ไทยโพสต์
กระทรวงพลังงานสบช่องชงข้อมูล “ยิ่งลักษณ์”
ก่อนบินเจรจาเขมรตกลงผลประโยชน์ในอ่าวไทย ระบุยึดโมเดลไทย-มาเลเซียแบ่ง
50-50 เผยกลุ่มบริษัทพลังงานซึ่งได้สัมปทานยังคงสิทธิ์ดำเนินการต่อได้
ขณะที่นายกฯ ปูควงสามีเข้ากัมพูชา “ฮุน เซน” ต้อนรับชื่นมื่น
ตามคาดตกลงแบ่งเค้กพลังงานอิงกรอบเจรจาเอ็มโอยูปี 44 เปิดคำพูด “เตีย
บัณห์” ยัน “ทักษิณ” จะทำธุรกิจพลังงาน ส่วน “วีระ-ราตรี” อาจหมดหวัง
เพราะกัมพูชาเล่นแง่ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ก่อน
การเดินทางเข้าประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 กันยายน ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เพื่อเจรจาข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ด้านพลังงานบริเวณพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย
โดยก่อน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกเดินทาง
กระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปิโตรเลียมในพื้นที่
ไทย-กัมพูชา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเจรจาดังกล่าว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลัง บอกว่า
ได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวสถานการณ์ปิโตรเลียมในพื้นที่ไทย-กัมพูชา
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้
น.ส.ยิ่งลักษณ์รับทราบก่อนเดินทางไปประเทศกัมพูชา
เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเจรจาข้อตกลงเพื่อร่วมพัฒนาแหล่งสัมปทาน
ปิโตรเลียม
“หากกระทรวงการต่างประเทศเจรจาเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ทับซ้อนได้แล้ว
กระทรวงพลังงานก็พร้อมเข้าไปเจรจาพัฒนาพื้นที่สัมปทาน
ซึ่งอาจมีลักษณะเดียวกับการพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย อย่างไรก็ตาม
การเจรจาทั้งหมดจะอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
และต้องมีการดำเนินการแบบโปร่งใส” นายพิชัยกล่าว
นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า
กรมเชื้อเพลิงได้เตรียมพร้อมในเรื่องข้อมูลหากการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน
ไทย-กัมพูชาเกิดขึ้น
ซึ่งในหลักการจะใช้โมเดลเดียวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ)
ที่พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ โดยรัฐบาลทั้ง 2
ประเทศแบ่งปันผลประโยชน์เท่าเทียมกันในอัตรา 50 ต่อ 50
ซึ่งไทยได้ผลตอบแทนคืนมาปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่กรณีของไทย-กัมพูชา
จะเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องของการแบ่งผลประโยชน์
ที่ไทยจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด
นายทรงภพกล่าวต่อว่า
สำหรับแปลงสัมปทานปิโตรเลียมในฝั่งไทยที่เคยมีอยู่นั้น
ผู้ที่ได้รับสัมปทานเดิมยังคงได้สิทธิ์ในการดำเนินการ
เนื่องจากรัฐบาลได้ระงับการขุดเจาะสำรวจไว้ชั่วคราว หลังเกิดกรณีพิพาท
และที่ผ่านมาก็ยังไม่มีเอกชนรายใดเข้าไปดำเนินการต่อได้
โดยผู้ได้รับสัมปทาน ได้แก่ บริษัท Thailand Bloc 5&6 LLC
ในแปลงสัมปทานที่ 5-6, บริษัท บริติช แก๊ส เอเชีย อิงค์ ในแปลงสัมปทานที่
7-8-9, บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตฯ แปลงสัมปทานที่ 10-11-13
และพื้นที่ 12 (A) 12 (B)
อ้างต้องเจรจาเพื่อพลังงานอีก 10 ปี
“ไม่อยากให้มองว่าการเจรจาครั้งนี้มีเรื่องของผลประโยชน์อื่นแอบแฝง
แต่ต้องควรมองถึงแหล่งพลังงานที่จะเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า
เพราะวันนี้ถ้าการเจรจามีผลออกมาชัดเจนในทางบวก
ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขุดก๊าซขึ้นมาได้ในทันที
ต้องใช้เวลาและกระบวนการอีกมาก เพราะอย่างพื้นที่ไทย-มาเลเซีย
ยังต้องใช้เวลานานถึง 26 ปี”นายทรงภพกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาก็ได้ให้สัมปทานสำรวจขุดเจาะและผลิตแก่บริษัท
ปิโตรเลียมระดับโลกที่เข้ามาขอสัมปทานสำรวจขุดเจาะ เช่นเดียวกับฝ่ายไทย
เช่น กลุ่มเชฟรอนและล่าสุดคือโตตาลออยล์จากฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม
กลุ่มบริษัทที่ได้รับสัมปทานสำรวจขุดเจาะดังกล่าวทั้งฝ่ายไทย-กัมพูชายังไม่
สามารถเข้าไปดำเนินการสำรวจและผลิตได้
เนื่องจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่สามารถตกลงเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์
ระหว่างกัน และผู้ลงทุนยังไม่ชัดเจนว่าจะลงมือสำรวจขุดเจาะได้เมื่อใด
การแบ่งปันผลประโยชน์จะตกลงกันอย่างไร
เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.เตีย บัณห์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เคยพูดเมื่อเดือนพฤษภาคม
2551 ขณะร่วมพิธีเปิดถนนหมายเลข 48 ที่จังหวัดเกาะกงของกัมพูชา โดยมี
นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ในขณะนั้นเข้าร่วมพิธีด้วย
พล.อ.เตีย บัณห์ ระบุว่า
“พ.ต.ท.ทักษิณเคยเสนอที่จะเข้ามาลงทุนโครงการพลังงานในกัมพูชา
และรัฐบาลกรุงพนมเปญก็ยินดีเปิดรับการลงทุน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักธุรกิจที่มีศักยภาพ หากเขาเข้ามาลงทุนในกัมพูชาจริง
จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป”
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางถึงการเจรจาเรื่องพลังงานในอ่าวไทยกับประเทศ
กัมพูชาว่า “ขอดูเรื่องจังหวะก่อน เพราะเราไปครั้งแรก
เดี๋ยวจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง”
นายกฯ ยังกล่าวถึงการเจรจาเพื่อขอปล่อยตัวนายวีระ สมความคิด และ
น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ แกนนำกลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ว่า
ยังไม่ทราบว่าจะมีการปล่อยตัวหรือไม่ เบื้องต้นที่จะเดินทางไปกัมพูชา
คงจะไปเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย–กัมพูชา นี่เป็นภารกิจแรก
และคงจะดูบรรยากาศการหารือในเรื่องการช่วยคนไทย
ปล่อยวีระ-ราตรีขึ้นอยู่กับเขมร
ผู้สื่อข่าวถามว่า กัมพูชาพร้อมปล่อยตัวหากฝ่ายไทยหยิบยกขึ้นมาหารือ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราก็ยินดี และจะหยิบยกมาหารือ
แต่ดุลยพินิจปล่อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับกัมพูชา
ซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้
“ในการทูตเราคงมีการเจรจาขอความช่วยเหลือมากกว่า
ไม่ใช่การเจรจาต่างตอบแทน
เป็นการเจรจาในการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องช่วยเหลือคนไทยทุกคนไม่ว่า
อยู่ประเทศไหน อย่างไรบ้าง เราต้องทำทุกประเทศอยู่แล้ว” นายกฯ ระบุ
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ซึ่งเดินทางเข้ากัมพูชาพร้อมกับนายกฯ
กล่าวเช่นเดียวกันว่าการปล่อยตัวนายวีระและ น.ส.ราตรี
ขึ้นอยู่กับทางการกัมพูชา
เพราะขณะนี้สถานทูตไทยประจำประเทศกัมพูชายังไม่ได้มีการประสานมายังกระทรวง
การต่างประเทศ ส่วนแนวโน้มที่จะให้มีการปล่อยตัวหรือไม่นั้น
เราไม่ได้ไปพูดคุยไว้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม
หวังว่าความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศจะสามารถช่วยได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กัมพูชาระบุว่าจะต้องรับโทษ 2 ใน 3
ก่อนถึงจะมีการปล่อยตัวได้ รมว.การต่างประเทศบอกว่า
สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทางการกัมพูชาว่าจะทำอย่างไร
แต่การพูดคุยกันครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้พบปะพูดคุยกัน
ซึ่งอยู่ที่ว่าทางกัมพูชาจะคิดอย่างไร และในประเด็นต่างๆ
จะมีรายละเอียดอย่างไรต้องมาว่ากันอีกครั้ง
รมว.การต่างประเทศพูดถึงการเจรจาเรื่องพลังงานในอ่าวไทยกับกัมพูชาว่า
ต้องรอดูอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องของเอ็มโอยูที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ได้ทำไว้
เราจะต่อเนื่องหรือทำต่ออย่างไร ต้องดูก่อนว่าเราจะพูดคุยอย่างไร
จากนั้น นายกฯ พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรส,
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ, นายสมปอง สงวนบรรพ์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ, นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน
ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญในเวลา 15.25 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคณะของไทยเดินทางถึงกัมพูชา นางอึง
กัตถาภาวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสตรี
ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีเกียรติยศ ได้ให้การต้อนรับ
และเชิญนายกรัฐมนตรีร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ซึ่งสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พร้อมภริยา รอต้อนรับ
มีพิธีตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ
ทั้งนี้
รัฐบาลกัมพูชาได้ให้การต้อนรับคณะของนายกรัฐมนตรีไทยอย่างอบอุ่น
ตลอดเส้นทางที่รถของคณะผ่าน
มีเด็กนักเรียนและประชาชนยืนเรียงแถวริมทางเท้าตลอดเส้นทาง
โบกธงชาติไทยพลิ้วไสว ต้อนรับคณะ จากนั้น
น.ส.ยิ่งลักลักษณ์ได้เข้าหารือกับสมเด็จฮุน เซน ก่อนเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชา ณ
พระราชวังเขมรินทร์ แล้วช่วงค่ำได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ
สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันเดียวกันเวลา
21.20 น.
ตามคาดไทย-กัมพูชาวิน-วิน
สำนักข่าวซินหัวของจีน และสำนักข่าวดีเอพีในกัมพูชา
รายงานอ้างการเปิดเผยของนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ว่า
การพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับผู้นำกัมพูชา
สมเด็จฮุน เซน ได้เห็นพ้องกันที่จะฟื้นฟูความร่วมมือกันในหลายประเด็น อาทิ
เรื่องการพัฒนา เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน และเรื่องชายแดน
ระหว่างการหารือ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เสนอที่จะจัดงานมหกรรมการค้าของสินค้าไทยในกรุงพนมเปญ
ซึ่งผู้นำกัมพูชาได้ตอบรับ
และนายกรัฐมนตรีไทยได้ร้องขอให้ปล่อยตัวนายวีระและ น.ส.ราตรี แต่สมเด็จฮุน
เซน ตอบว่า ตนกำลังพิจารณาเรื่องนี้
รัฐบาลกัมพูชาจะขอให้พระมหากษัตริย์ของกัมพูชาทรงลดหย่อนโทษให้
ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาต้องเคารพกฎหมายของกัมพูชา
ซึ่งบัญญัติว่าผู้ต้องขังที่ถูกพิพากษาจำคุกต้องรับโทษ 2 ใน 3 ก่อน
จึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้
ในเรื่องชายแดนนั้น นายกฯ ฮุน เซน
เสนอให้ผู้บัญชาการทหารของทั้งสองฝ่ายซึ่งประจำการที่ชายแดนได้พบปะกันอย่าง
สม่ำเสมอเพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นมิตรเพื่อลดความตึงเครียด
และเสนอด้วยว่าทั้งสองฝ่ายควรปรับกำลังที่ชายแดน
นายฮอร์ นัมฮง กล่าวว่า
ในเรื่องความขัดแย้งเรื่องเขตแดนนั้น
ผู้นำของทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่าง
ประเทศ
ซึ่งได้สั่งให้ประเทศทั้งสองถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวในบริเวณ
ปราสาทพระวิหาร
และเปิดทางให้ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนเข้าไปในพื้นที่ปลอดทหารชั่วคราว
เพื่อสังเกตการณ์การหยุดยิง อย่างไรก็ดี
ยังไม่มีการกำหนดวันที่แน่ชัดในการถอนทหาร "สมเด็จฮุน
เซนกล่าวว่าหากศาลโลกวินิจฉัยว่าพื้นที่พิพาท 4.6
ตารางกิโลเมตรใกล้ปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศไทย
กัมพูชาจะยกดินแดนส่วนนี้ให้แก่ประเทศไทยโดยไม่มีเงื่อนไข" นายฮอร์ นัมฮง
กล่าว
ผู้นำของประเทศทั้งสองยังได้เห็นพ้องกันที่จะฟื้นฟูการเจรจาในเรื่องการ
พัฒนาร่วมกันในเขตอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย
โดยอิงกับบันทึกความเข้าใจปี 2544 และกลไกต่างๆ ที่มีอยู่
“ฮุน เซน” ได้ทีด่า “ปชป.”
สมเด็จฮุน เซน ได้แจ้งแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีไทย
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เปิดการเจรจาลับกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน
2552 ในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
ผู้นำกัมพูชาได้ขอให้ทั้งสองฝ่ายเปิดการเจรจากันโดยเปิดเผยในเรื่องที่
เกี่ยวเนื่องกับบันทึกความเข้าใจปี 2544
นอกจากนี้ สมเด็จฮุน เซน
ยังเสนอให้รัฐมนตรีมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวชายแดนเปิดการหารือ
กันเพื่อแก้ปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์และปัญหาข้ามพรมแดนต่างๆ
และเสนอให้เปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติมที่สตึงบอต ใกล้กับเมืองปอยเปต
เพื่อเป็นช่องทางการค้าชายแดนระหว่างประเทศทั้งสอง
"การพบหารือระหว่างผู้นำทั้งสองเป็นไปด้วยบรรยากาศอันดีและมีความเข้าใจ
กัน การหารือได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์"
รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชากล่าว
ด้านโฆษกรัฐบาลกัมพูชา นายเขียว
กัณหฤทธิ์ กล่าวว่า
การหารือระหว่างผู้นำทั้งสองนับเป็นจุดเริ่มต้นของศักราชใหม่ของความร่วมมือ
อย่างกว้างขวางระหว่างไทยกับกัมพูชา
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ
กล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ
ที่จะเดินทางมาประเทศกัมพูชาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนว่า
การส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องเป็นไปตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
โดยยึดหลักเกณฑ์ 1.ความผิดเหมือนกัน 2.ไม่ใช่เรื่องการเมือง และ
3.ประเทศนั้นๆ ต้องใช้ดุลยพินิจ ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ และนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ
ก็เคยได้ดำเนินการโดยตลอด แต่ก็ไม่มีการออกหมายจับของตำรวจสากล
เพราะไม่ตรงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
แต่เมื่อกฎหมายระบุว่าไม่สามารถทำได้ รัฐบาลก็จะไปดำเนินการไม่ได้
สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ส.ส.เสื้อแดง พรรคเพื่อไทย
ที่จะเดินทางเข้ากัมพูชาเพื่อเตะฟุตบอลกระชับมิตรในวันที่ 24 กันยายนนั้น
ล่าสุดศาลอาญาได้อนุญาตให้ นพ.เหวง โตจิราการ จำเลยในคดีร่วมก่อการร้าย
ให้สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายนนี้
เพื่อประสานงานล่วงหน้าเตรียมการจัดการเตะฟุตบอลกระชับมิตร
โดยให้มารายงานตัวภายในวันที่ 26 กันยายน
ทั้งต้องแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบด้วย
ด้านนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่
น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางเยือนประเทศกัมพูชาซึ่งจะมีการเจรจาเรื่องพลังงานใน
อ่าวไทยว่า เรื่องของการเจรจานั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาอยู่ที่กรอบการเจรจาว่าจะใช้กรอบใด
โดยรัฐบาลชุดก่อนมีความเห็นว่าข้อตกลงเมื่อปี 2544 มีความไม่เหมาะสม
จึงควรที่จะชัดเจนก่อนที่จะกลับไปใช้หรือทำกรอบขึ้นใหม่
แต่ถ้าจะมีการเจรจาอีกครั้ง จะต้องมีกระบวนการผ่านขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า
ดูเหมือนท่าทีของรัฐบาลไทยและกัมพูชาจะสอดคล้องกันว่าเรื่องผลประโยชน์ทับ
ซ้อนทางทะเลเป็นเรื่องเร่งด่วน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า
เมื่อถึงช่วงการเจรจาต้องมีกรอบให้ชัดเจนว่าจะหารือในกรอบไหน
เราทุกคนมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ารัฐบาลได้รักษาผลประโยชน์ของประเทศ
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า
ไทยต้องยืนยันว่าเราอยากเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับกัมพูชาและอยู่ในครอบครัวอา
เซียนด้วยกัน แต่ประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน เช่น
ความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องเขตแดน ก็ควรที่จะหาทางปรับความเข้าใจกัน
แต่ละประเทศก็ต้องรักษาสิทธิ์ของชาติตัวเอง
ควรยืนยันว่าการขึ้นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว
โดยพยายามใช้ความเป็นมรดกโลกเป็นเครื่องมือในการอนุมัติแผนบริหารจัดการ
พื้นที่ที่ถือว่าเป็นของเรา เราก็ไม่ยินยอม
รวมถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่จะต้องมีทั้งประเด็นแหล่งผลประโยชน์
การกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลจะต้องพูดให้ชัดว่าเรารักษาจุดยืนอย่างไร
“ถ้าวางทุกอย่างบนโต๊ะให้ชัดแล้วถามทางกัมพูชาว่าจะเอาอย่างไร
ด้านหนึ่งบอกว่าอยากจะคุยกัน แต่อีกด้านก็รุกโดยใช้กลไกมรดกโลก ศาลโลกบ้าง
ทำให้ไทยเราจำเป็นที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก”
นายอภิสิทธิ์กล่าว.