บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

รู้ทันฮุนเซน'จิ้งจอกแห่งพนมเปญ'



รู้ทัน'ฮุนเซน' : 'จิ้งจอกแห่งพนมเปญ' โดย 'เสถียร วิริยะพรรณพงศา'

          จบไปแล้ว สำหรับละครฉากใหญ่ “ไทย-กัมพูชา” ชื่นมื่นรื่นรมย์ คนกัมพูชาเองก็ตื่นเต้น เป็นการเตะฟุตบอลโชว์ครั้งของ "ฮุนเซน" ในรอบ 30 ปี แห่กันเข้าสนามโอลิมปิกสเตเดี้ยมจนแน่นขนัด ขณะที่คนไทยก็ได้เห็นคนที่ไม่เคยได้เห็น เพราะเป็นคนที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องการตัวทั้ง 'จักรภพ เพ็ญแข' , 'ดรุณี กฤตบุญญาลัย' , 'อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง'

          งานนี้ นักโทษหนีคดีทั้งหลายปรากฎตัวอย่างเอิกเกริก ปลอดภัยภายใต้การดูแลของ 'ฮุนเซน'
          ผลพลอยได้ที่เป็นของแถมคือ “วีระ-ราตรี” ที่จะได้กลับไทยอีกต่างหาก
          แน่นอนว่า ใคร ๆ ก็ชอบที่ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่มีใครอยากจะให้เราต้องพูดกันด้วยรถถังปืนใหญ่ ลูกระเบิด เป็นแน่
          แต่หลังจากเสียงหัวเราะเฮฮา ของบรรดาผู้นำของสองประเทศ แล้วกลับมาดูสิ่งที่ไทยกับกัมพูชาต้องเผชิญหน้ากันหลังจากนี้แล้วน่าตกใจ เพราะพบว่ามันไม่ได้หวานแหววเหมือนภาพที่เห็น เพราะเรากับกัมพูชายังมีประเด็นให้ต้องต่อสู้กันอีกเพียบ ล้วนเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์ของชาติเป็นเดิมพัน
          ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อพิพาทพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ที่กัมพูชากำลังขอให้ศาลโลกตีความว่า เป็นของใคร และเรื่องสำคัญคือผลประโยชน์ใต้ทะเลก๊าซธรรมชาติ-น้ำมัน ที่อ่าวไทยในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา
          ขณะที่ความเขี้ยวของ "ฮุนเซน" ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้งไปทั่ว อดีตนักรบจากเมืองกัมปงจามคนนี้ ก้าวขึ้นเป็นรมว.ต่างประเทศกัมพูชาตั้งแต่อายุ 27 ปี นักข่าวต่างชาติเรียกเขาว่า “จิ้งจอกพนมเปญ” และชื่อนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาเพราะเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวหาตัวจับยาก
          "ถึงจะเป็นผู้นำรัฐเล็ก ภาษาอังกฤษพูดไม่ค่อยได้ แต่ลีลาที่ "ฮุนเซน" ต่อรองระหว่างรัฐนั้น แพรวพราว หาดูได้ยาก เวลาที่ "ฮุนเซน" เถียงมหาอำนาจจะเห็นว่าเด็ดดวง”
          "นิติภูมิ นวรัตน์" คอลัมนิสต์คนดัง เคยเขียนถึงเขาเอาไว้
          น่าคิดอย่างยิ่งว่า ที่นายกฯ "ฮุนเซน" เลือกที่จะคบกับ "ทักษิณ" เพราะอะไร เป็นเพราะ "ฮุนเซน" มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย ทนเห็นคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถูกรังแกไม่ไหว จึงต้องเอื้อมมือเข้ามาช่วยใช่หรือไม่
          คำตอบคือไม่ใช่ เพราะวิถีการปกครองแบบ "ฮุนเซน" ในกัมพูชา เป็นที่รับรู้กันว่า เป็น "เผด็จการตัวพ่อ" นักการเมืองฝ่ายค้านไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ต้องลี้ภัยไปเมืองนอก
          เอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานรณรงค์ในกัมพูชารู้ดีถึงพิษสงของรัฐบาล "ฮุนเซน" ว่า ใช้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวางขนาดไหน เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนถูกลิดรอน สื่อก็ถูกยึดกุมโดยรัฐ
          เจ้าของสื่อที่มีอิทธิพล เป็นของลูกสาวของนายกฯ "ฮุนเซน" เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามว่าชาวกัมพูชาจะมีโอกาสได้ยินเสียงที่แตกต่างจาก รัฐบาลได้น้อยเต็มที่
          ถ้าไม่ใช่เพราะ "ฮุนเซน" มีความศรัทธาในวิถีแห่งประชาธิปไตย ฉะนั้น การคบหากับรัฐบาลไทย ความสัมพันธ์กับ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ก็เป็นไปได้ว่า ซ่อนด้วยผลประโยชน์ก้อนโตที่กำลังรอการแบ่งเค้ก
          นั่นคือน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
          โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อน 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร
          กระทรวงพลังงานของไทยเอง เคยระบุว่า น้ำมันและก๊าซในจุดนั้นมีมูลค่า 5 ล้านล้านบาท ที่ตอนนี้ "ฮุนเซน" เปิดให้กลุ่มทุนปิโตรเลียมสัมปทานไปบางส่วนแล้ว
          นี่คือเดิมพันของชาติ ที่คนไทยจะมองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะคนเสื้อแดง ต้องหูตาสว่าง
          สื่อกัมพูชาเองเคยรายงานว่า "ฮุนเซน" นั้น ยึดถือเอากลยุทธ์ของซุนวู "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" เป็นกลยุทธ์ในการบริหาร
          การที่ "ฮุนเซน" แสดงความเป็นมหามิตรกับ "ทักษิณ" เลี้ยงดูเครือข่ายเสื้อแดง แม้ว่า จะทำผิดกฎหมายร้ายแรงในประเทศไทย เพราะว่า "ฮุนเซน" รู้ดีว่า "ทักษิณ" มีข้อมูลการเจรจาของฝ่ายไทย และนั่นคือผลประโยชน์ของกัมพูชา
          ไม่ได้ต้องการให้ระแวง แต่คนไทยต้องรู้ทันความซับซ้อน ซ่อนเล่ห์ของอดีตนักรบเขมรแดงที่ชื่อ "ฮุนเซน" คนนี้ให้มากขึ้นกว่านี้
          จิ้งจอกยังไงก็เป็นจิ้งจอกวันยังค่ำ

ขอโอกาสทำงานต้องให้ตรวจสอบ

ขอโอกาสทำงานก็ต้องเปิดทางให้ตรวจสอบ : ขยายปมร้อน โดยนันทิดา พวงทอง            ส่องกล้องขยายประเด็นร้อน กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กันยายน มีคำสั่งสายฟ้าแลบ ปรับเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) โดยแต่งตั้ง "ทูตบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์" นั่งเก้าอี้ประธานเจบีซีคนใหม่ แทน "ทูตอัษฎา ชัยนาม"             แน่นอนว่าย่อมมีผลให้ "ทูตวีรชัย พลาศรัย" เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของประธานเจบีซีต้องยุติลงบทบาทในส่วนนี้ลง แต่ยังคงทำหน้าที่หัวหน้าคณะดำเนินการด้านกฎหมายต่อสู้คดีในศาลโลกต่อกรณีปราสาทพระวิหาร โดยเดือนพฤศจิกายนนี้ "ทูตวีรชัย" จะนำทีมกฎหมายไปมอบเอกสารเกี่ยวกับการตีความของฝ่ายไทย ที่มีต่อคำพิพากษาของศาลโลก ในปี 2505             ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุกยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งการแต่งตั้ง "ทูตบัณฑิต" ทำหน้าที่ประธานเจบีซีคนใหม่ โดยอ้างเหตุผลเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากจุดยืนในการเจรจาของไทยก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ ด้วย             ในภาวะที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทย-กัมพูชามีความผ่อนคลาย และความสัมพันธ์ที่ถูกฟื้นฟูให้ดีขึ้น ย่อมเอื้ออำนวยต่อบรรยากาศให้คณะทำงานเจบีซีสามารถตั้งโต๊ะเจรจาให้เกิดผลรุดหน้าจากเดิมได้ หลังจากที่หยุดชะงักมานาน หลังจากคณะทำงานเจบีซีได้พบปะกันที่โบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ก็ยังไม่มีผลคืบหน้าใดๆ             หากเจาะลึกในตัวบุคคลถึงความเหมาะสมของคณะทำงานเจบีซีชุดใหม่ จะเห็นว่า ล้วนแต่เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับกัมพูชาเป็นอย่างดี เริ่มจาก "ทูตบัณฑิต" นักกฎหมายรุ่นเก๋า ผู้ที่เข้าใจปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาดีระดับหนึ่ง โดยในเหตุการณ์เผาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เมื่อปี 2546 "ทูตบัณฑิต" ในฐานะทำหน้าที่รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น เป็นผู้ประสานเจรจากับกัมพูชา เพื่อชดเชยค่าเสียหายให้แก่ทางการไทยและเอกชนไทย             ส่วนทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายเจบีซีใหม่ ประกอบด้วย "ทูตประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย" เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถือได้ว่ามีความชำนิชำนาญเรื่องเขตแดนไทยกัมพูชา พอๆ กับการตรวจดูดวงชะตาลายมือทีเดียว อีกทั้ง "ทูตประศาสน์" ยังอยู่ในคณะทำงานเจบีซีในทุกยุคสมัย แม้การเมืองจะเปลี่ยนขั้วอยู่บ่อยก็ตาม             ขณะที่ "ทูตณัฐวุฒิ โพธิสาโร" ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายอีกคน ก็ทำงานคลุกคลีกับกัมพูชามานานเกือบตลอดอายุราชการก็ว่าได้ นับว่าเป็นผู้รู้เรื่องเขมรที่ดีคนหนึ่งของกระทรวง โดย "ทูตณัฐวุฒิ" เคยดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ หากย้อนไปดูภูมิหลังแล้ว จะทราบได้ "ทูตณัฐวุฒิ" เป็นบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของ "จำนง โพธิสาโร" ส.ส.ศรีสะเกษ 7 สมัย เดินทางเข้าออกกัมพูชานับครั้งไม่ถ้วน             นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับรัฐบาลสมเด็จฮุน เซน จะช่วยส่งเสริมให้ความร่วมมือใดๆ เดินหน้าต่อไปได้แล้ว ยิ่งการที่คณะทำงานเจบีซีชุดใหม่ ซึ่งไม่มีภาพลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลกัมพูชามาก่อน ตรงจุดนี้อาจจะเป็นจุดแข็งในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อโน้มน้าวกัมพูชาให้กลับสู่การโต๊ะเจรจาเจบีซีในเร็ววันนี้ได้             ทั้งนี้ การเปลี่ยนตัวบุคคลในคณะทำงานเจบีซีของฝ่ายไทยที่มีขึ้นบ่อยๆ นั้น ย่อมมีผลต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ในระยะยาว ต่างจากฝั่งกัมพูชา ที่มอบหมายให้ "นายวา คิม ฮอง" ประธานเจบีซีฝ่ายกัมพูชา ดูแลเรื่องนี้นานนับสิบปี โดยนายคิม ฮอง จับงานเรื่องเขตแดนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นข้าราชการหนุ่ม จนมาถึงตอนนี้ได้รับแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ดูแลเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาเขตแดนทางบก ให้แก่ "สมเด็จฮุน เซน" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา             ตราบใดที่การเมืองภายในของไทยยังไม่นิ่ง ทุกฝ่ายยังนำประเด็นเรื่องเขตแดนมาสร้างเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองภายใน และเขย่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาให้ปั่นป่วนเป็นระยะๆ ย่อมจะส่งผลให้คณะทำงานเจบีซีทำงานยากขึ้น             โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ยังเดินทางเข้าออกกัมพูชา และ "สมเด็จฮุน เซน" ยังทำตีซี้สนิทกับ "ยิ่งลักษณ์" ที่จะสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่ประชาชนในเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ทับซ้อน             "เขตแดน" เป็นประเด็นอ่อนไหวของทุกประเทศ ที่ควรให้ห่างไกลจากประเด็นการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาเพื่อรักษาอธิปไตยของประเทศไว้ ต้องยอมรับว่า ผู้ที่ถูกมอบหมายงานให้ดูแลเรื่องนี้ เป็นผู้เสียสละ เพราะเจรจาเขตแดนเป็นเรื่องปลืองตัว โดยเฉพาะกับข้อกล่าวหา "ขายชาติ"             ดังนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้คณะทำงานเจบีซีชุดใหม่ได้แสดงฝีไม้ลายมือเสียก่อน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเปิดทางให้มีการตรวจสอบแบบทำงานคู่ขนาน เพื่อแสดงความโปร่งใสและช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของชาติ

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง