บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

ปราสาทพระวิหาร อ.สมปอง

ปราสาทพระวิหาร
ข้อขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารเป็นปัญหาเก่าแก่ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่ากึ่งศตวรรษ  บัดนี้ได้มีการหยิบยกปัญหาดังกล่าวมาถกเถียงกันอีกและมีการเขียนบทความต่างๆ มากมายรวมทั้งข้อเขียนของข้าพเจ้าเรื่องคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ซึ่งตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชารวมทั้งคำคัดค้านของไทยและข้อสงวนซึ่งไทยตั้งไว้  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ  แต่กระนั้น ข้อเขียนของข้าพเจ้ายังถูกตีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากผู้อ่านมิได้อ่านอย่างละเอียด ละเลย หรือหลงลืมบางข้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด  ข้าพเจ้าจึงขอสรุปอีกครั้งเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้

คดีปราสาทพระวิหาร

ไทย กัมพูชา  พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๕

วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒  กัมพูชาเป็นโจทก์ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเพื่อฟ้องไทยเป็นจำเลย  ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕  ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาพิพากษาดังนี้

(๑)      ด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓  ศาลฯ วินิจฉัยว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

(๒)     สืบเนื่องมาจาก (๑) วินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ว่าไทยมีพันธกรณีจะต้องถอนทหารและตำรวจหรือยามผู้รักษาการณ์ออกจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงที่อยู่บนดินแดนกัมพูชา

(๓)     ด้วยคะแนนเสียง ๗ ต่อ ๕  วินิจฉัยว่าไทยมีพันธะจะต้องคืนให้กัมพูชาบรรดาวัตถุที่กัมพูชาอ้างถึงในคำแถลงสรุปข้อ ๕ ซึ่งอันตรธานไปจากปราสาทหลังจากวันที่ไทยเข้าครอบครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗

ปัญหาเรื่องเขตแดน

ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๕  แม้เสียงข้างมากจะตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา  แต่ยังมีผู้พิพากษาอีกหลายท่านที่เขียนคำพิพากษาแย้งไว้ว่าประสาทพระวิหารยังคงอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทยตามหลักสันปันน้ำที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔

พื้นที่ทับซ้อนในปัจจุบันของไทยกับกัมพูชานั้นได้แก่ตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น  แม้ในแผนที่อีกหลายฉบับลากเส้นเขตแดนไทยไม่ตรงกัน กัมพูชาถือว่าอยู่ในเขตของกัมพูชาโดยอ้างคำพิากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไทยก็ถือว่าปราสาทพระวิหารเป็นเขตในอำนาจอธิปไตยของไทยโดยยึดสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญาทวิภาคีกับฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒  มีใจความดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  กำหนดเขตแดนบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ให้เป็นไปตามยอดภูเขาปันน้ำระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง  กับดินแดนน้ำตกน้ำมูลอีกฝ่ายหนึ่งจนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง   ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไป แม่โขงเป็นเขตแดนของกรุงสยาม ตามความข้อ ๑ ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒

จึงสรุปได้ว่า ในบริเวณเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขาบันทัดหรือเขาดงรัก เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาอยู่ที่สันปันน้ำซึ่งเป็นพรมแดนธรรมขาติตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศ  และสนธิสัญญาข้างต้นโดยกัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิ์จากฝรั่งเศส

การปักปันเขตแดน

การปักปันดินแดนระหว่างสองประเทศแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน  ขั้นแรกได้แก่บทนิยาม (definition) ขั้นที่สองคือการลากเส้นบนแผนที่ตามบทนิยาม (delimitation) และขั้นสุดท้าย (demarcation) ในกรณีที่เป็นเขตแดนตามธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำ ให้ถือร่องน้ำลึกหรือฝั่งแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขต  หากเป็นภูเขาก็ต้องเป็นไปตามยอดเขาหรือเส้นสันปันน้ำ ในกรณีที่ไม่มีพรมแดนทางธรรมชาติ  คณะกรรมการผสมของทั้งสองประเทศจะเป็นผู้ปักหลักเขตแดนร่วมกันด้วยความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย

แผนที่

เป็นที่น่าสังเกตุว่าปัจจุบันมีการอ้างถึงแผนที่มากมายหลายฉบับในวาระต่างๆ  ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าแผนที่ฉบับเดียวที่อยู่ในประเด็นปัญหาได้แก่แผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องกัมพูชา  แผนที่ดังกล่าวคือแผนที่ที่ทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนฝรั่งเศสฝ่ายเดียวเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๗ โดยไทยไม่มีโอกาสทดสอบความถูกต้องเนื่องจากไทยยังไม่ได้ก่อตั้งกรมแผนที่ทหารบก  ไทยค้นพบภายหลังว่าแผนที่ดังกล่าวผิดพลาดเพราะการลากเส้นเขตแดนมิได้เป็นไปตามสันปันน้ำแต่คลาดเคลื่อนไปหลายกิโลเมตร  ทำให้ปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ในเขตไทยไปปรากฏในเขตแดนฝรั่งเศส ฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดอ้างว่าแผนที่ผนวกคำฟ้องของกัมพูชาเป็นแผนที่แสดงเขตแดนจึงผิดพลาดจากความเป็นจริง   

สถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะวินิจฉัยเฉพาะประเด็นคำฟ้องแรกเท่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในเรื่อง

(๑) สถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา หรือ

(๒) เส้นเขตแดนในบริเวณที่พิพาท

ดังนั้น ศาลฯ จึงงดเว้นการวินิจฉัยความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชารวมทั้งสถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ทั้งฉบับ  หรืออีกนัยหนึ่ง ศาลฯ ไม่ทำหน้าที่กรรมการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

อำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

โดยที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีมาตรการบังคับคดี  จึงสุดแต่ความสมัครใจของคู่คดีที่จะพิจารณาดำเนินการ หากคู่กรณีไม่เห็นด้วยและไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  ศาลฯ ก็ไม่มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแต่ประการใด

ฉะนั้น ถึงแม้คำพิพากษาของศาลฯจะถึงที่สุด  แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีผลในการระงับกรณีพิพาท  หากคู่กรณีโต้แย้ง คัดค้านและไม่ยอมรับคำพิพากษาเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม  กรณีพิพาทนั้นๆก็ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รับการพิจารณาใหม่หรือจนกว่าจะระงับไปโดยสันติวิธีอื่นๆ อาทิ โดยการเจรจา การประชุมปรึกษาหารือ หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน  ไกล่เกลี่ย กรรมการประนอม หรืออนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ตามข้อ ๓๓ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

คำพิพากษาของศาลฯ และทางปฏิบัติของรัฐคู่กรณี

ผลผูกพันของคำพิพากษา ข้อ ๕๙ ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า

คำพิพากษาของศาลฯไม่มีผลผูกพันผู้ใดนอกจากคู่กรณีและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น

ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลฯ จึงผูกพันเฉพาะไทยและกัมพูชา ใช้อ้างยันกับผู้อื่นมิได้ และไม่ผูกพันประเทศที่ ๓ หรือองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ยูเนสโกหรือคณะกรรมการมรดกโลก และไม่มีผลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใดเนื่องจากการขึ้นทะเบียนมิใช่ข้อพิพาทในคดีที่ศาลฯ ตัดสิน

อนึ่ง ข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า

คำพิพากษาของศาลนั้นถึงที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์ ในกรณีที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลฯจะเป็นผู้ตีความเมื่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ

จุดยืนและท่าทีของประเทศไทย

ประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า ศาลฯ มิได้วินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารตามกระบวนการที่ชอบ และได้ตัดสินคดีโดยขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ประกาศจุดยืนของประเทศไทยให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลฯ  แต่ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ  จึงได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ ๙๔ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ  ทั้งนี้โดยยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติและตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนว่าไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืนซึ่งการครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี

ดังนั้น รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนดังกล่าวเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ และในวันรุ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แจ้งให้ประชาชนทราบทั่วกัน

คำปราศรัยของ ฯพณฯ จอมพลสฤษฎิ์ ธนรัชต์

ฯพณฯ จอมพลสฤษฎิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ตามข้อความดังนี้

พี่น้องร่วมชาติ และมิตรร่วมชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย

            ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ศาลโลก ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา  และทางรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบมาตามลำดับแล้วนั้น โดยที่รัฐบาลของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโดยเฉพาะตัวข้าพเจ้าถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวกับผลได้ผลเสียอย่างสำคัญของชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดินไทยซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษของเราสู้อุตส่าห์ฝ่าคมอาวุธรักษาไว้ และตกทอดมาถึงคนรุ่นเรา  จึงสมควรที่เราทุกคนจะได้เอาใจใส่ และสนใจร่วมรู้ร่วมเห็นก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ลงไปเกี่ยวกับผืนแผ่นดินนี้   ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและของตัวข้าพเจ้าเองที่ต้องชี้แจงให้พี่น้องร่วมชาติทั้งหลายได้ทราบถึงการที่รัฐบาลนี้ต้องตัดสินใจในกรณีปราสาทพระวิหารต่อไป

            แต่เนื่องในการกล่าวคำปราศรับนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจพี่น้องทั้งหลายอยู่มาก  ข้าพเจ้าจึงจำต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า  ข้าพเจ้าทราบดีว่า ในส่วนลึกที่สุดของหัวใจแล้ว  คนไทยผู้รักชาติทุกคนมีความเศร้าสลดและขมขื่นใจเพียงใด  การแสดงออกของประชาชนในการเดินขบวนทั่วประเทศเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลโลกในสัปดาห์ที่แล้วมาเป็นสิ่งที่เห็นกันอย่างแน่ชัดอยู่แล้ว  แต่ก็จะทำอย่างไรได้  เราต้องถือเป็นคราวเคราะห์ร้ายของเราที่ต้องมาประสบกับชตากรรมเช่นนี้  เราจะไม่โทษใครเป็นอันขาด เพราะการที่ไปโทษคนที่พ้นหน้าที่ไปนั้นย่อมเป็นการไม่สมควร  แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เราจะพากันนิ่งเฉยท้อแท้ใจ  ชาติไทยจะยอมท้อแท้ทอดอาลัยไม่ได้  เราเคยสูญเสียดินแดนแก่ประเทศมหาอำนาจที่ล่าอาณานิคมมาแล้วหลายครั้ง ถ้าบรรพบุรุษของเราของเรายอมท้อแท้  เราจะเอาแผ่นดินที่ไหนมาอยู่กันจนถึงทุกวันนี้   เราจะต้องหาวิธีต่อสู้ต่อไป  ส่วนเราจะต่อสู้อย่างไรนั้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  เพราะในการต่อสู้กรณีเช่นนี้  เราอาจทำได้หลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีผลดีผลเสียแตกต่างกัน  เราจะต้องได้พิจารณาให้สุขุมรอบคอบ  ต้องใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ และด้วยสายตามองการณ์ไกล  แล้วเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุด  ละเมียดละไมและให้คุณประโยชน์มากที่สุดทั้งในเวลานี้และในอนาคต  ชาติเราจึงจะสามารถธำรงเอกราชและอธิปไตยอยู่ได้  และอยู่ในฐานะที่กล่าวได้ว่า เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ  ขอให้พี่น้องผู้รักชาติทั้งหลายโปรดอย่าได้ใช้อารมณ์หุนหันพลันแล่นหรือคิดมุทลุจะหักหาญด้วยกำลังแต่เพียงอย่างเดียว  สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง  ในฐานะที่มีชีวิตเป็นทหารมาแต่เล็กแต่น้อย  และได้เคยผ่านสงครามทำการสู้รบมาแล้วหลายครั้ง  ข้าพเจ้าจึงมิได้มีความเกรงกลัวการสู้รบแต่ประการใด   แต่ตามพันธกรณีที่มีอยู่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ  ยังไม่เป็นเรื่องที่ควรรบกัน

            สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งศาลโลกได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วนั้น  ข้าพเจ้าขอทบทวนความเข้าใจกับเพื่อนร่วมชาติทั้งหลายว่า  รัฐบาลและประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลกทั้งในข้อเท็จ จริงในทางกฎหมายระหว่างประเทศและในหลักความยุติธรรม ตามเหตุผลที่รัฐบาลได้แถลงไปแล้ว  แต่เราก็ตระหนักดีว่าคำพิพากษาของศาลเป็นอันเสร็จเด็ดขาด ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้  ยิ่งกว่านั้น  มาตรา ๔๔ บ่งไว้ว่า  ข้อ ๑  สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นผู้แพ้   ข้อ ๒  ถ้าผู้แพ้ในคดีใดไม่ปฏิบัติ  ข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำวินิจฉัยของศาล  อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง  ซึ่งถ้าเป็นเป็นความจำเป็น ก็อาจทำตามคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อยังผลให้เกิดแก่คำพิพากษานั้นได้

เมื่อเป็นดังนี้  แม้ว่ารัฐบาลและประชาชนชาวไทยจะได้มีความรู้สึกสลดใจและขมขื่นเพียงใด   ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ  ก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติ  กล่าวคือ จำต้องยอมให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารนั้นตามพันธกรณีแห่งสหประชาชาติ  แต่รัฐบาลขอตั้งข้อประท้วงและขอสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้  เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนิน การทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจมีขึ้นในภายหน้าให้ได้สิทธิ์นี้กลับคืนมาในโอกาสอันควร

            พี่น้องชาวไทยที่รัก ข้าพเจ้าก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียว กับพี่น้องทั้งหลาย  และถ้าพูดถึงความรักชาติบ้านเมือง  ข้าพเจ้าก็เชื่อเหลือเกินว่าข้าพเจ้ามีความรักชาติไม่น้อยกว่าพี่น้องคนไทยทั้งหลาย  แต่ที่รัฐบาลจำต้องโอนอ่อนปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติก็โดยคำนึงถึงเกียรติภูมิของประเทศไทยที่เราสร้างสมไว้เป็นเวลานับเป็นร้อยๆ ปี ยิ่งกว่าปราสาทพระวิหาร  ทั้งนี้ มิใช่เกิดเพราะความกลัวหรือความขี้ขลาดแต่ประการใดเลย  แต่พี่น้องชาวไทยทั้งหลายต้องมองการณ์ไกล  เวลานี้เราอยู่ในสังคมของโลก  สมัยนี้ไม่มีชาติใดที่จะอยู่โดยโดดเดี่ยวได้   ประเทศไทยของเราได้รับความนิยมนับถือจากสังคมนานาชาติเพียงใด พี่น้องทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้ว  ถ้าชาติของเราต้องเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิไปเนื่องจากปราสาทพระวิหารคราวนี้แล้ว  อีกกี่สิบกี่ร้อยปีเราจึงจะสามารถสร้างเกียรติภูมิที่สูญเสียไปคราวนี้กลับคืนมาได้  ข้าพเจ้าทราบดีว่าการสูญเสียปราสาทพระวิหารคราวนี้เป็นการสูญเสียที่สะเทือนใจคนไทยทั้งชาติ  ฉะนั้น แม้ว่ากัมพูชาจะได้ปราสาทพระวิหารนี้ไป ก็คงได้แต่ซากสลักหักพังและแผ่นดินที่รองรับพระวิหารนี้เท่านั้น  แต่วิญญาณของปราสาทพระวิหารยังอยู่กับไทยตลอดไป  ประชาชนชาวไทยจะรำลึกอยู่เสมอว่า ปราสาทพระวิหารของไทยถูกปล้นเอาไปด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลของคนที่ไม่รักเกียรติและไม่รักความชอบธรรม   เมื่อประเทศไทยประพฤติปฏิบัติตนดีในสังคมโลก  เป็นประเทศที่มีศีลมีสัตย์  ในวันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว  ปราสาทพระวิหารจะต้องกลับคืนมาอยู่ในดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติของประเทศไทยตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติครั้งนี้คงจะทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกเห็นอกเห็นใจเรายิ่งขึ้น   เหตุการณ์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารครั้งนี้จะสลักแน่นอยู่ในความทรงจำของคนไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน  และจะเป็นรอยจารึกอยู่ในประว้ติศาสตร์ของชาติไทยตลอดไปเสมือนหนึ่งเป็นแผลในหัวใจของคนไทยทั้งชาติ  แต่ข้าพเจ้าก็ยังหวังอยู่เสมอว่า  ในที่สุดธรรมะย่อมชนะอธรรม  การหัวเราะทีหลังย่อมหัวเราะดังและนานกว่า

            อนึ่ง ในเรื่องนี้รํฐบาลรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระประมุขที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยที่ได้พระราชทานคติและพระบรมราโชวาทแก่รัฐบาลด้วยความที่ทรงห่วงใยในสวัสดิภาพของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง

            ขอให้พี่น้องร่วมชาติจงได้วางใจเถิดว่า รัฐบาลที่ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้จะสามารถนำชาติและพี่น้องชาวไทยที่รักก้าวไปสู่อนาคตอันสุกใสได้  ในที่สุด ข้าพเจ้าขอรับรองต่อท่านทั้งหลายว่า เมื่อคราวที่ชาติเข้าที่คับขันแล้ว ข้าพเจ้าจะกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกับพี่น้องชาวไทย  เอาเลือดทาแผ่นดินโดยไม่เสียดายชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว  แต่ราจะทำอย่างไรได้  ข้าพเจ้าเองก็มีความเจ็บช้ำน้ำใจมิได้น้อยกว่าเพื่อร่วมชาติทั้งหลาย   การที่ข้าพเจ้าต้องมากล่าวถึงเรื่องนี้ในวันนี้  ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านด้วยน้ำตา แต่น้ำตาของข้าพเจ้าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย ของเลือด ของความคั่งแค้นและการผูกใจเจ็บไปชั่วชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า  ต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาวไทย ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญานด้วยสัจวาจานี้ไว้    พี่น้องที่รัก น้ำตามิได้ช่วยให้คนฉลาดขึ้นและได้อะไรคืนมา  นอกจากความพยายาม ความสามัคคี ความสุขุมรอบคอบ ความอดกลั้นที่จะกล้าเผชิญกับความสูญเสีย  พร้อมทั้งรวมกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด เพื่อให้ชาติที่รักของเราแข็งแกร่งมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น  ในขั้นสุดท้ายชาติไทยต้องประสบกับชัยชนะเสมอ  เราต้องกล้าสู้  ต้องยิ้มรับต่อภัยที่มาถึงตัวเรา  ชาติไทยเป็นชาติที่เชื่อมั่นในบวรพุทธศาสนา  ตั้งตนอยู่ในความเป็นธรรมเสมอมา  ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเสมอว่าชาติเราจะไม่อับจนเป็นอันขาด เรื่องนี้เป็นแต่เพียงเรื่องหนึ่งในเรื่องใหญ่ทั้งหลายซึ่งมีความสำคัญกว่านี้มากนัก   ชาติที่รักของเรากำลังพัฒนาตามวิถีทางที่ดีอยู่แล้วทุกทาง  เหตุนี้มิใช่เหตุแห่งความอับจน  เราจงระวังและทำในเรื่องของชาติที่สำคัญกว่านี้   ข้าพเจ้ามั่นใจเหลือเกินว่าชาติไทยของเราจะมีอนาคตอันแจ่มใสและรุ่งโรจน์ประเทศหนึ่งอย่างแม่นมั่นในอนาคตอันใกล้นี้  เราจงมาช่วยกันสร้างชาติที่รักยิ่งของเรา

            พี่น้องชาวไทยที่รัก ในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้...    สวัสดี...

การแถลงจุดยืนของไทย

ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ถึง ฯพณฯ อู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค อ้างถึงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยว่าไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านคำพิพากษาซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗  นอกจากนั้นยังขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ นอกจากนั้น ไทยยังได้ตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่และจะพึงมีในการครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคตตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย  อนึ่ง ข้อสงวนดังกล่าวมีผลตลอดไปโดยไม่จำกัดเวลา

ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๐๕ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยยังได้มอบหมายให้ นายสมปอง สุจริตกุล ผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่ ๖ (กฎหมาย) เป็นผู้แถลงย้ำให้ผู้แทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติในคณะกรรมการกฎหมายได้ทราบถึงจุดยืนของประเทศไทยตลอดจนเหตุผลทางกฎหมายในการคัดค้านคำพิพากษาโดยละเอียด  ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าผู้แทนประเทศอื่นรวมทั้งกัมพูชาได้แสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้งแต่ประการใด

คำแปลหนังสือจาก ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ*

(*แปลโดย ศ. ดร.สมปอง สุจริตกุล)


เลขที่ (๐๖๐๑) ๒๒๒๓๙/๒๕๐๕

                                                                   กระทรวงการต่างประเทศ

                                            กรุงเทพฯ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (ค.ศ.๑๙๖๒)

เรียน   ฯพณฯ อู ถั่น

          รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ

          นิวยอร์ค

                    ข้าพเจ้าขออ้างถึงคดีปราสาทพระวิหารซึ่งกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๙  [พ.ศ. ๒๕๐๒] และศาลฯ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒  [พ.ศ. ๒๕๐๕] ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร

                    ในคำแถลงเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม  ค.ศ. ๑๙๖๒  [พ.ศ. ๒๕๐๕]  รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฯ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวขัดอย่างชัดแจ้งต่อบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ ในข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตลอดจนขัดต่อหลักกฏหมายและหลักความยุติธรรม   ถึงกระนั้นก็ตาม  ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ  รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งคำพิพากษาตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ภายใต้ข้อ ๙๔ ของกฏบัตรสหประชาชาติ

ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่าการตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น  รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งวินิจฉัยให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ข้าพเจ้าจึงขอเรียนมาเพื่อทราบพร้อมทั้งขอให้ท่านส่งเวียนหนังสือฉบับนี้ไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ


                                                ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

                                                 (ลงนาม) ถนัด คอมันตร์

                                                        (ถนัด คอมันตร์)

       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทย


ปฏิบัติการของไทย

แม้ศาลยุติธรมระหว่างประเทศจะไม่มีอำนาจบังคับคดี แต่เพื่อแสดงความเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาชาติ ไทยได้ดำเนินการถอนบุคลากรจากปราสาทพระวิหารและได้ล้อมรั้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบตัวปราสาทตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย   และได้ย้ายเสาธงไทยออกจากบริเวณปราสาทโดยไม่มีการลดธง  ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งบุคลากรเข้าไปในบริเวณปราสาทโดยไทยมิได้สละอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ หรือยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาแต่อย่างใด  บริเวณที่ตั้งของตัวปราสาทจึงเป็นพื้นที่เดียวซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น พื้นที่ทับซ้อน

ปฏิกิริยาของกัมพูชา

หลังจากไทยได้ถอนบุคลากรจากประสาทพระวิหารตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กัมพูชาก็ยอมรับสภาพโดยดี และมิได้โต้แย้งในการที่ไทยได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและตั้งข้อสงวนไว้อย่างชัดเจน กัมพูชานิ่งเฉยตลอดระยะเวลา ๕ ทศวรรษโดยมิได้เรียกร้องอะไรอื่นอีก

กัมพูชาเริ่มมีปฏิกิริยาเมื่อประมาณ ๕-๖ ปีมานี้ โดยแสดงเจตน์จำนงที่จะขยายอาณาเขตรุกล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขตของประเทศไทย เริ่มจากรื้อรั้วที่ไทยสร้างไว้รอบปราสาท  นอกจากนั้น คนชาติกัมพูชายังลอบเข้ามาตั้งถิ่นฐานในวนอุทยานเขาพระวิหารในเขตแดนไทยรวมทั้งตั้งร้านค้าและแผงลอยซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเพื่อขายสินค้าให้นักทัศนาจร


พื้นที่ทับซ้อน

การกล่าวถึง พื้นที่ทับซ้อน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น  กัมพูชาได้พยายามขยายขอบเขตคำพิพากษาของศาลฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยแอบอ้างว่าศาลให้ความเห็นชอบแผนที่ผนวก ๑ ซึ่งปราศจากมูลความจริง ทั้งนี้ เนื่องจากในคำพิพากษานั้นเอง ศาลฯ ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าแผนที่ผนวก ๑ ท้ายคำฟ้องของกัมพูชามีข้อผิดพลาดตามที่ปรากฏในรายงานคณะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกัมพูชาไม่อาจหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่า เส้นสันปันน้ำ บนขอบหน้าผาคือเส้นเขตแดนที่แท้จริงระหว่างไทยกับกัมพูชา เส้นเขตแดนดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนไทย

อายุความฟ้องร้อง

ปัญหาเรื่องอายุความฟ้องร้องไม่เป็นประเด็นในกฏหมายระหว่างประเทศนอกจากในกรณีที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีต่อศาลหนึ่งศาลใดที่มีอำนาจพิจารณาข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หากจะกล่าวถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน อายุความ ๑๐ ปีมีอยู่กรณีเดียว  กล่าวคือการร้องขอให้ทบทวนคำพิพากษาตามข้อ ๖๑ วรรค ๕ แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรม

ในกรณีปราสาทพระวิหาร การกล่าวถึงอายุความ ๑๐ ปีนั้นใช้เฉพาะสิทธิของคู่คดีซึ่งได้แก่ไทยหรือกัมพูชาที่จะร้องเรียนให้ศาลทบทวนคำพิพากษาเดิมเท่านั้น  ฉะนั้น หากไทยหรือกัมพูชาดำริให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทบทวนคำพิพากษาปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ก็จะเป็นการสายเกินไป  ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดำริที่จะกระทำเช่นนั้น

ส่วนกรณีอื่นๆ เช่นการเพิกถอนหรือตีความคำพิพากษา การฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ หรือระงับกรณีพิพาทโดยอาศัยกลไกอื่น อาทิ ศาลอนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ซึ่งไทยหรือกัมพูชามิได้กระทำการแต่อย่างไร  ปัญหาเรื่องอายุความจึงยังไม่เป็นประเด็น

อายุความข้อสงวน


ข้อสงวนของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษาของศาลในคดีปราสาทพระวิหารซึ่งไทยได้แจ้งไปยังเลขาธิการสหประชาชาติในหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พร้อมทั้งส่งเวียนให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับทราบทั่วกันโดยไม่ปรากฏว่ามีประเทศหนึ่งประเทศใดโต้แย้ง ทักท้วง หรือค้ดค้านแต่ประการใดนั้น  เป็นข้อสงวนที่ปลอดอายุความ  มีผลตลอดกาลตราบใดที่ยังอยู่ใต้บังคับของกฏหมายระหว่างประเทศ การที่ข้อสงวนดังกล่าวมิใช่เป็นการทบทวนคดีเก่าซึ่งต้องกระทำภายในกำหนดเวลาที่จำกัดไว้ จึงยังมีผลบังคับจนทุกวันนี้ยกเว้นจะถูกเพิกถอนหรือยกเลิกอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลไทย


ศาสตราจารย์ ดร. สมปองสุจริตกุล*

๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒



ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล

* B.A., B.C.L., M.A., D.Phil., and D.C.L. (Oxon)

  Diplômé d’Etudes Supérieures de Droit International Public, Docteur en Droit (Paris)

  LL.M. (Harvard)

  of the Middle Temple, Barrister-at-law (United Kingdom)

  Diplômé de l’Académie de Droit International de La Haye (Nederland)

 -คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 
 -ศาสตราจารย์กิตติคุณกฏหมายระหว่างประเทศและกฏหมายเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยกฎหมายโกลเดนเกท  ซานฟรานซิสโก  สหรัฐอเมริกา 
 -สมาชิกสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศไทย 
 -สมาชิกสถาบันอนุญาโตตุลาการองค์การกฏหมายเอเซีย-แอฟริกา ณ กรุงไคโร และกัวลาลัมเปอร์ 
 -อนุญาโตตุลาการอิสระ 
 -อดีตเลขาธิการอาเซียน (ประเทศไทย) 
 -อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์,เบลเยี่ยม,ลักเซมเบอร์ก,ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส,โปรตุเกส,อิตาลี,กรีก,อิสราเอล และองค์การตลาดร่วมยุโรป 
 -อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำ UNESCO และ FAO 
 -อดีตสมาชิกศูนย์ระงับข้อพิพาทการลงทุนศาลอนุญาโตตุลาการธนาคารโลก  ICSID World Bank 
 -อดีตกรรมาธิการสหปราชาชาติเพื่อพิจารณาค่าชดเชยความเสียหายในประเทศคูเวต (UNCC) 
 -และทนายผู้ประสานงานคณะทนายฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหาร  ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๕

MOU 2543 เป็นโมฆะ

MOU 2543 เป็นโมฆะ
การดำเนินการใดๆต่อมาที่อ้าง MOU 2543 ต้องเป็นโมฆะทั้งสิ้น !

โดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์
นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ  สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


          ทันทีที่นายกรัฐมนตรีไทยใช้ช่องทางทางการฑูตเจรจากับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา พลันสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า   พังแน่ประเทศไทย !
            ต้องขอย้อนไปก่อนหน้านี้สักเล็กน้อยถึงสถานการณ์ภายในประเทศเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่พยายามเขยื้อนนโยบายของอำนาจบริหารเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา
            ภาคประชาชนกำลังไล่ตรวจสอบฝ่ายอำนาจบริหารอยู่เรื่อง MOU 2543  ทำให้ความจริงกำลังจะเปิดเผยว่า ที่แท้ MOU 2543 ซึ่งเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างฝ่ายอำนาจบริหารของประเทศ 2 ประเทศ คือ ไทยและกัมพูชานั้น โมฆะ ไปแล้วตั้งแต่รัฐบาลที่ทำ MOU 2543 นั้นหมดอำนาจไป
            ดังนั้น การนำ MOU 2543 กลับมายืนยันหรืออ้างอิงกันอีกต่อๆ มา จึงเสมือนเป็นการปลุกผีขึ้นมา ซึ่งยังไงเสียมันก็ตายไปแล้ว จะปลุกอย่างไรก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต   ดังนั้นการที่ฝ่ายอำนาจบริหารใช้ MOU 2543 เป็นกรอบในการเจรจากับกัมพูชาเรื่องเขตแดน  ใช้ MOU 2543 เป็นตัวรองรับหรือให้อำนาจกลไกทำงานในชื่อว่า JBC เพื่อให้มีบันทึกการเจรจาทุกครั้งเป็นหลักฐานและยืนยันการเป็นข้อตกลงระหว่างกัน หรือเป็นความพยายามสร้างกระบวนการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ นั้น  ภาคประชาชนกลับเรียกการกระทำอย่างนี้ให้เข้าใจกันได้อย่างง่ายๆ ว่าพิธีการทำลูกกรอก  ของยากอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ทำให้ชาวบ้านทั่วไปอย่างตาสีตาสายายมายายมี เพิ่มจำนวนผู้เข้าใจความจริงมากยิ่งขึ้น
            ยิ่งการสัญจรไปมาบนเส้นทางถนนศรีเพ็ญ อันเคยเป็นถนนยุทธศาสตร์ของไทย  พุ่งขนานไปกับเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาบริเวณจังหวัดสระแก้ว ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เห็นกันชัดๆ ว่าไม่ใช่พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรหรือพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารอันเป็นพื้นที่ที่กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งนักวิชาการที่อยู่ในโครงการเชิงรุกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าของงบประมาณ  กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกและบิดเบือนว่าเป็นจุดปัญหาของไทย-กัมพูชาเท่านั้น  มีความยากลำบากที่ประชาชนไทยทั่วไปจะเข้าไปใช้ถนนศรีเพ็ญเป็นเส้นทางสัญจร  มิหนำซ้ำยังเห็นกันได้ด้วยตาเปล่าว่ามีกองกำลังทหารกัมพูชาอยู่เป็นแนวหลังผืนนา  พูดง่ายๆ เพื่อใหเห็นภาพชัดเจนก็คืออยู่หลังแนวป้ายรูปหัวกระโหลกสีแดง  ระบุว่าเป็นเขตอันตรายเพราะเป็นแนวระเบิดนั่นเอง  คนอย่างตาสีตาสายายมียายมา ที่เข้าใจความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย  จึงผุดขึ้นตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 7 จังหวัด  โดยเฉพาะแนวชายแดนที่อยู่ในเขตภาคอิสานตอนล่าง อันได้แก่ อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ  สุรินทร์  บุรีรัมย์  และสระแก้ว
            รัฐบาลเองก็ตระหนักต่อความจริงว่าไม่อาจปิดกั้นคนรักชาติอย่างตาสีตาสายายมียายมาได้อีกต่อไป  ความพยายามจะแก้เกี้ยวด้วยการชักแม่น้ำทั้งห้ามาให้เหตุผลว่า MOU 2543 ดีอย่างนั้นอย่างนี้ นั้น ในที่สุดก็แพ้หัวใจคนรักชาติอย่างตาสีตาสายายมียายมา  เห็นได้ว่าฝ่ายอำนาจบริหารแถกไม่ขึ้นอีกต่อไป  พูดอย่างตาสีตาสายายมียายมาได้ว่า  ยิ่งแถกยิ่งทำ(ประเทศ) พัง !
            เพียงแค่รัฐบาลไปบอกกัมพูชาว่า MOU 2543 โมฆะไปแล้ว บอกความจริงแก่ชาวโลกที่รัฐบาลเคยมีหนังสือไปยืนยันการใช้ MOU 2543 และอำนาจของ JBC  กับเขา  แล้วใช้ช่องทางทางการฑูตที่ตนเองถนัดนั่นแหละเพื่อเริ่มต้นกันใหม่  ทุกคนเขาเข้าใจได้เพราะกฎหมายระหว่างประเทศเองก็ยืนยันว่า  สนธิสัญญาที่เกิดจากกระบวนการที่ฉ้อฉลไม่อาจเรียกเป็นสนธิสัญญาได้  ขืนดำเนินการกันต่อไป พังแน่ทั้งไทยและกัมพูชา
            ย้อนเมื่อวานให้เห็นว่า พังแน่  และ  แถกไม่ขึ้น  แล้วมาเริ่มวันใหม่ทันทีที่นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชาได้เจรจากันที่สหรัฐอเมริกา  นายกรัฐมนตรีไทยมาประกาศแผนการปรองดองกับกัมพูชา  ทำลายแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่ภาคประชาชนคาดหวังว่า     หนึ่ง...พลังประชาชน     สอง...องค์ความรู้   ภาคประชาชนพยายามจัดการความรู้ออกมา เพื่อจะนำไปชักชวน (ร่วมกับ)เหลี่ยมด้านที่สาม...อำนาจรัฐ  เพื่อมาแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากเรื่องปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา  โดยสิ้นเชิง
            แผนปรองดองกับกัมพูชาทำให้ฝ่ายอำนาจบริหารหันมา จีโนไซด์(ภาษาอังกฤษอีกคำที่ประชาชนไทยควรรู้ genocide แปลความหมายว่า วิธีการที่ไม่สวยนักในการขจัดคนที่มีความคิดเห็นต่างให้ราบคาบไป) ภาคประชาชนผู้มีความคิดเห็นในเรื่องปัญหาไทย-กัมพูชาไม่ตรงกับตน  เช่น กล่าวหาเพื่อทำลายว่าเป๋นกลุ่มผู้รับเงินมาเพื่อล้มรัฐบาล
            แผนปรองดองกับกัมพูชาทำให้ฝ่ายอำนาจบริหารประกาศความร่วมมือทางวัฒนธรรม เจตนาแรกก็คือประกาศที่จะดำเนินการขอขึ้นทะเบียนปราสาทตาเมือนเป็นมรดกโลก
            ถ้าจะคิดว่าตาสีตาสายายมียายมา จะหลงคารมคำบิดเบือน  เอาเรื่องวัฒนธรรมมาปิดบังปัญหาเรื่องเขตแดน  เหมือนช้างตายทั้งตัวจะเอาใบบัวมาปิดนั้น  คงจะสำเร็จได้ยากนอกจากประชาชนจะไม่เชื่อแล้ว ปัญหาเรื่องเขตแดนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง  พูดตรงไปตรงมาก็คือ ยังไม่ปัดทิ้งที่จะเอาแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 มาเป็นตัวกำหนดอาณาเขตของประเทศ  ปัญหาพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารที่ใช้แผนที่ดังกล่าว   แล้วปิดประชาชนไม่มิด  ยังแก้ไม่หาย ยังจะใช้โมเดลนี้กับพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศอีก  นี่ไม่ใช่การแก้ไขให้ตรงกับปัญหา  แต่กลับจะทำให้ประเทศไทยพัง  เพราะฝ่ายอำนาจบริหารไปยึดติดกับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศโดยละทิ้งเรื่องสันปันน้ำ     ละทิ้งความจริงเรื่องการปักปันเขตแดนซึ่งเราทำเสร็จมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5     ละทิ้งเรื่องตำแหน่งเดิมของหลักเขต 73 หลักที่ทำเสร็จแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อีกเช่นกัน    ละทิ้งแผนที่ประเทศไทยที่เป็นรูปด้ามขวานหัวโต  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปหัวขวานจะต้องเล็กกว่านั้น     ละทิ้งเรื่องอธิปไตยและสิทธิต่างๆ เช่นสิทธิการปกครอง  สิทธิพลเมืองของคนในรัฐไทย  อธิปไตยทางอำนาจศาล  และอื่นๆ อีกมากมาย
            รับรองว่าฝ่ายอำนาจบริหารทั้งของไทยและของกัมพูชาจะต้องมีอันเป็นไปแน่ๆ (ตามหลักกฎหมายไม่ใช่หลักไสยศาสตร์)  โดยเฉพาะฝ่ายอำนาจบริหารของไทย  ถ้าคุณทำประเทศไทยพัง เพราะคุณยังอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบโลก  จึงใช่ว่ามีอำนาจบริหารล้นฟ้าแล้วอยากจะทำอะไรก็ทำได้ตามอำเภอใจ
            รัฐบาลของคุณ  ทุกคนในรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ  ดังนั้น จงเปลี่ยนใจเสียเถิด   แล้วมารวมกับภาคประชาชนที่เสนอองค์ความรู้ใหม่ให้คุณคิดได้  ช่วยกันเขยื้อนภูเขา เจ้าตัวปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาที่แท้จริง ออกไปเสียให้สิ้นซาก

MOU 2543 มาจากไหน


โดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ 
นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ  สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
7 ตุลาคม 2553 


          ในเวลานี้ชาวบ้านร้านตลาดยังงงงวยกันไม่หายว่าที่แท้ MOU 2543 คืออะไร   จู่ๆ ก็มีเรื่อง MOU 2522 ทะลุกลางปล้องขึ้นมาเสียเฉยๆ

            เรื่องเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคมนี้เอง ที่ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปเสวนาร่วมกันกับอาจารย์ธนบูลย์ จิรานุวัฒน์ ในเวทีสัญจรให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องเขตแดน ที่จังหวัดสระบุรี  ปกติโดยหลักการแล้วอาจารย์ธนบูลย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจะเป็นผู้ให้ข้อกฎหมาย ส่วนข้าพเจ้าจะเป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง

            ในวันนั้น อาจารย์ธนบูลย์ ได้หยิบยกบทความของนักวิจัยทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศชาวสิงคโปร์ แห่งสถาบันเอเชียตะวันออก  มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เรื่องอาณาเขตทางทะเล ขึ้นมา

            เรื่องสะดุดใจจากบทความนี้คือ ข้ออ้างอิงลำดับที่ 70 ของเขา  ซึ่งอ้างเรื่องข้อตกลงชั่วคราว 2533 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย  ที่ทำให้เห็นว่ามีการวางมาตรฐานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีผลต่อประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลของประเทศ ด้วยการอ้างอิงข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างรัฐบาล หรือ MOU  โดยค่อยๆ พัฒนาการผูกพันระหว่างประเทศด้วยการออกนโยบายต่างๆ เพิ่มขึ้นๆ จนที่สุดประเทศก็สูญเสียผลประโยชน์ของชาติบางส่วนไป

            บทความของนักวิจัยผู้นี้ทำให้เราฉุกคิดว่าเราไม่มีทางเลือกแล้วอย่างนั้นหรือ (บทความของเขาเป็นเรื่องจีนกับเวียดนาม อ้างสิทธิอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากพลังงานก๊าซและน้ำมัน  ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ และการจับปลาในอ่าวตังเกี๋ย)

            ประเทศไทยกำลังปิดปากตัวเองเรื่อง MOU 2543 กรณีเขตแดนทางบกตลอดแนวระหว่างไทย-กัมพูชา แล้วค่อยๆพัฒนาการผูกพันระหว่างประเทศด้วยบันทึกข้อตกลง ของกลไกร่วมคือ JBC ฉบับแล้วฉบับเล่า  แล้วอ้างการหาประโยชน์ร่วมกันโดยความยินยอมของคู่ภาคีที่กฎหมายระหว่างประเทศจะต้องยอมรับ คือ Provisional Arrangement (PA) หรือ ข้อตกลงชั่วคราวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าเราไม่ได้เสียอย่างถาวร (ใช้รูปแบบเช่นนั้น แต่เนื้อหาลับ ลวง พราง เป็นอีกอย่างหนึ่ง) รูปแบบเช่นนี้ที่จริงแล้วเป็นมาตรฐานสากลสำหรับการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ประเทศไหนๆ เขาจึงนำมาใช้กัน สำคัญแต่ว่าต้องมีความจริงใจและไม่ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ในการแก้ปัญหาเท่านั้น

            การแก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซียก็เช่นกัน เริ่มต้นจากการทำ MOU 2522 หรือเรียกกันว่า MOU เชียงใหม่ ว่าด้วยความตกลงจัดตั้งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (ทางทะเลมีพื้นที่ทับซ้อนได้ อธิบายง่ายๆ เพราะว่าอ่าวไทยไม่กว้างนัก การประกาศเขตแดนทางทะเลของแต่ละประเทศรอบอ่าวไทยจึงทำให้มีบริเวณที่เหลื่อมล้ำหรือทับซ้อนกัน แต่ข้อสำคัญอยู่ที่หลักการลากเส้นอาณาเขตของแต่ละประเทศว่าเป็นไปตามหลักวิชาหรือไม่มากกว่า ซึ่งในกรณีของไทย-มาเลเซียนี้ตามพิกัดในแนวราบบนแผนที่ ส่วนบนสุดของพื้นที่พัฒนาร่วม ตรงกับอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนล่างสุดตรงกับอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี นักวิชาการของไทยจึงเห็นว่ากรรมสิทธิ์ในพื้นที่เจดีเอน่าจะเป็นของไทยมากกว่า หรือหากต้องมีการแบ่งสรรทรัพยากรเพื่อยุติข้อขัดแย้ง ไทยก็น่าจะได้รับประโยชน์ในสัดส่วน 70 : 30 แต่มาเลเซียอ้างหลักเกณฑ์ว่า จุดศูนย์กลางของพื้นที่พัฒนาร่วมอยู่ห่างจากจังหวัดนราธิวาส 150 กิโลเมตร และห่างจากเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน 150 กิโลเมตร จึงควรมีการแบ่งกรรมสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน   อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทับซ้อนกรณีนี้มีโดยประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร)   รูปแบบของการจัดตั้งองค์กรร่วม  บทบาทและหน้าที่ขององค์กรร่วม   การกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วม และ การตกลงชั่วคราว(มาจากข้อตกลงข้อ 3 ย่อหน้า 1 ที่ว่า ให้จัดตั้งองค์กรร่วมซึ่งจะมีชื่อว่า องค์กรร่วมมาเลเซีย-ไทยเพื่อวัตถุประสงค์ในการสำรวจและการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นดินใต้ทะเล และใต้ดินที่ไม่มีชีวิตในบริเวณเหลื่อมล้ำกัน เป็นเวลาห้าสิบปีนับจากวันที่บันทึกฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และ ข้อที่ 6.1 ว่า ถึงแม้ว่าจะมีข้อ 3 ถ้าภาคีทั้งสองสามารถหาข้อยุติอันเป็นที่พอใจสำหรับปัญหาการแบ่งเขตไหล่ทวีปได้ก่อนระยะกำหนดเวลา 50 ปีดังกล่าว ให้เลิกองค์กรร่วมนี้)

            การจัดตั้งองค์กรร่วมเป็นจริงขึ้นมาจาก ข้อตกลงชั่วคราวหรือ ความตกลงว่าด้วยธรรมนูญองค์กรร่วม 30 พฤษภาคม 2533 โดยมีพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ.2533 (มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 23 มกราคม 2534) รองรับ คณะกรรมการร่วมฝ่ายไทยมี 7 ท่าน  นายศิววงศ์ จังคศิริ เป็นประธาน   นายปรีชา อรรถวิภัชน์  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม    พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ ผู้บัญชาการทหารเรือ   ดร.อักขราทร จุฬารัตน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา    นายนภดล  มัณฑะจิตร อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี    นายวศิน ธีรเวชญาณ  อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และนายวุฒิชัย พงษ์ประสิทธิ์  กระทรวงการคลัง ล้วนเป็นกรรมการในขณะที่ทางฝ่ายมาเลเซียนั้นองค์ประกอบของคณะกรรมการของเขาชัดเจนไปเลยว่าภาคเอกชนที่เข้าร่วมคือประธานกรรมการบริษัทเปโตรนัส  และนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มาจากภาคเอกชน ซึ่งแตกต่างจากทางฝ่ายไทยที่ล็อคข้าราชการประจำเข้ากับเรื่องธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

            ปี พ.ศ. 2537 มีการทำสัญญาให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 ฉบับให้ไตรตัน ออยล์ และเปโตรนัส

            ปี พ.ศ. 2540 ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง A 18 จากพื้นที่ทับซ้อนหรือเรียกว่าพื้นที่พัฒนาร่วม

            พอถึงปีพ.ศ.2543 ปตท.ของไทยและเปโตรนัสของมาเลเซียตั้งบริษัทร่วมทุน TTM (Trans Thai-Malaysia) มีการวางแผนในระยะที่ 1 ให้นำก๊าซธรรมชาติจากแปลง A 18 ขึ้นฝั่งมาเลเซีย   และ ในระยะที่ 2 ให้นำก๊าซธรรมชาติจากแปลง A 18 นั้นขึ้นฝั่งไทย

            คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจะนะ จังหวัดสงขลา  คงจะจดจำเรื่องการประท้วงโครงการวางท่อก๊าซและโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์  จากการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทยได้เป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การทำประชาพิจารณ์ การคัดค้านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  การผ่านรายงานการประเมินผลกระทบทางสังคมในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  และการสลายม๊อบคัดค้านโครงการหน้าโรงแรมเจบี หาดใหญ่       มีการประท้วงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์จากนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 1,384 คน จนถึงทุกวันนี้เรื่องยังไม่จบ ยังเป็นรอยร้าวฝังใจคนสงขลาและคนไทยกลุ่มที่รู้เรื่องราวและเกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก

            มาตรฐานของการพัฒนาประเทศ และมาตรฐานของการสร้างความร่วมมือระหว่างปะเทศเพื่อความสัมพันธ์อันดีและผลประโยชน์ระหว่างไทย-มาเลเซีย  ควรเป็นบทเรียนให้ประเทศไทยได้ศึกษาเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการแสวงผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในสมัยต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นกับเวียตนาม หรือกับกัมพูชา ก็ตาม

            รูปแบบของ MOU 2543 ระหว่างไทย-กัมพูชา  จำลองมาจาก MOU 2522 และ ข้อตกลงชั่วคราว” 2533  ระหว่างไทย-มาเลเซีย  ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังปิดปากเรื่อง MOU 2543  เพื่อจะพัฒนา PA หรือร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ฉบับกรุงพนมเปญ 6 เมษายน 2552 ที่ MOU 2543 วางฐานไว้ให้ เพื่อให้พัฒนาเรื่องการแบ่งอาณาเขตและการแสวงผลประโยชน์ร่วมกันตามมาตรฐานของการพัฒนาประเทศดังกล่าวข้างต้น

            การแสวงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ตามมาตรฐานที่กล่าวถึงนี้ ที่จริงก็พัฒนาโดยใช้ระยะเวลาเท่าเทียมกันกับกรณีไทย-มาเลเซียคือ ประมาณ 10 ปี(ไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ MOU 2522 ถึง ข้อตกลงชั่วคราว” 2533  ส่วนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่ MOU 2543 – ร่างข้อตกลงชั่วคราว 2552 ซึ่งขณะนี้กำลังรอการรับรองจากรัฐสภาอยู่) เพียงแต่ช่วงการพัฒนาของไทย-กัมพูชา นั้นผ่านรัฐบาลหลายสมัยกว่า  แต่ละสมัยก็มีการเจรจาสร้างเงื่อนไขกันจนพะรุงพะรังเหมือนเป็นการขันชะเนาะกันให้แน่น อย่างเช่นสมัยรัฐบาลปี 2544 ของไทยรักไทยผลัดใบต่อจากปี 2543 ของประชาธิปัตย์  ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมกับฮุน เซน ในโอกาสการเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เมื่อ 18 มิถุนายน 2544 เป็นแถลงการณ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาสู่ศตวรรษที่ 21  และการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างทั้งสองประเทศว่าด้วยพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เพื่อกำหนดพื้นฐานสำหรับเริ่มศักราชใหม่ของความร่วมมือระหว่างกันเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ซึ่งทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปทับซ้อนกัน  มีข้อหนึ่งที่ขันชะเนาะเอาไว้ และเร่งทำแผนแม่บทหรือ TOR 2546 เรื่องการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว ตาม MOU 2543 ว่า

            ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความตั้งใจมั่นที่จะดำเนินการการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างกันให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ บนพื้นฐานของมิตรภาพ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน หลักการของความเสมอภาคและการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน  เพื่อให้พรมแดนของทั้งสองประเทศเป็นพรมแดนแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างกัน

            และหลังจากนั้นมาถึงสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พรรคเพื่อไทย ก็มีการขันชะเนาะ MOU 2543 ในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ของนายนภดล ปัทมะ วันที่ 18 มิถุนายน 2551 เพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา  มาถึงสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย มีการขันชะเนาะ MOU 2543  และ TOR 2546 ในกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว และนำเข้ารัฐสภาวันที่ 28 ตุลาคม 2551  จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ มีการขันชะเนาะ MOU 2543  และ TOR 2546 อีกครั้งในร่างข้อตกลงชั่วคราว 2552 ซึ่งเป็นการประมวลความการเจรจาของ JBC ที่ถือกำเนิดมาจาก MOU 2543 และกำลังรอการรับรองจากรัฐสภาอยู่ในขณะนี้ แต่ตลอดเวลาก็มีความพยายาม ปักปันเขตแดนกันใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชาตลอดแนว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา เสร็จเรียบร้อยไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  ดังนั้นหากเสร็จสิ้นการจัดการอาณาเขตทางบกเงื่อนไขในรัฐบาลนี้เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่เงื่อนไขการ ปักปันอาณาเขตทางทะเลเพื่อแสวงประโยชน์เรื่องทรัพยากรธรรมชาติระหว่างกันต่อไป

            เขียนมาทั้งหมดนี้ อย่างน้อยก็อยากให้เห็นว่าประเทศไทยเราวางมาตรฐานของการพัฒนาประเทศที่ไม่ถูก ไม่ควร   จนไม่อาจจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ ยอมปิดปากเสียผลประโยชน์ของชาติให้ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีนอมินีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง

            ขันชะเนาะทั้งบุคคลที่เป็นข้าราชการประจำเข้ากับธุรกิจ จนไม่คิดว่าบุคคลเหล่านั้นเขาจะสามารถใช้ความรู้อย่างเป็นอิสระให้สมกับบทบาทสำคัญยิ่งๆ ขึ้นไปที่ในวันข้างหน้าเขาจะช่วยพัฒนาประเทศไทยอย่างเต็มที่ได้

            ขันชะเนาะทั้งรูปแบบและวิธีการในการพัฒนาประเทศทำให้เห็นลักษณะของคนไม่มีทางไป

            หยุดต้นเหตุ และไม่พยายามแปลงสิ่งผิด (MOU 2543) ให้ถูกกฎหมาย มิฉะนั้นทุกอย่างจะเป็นความผิดพลาดทั้งหมด   ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขของพรรคและพวกแต่ละรัฐบาลก็พะรุงพะรังจนประเทศไทยจะไปไม่รอด!



   
อ้างอิง

  1. แถลงการณ์ร่วมในโอกาสการเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯดร.ทักษิณ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย 18 มิถุนายน 2544
  2. บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเล ในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย 21 กุมภาพันธ์ 2522
  3. Agreement between the Government of Malaysia and the Government of the Kingdom of Thailand on the Constitution and Other Matters Relating to Establishment of the Malaysia – Thailand Joint Authority, May 30, 1990.
  4. Zou Keyuan, “Maritime Boundary Delimitation in the Gulf of Tonkin”.Ocean Development and International Law. Taylor & Francis, 1999 : 235-254

หยุด JBC !






              เขียนเรื่อง JBC ในผู้จัดการออนไลน์มาแล้ว 2 ครั้ง  ไม่อยากจะย้อนกลับไปเพราะเกรงจะเสียเวลา  มาเดินหน้าค้นหาความจริงกันต่อดีกว่า
เคย




              ข้าพเจ้าเคยตั้งข้อสงสัยกับ JBC ไทย (คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฝ่ายไทย) และจับตามองมาโดยตลอด


              ทำไมวันนี้คนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย จึงยังคงเรียกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่จังหวัดศรีสะเกษ ว่า พื้นที่ทับซ้อน


              ทำไมหลักเขตที่ตาเมือนโต๊ด จังหวัดสุรินทร์ ที่ JBC จัดทำ จึงย้ายจากตำแหน่งเดิมเข้ามาในเขตไทยอีกเกือบ  2 กิโลเมตร  (จากการรายงานการพบหลักฐานของนายวีระ สมความคิด นายแซมดิน และ นายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ กับกลุ่มคนไทยผู้รักชาติ ซึ่งได้ร่วมกันถอนหลักเขตอัปยศของ JBC นั้นออกไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา)


              ทำไมทหารไทยจึงไม่ทำหน้าที่อย่างชายชาติทหารตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ


              มีใครเคยตั้งข้อสังเกตบ้างไหมว่า JBC ไทย ที่มีที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ยิ่งใหญ่เกินอำนาจใดในราชอาณาจักรไทย มาตั้งแต่ในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับนายนพดล ปัทมะ  18 มิถุนายน 2551 จนมาถึงบทบาทอย่างเปิดเผยล่าสุดในร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา วันที่ 6 เมษายน 2552 ในแง่ค้ำยันการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนที่กัมพูชาอ้าง (ดูข้อ 5 ของอ้างอิงทั้งสองแหล่ง)


              โครงสร้างของ JBC ก็ทำให้บทบาททหารไทยเล็กนิดเดียว ไม่ว่าจะมาจากหน่วยไหน มีบทบาทในฐานะเพียงแค่กรรมการ   ถูกครอบงำโดยประธานที่มาจากกระทรวงการต่างประเทศดังได้กล่าวมาแล้วแต่เพียงผู้เดียว


              แล้ว JBC ถือกำเนิดมาได้อย่างไร

             

              JBC ถือกำเนิดมาจาก MOU 2543 โดยอ้างว่าให้มีหน้าที่พิสูจน์ทราบหลักเขตแดน 73 หลัก ซึ่งชำรุด สูญหายตามกาลเวลา  โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่หลักเขตที่ 1  ที่ช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ  ถึงหลักเขตที่ 73 ที่บ้านหาดเล็ก  อำเภอคลองใหญ่  จังหวัดตราด (ตั้งข้อสังเกตว่าเพียงพื้นที่นี้เท่านั้นนะ!)


              ดูผิวเผินเหมือน JBC  มิได้มีอำนาจบาตรใหญ่แต่อย่างไร  แต่ดูจากคนที่จับตามอง JBC จะรู้ว่า MOU หรือบันทึกความเข้าใจปี 2543 อ้างอิงแผนที่กัมพูชามาตราส่วน 1:200,000    ตัวผู้ให้กำเนิดเป็นผู้วางฐานความคิดให้ JBC     JBC จึงปฏิบัติงานโดยใช้หลักการอ้างอิงแผนที่กัมพูชามาโดยตลอด


              คนที่จับตามอง JBC อยู่ รู้ว่า  MOU 2543 ไม่ได้ผ่านการรับฟังเสียงของประชาชน และไม่ได้ผ่านรัฐสภา และใช้พื้นฐานกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น MOU 2543 จึงเป็น ของเถื่อนตัวพ่อ เมื่อเป็นเช่นนี้ JBC จึงต้องเป็น ของเถื่อนตัวลูก  ตามไปด้วย   อย่าว่าแต่จะถามว่ามีกฎหมายรองรับการทำงานของ JBC หรือไม่ เลย


              หากจะอ้างมติรัฐสภา เมื่อวันที่  28 ตุลาคม 2551 (สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา)  ซึ่งมีการลงคะแนนเสียง 409:7 เสียง  เห็นชอบต่อ กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ตลอดแนวและกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ โดยคิดว่าจะทำให้แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของ JBC ซึ่งจะใช้แผนที่กัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ได้ผ่านรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2)   การกระทำเช่นนั้นก็ยังผิด และควรคิดเพิกถอนมติ  เพราะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นการประชุมที่ขัดต่อกฎหมายและมีเจตนาแบ่งแยกราชอาณาจักร ตลอดจนมิได้กระทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างสมบูรณ์ 



              ความผิดขนาดนี้ก็เหลือที่จะรับแล้ว


              แต่ยังปรากฏอีกว่า JBC ถือโอกาสใช้ MOU 2543 อ้างการเข้าไปสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นคนละพื้นที่ปฏิบัติการตามที่ MOU 2543 ระบุ รวมทั้งการไปเจรจากับกัมพูชาที่ใช้วาทกรรมว่าตนเป็นผู้ประคับประคองความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ยึดสันติและความสงบสุข   แต่ไม่ทำความจริงให้ปรากฏ  ว่าหากจะต้องรับมือกับพหุภาคีหรือต้องขึ้นศาลโลกตามที่ JBC และกัมพูชาขู่ กระทรวงการต่างประเทศไทยจะมีศักยภาพในการต่อสู้และต่อรองตามหลักการฑูตของตนหรือไม่อย่างไร  กลับกระทำการอันสุ่มเสี่ยงหลังใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติเป็นเครื่องมือให้มีมติอัปยศของวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ดังกล่าว  เพื่อไปปฏิบัติการเร่งรัดให้เกิดข้อตกลงทวิภาคีวันที่ 6 เมษายน 2552 ณ กรุงพนมเปญ ดังที่ข้าพเจ้าเคยวิเคราะห์ลงผู้จัดการออนไลน์ว่าข้อตกลงนี้มาแทนแถลงการณ์ร่วมฉบับนายนพดล ปัทมะ ที่ศาลปกครองกลางพิพากษาแถลงการณ์ฉบับนี้ไปแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยและดินแดน  ดังนั้น หากข้อตกลงฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาโดยราบรื่นไปอีก เท่ากับ JBC ไทยเป็นกลไกทำให้ทั้งอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติร่วมมือกันกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 1  เพียงแค่ JBC ไทยรับข้อเสนอและคำแนะนำจากคณะทำงานในองค์การยูเนสโก ผ่านความร่วมมือทวิภาคี ให้นำเอกสารที่ยืนยันความสงบในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่ภูมะเขือถึงช่องตาเฒ่าโดยประมาณ มาเป็นหลักฐานใช้ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ส่งให้คณะกรรมการมรดกโลกพร้อมกับแผนบริหารจัดการ ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 เท่านั้นเอง   นี่เป็นการเปิดเผยที่ภาคประชาชนได้ตรวจสอบพบแล้ว    ปฏิบัติการในเชิงลับของ JBC ไทย เรื่องการเปลี่ยนเส้นเขตแดนและทำแผนที่ใหม่ เพิ่งถูกเปิดเผยเพียงเศษเสี้ยวเดียวของงานที่ปฏิบัติ  หลังจากกลุ่มคนไทยผู้รักชาติซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาท เขา พระวิหาร ได้พบความจริงจากหลักเขตแดนที่ปราสาทตาเมือนโต๊ด จังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ภาคประชาชนภายใต้การนำของนายวีระ สมความคิด นายแซมดิน และนายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ ไปรอรับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่จะเดินทางเข้ามาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายฮุน เซน เรียกร้องให้กูเกิ้ล เอิร์ธ เปลี่ยนภาพแผนที่แสดงเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ตรงบริเวณปราสาทพระวิหารจากเดิม


              บ้านเมืองนี้บริหารกันอย่างไร ช่างงายดายเหลือเกินที่จะปล่อยให้คณะบุคคลที่อ้างว่าคือกลไก JBC ไทยไปเจรจา ไปปฏิบัติ และดำเนินการทุกอย่าง เพื่อเอาดินแดนไปแลกเนื้อแลกปลา


              ทหารของชาติอย่างแม่ทัพภาคที่ 2 ของกองทัพบกไทยคงจะภูมิใจเสียละกระมังที่จะได้รับการอุปโลกน์จากการเจรจาทวิภาคีของ JBC ให้เป็นผู้กำหนด มาตราการที่เหมาะสม ร่วมกับผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 4 ของกองทัพกัมพูชา ในการช่วยเอาดินแดนไปแลกเนื้อแลกปลา และถูกลวงให้เฝ้าแหนดินแดนที่เสียไปดังกล่าวโดยผ่านกลุ่มชายฉกรรจ์ไทยที่ต่อไปนี้เขาจะไม่เรียกตัวเองว่า ทหารกล้าแต่จะเรียกว่า ชุดติดตามสถานการณ์ชั่วคราว  เขียนมาทั้งหมดนี้มีหลักฐานอ้างอิงได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะในร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา วันที่ 6 เมษายน 2552 ณ กรุงพนมเปญ  และ/หรือ ในรายงานประกอบมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา


              การจะแก้ไขปัญหานั้นขอให้ช่วยกันเริ่มต้นพิจารณา JBC เถื่อน จะทำอย่างไร


              MOU เถื่อน จะทำอย่างไร


              และมติรัฐสภา 28 ตุลาคม 2551 ที่ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจา เถื่อน จะทำอย่างไร


              เรื่องของอธิปไตยและดินแดนไทยที่เกิดขึ้นและรวมอยู่ในปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็ดี  ปัญหาการอ้างความเป็นสุภาพบุรุษและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่และการใช้ที่ดินร่วมกัน ก็ดี   ปัญหาเรื่องเขตแดนที่อ้างว่าจะต้องมีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา 73 หลัก รวมทั้งการทำแผนที่ใหม่ ก็ดี  ตลอดจนปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องพลังงานในอ่าวไทย ก็ดี   ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกระบวนการบริหารจัดการบ้านเมืองอย่างเป็นบูรณาการบนพื้นฐานของหลักการและกฎหมาย ที่หากจะมีการแก้ไขปัญหา ก็จะต้องแก้อย่างเป็นระบบไม่ว่าจะใช้กลไกใด หรือกระบวนการใด ต้องถูกตรวจสอบและแก้ไขทั่งระบบและกระบวนการ


              แต่สามาถเริ่มต้นได้ หากพวกเราช่วยกัน หยุด JBC ไทย เสียก่อนอื่น!



11 กุมภาพันธ์ 2553


คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง