(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Clean goal for new exchange
By Marwaan Macan-Markar
19/07/2011
พัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา ซึ่งเพิ่งทำพิธีเปิดไปเมื่อไม่กี่วันก่อน น่าจะมีส่วนช่วยในเรื่องการต่อต้านการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ตลอดจนในการเพิ่มเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีของประเทศยากจนแห่งนี้ ทั้งนี้ถ้าหากตลาดแห่งนี้สามารถดำเนินงานด้วยความโปร่งใสเต็มที่อย่างชนิด ที่พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบวาดหวังกันเอาไว้ สิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะสามารถใช้เป็นมาตรวัดสัมฤทธิผลในเรื่องนี้ได้ ก็คือรัฐวิสาหกิจ 3 รายที่กำหนดจะเป็นหลักทรัพย์แรกๆ ที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดแห่งนี้
กรุงเทพฯ - ตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ในกัมพูชาที่เพิ่งทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อไม่ กี่วันก่อน นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดพวกนักลงทุนระหว่างประเทศแล้ว หลายๆ ฝ่ายยังวาดหวังเอาไว้ด้วยว่า มันจะสามารถรุนหลังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ ให้ก้าวไปสู่การมีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น ในเวลาที่ทำพิธีเปิดตลาดหุ้นแห่งนี้ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (Cambodia Securities Exchange หรือ CSX) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีหลักทรัพย์ใดเข้าจดทะเบียนซื้อขายเลยสักหลักทรัพย์เดียว เนื่องจากแรงขับดันของความต้องการที่จะให้แน่ใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องอยู่ในระดับเหนือกว่ามาตรฐาน
“เราต้องการทำให้แน่ใจว่ามีความโปร่งใสอย่างเต็มเปี่ยม” ฮวต พุม (Huot Pum) รองกรรมการผู้จัดการของคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (Securities and Exchange Commission of Cambodia) กล่าว “ข้อมูลข่าวสารทางการเงินจะต้องมีการตรวจสอบและมีการเปิดเผยอย่างสม่ำเสมอ”
“พวกบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ จะต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานสากล” พุม บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส ( Inter Press Service หรือ IPS) ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ ณ สำนักงานของเขาในกรุงพนมเปญ “ตลาดหลักทรัพย์เป็นวิธีที่ดีในการสร้างหลักประกันว่าบริษัทต่างๆ จะมีบรรษัทภิบาลที่มั่นคงหนักแน่น ตลาดหุ้นสามารถช่วยทำให้เกิดกระแสการสร้างวัฒนธรรมบรรษัทที่ดียิ่งขึ้นกว่า เดิมขึ้นมา”
เป็นที่คาดหมายกันว่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะเริ่มต้นได้ในระยะต่อไป ของปีนี้ ทันทีที่กิจการรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งซึ่งได้ประกาศแผนการที่จะจดทะเบียนในตลาด CSX ไปแล้ว สามารถผ่าน “มาตรฐานสอบบัญชีระหว่างประเทศ” ได้ รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ได้แก่ เทเลคอม แคมโบเดีย (Telecom Cambodia), การประปาพนมเปญ (Phnom Penh Water Supply Authority), และ การท่าเรือสีหนุวิลล์ (Sihanoukville Autonomous Ports)
อย่างไรก็ดี มีคำเตือนจากทางธนาคารโลกว่า การใช้ตลาด CSX เพื่อผลักดันภาคเศรษฐกิจและการเงินที่ยังมีขนาดเล็กของกัมพูชาให้ก้าวเดินไป บนเส้นทางแห่งความโปร่งใสตรวจสอบได้นั้น จะไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาภาวะธรรมาภิบาลย่ำแย่ของทั่วทั้งประเทศได้สัก เท่าไรนักหรอก “ตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่เป็นยาครอบจักรวาลสำหรับแก้ไขสภาพแวดล้อมที่เรื่องธร รมาภิบาลย่ำแย่” แมธิว เวอร์กิส (Mathew Verghis) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ สำนักงานภูมิภาคของธนาคารโลกที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ อธิบาย
“ดังนั้นในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์สามารถอำนวยแรงจูงใจบางประการสำหรับ การปรับปรุงเรื่องธรรมาภิบาลให้กระเตื้องดีขึ้น แต่ประสบการณ์ที่ได้มาจากนานาประเทศก็คือ การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ก็จะได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมเรื่องธรรมา ภิบาลในประเทศนั้นๆ ด้วย” เขากล่าวกับไอพีเอส
เรื่องนี้น่าจะช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมพวกนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาที่รณรงค์ต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ภาวะธรรมา ภิบาลในประเทศนี้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงแสดงท่าทีระมัดระวังตัวเกี่ยวกับความคาดหมายที่มีต่อตลาด CSX ตั้งแต่แรกๆ ที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้จะเป็น “ตัวเร่ง” ที่จะ “ช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ”ขึ้นภายในภาคบรรษัททั้งที่เป็นกิจการของรัฐ และกิจการของเอกชน
“เมื่อตอนที่กัมพูชาเข้าไปเป็นสมาชิกของ WTO (องค์การ การค้าโลก กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกองค์การนี้ในปี 2004) ก็มีการมองโลกในแง่ดีว่า เรื่องหลักนิติธรรมและวัฒนธรรมการเคารพทำตามระเบียบกฎหมาย จะมีการปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้น” เยง วิรัค (Yeng Virak) ผู้อำนวยการบริหารของ ศูนย์การศึกษาทางกฎหมายเพื่อชุมชน (Community Legal Education Center) องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงพนมเปญ กล่าวแสดงความคิดเห็นโดยยกตัวอย่างกรณีคล้ายๆ กันมาเปรียบเทียบ “ผู้คนจำนวนมากในตอนนั้นก็คาดหมายว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจน่าจะปรับปรุงดี ขึ้น เนื่องจากประเทศต้องออกกฎหมายฉบับใหม่ๆ มาบังคับใช้จำนวนมาก รวมทั้งต้องปรับปรุงโครงสร้างทางด้านกฎหมายอีกด้วย”
ทว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในระยะเวลา 7 ปีนับตั้งแต่นั้น วิรัคกล่าวว่ามันกลับเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงแบบผิวเผินเปลือกๆ เป็นต้นว่ากฎหมายต่างๆ ที่ผ่านออกมานั้น เอาเข้าจริงแล้วก็ถูกนำมาบังคับใช้แบบเลือกใช้เฉพาะส่วนเฉพาะกรณี “กัมพูชาเป็นรัฐ 2 มาตรฐาน นั่นคือคนร่ำรวยและทรงอำนาจยังคงได้รับประโยชน์จากระบบต่อไป ขณะที่คนยากจนและอ่อนแอเป็นฝ่ายสูญเสียพ่ายแพ้” เยงกล่าว “สิ่งที่เราได้มาก็คือการปล้นสะดม “อย่างถูกกฎหมาย” โดยพวกเจ้าพ่อนักธุรกิจที่นั่งอยู่ในรัฐบาลเท่านั้นเอง”
การประเมินสถานการณ์อย่างเลวร้ายเช่นนี้ สอดคล้องกับที่ปรากฏอยู่ในรายงานประจำปีขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) หน่วยงานเฝ้าระวังระดับโลกที่มีจุดมุ่งหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้กัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 154 จาก 178 ประเทศที่ถูกติดตามจับตาเรื่องการทุจริต เพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ประจำปีของ TI ประจำปี 2010 ดีขึ้นนิดเดียวจากที่เคยอยู่ในอันดับ 158 ในจำนวน 180 ประเทศที่ถูกประเมินโดย TI ในปี 2009
พวกเพื่อนบ้านของกัมพูชานั้นต่างได้อันดับดีกว่ากันเป็นแถว โดยที่ไทยติดอันดับ 78, มาเลเซีย 56, อินโดนีเซีย 110, และเวียดนาม 116 มียกเว้นก็เพียงพม่า ซึ่งได้ตำแหน่งเป็นประเทศที่คอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา กำลังถูกบีบคั้นกดดันให้ยุติการโกงกินกันอันอึกทึกมโหฬาร ซึ่งก้าวเข้ามาเกาะกุมประเทศชาติ ตั้งแต่ตอนที่กัมพูชาเดินทางออกจากภาวะความทุกข์ยากแสนสาหัสในปี 1991 ปีแห่งการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส เพื่อยุติช่วงระยะเวลาร่วมๆ 2 ทศวรรษแห่งสงคราม, การล้างเผ่าพันธุ์, และความขัดแย้งภายใน ในเวลานี้ประเทศที่มีจำนวนประชากร 11 ล้านคนแห่งนี้ ยังคงมีผู้คนมากกว่าหนึ่งในสามซึ่งดำรงชีวิตโดยที่มีรายได้ไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน
ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากโลกตะวันตก เป็นสิ่งที่สำคัญมากเหลือเกินสำหรับกัมพูชาซึ่งมีฐานะเป็นประเทศยากจนที่สุด รายหนึ่งของภูมิภาคแถบนี้ ฮุนเซนนั้นมีความสามารถมากในการดึงดูดความช่วยเหลือให้ยังคงหลั่งไหลเข้ามา ไม่ขาดสาย ทั้งๆ ที่การปกครองของเขากำลังมีสภาพเป็นการปกครองแบบผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จมาก ขึ้นทุกที และคอยรับปากรับคำอย่างขอไปทีต่อเสียงเรียกร้องของพวกผู้บริจาคความช่วย เหลือที่ให้เร่งรัดปราบปรามการทุจริตฉ้อโกง
เมื่อปีที่แล้ว พวกผู้บริจาคทางโลกตะวันตกได้อัดฉีดเงินช่วยเหลือมาให้เป็นจำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 950 ล้านดอลลาร์ที่ให้มาในปีก่อนหน้านั้น เรื่องนี้ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งในกัมพูชาเองและในระดับนานาชาติ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พวกประเทศผู้บริจาคว่า กำลังให้รางวัลระบอบปกครองที่ทรยศต่อคำมั่นสัญญาในเรื่องที่จะปรับปรุงยก ระดับ “ภาวะธรรมาธิบาล” แถมยังทำการปราบปราบอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผยต่อผู้ต่อต้านคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภา, นักหนังสือพิมพ์, หรือบุคลากรในภาคประชาสังคม
คณะรัฐบาลอุนเซนพยายามตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการป่าวร้องความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจของตน โดยที่อัตราการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 10%ทีเดียวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกที่มีภาคสิ่งทอและภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวนำ ก็ช่วยให้รายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศของกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 227 ล้านดอลลาร์ในปี 1991 เป็น 6,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2010
คุย วัต (Kuy Vat) นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวกัมพูชาที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มซึ่งได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของ ประเทศ และเขากำลังมองตลาดหลักทรัพย์ CSX ว่าเป็น “ก้าวเดินตามธรรมชาติก้าวต่อไป” ในการพัฒนาของประเทศนี้
“ตลาดหลักทรัพย์จะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในฐานะเป็นแหล่งอีกแหล่งหนึ่งที่เราสามารถเข้าไประดมเงินทุนเพื่อนำมาขยาย ธุรกิจของเรา” คุย ซึ่งเป็นประธานบริหารของ วีทรัสต์ พร็อบเพอร์ตี (VTrust Property) ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงพนมเปญ อธิบายให้ไอพีเอสฟัง “ตลาดหลักทรัพย์ยังจะจัดการกับปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นได้ด้วย โดยจะแสดงวิธีการที่พวกบริษัทกัมพูชาจะต้องโปร่งใส, จะต้องเสียภาษี”
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)