บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

อัษฎา ชัยนาม’ แฉเล่ห์เขมร-กลโกงมรดกโลกและยูเนสโก

อัษฎา ชัยนาม’ แฉเล่ห์เขมร-กลโกงมรดกโลกและยูเนสโก



- กล่าวได้ว่าการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งพิจารณาเรื่องการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก ที่ประเทศบราซิล เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำให้เรื่องเขาพระวิหารกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คนไทยจำนวนไม่น้อยต่างออกมาชุมนุมคัดค้านการขึ้นทะเบียนของฝ่ายกัมพูชา อีกทั้งเมื่อ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัดสินใจลงนามร่วมกับกัมพูชา รับมติ 5 ข้อของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ก็ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างหนักว่าการตัดสินใจของนายสุวิทย์ครั้งนี้ส่งผลให้ไทยพลาดพลั้งเสียท่ากัมพูชา
‘ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์’ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ดร.อัษฎา ชัยนาม’ อดีตเอกอัครราชทูตไทยผู้มากไปด้วยประสบการณ์ในการเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ไปร่วมเจรจากับคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ซึ่ง ดร.อัษฎา ได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังของการเจรจา เล่ห์เหลี่ยมของฝ่ายกัมพูชา รวมทั้งความ 2 มาตรฐานของยูเนสโกอย่างหมดเปลือกทีเดียว
**ทราบว่าท่านได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมเจราเรื่องประสาทพระวิหารกับคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศบราซิลด้วย
ครับผมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปชี้แจงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารต่อประเทศสมาชิกต่างๆ ที่เราเห็นว่ามีบทบาทสำคัญ ซึ่งกลุ่มแรกก็คือประเทศที่เราคิดว่าจะอยู่ในไอซีซี (คณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศ) กลุ่มที่ 2 คือคณะกรรมการมรดกโลก
ผมไปถึงก่อนการประชุม 3-4 วัน ผมก็ไปพบอธิบดีกระทรวงการต่างประเทศของบราซิล ซึ่งดูแลเรื่องวัฒนธรรม พอดีตัวอธิบดีต้องรีบเดินทางไปประเทศอังกอร่า ผมก็เลยคุยกับรองอธิบดี หลังจากนั้นผมก็ขอคุยกับ ชูลา เฟร์ไรรา รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของบราซิล ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการมรดกโลก โดยผมชี้แจงกับทั้งสองท่านว่าการที่คณะกรรมการมรดกโลกต้องการจะให้มีมรดกโลกทั่วโลกนั้นเป็นสิ่งที่ดี ประเทศไทยเราสนับสนุน แต่ว่า การจะให้ประเทศไหนได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิ อำนาจอธิปไตย หรือบูรภาพอาณาเขตของประเทศอื่น อย่างเช่นกรณีการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารนั้น ไทยก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่เรายอมไม่ได้ คือเราไม่ได้ต่อต้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่เรายอมไม่ได้ถ้ามากระทบอธิปไตยของเรา นอกจากนั้นยังบอกให้เขารู้ว่าไทยกับกัมพูชากำลังมีปัญหาเรื่องเขตแดนกันอยู่ ซึ่งจริงๆเขาก็พอรู้นะ
ประเด็นสำคัญคือผมก็บอกเขาว่ายูเนสโกกับคณะกรรมการมรดกโลกมันเกี่ยวพันกันมาก เพราะคณะกรรมการมรดกโลกตั้งขึ้นมาตามอนุสัญญาเกี่ยวกับมรดกโลก ซึ่งอนุสัญญานี้ยูเนสโกเป็นคนจัดการควบคุมทุกอย่าง นอกจากนั้นในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลก ตัวเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกก็คือศูนย์มรดกโลกซึ่งยูเนสโกเป็นคนดูแล และผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลกก็เป็นข้าราชการยูเนสโก เราก็บอกเขาว่าข้าราชการของศูนย์มรดกโลกซึ่งก็คือข้าราชการของยูเนสโกมีอำนาจมากเกินไป
นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนไทยอาจจะไม่เข้าใจ คือตามหลักการประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกเป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจตัดสิน คือกรรมการมาดกโลกมี 21 คน จาก21 ประเทศ แต่ในทางปฏิบัติแล้วฝ่ายเลขาคณะกรรมการมรดกโลกมีอำนาจสอดไส้เข้ามาเยอะ แนะนำโน่นแนะนำนี่ เพราะเขาเป็นคนจัดการอะไรเองหมด เอกสารเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกของเขมรเขาก็เป็นคนเขียนทั้งหมด
ประเด็นที่ 2 อีกกลุ่มที่มีอำนาจมากคือคณะกรรมการ 3 คณะ คือคณะกรรมการเกี่ยวกับมรดกโลกทางวัฒนธรรม คณะกรรมการมกดกโลกทางธรรมชาติ และคณะกรรมการมรดกโลกอีกคณะหนึ่ง ซึ่งตามหลักการ คณะกรรมการทั้ง 3 คณะนั้นมีหน้าที่ให้คำปรึกษาเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันมากกว่าให้คำปรึกษา เพราะว่ากว่าที่คณะกรรมการมรดกโลกจะตัดสินอะไร ในวิธีการทำงานของคณะกรรมการมรดกโลกก็เขียนไว้เลยว่าจะต้องคำนึงถึงความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาทั้ง 3 คณะนี้ เพราะฉะนั้นประเด็นที่ผมพูดให้ทางบราซิลเขาเข้าใจคือว่าข้าราชการของคณะกรรมการมรดกโลก ข้าราชการคณะกรรมการยูเนสโก และตัวผู้อำนวยการยูเนสโกเองซึ่งเป็นคนเขียนวาระการประชุมทั้งหมด พวกเขามีบทบาทมาก เขาชงเรื่องขึ้นมาหลายอย่าง ถ้าเราตามเกมไม่ทันก็ตกหลุมเขา
และก็พูดให้บราซิลฟังว่าคณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงบนโลกนี้ ซึ่งแต่ละประเทศนั้นรัฐมีอำนาจสูงสุด ไม่ใช่องค์กรระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นต่อไปในอนาคตเราต้องหาทางลดอำนาจของเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลก และคณะกรรมการที่ปรึกษาทั้ง 3 คณะ เพื่ออำนาจจะได้กลับมาสู่ผู้แทนของประเทศสมาชิก เพราะประเทศบราซิลเขาก็มีปัญหาว่าเขาจะขอนำสถานที่ของเขาขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่คณะกรรมการศึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกคัดค้าน บราซิลเขาก็ไม่พอใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพูดกับเขา ทางบราซิลเห็นด้วย 100% เลย
คือโดยสรุปเราก็เห็นด้วยกับการมีมรดกโลกแต่อย่ามาละเมิดอธิปไตยของเรา และชี้ให้เห็นถึงวิธีทำงานของคณะกรรการมรดกโลกที่มีอำนาจมากเกินไป
**ทราบว่าการส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกให้ประเทศสมาชิกพิจารณานั้นล่าช้ามาก ไม่เป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนด
ใช่ครับ ผมก็ชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการมรดกโลกไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตัวเองกำหนด ซึ่งข้อหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงกันมากคือตามระเบียบจะต้องส่งเอกสารให้ประเทศสมาชิกทั้ง 21 ประเทศซึ่งเป็นคณะกรรมการมรดกโลกก่อนการประชุมอย่างน้อย 6 สัปดาห์ แต่เขาส่งก่อนการประชุมแค่ 1 วันเท่านั้น ซึ่งผิดกติกา และเราก็อยากพูดเรื่องนี้ในที่ประชุมแต่ทางบราซิลเขาไม่ค่อยอยากให้พูด เราก็ถามเรื่องนี้กับคณะกรรมการ เขาก็บอกว่ากฎเกณฑ์เป็นอย่างนั้นจริงแต่บางฉบับเขาก็ส่งช้า ทางรัฐมนตรีสุวิทย์ (สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เขาก็พูดดี เขาบอกว่า..อ้าว ! ถ้าอย่างนั้นจะตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาทำไม กรรมการก็บอกก็ประเทศสมาชิกมีความสุขที่จะอะลุ้มอล่วยซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นโต้แย้งของเราที่มีน้ำหนัก เราก็บอกว่าถ้าอย่างนี้ต่อไปมันจะมีปัญหา
**การเจรจาในที่ประชุมยากลำบากพอสมควร ?
ครับ จริงๆแล้วเจ้าหน้าที่คณะกรรมการมรดกโลกเขาจะให้ผมกลับตั้งแต่ตอนแรกแล้ว ผมก็บอกว่าเดินทางมาครั้งนี้ ผมเสียเงินของหลวงตั้ง 3-4 แสนนะ แล้วตำแหน่งของผมจะเป็นคนชี้แจงให้ชาวโลกเข้าใจปัญหาต่างๆ คุณทำไมไม่ให้ผมอยู่ แล้วจริงๆ ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตพหุภาคีนะ เพราะผมทำงานด้านนี้มาเป็นสิบๆ ปี เขาก็เลยให้ผมอยู่ต่อ ผมก็บอกว่าผมไม่ต้องมีตำแหน่งใหญ่โตอะไรหรอก เป็นแค่ที่ปรึกษาก็พอ ผมก็บอกว่าผมจะขอไปสังเกตการณ์เฉยๆ เราจะได้เข้าใจปัญหา
ตอนแรกก็มีปัญหาว่าไม่มีการแจกเอกสารของทางเขมร รัฐมนตรีสุวิทย์เขาก็ไปล็อบบี้ ไปหาผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกที่ปารีส ทำไปทำมา
เราก็ทราบว่าเอกสารยังไม่ได้แจก อันนี้ก็มีคนไปพูดกันเยอะว่ากัมพูชาไม่ยอมแจกเอกสาร แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ กัมพูชาเขาทำเสร็จตั้งแต่เดือน ก.พ.2553 เขาทำถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง แต่ว่าเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกดึงเรื่องไว้ คือเลขานุการฯเป็นคนรับเอกสารจากกัมพูชาไว้ แต่ผู้อำนวยการยูเนสโกไม่ยอมแจก เหตุผลที่ไม่ไม่ยอมแจกก็เพราะเขารู้ว่าเอกสารที่เขมรเขียนมันจะสร้างปัญหาให้กับไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการโต้เถียงในที่ประชุมใหญ่โต เขาก็เลยดึงเรื่องไว้
เขาก็เลยคุยกับคุณสุวิทย์และเปิดเผยว่า..นี่คือแผนที่ที่เขมรเสนอมา ไทยรับได้ไหม คุณสุวิทย์บอกรับไม่ได้.. เขาก็เลยไม่กล้าแจก เขาก็หวังให้เราเจรจากับเขมรก่อน แต่ทางกัมพูชาบอกว่ายังไงก็ต้องแจกเอกสารก่อนเพราะไม่อย่างนั้นกัมพูชาจะเสียชื่อ เดี๋ยวจะหาว่าเขมรดึงเรื่องไว้ คือเอกสารนี้แจกล่วงหน้าก่อนวันที่จะประชุมเรื่องพระวิหารแค่วันเดียว คือประชุมวันที่ 28 ก.ค. แจกเอกสารวันที่ 27 ก.ค. ทั้งๆ ที่ตามระเบียบเขาให้แจกล่วงหน้าก่อนการประชุม 6 สัปดาห์ เราก็ไม่พอใจ เราก็คุยกับที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของเขา เขาก็ชี้แจงว่าจริงอยู่ระเบียบเขียนไว้อย่างนั้น แต่เขาก็ละเมิดมาตลอด (หัวเราะ)
**แสดงว่ากรรมการมรดกโลกจากบางประเทศก็ไม่มีความเป็นกลาง
ใช่ อย่างเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกนี่เข้าข้างเขมรชัดเจน ชงเรื่องให้เขมรทุกอย่าง ขณะที่ผู้แทนจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็แย่มาก คนนี้เคยเป็นทูตประจำประเทศไทยและก็ดูแลเขมรด้วย คือดู 2 ประเทศเลย ผมได้ข่าวว่าเขาเที่ยวไปพูดกับประเทศโน่นประเทศนี้ ด่าประเทศไทยว่าไม่มีเหตุผล ซึ่งใช้ไม่ได้
**แล้วมติ 5 ข้อที่ไทยลงนามร่วมกับกัมพูชาในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าไทยพลาดท่าให้เขมร จริงๆ แล้วเป็นยังไง
คือจริงๆ แล้วเอกสารซึ่งที่ประชุมได้พิจารณา มีอยู่ 2 ฉบับ คือฉบับแรกเป็นเอกสารที่ทางเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกเขาสรุปจากสิ่งที่กัมพูชาเสนอ ส่วนฉบับที่ 2 เป็นเอกสารที่ได้แก้ไขตามข้อท้วงติงของไทยและกัมพูชาแล้ว ซึ่งก็คือมติ 5 ข้อที่มีการลงนามดังกล่าว
สำหรับฉบับแรกไม่ใช่เป็นเอกสารที่กัมพูชาทำ แต่เป็นการสรุปเอกสารที่เขมรทำโดยฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเขาพยายามช่วยกัมพูชา เพราะรู้ว่าถ้าเอาเอกสารที่กัมพูชาจัดทำมาเสนอ ต้องถูกคัดค้านอย่างหนักแน่ รายละเอียดของเอกสารฉบับนี้ก็เขียนว่ากัมพูชาได้ทำอะไรเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารบ้าง แล้วก็เอาแผนที่ให้ไทยดู เราก็รับไม่ได้ แผนที่อันนี้เขมรเขาก็บอกว่าเขาไม่แตะพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับไทยแล้วนะ แต่เขาเลื่อนไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งฝ่ายไทยก็ยังไม่เห็นด้วยเพราะมันก็ยังละเมิดพื้นที่ของไทยอยู่ดี
ประเด็นที่ผมอธิบายให้เขาฟังคือการละเมิดพื้นที่ของไทย ประชาชนไทยถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญของไทยก็ได้พิจารณาและมีมติแล้วว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทางบราซิลซึ่งเป็นประธานก็อยากให้มีการเจรจากัน เพราะไม่อยากให้ไทยกับกัมพูชาทะเลาะกัน โดยเสนอให้ไทยกับกัมพูชาเจรจาทวิภาคีกัน ทางฝ่ายเขมรก็ขอให้มีประธานในการเจรจาคือบราซิล แล้วขอให้มีรองประธานอีกคนหนึ่งคือหัวหน้าฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งเป็นพวกเขา ชื่อแมนดาริน แต่ไทยค้านว่าเอาประธานคือบราซิลคนเดียว เราไม่เอาเลขานุการฯ เพราะคนนี้เป็นพวกเขมร เขมรก็บอกงั้นก็ไม่เอา บราซิลเขาก็ยืนยันว่าอยากให้เจรจากัน สุดท้ายก็มีตัวแทนฝ่ายละ 3 คน โดยฝ่ายเขมรมี ซก อัน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา , นักกฎหมายซึ่งเป็นฝ่ายปราบปรามการคอร์รัปชั่น และ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ส่วนของไทยก็มี รัฐมนตรีสุวิทย์ คุณศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวผม ซึ่งบรรยากาศในการเจรจาก็ไม่ค่อยดี คุณสุวิทย์ยืนยันว่าไทยรับแผนที่นี้ไม่ได้ ทางเขมรก็พยายามจี้ว่า ทางที่ประชุมให้ไทยรับทราบเอกสารเท่านั้น ไม่ให้วิจารณ์อะไร แต่ผมแย้งว่าไม่ใช่อย่างนั้น และสรุปสุดท้ายเราก็ยืนยันว่าเรารับเอกสารนี้ไม่ได้
**อะไรที่นำไปสู่มติ 5 ข้อ
คือเมื่อการพิจารณาลงนามในเอกสารฉบับแรกไม่สำเร็จ ทางบราซิลเขาก็ไม่อยากให้มีการทะเลาะหรือแบ่งค่ายกัน เพราะเขมรเขาก็มีพรรคพวกของเขา ก็เลยให้มีการร่างเอกสารฉบับที่ 2 นี้ขึ้นมา เราเองคิดว่า..ถูกหรือเปล่าไม่รู้นะ คิดว่าถ้ามีการโหวตว่าจะเอาเอกสารนี้หรือเปล่า ไทยน่าจะชนะ ตอนนั้นก็มีการเสนอว่าขอให้โหวตลับได้ไหม จะได้ไม่รู้ว่าประเทศไหนโหวตว่าอะไรเพราะมันมีประเทศที่เห็นใจทั้งไทยและกัมพูชา เราก็ตกลง แต่สุดท้ายก็ไม่มีการโหวต จากนั้นบราซิลก็ไปคุยกับเขมรและก็ตัดบางประเด็นในเอกสารออก ซึ่งเอกสารนี้ตอนแรกมี 7 ข้อนะ โดยเนื้อหาโดยรวมของเอกสารก็คือที่ประชุมมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ และคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป มันเป็นเอกสารที่จะบอกว่าปัญหาเรื่องนี้มันมีฐานะอย่างไร แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อปัญหาเรื่องนี้
**แล้วความหมายของมติทั้ง 5 ข้อคืออะไร
คือต้องเข้าใจนะว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องระหว่างไทยกับเขมรเท่านั้นนะ แต่มันเป็นเรื่องของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศ เพราะฉะนั้นไทยกับเขมรเจรจาจนถึงขั้นตกลงกันได้ อีก 19 ประเทศก็พอใจ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้มันก็ต้องเลือกข้าง เพราะฉะนั้นมันเป็นการทูตหลายฝ่าย ไม่ใช่การทูต 2 ฝ่าย นอกจากนั้นมันมีกฎเกณฑ์วิธีทำงาน ซึ่งสมาชิกต้องปฏิบัติตาม และต่อจากนี้สถานะของเขมรจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม คือจริงๆ มติมี 7 ข้อ แต่เราขอตัดบางข้อออกไป เหลือแค่ 5 ข้อ
7 ข้อ ดังกล่าวก็คือ ข้อที่ 1 ระบุว่าประเทศสมาชิกได้มีการศึกษาข้อมูลในเอกสาร โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารซึ่งทางเลขาคณะกรรมการมรดกโลกสรุปรายงานที่กัมพูชาเสนอมา ซึ่งคำว่า ‘ได้ศึกษา’ เนี่ยไทยรับไม่ได้เพราะมันหมายความว่าเรายอมรับสิ่งที่เขาเสนอเพราะเราได้ผ่านการศึกษามาแล้ว เราจึงขอเปลี่ยนจากคำว่า ‘คณะกรรมการได้ศึกษา’ เป็น ‘คณะกรรมการได้รับเอกสาร’ ซึ่งอันนี้เป็นคำกลางๆ หมายความว่าแค่ได้รับเอกสารแต่ไม่ได้มีการศึกษา ส่วนข้อที่ 2 ก็เป็นการอ้างถึงมติเก่าๆ ไม่มีอะไร ไม่มีปัญหา เราก็ปล่อยผ่าน
ข้อที่ 3 ตามที่กัมพูชาเสนอ เราขอตัดออก เพราะเป็นการบอกว่าเขมรได้ทำหนังสือเรื่องBumper Zone (พื้นที่กันชน) เราก็บอกว่ารับไม่ได้เพราะข้อนี้เกี่ยวกับสิทธิของเรา เราก็ขอตัดข้อนี้ออก ส่วนข้อ 4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพอใจที่เขมรได้ดำเนินการในด้านการจัดทำเอกสาร ซึ่งเราบอกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปกล่าวชมอะไรเขมร ก็ตัดออกไป แล้วเลื่อนข้อ 5มาเป็นข้อ 3 ซึ่งในข้อนี้เป็นการแจ้งให้ทราบว่าศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารจากรัฐภาคี ซึ่งในที่นี้ก็คือกัมพูชาแล้ว คือทางเขมรเขาต้องการแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าความจริงเขาได้ส่งเอกสารเข้ามานานแล้ว แต่ทางเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกไมยอมแจกให้ประเทศสมาชิก ตรงนี้ก็ไม่มีอะไรแค่ที่ประชุมรับทราบว่าเขมรส่งเอกสารมาจริง แต่ขอให้สังเกตว่าข้อนี้ระบุว่าศูนย์มรดกโลกแค่ได้รับเอกสารเฉยๆนะครับ แต่ไม่ได้พูดถึงว่าได้มีการแจกเอกสารนี้ในที่ประชุม มันแตกต่างกันนะ
คือตอนแรก เขมรต้องการให้เขียนว่าได้มีการแจกเอกสารนี้ในที่ประชุม แต่ไทยไม่ยอม เราบอกว่าเลขานุการมรดกโลกเซ็นรับเอกสาร แต่ไม่ยอมแจกในที่ประชุม เพราะถ้ามีการแจกเอกสารนี้ในที่ประชุมจริงไทยก็ต้องโต้แย้งว่าเรารับสิ่งที่เขมรเขียนไม่ได้
จากนั้นก็เลื่อนข้อ 6 มาเป็นข้อ 4แทน ข้อนี้เป็นเรื่องของการตั้งกรรมการไอซีซี(คณะกรรมการประสานงานนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของประสาทพระวิหาร) ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ยังไงกัมพูชาเขาก็ตั้งของเขา และตอนแรกเขาจะให้ไทยร่วมเป็นกรรมการในไอซีซีด้วย แต่ผมยืนยันว่าไม่เอา
**ตรงนี้มีการวิจารณ์กันมากว่าการที่ไทยไม่เข้าไปเป็นกรรมการร่วมในไอซีซีเท่ากับเปิดโอกาสให้เขมรทำอะไรได้ตามใจชอบ ซึ่งไทยจะเสียเปรียบ
ไม่หรอกครับ คือต้องรู้ว่าไอซีซีคืออะไร ไอซีซีคือคณะกรรมการที่คณะกรรมการมรดกโลกตั้งขึ้นมาเพื่อจะช่วยประเทศที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งในที่นี้ก็คือเขมร คือประเทศที่ด้อยพัฒนา ไม่มีเงิน ไม่มีสมองที่จะทำอะไรไอซีทีก็จะเข้าไปช่วยเพื่อให้ประเทศเหล่านี้สามารถที่จะพัฒนาสถานที่ของเขาเป็นมรดกโลก และช่วยประสานงาน ซึ่งยูเนสโกเสนอให้ไทยเข้าไปร่วมเป็นกรรมการในไอซีซีด้วยเพราะไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขึ้นทะเบียน ยูเนสโกมองว่าถ้าไม่มีไทยเข้าร่วมการดำเนินการต่างๆ ของไอซีซีก็จะลำบาก ดังนั้นความร่วมมือของไทยนี่สำคัญมาก แต่สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือถ้าไทยเข้าไปร่วมในไอซีซีจะเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเราอาจจะถูกละเมิดอธิปไตยได้
บางคนบอกว่าถ้าไทยเข้าไปเป็นกรรมการร่วมเราจะได้รู้ว่าเขมรจะทำอะไร และจะได้สามารถคัดค้านได้ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับวิธีการออกเสียง ถ้าตกลงว่าคณะกรรมการไอซีซีจะทำอะไรต้องได้รับฉันทามติจากกรรมการร่วม ถ้ามีประเทศหนึ่งประเทศใดไม่เห็นด้วยก็ทำไม่ได้ อย่างนี้ไทยจึงน่าจะเข้าไปร่วมในไอซีซี แต่ถ้าใช้มติเสียงส่วนใหญ่มันก็เสี่ยงที่ไทยจะเสียเปรียบ เพราะถ้าประเทศที่ร่วมเป็นกรรมการในไอซีซีส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเขมร โหวตยังไงเราก็แพ้
นอกจากนั้นในข้อนี้ยังระบุว่าเป็นการตั้งคณะกรรมการไอซีซีเพื่อการอนุรักษ์ประสาทพระวิหาร ซึ่งแปลว่าไม่เกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทนะ คณะกรรมการนี้จะดำเนินการใดๆ ก็ตามเฉพาะในส่วนของตัวปราสาท จะมาดำเนินการในพื้นที่โดยรอบซึ่งไทยกำลังมีปัญหากับเขมรไม่ได้ คือตอนแรกกัมพูชาเขียนว่าตั้งกรรมการชุดนี้เพื่ออนุรักษ์พระวิหารและสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น แต่เราคัดค้าน เราขอแก้เป็นอนุรักษ์เฉพาะตัวปราสาทพระหารเท่านั้น คือรายละเอียดเล็กๆ น้อยนี่สำคัญนะ ตรงนี้ต้องถือว่าฝ่ายไทยเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
สุดท้าย ข้อที่5 ซึ่งเลื่อนขึ้นมาจากข้อ7 เป็นการกำหนดให้มีการพิจารณาเอกสารที่ทางกัมพูชาเสนอแผน ในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นแค่การพิจารณานะ ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการจะยอมรับสิ่งที่กัมพูชาจะเสนอในอนาคต ถึงเวลาเราก็คัดค้านต่อไปได้ เพราะตรงนี้เราเขียนเป็นอย่างอื่นไม่ได้นะ ตอนแรกเราคิดว่าจะเสนอให้เอกสารนี้ตกไปเพราะเขมรเสนอช้า แต่กลับเป็นว่าเขมรไม่ได้ส่งช้า แต่ทางเลขาคณะกรรมการมรดกโลกไม่ยอมเอามาแจกเอง นอกจากนั้นตอนแรกทางเขมรเขาเสนอว่าจะยื่นเสนอแผนในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ตอนหลังก็แก้เหลือแค่ 1 ปี ซึ่งก็เป็นเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับเรา
แต่มติข้อ 5 หลายๆ ฝ่ายไม่เข้าใจ รวมทั้งข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของไทยบางคนด้วย เขาก็บอกว่าอย่างนี้แปลว่าในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกปีหน้าไทยก็ถูกบังคับว่าต้องมีความเห็นยอมรับข้อเสนอของเขมร ซึ่งจริงๆไม่ใช่
ต้องเรียนเลยตามตรงว่ากว่าจะได้ออกมาเป็น 5 ข้อนี้ ไม่ใช่ง่ายๆนะ เพราะกว่าจะตกลงกันได้นี่เขมรก็ยื้อน่าดู คือมันเป็นเรื่องของเทคนิคที่แต่ละฝ่ายจะหยิบมาสู้กัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ บราซิล ซึ่งเป็นประธานเขาก็เลยให้มีการแก้ไขรายละเอียดในมติ แล้วก็ให้เขมรดู เขมรพอใจไหม…เอ้า พอใจ เขาก็มาให้ไทยดู พอใจไหม ไม่พอใจเราก็แก้ พอแก้แล้วยังไม่ได้ข้อยุติเขาก็เชิญผมกับตัวแทนฝ่ายเขมรไปคุย บราซิลเขาก็จี้ว่าฝ่ายเขมรนี่ดึงเรื่องมาก เขาบอกเลยว่าถ้าไม่ตกลงกันเนี่ยรัฐมนตรีของบราซิลซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมจะกลับบ้านแล้วนะ เขมรก็เลยตกลงตามมติสุดท้าย ซึ่งก็ออกมาเป็นมติ 5 ข้ออย่างที่เห็น
**ถ้าไทยไม่เซ็นยอมรับมติดังกล่าวจะได้ไหม
ถ้าเราไม่เซ็นรับทราบ ก็ต้องมีการออกเสียงกัน ซึ่งไม่ใช่ออกเสียงในมติ 5 ข้อนะ แต่เป็นมติ 7 ข้อที่ทางกัมพูชาเสนอเข้ามา และไม่แน่ว่าเราอาจจะแพ้ก็ได้ นอกจากนั้นนานาชาติก็จะมองว่าไทยไม่มีเหตุผล ซึ่งจริงๆ แล้วกว่าจะได้ข้อสรุป 5 ข้อได้ บราซิลซึ่งเป็นประธานนี่แทบจะจี้คอหอยเขมรเลย คือเขมรจะไม่ยอม เพราะหลายประเด็นไม่เป็นไปอย่างที่เขาเสนอ แต่เราเห็นแล้วว่าเราได้ประโยชน์เราก็ตกลง พอตกลงกันได้ปุ๊บทางบราซิลเขาก็กลัวว่าเขมรกับไทยจะเบี้ยว ก็เลยให้เขมรและไทยเซ็นรับทราบ ให้คุณสุวิทย์เซ็น ให้ซก อาน เซ็น คือเซ็นเพื่อให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ รับทราบว่าไทยกับเขมรตกลงกันแล้ว จะได้ไม่มีการถกเถียงกันอีก ซึ่งบราซิลเขาก็ได้ผลงานในแง่ที่ว่าสามารถทำให้ไทยกับเขมรตกลงกันได้อย่างสันติ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งในที่ประชุม
คือเป้าหมายหลักของคณะผู้แทนไทยที่ไปเจรจาในครั้งนี้คือเราต้องการบอกให้ชาวโลกรู้ว่าเรายอมไม่ได้ถ้ากัมพูชามีการเขียนแผนที่หรือพูดในทำนองรุกรานอธิปไตยของไทย ซึ่งชัดเจนว่าเราบรรลุเป้าหมาย
ประชุมเสร็จรัฐมนตรีสุวิทย์ก็โทร.รายงานนายกฯอภิสิทธิ์กลางดึกเลย คุณอภิสิทธิ์ก็ขอบคุณรัฐมนตรีสุวิทย์ และก็ขอพูดกับผมด้วย เขาก็ขอบคุณผมแล้วก็บอกว่าถ้าจำเป็นก็อยากให้ผมช่วยชี้แจงกับพวกเอ็นจีโอด้วย ผมก็บอกว่ายินดี เพราะผมก็เป็นมิตรกับเอ็นจีโอ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ออกมาคัดค้านกัมพูชา ด้วย ซึ่งเราถือว่าคนกลุ่มนี้คือแนวร่วมของเรา ในทางการทูตก็ถือว่าเป็นการทูตคู่ขนาน บางสิ่งที่รัฐบาลไม่กล้าพูด เช่น ด่าเขมรแรงๆ เอ็นจีโอก็พูดแทนได้ กลุ่มนี้สร้างอำนาจต่อรองให้ไทยได้ ครั้งนี้มวลชนก็สร้างอำนาจต่อรองให้รัฐมนตรีสุวิทย์ ทางประเทศสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลกเขาดูข่าวทางอินเทอร์เน็ต เขาก็เห็นว่าประเด็นเขาพระวิหารทำให้เมืองไทยกำลังจะลุกเป็นไฟ เขาก็กล้าสนับสนุนกัมพูชา
**สุดท้ายถ้ามีการบล็อกโหวตกัน คณะกรรมการมรดกโลกไปเข้าข้างกัมพูชา และมีมติเห็นชอบตามที่กัมพูชาเสนอ ฝ่ายไทยไม่ยอมรับมติของคณะกรรมการมรดกโลกจะได้ไหม
ได้ครับ เพราะคณะกรรมการมรดกโลกไม่มีอำนาจเหนืออธิปไตยของประเทศต่างๆ แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ๆเราจะไม่ยอมรับมตินะ เพราะเราจะถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร แต่เราต้องยืนยันว่ามติของคณะกรรมการไม่เป็นธรรม เป็นมติที่ละเมิดอธิปไตยเรา เราจึงไม่ยอมรับ

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง