· แผนที่ ๑ : ๒๐๐๐๐๐ ของกัมพูชาไม่ใช่แผนที่ของคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส
· การยอมรับคำว่า “แผนที่ปักปันฯ” และ “พื้นที่เขาพระวิหารยังปักปันไม่แล้วเสร็จ” เท่ากับยอมสละอธิปไตยของไทยเหนือเขาพระวิหาร
จากการที่นักวิชาการและประชาชนได้ร่วมกันออกมาท้วงติงและแสดงความคิดเห็นต่อ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่ได้ทำหนังสือเลขที่ กต ๐๘๐๓/๔๕๓ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ เรื่อง “การดำเนินการและการเจรจาของกระทรวงการต่างประเทศกรณีกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก” เพื่อรายงานเรื่องนี้ต่อหน่วยงานระดับสูง ในส่วนที่เกี่ยวกับแผนที่ซึ่งระบุว่าราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาได้ยึดถือแผนที่กันคนละฉบับ ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยยึดถือแผนที่ L๗๐๑๗ มาตราส่วน ๑ : ๕๐๐๐๐ ระบุเส้นเขตแดนตามสันปันน้ำ โดยอ้างอิงสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ ระหว่างสยามและอินโดจีนของฝรั่งเศส และประเทศกัมพูชายึดถือแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐๐๐๐ที่จัดพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๐๘ แต่ระบุว่าเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนฝรั่งเศส-สยาม ซึ่งได้ลากเส้นเขตแดนบริเวณเทือกเขาดงรัก(พนมดงรัก)โดยกันในส่วนของตัวปราสาทพระวิหารเข้าไว้ในแดนของกัมพูชา(อินโดจีนของฝรั่งเศสในขณะนั้น)ไม่ได้ตรงตามแนวสันปันน้ำตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ แต่ประการใด
ในข้อนี้นักวิชาการได้ท้วงติงและตำหนิการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศว่า การกระทำนี้มีเจตนาใด และเหตุใดจึงอ้างแต่ข้อมูลอันเป็นผลเสียต่อประเทศ ทั้งๆที่ตามข้อเท็จจริง หลักฐานที่ปรากฏมาตั้งแต่อดีตระบุไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยได้โต้แย้งหลักฐานต่างๆของกัมพูชานี้ว่าไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้อย่างกระจ่างแจ้งเลย แม้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกในอดีต ไทยก็ได้ใช้เหตุผลหักล้างข้อกล่าวหาของกัมพูชาดังกล่าวแล้วอย่างชัดเจนหมดสิ้น ซึ่งแม้จะถือว่าเป็นเพียงความเห็นแย้งและต่อมาปรากฏว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะได้ตัดสินให้ไทยเป็นฝ่ายแพ้คดีก็ตาม แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุผลและหลักฐานต่างๆที่ไทยได้ยกขึ้นต่อสู้นั้นด้อยน้ำหนักหรือเหตุผลกว่าฝ่ายกัมพูชาแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับปรากฏว่าข้อมูลหลักฐานที่ไทยได้ยกขึ้นมาต่อสู้คดีนั้นทำให้คำร้องของฝ่ายกัมพูชานั้นจนมุมในหลักฐานจนถึงกับต้องเปลี่ยนประเด็นต่อสู้ใหม่หลายครั้ง และในคำพิพากษาของศาลเองก็ปรากฏว่ามิได้พิพากษาลงไปถึงดินแดนทั้งหมดตามแผนที่(แผนที่หมาย๑)ที่กัมพูชาร้องขอ ให้ตกอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาด้วย ศาลตัดสินเฉพาะแต่ตัวปราสาทเท่านั้น
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆตามที่ไทยได้เคยยกขึ้นต่อสู้คดีมาในอดีตนั้นมีความน่าเชื่อถือได้เพียงใด แต่เมื่อเวลาล่วงมากว่า ๔๖ ปีในปัจจุบัน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นอีกครั้ง เมื่อกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว และได้นำเอาแผนที่ซึ่งเป็นหลักฐานข้อพิพาทในอดีตมาใช้ประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง โดยจงใจใช้หลักฐานที่กัมพูชามีความได้เปรียบมาใช้อ้างอิงประกอบ แต่ปรากฏว่า ฝ่ายไทยโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้สนใจข้อโต้แย้งซึ่งไทยเรายืนยันมาตลอด แต่ได้ไปใช้ถ้อยคำสำนวนตามฝ่ายกัมพูชาจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด และยังนำเอาความเข้าใจผิดนั้นไปอธิบายต่อหน่วยงานระดับสูงของประเทศ ซึ่งในที่นี้คือการพูดถึงแผนที่ของกัมพูชา (๑ : ๒๐๐๐๐๐) และใช้ชื่อที่ทางกัมพูชาระบุว่าเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมสยามฝรั่งเศสนั้น เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ข้อเท็จจริงก็คือ
แผนที่นี้ไม่ใช่เป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมระหว่างอินโดจีนและสยามแต่อย่างใด เหตุเพราะตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสและคณะกรรมการปักปันชุดที่1 ซึ่งตั้งขึ้นตามสนธิสัญญานี้โดยมีพันโทแบร์นาร์ด เป็นตัวแทนของฝรั่งเศสนั้นได้ทำการปักปันเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารและเทือกเขาดงรักเสร็จสิ้นแล้ว โดยสนธิสัญญายึดถือสันปันน้ำของเทือกเขาดงรักเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศสยามและอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ต่อมามีการทำสนธิสัญญาค.ศ.๑๙๐๗ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๑๙๐๗ และมีการตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมขึ้นเป็นชุดที่๒ โดยมีนายร้อยเอกมาลังแด็งเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส ทำการปักปันเขตแดนอีกครั้งหนึ่งจากอ่าวสยามถึงช่องเกล(ห่างจากเขาพระวิหารไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๙๐ ก.ม.) เท่านั้น แต่ไม่ได้มาถึงบริเวณเขาพระวิหาร เส้นเขตแดนจากการปักปันโดยคณะกรรมการผสมทั้งสองชุดนี้มาบรรจบกันที่ช่องเกล และกรรมการปักปันชุดที่๒นี้ก็ไม่ได้รับรู้ต่อแผนที่ฉบับ ๑ : ๒๐๐๐๐๐ นี้แต่อย่างใด เนื่องจากแผนที่ฉบับนี้จัดพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๐๘ ภายใต้การควบคุมของพันโทแบร์นาร์ด หลังจากสนธิสัญญาค.ศ.๑๙๐๗ ถึง ๑ ปี
จึงหมดข้อสงสัยว่าเส้นเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารจะต้องยึดถือสันปันน้ำตามสนธิสัญญาค.ศ.๑๙๐๔ เป็นหลัก การอ้างว่าแผนที่ฉบับ ๑ : ๒๐๐๐๐๐ ของกัมพูชานั้นเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมค.ศ.๑๙๐๔ จึงไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะอ้างสนธิสัญญาค.ศ.๑๙๐๔ หรือสนธิสัญญาค.ศ.๑๙๐๗ ก็ตาม ความจริงก็คือ แผนที่ฉบับนี้เป็นแผนที่ซึ่งทางฝรั่งเศสจัดทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว และไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาฉบับใดเลย ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากัมพูชาเลือกใช้แผนที่ซึ่งเป็นหลักฐานที่กัมพูชาได้เปรียบและโดยข้อมูลที่บิดเบือนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องที่หน่วยงานราชการไทยผู้ทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศจะแสดงความมักง่าย และประมาทเลินเล่อไปรับเอาข้อมูลหลักฐานผิดๆของกัมพูชามาใช้อ้างอิงโดยละเลยข้อมูลต่างๆซึ่งไทยเราได้ใช้โต้แย้งมาในอดีต
ในกรณีที่ผ่านมาไม่นาน ก็สามารถเห็นเจตนาของกัมพูชาที่ต้องการผลักดันให้แผนที่ของกัมพูชาเป็นที่ยอมรับได้จากการที่กัมพูชาจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่เมืองเสียมราฐระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ มกราคม ๒๕๕๑ ซึ่งได้เสนอรายงานที่มีความคลาดเคลื่อนหลายประเด็น เช่น องค์ประกอบของตัวปราสาทเช่น บาราย และปราสาทอื่นๆอยู่ทางทิศใต้ ทางขึ้นหลักคือช่องบันไดหัก เป็นต้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในทางวิชาการและโบราณคดี ที่สำคัญก็คือการใช้แผนที่แสดงเขตของกัมพูชาอ้างอิงมาตลอด ซึ่งทับซ้อนเข้ามาในเขตไทยและละเลยที่จะกล่าวถึงเส้นเขตแดนไทย แม้ผู้เชี่ยวชาญของไทยจะได้แสดงความเห็นโต้แย้งและแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการละเมิดอธิปไตยของไทยแล้วแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากที่ประชุม ผู้เชี่ยวชาญของไทยจึงได้แถลงการณ์ประท้วงและถอนตัวออกจากการทำรายงานร่วมในครั้งนั้น
ต่อมา นายอุ๊ก บอริท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ซึ่งได้เชิญนายวีรพันธุ์ วัชราทิตย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญไปพบเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๑ เพื่อมอบเอกสารปฏิเสธข้อกล่าวหาของไทยที่ประท้วงการละเมิดอธิปไตยของไทยจากการตั้งชุมชนและมีกองกำลังทหารของกัมพูชาประจำบนเขาพระวิหาร ซึ่งกัมพูชาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกประการและยังได้ชี้แจงว่าไม่มีกองกำลังทหารตำรวจบนเขาพระวิหารและชุมชนที่ตั้งอยู่ก็มีมานานแล้วและตามคำตัดสินของศาลโลก เรื่องเส้นเขตแดนชัดเจนแล้ว จึงไม่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร
จากท่าทีที่ของกัมพูชาที่แข็งกร้าวขึ้นผิดจากเดิมและการดำเนินการต่างๆในลักษณะที่เป็นฝ่ายเลือกกระทำ แต่ท่าทีของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศในสมัยที่นายนพดล ปัทมะเป็นรัฐมนตรีว่าการนั้น กลับเปลี่ยนจากท่าทียืนหยัดชัดเจนมาเป็นท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามดังนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย ประกอบกับการรีบร้อนกระทำการโดยการลงนามในแถลงการณ์สำคัญซึ่งมีผลผูกพันต่อประเทศที่จะต้องปฏิบัติตาม และเอื้อให้กัมพูชาสามารถขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ง่ายขึ้น หากสามารถขึ้นทะเบียนได้จะทำให้กัมพูชามีสิทธิ์ขาดเหนือปราสาทพระวิหารแต่เพียงผู้เดียว และมีความชอบธรรมมากขึ้นในการอ้างสิทธิครอบครองในอาณาบริเวณโดยรอบของเขาพระวิหารซึ่งอยู่ในเขตของไทย ซึ่งจะต้องถูกรวมอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย
การที่กัมพูชาอ้างอยู่ตลอดเวลาว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดนนั้น แต่กัมพูชากลับมุ่งใช้แผนที่ของกัมพูชาเป็นสำคัญดังที่ได้ใช้มาทุกครั้งก่อนหน้านี้ เป็นการเบี่ยงเบนสาระสำคัญและมุ่งให้เกิดผลในเชิงการยอมรับแผนที่ของกัมพูชาโดยปริยาย และการรับรองของรัฐบาลไทยว่าไม่มีการล้ำเข้ามาแม้แต่นิ้วเดียว ทั้งๆที่แนวอ้างอิงของไทยนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากกัมพูชาเลย ดังปรากฏว่าไม่ได้ปรากฏเส้นเขตแดนไทยหรือสิ่งอ้างอิงใดๆในแผนที่แนบท้ายที่กัมพูชาทำขึ้นแม้แต่น้อย การอ้างอิงที่ปราศจากหลักฐานอันเป็นที่ยอมรับนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นนักกฎหมายย่อมจะรู้ดีว่าหากเกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในอนาคตไทยจะไม่สามารถใช้หลักฐานใดๆไปคัดค้านกัมพูชาได้อีกต่อไป
ข้ออ้างของกัมพูชาที่ว่าแผนที่ของกัมพูชาเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันฯ ทำให้พื้นที่เขาพระวิหารทั้งหมดอยู่ในเขตแดนกัมพูชาจึงไม่มีพื้นที่ทับซ้อนนั้น สอดคล้องต้องกันกับการกระทำของรัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศไทยที่ใช้คำว่าแผนที่ของกัมพูชาเป็น “แผนที่ของคณะกรรมการปักปันร่วมสยามฝรั่งเศส”(?) และ “พื้นที่บริเวณเขาพระวิหารยังปักปันไม่แล้วเสร็จ”(?) เท่ากับไทยยอมรับว่าแผนที่ของกัมพูชานั้นมีความชอบธรรมเหนือกว่าแผนที่ของไทย เป็นการช่วยกัมพูชาสร้างหลักฐานที่ดีที่สุดในการอ้างสิทธิเหนือเขตแดนไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น