บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อสังเกตทางกฎหมาย เกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร อนุสัญญาโตเกียวและ MOUโดย

ข้อสังเกตทางกฎหมาย เกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร อนุสัญญาโตเกียวและ MOUโดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มติชนออนไลน์

R.P. Anand กล่าวว่า กฎหมายไม่ใช่เป็นสาขาความรู้ที่แน่นอนตายตัว (exact science) การมีความเห็นต่างกันในประเด็นข้อกฎหมายย่อมเป็นเรื่องปกติวิสัยของนัก นิติศาสตร์
ผู้เขียนหวังว่าการแสดงความคิดเห็นโดย สุจริตใจผ่านข้อเขียนนี้ ในเรื่อง "ร้อนๆ" นี้ จะนำไปสู่การอภิปรายทางวิชาการด้วย "เหตุผล" (Reason) ไม่ใช่ "อารมณ์" (Emotion)
เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีต่อไปในอนาคต



ประเด็นเรื่องการยอมรับแผนที่
ประเด็น ข้อกฎหมายที่สำคัญที่สุดและสร้างข้อโต้เถียงมากที่สุดคือ เรื่องการยอมรับแผนที่ที่ทำโดยฝรั่งเศส เรื่องนี้เป็น "หอกข้างแคร่" ของประเทศไทยมานาน ตั้งแต่การต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก เมื่อ พ.ศ.2505 จวบจนทุกวันนี้ ประเด็นเรื่องแผนที่ก็ยังตามมาหลอกหลอนเหมือนเดิม
ประเด็นเรื่องการยอมรับแผนที่หรือไม่แบ่งออกเป็นสองความเห็น คือ
ความเห็นแรก ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ดังกล่าวเลย ตั้งแต่แผนที่นี้ได้ถือกำเนิด
กับความเห็นที่สอง ไทยยอมรับแผนที่แล้ว
ผู้เขียนเห็นว่าคำตอบของปัญหาที่ว่า ไทยยอมรับแผนที่เจ้าปัญหานี้หรือไม่ พิจารณาได้จากเหตุผลที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลโลก
โดย ผู้เขียนจะขออ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร "Case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand). Merits, Judgment of 1.5 June 1962: I.C.J. Reports 1962, p. 6."
ใน คำพิพากษานี้ ศาลโลกกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายคือทั้งไทยและฝรั่งเศสอยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธแผนที่ได้ตั้งแต่ เมื่อได้รับแผนที่ เนื่องจากแผนที่นี้มิได้เป็นการทำแผนที่โดยคณะกรรมการปักปันเขตแดน และฝ่ายไทยไม่เคยยอมรับแผนที่อย่างเป็นทางการ แต่ไทยก็มิได้ยอมรับหรือปฏิเสธแผนที่ (ดูหน้า 20 และ 21)
อย่าง ไรก็ดี มีข้อความอยู่หลายตอนที่ศาลโลกเห็นว่า การกระทำหรือความประพฤติของฝ่ายไทยเท่ากับเป็นการยอมรับแผนที่แล้ว การยอมรับแผนที่นี้มิได้เป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการ (officially) แต่เป็นการยอมรับโดยการกระทำ (by conduct)
โดยผู้เขียนขออ้างข้อความในคำพิพากษาโดยจะระบุเลขหน้ากำกับ เช่น หน้า 23 ศาลกล่าวว่า
"...an acknowledgment by conduct was undoubtedly made in a very definite way..." และหน้า 24 "That the Siamese authorities. by their conduct acknowledged the receipt, and recognized the character of these maps. and what they purported to represent, is shown by the action of the Minister of the Interior, Prince Damrong..."
และ แผนที่นี้ก็ผ่านตาผู้ใหญ่หลายท่านด้วย โดยศาลโลกกล่าวไว้ในหน้าที่ 25 "...the maps were seen by such persons as Prince Devawongsc, the Foreign Minister, Prince Damrong, the Minister of the Interior, the Siamese members of the First Mixed Commission, the Siamese members of the Commission of Transcription; and it must also be assumed that the Annex I map was seen by the Governor of Khukhan province,the Siamese province adjoining the Preah vihear region on the northern side..."
นอก จากนี้ การกระทำที่ศาลเห็นว่าเป็นการยอมรับโดยปริยายได้แก่ การร้องขอแผนที่เพิ่มการไม่ยอมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจดูความถูกต้องของ แผนที่ การที่กรมแผนที่ทหารได้ผลิตแผนที่ขึ้นมา และแผนที่ที่ทำโดยกรมแผนที่ทหารได้แสดงปราสาทพระวิหารอยู่ในดินเแดนกัมพูชา
โดยศาลโลกกล่าวในหน้า 28 ว่า
"...she even, as has been seen, produced a map of her own in 1937 showing Preah Vihear as being in Cambodia. That this map may have been intended for internal military use does not seem to the Court to make it any less evidence of Thailand"s state of mind"
และศาลกล่าวในหน้า 32 ว่า
"the Court would consider, in the light of the subsequent course of events, that Thailand is now precluded by her conduct from asserting that she did not accept it. She has, for fifty years, enjoyed such benefits as the Treaty of 1904 conferred on her, if only the benefit of a stable frontier..."
แต่ประโยคที่สำคัญที่สุดอยู่ในหน้า 32-33 คือ
"The Court however considers that Thailand in 1908-1909 did accept the Annex I map as representing the outcome of the work of delimitation, and hence recognized the line on that map as being the frontier line, the effect of which is to situate Preah Vihear in Combodian territory. The Court considers further that, looked at as a whole, Thailand"s subsequent conduct confirms and bears out her original acceptance, and that Thailand"s acts on the ground do not suffice to negative this. Both Porties, by their conduct, recognized the line and thereby in effect agreed to regard it as being the frontier line." และหน้า 35 ที่ว่า "Given the grounds on which the Court bases its decision, it becomes unnecessary to consider whether, at Preah Vihear, the line as mapped does in fact correspond to the true watershed line in this vicinity, or did so correspond in 1904-1908. or, if not, how the watershed line in fact runs."



พฤติกรรมเหล่านี้ที่ศาลโลกเห็นว่า ฝ่ายไทยได้ยอมรับแผนที่โดยปริยายแล้ว
นอก จากนี้ ข้อต่อสู้ของไทยยังขัดแย้งกันเอง คือ ไทยต่อสู้ว่า ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ หรือแม้ว่าจะยอมรับแผนที่ก็ยอมรับแผนที่โดยสำคัญผิด (It is further contended by Thailand that she never accepted this map or the frontier line indicated on it,...or, alternatively that, if she did accept the map, she did so only under, and because of a mistaken belief, หน้า 21)
และ ในหน้า 33 ที่ว่า "she believed that the map line and watershed line coincided, and therefore that if she accepted the map line, she did so only in that belief..."
เมื่อ อ่านข้อความที่คัดมาจากคำพิพากษาของศาลโลก ย่อมเป็นวิจารณญาณของผู้อ่านว่าแล้วจริงๆ ศาลโลกเห็นว่า ไทยยอมรับแผนที่ดังกล่าวหรือไม่




การตีความคำพิพากษาของศาลโลก
บท บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการตีความคำพิพากษาของศาลได้แก่ ธรรมนูญของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา 60 ซึ่งบัญญัติว่า "คำพิพากษาของศาลเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลต้องตีความตามคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"
และ ข้อที่ 98 ของ Rules of Court ของศาลโลกที่แบ่งวิธีการร้องขอให้ศาลโลกตีความออกเป็นสองวิธีคือ การยื่นคำร้องให้มีการตีความฝ่ายเดียว (an application) กับการแจ้งให้ทราบว่ามีการทำความตกลงพิเศษ (notification of a special agrcement) กับรัฐคู่พิพาทเพื่อให้ศาลโลกตีความ
อย่างไรก็ดี ศาลจะรับคำร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลโลก
อนึ่ง ในคำพิพากษาของคดีปราสาทพระวิหารมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนคือ ในส่วนที่เป็นบทปฏิบัติการข้อที่ 2 ที่เขียนว่า "ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้รักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือ บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา" (that Thailand is under an obligation to withdraw any military or police forces, or other guards or keepers, stationed by her at the temple, or in its vicinity on Combodian territory.)
ประเด็นก็คือในวลีที่ว่า "in its vicinity on Cambodian territory." มีขอบเขตอยู่ตรงไหน



สถานะทางกฎหมายของคำเห็นแย้ง (Dissenting opinion)
ความ เห็นแย้งของผู้พิพากษา (Dissenting opinion) คือ การแสดงความเห็นหรือเหตุผลทางกฎหมายของผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะตัดสินคดี ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินคดีของผู้พิพากษาเสียงข้างมาก โดยผู้พิพากษาที่ไม่เห็นด้วยนั้นอาจไม่เห็นด้วยทั้งในส่วนที่เป็น "คำตัดสิน" (dispositif) และ/หรือเหตุผลทางการกฎหมาย (Legal reasoning) ของผู้พิพากษาส่วนใหญ่ ความเห็นแย้งนั้นมีที่มาจากระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งการพิจารณาคดีของศาลโลกก็ยอมรับวิธีการทำความเห็นแย้งด้วย (โปรดดู มาตรา 7 (ii) Resolution concerning the Internal Judicial Practice of the Court 12 April 1976)
สำหรับคุณค่าของความเห็นส่วน ตน (Separate opinion) และความเห็นแย้งนั้น R.P. Anand เห็นว่า ความเห็นแย้งไม่สามารถลดความผูกพันหรือการยอมรับนับถือ (Authority) ของคำพิพากษาได้ (ดู Anand, R.P., Rloe of Individual and Dissenting Opinions in International Adjudication, The International and Comparative Law Quarterly, Vol. 14, Issue 3 (July 1965). p.794) ส่วน J.G. Merrills เห็นว่า ความเห็นแย้งเป็นความเห็นทางกฎหมายที่ไม่ได้มีการยอมรับในสิ่งที่ศาลได้ วินิจฉัย (lack the authority of the Court"s pronouncement)2 (ดู Merrills, J.G., Images and Models in the World Court: The Individual Opinions in the North Sea Continental Shelf Cases, Moderm Law Review, Vol. 41, Issue 6 (November 1978), p. 638) แต่ความเห็นแย้งนี้ก็มีคุณูปการต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดย Hersch Lauterpacht อดีตผู้พิพากษาศาลโลกเห็นว่า ความเห็นแย้งนี้มีช่วยในการอธิบายและพัฒนาหลักกฎหมายระหว่างประเทศได้
ส่วน ประเด็นที่ว่า "ความเห็นแย้ง" นั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "คำพิพากษา" หรือไม่นั้น ใน Rules of Court (1978) ข้อที่ 95 (1) กำหนดว่า คำพิพากษาจะต้องมีสิ่งเหล่านี้ วันที่อ่านคำพิพากษาชื่อของผู้พิพากษาที่ร่วมตัดสินคดี ชื่อคู่ความ ชื่อของตัวแทน และทนายของคู่ความ ข้อสรุปโดยย่อของกระบวนวิธีพิจารณา ข้อเรียกร้องของคู่ความ ข้อเท็จจริง เหตุผลทางกฎหมาย บทปฏิบัติการหรือประเด็นที่ศาลตัดสิน คำตัดสินเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย (หากมี) จำนวนและชื่อผู้พิพากษาที่ตัดสินฝ่ายข้างมาก
แต่ใน ข้อ 95 (2) ก็ยอมรับว่า ผู้พิพากษาท่านใดที่ประสงค์จะไม่เห็นด้วยกับความเห็นของฝ่ายข้างมากก็สามารถ ทำความเห็นแย้งได้ หากพิจารณาจาก Rules of Court (1978) ข้อที่ 95 (1) แล้วมิได้กำหนดว่า คำพิพากษาต้องมีความเห็นแย้ง
อย่าง ไรก็ดี ความเห็นแย้งมีประโยชน์ในการช่วยในการทำความเข้าใจภาพรวมของคำพิพากษาได้รอบ ด้านมากขึ้น และเป็นวิธีการหนึ่งที่ให้สาธารณชนได้รับทราบว่าเหตุผลทางกฎหมายของผู้ พิพากษาที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก
แต่ ความเห็นแย้งก็มิได้เป็นผลมาจากการลงมติของผู้พิพากษาที่เป็นองค์ประชุมใน การตัดสินคดีแต่อย่างใด กล่าวโดยย่อแล้ว ความเห็นแย้งเป็น "การอุทธรณ์ทางเหตุผลปัญญาในอนาคต" (appeal to the intellect of tomorrow)



สถานะทางกฎหมายของหนังสือของรัฐบาลไทย มีผลกระทบต่อความเป็นที่สุดของคำพิพากษา (res judicata) หรือไม่
ตาม ธรรมนูญของศาลโลก มาตรา 60 ระบุว่า คำพิพากษาของศาลโลกนั้นมีผลผูกพันทางกฎหมาย และเป็นคำพิพากษาที่เสร็จเด็ดขาดคือ (res judecata) ไม่มีการอุทธรณ์ต่อไปอีก หลักความเป็นที่สุดของคำพิพากษา (Finality) ในเรื่องความเป็นที่สุดของคำพิพากษาของศาลโลกนั้น มีประเด็นที่สำคัญอย่างน้อยสองประเด้นที่ควรกล่าวถึง ดังนี้
ประเด็น แรก หมายความของคำว่า "the judgment is final" หรือ res judicata หมายความว่าอย่างไร ศาลโลกได้มีโอกาสย้ำถึงความเป็นที่สุดของคำพิพากษาไว้หลายคดี คือ คดี Corfu Channel case โดยคดีนี้ศาลโลกมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1949 ให้รัฐบาลอัลเบเนียชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐบาลอังกฤษ แต่รัฐบาลอัลเบเนียปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกๆ จึงมีคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 15 ธันวาคมในปีเดียวกัน
โดย ศาลโลกได้กล่าวว่า "...ธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60 รับรองว่าคำพิพากษาของศาลนั้นเป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์ ดังนั้น เนื้อหาของคำพิพากษาจึงเสร็จเด็ดขาด (res judicata) (ดู The Corfu Channel case, I.C.J. Reports Deccmber 15th, 1949,p.248. The World Court ruled that "...the Statute (Article 60), which, for the settlement of the present dispute, is binding upon the Albanian Government, that Judgment is final and without appeal, and that therefore the matter is res judicata.") และในคดี Barcelona Traction case ศาลโลกก็ได้ยืนยันถึงความผูกพันและความเป็นที่สุดของคำพิพากษาอีกครั้ง
ประเด็น ที่สอง ส่วนใดของคำพิพากษาของศาลที่เสร็จเด็ดขาด (res judicata) ในประเด็นนี้ Herman Mosler เห็นว่า res judicata จำกัดเฉพาะบทปฏิบัติการหรือ Opetative part เท่านั้น แต่ส่วนอื่นๆ ก็จะต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วยเพื่อกำหนดขอบเขตของบทปฏิบัติการ (ดู Hermann Mosler, Judgment of International Courts and Tribunals, Encyclopedia of International Law, p.116)
คำถามมีว่า หนังสือที่ลงนามโดยท่าน ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทย วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2505 (ค.ศ.1962) ที่มีไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ โดยข้อความตอนท้ายของหนังสือมีว่า
"รัฐบาล ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่ง สิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต..." จะกระทบต่อหลักความเป็นที่สุดของคำพิพากษาหรือไม่
นอก จากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าคิดต่อไปว่า ขนาดประเทศไทยเคยเสนอให้มีการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกัน ฝ่ายกัมพูชายังยืนกรานว่าเป็นไปไม่ได้
แล้วการจะเรียกปราสาทพระวิหารกลับคืนทั้งปราสาท จะเป็นไปได้หรือ



อนุสัญญาสัญญาโตเกียวยังมีผลใช้บังคับอยู่หรือไม่
ขณะ นี้เริ่มมีประเด็นที่เกี่ยวกับอนุสัญญาโตเกียวว่ายังมีผลใช้บังคับอยู่ และมีการเรียกร้องให้นำอนุสัญญามาใช้แทนที่สนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างสยาม กับฝรั่งเศส ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 อันจะเป็นผลให้ประเทศไทยได้มณฑลพลบูรพากลับคืนมา
ก่อนที่จะตอบประเด็นนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงสถานะทางกฎหมายของสนธิสัญญาเขตแดนเสียก่อนว่ามีลักษณะอย่างไรตามกฎหมายระหว่างประเทศ
สนธิ สัญญากำหนดเขตแดนเป็นสนธิสัญญาที่มีลักษณะพิเศษในตัวเองแตกต่างจากสนธิสัญญา อื่นๆ ในแง่ที่ว่า เมื่อรัฐได้เจรจาตกลงที่จะทำสนธิสัญญากำหนดเขตแดนกันแล้วและสนธิสัญญามีผล ผูกพันรัฐภาคีแล้ว รัฐภาคีต้องผูกพันสนธิสัญญาดังกล่าว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ปฏิบัติตาม หรือขอแก้ไขฝ่ายเดียวโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมไม่ได้ และแม้อีกฝ่ายหนึ่งจะอ้างว่าสนธิสัญญากำหนดเขตแดนไม่มีผลผูกพันตนเพราะว่า สนธิสัญญานั้นกระทำในนามของรัฐเจ้าอาณานิคมที่มาปกครองตนขณะที่รัฐนั้นยัง ไม่ได้เป็นเอกราชเพราะตกเป็นเมืองขึ้น
เช่น กรณีของประเทศกัมพูชา ที่สยามทำสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1904 และ ค.ศ.1907 ขณะนั้นกัมพูชายังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่ ดังนั้น สนธิสัญญากำหนดเขตแดนจึงไม่มีผลผูกพันกัมพูชา
ข้ออ้างแบบนี้ไม่สามารถอ้างได้เนื่องจากรัฐใหม่ (กัมพูชา) ย่อมสืบสิทธิแทนที่รัฐเก่า (ฝรั่งเศส)
นอก จากนี้ เมื่อมีการทำสนธิสัญญาเขตแดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาจะขอแก้ไขหรือยกเลิกสนธิสัญญานี้ฝ่ายเดียวไม่ได้ หลักกฎหมายข้อนี้ของสนธิสัญญาเขตแดนเรียกว่า "หลักความเป็นที่สุดของสนธิสัญญา" หรือ Finality และ "หลักความต่อเนื่องของสนธิสัญญา" หรือ Continuity
วัตถุ ประสงค์สำคัญของหลักความเป็นที่สุดและหลักความสืบเนื่องของสนธิสัญญากำหนด เขตแดนมีไว้เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพทางเขตแดนระหว่างประเทศ (Stability)
หาก ไม่มีสองหลักกฎหมายนี้แล้ว ความมีเสถียรภาพทางเขตแดนก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะว่า รัฐก็จะมีข้ออ้างต่างๆ นานา เพื่อที่จะไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญากำหนดเขตแดนตามที่ได้ตกลงกันไว้หากสนธิ สัญญานั้นก่อให้เกิดความเสียเปรียบหรือตนเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์ อันก่อให้เกิดผลที่ตามมาว่าคือปัญหาความขัดแย้ง (Friction) ตามแนวพรมแดนและอาจนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารอันจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่น คงระหว่างประเทศได้ ดังเช่นเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา
นอก จากนี้แล้ว สนธิสัญญากำหนดเขตแดนยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งว่า แม้จะเกิดสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก (Fundamental Change) หลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาแล้วก็ตาม ซึ่งสภาวการณ์ที่ว่านี้ หากเกิดขึ้นกับสนธิสัญญาทั่วๆ ไปแล้ว รัฐภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้เป็นมูลเหตุหรือข้ออ้างเพื่อให้สนธิสัญญาดัง กล่าวสิ้นผลผูกพันได้
แต่ข้ออ้างเรื่องสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนี้ ไม่อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างที่จะยกเลิกสนธิสัญญาเกี่ยวกับเขตแดนได้
ดัง นั้น สนธิสัญญาโตเกียวจึงมิอาจมาลบล้างหรือยกเลิกหรือแทนที่สนธิสัญญาที่ทำขึ้น ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 ได้เลย
จริงๆ แล้ว อนุสัญญาโตเกียวเป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นที่ขณะนั้นเป็นมหาอำนาจได้เข้ามา ขยายอิทธิพลของตนเองสู่เอเชียโดยการเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสงคราม ไทย-ฝรั่งเศสที่มีสาเหตุมาจากการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส
ซึ่ง ผลจากการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นเป็นผลไทยได้ดินแดนต่างๆ กลับคืนมาดังนี้คือ ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชา
ต่อมาไทยได้เอาดินแดนที่ได้จาก ฝรั่งเศสครั้งนี้มาแบ่งแยกเป็น 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดจำปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง
หลัง จากที่ฝ่ายญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสก็มาเรียกร้องดินแดนที่เสียไปโดยผลของอนุสัญญาโตเกียวคืนจากไทยอีก ครั้งหนึ่งโดยผลของสนธิสัญญาวอชิงตัน ในปี ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489)
โดย ข้อ 1 ของความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสหรือที่เรียกว่าสนธิสัญญา วอชิงตัน บัญญัติว่า "อนุสัญญาโตเกียวฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1941 ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสบอกปฏิเสธมาก่อนนั้น เป็นอันยกเลิกและสถานภาพก่อนอนุสัญญานั้นเป็นอันกลับสถาปนาขึ้น"
นอก จากนี้ ในรายงานของคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส-ไทย ลงวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ.1947 ข้อที่ 9 ก็ระบุว่า "...เพื่อคงไว้ซึ่งสถานะภาพเดิมก่อนอนุสัญญาลงวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1941 (หมายถึงอนุสัญญาโตเกียว) ซึ่งเป็นอันยกเลิกไปโดยความตกลงฝรั่งเศส-ไทย ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1946 (หมายถึงอนุสัญญาวอชิงตัน) นั้น ผู้แทนของคู่กรณีทั้งสองต่างได้แถลงบริบูรณ์แล้ว..." (โปรดดูรายละเอียดใน ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง พิมพ์ครั้งที่ 4 (2549), หน้า 452 เป็นต้นไป)
สรุปแล้ว อนุสัญญาโตเกียวมีผลใช้บังคับในเวลาสั้นๆ เพียงเกือบ 6 ปีเท่านั้น โดยอนุสัญญาโตเกียวถูกยกเลิกโดยผลของสนธิสัญญาวอชิงตันและมีผลทำให้ทั้งสอง ฝ่ายกลับคืนสู่สถานะเดิม (status qau) ก่อนที่จะมีการทำอนุสัญญาโตเกียว
ผลก็คือฝ่ายไทยต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศส



ข้ออ้างทางกฎหมายในการยกเลิก MOU
ประเด็น ที่ว่า สมควรมีการยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัด ทำหลักเขตแดนทางบก ปี พ.ศ.2543 หรือเรียกสั้นๆ ว่า MOU หรือไม่นั้นมิใช่เป็นประเด็นข้อกฎหมายโดยตรงแต่เป็นเรื่องทางการเมืองจึงไม่ ขอกล่าวถึงประเด็นนี้
แต่หากรัฐบาลจะบอกเลิก MOU ฉบับนี้ รัฐบาลจะหาเหตุ (grounds) อะไรมาเพื่อบอกเลิก MOU นี้ถือว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง ซึ่งผู้เขียนจะจำกัดเฉพาะประเด็นนี้เท่านั้นตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วย กฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับสนธิสัญญาเป็นการทั่วไปนั้น ได้กล่าวถึงการสิ้นสุดของสนธิสัญญาไว้ในมาตรา 56 ว่า สนธิสัญญาที่มิได้มีข้อบทเกี่ยวกับการบอกเลิกฝ่ายเดียว (Denunciation) หรือการถอนตัว (Withdrawal) ก็ไม่ตกอยู่ภายใต้การบอกเลิกฝ่ายเดียวหรือการถอนตัวได้เว้นแต่รัฐภาคีจะได้ มีเจตนาเช่นว่านั้นหรือสิทธิการบอกเลิกฝ่ายเดียวหรือการถอนตัวอาจจะถือได้ จากลักษณะของสนธิสัญญานั่นเอง และการบอกเลิกฝ่ายเดียวนี้ รัฐภาคีจะต้องแจ้งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งไม่น้อยกว่า 12 เดือน
ฉะนั้น เมื่อ MOU มิได้มีข้อบทเกี่ยวกับการบอกเลิกฝ่ายเดียวไว้ การใช้สิทธิบอกเลิกฝ่ายเดียวก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 56 แห่งอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969



การบอกเลิกฝ่ายเดียว ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตามมาตรา 190 หรือไม่
ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักร พุทธศักราช 2550 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ
แต่ การใช้สิทธิบอกเลิกฝ่ายเดียวตามมาตรา 56 อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 มิใช่เป็นการทำหนังสือสัญญาแต่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐที่เรียกว่า Unilateral act
จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 190 แต่ประการใด



บทส่งท้าย
ในท่ามกระแสความรักชาติและหวงแหนอธิปไตยอย่างรุนแรง
ข้อเขียนที่วนกระแสหลักชิ้นนี้คงจุดประเด็นให้มีการถกเถียงด้วยเหตุผลทางวิชาการ (ไม่ใช่อารมณ์) อย่างรอบด้านมากขึ้น
ผู้เขียนต้องการเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ


Vihokratree Khonsurin

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง