วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554
บทบรรณาธิการแนวหน้า : สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
ความหมายของคำว่า "พระมหากษัตริย์" นั้นมีรากศัพท์ที่มาจากอินเดียตั้งแต่ยุคโบราณกาลในภาษาบาลีใช้คำว่า" ขัตติยะ" แปลว่านักรบ ส่วนภาษาสันสกฤตจะใช้คำว่า"กษัตริย์" หมายถึงนักรบหรือผู้ป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรู ตามรูปศัพท์จากวัฒนธรรมจากอินเดียเมื่อ 2,500 ปีที่แล้วนั้นหมายถึงนักรบผู้ที่ยิ่งใหญ่
พระมหากษัตริย์ก็คือ พระเจ้าแผ่นดินมีคำเรียกพระมหากษัตริย์หลายคำเช่น พระราชา หรือราชันหมายถึงผู้ชุบน้อมจิตใจของผู้อื่นไว้ด้วยธรรม จักรพรรดิ หมายถึง ผู้ปกครองที่ปวงชนพึงใจและเป็นผู้มีคุณธรรมสูง และใกล้เคียงกับคำว่า ธรรมราชา หมายถึง ผู้รักษาและปฏิบัติธรรมทั้งเป็นต้นเหตุแห่งความยุติธรรมทั้งปวง
คำว่าพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง พระผู้เป็นผู้นำ หรือประมุขของประเทศ และคำว่า "พระเจ้าแผ่นดิน" หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินไม่ว่าจะเลือกใช้คำใด คำว่า "ราชา" "กษัตริย์" "จักรพรรดิ" โดยความหมายแล้วน่าจะใช้เหมือนๆกัน อย่างไรก็ดีในสังคมไทยเรียกพระมหากษัตริย์ว่า "ในหลวง" "พ่อหลวง" "พ่อของแผ่นดิน" ความหมายก็คือเป็นผู้ปกครองที่เปรียบเหมือนพ่อผู้ทรงอยู่เหนือเกล้าเหนือชีวิต
รัฐไทยเป็นพระราชอาณาจักรที่ถือกำเนิดมานับเนื่องยาวนานนับพันๆปีมีหลักฐานเชื่อได้ว่ารัฐไทยมีถิ่นฐานครั้งแรกเป็นอาณาจักรมีชื่อว่าอ้ายลาว หลังจากนั้นก็มีแคว้นเพงาย แคว้นน่านเจ้าหรือเจ้าทางใต้ของราชอาณาจักรจีนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 5 หลังจากนั้นก็มีอาณาจักรโยนกในรัฐฉานของพม่าและทางเหนือของไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12
ปี 1731 ขอมเข้ามารุกรานอาณาจักรโยนก ต่อมาพระเจ้าพรหมมหาราชกู้เอกราชเผ่าไทยจากขอมหลังจากนั้นในปี 1792 เกิดอาณาจักรสุโขทัยตามด้วยอาณาจักรล้านนาไทย อู่ทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทยมีพระมหากษัตริย์หลายราชวงศ์รวมกันมากกว่า 100 พระองค์
ผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นที่ทราบกันว่านับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ใน 5 ปีที่ผ่านมามีขบวนการพยายามโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์และมีผู้ถูกดำเนินคดีเพราะความผิดดังกล่าวเป็นจำนวน 22 ราย
เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากก็คือประชาชนทั่วประเทศกำลังถูกขบวนการของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีและมีความพยายามที่จะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย คนเหล่านี้มีบรรพบุรุษที่มาจากต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แต่กลับเหิมเกริมคิดล้มล้างสถาบัน
จึงเป็นหน้าที่ของชาวไทยผู้รักชาติทั้งปวงจะต้องรวมพลังกันออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักอย่างเต็มที่ไม่ให้ใครมาบังอาจดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้อีก
ฟ้าหญิงฯ มีพระดำรัสกับคณะคนไทยในเซี่ยงไฮ้ เมืองไทยมี 3 ดี "ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์" ต้องหวงแหน ปกป้องไม่ให้ใครทำลาย ทรงดำริเด็กต่ำกว่า 20 ปีไม่รู้ว่า "ในหลวง" ทรงงานเพื่อชาติหนัก
เมื่อวันที่ 23 เมษายน เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของ สาธารณรัฐประชาชนจีน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ ยังห้องฟินิกซ์ โรงแรมที่ประทับ พระราชทานพระวโรกาสให้นายเปี่ยมศักดิ์ มิลินทจินดา เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง นำข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ พร้อมด้วยชาวไทยที่อาศัยอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงกู่เจิงพระราชทานแก่คณะผู้เข้าเฝ้าฯ ในเพลงเมฆตามพระจันทร์ พร้อมทรงขับร้องเพลงลั่วฟาเฟย ที่ฮ่องเต้หลี่ยู่แห่งราชวงศ์ถังเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง โอกาสนี้ มีพระดำรัสถึงผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ และมีพระดำรัสถึงพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าทรงพระสำราญขึ้นมาก แต่ยังคงทรงงานหนักอย่างเช่นเคยปฏิบัติเพื่อประชาชนชาวไทย
"ประเทศไทยมีดี 3 ดี คือ ชาติดี ศาสนาดี พระมหากษัตริย์ดี และของอะไรที่มันดีอยู่แล้ว ถ้าเป็นของของเรา เราย่อมต้องหวงแหนเอาไว้ ปกป้องเอาไว้ เก็บเอาไว้อย่างดี ไม่ให้ใครมาทำลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เท่าที่ข้าพเจ้าอยู่กับท่านมาตั้งแต่เด็ก เห็นทรงงานมาตั้งแต่ข้าพเจ้าเด็ก ๆ และเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ ข้าพเจ้าเริ่มออกตามเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุ 14 โดยข้าพเจ้าทำงานอยู่ในหน่วยแพทย์พระราชทาน ข้าพเจ้าเห็นว่าทรงงานหนักเพียงไร ท่านทรงดูทั้งเรื่องสุขภาพพลานามัยของประชาชน เรื่องอาชีพ ปากท้อง การเกษตรกรรม การชลประทาน การศึกษา ท่านดูครบทุกอย่าง"
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ มีพระดำรัสอีกว่า จริง ๆ แล้วถ้าเป็นคนที่อายุ 40 ขึ้นไปก็คงพอจะนึกออกถึงภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน แต่น่าเสียดายที่เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ลงไป จะไม่รู้เลย เพราะมาโตตอนที่พระองค์ทรงพระชราแล้ว ทรงหมดกำลังแล้ว แต่ขนาดทรงหมดกำลัง ไม่ได้เสด็จฯ ออกไปตรากตรำอย่างเดิม ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ใส่พระทัย ทรงใส่พระทัยตลอดเวลา ทรงเรียกงานมาทำ เรียกงานมาดู แม้แต่ประทับอยู่ รพ.ศิริราช ทุกวันนี้ ราชเลขาฯ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ยังเข้าเฝ้าฯ ถวายงานให้ทรงมีพระราชวินิจฉัย ไม่ใช่เฉพาะงานในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เป็นงานของต่างจังหวัดด้วย ซึ่งท่านใช้วิธีใช้ลูกทำแทนเท่าที่ทำได้ อย่างตัวข้าพเจ้าเองรับในแง่ของ พอ.สว. ซึ่งสมเด็จย่าเป็นผู้ริเริ่ม และข้าพเจ้าคิดว่าจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)