บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทเขาพระวิหาร- กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม บทความโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง


ท่าพระจันทร์ จังหวัดพระนคร



สยามประเทศ (ไทย)


20 มิถุนายน 2551



เรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง-ลัทธิชาตินิยม”


ถึง นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกัลยาณมิตร

จาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ


สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ “ระบอบทักษิณ” ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นปัญหาของการเมืองภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วยนั้น เรื่องนี้จึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจที่มาและที่ไปของเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้



(1)“ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นส่วนหนึ่งของ “ประวัติศาสตร์แผลเก่า” ระหว่าง “ชาติไทย” กับ “ชาติ กัมพูชา” ระหว่าง “ลัทธิชาตินิยมไทย” และ “ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา” แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ (ไทย) “ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง” และ “ลัทธิชาตินิยม” ในสกุลของ “อำมาตยาเสนาธิปไตย” ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย “สงครามเย็น” ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆ มา)



(2)“ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม “บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ” ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง “ปราสาท” ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง “ปราสาท” ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา (โบราณ) เทียบได้กับชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ “ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม”
ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ “ยโสวรมันที่ 1” ถึง “สุริยวรมันที่ 1” เรื่อยมาจน “ชัยวรมันที่ 5-6” จนกระทั่งท้ายสุด “สุริยวรมันที่ 2” และ “ชัยวรมันที่ 7” จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)


“ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขา หรือ “ศิขเรศร” เป็น “เพชรยอดมงกุฎ” ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก (“พนมดงแร็ก” ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ใน (เขต) จังหวัด “เปรียะวิเฮียร” (Preah Vihear) ของกัมพูชา

(3)“ปราสาทเขาพระวิหาร” น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา “เสียกรุง” ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ “หนีเสือไปปะจระเข้” คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขง

แต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ “เสียกรุงศรีอยุธยา” (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ “เสียกรุงศรียโสธรปุระ” (พ.ศ. 1974)
ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง “ปราสาทเขาพระวิหาร” ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น “อาณานิคม” ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ “สยาม” สมัย ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ถึงขนาดใข้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี

(4)จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง “ไกลบ้าน”) จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก “ตราด และด่านซ้าย (เลย)” กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้) จันทบุรีนั้นฝรั่งเศสคืนมาให้ก่อนเมื่อ พ.ศ. 2447


เมื่อถึงตอนนี้นั่นแหละที่เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเรา มีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร
กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย “รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม” ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา “เอกราชและอธิปไตย” ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้

และดังนั้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง “อภิรัฐมนตรี” ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร “ปราสาทเขาพระวิหาร” ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ. วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)


(5)กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ “ราชาธิปไตย” ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ “ปราสาทเขาพระวิหาร” กลับถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง (ก่อนครั้งที่ 3 ของการ “โค่นรัฐบาลสมัคร” ในสมัยนี้) คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ปีกขวาของคณะราษฎร) และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็น (ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านนโยบายเป็นกลางของกัมพูชาสมัยพระเจ้านโรดม สีหนุ)

ในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ “คณะราษฎร” ยึดอำนาจได้แล้วแม้จะโดยปราศจากความรุนแรงและนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด “กบฏบวรเดช” พ.ศ. 2476 (ที่นำด้วยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ ผู้เป็นตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์) เกิดการนองเลือดเป็น “สงครามกลางเมือง” และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์
ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” ปลุกระดมวาทกรรม “การเสียดินแดน 14 ครั้ง” ให้เกิดความ “รักชาติ” ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น


-24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”



-(แล้วเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรให้เป็น “ไทยๆ” ซึ่งรวมทั้ง



-พระไทยเทวาธิราช -ธนาคารไทยพาณิชย์ -ปูนซิเมนต์ไทย)


รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน “มณฑลบูรพา” และ “ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง”
จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง “กองกำลังบูรพา” ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น “มหามิตรใหม่” เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ “ไทย” สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)


และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คำว่า “ลาน” ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท
แผนที่ดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามยึดได้มาเมื่อปี พุทธศักราช 2484 คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม และจังหวัดนครจำปาศักดิ์ ในกรณีของจังหวัดพิบูลสงครามนั้น คือจังหวัดเสียมเรียบของกัมพูชาเดิมนั่นเอง แต่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นของไทย ในกรณีของจังหวัดจำปาศักดิ์นั้น รวมอาณาบริเวณทางตอนใต้ของเทือกพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหารและเมืองจอมกระสาน ฯลฯ


และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่าในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่
ในสมัยดังกล่าวนี้แหละ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า “ได้ปราสาทเขาพระวิหาร” มา ดังหลักฐานในหนังสือ “ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน” ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า “ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ”

(6)สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย “มหามิตรญี่ปุ่น” ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า “ไทย” จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ “ปรับ” และเอาคืน


โชคดีของสยามประเทศ (ไทย) (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษกลับเป็น Siam ได้ชั่วคราว) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และมีทั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ “เจ๊า” กับ “เสมอตัว” ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี

แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า “สี่รัฐมาลัย” คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)


แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา “ปราสาทเขาพระวิหาร” ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 (1954)


กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆ ไป


(7)ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง “กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช” และ “นักราชาชาตินิยม” ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959)

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน “รักชาติ” บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)


ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ 9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส สหสาธารณรัฐอาหรับ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี


ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา จีน ออสเตรเลีย น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้น คือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่ ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น

ว่าไปแล้วรัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ “กฎหมายปิดปาก” ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง (โปรดดูสรุปย่อคำพิพากษาของศาลโลกเป็นภาษาอังกฤษได้จาก http://www.icj-cij.org/docket/files/45/12821.pdf

(8)กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำ นั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” และ “การเสียดินแดน”



ขอกล่าวขยายความไว้ตรงนี้ว่าวาทกรรมของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” และ “การเสียดินแดน” ถูกสร้างและ “ถูกผลิตซ้ำ” มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาและปราสาทพระวิหารเป็น “ของไทย” หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น มีการเสนอความคิดว่า “ขอมไม่ใช่เขมร” ดังนั้น เมื่อ “ขอม” มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือขะแมร์กัมพูชา ประเทศนั้นก็ไม่ควรมีสิทธิจะครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร


สรุป


เราจะเห็นได้ว่าวาทกรรมของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” และ “การเสียดินแดน” นั้นถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้น

ประเด็นนี้จึงกลายเป็น “ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน” จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที “5 พันธมิตรฯ” ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” มาคลุกผสมกับ “ “ราชาชาตินิยม” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลนอมินีสมัคร (ของทักษิณ และเป็นนอมินีของอีกหลายๆฝ่ายหลายๆสถาบันที่เรามักจะมองข้ามไป) ก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบและความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการกับปัญหากรณีทั้งที่เกี่ยวกับเรื่องของตัวปราสาท และบริเวณของเขาพระวิหาร

ดังนั้น คำถามของเราในที่นี้ คือ


ในแง่ของการเมืองภายใน

-รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่

-รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่

-พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย

-จะเกิดการนองเลือดหรือไม่

-ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่

หรือจะ “เกี้ยเซี้ย” รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงสีเหลือง กับสีแดง

เราทั้งหลายได้เรียนรู้ ได้รับบทเรียนอันวิปโยคและปลื้มปิติกันมาแล้ว

ทั้งการปฏิวัติ 2475

กบฏบวรเดช 2476

รัฐประหาร 2490

ปฏิวัติ 2500-2501

การลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516

การรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519

พฤษภาเลือด (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535

และท้ายสุดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

หรือว่าเท่านั้น ยังเป็นตัวอย่าง เป็นแบบเรียนไม่พออยู่นั่นเอง

ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ

เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหาร

จะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชา

รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูต

ปิดการค้าชายแดน

กลายเป็นการเมืองภายในของกัมพูชา (ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฏานี้)

หรือ

ทั้งไทยกับกัมพูชา ตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กม. เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

ตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกัน

บริหารจัดการและ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน คนๆๆๆ หรือมนุษยชาติ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของสองสามรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้

คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ…
วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกว่าเป็น “ของไทย” แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, น. ณ ปากน้ำ, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสำคัญที่มีงานเขียนเชิงประชาสัมพันธ์ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” เช่น “นายหนหวย” เป็นต้น และยังถูกถ่ายทอดต่อมาในวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน รวมทั้งปรากฏอยู่เป็นประจำในงานสื่อสารมวลชน นสพ. รายวัน รายการวิทยุและทีวีโดยทั่วๆไปอีกด้วย

นายกต้องยืน MOU2543 ที่ผูกพันแผนที่ 1:200,000 อย่างแน่นอน เพื่อให้รอดโทษอาญา

นายกต้องยืน MOU2543 ที่ผูกพันแผนที่ 1:200,000 อย่างแน่นอน เพื่อให้รอดโทษอาญา (เข้าข่ายม.๑๒๘ ม.๑๒๙ บนฐานความผิด ม.๑๑๙ และ ม.๑๑๓) โดยยกแผ่นดินหนองจานให้เขมร

๑ สร้างพยาน http://bit.ly/fYbtal หลักฐานเท็จ http://www.youtube.com/watch?v=-vTeXykSJXk

๒ ปรักปรำคนไทยรวมทั้งคุณวีระ-ราตรี ที่อยู่ในคุกเปรซอ

๓ สั่งให้ JBC ยกหนองจานให้เขมรในการเจรจาปักปัน
bit.ly
พันธมิตรฯ เผยรัฐบาลจัดฉากนำชาวบ้านที่ไม่ใช่คนในพื้นที่จริงมาใช้ข้อมูลเท็จบ่อน้ำเป็นของเขมร ทำลายภาคประชาชน ชี้ส่งผลคดีมัดซ้ำ"วีระ-ราตรี" - หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

เปิดบันทึกประชุมสยาม-ฝรั่งเศส 103 ปีที่แล้ว : “สันปันน้ำอยู่ที่หน้าผา”

บันทึกความจริง 7 คนไทยในเรือนจำเขมร !? โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

บันทึกความจริง 7 คนไทยในเรือนจำเขมร !? โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ณ วันที่ 4 มกราคม 2011 เวลา 1:18 น.

 คนไทยทั้ง 7 ต้องอยู่ในเรือนจำหลายวันอย่างน่าเห็นใจอย่างยิ่ง ส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าคนไทยใน  7 คนนี้มีวาระซ่อนเร้นอื่นใดนอกจากต้องการพิสูจน์ความจริงว่าดินแดนไทยถูกรุกล้ำและยึดครองโดยทหารและชุมชนชาวกัมพูชาจริงหรือไม่?

สำหรับนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ แม้ได้รับรู้การที่กัมพูชารุกล้ำยึดครองพื้นที่เขาพระวิหาร หรือการที่ประชาชนจังหวัดสระแก้วถูกทหารและชุมชนกัมพูชายึดครองที่ทำมาหากิน ก็พยายามจะประสานกับภาคประชาชนเพื่อชวนไปสำรวจไปในพื้นที่ร่วมกัน โดยระบุว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบหมายมาให้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างลับๆ

หากสิ่งที่นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ พูดเป็นความจริง มองในแง่ดีก็แปลว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เชื่อข้อมูลจากรายงานทางราชการเพียงอย่างเดียว สาเหตุสำคัญก็น่าจะมาจากกรณีที่ส่วนงานราชการยืนยันว่ายังไม่มีการถอนทหารไทยออกจากวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร  สวนทางกับสำนักข่าวต่างประเทศและนักข่าวไทยที่พยายามไปสำรวจในพื้นที่ดังกล่าวต่างยืนยันว่าทหารไทยถอยออกจากพื้นที่วัดแก้วสิขะคีรีสะวาราหมดแล้ว และมีทหารกัมพูชาได้แสดงอำนาจถึงขั้นยึดฟิล์มและกล้องของนักข่าวไทยในดินแดนประเทศไทยรอบเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร

หรืออีกนัยหนึ่งก็ต้องการให้นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ไปตรวจสอบกับภาคประชาชน หากข้อมูลของภาคประชาชนไม่ถูกต้องก็จะได้ไม่ต้องเคลื่อนไหวในประเด็นข้อเท็จจริงเหล่านี้ต่อไป

สำหรับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อได้ถูกนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ชักชวนให้ลงพื้นที่เขาพระวิหารผ่าน อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2553 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าหากขึ้นไปแล้วถูกจับจะกลายเป็นตัวประกันและทำให้กัมพูชาสามารถใช้อำนาจศาลในอธิปไตยในดินแดนไทยและทำให้กัมพูชาใช้สร้างอำนาจต่อรองสูงขึ้น  หรือหากไปแล้วเกิดเป็นพื้นที่สันติภาพไม่มีความขัดแย้งก็จะยิ่งเป็นการสร้างหลักฐานมากขึ้นเพื่อนำไปสู่แผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกปราสาทพระวิหารซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีสำหรับประเทศไทย

ด้วยเหตุผลนี้หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเดินทางเข้าไปในพื้นแผ่นดินที่สงสัยว่ากัมพูชายึดครองอยู่ก็ต้องมีเงื่อนไขให้มีทหารไทยติดอาวุธติดตามไปด้วย และต้องเดินทางไปเพื่อแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เช่น การเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาสูง เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้ปฏิเสธการเดินทางไปแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างลับๆ ซึ่งชักชวนจากคนในรัฐบาล

เช่นเดียวกับที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังไม่เคลื่อนไหวกรณีที่ 7 คนไทยถูกทหารกัมพูชาจับกุม ก็เพราะเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 7 คนไทยที่ถูกจับกุมนั้นอยู่ในสภาพไม่ต่างจากตัวประกันที่กัมพูชาสามารถใช้อำนาจแบบบ้านป่าเมืองเถื่อน  จึงย่อมต้องทำอะไรด้วยความอดทนในการแสวงหาข้อเท็จจริง  และดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุมอย่างที่สุด เพื่อให้ 7 คนไทยได้กลับมาเมืองไทยให้ได้โดยเร็วที่สุด

สำหรับพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหามาจากที่ดิน น.ส. 3 ซึ่งเดิมทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้กับนายเข็ม แพงแลงนูน ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2517  ซึ่งที่ดินดังกล่าวได้ขายไปให้นายเบ พูลสุข ต่อมานายเบ พูลสุขได้เสียชีวิตไปแล้วที่ดินจึงตกอยู่กับลูก ซึ่งที่ดินบริเวณนี้ปัจจุบันอยู่ บ้านหนองจาน จ.สระแก้ว  และได้ร้องเรียนกับหน่วยงานราชการว่ากัมพูชาได้รุกเข้ามายึดที่ทำมาหากินของราษฎรโดยที่ข้าราชการและนักการเมืองไม่มีใครใส่ใจ  และทำให้ 7 คนต้องเดินทางไปพิสูจน์ความจริง โดยนายวีระ สมความคิด เป็นคนที่เคยไปถูกจับโดยทหารกัมพูชาในบริเวณดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2552  ส่วนนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ได้แจ้งว่าทำภารกิจนี้โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีรับรู้โดยตลอด จนอาจเป็นที่มาในการสร้างความมั่นใจให้กับคณะเดินทาง  แต่ก็ต้องถูกทหารกัมพูชาจับกุมไปในที่สุด

ที่ต้องเสียความรู้สึกก็ตรงที่เจ้าหน้าที่และนักการเมืองไทยด่วนสรุปไปล่วงหน้าว่าคนไทยทั้งหมด 7 คนรุกล้ำเข้าไปในดินแดนกัมพูชาตั้งแต่วันแรก ทั้งๆที่ยังไม่สืบค้นอย่างละเอียด ถึงขนาดทำให้รายงานจากวันแรกๆที่ระบุว่าคนไทย 7 คน รุกเข้าไปในกัมพูชาถึง 1.2 กิโลเมตร โดยอ้างตำแหน่งพิกัด TA 527222 จากฝ่ายกัมพูชา และรัฐบาลไทยก็ได้แถลงข่าวสอดรับทั้งๆที่ยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียด

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554 กระทรวงการต่างประเทศได้สรุปรายงานให้กับนายกรัฐมนตรีใหม่ว่า 7 คนไทยรุกล้ำเข้าไปในดินแดนกัมพูชา 55 เมตร ซึ่งแตกต่างจากที่ให้สัมภาษณ์ทางสาธารณะครั้งแรกถึง 21 เท่าตัว

ถือเป็นความชุ่ยระดับโลก!!!

การเรียกร้องให้เปิดวีดีโอคลิปให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดที่ใช้เวลามาถึง 4 วัน และในที่สุดก็ได้มาปรากฏในยูทูปวันที่ 3 มกราคม 2554 ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ทำให้ได้รู้ว่าความเป็นจริงคืออะไร?

อย่างน้อยที่สุดทำให้เราได้ทราบว่าความพยายามในการหยิบบางคลิปวีดีโอบางท่อน โดยการอ้างเพียงคำพูดของนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ว่าให้แจ้งนายกรัฐมนตรีทราบว่าได้ข้ามมายังฝั่งกัมพูชาแล้วนั้นเป็นเพียงความจริงเพียงครึ่งเดียว  โดยไม่เคยได้ตรวจสอบในคลิปวีดีโอต่อเนื่องว่าแท้ที่จริงแล้วนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ได้โทรศัพท์อธิบายเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่าคำว่าข้ามมาฝั่งกัมพูชาแล้ว หมายถึง “กำลังเดินทางไปหลักเขตที่ 46 อยู่ในดินแดนไทยแต่ชาวกัมพูชาเข้ามาอยู่อาศัย”

การที่คนไทยทั้ง 7 เดินไปจนกว่าจะถูกจับนั้นอาจไม่คาดคิดว่าจะถูกจับจริง หรือคิดว่าถูกจับจริงก็น่าจะสามารถรอดกลับมาได้เหมือนกับที่นายวีระ สมความคิดได้เคยถูกจับกุมมาแล้ว แต่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพิสูจน์ให้เห็นประเด็นที่ว่าก่อนถึงหลักเขตที่ 46 คนไทยถูกจับกุมโดยทหารกัมพูชาในดินแดนไทยได้จริงหรือไม่?

ความเป็นจริงควรจะสืบค้นว่าคนไทยเหล่านี้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาจริงหรือไม่จากภาพที่เห็นเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมความเป็นจริง ไม่ใช่จากคำพูดทางโทรศัพท์ของนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ หรือคนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้พกเครื่องมือหาพิกัดดาวเทียมที่จะสามารถรู้ได้ว่าตัวเองเข้ามาในดินแดนกัมพูชาจริงหรือไม่?  โดยเฉพาะบริเวณที่ใช้หลักเขตแดนทางบกเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ที่มีโอกาสถูกเคลื่อนย้ายและมีความไม่แน่นอนสูง

ดูตามเส้นทางจากวีดีโอคลิปแล้ว เชื่อได้ว่าทั้ง 7 คน พยายามจะเดินทางไปที่หลักเขตที่ 46 และโดยจอดรถที่ถนนศรีเพ็ญ แล้วเดินข้ามมาตามคันนาลงมาทางทิศใต้เลยที่ดินของนายเบ พูลสุขออกมาอีกจนสุดคันนา  แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนน K 6 ไปยังทิศตะวันตกและแน่นอนว่ายังไปไม่ถึงหลักเขตที่ 46 ก็ต้องมาเผชิญกับด่านทหารกัมพูชาที่จับกุมเสียก่อน

ที่พยายามเรียกร้องว่ารัฐบาลไม่ควรจะด่วนสรุปว่าคนไทยรุกล้ำกัมพูชาก็เพราะเหตุว่า หัวใจสำคัญในประเด็นนี้ก็คือ “การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา” ดังนั้นจึงย่อมยังไม่สามารถสรุปได้ว่าคนไทยทั้ง 7 นั้นล้ำเข้าไปในเขตแดนกัมพูชาแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น หลักเขตที่ 46, 47, และ 48 แม้แต่ขั้นตอนการตกลงกันระหว่างคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) ก็ยังตกลงกันไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นแล้วจะเร่งสรุปไปได้อย่างไรว่าคนไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชาระหว่างหลักเขตที่ 46 – 47 ไปประมาณ 55 เมตร เพราะความเป็นจริงหลักเขตที่ 46 ที่ถูกต้องก็อาจจะรุกเข้าไปในดินแดนกัมพูชามากกว่านี้ก็ได้ในการเจรจาท้ายที่สุดซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา  ดังนั้นไม่ใช่ใครก็ได้ในรัฐบาลชุดนี้เร่งรีบมาสรุปว่า 7 คนไทยรุกเข้าไปในเขตแดนกัมพูชาแล้วในเวลานี้


ยังไม่นับวิธีการลากเส้นตรงจากหลักเขตที่ 46 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังหลักเขตที่ 45 เพื่อเป็นเขตแดนไทย-กัมพูชานั้น แม้แต่หลักเขตที่ 45 ในเวลานี้ก็ยังมี 2 หลักเขต  หลักเขตหนึ่งอยู่ในดินแดนกัมพูชา อีกหลักเขตหนึ่งมีการเคลื่อนย้ายเข้ามากินลึกเข้ามาในดินแดนไทยเลยเข้ามาจนเกินแนวถนนศรีเพ็ญซึ่งสร้างมาจากภาษีอากรของประชาชน ซึ่งการจัดทำหลักเขตที่ 45 เอง ก็ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ว่าประชาชนจะเกิดความเสียหายสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนอย่างไร และก็ไม่แน่ว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไทยในท้ายที่สุด ดังนั้นก็ยิ่งไม่ควรจะเร่งสรุปว่าคนไทยรุกเข้าไปในกัมพูชาแล้ว


โดยเฉพาะรายงานของกองกำลังบูรพาก็มีข้อมูลและหลักฐานอยู่ชัดเจนแล้วว่า บริเวณหลักเขตที่  46 - 47 มีชุมชนหมู่บ้านเขมรอพยพรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยเพิ่มมากขึ้นจำนวนมาก จนมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนบริเวณนี้อยู่มากกว่า 87 ไร่ ใช่หรือไม่?  เมื่อเป็นเช่นนี้เราควรจะสรุปว่าคนไทยเดินผ่านรุกเข้าไปในดินแดนกัมพูชาได้อย่างไร  ทั้งๆที่ในความเป็นจริงชุมชนและทหารกัมพูชาต่างหากที่เป็นฝ่ายยึดครองดินแดนไทย

 เวลาทหารและชุมชนชาวกัมพูชารุกล้ำเข้ามายึดครองดินแดนไทย และแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนไทยบริเวณเขาพระวิหารเลยแนวขอบหน้าผาซึ่งเป็นสันปันน้ำซึ่งเป็นเส้นเขตแดนตามธรรมชาติถาวรนั้นชัดเจนนั้น สามารถมองเห็นด้วยตาว่ากัมพูชารุกล้ำและยึดครองดินแดนไทย โดยที่คนไทยเข้าไปไม่ได้   แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับบอกว่าประเทศไทยยังไม่เสียดินแดนเพราะรัฐสภายังไม่ผ่านความเห็นชอบในการจัดทำหลักเขตแดน  โดยไม่เคยจับคนเขมรเหล่านั้นขึ้นศาลนำมาลงโทษ หรือผลักดันออกไปจากดินแดนไทย

แต่ทีเวลาคนไทยคณะหนึ่งเดินทางไปสำรวจในหลักเขตที่ 46 ซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างไทย-กัมพูชาว่าควรอยู่ที่ไหน กลับปล่อยให้ทหารกัมพูชามาจับคนไทยไปลงโทษโดยศาลกัมพูชา แล้วรัฐบาลไทยก็ยังซ้ำเติมให้อีกว่า 7 คนไทยเป็นฝ่ายผิด

การตัดสินใจที่เป็น 2 มาตรฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณสำหรับวิธีการตัดสินใจแบบรัฐบาลไทย  สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องยกเลิกโดยเร็วที่สุด!!!

นายกษิต ภิรมย์ เพิ่งจะมีข้อตกลงกันกับกัมพูชามาไม่นานนี้เองว่าหากคนไทยหรือกัมพูชารุกล้ำดินแดนซึ่งกันและกัน จะใช้วิธีการเจรจาโดยไม่ใช้กระบวนการศาลของตัวเองมาตัดสิน นายฮุน เซน ยังตระบัดสัตย์หน้าตาเฉย แล้วเป็นเช่นนี้ยังจะบ้าจี้เดินตามเกมของกัมพูชาให้เสียศักดิ์ศรีประเทศชาติอยู่อีกทำไม?

เมื่อทั้งรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยต่างประสานเสียงเดียวว่าคนไทยรุกเข้าไปในกัมพูชา แล้ว  7 คนไทยจะเหลืออะไรให้สู้ในคดีความนอกจากรอรับโทษจากศาล และหวังพึ่งเมตตาในวันข้างหน้าจากรัฐบาลกัมพูชา และขอพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชา

นอกจากนักการเมืองไทยและข้าราชการไทยจะด่วนสรุปว่าคนไทยรุกล้ำเส้นเขตแดนกัมพูชาแล้ว  ยังยอมรับอำนาจของศาลกัมพูชาทั้งที่เคยตกลงกันแล้วจะไม่นำคนที่รุกล้ำขึ้นศาล   และยังต้องไปขอพึ่งการพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชาอีก มันจะถูกต้องแล้วหรือสำหรับท่าทีของรัฐบาลไทยที่มีต่อคนไทย 7 คน ที่ต้องการพิสูจน์ทราบหลักเขตแดนเพื่อการปกป้องอธิปไตยของชาติ ?

ที่จริงหากรัฐบาลดำเนินการก่อนหน้านี้ในการยกเลิกข้อผูกพันแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และผลักดันทหารและชุมชนชาวกัมพูชาที่รุกล้ำดินแดนไทยมาก่อนหน้านี้ ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ที่น่าเสียใจเหมือนกับวันนี้ !!!

เปิดเขาพระวิหาร ฉากละครมรดกโลกของเขมร โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เปิดเขาพระวิหาร ฉากละครมรดกโลกของเขมร โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2010 เวลา 2:21 น.
 ในผลบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ซึ่งได้พิจารณาที่จะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกบริเวณพื้นที่เขาพระวิหารนั้น ได้ถูกตั้งคำถามว่าเหตุใด JBC จึงได้ประชุมที่จะจัดทำหลักเขตแดนทางบกในพื้นที่เขาพระวิหาร

เพราะพื้นที่บริเวณเขาพระวิหารถือเป็นพื้นที่ซึ่งนอกจากจะมีอนุสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 ว่าให้ยึดหลักสันปันน้ำแล้ว ยังมีรายงานของคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศสเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ได้เดินสำรวจและแบ่งเส้นเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารว่าให้ใช้หน้าผาเป็นเส้นเขตแดนตามธรรมชาติที่มีความชัดเจนในตัวเองและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยที่ไม่ต้องจัดทำหลักเขตแดนใดๆทั้งสิ้น

ดังนั้นการที่มีการประชุมเพื่อที่จะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่เขาพระวิหารซ้ำอีกครั้ง ย่อมทำให้กัมพูชายึดถือไปโฆษณาในนานาประเทศว่า ประเทศไทยได้สละหลักสันปันน้ำและผลงานการปักปันของคณะกรรมการผสมสยามฝรั่งเศส ให้มาเป็นการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ ซึ่งก็คือแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวและจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนบริเวณเขาพระวิหารประมาณ 2,800 ไร่ โดยทันที

เพราะฉะนั้นในเวลาที่ฝ่ายไทยไปอ้างเพียงแค่ว่า การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่เขาพระวิหารยังไม่แล้วเสร็จตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (MOU 2543)  กับคณะกรรมการมรดกโลก และองค์การยูเนสโก จึงไม่มีใครเข้าใจอย่างอื่นนอกเสียจากว่า พื้นที่ซึ่งยังสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จนั้นหมายถึง แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวที่รุกล้ำดินแดนไทยเกินกว่าแนวหน้าผาจำนวนมาก ย่อมไม่กระทบกับพื้นที่บริหารจัดการมรดกโลกแต่ประการใด

หลักฐานที่ชัดถึงวิธีคิดแบบนี้ก็คือการที่ยูเนสโกตัดสินใจให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือกัมพูชาจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างและซ่อมแซมตลาดกัมพูชาซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนไทย โดยเหตุผลในการช่วยเหลือก็เพราะ ไทยได้ใช้กำลังทหารรุกล้ำดินแดนกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000  เมื่อปี 2551 ทั้งๆที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนและอธิปไตยของไทยอย่างชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตรองประธานคณะกรรมธิการด้านกฎหมายขององค์การสหประชาชาติ จึงเห็นว่า MOU 2543 เป็นอันตรายอย่างยิ่ง สมควรที่จะยกเลิก และหันกับไปใช้อนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 และผลงานของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ซึ่งจะระบุอย่างชัดเจนว่าต้องยึดหลักสันปันน้ำและหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาแต่เพียงอย่างเดียว

ในการประชุม JBC กัมพูชาพยายามให้มีคำปราศรัยบันทึกให้เป็นหลักฐานว่าฝ่ายไทยเป็นฝ่ายรุกล้ำกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวในบริเวณเขาพระวิหารและพื้นที่อื่นๆตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000  มีการจัดทำร่างข้อตกลงชั่วคราวขึ้น โดยมีเนื้อหาในการรับรอง MOU 2543 ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังให้ทหารทั้งสองฝ่ายถอนกำลังออกจากพื้นที่บริเวณวัดแก้วสิขะคีรีสวาราซึ่งเป็นดินแดนไทย แต่กลับไม่พูดถึงการถอนชุมชน วัด ตลาด ถนน และสิ่งปลูกสร้างของกัมพูชาซึ่งเกิดขึ้นจำนวนมากในพื้นที่บริเวณดังกล่าว

เมื่อผลบันทึกการประชุม JBC ได้มีความพยายามในการผลักดันให้ขอความเห็นชอบโดยรัฐสภา แต่ก็ได้ถูกประชาชนกดดันและท้วงติงอย่างหนักเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 เป็นผลทำให้ รัฐบาลต้องยอมจำนนตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภาเพื่อกลั่นกรองถ่วงเวลาอีกครั้ง

ตามมาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่หมกเม็ดและถูกจับได้กลางที่ประชุมรัฐสภาเมื่อคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 โดย ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน  ซึ่งนายกรัฐมนตรีอ้างว่าแค่ผิดพลาด จะมีเนื้อหาหลักการใหญ่ที่ทำให้สัญญาที่มีผลการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตนั้นต้องลดขั้นตอนลงจนถึงขั้นปิดหูปิดตาประชาชน และลดขั้นตอนการกลั่นกรองจากรัฐสภา ซึ่งหากผ่านไปได้โดยไม่มีใครจับได้เสียก่อนก็จะเป็นผลทำให้ ผลบันทึกการประชุม JBC ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาอีกต่อไป

แต่เมื่อถูกจับได้เสียก่อนนายกรัฐมนตรีจึงต้องรับปากว่าจะแก้ไขด้วยการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ และสัญญาว่าจะคว่ำร่างนี้ในวาระที่ 3 หากไม่ผ่านตามที่จะแก้ไขไป

ต่อมาผลบันทึกการประชุม JBC ที่มีปัญหาหมกเม็ดมากมายและทำให้ไทยต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบกัมพูชานั้น วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553  ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 62 คนได้เข้าชื่อกันเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผลบันทึกการประชุม JBC นั้นจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่?

เรื่องที่เข้าประชุมอยู่ในรัฐสภา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการของสมาชิกรัฐสภาอยู่แล้ว แต่กลับนำเรื่อง JBC ที่มีปัญหาหมกเม็ดมากมายเช่นนี้เพิ่งจะมาขอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยเอาได้ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เหล่านี้มีความต้องการให้ JBC หมกเม็ดและอัปยศเช่นนี้ ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกต่อไป  และต้องการให้ JBC เดินหน้าตามแผนของตัวเองต่อไปตามใจชอบ ใช่หรือไม่?

คำถามที่ชวนสงสัยที่กล่าวข้างต้นนี้ต้องเพิ่มความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นไปอีก เมื่อทหารไทยและทหารกัมพูชาปรับลดและถอนกำลังออกจากพื้นที่วัดแก้วสิขะคีรีสะวารา  โดยฝ่ายไทยสามารถเข้ามาท่องเที่ยวถึงตัวปราสาทพระวิหารได้ คงเหลือแต่ประเด็นที่ว่าไทยได้พยามร้องขอให้มีพ่อค้าแม่ขายของฝ่ายไทยเข้าไปค้าขายพื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย

การถอนกำลังที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ไม่แตกต่างจากร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างไทย-กัมพูชา ของ JBC อย่างไม่ผิดเพี้ยน  จึงถือเป็นการปฏิบัติไปล่วงหน้าโดยที่ไม่ต้องมีการลงนามในร่างข้อตกลงชั่วคราว และไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกด้วย

ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประชาชนไทยจะสามารถเข้าไปท่องเที่ยวพื้นที่ปราสาทพระวิหารได้แล้ว เป็นบรรยากาศชื่นมื่นต่อเนื่องหลังรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาจัดคอนเสิร์ทสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

แต่เบื้องหลังแล้วการปรับกำลังถอนทหารนั้น กัมพูชาได้วางหมากเอาไว้อย่างแยบคายยิ่งนัก  โดยกัมพูชาได้กำหนดให้ทหารทั้ง 2 ประเทศถอนกำลังทหารให้กลับไปในสภาพก่อนวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 โดยมีเป้าหมายในการตอกย้ำกับนานาชาติว่า ไทยได้ถอยออกจากการรุกล้ำดินแดนกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในปี 2551 ซึ่งกัมพูชาได้ร้องต่อองค์การยูเนสโกจนได้เงินสนับสนุนมาสร้างตลาดกัมพูชาในดินแดนไทยมาแล้วในปีเดียวกัน

เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้ประชาชนชาวไทยจะยินดีแค่ไหน ถ้ารู้ว่าตัวเองนั้นอยู่ในฐานะนักท่องเที่ยวที่มาชมปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบนั้น กำลังจะถูกนำไปประกอบรายงานในแผนบริหารจัดการมรดกโลกของกัมพูชาในการประชุมมรดกโลกปีหน้าว่าไทยและกัมพูชาตกลงเจรจากันได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กัมพูชากำลังได้ในสิ่งที่ต้องการมาโดยตลอดคือให้ทหารทั้งสองฝ่ายถอนออกจากดินแดนพื้นที่วัดแก้วสิขะคีรีสะวารา  เพราะความขัดแย้งที่ลดลง การตกลงกันได้ระหว่างสองประเทศ ย่อมเกิดเป็นพื้นที่สันติภาพที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาอนุมัติแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชา และให้คณะกรรมการ  7 ชาติเข้าบริหารได้อย่างสมบูรณ์

ส่วนรัฐบาลไทยก็ได้สร้างภาพเพื่อยืนยันว่า MOU 2543 และ JBC ทำให้คนไทยได้เข้าไปท่องเที่ยวตัวปราสาทพระวิหารได้  และสร้างกระแสสันติภาพเพื่อขัดขวางการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในทุกวิถีทาง

ส่วนมรดกโลกในกลางปี 2554  ไทยยังไร้ยุทธศาสตร์ที่จะไปหยุดยั้งแผนบริหารจัดการมรดกโลก และยังไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ  แต่ถ้านายกรัฐมนตรีมีความมั่นใจว่า MOU 2543 ที่คลุมเครือไม่รู้ว่าเส้นไหนคือเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาคือยาวิเศษ เหนือว่า อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ ผลงานการปักปันของสยาม-ฝรั่งเศสเมื่อ 103 ปีแล้ว ซึ่งระบุแนวหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนพื้นที่เขาพระวิหารแล้ว


นายกรัฐมนตรีก็ควรจะประกาศให้ชัดว่าหากกอด MOU 2543 เอาไว้แล้วคณะกรรมการมรดกโลกยังอนุมัติแผนบริหารจัดการเขาพระวิหารให้เป็นของกัมพูชาได้อีก จะขอรับผิดชอบด้วยอะไร !?

"33 ประเด็น ถาม-ตอบ ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน" โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์และทีมงาน

"33 ประเด็น ถาม-ตอบ ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน" โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์และทีมงาน
โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2010 เวลา 4:29 น.






1. พันธมิตรฯ นักวิชาการ คัดค้านเรื่องอะไรเกี่ยวกับเขตแดนไทย-กัมพูชา?

ตอบ:


คัดค้านไม่ให้ประเทศไทยเสียดินแดนจาก


1. ข้อผูกพันแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ทั้งปวงที่ไทยทำกับกัมพูชา
2. การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก


3. การรุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยโดยกัมพูชา










สรุปถาม-ตอบเกี่ยวกับข้อผูกพันแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน กับเขาพระวิหาร

2. แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ทำโดยใคร และเมื่อไหร่?
ตอบ: ทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) โดยสยามไม่เคยเซ็นยอมรับเห็นชอบด้วย และไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส และไม่เป็นไปตามที่ได้มีการเดินสำรวจและตกลงปักปันกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส

3. ถ้าไทยไม่ยึดแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนแล้วฝ่ายไทยยึดหลักอะไรเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ?
ตอบ:
1.สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส (ค.ศ. 1904 และ ค.ศ.1907) และยึดสันปันน้ำเป็นเขตแดน
2.ผลงานการสำรวจและปักปันระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่ยึดสันปันน้ำและหน้าผาเป็นเส้นเขตแดน

4. แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนทำให้ไทยเสียดินแดนเพราะอะไร?
ตอบ: มีความผิดพลาดมาก เขียนผิดธรรมชาติ และรุกล้ำดินแดนไทยบริเวณเขาพระวิหาร 2,875 ไร่ สุ่มเสี่ยงที่ไทยจะเสียดินแดนเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีแผนจะผนวกเข้าเป็นมรดกโลกร่วมกับปราสาทพระวิหาร 1.5 ล้านไร่ และดินแดนส่วนอื่นๆอีกรวม 1.8 ล้านไร่ ตลอดชายแดนไทย-กัมพูชา

5.ข้อผูกพันแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ระหว่างไทยกับกัมพูชามีอยู่ในเอกสารอะไรบ้าง?
ตอบ:
  1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (เอ็มโอยู 2543)
  2. แผนแม่บทฯ พ.ศ. 2546 (ทีโออาร์ 2546)
  3. มติรัฐสภาเรื่องกรอบการเจรจาของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย –กัมพูชา (เจบีซี) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551
  4. บันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)

6. ปัญหา บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 (เอ็มโอยู 2543) ที่สำคัญคืออะไร?
ตอบ:
1. มีการระบุให้ไทย-กัมพูชาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนได้ด้วย ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา (อยู่ใน ข้อ 1 ค.) ทำให้ไทยต้องสุ่มเสี่ยงเสียดินแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

2. งดเว้นดำเนินการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมพื้นที่ชายแดน (ข้อ 5) โดยฝ่ายกัมพูชานอกจากจะรุกล้ำและยึดครองดินแดนเพิ่มเติมไทยแล้ว กัมพูชายังร้องเรียนกับไทยและนานาชาติกล่าวหาว่าไทยเป็นฝ่ายละเมิดเงื่อนไขนี้ตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน โดยที่ฝ่ายไทยไม่ได้โต้แย้งหลายครั้ง

3. ให้ระงับข้อพิพาทใดๆที่เกิดจาการตีความหรือการบังคับใช้ เอ็มโอยู 2543 โดยสันติวิธีด้วยการปรึกษาหารือและการเจรจา (ข้อ 8) ทำให้กัมพูชาเหิมเกริมรุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยมากขึ้น

4. ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224

5. เป็นเอกสารเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเอกสารหลายชนิดที่มีข้อผูกพันแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน (ดูคำตอบข้อ 5)

7. การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร?

ตอบ:
1. เขตแดนไทย-กัมพูชาซึ่งต้องไปหา/ซ่อมแซม/หลักเขตแดนทางบกเก่า 73 หลัก จาก ช่องสะงำ จ. ศรีสะเกษ (หลักเขตที่ 1) ไปทางทิศตะวันออก ถึง บ้านหาดเล็ก จ.ตราด (หลักเขตที่ 73) ความยาว 603 กิโลเมตร หากสูญหายหรือต้องการทำเพิ่มเพื่อความชัดเจนก็สามารถทำได้
2. เขตแดนถาวรตามธรรมชาติที่ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวหรือทำอะไรอีก เพราะบรรพบุรุษสยามกับฝรั่งเศสได้ตกลงสำรวจและปักปันไปเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ว่าให้ใช้สันปันน้ำและหน้าผาซึ่งชัดเจนมากเป็นเขตแดนถาวรตามธรรมชาติโดยไม่เคยและไม่ต้องสำรวจเพื่อทำหลักเขตแดนใดๆทั้งสิ้น จาก ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออก จนถึง ช่องบก จ.อุบลราชาธานี ความยาว 195 กิโลเมตร ซึ่งย่อมรวมถึงเขาพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย

8. ศาลโลกตัดสินคดี ปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ตัดสินแค่ไหน?
ตอบ:
1. ศาลโลกไม่ตัดสินแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ตามที่กัมพูชาร้องขอ
2. ศาลโลกไม่ตัดสินเส้นเขตแดนตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนตามที่กัมพูชาร้องขอ
3. ด้วยกฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ได้คัดค้านและทักท้วง ศาลโลกตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
4. ไทยจะต้องถอนทหาร, ตำรวจ, ผู้ดูแลจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียง
5. ไทยมีพันธะต้องคืนบรรดาโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับปราสาทคืนให้กัมพูชา



9. ไทยปฏิบัติตัวอย่างไรกับคดีปราสาทพระวิหาร?
ตอบ:
1. ไทยยื่นประท้วง คัดค้าน และสงวนสิทธิ์ในตัวปราสาทพระวิหารต่อองค์การสหประชาชาติ ซึ่งการสงวนไว้ซึ่งสิทธิ์ไม่มีกำหนดระยะเวลา
2. ล้อมรั้วรอบตัวปราสาทสำหรับแนวปฏิบัติการไม่ให้เจ้าหน้าที่ของไทยเข้าไปเท่านั้น โดยไทยยังคงยึดถือว่าแนวหน้าผาและสันปันน้ำที่มีความชัดเจนยังคงเป็นเส้นเขตแดนถาวรตามธรรมชาติที่แท้จริง</span> และในทางปฏิบัติบันไดทางขึ้นตัวปราสาทฯยังอยู่ฝั่งไทย โดยที่กัมพูชาก็ยอมรับสภาพเช่นนี้มาโดยตลอด ไม่เคยร้องขอให้เกินไปกว่านี้แต่อย่างใด
3. หลังจากคดีปราสาทพระวิหาร ประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุขยายคำประกาศรับเขตอำนาจบังคับของศาลโลกจนถึงปัจจุบัน (คำประกาศหมดอายุในระหว่างพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร)

10. ศาลโลกจะขยายผล หรือกัมพูชาจะฟ้องศาลโลกแล้วไทยจะเสียดินแดนมากกว่านี้ได้หรือไม่?
ตอบ:
  1. ไทยได้เรียนรู้ว่าศาลโลกไม่ให้ความเป็นธรรมกับไทย ศาลโลกใช้กฎหมายปิดปากกับไทยเป็นประเทศเดียวและประเทศแรกในโลก ศาลโลกตัดสินตามการเมืองเอาใจเขมรให้มาอยู่ข้างโลกเสรีกับมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น ทั้งนี้ทนายของกัมพูชาก็คืออดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
  2. ศาลโลกจำกัดคำพิพากษาเฉพาะประเด็นที่ฟ้องและตัดสินเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่สามารถขยายผลไปยังแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ได้
  3. ที่จริงแล้วคำพิพากษาศาลโลกไม่มีอำนาจหรือสภาพบังคับประเทศต่างๆได้ แต่ไทยเลือกที่จะปฏิบัติตามโดยดีเอง
  4. การขึ้นศาลโลกคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องยินยอม ไทยจึงมีสิทธิ์ที่จะไม่ยินยอมขึ้นศาลโลกได้

11. เพราะมีเอ็มโอยู 2543 เป็นเครื่องมืออันวิเศษทำให้ไทยกับกัมพูชาจำกัดวงให้เจรจากันเอง โดยไม่ต้องไปศาลโลกอีกครั้งให้ไทยต้องเสียเปรียบ ใช่หรือไม่?
ตอบ: ไม่จริง เพราะศาลโลกไม่สามารถขยายผลเกินกว่าขอบเขตที่ตัดสินในคำพิพากษา ศาลโลกไม่อยู่ในสภาพบังคับไทยได้ และ ไม่มีใครมาบังคับให้ไทยต้องขึ้นศาลโลกได้ (ดูคำตอบข้อ 10)

12. เพราะมีเอ็มโอยู 2543 เป็นเครื่องมืออันวิเศษทำให้องค์การสหประชาชาติหรือนานาชาติไม่มาแทรกแซง จริงหรือไม่ ?
ตอบ: ไม่จริง เพราะกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 วรรค 7 ไม่ให้องค์การสหประชาชาติหรือนานาชาติมาแทรกแซงความสัมพันธ์หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่แล้วตราบใดที่ไม่เป็นอันตรายในระดับนานาชาติ

13. หากไทยยินยอมกัมพูชาที่จะเดินสำรวจเพื่อจัดทำหลักเขตแดนทางบกบริเวณ “เขาพระวิหาร” จะมีความหมายว่าอย่างไร?
ตอบ:
  1. เท่ากับว่าไทยได้สละแนวขอบหน้าผาและสันปันน้ำที่มีความชัดเจนที่สุด ซึ่งบรรพบุรุษสยามกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันเมื่อ 103 ปีที่แล้วว่าให้ใช้เป็นเส้นเขตแดนถาวรตามธรรมชาติโดยไม่ต้องจัดทำหลักเขตแดนใดๆทั้งสิ้น ให้กลายมาเป็นว่าต้องมาสำรวจและตกลงจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชา
  2. ทำให้นานาชาติเข้าใจว่า ไทย-กัมพูชา กำลังยึดถือเส้นเขตแดนอย่างอื่นที่ต้องสำรวจซ้ำและมีความไม่ชัดเจนจนถึงขั้นต้องทำหลักเขตแดนกันใหม่จากที่ไม่เคยมี ซึ่งย่อมต้องหมายถึงแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน มากกว่าจะหมายถึงขอบหน้าผาตามที่ฝ่ายไทยและฝรั่งเศสยึดถือ

14. ในเอ็มโอยู 2543 ไม่ได้มี เฉพาะแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งอยู่ในข้อ 1 (ค) เท่านั้น แต่ยังหมายถึงให้ทำตามสนธิสัญญาในข้อ 1 (ก) และ 1(ข) ได้ด้วย จึงไม่ได้สรุปว่าจะใช้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ใช่หรือไม่?
 ตอบ:
1. “ชื่อเต็มของแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน” อ้างว่าเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันระหว่างสยามกับอินโดจีน ซึ่งทำตามสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ทำให้นานาชาติย่อมเข้าใจว่า แผนที่เป็นผลงานสุดท้ายที่สรุปกันแล้ว จึงต้องยึดเอาแผนที่เป็นหลักตลอดแนวเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยไม่มีการยกเว้นในระวางใดทั้งสิ้น
2. เอกสารกรมสนธิสัญญากระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2547 ระบุชัดเจนว่าหากสันปันน้ำขัดแย้งกับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ให้ยึดแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนเป็นหลัก รวมถึงระวางดงรักและเขาพระวิหารด้วย
3. หากยึดตามสนธิสัญญาว่าให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนจริง ก็คงไม่มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ในบริเวณเขาพระวิหาร เพราะบริเวณดังกล่าวบรรพบุรุษสยามกับฝรั่งเศสเมื่อ 103 ปีที่แล้วได้สรุปให้ใช้ขอบหน้าผาซึ่งเป็นสันปันน้ำที่มีความชัดเจนให้เป็นเขตแดนตามธรรมชาติโดยไม่ต้องจัดทำหลักเขตแดนใดๆทั้งสิ้น
4. กัมพูชากล่าวหาไทยว่าใช้ทหารรุกรานดินแดนกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ทั้งในบันทึกผลการประชุม เจบีซี และในคณะกรรมการมรดกโลก แต่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ทักท้วงแต่ประการใด

15. ผลบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน?
ตอบ:
1. บันทึกการประชุมเพื่อสำรวจซ้ำและจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่โดยเฉพาะบริเวณเขาพระวิหาร เสมือนเป็นการสละผลงานการสำรวจและปักปันของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมสยาม-ฝรั่งเศสซึ่งได้สรุปไปเมื่อ 103 ปีที่แล้วว่า ให้ใช้แนวสันปันน้ำและหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนถาวรตามธรรมชาติโดยไม่เคยต้องทำหลักเขตแดนใดๆ
2. เป็นผลบันทึกการประชุมที่มีคำปราศรัยใส่ร้ายประเทศไทยว่ารุกล้ำดินแดนกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน โดยที่ฝ่ายไทยไม่ได้มีการโต้แย้งใดๆ
3. มีร่างข้อตกลงชั่วคราว ที่ยืนยันจะใช้ เอ็มโอยู 2543 และ ทีโออาร์ 2546 ซ้ำ และยังตกลงจะให้ทหารทั้งสองฝ่ายออกจากดินแดนบริเวณเขาพระวิหาร ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นพื้นที่สันติภาพ และทำให้แผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชาสามารถดำเนินการได้ทันที

16. เอ็มโอยู 2543 คือเครื่องมืออันวิเศษที่ทำให้ไทยสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสดงว่าว่าฝ่ายกัมพูชาละเมิดเอ็มโอยู 2543 เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม จริงหรือไม่? และหากไม่มี เอ็มโอยู 2543 ก็จะไม่มีเครื่องมือไปบอกว่ากัมพูชาทำผิดข้อตกลง จริงหรือไม่?
ตอบ:
ไม่จริง เพราะไทยเรามีสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส และผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมสยาม-ฝรั่งเศส ที่สามารถระบุชัดเจนด้วยเหตุผลที่แข็งแรงกว่าว่า “กัมพูชาละเมิดอธิปไตยไทย”รุกล้ำเลยแนวสันปันน้ำและขอบหน้าผา
ตรงกันข้ามเหตุผลของ เอ็มโอยู 2543 ที่ใช้เหตุผลว่า มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่พิพาทนั้น กลับใช้กับพื้นที่ซึ่งเป็นของไทยและไม่เคยเป็นของกัมพูชามาก่อน มาบัดนี้ไทยก็ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในดินแดนไทยได้แต่อย่างใด
ซ้ำร้ายกัมพูชากลับกล่าวหาว่าไทยเป็นฝ่ายเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ตามเอ็มโอยู 2543 อีกด้วย

17. ข้อผูกพันแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน แม้มีปัญหาในอดีตก็จะต้องกลับมาเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาอยู่ดี เราไม่ควรห่วงเกินไป จริงหรือไม่?
ตอบ:
  1. กัมพูชาได้อาศัยเงื่อนไทยที่ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบรุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยในส่วนที่กัมพูชาไม่เคยครอบครองมาก่อน
  2. กัมพูชาสามารถโฆษณาชวนเชื่อจากข้อผิดพลาดมากมายกับนานาชาติว่าไทย-กัมพูชา ยึดถือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนแล้ว
  3. ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาได้ใช้เป็นเอกสารประกอบพิจารณาแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชา
  4. รัฐสภาไทยมีโอกาสตกเป็นเครื่องมือของอำนาจทุนที่ครอบงำพรรคที่เอื้อประโยชน์ต่อกัมพูชาได้

18. เอ็มโอยู 2543 ยกเลิกฝ่ายเดียวไม่ได้ จริงหรือไม่?
ตอบ: ไม่จริง ไม่มีข้อห้ามใน เอ็มโอยู 2543 ว่าห้ามยกเลิก แม้แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ใช้ ครม.ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 (บันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล) กับกัมพูชามาแล้วทั้งๆที่ในเวลานั้นอ้างเหตุผลทางการเมือง ในขณะที่กัมพูชาได้ละเมิดเอ็มโอยู 2543 ไปแล้วหลายครั้ง ไทยจึงมีสิทธิ์ และมีความชอบธรรมที่จะยกเลิก เอ็มโอยู 2543 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

คำถามเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

19. สาระสำคัญการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ปี 2551 คืออะไร?
ตอบ:
  1. ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
  2. กัมพูชาได้ส่งแผนผังรวมถึงขอบด้านข้างตัวปราสาทพระวิหารซึ่งไทยถือว่ารุกล้ำดินแดนไทย
  3. กัมพูชาเสนอเอกสารในลักษณะจะทำให้พื้นที่กันชน และพื้นที่พัฒนารอบตัวปราสาทพระวิหาร กินรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย
  4. กัมพูชาเสนอเอกสารแผนที่ภาพรวมว่าเขตแดนไทย-กัมพูชาคือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ส่วนไทยไม่ทักท้วงในประเด็นนี้
  5. จะมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อให้ความคุ้มครองทรัพย์สินมรดกโลก (มี 7 ชาติ อเมริกา,จีน,ญี่ปุ่น,ฝรั่งเศส,เบลเยียม,กัมพูชา,ไทย)
  6. กำหนดให้กัมพูชายื่นแผนบริหารจัดการในปี 2553

20. สาระสำคัญการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33 ปี 2552 คืออะไร?
ตอบ:กัมพูชาได้ร้องต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่า ไทยใช้กำลังทหารรุกรานกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ในบริเวณเขาพระวิหารตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมาจนทำให้กัมพูชาเสียหาย โดยฝ่ายไทยไม่ทักท้วงแต่ประการใด

21. สาระสำคัญการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34 ปี 2553 คืออะไร?
ตอบ:
  1. คณะกรรมการมรดกโลกได้แจ้งในรายงานว่า องค์การยูเนสโกได้ให้เงินช่วยเหลือรัฐบาลกัมพูชา จำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ ซ่อมและสร้างตลาดกัมพูชาในดินแดนไทย เพราะจากเหตุที่กัมพูชาได้กล่าวหาว่าไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน โดยที่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ทักท้วงอีก
  2. กัมพูชาได้ส่งมอบแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนให้กับทุกชาติประกอบแผนบริหารจัดการมรดกโลก (ยกเว้นประเทศไทย)
  3. ไทย-กัมพูชา ยอมลงนามในร่างมติประนีประนอมระหว่างกัน โดยให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชาในการประชุมครั้งที่ 35 เดือนมิถุนายน 2554
22. เหตุผลที่เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารเป็น มิถุนายน 2554 เพราะอะไร?
ตอบ:
1. ฝ่ายไทยร้องเรียนว่ากัมพูชาได้ส่งเอกสารล่วงหน้าไม่ถึง 6 สัปดาห์ ผิดกติกามรดกโลก
2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นชอบให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ ลงนามประนีประนอมกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 โดยมีเงื่อนไขจะทำให้ไทยต้องเสียเปรียบในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ในเดือนมิถุนายน 2554

23. สิ่งที่นายสุวิทย์ คุณกิตติลงนามร่างมติประนีประนอมกับกัมพูชาและคณะกรรมการมรดกโลกสรุปว่ามีเนื้อหาอะไร?
ตอบ:
1. รับมอบเอกสารการประชุมครั้งที่ 34
2. อ้างถึงมติคณะกรรมการมรดกโลกและการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกย้อนหลังทั้งหมดในกรณีปราสาทพระวิหาร
3. ศูนย์มรดกโลกได้รับมอบเอกสารจากกัมพูชาแล้ว
4. จะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานฯพื้นที่มรดกโลกปราสาทพระวิหาร 7 ชาติ
5. จะตัดสินพิจารณาเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 35 ปี 2554

24. สิ่งที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ลงนาม มีนัยยะต่อการประชุมครั้งที่ 35 ปี เดือนมิถุนายน 2554 ว่าอย่างไร?
ตอบ:
1. ไทยและคณะกรรมการมรดกโลกได้รับมอบเอกสารล่วงหน้าแล้ว 1 ปี ก่อนถึงการประชุมครั้ง ที่ 35 ในเดือนมิถุนายน 2554 ทำ
ฝ่ายไทยให้หมดข้ออ้างที่เคยใช้ว่ากัมพูชาไม่ได้ยื่นแผนบริหารจัดการล่วงหน้า 6 สัปดาห์ตามกติกาของคณะกรรมการมรดกโลก
2. ไทยได้รับมอบเอกสารการประชุมครั้งที่ 34 ซึ่งทุกประเทศ (ยกเว้นประเทศไทย)ต่างได้รับมอบแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน
3. ไทยได้ยอมรับการอ้างอิงและการรับรองรายงานการประชุมและการลงมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งการขึ้น
ทะเบียนปราสาทพระวิหารที่ขีดเส้นกระทบไทย, การอ้างอิงแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน, การอ้างว่าไทยรุกรานกัมพูชาตาม
แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน, การที่ยูเนสโกให้เงินสนับสนุนกัมพูชาสร้างตลาดในดินแดนไทยเพราะไทย
รุกรานกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน โดยที่ไทยไม่ได้ปฏิเสธ
4. ไม่ปฏิเสธการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆโดยรัฐภาคีเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์
อย่างยั่งยืนของปราสาทพระวิหาร 7 ชาติ

25. เอ็มโอยู 2543 ที่อ้างว่าการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไม่แล้วเสร็จ เป็นเหตุผลที่ทำให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการมรดกโลก จริงหรือไม่?
ตอบ:
  1. ไม่จริง เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการมรดกโลกได้รับแต่แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน โดยไทยไม่คัดค้านจึงเชื่อว่าคำว่า การจัดทำหลักเขตแดนไม่แล้วเสร็จนั้น หมายถึงไม่แล้วเสร็จตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งไม่กระทบต่อพื้นที่บริหารจัดการมรดกโลกที่น้อยกว่าเขตแดนตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน
       และชื่อของแผนที่ใน เอ็มโอยู 2543 นานาชาติย่อมเข้าใจว่า เป็นแผนที่ซึ่งได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาและคณะ
       กรรมการปักปันสยามกับฝรั่งเศส จึงเป็นผลลัพธ์ของการกำหนดเส้นเขตแดน
2. ไม่จริง เพราะถ้าเชื่อเช่นนั้นจริง ยูเนสโกจะไม่ให้เงินมาสนับสนุนสร้างตลาดกัมพูชาในดินแดนไทย
3. ไม่จริง เพราะถ้ามีน้ำหนักทำให้เลื่อนได้จริง นายสุวิทย์ คุณกิตติ ไม่จำเป็นต้องลงนามในร่างข้อตกลงประนีประนอมที่ทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเปรียบในการประชุมมรดกโลกครั้งที่ 35 ในเดือนมิถุนายน 2554

26. เงื่อนไขที่สำคัญที่จะทำให้คณะกรรมการมรดกโลกอนุมัติแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชาคืออะไร?
ตอบ:
  1. ฝ่ายไทยหมดข้ออ้างตามที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้ลงนามประนีประนอมกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553
  2. พื้นที่รอบเขาพระวิหารเป็นพื้นที่สันติภาพและสงบ ไม่มีทหารและไม่มีการปะทะ ตลอดจนมีการรื้อถอนสิ่งที่ไม่เกี่ยวออกจากแผนบริหารจัดการมรดกโลกออกจากพื้นที่
คำถามเกี่ยวกับกรณีกัมพูชารุกล้ำและยึดครองดินแดนไทย

27. หลังจากไทยได้ลงนามใน เอ็มโอยู 2543 กับกัมพูชาแล้วเกิดอะไรขึ้น?
ตอบ:
1. กัมพูชาประกาศพระราชกฤษฎีกาใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนบริเวณเขาพระวิหาร ทั้งๆที่ไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน
2. รุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยมากขึ้นบริเวณเขาพระวิหาร ทั้งการขยายตลาด ชุมชน สร้างวัด สร้างถนนวิ่งอ้อมจากฝั่งกัมพูชาเข้ามาในดินแดนไทยขึ้นถึงตัวปราสาทพระวิหาร และขยายตัวมากขึ้นอย่างไม่หยุด
3. ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก พร้อมทั้งนำแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนเป็นเอกสารประกอบด้วย
4. รุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยเพิ่มเติม ทั้งช่องตาเฒ่า, ปราสาทโดนตรวล, ปราสาทตาเมือนธม, ภูมะเขือ, ปราสาทตาควาย, ถนนศรีเพ็ญ ฯลฯ
5. เป็นฝ่ายร้องเรียนกับนานาชาติว่าไทยละเมิด เอ็มโอยู 2543 รุกล้ำดินแดนกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน

28. การประท้วงถือว่าไทยยังไม่เสียดินแดนจริงหรือไม่?
ตอบ: ในทางพฤตินัยถือว่าไทยได้สูญเสียดินแดน เพราะไทยไม่แสดงอธิปไตยเหนือดินแดนในบริเวณที่ถูกรุกรานและยึดครองได้ เช่น การเก็บภาษี การบังคับใช้กฎหมาย การเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ฯลฯ ยิ่งที่ปล่อยให้เป็นปัญหานานวันก็ยิ่งยากในการขอพื้นที่คืน

29. ต้องการสงครามกัมพูชาหรือไม่?
ตอบ: การปะทะตามตะเข็บชายแดนเพื่อรักษาอธิปไตย เป็นการปะทะจำกัดขอบเขต ต่างกันกับการทำสงครามอย่างสิ้นเชิง

การละเมิดอธิปไตยควรใช้การเจรจาและทางการทูตเป็นจุดเริ่มต้น แต่หากไม่ฟังแล้ว ไทยต้องแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนในพื้นที่ดังกล่าวให้ได้ เช่น การใช้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, การจัดเก็บภาษี การบังคับใช้กฎหมาย การเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา แต่เมื่อฝ่ายทางการไทยอ่อนแอกัมพูชาจึงเหิมเกริมและใช้กองกำลังทหารติดอาวุธรุกรานและยึดครอง ดังนั้นไทยก็มีความชอบธรรมที่จะใช้ทหารในการผลักดันเช่นกันเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ

30. กลยุทธ์ทางการทหารของกัมพูชาคืออะไร?
 ตอบ:
1. ใช้ทหารบุกรุกยึดครองแล้วขยายชุมชนให้กัมพูชายึดครองโดยพฤตินัย
2. พื้นที่มรดกโลกปราสาทพระวิหาร เมื่อใกล้ถึงวันพิจารณาแผนบริหารจัดการ กัมพูชาจึงถอนชุมชน เพื่อให้ถอนทหารและงดเว้นการปะทะทั้งสองฝ่าย โดยใช้ข้ออ้างในการสำรวจและทำหลักเจแดนตามเอ็มโอยู 2543 แต่แท้ที่จริงก็คือการทำให้เป็นพื้นที่สันติภาพเพื่อให้แผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมมรดกโลกครั้งที่ 35 ถือเป็นการนำนานาชาติมาผ่านเวทีมรดกโลกมาสร้างความชอบธรรมให้กัมพูชายึดครองดินแดนไทย ขยายความชอบธรรมในกรรมสิทธิ์ในดินแดนดังกล่าวให้เป็นของกัมพูชาในระหว่างที่เจรจาไม่สำเร็จตามที่กัมพูชาต้องการ

31. กัมพูชาถอนชุมชน ตลาดและวัด โดยอ้างหลายครั้งว่าสถานภาพถอยกลับไปก่อนวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 โดยฝ่ายไทยอ้างเป็นผลงานว่าเป็นผลงานจาก เอ็มโอยู 2543 และการเจรจา จริงหรือไม่?
ตอบ:
กัมพูชาอ้างว่าให้ถอยกลับไปก่อน วันที่ 15 กรกฎาคม 2551 หมายถึงว่า ทหารไทยได้เลิกรุกรานกัมพูชาตาแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน และพร้อมที่จะบริหารจัดการในพื้นที่มรดกโลกแล้ว โดยกัมพูชาได้สร้างหลักฐานเอกสารอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ
  1. ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33 กัมพูชาให้ร้ายว่าไทยรุกรานกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2551 จนองค์การยูเนสโกให้เงินสนับสนุนกัมพูชาให้ซ่อมสร้างตลาดในดินแดนไทย 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยไทยไม่ทักท้วง
  2. ในคำปราศรัยในบันทึกผลการประชุม ประธานเจบีซีฝ่ายกัมพูชากล่าวร้ายว่าตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ประเทศไทยได้มีการปะทะละเมิดเอ็มโอยู 2543
32. การลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ได้อะไร?
ตอบ:
  1. ยกเลิกสิ่งที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ และไม่ยอมรับการละเมิดอธิปไตยไทย
  2. ถือเป็นการปฏิเสธมติคณะกรรมการมรดกโลกที่ผิดพลาดในการประชุมที่ผ่านมาทั้งหมด และสิ่งทีกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตโดยฝ่ายไทยได้แจ้งล่วงหน้าก่อนแล้ว
  3. หากไทยลาออกจาภาคีอนุสัญญามรดกโลกล่าช้า หรือยังจะใช้เป็นเวทีในการเจรจาคัดค้านต่อไป ย่อมเท่ากับว่าไทยยอมรับมติคณะกรรมการมรดกโลกที่ผ่านมา และหากปล่อยผ่านไปถึงการประชุมลงมติแผนบริหารจัดการมรดกโลกในครั้งที่ 35 ในเดือนมิถุนายน 2554 แล้ว ไทยจะต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจอีกหลายชาติ จากที่เคยเผชิญหน้ากับกัมพูชาประเทศเดียว
  4. ไม่กระทบต่อทะเบียนมรดกโลกที่ได้อนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้
33. ข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย?
1. ลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เพื่อแสดงการปฏิเสธมติคณะกรรมการมรดกโลกและองค์การยูเนสโกที่ได้ละเมิดอธิปไตยไทยและไม่ฟังคำทักท้วง
2. ผลักดันชุมชนและทหารกัมพูชาออกจากดินแดนไทย พร้อมทั้งทวงคืนแผ่นดินไทยกลับมาดังเดิม
3. ยกเลิกและหยุดยั้งข้อผูกพันทั้งปวงที่เกี่ยวเนื่องกับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน






ภาพที่ 5 ความหมายใน เอ็มโอยู 2543 ของกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลก
และกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศของไทย


ภาพที่ 6 กัมพูชาได้ยื่นเอกสารร้องเรียนคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกว่าไทย รุกรานกัมพูชาตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน


กัมพูชาได้เงินสนับสนุนจากยูเนสโก 5 หมื่นเหรียญสหรัฐซ่อมแซมตลาดกัมพูชาในดินแดนไทย เพราะไทยรุกรานกัมพูชาตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แสดงว่าเงื่อนไขเอ็มโอยู 2543 นานาชาติไม่ได้เข้าใจเหมือนที่รัฐบาลไทยบอกคนไทย


อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 7 แห่ง 1.5 ล้านไร่ ฝ่ายไทยได้มีแผนที่จะไปผนวกเข้ากับมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ทั้งๆที่ทะเบียนมรดกโลกถือโดยกัมพูชา








 












ภาพที่ 4 ความหมายของรัฐบาลอธิบายเส้นเขตแดนมีให้เลือก 2 เส้นหลังเซ็น เอ็มโอยู 2543

ภาพที่ 3 เส้นเขตแดนของไทยที่ยึดถือหลังคำพิพากษาศาลโลก (สีแดง) และได้ล้อมรั้ว (ตามเส้นสีเหลือง) สำหรับแนวปฏิบัติการให้เจ้าหน้าที่ไทยถอนออกจากพื้นที่ดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลโลก

ภาพที่ 2 เส้นเขตแดนที่สำรวจและปักปันเสร็จเมื่อ 103 ปีที่แล้ว โดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสม สยาม-ฝรั่งเศส

ภาพที่ 1 ภาพแสดงลักษณะเขตแดนไทย (พื้นที่สีเขียว) – กัมพูชา (พื้นที่สีขาว) มีเส้นเขตแดน 2 ประเภทคือ 1. เส้นเขตแดนถาวรที่ใช้สันปันน้ำและหน้าผาที่มีความชัดเจนตามธรรมชาติ จากหลักเขตที่ 1 ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกจนสุดที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ความยาว 195 กิโลเมตร (เส้นสีน้ำเงิน) 2. เส้นเขตแดนที่ไม่ชัดเจนและมีการทำหลักเขตแดน ตั้งแต่ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันตกและลงมาทางใต้จนสุด บ้านหาดเล็ก จ.ตราด ความยาม 603 กิโลเมตร มีการจัดทำหลักเขตแดนทางบกตั้งแต่หลักที่ 1 ถึง 73 (เส้นสีแดง)


 
หน้าปกหนังสือแบบสรุปสั้น"33 ประเด็น ถาม-ตอบ ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน" แจกฟรีไม่มีจำหน่าย (ช่วยกันเผยแพร่ให้มากที่สุด)

“ทำไมต้องยัดข้อหา 7 คนไทยรุกเขตแดนเขมร”? โดย อ. ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อวันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ.2553 สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ได้ลงพื้นที่สำรวจที่จังหวัดสระแก้ว พร้อมกับสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ เพื่อสอบถามชาวบ้านที่เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกรุกล้ำและยึดครองที่ดินทำกินของประชาชนชาวไทยใน จ.สระแก้ว


หลักฐานชัดเจนว่าประชาชนจำนวนมากในจังหวัดสระแก้ว ได้รับผลกระทบจากกรณี UNHCR ได้ขอให้ประเทศไทยได้ช่วยเหลือเขมรอพยพในยุคเขมรแตกซึ่งหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในราชอาณาจักรไทย  และประเทศไทยได้ให้ความเมตตาช่วยเหลือและกั้นรั้วเอาไว้เพื่อจำกัดไม่ให้เขมรอพยพออกนอกพื้นที่  ครั้งเมื่อสงครามในประเทศกัมพูชาสงบลงก็ปรากฏว่าเขมรบางส่วนก็ได้กลับประเทศและบางส่วนก็ยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนไทยและยึดที่ทำกินให้กลายเป็นของชาวกัมพูชา ทั้งๆที่ดินเหล่านั้นคนไทยมีเอกสารสิทธิ์ในการทำกินในพื้นที่ดังกล่าวอย่างชัดเจน


การที่ข้าราชการและนักการเมืองปล่อยปละละเลย ก็ทำให้ชุมชนชาวกัมพูชาขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และเหิมเกริมจนทำให้มีกองกำลังทหารเข้ามาอารักขาที่ดินทำกินเหล่านั้นให้ตกเป็นของกัมพูชา โดยที่คนไทยเข้าไปทำกินพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้  ฝ่ายกัมพูชาได้ยึดแนวรั้วที่ UNHCR กั้นให้เอาไว้เป็นหลัก อีกทั้งมีการเคลื่อนย้ายหลักเขตทางบกเพื่อความได้เปรียบในเรื่องเส้นเขตแดนของกัมพูชา
           
เพราะหลักเขตเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสถูกเคลื่อนย้ายไปมา หรือสูญหายได้ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (บันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543) จึงมีวัตถุประสงค์หนึ่งคือหาหลักเขตทั้งหมด 73 หลักในตำแหน่งเดิมที่สยามกับฝรั่งเศสตกลงกัน นับตั้งแต่ ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ (หลักเขตที่ 1) ไปทางทิศตะวันตกจนสุดที่ บ้านหาดเล็ก จ.ตราด (หลักเขตที่ 73) ซึ่งได้มีการจัดทำหลักเขตแดนเป็นแท่งคอนกรีตแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1919  (พ.ศ. 2462)


จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 นายวีระ สมความคิด ได้เดินเข้าไปสำรวจดินแดนไทยแล้วถูกทหารเขมรจับในพื้นที่ซึ่งมี น.ส. 3 ของนายเบ พูลสุข ซึ่งเสียภาษีให้กับรัฐไทยทุกปี แต่ไม่มีโอกาสกลับเข้าไปทำมาหากินอีก


จึงไม่น่าแปลกใจที่ 7 คนไทย ซึ่งเดินเข้าไปสำรวจหลักเขตแดนทางบกนั้น จึงได้ถูกทหารเขมรจับในที่ดินที่มีการแจ้งการครอบครองที่ดินของราชอาณาจักรไทยประเภท ส.ค. 1 ของนายบุญจันทร์ เกษธาตุ ซึ่งก็เสียภาษีให้กับรัฐไทยทุกปีเช่นกัน แต่ก็ไม่มีโอกาสกลับเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวอีก


หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คนไทยเคยมาอยู่อาศัย และทำมาหากินโดยที่คนกัมพูชาไม่เคยมาอยู่อาศัยมาก่อน แต่เพราะหลักเขตมีโอกาสเคลื่อนย้ายไปมา หรือถูกทำลาย สร้างใหม่ตลอดระยะเวลา 92 ปี จึงมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะเจรจาหาตำแหน่งหลักเขตเดิมนั้นเกิดความผิดพลาดได้


ด้วยเหตุผลนี้เอง รัฐบาลหรือข้าราชการไทย จึงไม่ควรด่วนสรุปโดยเด็ดขาดว่า 7 คนไทยรุกเข้าไปในพื้นที่กัมพูชาโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุผล 3 ประการสำคัญคือ



  1. จุดที่ถูกจับทั้ง 2 ครั้ง มีทั้ง น.ส. 3 และ ส.ค. 1 โดยปรากฏชื่อ-สกุล ปรากฏตัวตนที่ชัดเจนที่มีสิทธิ์ทำกินและจ่ายภาษีให้รัฐไทยครบถ้วน แต่ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปทำกินเพราะเขมรมาอาศัยอยู่


2. ปรากฏหลักฐานชัดเจนในการเข้ามาของเขมรอพยพที่หนีสงครามในประเทศมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในพื้นที่ดังกล่าวย่อมชัดเจนว่าเป็นผืนแผ่นดินไทย เคยมีคนไทยทำมาหากิน แต่ถูกกัมพูชาเข้ามายึดครองอยู่ในปัจจุบัน


3. คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)  ยังตกลงเรื่องการหาหลักเขตเดิมที่แน่นอนของหลักเขตที่ 46, 47, 48 ยังไม่ได้ (ซึ่งเป็นบริเวณจุดที่ทหารเขมรจับกุมชาวไทย) และหลักเขตมีการเคลื่อนย้ายมาแล้วหลายครั้ง


4. รัฐสภายังไม่ผ่านความเห็นชอบพิกัดหลักเขตที่ 46, 47, 48 เพราะ เจบีซีไทย-กัมพูชยังตกลงกันไม่ได้ จึงยังไม่เริ่มต้นแม้กระทั้งการับฟังความเห็นของประชาชน และการทำประชาพิจารณ์ ฯลฯ


แต่เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งว่าคนไทยด้วยกันเอง ทั้งรัฐบาล ทหาร กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัด นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต่างกล่าวหาว่าคนไทยรุกเข้าไปในเขตแดนกัมพูชาแล้วได้อย่างไร?


เรื่องนี้ตัวละครอย่าง “นายพนิช วิกิตเศรษฐ์” ที่ได้รับมอบภารกิจ “ลับ” เพื่อชวนภาคประชาชนลงหลายพื้นที่ซึ่งมีปัญหานั้น มีความหมายอย่างยิ่ง !!!


เพราะแปลว่านายกรัฐมนตรีต้องการตรวจสอบความผิดปกติโดยที่ไม่ให้มีใครรู้ โดยข้ามผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 1 และกองกำลังบูรพา


ซึ่งอาจถูกตีความให้ง่ายขึ้นก็คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี “ไม่ไว้ใจทหาร”   


ลองคิดดูว่า ถ้านายพนิช ได้เดินทางไปกับภาคประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวในพื้นที่แล้วพบเหตุการณ์สมมุติดังต่อไปนี้ เช่น ทหารไทยถอนกำลังออกจากวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา  หรือ 7 คนไทยในดินแดนของไทยแล้วค้นพบความจริงว่ามีชุมชนและทหารกัมพูชาเต็มไปหมด โดยที่ 7 คนไทยไม่ถูกทหารเขมรจับกุม จะเกิดอะไรขึ้น!!!?


สถานการณ์ที่ประชาชนโจมตีรัฐบาลเรื่อง บันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 จะถูกเบี่ยงประเด็นโยนออกไปว่า ภาคประชาชนกับรัฐบาลค้นพบร่วมกันว่าทหารเป็นปัญหาเพราะเป็นผู้ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องชายแดนไทย-กัมพูชา ใช่หรือไม่?


ถือเป็นชนักชั้นดีที่เอาไว้ติดหลังทหาร !?


ทั้งๆที่ความเป็นจริงข้อตกลงใน บันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 ของรัฐบาลต่างหาก ที่เป็นปัญหาทำให้ทหารไม่สามารถใช้กองกำลังในการผลักดันชุมชนและทหารกัมพูชาให้ออกจากพื้นที่ได้!!


ด้วยเหตุนี้รายงานของฝ่ายความมั่นคงจึงตอบโต้ด้วยการส่งรายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวเสียตั้งแต่วันแรกๆแบบชุ่ยๆว่า คนไทยรวมถึงนาย พนิช ส.ส.ประชาธิปัตย์ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจนายกรัฐมนตรี ได้รุกเข้าไปในเขตแดนกัมพูชาถึง 1.2 กิโลเมตร


แต่เมื่อภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวจับผิด แสดงเอกสารสิทธิ์ในที่ทำกิน กระทรวงการต่างประเทศก็มีการตั้งคณะทำงานอีก 1 ชุด ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ลงเข้าไปในพื้นที่จริงจึงได้แต่ประมาณการตัวเลขใหม่ว่าไทยรุกแดนเขมรหดเหลือ 55 เมตร


ล่าสุดจากคำพูดของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคือคนไทยรุกแดนกัมพูชาตามแนวสันปันน้ำ 8 เมตร!!!?


ดังนั้นการด่วนสรุปจากอำนาจรัฐทุกส่วนว่าคนไทยต้องผิดนั้น น่ามีความเคลือบแคลงสงสัยว่าจะมีความแฝงเร้นไปด้วยผลประโยชน์หลายระดับหรือไม่?


เช่น ในระดับล่างๆก็คือสินค้าเถื่อนหนีภาษี, ข้าราชการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่อ้างว่าใกล้เขมรจึงอันตรายแล้วขอซื้อต่อมาในราคาถูกๆแล้วขายให้นักการเมืองท้องถิ่นเพื่อออกโฉนด, ขีดเส้นล้อมรั้วให้เป็นพื้นที่เขมรสมคบพ่อค้าเพื่อตัดไม้พะยูงไปขาย, ต้องการความสงบรักษาด่านเพื่อบ่อนคาสิโน


ส่วนในระดับรัฐบาลก็มีผลประโยชน์ระดับชาติก็คือการเจรจาผลประโยชน์พลังงานในอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ของมหาอำนาจทุนข้ามชาติและนักการเมืองเพียงไม่กี่คน


ดังนั้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อเดินหน้าผลประโยชน์ ทุกฝ่ายจึงพร้อมใจกันด่วนสรุปในทุกกระบวนท่าว่า 7 คนไทยต้องรุกเข้าไปในดินแดนกัมพูชา


เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบและแสวงหาผลประโยชน์ต่อไปกับกัมพูชาต่อไปได้   ... มันก็แค่นั้นเอง!!!?

นายบุญจันทร์ เกษธาตุ พร้อมบุตรสาว นางนีรนุช ปรากฏตัวยืนยัน 7 คนไทยถูกจับในดินแดนไทย

ที่ดินนายบุญจันทร์ เกษธาตุ มีเอกสาร ส.ค. 1 เสียภาษีทุกปีถูกระบุ 7 คนไทยถูกจับบนที่ดินผืนนี้ ซึ่งเป็นแผ่นดินไทย

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง