บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

เปิดข้อมูลแผนที่เขมรผิดพลาดทางภูมิประเทศ

ทนายสาวของฝ่ายไทยชี้แผนที่ 1 ต่อ 200,000ของกัมพูชาไม่มีความแม่นยำ-ผิดพลาดทางภูมิประเทศ ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทางสากล

น.ส.อลินา มิรอง ทนายความฝ่ายไทย ขึ้นให้การต่อศาลโลก ว่า โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของแผนที่อัตราส่วน 1:200,000 หรือ แผนที่ภาคผนวกที่ 1 ที่กัมพูชาได้นำเสนอต่อคณะผู้พิพากษาฯ รวมถึงคำร้องของกัมพูชาได้ใช้แผนที่มาอ้างอิงหลายฉบับ สังเกตได้จากคำว่า “maps” ที่เป็นพหูพจน์ ดังนั้น ขอให้คณะผู้พิพากษาฯได้พิจารณาให้รอบคอบ 

ทั้งนี้ แผนที่ของกัมพูชาได้นำมาแสดงนั้น เป็นการเลือกใช้แผนที่ซึ่งเป็นประโยชน์กับตัวเอง โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ ได้ให้ความเห็นไว้ว่าแผนที่ที่กัมพูชานำมาอ้างนั้น ในทางสากลไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริงเพราะมีความผิดพลาดทางภูมิประเทศ แม้ว่ากัมพูชาระบุหลายครั้งว่าศาลโลกฯ ได้รับรองแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 ตามคำพิพากษา เมื่อปี 2505 แต่เมื่อทีมต่อสู้คดีของไทยไปค้นดูคำพิพากษาความยาว 1,500 หน้า ไม่ปรากฎการบันทึกใดที่เป็นการรับรองแผนที่ฉบับดังกล่าว รวมถึงคำพิพากษาในปี 2505 ศาลโลกใช้แผนที่ฉบับใดมาเป็นหลักในการพิจารณา

“ถ้านำแผนที่เก่าของกัมพูชามาวางไว้บนแผนที่ปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีความแม่นยำ แต่ไม่ทราบว่ามีการนำแผนที่มาสับเปลี่ยนกันหรือไม่ และต้องขอชื่มชมกัมพูชา หากเราจะตัดสินจากความละอายของกัมพูชาที่ไม่มีการโต้แย้งในเรื่องนี้ สิ่งที่ทนายฝ่ายกัมพูชา ให้ถ้อยแถลงต่อคณะผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ระบุว่าแผนที่ที่ได้นำเสนอนั้นเป็นการขีดเส้นตัดกันระหว่างแผนที่ในภาคผนวก 1 และแนวเส้นสันปันน้ำ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากการถ่ายทอดแผนที่ในอดีตมายังแผนที่ปัจจุบันมีความยาก เพราะต้องใช้วิธีทางคณิตศาสตร์ และหากนำแผนที่ตามถ้อยแถลงของทนายฝ่ายกัมพูชามาอ้างอิงจะพบว่าส่วนที่ตัดกันนั้นอยู่ห่างจากตัวปราสาท มากถึง 6.8กม.” น.ส.อลินนากล่าว

นอกจากนี้ ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่างประเทศ ระบุว่าวิธีการของกัมพูชาจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของแผนที่ มากถึง 500 เมตรในทางตอนเหนือของปราสาทพระวิหาร ดังนั้น เห็นชัดว่ากัมพูชาไม่สนใจในความถูกต้องของภูมิประเทศรอบปราสาท รวมถึงภูมะเขือ และเทือกเขาพนมดงรัก ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่สำคัญ และไม่สามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในเวลา 50 ปี

สำหรับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. กัมพูชาไม่มีแผนที่ที่สามารถพิสูจน์พื้นที่ได้แน่นอน แม้จะอ้างว่าปราสาทพระวิหารนั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดกโลกแล้ว เพราะตามแผนที่ศาลโลกใช้ประกอบการตัดสินคดีเมื่อปี 2505 แต่ข้อเท็จจริงยูเนสโก ได้ใช้แผนที่ของปี 2011 ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นสิ่งที่น่าประหลาดว่ากัมพูชาได้ยื่นเพิ่มเติมหลังจากจบการนำเสนอ

อย่างไรก็ดี กัมพูชาได้อ้างอิงสนธิสัญญา ปี 1904 ว่าได้ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร เป็นของกัมพูชา แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้พูดถึงตัวปราสาทพระวิหาร ระบุเพียงแค่เขตแดน และในแผนที่ฉบับอื่นๆ เช่น แผนที่ในปี 1937 ที่แสดงให้เห็นว่าตัวปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่ไม่สามารถใช้กำหนดเขตแดนได้ เพราะไม่ชัดเจนในแง่ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ, แผนที่ปี 1947 ที่ประเทศไทย ได้เสนอต่อคณะกรรมการระหว่างสยาม – ฝรั่งเศส มีลักษณะคล้ายกับแผนที่ภาคผนวก 1 คือ แสดงให้เห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ทางตอนใต้ของเส้นเขตแดน แต่ส่วนอื่นๆ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้น ทำให้คณะพิพากษา ปี 2505 ไม่ได้ให้คุณค่าที่จะใช้พิสูจน์เขตอธิปไตย 

“เส้นในแผนที่ที่กัมพูชานำเสนอนั้น มีความแตกต่างเฉพาะเขตที่เป็นพื้นที่ปราสาท ประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดนหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีความชัดเจน แสดงให้เห็นว่าฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ศาล เห็นชอบให้ใช้เส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน และหากพิจารณาตามแผนที่ 85 D เท่ากับกัมพูชามีความต้องการขยายอาณาเขตเดิมมาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ด้วย”น.ส.อลินา กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.อลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนียของฝ่ายไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ และเป็นผู้ช่วยของ ศ.อแลง แปลเล่ต์ 

วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

เผยภาพหลักฐาน "ฝ่ายไทย" ที่จะใช้ประกอบแถลงด้วยวาจาในศาลโลก


วันที่ 15 เมษายน 2556 (go6TV) นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายอิสระ ได้เปิดเผยภาพถ่ายหลักฐานของทางฝ่ายไทยที่จะนำไปใช้ในการไต่สวนด้วยวาจาในศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่จะมีกำหนดไต่สวนกันระหว่างวันที่ 15-19 เมษายนนี้ โดยมีข้อความอธิบายดังนี้

"ไทยยกหลักฐานมาต่อสู้ว่า วันที่ 5 มกราคม 2506 สมเด็จพระนโรดม สีหนุเสด็จทางพระบาทขึ้นไปยังปราสาทโดยบันไดโบราณด้านทิศ ตะวันออกจากดินแดนกัมพูชาด้านตีนของหน้าผา ในขณะที่ทรงประทับบนเขา พระองค์ก็ไม่เคย ย่างพระบาทล้ารั้วลวดหนามหรือพื้นที่ซึ่งประเทศไทยพิจารณาว่าเป็นส่วนของดินแดนไทยแต่อย่างใด เมื่อสมเด็จพระนโรดม สีหนุถูกสอบถามเกี่ยวกับรั้วลวดหนามที่เป็นเหตุให้เกิดความกังวลใจ ก่อนการแสวงบุญ การสนทนาเกิดขึ้นดังนี้ เมื่อพระองค์กล่าวถึงการก่อสร้างเขตรั้วลวดหนามของประเทศไทย พระองค์อธิบายสิ่งนี้ว่าเป็นการรุกล้าของประเทศไทยเข้ามาหลายเมตร ในดินแดนของกัมพูชาซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินให้ พระองค์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พระองค์จะไม่ทาให้เรื่องนี้เป็นประเด็น เนื่องจากระยะทางไม่กี่เมตรนี้ไม่มีความสำคัญ"






50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร โดย กระทรวงต่างประเทศ


50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร

กระทรวงการต่างประเทศ

1.ศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเมื่อใด ว่าอย่างไร ?

ตอบ :

ศาลโลกได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 ตัดสินให้

(1) ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตย ของกัมพูชา

(2) ไทยต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ซึ่งไทยส่งไปประจำที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท

(3) ไทยต้องคืนบรรดาโบราณวัตถุที่ไทยอาจได้โยกย้าย ออกไปจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณปราสาท อย่างไรก็ตาม ศาลโลกไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนระหว่าง ประเทศทั้งสอง และไม่ได้ตัดสินว่าเขตแดนจะต้องเป็นไปตาม แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง

2. ไทยปฏิบัติตามคำตัดสินศาลโลกอย่างไรบ้าง ?

ตอบ :

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2505 รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลโลก แต่ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะยินยอมปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลจากคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2505 พ.อ.ถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ได้มีหนังสือแจ้งการปฏิบัติตามคำพิพากษาแก่ผู้รักษาการเลขาธิการ สหประชาชาติโดยระบุว่า ไทยขอสงวนสิทธิที่ไทยมีหรืออาจมีในอนาคตที่จะเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ให้ไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก โดยกำหนดขอบเขตปราสาท คือ ทางทิศเหนือที่ระยะ 20 เมตรจากบันไดนาคไปทาง ทิศตะวันออกจนถึงช่องบันไดหัก และทางทิศตะวันตกที่ระยะ100 เมตร จากแกนของตัวปราสาทไปทางทิศใต้จนจรดขอบหน้าผา รวมทั้งให้สร้างป้ายแสดงเขต และล้อมรั้วลวดหนาม

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2505 ฝ่ายไทยได้นำเสาธงไทยออกจากพื้นที่นั้น และถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากปราสาท


ภาพแนวลวดหนามแสดงขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ตามมติคณะรัฐนมตรี วันที่ 10 กรกฏาคม 2505

3. ไทยส่งมอบเฉพาะปราสาทที่เป็นหิน แต่พื้นดินใต้ตัวปราสาทยังเป็นของไทยอยู่จริงหรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่ใช่ พื้นดินใต้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาเช่นเดียวกับ ตัวปราสาท ด้วยผลของคำตัดสินของศาลโลกที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไต​ยของกัมพูชา

4. สรุปว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 หลังศาลโลกตัดสินปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาใช่หรือไม่ ?

ตอบ: ใช่


ภาพเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทำการถอนเสาธงชาติไทยออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารโดยไม่ลดธงลง (ที่มา นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 282 สิงหาคม 2551)


ภาพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงนำชาวกัมพูชาขึ้นไปยังตังปราสาทพระวิหาร ในปี พ.ศ. 2506 หลังฝ่ายไทยส่งมอบปราสาทคืนแก่กัมพูชาแล้ว (ที่มา หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์)

5. การสงวนสิทธิ์ในจดหมายของ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ สงวนสิทธิว่าอย่างไรและขณะนี้มีผลหรือไม่ ?

ตอบ :

วันที่ 6 ก.ค. 2505 พ.อ.ถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศ ได้มีหนังสือถึงรักษาการ เลขาธิการสหประชาชาติว่า รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2505 ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา แต่ในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากคำพิพากษา ตามข้อ 94 ของกฎบัตร สหประชาชาติโดยในหนังสือดังกล่าวได้แจ้งด้วยว่า ไทยขอสงวนสิทธิที่ไทยมีหรืออาจมีในอนาคตที่จะเรียกเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่หรือจะเกิดขึ้นในภายหลัง

ทั้งนี้ กระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติ และธรรมนูญศาลโลก กล่าวคือ คำพิพากษาของศาลโลกถือเป็นที่สุดและไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก แต่หากจะขอให้ศาลพิจารณาแก้ไขคำพิพากษาตามข้อ 61 ของธรรมนูญศาลโลกแล้ว คู่กรณีก็ต้องเสนอหลักฐานใหม่ภายในระยะเวลา 10 ปีหลังจากที่ศาล มีคำพิพากษา ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดไปตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515

6. ไทยหรือกัมพูชาสามารถรื้อฟื้นคดีปราสาทพระวิหารได้หรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่ได้ เพราะเลยกำหนดเวลา 10 ปี ในการยื่นขอให้ศาลโลกแก้ไขคำตัดสินแล้ว (ข้อ 61 ของธรรมนูญศาลโลก) และคำตัดสินของศาลโลกถือเป็นที่สุด (ข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก)

7. การรื้อฟื้นคดี กับการยื่นขอตีความ คำพิพากษาเหมือนกันหรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่เหมือนกัน การรื้อฟื้นคดี คือ การขอให้ศาลโลกเปลี่ยนคำพิพากษา เช่น ขอให้ศาลโลกตัดสินว่าปราสาท พระวิหารเป็นของไทย ซึ่งทำไม่ได้แล้วเพราะเลยกำหนดเวลา 10 ปีมาแล้ว แต่การขอตีความ คือ การขอให้ศาลอธิบายว่า คำตัดสินเดิมหมายความว่าอย่างไร ซึ่งสามารถทำเมื่อใดก็ได้ เพราะไม่มีกำหนดเวลา


ภาพบรรยากาศการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ปี 2505 (ที่มา วิวัฒนาการสังคมไทยกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต เล่ม 2 โดย วิชิต ณ ป้อมเพชร)

8. หลังจากปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกประเทศไทยยึดถือแนวเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิห​ารอย่างไรและกัมพูชายึดถือเส้นเขตแดนใด ?

ตอบ :

ไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนตามข้อบทของ อนุสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 ส่วนเส้นขอบเขตปราสาท ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ก.ค.2505 นั้น ไทยไม่ถือว่าเป็นเขตแดน สำหรับกัมพูชายึดถือเส้นตามแผนที่ 1 : 200,000 ดังนั้น จึงยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากไทยและกัมพูชายังตกลงกันไม่ได้ และยังต้องเจรจากันในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (JBC)

สันปันน้ำ คือแนวสันต่อเนื่องในภูมิประเทศเมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำเป็นสองส่วนซึ่งอาจไม่ใช่สันเขาหร​ือขอบหน้าผาก็ได้โดยปกติต้องใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการพิสูจน์หาสันปันน้ำ ทั้งนี้ตรงบริเวณปราสาทพระวิหารจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีกำรสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประ​เทศจริง

9. แผนที่ชุดL7017คืออะไร ?

ตอบ :

แผนที่ลำดับชุด L7017 คือ แผนที่ประเทศไทยมาตราส่วน 1 : 50,000 ที่จัดทำขึ้นโดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่งมีการพิมพ์หลายครั้ง โดยในแต่ละครั้งได้มีการปรับปรุงรายละเอียดให้ถูกต้องและชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ภาพโดยประมาณแสดง พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยเส้นสีฟ้าเป็นเส้นเขตแดนตามความเข้าใจของไทย ตามแผนที่L7017 เส้นเหลืองเป็นขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 ส่วนเส้นสีแดงเป็นเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1 ต่อ 200000 ระวางดงรักตามความเข้าใจของกัมพูชา

10. ทำไมจึงมี “พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน4.6ตารางกิโลเมตร” ?

ตอบ :

“พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เกิน 10 ปีมานี้ โดยเป็นผลจากการ ที่กัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับไทยตามที่เคยตกลงกันไว้ที่จะร่วมมือพัฒนาเขาพระวิหารและบูรณ​ปฏิสังขรณ์ ปราสาทพระวิหารเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนร​ะหว่างสองประเทศ ในการยื่นขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กัมพูชาต้องกำหนดพื้นที่กันชน (Buffer zones) รอบๆ ปราสาท ซึ่งได้ปรากฏแน่ชัด อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนในการประชุมคณะกรรมการ มรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.- 2 ก.ค.2550 ว่า พื้นที่ที่กัมพูชาต้องการล้ำเข้ามาในดินแดนไทยประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,000 ไร่ ในการนี้กัมพูชาได้อ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 โดยถ่ายทอดเส้นตามที่กัมพูชาเข้าใจเอาเอง และไม่ตรงกับเส้นที่กัมพูชาอ้างในคดีเดิม ปี พ.ศ.2505

ดังนั้นเรื่อง “พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร” จึงเป็นปัญหาเขตแดนที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งไทยและกัมพูชามีพันธกรณีต้องแก้ไขร่วมกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยการเจรจาในกรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย -กัมพูชา (JBC) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเขตแดน


11. ไทยและกัมพูชา มีกลไกใดในการแก้ไขปัญหาด้านเขตแดน ?

ตอบ :

กลไกหลักในการแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย -กัมพูชา คือ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย -กัมพูชา (JBC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2540 และมีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (MOU) ปี พ.ศ.2543 เป็นกรอบในการดำเนินการ มีวัตถุประสงค์หลักในการร่วมกันสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก การประชุมเจบีซีครั้งล่าสุดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 14 ก.พ.2555 ณ กรุงเทพมหานคร

12. การรักษาสิทธิทางด้านเขตแดนตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องทำอย่างไร ?

ตอบ :

ทำได้โดยการแสดงอธิปไตยของไทยในรูปแบบต่าง ๆในพื้นที่ที่ไทยมีสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ หากประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องดำเนินการใดที่ละเมิดสิทธิของไทย ไทยจะยื่นหนังสือประท้วงในระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่น ซึ่งมีผลตามกฎหมายระหว่างประเทศในการรักษาสิทธิทางด้านเขตแดน

13. กัมพูชายื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อใด ?

ตอบ :

กัมพูชาได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) โดยได้ส่งเอกสาร เพื่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกให้แก่ ศูนย์มรดกโลกเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2549 เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี 2550

14. ในครั้งแรก กัมพูชาเอาอะไรไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกบ้าง ?

ตอบ :

กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหาร ชะง่อนเขาที่มีพื้นที่กว้าง หน้าผา และถ้ำต่าง ๆ ที่อยู่รอบปราสาท

15. คำขอของกัมพูชาที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี2549 มีปัญหาอย่างไร ?

ตอบ :

กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ ปรึกษาหารือกับไทยตามที่เคยตกลงกันไว้ในกรอบคณะกรรมการร่วม เพื่อพัฒนาเขาพระวิหารและมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ไทย - กัมพูชา ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2546 ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร และบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพระวิหารเพื่อเป็นสัญลักษณ์ แห่งมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ กัมพูชายังได้แนบแผนที่กำหนดเขตหลัก เขตกันชน และเขตพัฒนาของบริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งล้ำเข้ามาในดินแดนไทย ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ (พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร) ประกอบคำร้องยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 31 เมื่อปี 2550 ได้มีมติ 
(1) ให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารออกไป

(2) ให้กัมพูชาเพิ่มมาตรการอนุรักษ์และการจัดการโบราณสถานพร้อมกับแสดงความคืบหน้าในการจ​ัดทำแผนบริหารจัดการ ที่เหมาะสมซึ่งความคืบหน้าดังกล่าวจะช่วยให้สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอย่างเป็นทางการได้ในการประชุมคณะกรรมการ มรดกโลก สมัยที่ 32 ปี2551 และ

(3) ให้กัมพูชารายงาน ความคืบหน้าแก่ศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 ก.พ.2551 ซึ่งต่อมากัมพูชาได้เสนอรายงานความคืบหน้าแก่ศูนย์มรดกโลก ภายในกำหนด

16. ทำไมประเทศไทยจึงคัดค้านคำขอของกัมพูชา ?

ตอบ :

ไทยคัดค้านคำขอของกัมพูชาไม่ใช่เพราะว่าไม่ต้องการ ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไทยเป็นห่วงว่าพื้นที่รอบปราสาทที่กัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ต้นนั้นรุกล้ำดินแดนไทยคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร และหากไทยและกัมพูชายังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องพื้นที่ดังกล่าว คงไม่สามารถดูแลและพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหารได้

17. ไทยเคยขอขึ้นทะเบียนร่วมหรือไม่และกัมพูชาว่าอย่างไร ?

ตอบ :

ไทยได้เสนอให้กัมพูชาถอนคำขอขึ้นทะเบียนเดิมของตนในหลายโอกาส และไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน โดยให้ไทยและกัมพูชานำปราสาทพระวิหารในพื้นที่ฝั่งกัมพูชา รวมทั้งพื้นที่ในดินแดนไทยที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการปราสาทในฐานะมรดกโลกไปขึ้น​ทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน แต่กัมพูชาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาอย่างชัดเจนจึงเป็นสิทธิโดยช​อบธรรมของกัมพูชาที่จะขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว


ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงตัวปราสาทพระวิหาร

18. กระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้พยายามแก้ไขปัญหาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาอย่างไร ?

ตอบ :

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2550 กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือประท้วงคัดค้านการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็น​มรดกโลกมีการหารือระหว่างรมว.ต่างประเทศ ของทั้งสองฝ่ายที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2551 ไทยยืนยันว่า ไทยไม่ขัดขวางการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร แต่จะต้องไม่กระทบสิทธิเรื่องเขตแดนและอธิปไตยของไทย ต่อมาวันที่ 30 มี.ค.2551 มีการหารือระดับนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย โดยไทยเสนอให้จัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน ในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร จากนั้นวันที่ 14 พ.ค. 2551 รมว.ต่างประเทศ ได้หารือกับนายสก อาน รองนายกฯกัมพูชา ที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา โดยฝ่ายไทยย้ำว่า ปัญหาอยู่ที่การกำหนดเขตพื้นที่บริหารจัดการที่ล้ำเข้ามาในดินแดนไทย

19. จากการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชกัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงคำขอและทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนอย่างไร ?

ตอบ :

กัมพูชาตกลงที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร และได้เสนอแผนผังใหม่ให้ไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการ​ยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ปี 2551 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา กัมพูชาลดขนาดทรัพย์สินที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนลงเหลือเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ไม่รวมชะง่อนเขา หน้าผา และถ้ำต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง และกัมพูชาได้ใช้แผนผังฉบับใหม่ ประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนโดยแสดงเฉพาะตัวปราสาท และไม่ได้แสดงเส้นเขตกันชนและเขตพัฒนาที่รุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย

20. คณะกรรมการมรดกโลกมีมติขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อใด อาศัยเหตุผลอย่างไร ?

ตอบ :

ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ที่เมือง ควิเบก ประเทศแคนาดา มีมติเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2551 ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เนื่องจาก มีคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลตามหลักเกณฑ์ 3 ข้อของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ได้แก่ (1) เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดยิ่ง (2) เป็นเอกลักษณ์หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม และ (3) เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒน​ธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม


ภาพภายในบริเวณปราสาทพระวิหาร

21. โบราณสถานที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกครอบคลุมเพียงใด ?

ตอบ :

คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ไม่รวมชะง่อนเขา ที่มีพื้นที่กว้าง หน้าผา และถ้ำต่าง ๆ ตามข้อ 9 ของข้อตัดสินของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ปี 2551

22. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยหรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่รุกล้ำ เพราะโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนมีเพียงเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น ซึ่งศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

23. การที่กัมพูชาลดขนาดโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนลงและทำแผนผังใหม่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก เฉพาะตัวปราสาท มีผลดีหรือผลเสียต่อไทยอย่างไร ?

ตอบ:

เป็นผลดี เนื่องจากเป็นการจำกัดการขึ้นทะเบียนแค่ตัวปราสาท ไม่ได้เอาเรื่องเขตแดนที่ยังเป็นปัญหาอยู่มาเกี่ยวข้อง

24. คณะผู้แทนไทยที่เข้ำร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ที่ควิเบก ดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

ตอบ :

ในการประชุมดังกล่าว ไทยในฐานะผู้สังเกตการณ์(ไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ในขณะนั้น) ได้คัดค้านการขึ้นทะเบียน รวมทั้งเอกสารทุกชิ้นและแผนผังทั้งปวงที่กัมพูชายื่นประกอบคำขอขึ้นทะเบียน

25. ตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกการขึ้นทะเบียนของโบราณสถานที่มีมากกว่าหนึ่งประเทศอ้างสิ​ทธิ์จะทำให้กระทบสิทธิประเทศอื่นที่อ้างสิทธิในเขตแดนหรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่กระทบ เนื่องจากตามข้อ 11 วรรค 3 ของอนุสัญญาการคุ้มครองมรดกโลก มีสาระสำคัญว่า การรวมเอาโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิโดยประเทศมากกว่าหนึ่งประเ​ทศจะไม่กระทบการอ้างสิทธิของอีกประเทศหนึ่งที่เป็นคู่พิพาทไม่ว่าทางใด

26. ไทยควรถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกหรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่ควร เนื่องจากการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ยังเปิดโอกาส ให้ไทยมีสิทธิคัดค้าน แทนที่จะปล่อยให้กัมพูชาดำเนินการอยู่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ การที่ไทยประกาศเจตนารมณ์ลาออกจากการเป็นภาคี อนุสัญญาฯ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่35 ปีพ.ศ. 2554 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ยังไม่ถือว่าเป็นการถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เนื่องจากการถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จะมีผลสมบูรณ์12 เดือน ภายหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือบอกเลิกการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ซึ่งไทยยังไม่เคยยื่นหนังสือดังกล่าว ดังนั้น จึงถือว่าปัจจุบันไทยยังเป็นภาคีอนุสัญญาฯ

27. กัมพูชายื่นตีความคำตัดสินศาลโลกเมื่อใด ?

ตอบ :

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2554 และในเวลาเดียวกันกัมพูชาขอให้ศาลโลกมีคำสั่งมาตรการชั่วคราวด้วย


ภาพวังสันติภาพ (Peace Palace)ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ทำการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ที่มา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ)

28. ทำไมไทยต้องไปต่อสู้คดีการยื่นตีความนี้ในศาลโลก ?

ตอบ :

เพราะการยื่นคำขอต่อศาลโลกของกัมพูชาในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีใหม่ แต่เป็นการขอให้ศาลตีความคดีเก่า ที่ศาลโลกได้ตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2505 และหากไทยปฏิเสธที่จะต่อสู้คดีในศาลโลก กัมพูชาสามารถเรียกร้องให้ศาลตัดสินบนพื้นฐานของคำขอ คำให้การและเอกสารประกอบของฝ่ายกัมพูชาฝ่ายเดียวได้ ตามข้อ 53 ของธรรมนูญศาลโลก ซึ่งเมื่อศาลโลกมีความตัดสินออกมาก็จะมีผลผูกพันไทยด้วย

29. การยื่นขอตีความของกัมพูชามีรายละเอียดพอสังเขปอย่างไร ?

ตอบ :

กล่าวโดยสรุปก็คือ กัมพูชาขอให้ศาลโลกวินิจฉัยว่า ไทยต้องเคารพดินแดนของกัมพูชา ซึ่งดินแดนในพื้นที่ปราสาท และบริเวณใกล้เคียงถูกกำหนดโดยแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก)


ภาพที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร ตามแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1 ต่อ 200000 ระวางดงรัก

30. ข้อต่อสู้ของไทยมีอย่างไรบ้าง ?

ตอบ :

ข้อต่อสู้ของไทยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การคัดค้านคำขอให้มีมาตรการชั่วคราว และข้อต่อสู้ในคดีตีความซึ่งเป็นคดีหลัก การคัดค้านคำขอให้มีมาตรการชั่วคราว

(1) ศาลโลกไม่มีอำนาจเบื้องต้น เนื่องจากไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกครบถ้วนแล้ว รวมทั้งไม่มีข้อพิพาทในประเด็นที่กัมพูชายกขึ้น นอกจากนี้ คำขอของกัมพูชาไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับประเด็นในสาระสำคัญของข้อพิพาท

(2) ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้ศาลโลก ต้องมีคำสั่ง ออกมาตรการชั่วคราว เนื่องจาก

ขณะนี้กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย -กัมพูชา(JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย - กัมพูชา (GBC) และการระงับข้อพิพาทโดยกลไกทวิภาคีโดยมีอาเซียน (ASEAN)สนับสนุน มีความคืบหน้าดี

และเหตุปะทะตามแนวชายแดนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. 2554 ซึ่งกัมพูชากล่าวอ้าง เกิดขึ้นที่บริเวณปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควาย ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทพระวิหาร 158 กม.และ 147 กม.ตามลำดับ

(3) คำขอของกัมพูชาเป็นการด่วนสรุป กล่าวคือ เป็นการตัดสินเรื่องสารัตถะของคดี ทั้ง ๆ ที่ศาลโลกยังไม่ได้ตัดสินคดีตีความ (คดีหลัก)

การคัดค้านคำขอให้พิจารณาคดีตีความ

ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาและกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคำฟ้องของกัมพูชาไม่ใช่คำขอตีความคำพิพากษาเก่าตามที่กัมพูชาอ้าง แต่เป็นการฟ้องคดีใหม่เกี่ยวกับข้อพิพาทใหม่ ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อ 5 -6 ปีมานี้ เพราะกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลก จึงเกิดข้อพิพาทใหม่เรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งอยู่นอกขอบเขตของคดีเก่าเมื่อปี 2505 และเป็นเรื่องที่จะต้องเจรจากันในกรอบของเจบีซีตามบันทึกความเข้าใจปี 2543 ซึ่งการฟ้องคดีใหม่ไม่อาจทำได้เพราะไทยไม่ได้รับอำนาจศาลโลกแล้ว

ดังนั้น คำฟ้องของกัมพูชาจึงเป็นการใช้กระบวนวิธีพิจารณาความไปในทางมิชอบ (détournement de procédure)

ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทในเรื่องการตีความคำพิพากษา ในคดีเดิม คำฟ้องปัจจุบันของกัมพูชาเป็นการเปลี่ยนท่าทีรื้อฟื้นเรื่องที่จบไปตั้งแต่ปี2505 แล้ว เพราะกัมพูชาได้ยอมรับ อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปีนั้นว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว โดยไทยได้ถอนกำลังและเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทพระวิหาร และบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามขอบเขตที่กำหนดโดย มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ก.ค.2505 ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตของพื้นที่พิพาทในคดีเดิมตามความเข้าใจทั้งของคู่ความและของศา​ล

คำฟ้องของกัมพูชาเป็นเสมือนการอุทธรณ์ที่ซ่อนมา ในรูปคำขอตีความ ซึ่งขัดธรรมนูญศาลและแนวคำพิพากษาของศาลเรื่องการตีความ เนื่องจากกัมพูชาขอตีความคำพิพากษา ส่วนที่เป็นเหตุผล ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำตัดสิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ศาลตัดสินสิ่งที่ศาลได้เคยปฏิเสธที่จะตัดสินให้แล้วอย่า​งชัดแจ้งเมื่อปี 2505 เนื่องจากอยู่นอกขอบเขตของคดี คือหนึ่ง เส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน และสอง แผนที่ผนวกคำฟ้องของกัมพูชาที่กัมพูชาเรียกว่า “แผนที่ภาคผนวก 1” นั้นมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ดังนั้น ไทยจึงเห็นว่าศาลไม่มีอำานาจพิจารณาและไม่อาจรับ คำขอของกัมพูชาได้ หรือหากศาลเห็นว่ามีอำนาจและรับคำขอก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องตีความ หรือหากศาลฯ เห็นว่ามีอำนาจและรับคำขอให้ตีความ ก็ควรตัดสินว่าคำพิพากษาศาลฯ ในปี 2505 มิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตาม “แผนที่ภาคผนวก 1


31. คณะบุคคลและผู้รับผิดชอบในการต่อสู้คดีที่ศาลโลกประกอบไปด้วยบุคคลใดบ้างและแบ่งความ​รับผิดชอบอย่างไร ?

ตอบ :

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 คือ

1. แต่งตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนทนายของฝ่ายไทย รมว.ต่างประเทศ รมว.กลาโหม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก เจ้ากรมแผนที่ทหาร อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และผู้อำนวยการกองเขตแดน

2. แต่งตั้งคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดี และ3. มอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่างๆ (ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายจากหน่วยงานภาครัฐและภาควิ​ชาการรวม 34 คน มีรมว.ต่างประเทศเป็นประธาน) เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาทำหน้าที่กลั่นกรองให้ความเห็น ก่อนนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดท่าทีของฝ่ายไทย ในกระบวนการพิจารณาคำขอตีความของศาลโลกนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป


ภาพบรรยากาศการพิจารณาคำขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 (ที่มา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ)

32. รัฐบาลไทยได้ว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศเป็นทนายของฝ่ายไทยกี่คนมีใครบ้างมีปร​ะวัติย่อๆอย่างไร ?

ตอบ :

3 คน ได้แก่ (1) ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (2) ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ และ (3) ศาสตราจารย์อแลง เเปลเล่ต์ ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นชอบให้บุคคลดังกล่าว เป็นที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศสำหรับต่อสู้คดีในศาลโลก โดยพิจารณาจากคุณสมบัติและความสามารถที่โดดเด่นเป็นหลัก รวมถึงการยอมรับในระดับสากลด้วย


ภาพคณะทนายความของไทยใน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ด เป็นชาวออสเตรเลีย ปัจจุบัน เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร มีประสบการณ์ว่าความในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ มากที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งในศาลโลกศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศและศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาทด้านการลงทุน โดยเคยเป็นทนายความให้แก่รัฐบาลมาเลเซียในคดีเกาะปูเลา บาตู ปูเต๊ะห์ เมื่อปี 2551 และคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสิปาดันและลิติกัน

ศาสตราจารย์แม็คเรย์ มีสัญชาติแคนาดา/นิวซีแลนด์ เป็นสมาชิกศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่ปี 2531 และสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2549 นอกจากนี้ยังเป็นทนายความของรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งคดีต่าง ๆ ในองค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ปี 2541 ถึงปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้านเขตทางทะเล ระหว่างปี 2543 -2548 เป็นที่ปรึกษาของแคนาดาในข้อพิพาทระหว่างแคนาดา-สหรัฐอเมริกา ในคดีเขตทางทะเลในอ่าวเมน และระหว่างแคนาดา -ฝรั่งเศส ในคดีเขตทางทะเลบริเวณหมู่เกาะแซงปีแยร์และมีเกอลง และเป็นทนายความให้สาธารณรัฐซูรินาเม ในคดีระหว่างกายอานากับซูรินาเม เมื่อปี 2549

ศาสตราจารย์เเปลเล่ต์ มีสัญชาติฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปารีสนองแตร์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2533 และเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติจากปี 2540 ถึง 2541 โดยมีประสบการณ์ว่าความในศาลโลกมากกว่า 35 คดี เป็นที่ปรึกษากฎหมายและทนายให้แก่ประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย (คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือ หมู่เกาะสิปาดัน และลิกิตัน และสิงคโปร์ (คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะเปดรา บลังกา)

33. บุคคลใดมีอำนาจและเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลตามข้อ32 ?

ตอบ :

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายฯเป็นทนายฝ่ายไทย ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

34. การต่อสู้คดีที่ศาลโลกของคณะบุคคลตาม ข้อ32 ในสมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการดำเนินการอะไรบ้าง ?

ตอบ :

1. ประชุมร่วมกับคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทยเพื่อเตรียมข้อต่อสู้ของไทย 2. ร่วมจัดทำคำให้การและทำหน้าที่เป็นทนายให้การ ต่อศาลโลกในระหว่างการนั่งพิจารณาของศาลโลก ระหว่างวันที่ 30 - 31 พ.ค.2554

35. หลังจากที่รัฐบาลปัจจุบันที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้ำมาบริหารประเทศได้เปลี่ยนแปลงคณะบุคคลต่างๆที่รับผิดชอบในการดำเนิน​คดีหรือไม่อย่างไร ?

ตอบ :

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะบุคคลที่รับผิดชอบ

36. เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอให้กัมพูชาถอนฟ้องก่อนศาลโลกตัดสิน ?

ตอบ :

กัมพูชาเป็นฝ่ายยื่นขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ซึ่งเป็นสิทธิของคู่ความตามข้อ 60 ของธรรมนูญ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และย่อมเป็นฝ่ายที่สามารถ ขอถอนคำขอให้ศาลโลกตีความดังกล่าว อย่างไรก็ดี รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการทางการเมืองและการทูตมาอย่างสม่ำเสมอ โดยคำนึงถึงความมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกันของทั้งไทยและกัมพูชา ทั้งนี้ สาธารณชนควรมีความเข้าใจด้วยว่า ประเด็นปราสาทพระวิหารเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองภายในของกัมพูชาเช่นเด​ียวกัน จึงคาดว่ากัมพูชาน่าจะไม่ถอนฟ้อง

37. ศาลโลกได้มีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนตัดสินคดีเมื่อใดและอย่างไร ?

ตอบ :

ศาลโลกมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2554 ดังนี้

(1) ให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากเขตปลอดทหาร ชั่วคราวที่ศาลฯกำหนด และงดเว้นการดำเนินกิจกรรมที่ใช้อาวุธไปยังพื้นที่ดังกล่าว

(2) ไม่ให้ไทยขัดขวางการเข้าออกปราสาทพระวิหาร โดยเสรีของกัมพูชา หรือการส่งเครื่องอุปโภคบริโภคไปยังบุคลากรที่ไม่ใช่ทหารของกัมพูชาที่อยู่ในปราสาทพ​ระวิหาร

(3) ให้อนุญาตผู้สังเกตการณ์ที่ตั้งขึ้นโดยอาเซียนเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราว

(4) ให้งดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ข้อพิพาทในศาลโลกทวีความร้ายแรงหรือแก้ไขยากขึ้น


ภาพเขตปลอดทหารชั่งคราว ตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554

38. ไทยและกัมพูชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องมาตรการชั่วคราวหรือไม่และถ้าไม่ปฏิบัติตาม​จะมีผลอย่างไร ?

ตอบ :

ไทยและกัมพูชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลก เนื่องจากข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ กำหนดว่ารัฐสมาชิก สหประชาชาติต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก หากไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายอาจเสนอเรื่องให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาออกมาตรการเพื่อให้ปฏิบั​ติตาม คำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลก (ข้อ 94 วรรค 2 ของกฎบัตร สหประชาชาติ)

39. หลังจากที่รัฐบาลปัจจุบัน ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศคณะบุคคลต่างๆที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีได้ดำเนินการต่อสู้คดีที่ศาลโลกในเรื่องใดบ้าง ?

ตอบ : คดีตีความ

จัดทำข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร และคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทยร่วมกับผู้แทนคณะดำเนินคดีปราสาทพ​ระวิหารของประเทศไทยและคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ตามแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2554 และวันที่ 5 มิ.ย. 2555 ตามลำดับ) และจากคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย ตลอดจนคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ และได้ยื่นเอกสารดังกล่าวทั้งสอง ต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2554 และ 21 มิ.ย. 2555 ตามลำดับ

การปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราว

มีการประชุมของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องโดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบท่าที​ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ ตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2554 และ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ รมว.กลาโหม นำท่าทีซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว หารือกับฝ่ายกัมพูชาระหว่างการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย- กัมพูชา (GBC)

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2554 ไทยและกัมพูชาได้ตกลงกัน ระหว่างการประชุมจีบีซีที่กรุงพนมเปญว่า จะจัดตั้งคณะทำงาน ร่วมขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการพิจารณา การปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลกร่วมกัน อย่างเท่าเทียม โปร่งใส และตรวจสอบได้

ระหว่างวันที่3-4 เม.ย.2555 มีการประชุมคณะทำงานร่วม ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญได้ว่า ไทยและกัมพูชาจะใช้กลไกประสานงานต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรกระชับความสัมพันธ์ และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมทั้งให้เก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะเขตปลอดทหารชั่วคราว และตกลงกันที่จะหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวในประเด็นอื่น ๆ ในการประชุม คณะทำงานร่วมครั้งต่อไป

ระหว่างวันที่ 26 -28 มิ.ย.2555 มีการประชุม คณะทำงานร่วม ครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญ สรุปสาระสำคัญได้ว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติไทย และกัมพูชา (TMAC และ CMAC) ประชุมในสัปดาห์ที่สาม ของเดือนก.ค. 2555 ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมในเขตปลอดทหารชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของคณะผู้สังเกตการณ์ร่วมและอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการปรับกำลั​งทหาร และเห็นว่าควรดำเนินการปรับกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวภายใน 30 วัน หลังจากเสร็จสิ้นการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมในบริเวณ ที่จำเป็น โดยให้คณะผู้สังเกตการณ์เข้าสังเกตการณ์การปรับกำลัง

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2555 ไทยและกัมพูชาได้เริ่ม ปรับกำลังทหารบางส่วนของแต่ละฝ่ายในเขตปลอดทหารชั่วคราว โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน


ภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร


ภาพการปรับกำลังทหารบางส่วนของฝ่ายไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 (ที่มา สำนักข่าวเอเอฟพี)

ระหว่างวันที่17 - 19 ธ.ค. 2555 มีการประชุมคณะทำงานร่วม ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญได้ว่า ไทยและกัมพูชา ตกลงที่จะให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายไปร่วมกันกำหนดตำแหน่ง จุด A ,B, C และ D ของเขตปลอดทหารชั่วคราวในภูมิประเทศ พร้อมทั้งให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติของทั้งสองประเทศร่วมกันเตรียมแผนการ​เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วม ในพื้นที่ที่จำเป็นของเขตปลอดทหารชั่วคราว ภายในเดือนก.พ.2556 และจะเริ่มการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมในไตรมาสแรกของปี 2556


ภาพการประชุมคณะทำงานร่วม ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพมหานคร

40. ขั้นตอนและกรอบเวลาในการต่อสู้คดีที่ศาลโลกในอนาคตพอสังเขปมีอะไรบ้าง ?

ตอบ :

ศาลโลกกำหนดให้มีการนั่งพิจารณาคำอธิบายชี้แจง ทางวาจาเพิ่มเติมที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15 - 19 เม.ย. 2556


41.ไทยจะอธิบายอะไรต่อศาลโลกในช่วงการอธิบายทางวาจา ที่กรุงเฮก ระหว่างวันที่15-19 เม.ย.2556 ?

ตอบ:

เนื่องจากเอกสารข้อเขียนมีความยาวมาก การอธิบาย ทางวาจาต่อศาลโลกจึงเป็นโอกาสให้หยิบยกประเด็นสำคัญในเอกสารข้อเขียนของไทยเพื่อให้ศ​าลโลกตระหนัก และย้ำข้อต่อสู้หลักเพื่อให้ศาลโลกกลับไปพิจารณาประเด็นเหล่านี้ ในเอกสารข้อเขียนของไทยในการจัดทำคำตัดสิน นอกจากนี้จะมีการตอบโต้ประเด็นที่กัมพูชาหยิบยกขึ้นในระหว่างการอธิบาย ทางวาจาของกัมพูชาด้วย

42. คาดว่าศาลโลกน่าจะมีคำตัดสินเมื่อใด ?

ตอบ :

ขึ้นอยู่กับว่าศาลโลกจะกำหนดกระบวนการเพิ่มเติม หรือไม่ หากไม่มีกระบวนการเพิ่มเติม คาดว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินในช่วงปลายปี 2556

43. คาดว่าศาลโลกจะตัดสินออกมาอย่างไร ?

ตอบ :

มีความเป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ

(1) ศาลโลกตัดสินว่ากัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง และ ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณา พร้อมทั้งจำหน่ายคดี

(2) ศาลโลกรับตีความคำพิพากษา โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ปราสาทพระวิหารสอดคล้องกับแนวทางของไทย กล่าวคือ ขอบเขตพื้นที่ปราสาทฯ เป็นไปตามเส้นมติคณะรัฐมนตรีปี 2505

(3) ศาลโลกรับตีความคำพิพากษา โดยกำหนดขอบเขต พื้นที่ปราสาทพระวิหารสอดคล้องกับแนวทางของกัมพูชา กล่าวคือ ขอบเขตพื้นที่ปราสาทฯ เป็นไปตามเส้นแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ระวางดงรัก)

(4) ศาลโลกรับตีความคำพิพากษา โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ปราสาทพระวิหารตามแนวทางอื่นที่ศาลโลกเห็นว่าสมควร

44. คู่ความสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลโลกในคดีตีความได้หรือไม่ ?

ตอบ :

ตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาล คำพิพากษาของศาลโลกถือเป็นที่สุด และไม่สามารถอุทธรณ์ได้

45. ถ้าศาลโลกมีคำตัดสินออกมา ไทยและกัมพูชาจะต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกหรือไม่ ?

ตอบ :

ไทยและกัมพูชา ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก ตามข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ

46. ถ้าไทยหรือกัมพูชาไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกศาลจะมีมาตรการบังคับอย่างไรและจะมีผลทางกฎหมายตามมาอย่างไรบ้าง ?

ตอบ :

ศาลโลกไม่มีอำนาจหน้าที่บังคับคดี แต่ไทยและกัมพูชาต่างสามารถขอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาออกมาตรการใดๆ ที่เห็นสมควรและไม่ขัดกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อบังคับคดีได้ โดยเป็นไปตามข้อ 94 วรรค 2 ของกฎบัตรสหประชาชาติ


ภาพองค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 (ที่มา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ)

47.ปัญหาเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารมีความเกี่ยวโยงกับการแบ่งเขตทางทะเลในอ่าวไทย​ระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน การกำหนดเส้นเขตแดนสำหรับพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามอนุสัญญาสยาม -ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 ขณะที่เส้นเขตแดนบริเวณจังหวัดตราด อยู่ภายใต้สนธิสัญญาสยาม -ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ซึ่งเป็น ความตกลงคนละฉบับกัน สำหรับเขตทางทะเล ไทยกับฝรั่งเศสไม่เคยมีความตกลงระหว่างกัน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิคที่การกำหนดเส้นเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารจะกระทบกับก​ารแบ่งเขตทางทะเลในอ่าวไทย

48. ไทยสามารถอ้างอนุสัญญากรุงโตเกียวในการต่อสู้คดีได้หรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่ได้ เนื่องจากอนุสัญญาดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว “อนุสัญญากรุงโตเกียว” หรือ อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ลงนามที่กรุงโตเกียวนี้ เป็นอนุสัญญาที่สืบเนื่องมาจากกรณีพิพาท อินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 2484 ซึ่งญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ย ผลของอนุสัญญากรุงโตเกียวทำให้ไทยได้รับดินแดนที่เคยเสียให้ฝรั่งเศสกลับคืนมา รวมถึงปราสาทพระวิหารด้วย แต่ต่อมาในปี 2489 ได้มีการจัดทำความตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสฉบับใหม่ คือ ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส หรือ “ความตกลงกรุงวอชิงตัน”ซึ่งได้ยกเลิกอนุสัญญากรุงโตเกียวและทำให้ไทยต้องคืนดินแดน ที่ได้คืนมาเมื่อปี 2484 ให้แก่ฝรั่งเศส

49. ประชาชนสามารถติดตามและอ่านเอกสารในคดีได้ที่ไหน ?

ตอบ :

1. เว็บไซต์ของศาลโลก :  www.icj-cij.org เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ : www.mfa.go.th/phraviharn  

50. นอกจากเอกสารชุดคำถามคำตอบนี้ กระทรวงการต่างประเทศจัดทำเอกสารเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารอย่างไรบ้าง ?

ตอบ :

ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการสู้คดีในศาลโลกเป็นระยะ ๆ จัดทำหนังสือ “ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบ เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารและการเจรจาเขตแดนไทย -กัมพูชา” ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นและให้รวมถึงพัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับก​ารดำเนินการในกรอบของศาลโลก จัดทำแผ่นพับ “สรุปข้อมูลสถานะของคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505” สรุปความคืบหน้า ของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคดีตีความคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหาร และการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลก โดยมีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และสื่อประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลิตขึ้นทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์ : นอกจากหนังสือคำถาม - คำตอบ กรณีปราสาทพระวิหารเล่มนี้ กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการจัดทำสื่อในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม อาทิสารคดีโทรทัศน์และวิทยุหนังสือการ์ตูนและคลิปวีดิทัศน์ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าใจเกี่ยวกับคดีซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดและซับซ้อนได้ม​ากขึ้น

 

 

 

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง