จรัล ดิษฐาอภิชัย วิพากษ์รายงานอัปยศกรณีพฤษภาเลือดของกก.สิทธิฯ:ขัดหลักสากล-ไม่เป็นกลาง
ราย งานกสม.ฉบับนี้ขัดกับหลักการaddress to stateที่นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกยึดถือปฏิบัติ และขัดต่อหลักการความเป็นกลาง ข้อสรุปรายงานนี้ แสดงให้เห็นว่า กสม. ไม่เป็นกลาง เข้าข้างรัฐบาลและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง (แฟ้มภาพไทยอี นิวส์:จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าพบหารือมองซิเออร์ฟรองซัว ซิมเมอเรย์ เอกอัครรัฐทูตด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 23 เดือนก่อน)
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เนื่องจากผมไม่ได้อ่านรายงานทั้งฉบับ ผมเขียนข้อคิดเห็นเชิงหลักการต่อข้อสรุปที่ไทยอีนิวส์นำมารายงานข่าว (อ่านข่าวเรื่อง:กรรมการสิทธิด้วยกันใจไม่ด้านพอ เบรกรายงานฉบับหมอชูชัย92ศพผิด ไล่กลับไปเขียนใหม่)
น.พ.ชู ชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้นจากการชุมนุมของ นปช.ซึ่งมีข้อสรุปว่ารัฐบาลทำตามกฎหมายไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ
ข้อสรุปรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณ๊การสลายการชุมนุมของ ประชาชนภายใต้การนำของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ(นปช.)หรือคนเสื้อแดง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)มีปัญหาทางหลักการสิทธิมนุษยชน อย่างน้อย ๒ ประการ คือ
๑ หลักการสิทธิมนุษยชนเรียกร้องต่อรัฐ(address to state)ให้เคารพ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนพลเมือง เรียกร้องให้รัฐปกป้องคุ้มครอง หากมีการละเมิดสิทธิดังกล่าว
เพราะรัฐเป็นองค์อำนาจทางการเมือง การปกครองและอำนาจกฎหมาย มีกองกำลัง มีฐานะเหนือกว่าพลเมือง
ในการตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นการกระทำของรัฐบาลและเจ้า หน้าที่รัฐ หรือเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน จะต้องเริ่มต้น และเน้นการกระทำของรัฐเป็นหลัก
กรณีการสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ ๑๒ มีนาคม ถึง ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๐ กสม.จะต้องมุ่งตรวจสอบการกระทำของรัฐ
-ตั้งแต่รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑
-การประกาศ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณฺฉุกเฉิน
-การวางกำลังทหารตำรวจเกือบ ๕ หมื่นคน
เป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทาง ข่มขู่ คุกคามการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างไร
-การปิดสถานีโทรทัศน์ประชาธิปไตย ปิดวิทยุชุมชุน บล๊อกเวบไซต์
-การเคลื่อนกำลังทหาร ใช้ระเบิดแกสน้ำตา ฉีดน้ำ การใช้ปืนสงคราม ยิงใส่ฝูงชน ฯลฯ เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย เพราะมีคนเสียชีวิต ๙๓ คน บาดเจ็บ ๒๐๐๐ กว่าคน
มิใช่เริ่มจากความชอบ หรือไม่ชอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของการชุมนุมว่า ไม่สงบและมีอาวุธ และว่าการชุมนุมไปละเมิดเสรีภาพของประชาชนทั่วไป กีดขวางการสัญจร ไปมา ละเมิดสิทธิของผู้ป่วย ฯลฯ
หลักการข้อนี้ นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกยึดถือปฏิบัติอยู่เสมอ เช่น กรณีตำรวจจับผู้ร้าย ใช้วิธีการสอบสวนด้วยการทุบตี ทรมาน วิสามัญฆาตกรรม หรือกรณีทหารรัฐบาลสังหารฝ่ายขบถ(เช่น กรณีชายแดนภาคใต้) ฯลฯ เมื่อมีผู้ถูกละเมิดร้องเรียนต่อองค์การสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน การตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารดังกล่าว จะสอบข้อเท็จจริงว่า ได้กระทำอย่างนั้นอย่างนี้ จริงหรือไม่ ไม่มีข้อยกเว้น
แม้ผู้ถูกละเมิดจะเป็นฆาตรกร ๑๐๐ ศพ หรือนักค้ายาเสพติดระดับโลก การกระทำความผิด หรือการตอบโต้ของฝ่ายถูกละเมิดสิทธิฯ ไม่เป็นเหตุผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิซ้อมผู้ต้องหา หรือยิงทิ้งคนผิด ต้องจับให้ศาลพิจารณาตัดสินคดี
๒. หลักการความเป็นกลาง ข้อสรุปรายงานนี้ แสดงให้เห็นว่า กสม. ไม่เป็นกลาง เข้าข้างรัฐบาลและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง รับรองและแก้ต่างให้รัฐบาลและกองกำลังทหารในการปฏิบัติหน้าที่ว่า ทำตามกฎหมายบ้าง มีความจำเป็นบ้าง ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักบ้าง รวมทั้งทหารถูกคนชุดดำเข่นฆ่าบ้าง ทำร้ายบ้าง ฯลฯ
เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล คาดได้เลยว่า หากมีการชุมนุมของพันธมิตร หรือ ประชาชนกลุ่มใด แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสลาย กสม.ชุดนี้ จะรีบตรวจสอบและสรุปผลการตรวจสอบว่า รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างแน่นอน เหมือนกับกสม.ชุดที่แล้วที่มีนายเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน เนื่องจากไม่เป็นกลางเข้าข้างพันธมิตร
เมื่อเกิดกรณีตำรวจสลายการชุมนุมล้อมรัฐสภาของพันธมิตรเมื่อวันที่๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ กสม.ชุดนั้นรีบลงไปตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน สรุปว่า รัฐบาลโดยนายสมชาย วงส์สวัสดี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ. เพชรวาท วงศ์สุวรรณ พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นความผิดทางอาญา ซึ่งยังเป็นคดีอยู่จนถึงวันนี้
เมื่อได้อ่านรายงานนี้ทั้งฉบับ ผมจะเขียนมาอีก
จรัล ดิษฐาอภิชัย