บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“มาร์ค กษิต พอใจกับคำสั่งของศาลโลก

“มาร์ค” เรียกถกความมั่นคงด่วนอังคารนี้ พิจารณารายละเอียดผลคำพิพากษาศาลโลก ยันไทยไม่ถอนทหารจนกว่า 2 ฝ่ายถกในกรอบจีบีซี ลั่นไทยยังไม่เสียดินแดน พร้อมบอกพอใจคำตัดสินศาลโลก เชื่อเจตนาดีมุ่งลดการเผชิญหน้า หวัง รบ.ใหม่ต่อสู้คดีหลักจนถึงที่สุด จัดการด้วยความระมัดระวัง
      
       วันที่ 18 ก.ค. เมื่อเวลา 18.45 น.ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดสัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังศาลโลกมีมติให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจาก พื้นที่ปราสาทเขาวิหารว่า เบื้องต้นขอเรียนว่า ได้รับทราบคำสั่งชั่วคราวของศาลโลกที่ได้มีการตัดสินเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 ก.ค.ตามเวลาประเทศไทย ขอทบทวนให้ทราบประเด็นแรกตรงนี้เป็นเรื่องของมาตรการชั่วคราวไม่ได้เกี่ยว ข้องกับคดีหลัก และไม่มีผลในเรื่องของอธิปไตย ประการที่สองคำขอที่เป็นมาตรการชั่วคราว เป็นคำขอของฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการให้ศาลสั่งให้ประเทศไทยถอนทหารจากบริเวณ รอบๆ ปราสาท ซึ่งคำสั่งของศาลชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นไปตามคำร้องของกัมพูชา แต่มุ่งในการที่จะลดการเผชิญหน้าหรือความตึงเครียดในบริเวณดังกล่าว จึงมีคำสั่งออกมาในลักษณะที่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลเป็นผู้กำหนด ซึ่งหลายท่านอาจได้เห็นตัวแผนที่แล้ว จะเป็นลักษณะของพื้นที่ที่ค่อมสันปันน้ำอยู่ พูดง่ายๆ คือ เมื่อเรายึดสันปันน้ำพื้นที่ที่ให้มีการถอนทหารคือ พื้นที่ทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชาพร้อมๆ กันไป และทหารของกัมพูชาเองก็ต้องถอนออกจากตัวปราสาท วัดแจ้ง และบริเวณที่อยู่บนเขา ซึ่งทั้งหมดนี้เนื่องจากเกิดจากผูกพัน ทั้ง 2 ฝ่าย และการปฏิบัติในการถอนทหารของทั้ง 2 ฝ่าย คงต้องมีกลไกในการมาบริหารจัดการ และคงเป็นไปไม่ได้ที่ต่างฝ่ายต่างไปดำเนินการ
      
       “ดังนั้นในวันพรุ่งนี้เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผมจึงได้เชิญทั้งฝ่ายความมั่นคง รัฐมนตรีกลาโหม ผบ.ทบ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของทหาร กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวง กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการครม. เลขากฤษฎีกา เพื่อมาดูรายละเอียดของคำสั่งว่า มีผลกระทบเชิงกฎหมายภายในประเทศหรือไม่อย่างไรในแง่ขั้นตอนการปฏิบัติ และดูความเป็นไปได้ในการที่จะหาแนวทางลดความตึงเครียดในพื้นที่ดังกล่าว ข้อเสนอเบื้องต้นในขณะนี้น่าจะให้จีบีซีเป็นผู้ไปพูดคุยกันว่า จะดำเนินการอย่างไร ผมอยากเรียนว่า แนวคิดที่จะให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราเคยเสนอใน เรื่องของการที่จะให้มีการส่งผู้สังเกตการณ์ฝ่ายของประธานอาเซียนเข้ามา ฉะนั้นชั้นนี้ถือว่าเราได้รับทราบคำสั่งของศาล และจะมีการประชุมกันต่อไป ซึ่งกลไกที่จะเดินต่อไปหนีไม่พ้นการพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชา เรื่องการบริหารจัดการเพื่อการปฏิบัติต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากหารือฝ่ายความมั่นคงแล้ว ต้องมีการประชุมครม.ด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อันนี้จะเป็นประเด็นหนึ่ง ที่จะมีการสอบถามในที่ประชุมความมั่นคงอังคารนี้ ว่าจะต้องประชุมครม.หรือไม่ และในเชิงกฎหมายขั้นตอนที่จะดำเนินการจะเกี่ยวข้องกับใครอย่างไรบ้าง และช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อรัฐบาลด้วย หลังการประชุมเมื่อมีความชัดเจน คงจะมีโอกาสแถลงอย่างเป็นทางการกับพี่น้องประชาชนให้เป็นที่เข้าใจ
      
       เมื่อถามว่า ในมาตรการคุ้มครองชั่วคราวมีการระบุให้อาเซียนเข้ามาเป็นกลไกตรงนี้หมายถึง เดินหน้าเรื่องผู้สังเกตการณ์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สนับสนุนแนวทางที่อาเซียนเคยเสนอตัวเข้ามาในเรื่องของผู้สังเกตการณ์ ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่เราเคยยื่นเป็นเงื่อนไขว่า อยากให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว
      
       เมื่อถามว่า ผลผูกพันจะเป็นอย่างไร ถ้าไทยปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีผลผูกพันใดๆ ทั้งสิ้นในเรื่องของอธิปไตย เพราะตัวคดีหลักต้องไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการชั่วคราว อันนี้ค่อยข้างชัดเจนในคำสั่งที่มีออกมา
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลโลกระบุว่า ให้ไทยอำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายกัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ครับเฉพาะตัวที่จะเข้าไปตัวปราสาท ซึ่งยังไม่ทราบว่า ความจำเป็นจะมีอะไรบ้าง มันไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่อื่นๆ เมื่อถามว่า การถอนทหารจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาจีบีซีกันเรียบร้อยแล้วใช้ไหม นายอภิสิทธิ์ กล่าววา ต้องคุยกับทางกัมพูชา เพราะทางกัมพูชาต้องถอนทหาร ฉะนั้นในชั้นนี้ 2 ฝ่ายต้องพูดกันก่อน ซึ่งในระหว่างนี้จะยังไม่มีการถอนทหาร เพราะเป็นเรื่องที่สองฝ่ายต้องคุยกัน เพราะไม่อย่างนั้นถ้าปฏิบัติไปจะวุ่นวาย
      
       เมื่อถามว่า ตอนนี้กลไกคุยกันของ 2 ฝ่ายไม่เดินหน้าเท่าที่ควร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าเวทีจีบีซีเป็นเวทีที่เหมาะสมที่จะให้ 2 ฝ่ายมาพูดคุยกันว่า จะทำกันอย่างไร เมื่อถามว่า ผลที่ออกมาอย่างนี้คิดว่า ไทยเสียเปรียบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองไม่คิดว่าเสียเปรียบ เพราะประการแรกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ค่อมสันปันน้ำอยู่ แต่ตนยังไม่เห็นรายละเอียดในการที่จะเอาตัวพื้นที่ตรงนี้มาทาบลงกับข้อมูล อีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง แต่เบื้องต้นที่ได้คุยกับผบ.ทบ. ท่านบอกว่า ไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบ
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่บางจุดกินมาในพื้นที่ภูมะเขือ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังดูตรงนี้ทั้งหมด เมื่อถามว่า จีบีซีจะสามารถคุยได้ในช่วงนี้หรือไม่ หรือต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าการคุยคงคุยได้ ส่วนการตัดสินใจอะไรก็ต้องดูข้อกฎหมายอีกทีหนึ่งว่า ต้องเป็นอำนาจของใคร เมื่อถามว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศเคยคิดว่า ทางศาลไม่น่าจะพิจารณาเรื่องนี้ และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องดินแดน แต่ตอนนี้คำพิพากษาในลักษณะนี้ เท่ากับเขามาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยัง เพราะในตัวคำสั่งเขียนชัดว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องดินแดน เพียงแต่บอกว่า เมื่อทางกัมพูชายื่นให้มีการตีความ คำวินิจฉัยเมื่อ 2505 และพื้นที่ตรงนี้เกี่ยวข้องอยู่ เขาก็ออกเป็นคำสั่งมาตรการชั่วคราว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั้งกันระหว่างนี้
      
       เมื่อถามว่า เรื่องการถอนทหารเป็นที่เข้าใจว่า ไทยต้องการ แต่กรณีที่ศาลสั่งไม่ให้เราขัดขวางทางขึ้นปราสาทพระวิหาร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันเป็นหลักเฉยๆ เพราะปราสาทถูกตัดสินให้เป็นของกัมพูชา ฉะนั้นเขาต้องมีสิทธิไปที่ปราสาท แต่ถ้ามาผ่านดินแดนเราก็เป็นเรื่องของเรา เมื่อถามว่า แต่ทางขึ้นอยู่กับไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางขึ้นๆได้หลายทาง แต่เขาไมได้ระบุวิธีไหนที่จะขึ้น เมื่อถามว่า ถ้าผ่านไทยต้องขออนุญาตไทยก่อน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามีวิธีการบริหารจัดการ ไม่ใช่ที่จะบอกว่าใครไปทำอะไรก็ได้ ไม่อย่างนั้นจะยุ่งวุ่นวายไปกันใหญ่ และเขาพูดถึงเฉพาะตัวปราสาท ซึ่งเราไม่ทราบเหมือนกันว่า มันมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องลำเลียงของขึ้นไปยังปราสาท
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า เขาอาจอ้างการซ่อมแซมบูรณะตัวปราสาทได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่ได้ไปดูแล หรือคิดว่าอะไรเป็นอะไร แต่เบื้องต้นกัมพูชาต้องถอนทหารออกจากตรงนั้นก่อน เมื่อถามว่า ตรงนี้อาจเป็นจุดที่ทำให้กัมพูชาไม่พอใจ จนมีปัญหาอีกรอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเอาเรื่องไปที่ศาล เมื่อถามว่า เวลานี้ตามแนวชายแดนได้มีการกำชับอะไรไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกองทัพอยู่กับที่ เมื่อถามว่า คำพิพากษาออกมาแบบนี้ส่งผลอะไรต่อชายแดนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความมุ่งหมายของศาลเพื่อลดความตึงเครียดเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า เมื่อถามว่า คิดว่าความตึงเครียดจะลดหรือจะเพิ่มมากขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยู่ที่การปฏิบัติ ตนจึงเสนอว่า จำเป็นต้องพูดคุยบริหารจัดการกัน
      
       เมื่อถามว่า คำพิพากษาออกมาจะทำให้กัมพูชาฮึกเหิมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่จะฮึกเหิมได้อย่างไร เพราะทหารของเขาเองก็ต้องถอนออกจากปราสาท และพื้นที่อีกฝั่งหนึ่งของสันปันน้ำด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่า จะถอนทหารออกไปไกลขนาดไหนใช่ไหม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มี ศาลได้ขีดเส้นไว้ แต่ขั้นตอนการถอนทหารไม่เหมือนกับการเดินเล่น ซึ่งอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องพูดคุยกัน และกำหนดให้ชัดว่า ถ้าจะทำตามนี้ ใครจะออกเวลาไหนอย่างไร และเราต้องมีวิธีการป้องกันไม่ให้มีการเอาคนที่เป็นทหารแล้วแฝงตัวว่า ไม่เป็นทหารเข้าไปอีก อย่างไรก็ตามคิดว่า กลไกการปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นขณะนี้ต้องพูดคุยกันว่า แนวทางเป็นอย่างไร เวลานี้เราเห็นแต่ตัวแผนที่ยังไม่ได้ทาบลงกับหลายข้อมูลที่เราจะต้องดู
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาดูเรื่องนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องเข้ามาต่อสู้คดีหลักจนถึงที่สุด และบริหารจัดการด้วยความระมัดระวัง ส่วนคำตัดสินของศาลพอใจในหน้าที่ไม่ได้เป็นไปตามคำขอของกัมพูชา 2 ประเด็นที่คิดว่า น่าพอใจคือ ไม่ได้เป็นไปตามคำขอของกัมพูชา เพราะกัมพูชาต้องถอนทหาร และพื้นที่ที่กำหนดค่อมสันปันน้ำ เมื่อถามว่า ผลผูกพันตรงนี้จะไปใช้ในเวทีมรดกโลกอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ไปไกลถึงขนาดนั้นคงต้องวิเคราะห์แนวทางกันก่อน ซึ่งแนวทางต่อไป 2 ฝ่ายต้องคุยกัน ไม่อย่างนั้นจะสับสน ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้ประเมินปฏิกิริยาของทางกัมพูชาว่า จะออกมาในรูปแบบไหน และคำของศาลโลกวันนี้เป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือมาตรการชั่วคราว




กต. แถลงผ่านเว็ปไซต์พอใจคำสั่งศาลโลก เกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวกำหนดพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว อ้างไทยเป็นสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก เดินหน้าเจรจาผ่านกลไกทวิภาคี เปิดทางรับผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย
      
      
       กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยผ่านเว็ปไซต์ว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำสั่งกรณีกัมพูชา ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
      
       1. ไทยพอใจกับคำสั่งของศาลที่ออกมาตรการชั่วคราวให้มีผลใช้บังคับกับทั้งสอง ประเทศ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลกที่ต้องการให้ศาลโลกออก มาตรการชั่วคราวที่บังคับให้ไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เพียงฝ่ายเดียว โดยศาลได้กำหนดให้มีพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว โดยให้ทั้งสองฝ่ายต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ รวมถึงการที่กัมพูชาต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยเรียกร้องและสอดคล้องกับท่าทีของไทยที่มีมาโดยตลอด ทั้งนี้ การมีพื้นที่ปลอดทหารดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการพิจารณาการตีความคำพิพากษาใน คดีปราสาทพระวิหารปี 2505 และจะไม่กระทบอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของไทย
      
       2. ศาลโลกยังมีคำสั่งให้กัมพูชาสามารถเข้า-ออกปราสาทพระวิหารเพื่อส่งกำลัง บำรุงให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารในปราสาทได้ และให้ทั้งสองประเทศหารือกันโดยใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ได้แก่ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ซึ่งเป็นการสะท้อนท่าทีของไทยที่ได้แจ้งกับนานาประเทศมาโดยตลอด
      
       3. นอกจากนี้ ศาลโลกยังขอให้ทั้งสองประเทศให้ความร่วมมือในกรอบของอาเซียนเพื่อให้ผู้ สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ปลอดทหารตามที่ศาลโลกได้ กำหนดไว้ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยได้เดินทางไปยัง พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว และอยู่ระหว่างการแจ้งผลการลงพื้นที่ดังกล่าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียทราบ
      
       4. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวอีกว่า ในเมื่อศาลโลกมีคำสั่งกำหนดพื้นที่ปลอดทหารแล้ว ชุดข้อตกลงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จึงหมดความหมายไปโดยปริยาย และจำเป็นต้องเอาคำสั่งของศาลโลกเป็นที่ตั้ง ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประกาศว่าเมื่อศาลโลกมีคำสั่งออกมาเช่นไร กัมพูชาก็จะยึดเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนและปราสาทพระวิหาร ต่อไป
      
       5. รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการต่อไปว่า ต้องรายงานผลการพิจารณาของศาลโลกให้นายกรัฐมนตรีทราบ และเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี รวมทั้งรายงานให้คณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาทราบด้วย สำหรับในรายละเอียดของการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลคงต้องมีการหารือระหว่าง หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
      
       นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวด้วยว่า ไทยกับกัมพูชาคงต้องมีการหารือกันภายในกรอบของ GBC ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยได้เสนอมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ ต่างประเทศอินโดนีเซียในเบื้องต้นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียแล้ว
      
       6. รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบคำถามเกี่ยวกับแผนที่ที่ศาลกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตชั่วคราวที่กำหนดไว้สำหรับการปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศาล ซึ่งจะต้องนำไปกำหนดจุดบนแผนที่ต่อไป
      
       7. ไทยเคารพข้อตัดสินของศาลโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ และไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติก็ต้องปฏิบัติตาม ในการนี้ ไทยและกัมพูชา รวมทั้งอินโดนีเซีย ต้องหารือกันเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำสั่งของศาลโลกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง