บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

MOU 2544 ล็อกสเปก..ทำให้ไทยเสียเปรียบจริงหรือ??

    บันทึกความเข้าใจ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิใน ไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า MOU 2544 มีประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันว่าไทยหรือกัมพูชา ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบกันแน่?
      
       เรื่องอย่างนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีปัญหาอ้าง สิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่รอบอ่าว ไทย
      
       คือไทย-มาเลเซีย,ไทย-เวียดนาม เพื่อเปรียบเทียบดังนี้
      
       1.ไทย-มาเลเซีย
      
       ครั้งแรก เจรจาตกลงได้เส้นเขตไหล่ทวีปต่อจากทะเลอาณาเขตที่ประชิดกันบริเวณปากแม่น้ำ โก-ลก จ.นราธิวาส จำนวน 1 เส้น และเมื่อตกลงอันเป็นที่สิ้นสุดแล้วจึงทำ MOUฉบับลงวันที่ 6 ก.ย.2515 ไว้เป็นหลักฐาน
      
       ครั้งต่อมา เจรจาต่อได้พื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area=JDA) และตกลงแบ่งปัน ผลประโยชน์น้ำมันและแก๊สคนละครึ่ง เมื่อได้ข้อตกลงอันเป็นที่สิ้นสุดแล้วจึงทำ MOU ลงวันที่ 21 ก.พ.2522 ไว้เป็นหลักฐาน เหมือนครั้งแรก
      
       2.ไทย-เวียดนาม กระบวนการแก้ปัญหาเหมือนไทย-มาเลเซีย คือเมื่อตกลงอันเป็นที่สิ้นสุดแล้วจึงทำ MOU แต่เรียกว่า Agreement ลง 9 ส.ค.2540 ไว้เป็นหลักฐานด้วยแต่ แตกต่างตรงที่ว่าไทย-เวียดนามมีผลการเจรจาได้เส้นเขตไหล่ทวีปเบ็ดเสร็จเด็ด ขาด ไม่มี JDA


       เมื่อพิจารณาจาก 2 กรณีดังที่กล่าวมาแล้วจะมองเห็นประเด็นที่สำคัญ คือ
      
       1.กระบวนการแก้ปัญหาทั้ง 2 กรณีนำปัญหาความขัดแย้งไปวางบนโต๊ะเจรจา เมื่อตกลงอันเป็นที่สิ้นสุดแล้วจึงทำ MOU ไว้เป็นหลักฐาน
      
       2.คณะกรรมการผู้แทนการเจรจามีอิสระในการเจรจาแก้ปัญหาที่อาจได้คำตอบ ได้เส้นเขตไหล่ทวีปหรือได้ JDA หรือได้ทั้งเส้นเขตไหล่ทวีปและ JDA
      
       ตัวแบบการแก้ปัญหาจาก 2 กรณีดังกล่าวจะพบว่าการแก้ปัญหาไทย-กัมพูชา แตกต่างกับ2 กรณีอย่างเด่นชัด คือการแก้ปัญหายังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่กลับจัดทำ MOU 2544 ให้เป็นโต๊ะเจรจา ที่กำหนดตัวแบบการเจรจาไว้เรียบร้อยแล้ว...
      
       เรียบร้อยแล้วอย่างไรนั้น สามารถหาคำตอบได้โดย:
      
       พิจารณาสาระสำคัญของ MOU 2544
      
       1.ข้อ 2(ก) กำหนดให้ทำ JDA ในพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นแลตติจูด 11 องศาเหนือที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันและยอมรับว่าพื้นที่นี้ทับซ้อนนี้ ชอบธรรมโดยทั้ง 2 ฝ่ายพึงพอใจร่วมกันแล้ว เพราะให้เจรจาเรื่อง "ตัวเลขแบ่งปันผลประโยชน์" เท่านั้น หมายความว่า"ไม่ต้องเจรจาตัวเลขจำนวนพื้นที่ไหล่ทวีปอีกแล้วเพราะทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่าพื้นที่นี้ทับซ้อนถูกต้องชอบธรรมแล้ว"ใช่หรือไม่?
      
       2.ข้อ 2(ข) กำหนดให้เจรจาตัวเลขเขตแดนทางทะเล(ทะเลอาณาเขต-เส้นเขตไหล่ทวีป-เส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ)ในพื้นที่เหนือเส้นแลตติจูด 11 องศาเหนือ เพราะยังไม่สามารถตกลงกันได้
      
       3.ผลจากข้อ 4 ได้ตอกย้ำว่าต้องมีการปฏิบัติตามข้อ 2(ก) และ (ข) โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 คณะ คณะที่ 1 มีหน้าที่เจรจาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ JDA คณะที่ 2 มีหน้าที่เจรจาเขตแดนทางทะเลในพื้นที่ด้านบนเหนือแลตติจูด 11 องศาเหนือ และคณะที่ 3 มีหน้าที่ให้คำปรึกษาคณะที่ 2
      
       พิจารณาจากกระบวนการแก้ปัญหาที่แตกต่างกับ 2 กรณีคือไม่ใช้ตัวแบบนำปัญหาความขัดแย้งไปวางบนโต๊ะเจรจา แต่ใช้วิธีสร้าง MOU 2544 เป็นโต๊ะเจรจา ซึ่งเท่ากับสร้างข้อผูกมัดให้คณะผู้แทนการเจรจาไม่มีอิสระหาคำตอบเป็นอย่าง อื่นนอกจากต้องเจรจาภายใต้คำตอบที่มองเห็นอย่างชัดเจนว่า ต้องมี JDA เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กันเท่านั้น.. อย่างนี้เรียกว่า MOU2544 ล็อกสเปก ใช่หรือไม่?
      
       คำถามที่ตามมาคือเป็น MOU 2544 ล็อกสเปก มันเสียหายอย่างไร? การหาคำตอบประเด็นนี้คงต้องกลับไปดูที่สาระสำคัญของ MOU 2544
      
       MOU 2544 ข้อ 2(ก) และข้อ 2(ข) จะพบว่า มีความขัดแย้งกัน กล่าวคือในเมื่อยอมรับว่าพื้นที่ด้านเหนือของเส้นแลตติจูด 11 องศาเหนือที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันยังต้องมีการเจรจาตัวเลขเขตแดนทางทะเล (ทะเลอาณาเขต-เส้นเขตไหล่ทวีป-เส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) ดังนั้นหากเขตแดนทางทะเลด้านเหนือเส้นแลตติจูด 11 องศาเหนือ เปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้พื้นที่ JDA ด้านใต้เส้นแลตติจูด 11 องศาเหนือ เปลี่ยนแปลงไปด้วย
      
       แต่การที่ MOU 2544 ข้อ 2(ก) กำหนดให้ไม่ต้องเจรจาตัวเลขจำนวนพื้นที่ JDA และให้เจรจา"ตัวเลขแบ่งปันผลประโยชน์"เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ขัดกันเองในสาระสำคัญของ MOU 2544 และหากพิจารณาข้อเท็จจริงจะได้คำตอบที่ปฎิเสธไม่ได้ว่า
      
       1. เขตแดนทางทะเลในพื้นที่ด้านบนเหนือแลตติจูด 11 องศาเหนือ ต้องเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เป็นคุณกับไทย เพราะเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากจากหลักเขตที่ 73 มายังเกาะกูด เป็นเส้นที่ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ ยอมรับ
      
       2.ผลจากความเป็นจริงที่ว่า เขตแดนทางทะเลดังกล่าวต้องเปลี่ยนไปในทิศทางที่เป็นคุณกับไทยนั้นย่อมส่งผลกระทบให้ "จำนวนพื้นที่ที่ทำ JDA เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นคุณกับฝ่ายไทยด้วย" กล่าวคือ จำนวนพื้นที่ทับซ้อนใน JDA จะเป็นของไทยมากว่ากัมพูชาและจะส่งผลให้ไทยมีสิทธิอธิปไตยในทรัพยากรธรรมชาติมากกว่ากัมพูชา
      
       แต่ใน MOU 2544 กลับไปกำหนดว่า ไม่ต้องเจรจาเรื่องจำนวนพื้นที่ใน JDA ให้เจรจาเรื่องตัวเลขการแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติโดยถือว่าทับซ้อน ชอบธรรมแล้ว การเจรจาบนพื้นฐานอย่างนี้ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายสูญเสียสิทธิอธิปไตยอันพึงมีพึงได้ไปตามข้อกำหนดใน MOU2544 แล้วใช่หรือไม่?
      
       ดังนั้นท่านผู้อ่านคงพอจะมองเห็นคำตอบได้แล้วใช่ไหมว่า MOU 2544 ล็อกสเปก..ทำให้ไทยเสียเปรียบจริงหรือไม่?

'กต.'เดินหน้าMOU44 ชง'ครม.'เห็นชอบใหม่!! 'ทัพภาค2'ปัด'ถอนกำลัง' ยัน'ทหาร'อยู่ดูพระวิหาร



"บัว แก้ว" เดินหน้าเอ็มโอยู 44 ต่อ ชี้ยังมีประโยชน์ต่อแนวทางการเจรจา ส่งเข้าครม.เห็นชอบ 18 ต.ค.นี้ ด้านโฆษกกองทัพภาคที่ 2 ยันยังไม่มีการถอนกำลังทหารพ้นพื้นที่เขาพระวิหาร ลั่นผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี คนใหม่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
วันที่ 3 ต.ค.2554 เวลา 14.30 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันนี้(3 ต.ค.) กระทรวงการต่างประเทศได้มีการจัดประชุมภายใน โดยมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน พ.ศ.2544 คาดว่าจะสามารถเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้
"ทั้งนี้ยืนยันว่าหลักการของเอ็มโอยูฉบับนี้ยังมีประโยชน์ และจะใช้เป็นแนวทางในการเจรจา ถ้าครม.เห็นด้วยกับแนวทาง ก็จะได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190"นายธานีกล่าว
นายะานี กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องแนวทางการเจรจาขณะนี้ยังไม่สามารถลงในรายละเอียดได้ แต่ย้ำว่าจะยึดตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ได้หารือไว้กับทางกัมพูชา ในการเยือนกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่าจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
กองทัพภาคที่ 2 ยันไม่มีการถอนกำลังพ้นเขาพระวิหาร    
พ.อ.พิเศษ ประวิทย์ หูแก้ว โฆษกกองทัพภาคที่ 2 เปิดเผยถึงสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ซึ่งดูแลพื้นที่แนวชายแดนไทย - กัมพูชา จาก พล.อ.ชวลิต ชุนประสาน เป็นพล.ต.ชลิต เมฆมุกดาว่า สำหรับสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ในขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ปกติ กำลังพลทหารทั้ง 2 ประเทศยังคงไปมาหาสู่กันได้ ในส่วนของกำลังพลในสังกัดกองทัพภาคที่ 2 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาอธิปไตยของประเทศตามแนวชายแดนตามปกติ ไม่มีปัญหาใดๆ พี่น้องประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ก็ยังคงมีการไปมาหาสู่ ค้าขายสินค้าร่วมกันด้วยดี ซึ่งปัจจุบันนั้นได้มีการเปิดจุดค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อมนุษยธรรมที่ บริเวณช่องสะงำ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศได้มีจุดการค้าขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยจะเปิดให้มีการค้าขายในทุกๆวันพุธของสัปดาห์ ซึ่งตั้งแต่เริ่มเปิดจุดจำหน่ายสินค้ามาตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2554 ที่ผ่านมา ก็ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนทั้ง 2 ประเทศนำสินค้ามาจำหน่ายและมีพี่น้องประชาชนทั้ง 2 ประเทศไปจับจ่ายซื้อสินค้าวันละกว่า 3,000 คน สรุปแล้วสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชา ณ ขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง
"ภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี จากพล.อ.ชวลิต ชุนประสาน ที่ขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็น พล.ต.ชลิต เมฆมุกดา รับหน้าที่ในตำแหน่งนี้แทนนั้น ตนเองขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่า ทางพลตรีชลิต เมฆมุกดา นั้นได้รับราชการมาตั้งแต่ปี 2523 ในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาโดยตลอด และเคยได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งเสนาธิการกองกำลังสุนารีด้านยุทธการและการข่าว ดังนั้นมั่นใจได้ว่า พล.ต.ชลิตรู้จักกำลังพลและศักยภาพของกองกำลังสุรนารีเป็นอย่างดี รู้จักพื้นที่ทุกพื้นที่โดยละเอียด รู้จักพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดน ข้าราชการในพื้นที่ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ และจะทำหน้าที่ในการสานงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน ถือว่าเป็นคนที่เหมาะสมที่สุด ที่จะทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกำลังพลทั้ง 2 ฝ่าย"โฆษกกองทัพภาคที่ 2 กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทของกอง ทัพภาคที่ 2 นั้น พ.อ.ประวิทย์ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการถอนกำลังทหาร แต่เป็นเพียงแค่การสับเปลี่ยนกำลังและยุทโธปกรณ์ต่างๆตามวงรอบประจำปี ที่จำเป็นต้องหมุนเวียนกำลังพลที่ประจำอยู่ตามแนวชายมานานเป็นระยะเวลา 1 ปี รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นต้องกลับมาที่ตั้งเพื่อซ่อมบำรุง เฉพาะในพื้นที่ตามแนวชายแดนทั่วไป ไม่ใช่พื้นที่ที่ศาลระหว่างประเทศหรือศาลโลกมีคำสั่งให้ถอนทหารออกจาก พื้นที่ ซึ่งได้มีการสับเปลี่ยนกำลังตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.2554 ที่ผ่านมาประมาณ 2,000 นาย และได้มีการนำกำลังชุดใหม่พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ไปประจำเช่นดังเดิมแล้ว
โฆษกกองทัพภาคที่ 2 กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะยังคงมีการสับเปลี่ยนกำลังในห้วงเดือนตุลาคมในรูปแบบของการทยอย การสับเปลี่ยนกำลังต่อเนื่องอีกกว่า 1,000 นาย เพื่อหมุนเวียนกำลังชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่แทนชุดเดิมที่ปฏิบัติหน้าที่มา เป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม การดำเนินการทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นการสับเปลี่ยนกำลังตามแนวชายแดนทั่วทั้ง ประเทศประจำทุกปีอยู่แล้ว สำหรับในส่วนของฝ่ายกัมพูชาเองนั้นจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานข่าวการถอน กำลังออกจากพื้นที่พิพาทตามมติของศาลโลก เช่นเดียวกันกับทางกองทัพภาคที่ 2 ที่ยังคงมีกำลังพลประจำอยู่โดยรอบพื้นที่เช่นดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน
ศรีสะเกษ เปลี่ยนป้ายชื่อ"เขาพระวิหาร"    
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดเส้นทางจากตัว จ.ศรีสะเกษ ไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ปรากฏว่า ขณะนี้แขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ ได้เปลี่ยนป้ายชื่อเขาพระวิหารจากคำว่า เขาเปรี๊ยะวิเฮียร์ “Khao Preah Vihear” เป็น เขาพระวิหาร “Khoa Phrawihan Sanctuary”แล้ว โดยการนำสติ๊กเกอร์สีน้ำเงินมาทำการปิดทับป้ายภาษาอังกฤษคำว่า “Khao Preah Vihear” แล้วนำ สติ๊กเกอร์ใหม่ ที่เป็นคำว่า เขาพระวิหาร “Khoa Phrawihan Sanctuary”มาติดแทน โดยป้ายทั้งหมดมีจำนวนทั้งสิ้น 29 ป้ายทั้ง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งป้ายดังกล่าวเป็นป้ายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น และได้ดำเนินการติดตั้งในเขตรับผิดชอบของแขวงการทางศรีสะเกษ เพื่อเป็นป้ายบอกทางไปยังเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยแขวงการทางศรีสะเกษ ได้นำเอารถกระเช้ามาทำการเปลี่ยนป้ายเขาพระวิหารตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 54 ที่ผ่านมา โดยเป็นการแก้ไขป้ายใหม่ทั้ง จ.ศรีสะเกษ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง