บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการไทย ขี้ข้า กัมพูชา

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
27 พฤษภาคม 2554

1) สมัย ร.5 ปราสาทพระวิหารเป็นของฝรั่งเศส

พ.ศ. 2447 รัฐบาลสยามสมัย ร. 5 ทำสนธิสัญญาเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศส (ฉบับ 13 กุมภาพันธ์ 1904) ซึ่งมีพันธะให้ต้องยอมรับแผนที่แนบท้ายที่มีปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชา ของฝรั่งเศส

เมื่อฝรั่งเศสยอมลงนามในสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 นี้ จึงเป็นครั้งแรกที่สยามได้อธิปไตยที่แน่ชัด (หรือที่มหาอำนาจรับรอง) บนดินแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

รัฐบาลสมัย ร. 5 น่าจะเห็นว่าเป็น “ความสำเร็จ” ที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่ง เพราะขณะนั้นยังไม่แน่ชัดว่ามหาอำนาจโดยเฉพาะฝรั่งเศสยอมรับการมีอยู่ของ ประเทศสยามแค่ไหน (เช่น ที่ราบสูงโคราชทั้งหมดเป็นของสยาม หรือเป็นดินแดนที่ยังต้องเจรจาต่อรองกันก่อน)

เมื่อแผนที่แนบท้ายมี เส้นเขตแดนที่ลัดเลาะเลียบแม่น้ำโขง และเทือกเขาพนมดงเร็ก มีความชัดเจนแน่นอน และประกันความปลอดภัยของสยาม เป็นอันหมดกังวลเสียทีกับความเปราะบางของอธิปไตยสยามทางด้านนี้

ดัง นั้น ย่อมมีความสำคัญกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้กับปราสาทพระวิหาร ซึ่งขณะนั้นแทบจะไม่มีใครรู้จักเลย แผนที่แนบท้ายที่สยามให้คำรับรองไว้จะบิดเบี้ยวไปจากสันปันน้ำอย่างไร จึงไม่มีความสำคัญนัก

ขณะนั้น พ.ศ. 2447 ฝรั่งเศสยังยึดจันทบุรี, ตราด, และเกาะในอ่าวไทยด้านตะวันออกไว้ทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าเป็นหลักประกันใช้บังคับสยามให้ยอมทำตามสัญญา ร.ศ. 112 พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893)

2) สมเด็จฯ เสด็จปราสาทพระวิหารของฝรั่งเศส

พ.ศ. 2472 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จ “ตรวจโบราณวัตถุสถาน” มณฑลนครราชสีมา และเสด็จเลยไปถึงปราสาทพระวิหาร

สมเด็จฯ เสด็จยืนรับการถวายการต้อนรับ และคงจะทอดพระเนตรเห็นธงฝรั่งเศสซึ่งชักขึ้นเหนือเสาบนปราสาทอย่างชัดเจน นอกจากทรง “ตรวจ” โบราณวัตถุสถานบนปราสาทพระวิหารแล้ว ยังได้เสด็จประทับค้างแรมข้างบนนั้นอีกหนึ่งคืนด้วย

สมเด็จฯ ทรงทราบอยู่แล้วว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตปกครองของอินโดจีนฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาซึ่งสยามและฝรั่งเศสทำขึ้นใน พ.ศ. 2447 ซึ่งถูกกำหนดรายละเอียดด้วยแผนที่แนบท้ายซึ่งสยามและฝรั่งเศสร่วมกันทำ (ตามความในสนธิสัญญา ม.3) และสยามได้ให้คำรับรองทั้งในทางปฏิบัติและอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2450

ทุกอย่างเป็นที่พอใจของชนชั้นนำขณะนั้นทุกคน

3) เริ่มแย่งปราสาทพระวิหาร

พ.ศ. 2483 นายกรัฐมนตรี พลตรี ป. พิบูลสงคราม เริ่มปลุกระดมให้ชนชั้นกลางเรียกร้องดินแดนคืนจากมหาอำนาจ และนำไปสู่การทำสงครามกับฝรั่งเศส จนได้ดินแดนในประเทศกัมพูชาและลาวปัจจุบันมาอยู่ใต้การปกครองของไทย

ปราสาท พระวิหารกลับตกเป็นของไทย เพราะสงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส (ขึ้นอยู่ในจังหวัดนครจำปาศักดิ์) แต่เป็นการได้ที่ไม่มีมหาอำนาจใดรับรองนอกจากญี่ปุ่น

ครั้นสิ้น สงครามไทยก็ต้องจำยอมประกาศสละดินแดนที่ยึดมาได้เหล่านี้คืนมหาอำนาจผู้ชนะ สงครามหมด เหลือแต่ปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่เรามุบมิบเอาไว้

เราไม่ อาจตัดสินการกระทำหรือความคิดของคนแต่ก่อนด้วยเงื่อนไขของปัจจุบันได้ เพราะเขาทำและคิดขึ้นจากเงื่อนไขในสมัยของเขา ซึ่งมาในภายหลังอาจเห็นได้ว่าผิดหรือถูกก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีเหตุผลรองรับ ทั้งเป็นเหตุผลที่มีประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งด้วย

ต่างจากการนำเรื่องปราสาทพระวิหารกลับมาใหม่ในสมัยปัจจุบัน เพราะกลายเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะตน หรือเฉพาะกลุ่มไปเสียหมด

4) เขมรฟ้องศาลโลก

พ.ศ. 2502 กัมพูชาฟ้องศาลโลก กล่าวหาไทยว่าส่งทหารเข้ายึดครองปราสาทพระวิหารของกัมพูชา

5) ศาลโลกตัดสิน

พ.ศ. 2505 ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาตามสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 (1904) และตามแผนที่ พ.ศ. 2451 (1908) ที่มีปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชาของฝรั่งเศส และฝ่ายไทยไม่ทักท้วงตลอดเวลา 50 กว่าปี หลังลงนามในสนธิสัญญา

คำตัดสินตอนหนึ่งของศาลโลกมีอ้างถึงสมเด็จฯ ว่า

ค.ศ. 1930 (ในวันที่ 30-31 มกราคม 2472) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและคณะได้เสด็จชมปราสาทพระวิหาร ผู้ว่าราชการเมืองกำปงธม ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส แต่งเครื่องแบบเต็มยศ มารับเสด็จที่ตีนบันไดขึ้นปราสาทพระวิหาร ด้านหลังมีธงชาติฝรั่งเศส มีการฉายพระรูป ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ทรงส่งรูปถ่ายดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการเมืองกำปงธม และขอบใจที่เขาต้อนรับเป็นอย่างดี โดยมิได้ทักท้วงเรื่องฝรั่งเศสปักธงชาติฝรั่งเศสไว้ที่ปราสาทพระวิหาร

6) ปราสาทพระวิหาร มรดกโลก

พ.ศ. 2551 (2 กรกฎาคม 2008) คณะกรรมการมรดกโลกลงมติรับรองปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามข้อเสนอของกัมพูชา

ปราสาทพระวิหารกลายเป็น “มรดกโลก” ไทยเองก็มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับประเทศอื่นๆด้วย แต่เป็นเจ้าของในเชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่การเมือง

7) ประชาคมอาเซียน

“อธิปไตย” ของประเทศที่ตั้งอยู่บนบุรณภาพทางดินแดนได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็อย่างช้าๆ เพราะองค์กรเหนือรัฐในทุกรูปแบบมีอำนาจและบทบาทเข้ามากำกับอำนาจอธิปไตยของ รัฐต่างๆ มากขึ้น ไม่แต่เพียงองค์กรโลกอย่างสหประชาชาติเท่านั้น (ซึ่งเมื่อตั้งขึ้นก็ยังยึดถืออธิปไตยแบบเก่าอย่างมาก) แต่รวมถึงองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอื่นๆ อีกมาก

อาเซียน พัฒนามาถึงความฝันเรื่อง “ประชาคม” อาเซียน แม้ยังไม่มีรูปธรรมมากนัก แต่อย่างน้อยก็กลายเป็นความฝันที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธอย่างเปิดเผยได้อีก ต่อไป

เห็นได้ชัดว่าเส้นเขตแดนในกลุ่มอาเซียนซึ่งหาความชัดเจนแน่นอน ไม่ค่อยได้ในทุกประเทศ กำลังต้องถอยร่นให้แก่ความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง แม้แต่ปราสาทพระวิหารเอง

8 ) ปราสาทพระวิหาร ของ ประชาคมอาเซียน

ปราสาทพระวิหารกำลัง “กลับ” มาเป็นของเราอีก แต่เราในที่นี้หมายถึงเราในฐานะสมาชิกอาเซียนที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปราสาทพระวิหารจะมีทั้งคุณค่าและมูลค่าแก่เราผ่านความเป็นประชาคมของอาเซียน ไม่ใช่แสนยานุภาพของกองทัพ

• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •

ปรับ ปรุงแล้วเพิ่มเติมบางตอนขึ้นใหม่จากข้อเขียน เรื่อง อดีตและอนาคตของปราสาทพระวิหาร ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 13-19 พฤษภาษคม 2554 หน้า 30-31


คำนิยมต่อบทความ "ปราสาทพระวิหารในอดีตและอนาคต"
โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ



ดี มาก ถือได้ว่าเป็นนัก นสพ นักคิด-นักเขียน กวี ที่รับผิดชอบ ตามทันต่อสถานการณ์ และข้อมูลที่ช่วยสร้างความกระจ่างให้สังคมไทยของเราซึ่งถูกปิดบังข้อมูล ให้เชื่อผิดๆ หลงผิดๆ (ตามแนวอำนาจ/ทหารนิยมของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และอนุรักษ์นิยมของเสนีย์ ปราโมช มาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ) ที่ทำให้เราๆ ท่านๆเกลียดชัง และเข้าใจผิดๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน (ทั้งกัมพูชาและลาว)

สิ่ง ที่นัก นสพ นักคิด/นักเขียน กวี รวมทั้งนักวิชาการจะต้องติดตาม รับรู้ และเท่าทันกับข้อมูล ณ ตอนนี้ก็คือ การที่กัมพูชา ให้ศาลโลก ICJ/Peace Palace ณ กรุงเฮก ตีความคำพิพากษา ข้อ 2 (ปี 2505/1962)ที่ว่า

"ประเทศ ไทย มีพันธะ ที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษา หรือผู้ดูแล ซึ่งประเทศไทย ส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหาร หรือ ในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา" นั้น กินใจความและพื้นที่แค่ไหน

เรา จะได้ไม่ถูก "ผู้กุมอำนาจรัฐ (ไทย)" ไม่ว่าจะเป็น "เสนาธิปไตย-อำมาตยาธิปไตย" (เวอร์ชั่นสฤษดิ์/เสนีย์) ทำให้หลงผิดๆ เชื่อผิดๆ อีกต่อไป อีกครึ่งศตวรรษ

รักชาติ รักสันติภาพ
รักชาติ ชังสงคราม
รักชาติ ผูกมิตรเพื่อนบ้าน
รักชาติ ไม่สร้างศัตรู (ให้ชาวสยามประเทศไทย ครับ)

Make Love not War (with Cambodia and Loas)

ด้วยความนับถือ
อาจารย์ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง