ถอดรหัสคดีพระวิหาร (1) – พื้นที่รอบปราสาทเป็นของไทยหรือกัมพูชา?
Mon, 2011-05-23 01:28
เกี่ยวกับผู้เขียน
อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย Freshfields
Bruckhaus Deringer (กรุงปารีส). นิติศาสตรมหาบัณฑิต
(รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด.
หมายเหตุ บทความนี้เป็นเพียงส่วนย่อ
“คำพิพากษาอาจเป็นที่สิ้นสุดในทางกฎหมาย
แต่ความชอบธรรมนั้นใคร่ครวญได้ไม่สิ้นกาลเวลา (A judgment may be final in
law; its legitimacy is another matter in time).”
เนื่องในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ จะเป็นวันครบรอบ 50 ปีคำพิพากษาคดีศาลโลก
(ICJ) ฉบับแรกที่ไทยเป็นคู่ความ
อีกทั้งสิ้นเดือนนี้ไทยกำลังจะขึ้นโรงที่ศาลโลกอีกครั้งเพื่อชี้แจงเรื่อง
เก่าที่กัมพูชาขอศาลเอามาเล่าใหม่ จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านให้ลองช่วยกันดูว่า
คำพิพากษาประวัติศาสตร์อายุเกือบครึ่งศตวรรษฉบับนี้ ยังมี “รหัส”
อะไรซ่อนเร้นอยู่ ให้เอามาเล่าใหม่ได้หรือไม่?
รหัสชุดที่ 1 บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯเป็นของใคร?
เมื่อ พ.ศ. 2505 คำพิพากษาศาลโลก หน้า 36-37 วินิจฉัยว่า
(1) ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตใต้อธิปไตยของกัมพูชา; และจากเหตุดังกล่าว (in consequence)
(2)
ไทยจึงต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทฯหรือในบริเวณใกล้เคียงตัว
ปราสาทฯ (in its vicinity)บนอาณาเขตของกัมพูชา (on Cambodian territory);
และ
(3) ไทยจึงต้องคืนบรรดาวัตถุที่นำออกไปจากปราสาทฯ หรือบริเวณปราสาทฯ (the Temple area)ตามที่กัมพูชาสามารถระบุได้.
คำพิพากษากล่าวถึงบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ (in the vicinity)
ว่าเป็นของกัมพูชาแต่มิได้ระบุให้แน่ชัดว่าบริเวณดังกล่าวมีความหมายว่า
อย่างไร. ไทยเองเคยทำรั้วรอบปราสาทฯเพราะไทยเห็นว่า “บริเวณใกล้เคียง”
มีอยู่จำกัดและไม่รวมถึงพื้นที่บนยอดเขาพระวิหารทั้งหมด
แต่กัมพูชาไม่เห็นด้วย. ล่าสุดกัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความคำพิพากษา
แต่หากอ่านดีๆ กัมพูชาไม่ได้ขอให้ศาลตีความคำว่า “บริเวณใกล้เคียง” แบบ
“ตรงๆ” ว่า กว้าง ยาว แคบเท่าไหร่ แต่กัมพูชาพยายามขอให้ศาลตีความอย่าง
“เลี่ยงๆ” ว่า ไทยต้องออกไปจาก “บริเวณใกล้เคียง” เพราะไทยต้องเคารพแผนที่ฯ
ภาคผนวก 1 (ไม่ว่า “บริเวณใกล้เคียง” จะเป็นอย่างไร).
แม้ศาลจะรับคดีแล้วแต่ไม่ได้แปลว่าศาลจะเชื่อกัมพูชาโดยง่ายๆ
หากศาลมองว่าเรื่องที่กัมพูชาขอตีความเป็นการพยายามตะแบงขยายประเด็นเรื่อง
แผนที่ฯเกินไปกว่าคดีเดิม ศาลอาจปฏิเสธไม่รับตีความก็ได้.
คดียังคงดำเนินต่อไป แต่หากเราคนไทยต้องการทราบในเบื้องต้นว่า
“บริเวณใกล้เคียง” หรือ “vicinity” นั้นศาลท่านน่าจะหมายความว่าอย่างไร
เราสามารถลอง “ถอดรหัส” ถ้อยคำในคำพิพากษาได้ดังต่อไปนี้.
1. คำว่า “vicinity” มีความหมายที่ไม่แน่นอนในตัวเอง.
เรามักพยายามหาคำตอบโดยแปลถ้อยคำว่า “in the vicinity”
ที่ศาลกล่าวไว้ใน หน้า 37 (ในคดีนี้ศาลยึดคำพิพากษาฉบับอังกฤษเป็นหลัก
แต่ฉบับฝรั่งเศสก็สำคัญซึ่งศาลใช้คำว่า “dans ses environs”)
แต่ถ้อยคำในบริบทดังกล่าวทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสก็แปลทั่วไปได้ว่า
“บริเวณใกล้เคียง” หรือ “บริเวณรอบๆ” ตัวปราสาทฯ. หากลองเทียบเคียงคำว่า
“vicinity” ในจุดอื่นของคำพิพากษา เช่น ในหน้า 21 หรือ 35
ก็จะพบว่าศาลใช้อย่างกว้างๆเพื่อกล่าวถึง “บริเวณเดียวกัน”.
นอกจากนี้ยังมีคำว่า “region” (บริเวณ)
ที่ศาลใช้หลายครั้งแต่ก็แตกต่างกันไป. ที่สำคัญ มีจุดหนึ่งที่ศาลใช้คำว่า
“vicinity” ในหน้า 30
เพื่ออธิบายถึงละแวกอื่นที่ไม่ใช่บริเวณเดียวกับปราสาทหรือยอดเขาพระวิหาร
ดังนั้น “vicinity” ในหน้า 30 จึงเทียบเคียงกับ “vicinity”
ที่เป็นคำสำคัญในหน้า 37 ไม่ได้. คำว่า “vicinity”
จึงมีความหมายที่ไม่แน่นอนในตัวเอง.
2. คำว่า “vicinity” ต้องถอดรหัสควบคู่กับคำว่า “and its precincts”
“คำรหัส” ที่อาจสำคัญกว่าคำว่า “vicinity”
กลับไปอยู่ในย่อหน้าแรกๆของคำพิพากษา นั่นก็คือถ้อยคำว่า “and its
precincts” ในหน้า ๑๔ ซึ่งในข้อความส่วนนั้นศาลได้ทวนคำพูดตัวเองที่ว่า
“กัมพูชากล่าวอ้างว่าไทยได้ละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารและ
เขตที่เกี่ยวข้อง” (sovereignty over the region of the Temple of Preah
Vihear and its precincts). คำว่า “precincts” แปลอย่างเป็นกลางได้ว่า
“เขตที่เกี่ยวข้อง” แต่หากแปลแบบ “ถอดรหัส” แล้ว
จะพบนัยสำคัญอย่างน้อยสี่ข้อ.
ข้อแรก คำว่า “precincts”
นั้นเป็นศัพท์ที่เข้ารหัสเฉพาะได้หลายทาง. หากถามนักรัฐศาสตร์
คำนี้หมายถึงเขตการปกครองหรือเขตบริหารที่แบ่งตามพื้นที่ เช่น
ในเมืองแห่งหนึ่งอาจมี เขตสถานีตำรวจ หรือ เขตเลือกตั้ง แบ่งออกเป็นเขต
(precincts) ต่างๆ. แต่หากถามนักบวชหรือนักโบราณคดีแล้ว
จะแปลว่าบริเวณทั้งหลายที่ถือรวมเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่เดียวกัน เช่น
เราอาจเรียก เจดีย์ อุโบสถ ศาลาและลานวัดทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในกำแพงวัด
ว่าเป็น precincts ของวัด. การถอดรหัสคำว่า precincts ต้องดูบริบทที่ศาลใช้
คือ “sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its
precincts”. คำถามคือศาลอธิบายถึง precincts ของ “region” (บริเวณ) หรือ
ของ “Temple” (ตัวปราสาทฯ) เพราะหากเป็น precincts ของ “ตัวปราสาทฯ”
เราอาจตีความได้ว่าศาลกำลังพูดถึงบริเวณบันไดนาค โคปุระ บ่อน้ำ
หรือรอยกำแพงรอบๆตัวปราสาทฯที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหารเท่านั้น.
แต่หากมองว่าศาลกำลังพูดถึง precincts ของ “บริเวณ”
ก็อาจมีผู้มองว่าศาลกำลังกล่าวถึงเขตการบริหารปกครองต่างๆ
ที่กัมพูชาอาจแบ่งได้ในบริเวณเขาพระวิหารหรือไม่.
หากถามนักกฎหมายว่าจะเชื่อนักรัฐศาสตร์หรือนักโบราณคดี
ก็ตอบว่าการตีความโดยเน้นที่ “region” แบบรัฐศาสตร์แบบนี้อาจรับฟังได้ยาก
เพราะศาลกล่าวถึงคำว่า precincts เป็นพหูพจน์
ยากที่จะฟังว่ากัมพูชาจะแบ่งเขตในพื้นที่รอบปราสาทฯเป็นหลายเขต.
อีกทั้งนักกฎหมายต้องรู้ว่าในคำพิพากษาฉบับภาษาฝรั่งเศสศาลยังได้ใช้คำว่า
“environs” แทนคำว่า “precincts” ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป.
ข้อที่สอง วิธีที่ศาลกล่าวถึงคำว่า precincts
นี้สื่อรหัสพิเศษ เพราะในย่อหน้าแรกศาลใช้คำนี้โดยการยกถ้อยคำ (quote)
มาจากคำพิพากษาอีกฉบับในคดีเดียวกัน นั่นคือคำพิพากษาเรื่องเขตอำนาจ
(jurisdiction) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1961
ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจรับคดีปราสาทพระวิหารไว้พิจารณา
โดยในย่อหน้าแรกที่ศาลยกถ้อยความมาอ้างมีคำว่า “precincts”
อยู่แต่พอย่อหน้าถัดมาในหน้าเดียวกัน
ศาลได้อธิบายย้ำถึงกรอบของคดีโดยใช้ถ้อยคำซ้ำดังเดิม แต่ละคำว่า
“precincts” ออกไป กล่าวคือศาลกล่าวซ้ำว่า
ประเด็นแห่งคดีนี้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่อง
“อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร” (sovereignty over the region of
the Temple of Preah Vihear). การที่ศาลกล่าวถึงคำว่า “precincts”
ในย่อหน้าแรกและละคำทิ้งในย่อหน้าถัดมาจะตีความอย่างไรนั้น มองได้หลายทาง.
เหตุที่เป็นไปได้ข้อหนึ่ง ก็คือศาลละคำว่า “precincts” ออกเพราะคำว่า “the
region of the Temple of Preah Vihear” ชัดเจนพอแล้ว จึงไม่ต้องกล่าวคำซ้ำ
ซึ่งย่อมหมายความว่า “precincts”
คือบริเวณในทางโบราณคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของปราสาทฯนั่นเอง.
ข้อที่สาม การที่ศาลอ้างถึง “precincts”
และละคำนี้จากประโยคที่ซ้ำกันในย่อหน้าถัดไปนั้น
ต้องอ่านรหัสควบคู่ไปกับสิ่งที่ศาลกล่าวต่อในหน้าถัดมา โดยในหน้า 15
ศาลกล่าวสรุปว่า ศาลจะไม่นำข้อต่อสู้เชิงประวัติศาสตร์
ศาสนาและโบราณคดีมาประกอบการพิจารณาคดี. การกล่าวเช่นนี้ตีความได้หลายทาง
ทางหนึ่งคือเป็นการเชื่อมบริบทว่า “precincts”
ถูกกล่าวถึงในบริบทเชิงศาสนาและโบราณคดี.
ข้อที่สี่ คำว่า “precincts” ในหน้าที่ 14 นี้
ศาลใช้คำภาษาฝรั่งเศสว่า “environs” ซึ่งก็เป็นคำแปลคำเดียวกันกับคำว่า
“vicinity” ในหน้า 37.
แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้ใช้ฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลักก็ตาม
แต่การเลือกคำแปลเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้พิพากษาและนักกฎหมาย
ที่ดีทุกคนต่างตระหนัก. หากหน้าที่แพทย์คือการจับชีพจร
หน้าที่ของนักกฎหมายก็คือการจับถ้อยคำ
และผู้เขียนก็มิได้คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องบังเอิญที่มีการใช้คำแปล
ฝรั่งเศสตรงกัน.
3. คำว่า “vicinity” ต้องถอดรหัสควบคู่กับคำว่า “in consequence”
นอกจากดูคำว่า “precincts แล้ว การถอดรหัสคำว่า “vicinity”
ทำได้โดยการตีความจากบริบทโดยรวมของบทปฏิบัติการทั้งสามข้อในหน้า 36-37
ที่ยกมาข้างต้น.
เราจะเห็นว่าบทปฏิบัติการข้อแรกมุ่งไปที่ตัวปราสาทฯอย่างเดียว
แต่ศาลใช้คำว่า “vicinity” ในข้อ 2 และใช้คำว่า “Temple area”
(บริเวณปราสาท) ในข้อ 3. ในทางหนึ่งมองได้ว่าทั้งข้อ 2 และข้อ 3
เป็นเรื่องผลที่ตามมาจากข้อ 1 เหมือนกัน
และตีความได้ว่าในบริบทเดียวกันนี้เอง “vicinity” และ “Temple area”
ต้องตีความในทางเดียวกัน
คือบริเวณที่ใกล้ชิดหรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวปราสาทฯ (หรือ precincts
นั่นเอง).
ถามว่าถ้าบริบทเหมือนกันแล้วเหตุใดศาลจึงไม่ใช้คำเดียวกัน
ตอบได้ว่าคำว่า “in consequence”
สื่อให้เห็นว่าการที่ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ
เป็นผล (consequence) ที่ตามมา
เพราะศาลกำลังเน้นไปที่เหตุเกี่ยวกับตัวปราสาทฯเป็นสำคัญ.
ถามว่าอะไรคือสาระสำคัญของตัวปราสาทฯที่ทำให้ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออก
จากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ
วิธีตอบวิธีหนึ่งคือการกลับไปอ่านรหัสถ้อยคำของศาลในหน้า 15
ที่อธิบายเกี่ยวกับปราสาทฯไว้ว่า ปราสาทฯยังคงถูกใช้เป็นที่สำหรับ
“การจาริกแสวงบุญ” (is still used as a place of pilgrimage). ดังนั้น
เมื่อปราสาทฯเป็นของกัมพูชาและศาลเชื่อว่าชาวกัมพูชาหรือผู้ใดยังเดินทางไป
จาริกแสวงบุญได้
หากไทยจะส่งกองทหารหรือตำรวจไปยืนประชิดสถานที่จาริกแสวงบุญดังกล่าว
ก็คงเป็นผล (consequence) ที่มิเหมาะสมนัก. การถอดรหัสคำว่า “vicinity”
ลักษณะนี้จึงเป็นการเน้นเพื่อมิให้ไทยแทรกแซงหรือก่อกวนการใช้ปราสาทฯ
จากบริเวณใกล้เคียง ศาลจึงไม่ได้ใช้คำว่า “Temple area”
ซึ่งเป็นการเน้นเรื่องโบราณวัตถุในข้อ 3 แต่เมื่อบริบทเป็นผลที่ตามมาจากข้อ
1 เหมือนกัน จึงสรุปได้ว่า “vicinity” มิได้หมายถึงบริเวณอื่นรอบๆปราสาทฯ
หรือตามแผนที่ภาคผนวก 1.
4. คำว่า “vicinity” ต้องถอดรหัสควบคู่กับคำว่า “Temple area”
คำรหัสสำคัญอีกคำหนึ่งที่ควรเน้นถึงก็คือคำว่า “บริเวณปราสาทฯ”
(Temple area) ซึ่งมิได้ปรากฏอยู่แต่ในบทปฏิบัติการข้อ 3 ในหน้า 37.
เท่านั้น แต่เป็นคำที่ศาลใช้บ่อย เช่นในหน้า 15, 17, 19, 21, 22, 29, 30,
33 และ 36 หากเราเทียบเคียงจากบริบทในหน้า 37 ว่า “Temple area”
ต้องเป็นบริเวณที่มีโบราณวัตถุที่สามารถถูกเคลื่อนย้ายได้
ก็ย่อมสนับสนุนการตีความว่า “Temple area” นั้นต้องหมายถึง “precincts”
ในเชิงศาสนาและโบราณคดีเท่านั้น
และไม่สามารถรวมไปถึงบริเวณพื้นที่รอบๆตัวปราสาทอย่างอื่นได้
(เพราะคงไม่มีโบราณวัตถุบนพื้นที่ว่างเปล่า).
ข้อสรุปนี้จะสำคัญพิเศษหากลองโยงคำว่า “vicinity” กับคำว่า “Temple area”
ที่ศาลใช้ในหน้า 17
ซึ่งตีความได้ว่าศาลต้องการจำกัดประเด็นพื้นที่ให้อยู่เฉพาะสิ่งที่ถือเป็น
ส่วนหนึ่งของปราสาทฯเท่านั้น.
5. คำว่า “vicinity” ต้องถอดรหัสควบคู่กับส่วนอื่นของคำพิพากษาที่ศาลกล่าวถึงแผนที่ภาคผนวก 1
หากเราพิจารณาบริบทโดยรวมของคำพิพากษา
เราจะเห็นว่าศาลเขียนคำพิพากษาด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อเน้นว่า
ในคดีนี้ศาลไม่ได้วินิจฉัยเรื่องเรื่องเส้นพรมแดนและแผนที่ฯแต่อย่างใด
(หัวข้อนี้หากมีโอกาส จะนำมาอธิบายในตอนต่อไป)
ซึ่งย่อมสอดคล้องกับแนวการตีความคำว่า “vicinity”
ว่ามิอาจรวมไปถึงบริเวณอื่นๆโดยกว้างได้
แต่ต้องจำกัดอยู่กับส่วนที่เป็ฯส่วนหนึ่งของปราสาทฯเท่านั้น.
สรุปการถอดรหัส - บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯเป็นของใคร?
หากเราเห็นด้วยกับการถอดรหัสข้างต้น อาจสรุปได้ว่า คำว่า
“บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) ควรตีความเทียบเคียงกับ คำว่า “precincts”
และ “Temple area”
ซึ่งย่อมส่งผลให้คำพิพากษาจำกัดบริเวณที่เป็นของกัมพูชาว่า
ได้แก่บริเวณที่ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหารในทางโบราณคดีเท่า
นั้น ไม่สามารถขยายให้คลุมพื้นที่รอบๆ ตามแผนที่ภาคผนวก 1 ได้
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง
ก็ถึงเวลาที่นักกฎหมายจะได้สดับฟังปรมาจารย์โบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญแต่ละ
ฝ่ายอธิบายว่า “บริเวณ” ดังกล่าวเป็นอย่างไร.
สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ชุดรหัส” (พหูพจน์)
ที่ซ่อนอยู่ในคำพิพากษา.
ผู้เขียนได้เลือกกล่าวถึงเฉพาะรหัสที่ปรากฏให้เห็นชัดในคำพิพากษาซึ่งผู้
เขียนเองก็ยังมีข้อถกเถียงที่โต้แย้งตัวเองได้อยู่
แต่จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้.
ในฐานะผู้ที่พอมีประสบการณ์เคยช่วยทำคดีในศาลโลก
ไม่เป็นที่สงสัยว่าบรรดานักกฎหมายทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างได้ศึกษาคำเหล่า
นี้แล้ว อีกทั้งถ้อยคำสำคัญอื่นๆ ทั้งในเชิงศัพทมูลวิทยา อัครวิเคราะห์
บริบทวิเคราะห์
ทั้งในคำพิพากษาฉบับอังกฤษและฝรั่งเศสและคำคู่ความทั้งฉบับอักษรและวาจา
ประกอบกับการประพฤติปฏิบัติของคู่พิพาท แนวการวินิจฉัย
และหลักการตีความอื่นซึ่งมีอีกหลายวิธี.
ไม่ว่าคู่พิพาทในคดีจะสงวนชั้นเชิงและท่าทีตามความจำเป็นอย่างไร
หรือจะมีผู้อ่านต่อว่าผู้เขียนในประการไหน
แต่สำหรับผู้ที่มีใจเป็นธรรมและเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมนั้น
สิ่งที่ไม่ควรหลีกหนีก็คือ “ความจริง”.
หากสุดท้ายศาลรับตีความคำพิพากษาในประเด็นถ้อยคำเหล่านี้
ก็หวังว่าสิ่งที่ถอดรหัสมาข้างต้นนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของ “ความจริง”
ที่ศาลจะนำไปพิจารณา.
แต่หากศาลไม่รับไว้พิจารณา ก็หวังต่อแต่เพียงว่า
สำหรับไทยและกัมพูชานั้น “ความจริง(ต้อง)เป็นสิ่งไม่ตาย” (เพราะมิเช่นนั้น
“คนที่ต้องมาตาย” จะไม่ใช่แค่ความจริง).
เอกสารฉบับเต็ม จาก https://sites.google.com/site/verapat/temple
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น