บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบเป็นของไทย แผนที่เถื่อน


โดย เทพมนตรี ลิมปพยอม    

  “ศาลโลกมิได้มีอำนาจจะยกดินแดนของประเทศไทยให้กับประเทศกัมพูชาได้” ในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินตามคำฟ้องของกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 กัมพูชาฟ้องร้องให้ศาลตัดสิน 5 ข้อ ได้แก่
      
        1. ขอให้ศาลชี้ขาดเรื่องแผนที่ว่าเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน (แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000)
      
        2. เส้นเขตแดนที่ปรากฏไว้บนแผนที่เป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง
      
        3. ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
      
        4. ให้ไทยถอนกำลังยามรักษาการณ์ ตำรวจ ทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร
      
        5. ให้ไทยคืนโบราณวัตถุที่ค้นพบบริเวณปราสาท
      
        ศาลโลกได้ตัดสินตามคำฟ้องของกัมพูชาด้วยการใช้กฎหมายปิดปาก และตัดสินขัดต่อหลักความยุติธรรมและไม่เคารพต่อสนธิสัญญาที่จัดทำขึ้นไว้ ก่อนหน้านี้ (อนุสัญญาฉบับ ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907) ศาลโลกได้ตัดสินตามกฎหมายปิดปาก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 โดยตัดสินให้กัมพูชาได้ 3 ข้อ
      
        1.ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
      
        2.ให้ไทยถอนกำลังยามรักษาการณ์ ตำรวจ ทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร
      
        3.ให้ไทยคืนโบราณวัตถุที่ค้นพบบริเวณปราสาท
      
        เมื่อศาลตัดสินเสร็จสิ้นแล้ว คณะทนายความฝ่ายไทยได้ทำรายงานมายังรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีใจความสำคัญว่า ศาลไม่กล้าตัดสินเรื่องแผนที่และเป็นการดีที่เรื่องแผนที่นั้นตกไป (แผนที่ 1 : 200,000) และแผนที่ก็มิได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดนีเซีย (เพราะคำฟ้องข้อที่ 1 ตกไป)
      
        ดังนั้น การที่กระทรวงการต่างประเทศกลับไปใช้แผนที่ที่ไม่ถูกต้องและไม่เคารพคำ พิพากษาของศาลโลกโดยนำไปใช้บังคับประเทศลาว ในความตกลงไทย-ลาวเมื่อ พ.ศ. 2537 กับทั้งไปใช้เป็นพื้นทางกฎหมายระหว่างประเทศในการจัดทำ MOU 43 ฉบับเถื่อนกับประเทศกัมพูชา และยังปล่อยให้ประเทศกัมพูชาใช้เส้นที่ลากไม่ถูกต้องใน MOU 44 สร้างพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจนเกิดเอกสิทธิ์ในพื้นที่นั้น
      
        อนึ่ง กัมพูชาลากเส้นผ่ากลางเกาะกูดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อ พ.ศ. 2515 โดยขาดพื้นฐานทางกฎหมาย และในที่สุดเมื่อมีการจัดทำ MOU 43 เป้าหมายของกัมพูชามีความชัดเจนมากขึ้นต่อเรื่องที่จะย้ายตำแหน่งของหลักเขต ที่ 73 แม้เมื่อตกลงกันไม่ได้ในคณะกรรมาธิการเทคนิคร่วมจนต้องย้ายพื้นที่ตรงนี้ ไปสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกบริเวณอื่น ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่ากัมพูชามีความอุตสาหะที่จะย้ายหลักเขตแดนให้จงได้โดย ใช้ในโครงวาดกำกับหลักเขตมาตราส่วน 1 : 20,000 และแผนที่ 1 : 200,000 ที่เป็นแผนที่ปลอมเพราะไม่มีการประชุม ไม่มีการลงนามรับรองจากคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน และแน่นอนศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 ได้ตัดสินไม่ยอมรับความถูกต้องและเส้นเขตแดนบนแผนที่
      
        คำถามก็มีอยู่ว่า ทำไมกระทรวงการต่างประเทศจึงไปยอมรับแผนที่ และทำไมเมื่อ MOU เถื่อนทั้งสองฉบับไม่ผ่านรัฐสภาตามบทบัญัติในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่คนเสื้อแดงต้องการหนักหนา อีกทั้งสร้างภาพว่าเคารพรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานไหนแม้กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศหรือคณะ รัฐธรรมนูญนำไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกันเล่า




       คำ พิพากษาของศาลโลกที่กรุงเฮก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 (ค.ศ. 1962) ได้ยกคำฟ้องของกัมพูชาไม่ทำการพิจารณาตัดสินในข้อที่ว่า ขอให้ศาลพิจารณา ว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสจริงกับขอให้ศาล พิจารณาว่าเส้นเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่นั้นเป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง เพราะ ศาลเชื่อตามคำให้การของฝ่ายไทยประกอบคำชี้แจงของผู้เชี่ยวชาญที่ฝ่ายไทยว่า จ้างมา คือศาสตราจารย์ Dr.W.Schermerhorn  แห่งสถาบัน Dean  (ที่ศาลโลกให้ความเชื่อถือ)
      
        รายงานของสถาบันแห่งนี้ปรากฏอยู่ท้ายคำให้การภาคผนวก สรุปความได้ว่าเส้นสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา และปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนเส้นขอบหน้าผานี้ ตามแผนที่ที่ได้แสดงต่อหน้าศาล (ท่านผู้อ่านหาอ่านได้จากเว๊บไซต์ (ICJ)) เส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ภาคผนวกนั้นเป็นเส้นเขตแดนที่ไม่ถูกต้องไม่มี พื้นฐานทางภูมิศาสตร์รองรับ
      
        นอกจากนี้เส้นเขตแดนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสได้ ประชุมตกลงกันนั้นคือ “เส้นเขตแดนเดินตามสันปันน้ำ และสันปันน้ำอยู่ที่เส้น ขอบหน้าผา” ซึ่งหลักการนี้คณะกรรมการปักปันฯ กระทำตามอนุสัญญา ปี ค.ศ. 1904 ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการปักปันฯ ได้ตกลงกันไว้ว่าเส้นเขตแดนที่บริเวณเทือกเขาพนมดงรักนั้นปรากฏหลักฐานเป็น ปราการธรรมชาติเพราะมีหน้าผาเป็นเส้นเขตแดน เหตุนี้คณะกรรมการปักปันฯ จึงมีมติให้ทำแผนที่กำกับการปักปันครั้งนั้นโดยมอบหมายให้ประธานคณะกรรมการ ฝ่ายอินโดจีนฝรั่งเศสไปจัดทำแผนที่ที่ได้ตกลงกันไว้พร้อมพิมพ์แผนที่นั้น ด้วย และเมื่อแผนที่พิมพ์เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะต้องนำเข้าสู่ที่ ประชุมของคณะกรรมการเพื่อตรวจพิจารณาแผนที่ และลงนามรับรองแผนที่ว่าเส้นเขตแดนที่ได้ปักปันกันไว้นั้นถูกต้องด้วย    
      
        ประธานฝ่ายอินโดจีนฝรั่งเศสได้แก่ พันเอกแบร์นาร์ดได้ทำการเบิกเงินไปจัดทำแผนที่ขึ้นมา 11 ระวางและพิมพ์เสร็จสิ้นประมาณกลางปี ค.ศ. 1908 ซึ่งคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน ตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 ได้สลายตัวไปก่อนแผนที่จะพิมพ์เสร็จ และเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีการประชุม ของคณะกรรมการปักปันฯ และไม่มีการลงนามกำกับแผนที่ชุดนี้ จึงสรุปตามสามัญสำนึกได้ว่าแผนที่ทั้ง 11 ระวางเป็นแผนที่เก๊ และไม่สามารถมาใช้เป็นเอกสารสำคัญที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่าง ประเทศ แผนที่เป็นของเก๊ไม่สมบูรณ์และไม่ควรนำมาใช้ แม้ว่าต่อมาภายหลังจะมี เสนาบดีของไทยไปขอแผนที่ชุดนี้เพิ่มเติมก็มิได้หมายความว่าประเทศสยามในเวลา นั้นจะรับรองแผนที่ เพราะเสนาบดีผู้นั้นมิได้เป็นคณะกรรมการปักปันฯและไม่มี อำนาจลงนามในแผนที่
      
        ดังนั้นศาลโลกจึงมิได้ตัดสินแผนที่เก๊ชุดนี้แต่ยังเห็นด้วยกับคำให้การของ ฝ่ายไทยว่า แผนที่ชุดนี้ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อิน โดจีนฝรั่งเศสแต่อย่างใด ดังนั้นเรื่องแผนที่เก๊ชุดนี้ควรนำเข้ากรุปิดตาย ไม่ควรนำกลับมาใช้ได้อีก อีกทั้งคำตัดสินของศาลโลกเมื่อ ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ซึ่งตัดสินให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชานั้น รัฐบาลของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ออกคำแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล โลกในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) โดยได้มีหนังสือลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในนาม รัฐบาลไทยไปถึง ฯพณฯ ท่านอู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้
      
        “ในคำแถลงเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม 2505 (ค.ศ. 1962) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฯ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าว ขัดอย่างชัดแจ้งต่อบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 ในข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตลอดจนขัดต่อหลักกฎหมาย และหลักความยุติธรรม ถึง กระนั้นก็ตาม ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งคำพิพากษาตาม ที่ได้ให้คำมั่นไว้ภายใต้ข้อที่ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ
      
        ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่า การตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระ วิหารนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาจะตั้งข้อสงวนสิทธิ์อย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่ประเทศไทยมี หรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วย กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งวินิจฉัยให้ปราสาทพระวิหารเป็นของ กัมพูชา ข้าพเจ้าจึงขอเรียนมาเพื่อทราบพร้อมทั้งขอให้ท่านส่งหนังสือฉบับนี้ ไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ”
      
        การตั้งข้อสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกคืนตัวปราสาทยังคงดำรงอยู่และไม่มีอายุค วาม เนื่องจากการให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินนั้นเข้ากันกับข้อบทของ กฎหมายระหว่างประเทศ ศาลโลกฯ กระทำการล่วงละเมิดสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ ตัดสินบนหลักความไม่ ยุติธรรม แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลที่ผ่านๆ มาจึงไม่สนใจเรื่องข้อสงวนสิทธิ์ และถ้าเราพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนกับ เรื่องแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งศาลโลกมิได้ตัดสินตามคำฟ้องของกัมพูชา และเห็นด้วยกับคำให้การของฝ่ายไทยที่ระบุว่าแผนที่ชุดนี้ไม่ได้เป็นผลงานของ คณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน 
      
        เป็นที่น่าแปลกใจว่าทั้งรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย เมื่อ พ.ศ. 2543 ที่ทำ MOU 43 และรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2546 ที่ทำ TOR46 ต่างยึดมั่นถือมั่นกับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 และถึงกับขนาดไปรับรองให้เป็นเอกสารสำคัญตามกฎหมายระหว่างประเทศ 
      
        ดังนั้นใครเล่าจะแก้ปัญหาของแผนที่เก๊นี้ได้ ใครเล่าจะยุติปัญหาไม่นำแผนที่เก๊นี้มาใช้อีก และใครเล่าที่จะขี่ม้าขาวตัว ใหม่มาใช้ข้อสงวนสิทธิ์ที่เรายื่นไว้ต่อสหประชาชาติ เรียกคืนปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นของคนไทยทั้งประเทศ 

       นับตั้งแต่ศาลโลกได้ตัดสินคดีปราสาทพระวิหารไปเมื่อ พ.ศ. 2505 (พ.ศ. 1962) ประเทศไทยก็มิได้ยอมรับแผนที่เก๊ที่ไม่ได้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขต แดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส แต่เป็นผลงานของ พันเอกแบร์นาร์ดในฐานะที่เขาเป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศสในคณะกรรมการชุดนี้ เขา ได้ทำเรื่องเบิกเงินสูงถึง 7,000 ฟรังก์แต่ใช้ไปในการจัดทำแผนที่เพียง 6,000 ฟรังก์เท่านั้น แผนที่ดังกล่าวมีทั้งหมด 11 ระวางเริ่มจากเขตแดนกัมพูชาไปจนถึงเขตแดนลาว เรียกชื่อแผนที่ตามภูมิประเทศและเมืองสำคัญๆ ต่าง เช่น แผนที่ระวางโขง ระวางดงรัก ระหว่างกุเลน เป็นต้น 
      
       แผนที่ชุดนี้พิมพ์เสร็จราวเดือนพฤษภาคม  ค.ศ. 1908 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน ได้สลายตัวไปแล้ว และพึ่งเป็นการเริ่มต้นของคณะกรรมการชุดใหม่ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตามสนธิสัญญา ฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1907 สนธิสัญญาฉบับนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศสยามใหม่ในเวลานั้น สยามได้เสียดินแดนเพิ่มเติมไปอีกเป็นจำนวนมาก
      
       ดังนั้นแผนที่ทั้ง 11 ระวาง อันได้แก่ 1. ระวางเมืองคอบและเมืองเชียงล้อม 2. ระวางลำน้ำต่างๆ ทางภาคเหนือ 3. ระวางเมืองน่าน 4. ระวางปากลาย 5. ระวางน้ำเหือง 6. ระวางจำปาศักดิ์ 7. ระวางแม่โขง 8. ระวางดงรัก 9. ระวางพนมกุเลน 10. ระวางทะเลสาบ 11. ระวางตราด ซึ่งเป็นผลงานของพันเอกแบร์นาร์ดจึงเป็นแผนที่เก๊ เพราะไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโด จีนฝรั่งเศส ตามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 ได้พิจารณา คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้สลายตัวไปแล้ว เหตุที่ผมต้องย้ำเรื่องนี้อยู่เสมอเพราะมีผู้ไปแอบอ้างเรื่องที่เจ้านายของ ประเทศสยามได้ทำการขอแผนที่ชุดนี้เพิ่มเติม (ซึ่งพวกเขาตีความว่าได้เป็นการยอมรับแผนที่ด้วย)
      
       การสู้คดีในศาลโลกคณะทนายฝ่ายไทยได้ทำการต่อสู้ในชั้นศาล เนื่องจาก ผู้ขอแผนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการปักปันเขตแดน-สยามอินโดจีน เจ้านายพระองค์นั้นจึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของประเทศสยามในการยอมรับแผนที่ เก๊ชุดนี้ได้ ด้วยการอธิบายเหตุผลนี้ทำให้ศาลโลกไม่ตัดสินแผนที่ และยอมรับว่าแผนที่เก๊ชุดนี้ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดน สยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสแต่อย่างใด
      
       มีนักการเมืองที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้พยายามทำให้สังคมเข้าใจว่า การตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารนั้นศาลยอมรับเรื่องเส้นเขตแดน ที่ปรากฏบนแผนที่เก๊ชุดดังกล่าว ซึ่งในข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย นักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งยังหลง เชื่อคำโกหกของนักวิชาการไทยสายเขมรว่า “ศาลได้ยกปราสาทพระวิหารและดิน แดนโดยรอบให้กับกัมพูชาไปแล้ว อันสอดคล้องกับสมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศที่จัดทำขึ้นแล้วแท้งไม่ได้ คลอดออกมา” ทั้งคำอธิบายของนักการเมืองที่มักชอบพูดชอบเป็นข่าวกับข้า ราชการบางคนของกระทรวงการต่างประเทศยิ่งทำให้ประเทศกัมพูชาได้เปรียบประเทศ ไทยในเวทีนานาชาติ   
      
       เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องที่มาที่ไปของแผนที่ เก๊ 1:200,000 ทุกระวาง ผมจึงขออธิบายอย่างง่ายๆ ดังนี้ครับ เมื่อประเทศสยามได้ลงนามในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนขึ้นมา 1 ชุด ฝ่ายไทยมีหม่อมชาติเดชอุดมเป็นประธาน ฝ่ายฝรั่งเศสมีพันเอกแบร์นาร์ด เป็นประธาน ทั้งสองฝ่ายได้ทำหน้าที่ตามที่อนุสัญญาได้กล่าวถึง โดยกำหนดให้พรมแดนธรรมชาติเป็นเส้นเขตแดน ซึ่งในการประชุมครั้งสุดท้ายที่ ประชุมของคณะกรรมการได้มีมติให้มีการจัดทำแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เพื่อแสดงเส้นเขตแดนที่ได้ตกลงกันไว้ (อันเป็นผลมาจากการเดินสำรวจ) โดยที่เส้นเขตแดนด้านทิวเขาพนมดงรัก (อันเป็นที่ตั้งตัวปราสาทพระวิหารแห่งนี้ด้วย) ได้กำหนดให้ใช้สันปันน้ำที่ขอบหน้าผา
      
       ทั้งนี้ พันเอกแบร์นาร์ดก็ได้กล่าวหลายครั้งทั้งในที่ประชุมและการแสดงปาฐกถาที่ ปารีส เมื่อคณะกรรมการมีมติให้พิมพ์แผนที่ ได้มอบหมายให้ฝ่ายฝรั่งเศสไปดำเนินการมา และในที่สุดแผนที่พิมพ์เสร็จไม่ได้ เข้าที่ประชุม และคณะกรรมการสลายตัว แผนที่เก๊ที่พิมพ์มาทั้ง 11 ระวาง จึงเป็นแผนที่ที่ไม่สมบูรณ์ไม่ได้ผ่านการพิจารณา ผมจึงเรียกว่าแผนที่ เก๊  
      
       ต่อมาประเทศสยามได้มีการแลกเปลี่ยนและสูญเสียดินแดนเพิ่มเติม ได้มี การทำสนธิสัญญา ปี ค.ศ. 1907 และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนฯ ชุดที่ 2 โดยคณะกรรมการชุดนี้มีพระองค์เจ้าบวรเดชและพันตรีมองแกร์ เป็นประธานทั้งสอง ฝ่าย มีการประชุมกันเป็นลำดับ โดยพื้นที่ที่ฝ่ายสยามได้สูญเสียไปนั้น บางส่วนไม่สามารถใช้พรมแดนธรรมชาติได้เพราะเป็นที่ลุ่ม จึงจำเป็นต้องจัดสร้างหลักเขตแดน ส่วนไหนที่ใช้พรมแดนธรรมชาติ เช่น สันปันน้ำ ส่วนนั้นก็เป็นไปตามอนุสัญญา 1904 คณะกรรมการปักปันฯ ได้ทำงานอยู่หลายปีในที่สุดก็ได้เลือกที่จะปักหลักเขต
      
       โดยหลักที่ 1 เลือกบริเวณช่องสะงำ เป็นหลักเขตที่ 1 และตามช่องต่างๆ ได้วางเสาศิลาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจน พรมแดนของสยามและกัมพูชา ตั้งแต่ช่องสะงำไปจนถึงหลักเขตที่ 73 ที่จังหวัดตราด มีหลักเขตรวมทั้งหมด 74 หลักเขต และมีแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ทำเป็นโครงวาดแสดงจุดอ้างอิงกำกับไว้ทุกหลักเขตด้วย (เฉพาะหลักเขตที่ 22 มี 22A และ 22B ต่อมายุบรวมกันเป็นหลักเขตเดียว) ปัจจุบันจึงเหลือหลักเขต 73 หลักเขต (กัมพูชาพยายามจะย้ายหลักเขตที่ 73 ให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้)
      
       คณะกรรมการเมื่อมีการปักหลักเขตเรียบร้อยแล้วจึงได้ประชุมกันเป็น ครั้งสุดท้าย รายงานการประชุมระบุว่าต้องทำแผนที่ระบุตำแหน่งหลักเขตทั้ง 74 หลักเขต เพื่อกันเอาไว้เป็นหลักฐาน หากอนาคตหลักเขตนั้นถูกเคลื่อนย้าย นอกจากนี้คณะกรรมการไม่ได้สนใจแผนที่ 11 ระวางของคณะกรรมการชุดแรกเลย เพราะเห็นว่าพรมแดนตั้งแต่ช่องสะงำไปจนถึงทาง ใต้ของเมืองจำปาสัก มีทิวเขามองเห็นสันปันน้ำที่ขอบหน้าผาอย่างชัดเจนซึ่ง เป็นไปตามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 แล้ว คณะกรรมการชุดที่ 2 นี้ยังได้จัดทำแผนที่จากช่องสะงำไปจนถึงตราด 5 ระวาง ได้แก่ระวางหมายเลข 1 หมายเลข 5 เมื่อพิมพ์แผนที่ออกมาแล้ว ปรากฏว่าแผนที่กลับไม่ระบุตำแหน่งของหลักเขต ทั้ง 74 หลักเขต ตามที่คณะกรรมการชุดที่ 2 ต้องการ จึงเป็นแผนที่ที่ไม่สมบูรณ์อีกเช่นกัน
      
       ผมจึงถือว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ของคณะกรรมการปักปันฯ ทั้งชุดที่ 1 และชุดที่ 2 นั้น เป็นแผนที่ที่ใช้ไม่ได้และแน่นอนศาลโลกไม่ได้ยอมรับแผนที่เก๊มาตราส่วน 1:200,000 นี้เลย


  หลังจากคำพิพากษาของศาลโลกที่ได้ตัดสินให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระ วิหารเป็นของกัมพูชา ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ยอมรับคำพิพากษา ดังกล่าว รวมทั้งขอตั้งข้อสงวนสิทธิ์เพื่อเรียกปราสาทพระวิหารคืนจากกัมพูชา ในอนาคต ประเทศไทยไม่ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000  เป็นข้อผูกพันต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และแน่นอนว่าประเทศไทยไม่ยอมรับว่า แผนที่ชุดนี้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน แต่อย่างไร การไม่ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ไทยได้แสดงคำให้การคัดง้างกับคำกล่าวหาของกัมพูชาที่ว่า แผนที่ 1 : 200,000 คือแผนที่ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการฯ เพราะกรรมการมีมติให้พิมพ์แผนที่ 11 ระวาง  เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วแผนที่ชุดนี้ไม่ได้เข้าสู่วาระการพิจารณา เพราะคณะกรรมการสลายตัวไปก่อนหน้านี้ จึงมิได้มีการพิจารณาแผนที่ ดังนั้น แผนที่ชุดนี้ทั้งหมดจึงเป็นแผนที่ “เก๊”
       
       ผมอยากจะเรียนให้ผู้อ่านทราบว่า การที่ผมเปิดเผยข้อมูลบางอย่างก็ เพราะผมคิดว่าเราน่าจะได้ตัวการที่นำพาประเทศไทยไปยอมรับแผนที่ 1 : 200,000
      
       เอกสารว่าด้วยเรื่องความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐ ประชาชนลาว เกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนว โดยที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ตกลงที่จะร่วมกันสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-ลาวตลอดแนว ให้เป็นไป ตามอนุสัญญาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 ความตกลงวันนี่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และพิธีสารแนบท้ายอนุสัญญาวันที่ 25 สิงหาคม 1926 และแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามความตกลงทุกฉบับที่กล่าวข้างต้น ในความตกลงนี้ ลง นามกันวันที่ 8 กันยายน 2539 ณ จังหวัดสงขลา มี ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นตัวแทนของไทย
      
       ในแผนแม่บทที่เป็นไปตามข้อตกลงไทย-ลาว นั้นก็ได้ระบุ “วิธีการกำหนดแนวเส้นเขตแดน ในแผนแม่บท” ในข้อ 5.1.3 กล่าวว่า ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกนั้นจะปฏิบัติตามแนวเขตแดนที่ได้กำหนไว่ ในสนธิสัญญา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และอนุสัญญาแนบท้ายและแผนที่ที่กำหนดแนวเส้นเขตระหว่างอินโดจีน-สยาม มาตรา ส่วน 1 : 200,000 แผนแม่บทฉบับนี้ลงนามในหนังสือชื่อ ปัญหาเขตแดนไทย-ลาว ระบุชัดเจนเกี่ยวกับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 มีทั้งหมด 11 ระวาง ซึ่งตรงกันกับรัฐบาลของคุณชวน หลีกภัย 
       
       1.ระวางเมืองคอบและเชียงล้อม
      
       2.ระวางลำน้ำต่างๆ ทางภาคเหนือ
      
       3.ระวางเมืองน่าน
      
       4.ระวางปากลาย
      
       5.ระวางน้ำเหือง
      
       6.ระวางจำปาศักดิ์
      
       7.ระวางแม่โขง
      
       8.ระวางดงรัก (ที่ตั้งปราสาทพระวิหาร)
      
       9.ระวางพนมกุเลน
      
       10.ระวางทะเลสาบ
      
       11.ระวางเมืองตราด


       ตอนที่แล้วผมได้แสดงข้อมูลให้ผู้อ่านได้ทราบเกี่ยวกับการใช้แผนที่ มาตราส่วน 1:200,000 ที่ประเทศไทยนำไปใช้ใน “ความตกลงไทย-ลาว” และได้ทำการปักปันเขตแดนไทยลาวจนเสร็จสิ้นไปแล้ว การยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ให้มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2539 ฝ่ายไทยเองได้ยืนยันกับประเทศลาวว่า ประเทศลาวอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบ สิทธิ์ เป็นรัฐอาณานิคมของฝรั่งเศสมาก่อน ดังนั้นแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ทุกระวาง (11 ระวาง)  จึงยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน จะเห็นว่าฝ่ายไทยไม่สนใจต่อคำตัดสินของศาล โลกในคดีปราสาทพระวิหารที่ไม่ได้ตัดสินเรื่องแผนที่ และคำพิพากษาแย้งของผู้พิพากษาส่วนหนึ่งก็ระบุชัดว่า แผนที่ 1:200,000 ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนแต่อย่างใด   
      
       การที่ฝ่ายไทยนำแผนที่เก๊ไปเป็นหลักฐานในการพิจารณาเพื่อปักปันเขต แดนกับลาว จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และหากประเทศลาวได้ทราบเรื่องนี้ก็ สมควรที่จะเรียกร้องให้มีการปักปันเขตแดนใหม่ ฝ่ายไทยได้แสดงให้เห็นชัดว่า ไม่เคารพต่อคำพิพากษาของศาลโลก (แม้ในเวลานั้นเราไม่ยอมรับคำตัดสิน ไม่ยอมรับแผนที่ ประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนสิทธิ์เอาไว้เพื่อเรียกคืนตัวปราสาท) ประเทศไทยหลัง พ.ศ.2505 กลับไปปัดฝุ่นแผนที่ มาตราส่วน 1:200,000 เก๊มาใช้กับประเทศเพื่อนบ้าน
      
                 สมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปกรุงพนมเปญ เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (MOU 2543) ซึ่งก่อนที่จะลงนาม เราได้ค้นพบเอกสารด่วนที่สุด ประกอบด้วยหนังสือที่ กต 0603/1574 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ถึงนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ลงนามหนังสือโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีข้อความเกี่ยวกับการประชุมและการลงนามโดยย่อ บันทึกความเข้าใจฯ ระบุชัดเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ว่าเป็นพื้นฐานทางกฎหมาย ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก
      
       “พื้นฐานทางกฎหมาย การสำรวจและจัดทำ (ปัก) หลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้บรรดาเอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยกับกัมพูชา ตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม  ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้าย และแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนและ เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ (application) อนุสัญญาและสนธิสัญญาดังกล่าว” 
      
       นอกจากนี้ในวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ได้มีหนังสือบันทึกข้อความจากสำนักนายกรัฐมนตรีถึงนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ลงนามหนังสือโดยนายวรากรณ์ สามโกเศศ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง โดยระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมตัวที่จะไปเยือนกัมพูชาและจะมีการลงนาม บันทึกความเข้าใจฯ (MOU 43) ข้อความที่น่าสนใจคือ
      
       “พื้นฐานทางกฎหมาย การสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทย กับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้ายและแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน”
      
       ทางซ้ายมือด้านล่างของหนังสือบันทึกข้อความฉบับนี้ มีลายเซ็นต์นายชวน หลีกภัย ได้ลงนาม ”อนุมัติ” การ ใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ต่อมาในปี พ.ศ.2546 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการจัดทำแผนแม่บท (TOR 2546) และได้นำเอาแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน มาใช้ในการสำรวจ และค้นหาหลักเขตแดน รวมถึง “เส้นเขตแดนใหม่” มีการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ว่าเป็นแผนที่ที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการหาเส้นเขตแดน
      
       ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากเรียกร้องใครก็ได้ ที่เห็นว่าการนำเอาแผนที่เก๊ มาใช้เป็นหลักฐานเอกสารที่เป็นพื้นฐานทางกฎหมายกับทั้งประเทศลาวและกัมพูชา นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งคุณชวน หลีกภัย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป   
      
       ดังนั้นแผนที่ที่นำมาใช้เป็นผลผูกพันทางกฎหมายทั้งประเทศลาวและ กัมพูชานั้น ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน แต่อย่างใด หากแต่เป็นแผนที่เก๊ไม่สามารถใช้เป็นข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานในการปักปันเขต แดน แผนที่เก๊นี้มีประโยชน์อยู่อย่างเดียวที่จะประกาศให้ประชาชนคนไทยได้ทราบ ว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช ของพวกเราทุกคนนั้น ใครมากระทำย่ำยีต่อประเทศสยามของเรา และยังเป็นเครื่องเตือนสติถึงความเจ้าเล่ห์เพทุบายของหมาป่าฝรั่งเศสที่มา ยึดมาแบ่งแผ่นดินของเราไป

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง