชาติอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่ประเทศกัมพูชาเท่านั้น ยังหมายรวมถึงชาติมหาอำนาจอื่นด้วย ทั้งอังกฤษ อเมริกา หรือมหาอำนาจอื่นใด ในกรณีนี้ก็เป็นผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมัน ก๊าชธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทย
ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทนายความผู้ร่วมทำคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2502-2505 กล่าวว่า ที่ผ่านมากัมพูชาฟ้องให้ศาลโลกตัดสินว่า 1.ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา 2.ขอให้ประเทศไทยถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณโดยรอบ 3.ขอให้คนไทยคืนวัตถุโบราณและสิ่งของอะไรต่างๆ ที่เอาไปจากปราสาทพระวิหาร ซึ่งถือเป็นคำขอที่เลื่อนลอย แต่ทหารไทยก็ปฏิบัติตาม ทั้งนี้การปฏิบัติตามก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสละอำนาจอธิปไตย แต่เป็นเพราะเราเป็นสมาชิกที่ดีของสหประชาติ ต่อมากัมพูชาได้ขยายคำฟ้องว่า แผนที่มาตรา 1 ต่อ 200,000 เป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง แต่การขยายคำฟ้องครั้งนี้ศาลไม่รับพิจารณา แต่ทั้งนี้ประเทศไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับที่กัมพูชาทำร่วมกับฝรั่งเศส ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907 เพราะว่าผิดจากข้อเท็จจริง เนื่องจากคำพิพากษาศาลโลกไม่ได้ชี้ขาดว่าแผนที่นี้ผิดหรือถูก แต่คำพิพากษาแย้งที่มีผลผูกมัดคู่กรณีของผู้พิพากษาชาวออสเตรีย อาร์เจนตินา และจีน ลงความเห็นเหมือนกันว่าแผนที่ดังกล่าวผิด ผิดตรงที่จุดหนึ่งที่ปราสาทพระวิหาร คือ แม่น้ำโอทาเซน ในแผนที่แสดงว่าน้ำไหลจากตีนเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา ซึ่งโดยธรรมชาติต้องไหลจากยอดเขามาสู่ตีนเขา เส้นที่เขาลากจึงผิด เพราะฉะนั้นจึงตัดเอาปราสาทพระวิหารไปเป็นของกัมพูชา ทั้งนี้เคยมีคนคำนวณไว้ว่าการลากผิดครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยเสียพื้นที่ 1,800,000 ไร่
“ พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา มีการปักปันเขตแดนนานกว่าร้อยปีแล้ว ซึ่งการปักปันเขตแดนมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1.สร้างบทนิยามที่อยู่ในตัวบทของสนธิสัญญาที่ตกลงกันสองฝ่าย 2.นำบทนิยามมาปรับกับพื้นที่โดยการส่งคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายลงสำรวจพื้นที่จริงว่า พื้นที่ที่ตกลงกันอยู่จุดไหนเพื่อนำกลับมาลากเส้น 3.ลงมือปักหลักเขตในพื้นที่ที่เขตแดนธรรมชาติไม่ชัดเจน เช่น ไม่มีสันเขา หรือสันปันน้ำ เป็นเขตแดน แต่พื้นที่พิพาทดังกล่าวมีสันเขา มีสันปันน้ำ และหลักเขตเป็นเขตแดนชัดเจน โดยหลักที่ 1 ตั้งอยู่ที่ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ หลักเขตที่ 73 อยู่ที่ บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จังหวัดตราด สาเหตุที่ในอดีตเราไม่โต้แย้งเรื่องแผนที่เป็นเพราะเรากลัวว่าฝรั่งเศสจะเอาดินแดนไปมากกว่าเดิม เนื่องจากตอนนั้นทหารฝรั่งเศสตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่จังหวัดตราดและจันทบุรี เขาเพิ่งถอนกำลังไปเมื่อเราทำสัญญายอมยกเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ให้เขา เมื่อปี ค.ศ. 1907 แต่เวลานี้ประเทศที่ยัดเยียดแผนที่ให้เราเป็นกัมพูชาที่เคยเป็นอดีตประเทศราชของไทยซึ่งเรายกให้ฝรั่งเศสไป ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีหน้าที่บอกกัมพูชาว่าแผนที่มันผิด และมาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่า MOU 43 ก็ไม่ได้มีประโยชน์อีกต่อไป ”
ด้าน นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย กล่าวว่า หากใครไม่เคยขึ้นไปเขาพระวิหารก็จะมองไม่ออกว่าพื้นที่เป็นเช่นไร ครั้งแรกที่ตนขึ้นไปปราสาทพระวิหารตอนนั้นกัมพูชามีสงครามการเมือง ตนพยายามที่จะเข้าไปปราสาทพระวิหาร โดยขึ้นไปทางผามออีแดงซึ่งอยู่ในเขตไทย ช่วงนั้นทหารไม่ให้เข้าไป เพราะบริเวณตัวปราสาทเป็นพื้นที่ที่ไทยให้เขมรแดงเข้าไปอยู่ ตนเข้าไปครั้งแรกก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 และจากวันนั้นก็มีการเผชิญหน้ากันทางการทหารมาตลอด และหลังจากวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 เมื่อมี 3 คนไทย จากกลุ่มธรรมยาตราเข้าไปสำรวจในตัวปราสาท จากวันนั้นมาทหารก็ส่งกำลังเข้าไปตลอด
“ตั้งแต่ ปี2543- 2553 กัมพูชามีการสร้างถนนความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร ไต่มาตามความสูงและความชันของหน้าผา และวานนี้โฆษกทำเนียบรัฐบาลของกัมพูชาออกมาแถลงว่าแผนที่ที่กัมพูชาถืออยู่เป็นร่างที่ทำร่วมกัน ประเด็นเหล่านี้บางครั้งรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีข้อมูล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการข่าวของเราบกพร่อง และก็ไม่มีการตอบโต้ทันที พื้นที่ 4.6 ที่บอกว่าเป็นของไทย แต่ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ก็ไม่มีคนไทยอยู่ ไม่มีทหารอยู่ จนฝ่ายกัมพูชาเชื่อว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นของเขา บริเวณพื้นที่ยังมีการขยายสำนักสงฆ์ มีการปักธงชาติเพื่อแสดงสิทธิ์ในพื้นที่ทั้งที่เป็นการละเมิด MOU 43 ข้อ 5 พูดชัดเจนว่าห้ามมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่หรือภูมิประเทศ แต่รัฐเราก็ไม่มีการดำเนินการอะไรเลย รัฐมนตรีกลาโหมก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีสั่ง ทหารมีการละเลยในหน้าที่ไม่ร่วมมือในการปกป้องอธิปไตยอย่างที่ควรเป็น การต่อสู้ที่ผ่านมาก็เป็นการต่อสู้ของภาคประชาชน ซึ่งต่อไปทางรอดของประเทศคงมีทางเดียวคือ ภาคประชาชนจะต้องทำการกดดันความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เพื่อให้รัฐชัดเจนกว่านี้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น