>โดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม
1. คำสั่งศาลโลกต่อคำร้องขอของกัมพูชาให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว
เมื่อ วันที่ 28 เม.ย. 2554 กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ ซึ่งต่อไปเรียกว่า “ศาลโลก”) ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 และพร้อมกันนี้กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเร่งด่วนขอให้ศาลโลกกำหนดมาตรการคุ้ม ครองชั่วคราว โดยอ้างในคำร้องว่าตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2554 เป็นต้นมาได้เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงในอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร รวมทั้งอาณาบริเวณอื่นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และประชาชนต้องอพยพหนีภัย โดยเหตุการณ์ทั้งหมดไทยเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น
ดังนั้นกัมพูชาจึงร้องขอให้ศาลโลกได้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตาม ธรรมนูญของศาลโลก (Statute of ICJ) มาตรา 41 และระเบียบของศาลโลก (Rules of Court) ข้อที่ 73 ให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากส่วนของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่บริเวณปราสาทพระ วิหารในทันทีและไม่มีเงื่อนไข ห้ามไทยดำเนินกิจกรรมทางทหารใดๆ ในบริเวณดังกล่าว และให้ไทยงดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่อาจกระทบสิทธิของกัมพูชา หรือเพิ่มความขัดแย้ง
ในวันที่ 30-31 พ.ค. 2554 ศาลโลกได้รับฟังการให้ถ้อยคำของทั้งไทยและกัมพูชากรณีคำร้องขอของกัมพูชาให้ ศาลโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยกัมพูชาสรุปขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวรวม 3 ข้อตามที่กล่าวมาแล้ว ในขณะที่ไทยสรุปขอให้ศาลจำหน่ายคดีที่กัมพูชายื่นให้พิจารณาเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2554 ออกจากสารบบความ ต่อมาในวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมานี้ศาลโลกได้อ่านคำสั่งต่อคำร้องขอของกัมพูชาให้กำหนดมาตรการคุ้ม ครองชั่วคราวดังนี้
(A) โดยเอกฉันท์ ยกคำขอของประเทศไทยที่ให้จำหน่ายคดีที่กัมพูชายื่นให้พิจารณาเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2554 ออกจากสารบบความ
(B) กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังนี้
(1) โดยคะแนนเสียง 11 ต่อ 5 ทั้งสองฝ่ายต้องถอนกำลังทหารซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตปลอดทหารชั่วคราว (Provisional Demilitarized Zone: PDZ) ตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 62 ของคำสั่งนี้ในทันที และงดเว้นจากการวางกำลังทหารภายในเขตนั้น และจากกิจกรรมทางอาวุธใดๆ ที่มุ่งหมายไปที่เขตนั้น
(ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย: Owada, Al-Khasawneh, Xue, Donoghue, Cot)
(2) โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1 ประเทศไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้าถึงอย่างอิสระ (free access) ของกัมพูชาไปยังปราสาทพระวิหาร หรือการจัดส่งเสบียงของกัมพูชาให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของตนในปราสาทพระ วิหาร (ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย: Donoghue)
(3) โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1 ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินความร่วมมือกันต่อไปตามที่ทั้งสองฝ่ายได้เข้าร่วมใน กรอบอาเซียน และโดยเฉพาะต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์ที่แต่งตั้งโดยอาเซียนเข้าไปยัง เขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้ (ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย: Donoghue)
(4) โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1 ทั้งสองฝ่ายต้องงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ข้อพิพาทที่ปรากฏต่อศาลเลวร้ายลงหรือเกิดมากขึ้น หรือทำให้มันยากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข (ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย: Donoghue)
(C) โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1 ตัดสินว่าแต่ละฝ่ายต้องแจ้งต่อศาลถึงการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ข้างต้น (ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย: Donoghue)
(D) โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1 ตัดสินว่าจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาต่อคำร้องขอสำหรับการตีความ ศาลยังคงอำนาจต่อไปในการพิจารณาเรื่องราวสาระที่ก่อให้เกิดคำสั่งครั้งนี้ (ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย: Donoghue)
2. ความเห็นแย้ง ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ
องค์คณะผู้พิพากษาในครั้งนี้มีผู้พิพากษาทั้งหมด 16 คน โดยมี Mr. Hisashi Owada เป็นประธาน และมีผู้พิพากษาเฉพาะกิจ (Judge ad hoc) จำนวน 2 คน ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาได้ใช้สิทธิที่ให้ไว้ในธรรมนูญของศาลโลก มาตรา 31 ในการเลือกผู้พิพากษาเฉพาะกิจฝ่ายละหนึ่งคน โดยไทยได้เลือก Mr. Jean-Pierre Cot ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส และเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณที่ University Paris-I โดยเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสหกรณ์และการพัฒนาของฝรั่งเศส และเคยได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารของ UNESO ส่วนกัมพูชาได้เลือก Mr. Gilbert Guillaume ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสเช่นกัน และเคยเป็นประธานศาลโลก (ช่วง ค.ศ. 2000-2003) รวมทั้งผู้อำนวยการนิติการที่กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส อันทำให้องค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ประกอบด้วยผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสถึง 3 คน โดยผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสอีกหนึ่งคนคือ Mr. Ronny Abraham ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการนิติการที่กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส
จากคำสั่งศาลดังกล่าวทั้งหมดมี 4 ข้อใหญ่ โดยข้อ (B) เป็นคำสั่งเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวซึ่งแบ่งเป็น 4 ข้อย่อยคือ ข้อ (1)-(4)
2.1 คำสั่งศาลข้อ (A): สำหรับคำสั่งศาลในข้อนี้ ผู้พิพากษาทั้งหมดเห็นว่าไม่ควรจำหน่ายคดีที่กัมพูชายื่นออกจากสารบบความตาม ที่ไทยขอ ซึ่งในประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้พิพากษาเฉพาะกิจชาวฝรั่งเศสที่ไทยเลือก ได้มีเห็นไปในทางไม่เป็นคุณต่อไทยด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งไม่จำหน่ายคดี ศาลจึงต้องพิจารณาคำขอของกัมพูชาที่ยื่นให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระ วิหารปี 2505 ต่อไป ซึ่งอาจใช้เวลาพิจารณานานเป็นปีก็ได้
อย่างไรก็ตามศาลได้เน้นย้ำในย่อหน้าที่ 41 ของคำสั่งว่า “ข้อสรุปนี้ไม่ไปตัดสินล่วงหน้าผลลัพธ์ของกระบวนการพิจารณาคดีหลัก” และย่อหน้าที่ 68 ของคำสั่งว่า “คำตัดสินที่มีในกระบวนการพิจารณาคดีขณะนี้ต่อคำร้องขอสำหรับการกำหนด มาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้น ไม่ได้เป็นการตัดสินล่วงหน้าประเด็นใดๆ ที่ศาลอาจต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอสำหรับการตีความดังกล่าว” นั้นก็หมายความว่าถึงแม้ศาลจะได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ก็ไม่ได้หมายความว่าศาลจะต้องรับคำขอของกัมพูชาให้มีการตีความดังกล่าว ในส่วนนี้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
2.1.1 เนื่องจากมีผู้พิพากษาศาลโลกจำนวน 5 คนซึ่งมีประธานและรองประธานศาลโลกรวมอยู่ด้วยจะครบวาระการดำรงในวันที่ 5 ก.พ. 2555 จึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งผู้พิพากษาใหม่จำนวน 5 คน ทำให้องค์คณะผู้พิพากษาปัจจุบันอาจเร่งการพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 5 ก.พ. 2555 หรืออาจชะลอการพิจารณาคดีไปหลังวันที่ 5 ก.พ. 2555 อย่างไรก็ดีศาลโลกได้กำหนดให้ไทยต้องส่งข้อสังเกตที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Written Observation) ให้ศาลภายในวันที่ 21 พ.ย. 2554 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมาให้ข่าวว่า น่าจะส่งข้อสังเกตดังกล่าวให้ศาลโลกได้ประมาณกลางเดือน พ.ย. นี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ศาลโลกจะไปเริ่มพิจารณาคดีหลังวันที่ 5 ก.พ. 2555
2.1.2 หากวิเคราะห์จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว การที่กัมพูชายื่นขอให้ศาลโลกตีความและกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวน่าจะ เกิดจากปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งขณะนี้กัมพูชาต้องการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารสำหรับเป็นพื้นที่เขต กันชนเพื่อให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ของแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารรวม ทั้งแผนที่ฉบับสุดท้ายที่กัมพูชาต้องเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาตามมติ ที่ 32 COM 8B.102 อีกทั้งเพื่อระงับการดำเนินการใดๆ ของไทยที่จะขัดขวางหรือทำให้กระทบต่อการดำเนินการของกัมพูชาตามมติต่างๆ ของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งจะเห็นได้จากคำร้องขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของกัมพูชาที่ระบุ ให้ไทยงดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่อาจกระทบสิทธิของกัมพูชา
2.1.3 ในคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารนั้น นายฮอร์ นำฮง ในฐานะผู้แทนกัมพูชาได้ลงนามในคำร้องขอดังกล่าวโดยลงวันที่ 20 เม.ย. 2554 แต่ปรากฏในข้อที่ 34 ของคำร้องขอดังกล่าวได้มีข้อความกล่าวถึงเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างทหารไทย กับกัมพูชาในวันที่ 22 และ 26 เม.ย. 2554 อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดหลังจากวันลงนามในคำร้องขอดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่ากัมพูชามีการเตรียมสร้างสถานการณ์การสู้รบไว้ล่วงหน้าเพื่อ ให้คำร้องขอของตนมีน้ำหนักและรับฟังได้มากยิ่งขึ้น
หากจะโต้แย้งว่า นายฮอร์ นำฮง อาจลงวันที่ผิดพลาดไป ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคำร้องที่ขอให้ศาลโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ยื่นต่อศาลโลกใน วันเดียวกัน นายฮอร์ นำฮง กลับลงวันที่ 28 เม.ย. 2554 ได้ถูกต้อง หากมีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาให้ศาลเห็น จะทำให้ความน่าเชื่อถือของฝ่ายกัมพูชาลดลงได้ไม่มากก็น้อย แต่เป็นที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่าสำเนาคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ที่กัมพูชาได้ยื่นซึ่งเผยแพร่ทาง Website ของศาลโลก ณ ปัจจุบันนั้น ในหน้าสุดท้ายได้มีการแก้ไขเปลี่ยนลายมือชื่อของนายฮอร์ นำฮง พร้อมวันที่ที่เขียนด้วยลายมือ ไปเป็นอักษรพิมพ์แล้วโดยที่ได้มีการพิมพ์เปลี่ยนวันที่เป็น 28 เม.ย. 2554
2.1.4 ในการสู้คดีนี้ ไทยได้มีการตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารที่มีองค์ประกอบ 15 คน นำโดยนายวีรชัย พลาศรัย ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ทำหน้าที่เป็นผู้แทน (Agent) ฝ่ายไทย และมีที่ปรึกษากฎหมาย (Counsel) ชาวต่างชาติ 3 คน โดยมีคนหนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส คือ Mr. Alain Pellet ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่ University Paris Ouest และเคยเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลฝรั่งเศสด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นไทยยังได้เลือกผู้พิพากษาเฉพาะกิจซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส โดยกัมพูชาก็เลือกผู้พิพากษาเฉพาะกิจเป็นชาวฝรั่งเศสเช่นกัน อันทำให้องค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ที่มีจำนวน 16 คนประกอบด้วยผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสถึง 3 คน
กระทรวงการต่างประเทศของ ไทยได้ให้เหตุผลที่เลือกที่ปรึกษากฎหมายและผู้พิพากษาเฉพาะกิจเป็นชาว ฝรั่งเศสว่า ทั้งสองท่านมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับนับถือ รวมทั้งมีความจำเป็นเนื่องจากเอกสารทางกฎหมายในเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาส่วน ใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส และในการดำเนินการจำเป็นต้องมีความเข้าใจแนวคิดทางกฎหมายฝรั่งเศสเป็นอย่าง ดี
นอกจากนี้ผู้พิพากษาเฉพาะกิจดังกล่าวยังมีแนวความคิดที่สอดคล้องกับแนว คิดของคณะที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายไทย แต่หากวิเคราะห์ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็จะพบว่ามีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมใน พื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต โดยได้กดดันและข่มเหงไทยเพื่อเอาดินแดนมาเป็นของตน อีกทั้งยังเป็นผู้จัดทำแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 แต่ฝ่ายเดียว ซึ่งกัมพูชาในฐานะรัฐผู้สืบสิทธิจากฝรั่งเศสได้ใช้แผนที่ดังกล่าวในระวางดง รักเป็นแผนที่ภาคผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องต่อศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารและชนะคดีมาแล้วในอดีต ดังนั้นจึงควรต้องถือว่าฝรั่งเศสเป็นเสมือนคู่กรณีกับไทยในคดีนี้ด้วย
ในที่สุดแล้ว การสู้คดีครั้งนี้ของฝ่ายไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงการมีผล บังคับใช้หรือไม่ของแผนที่ดังกล่าวในการกำหนดเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา รวมทั้งการกระทำต่างๆ ในอดีตของฝรั่งเศสที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อไทย ดังนั้นเมื่อถึงเวลาดังกล่าวแล้ว ทั้งที่ปรึกษากฎหมายและผู้พิพากษาเฉพาะกิจชาวฝรั่งเศสที่ไทยเลือกอาจไม่ สามารถดำรงความเป็นกลาง และอาจเอนเอียงเพื่อรักษาเกียรติภูมิของชาติตนเองก็เป็นไปได้
เหตุผลที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยให้ดังกล่าวข้างต้นจึงไม่น่าจะเพียง พอและรับฟังได้ เนื่องจากยังมีบุคคลสัญชาติอื่นๆ ซึ่งไทยสามารถเลือกได้อีกมากที่คุณสมบัติไม่ด้อยกว่าชาวฝรั่งเศสทั้งสองคน ดังกล่าว ด้วยองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้มีผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสถึง 3 คน การต่อสู้คดีของไทยจึงต้องระมัดระวังและพิจารณาแก้ไขป้องกันปัญหาดังกล่าว ไว้ด้วย
2.2 คำสั่งศาลข้อ (B)–(D): สำหรับคำสั่งศาลส่วนที่เหลือ มีผู้พิพากษาหนึ่งคนซึ่งเป็นชาวอเมริกัน Ms. Joan E. Donoghue ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลส่วนที่เหลือทั้งหมดทุกข้อ ผู้พิพากษาท่านนี้ได้ให้ความเห็นแย้งไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า จากการที่ประเทศไทยได้ปล่อยให้คำประกาศ (declaration) ปี 2493 ที่ได้จัดทำเพื่อรับอำนาจศาลตามมาตรา 36 วรรคสองของธรรมนูญของศาลโลก สิ้นสุดลงโดยไม่ต่อใหม่ ทำให้ศาลไม่มีเขตอำนาจที่จะทำการตัดสินใดใหม่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจัดการหาข้อยุติเรื่องเขตแดน หรือตัดสินปัญหาอำนาจอธิปไตย หรือชี้ขาดความรับผิดชอบของรัฐ หรือสั่งให้ฝ่ายต่างๆ ปฏิบัติในแนวทางที่กำหนด
กระบวนการพิจารณาคดีที่ถูกต้องในกรณีการตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญของศาล โลก มาตรา 60 นั้น ศาลจะมีขอบเขตแค่เพียงบอกฝ่ายไทยและกัมพูชาว่าอะไรที่คำพิพากษาเมื่อปี 2505 หมายถึง แต่ศาลกลับนำมาตรา 41 ซึ่งเกี่ยวกับอำนาจศาลในการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวมาทาบบนมาตรา 60 แล้วกำหนดมาตรการที่ไม่ได้ผูกพันโดยคำพิพากษาเมื่อปี 2505 หรือเชื่อมโยงกับกระบวนการตีความตามมาตรา 60 ศาลได้ออกคำสั่งที่ผูกพันซึ่งกำหนดขอบเขตการเคลื่อนย้ายกำลังติดอาวุธของ ทั้งสองฝ่ายโดยรวมถึงพื้นที่ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยสำหรับทั้ง สองฝ่ายเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้สมมุติฐานว่ามาตรการชั่วคราวเป็นส่วนหนึ่งในคดีการตี ความ
ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่ามาตรชั่วคราวการดังกล่าวนั้นเกินกว่าเขตอำนาจศาล เนื่องจากผู้พิพากษาท่านนี้เห็นว่าในคดีนี้ศาลไม่มีอำนาจกำหนดมาตรการคุ้ม ครองชั่วคราวใดๆ จึงไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลข้อ (B)–(D) ทั้งหมด ในส่วนนี้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
ฝ่ายไทยควรใช้ประโยชน์จากความเห็นแย้งดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประเด็นคำประกาศปี 2493 ของประเทศไทยที่ได้สิ้นสุดการบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2503 เป็นเหตุผลสำคัญในการไม่รับอำนาจศาลในเรื่องที่เห็นว่าอยู่นอกขอบเขตของการ ตีความที่ถูกต้อง นั่นคือ หากศาลรับคำขอให้ตีความของกัมพูชา ศาลจะมีขอบเขตอำนาจแค่เพียงบอกฝ่ายไทยและกัมพูชาว่าคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ที่ทั้งสองฝ่ายมีข้อพิพาทกัน หมายถึงอะไรเท่านั้น โดยไม่มีเขตอำนาจที่จะทำการตัดสินสิ่งใดใหม่ได้
2.3 คำ สั่งศาลข้อ (1): สำหรับคำสั่งศาลในข้อนี้ ศาลได้กำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราว มีผู้พิพากษาถึง 5 คนซึ่งมีประธานศาลโลกและผู้พิพากษาเฉพาะกิจชาวฝรั่งเศสที่ไทยเลือกรวมอยู่ ด้วยที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลในข้อนี้ เหตุผลหลักที่ผู้พิพากษาทั้งห้าคนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลในข้อนี้พอสรุปได้ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง ศาลไม่มีอำนาจไปกำหนดเขตปลอดทหารดังกล่าวให้ล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ภาย ใต้อำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใด อันเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นๆ โดยปราศจากความยินยอมของรัฐดังกล่าว หากจะมีการกำหนดเขตปลอดทหารก็ควรจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ที่มีข้อพิพาทกันเท่า นั้น
ประการที่สอง ศาลกำหนดเขตปลอดทหารดังกล่าวเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ตำแหน่งของมุมทั้งสี่มีการ กำหนดพิกัดที่แน่นอน โดยปราศจากการอธิบายให้เหตุผลว่าทำไมจึงต้องเป็นพิกัดดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการกำหนดในลักษณะที่ไม่เป็นจริง (artificial manner) โดยไม่ได้คำนึงถึงภูมิประเทศจริง รวมถึงความเป็นไปได้และความยากลำบากในการดำเนินการหรือการบังคับให้เป็นไป ตามมาตรการดังกล่าวของแต่ละฝ่าย
ประธานศาลโลกได้ให้ความเห็นแย้งเฉพาะตนบางส่วนพอสรุปได้ว่า คำสั่งกำหนดเขตปลอดทหารของศาลโลกในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดเขต ล้ำเข้าไปในดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐโดยที่ดินแดนนั้นไม่ได้เป็น พื้นที่ที่มีปัญหาข้อพิพาทแต่อย่างใด จากทั้งหมดประมาณ 40 คำสั่งของศาลโลกในการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว มีเพียง 3 คดีเท่านั้นที่มีประเด็นของการถอนกำลังของฝ่ายคู่กรณีเกิดขึ้นและที่ศาลโลก ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวสั่งให้ฝ่ายที่มีข้อพิพาทกันหยุดกองกำลัง ติดอาวุธของตนจากการต่อสู้ที่ได้เกิดขึ้นจริงหรืออาจเกิดขึ้นได้ และให้กองกำลังของแต่ละฝ่ายออกจากเขตที่กำหนดตามคำสั่งศาล
แต่ศาลโลกไม่เคยสั่งไปไกลถึงกับให้ฝ่ายต่างๆ ถอนจากเขตปลอดทหารชั่วคราวซึ่งถูกคิดขึ้นมาอย่างไม่เป็นจริงโดยศาล และที่ประกอบด้วยส่วนของดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยอย่างไม่มีข้อโต้แย้งของ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างที่ปรากฏในคำสั่งครั้งนี้
ส่วนผู้พิพากษาเฉพาะกิจชาวฝรั่งเศสที่ไทยเลือกได้ให้ความเห็นแย้งเฉพาะ ตนบางส่วนพอสรุปได้ว่า ศาลโลกได้รับคำร้องขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการยื่นคำ ร้องขอให้ตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญของศาลโลก มาตรา 60 และได้เคยใช้อำนาจนี้มาก่อนเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในคดีอาวีนา (Avena) ซึ่งเป็นคดีระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนั้นแตกต่างจากในครั้งนี้อย่างสิ้นเชิง โดยในครั้งนั้นเป็นเรื่องของคนที่กำลังจะถูกประหารชีวิต หากศาลไม่มีคำสั่งให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ก็อาจทำให้คำพิพากษาสำหรับคำร้องขอให้ตีความที่จะมีขึ้นภายหลังกลายเป็น เรื่องไม่มีผลบังคับใช้เนื่องคนผู้นั้นได้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว
แต่ในครั้งนี้เป็นเรื่องของการร้องขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมที่ได้มีมา เกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว โดยที่การปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวมิได้เคยเป็นปัญหาแต่อย่างใดตลอดช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นฐานของเขตอำนาจดั้งเดิมของศาลในเรื่องนี้ได้หมดสิ้นไปนานแล้ว ดังนั้นการพิจารณาในการจำกัดสิทธิในอธิปไตยเหนือดินแดนโดยการกำหนดมาตรการ คุ้มครองชั่วคราว จึงไม่สมควรควรกำหนดในกรณีที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบอำนาจศาลอย่างจริงจัง เสียก่อน
นอกจากนี้การที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลย้อนกลับไปพิจารณาเพื่อพิพากษาว่า เส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณใกล้เคียงกับปราสาทพระวิหารเป็นไป ตามเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ภาคผนวก 1 นั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการตีความคำพิพากษา แต่เป็นลักษณะของการทบทวนคำพิพากษาดังกล่าวตามธรรมนูญของศาลโลก มาตรา 61
ผู้พิพากษาเฉพาะกิจคนดังกล่าวยังให้ความเห็นด้วยว่า จากข้อพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องขอของกัมพูชานั้น ทำให้เกิดคำถามว่าได้มีการอาศัยกระบวนการพิจารณาของศาลโดยอ้อมค้อมเพื่อให้ เป็นประโยชน์ และเป็นไปได้หรือไม่ว่า ศาลกำลังเผชิญกับความพยายามในการนำคำร้องขอที่มีลักษณะเป็นเรื่องใหม่เข้า สู่การพิจารณาของศาล โดยนำประเด็นดังกล่าวไปพ่วงติดกับความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับการตีความคำ พิพากษา
ทั้งนี้เพื่อที่จะได้มีฐานรองรับเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล ศาลจึงควรต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวในการพิจารณาคดีหลักเพื่อที่จะไม่ได้ เป็นการสนับสนุนการกระทำในลักษณะนี้ อันเป็นการขัดต่อหลักการที่สำคัญอย่างมากที่ว่าด้วยการยินยอมของทั้งสองฝ่าย ในการรับเขตอำนาจศาล นอกจากนี้ศาลได้ปฏิเสธคำร้องขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของกัมพูชา โดยพิจารณาว่ามีลักษณะเพื่อผลประโยชน์ฝ่ายเดียวมากเกินไป ศาลจึงได้กำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราว แต่การกำหนดเขตดังกล่าวขาดความเหมาะสม ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติได้ในพื้นที่ จริง สถานการณ์ก็จะเลวร้ายลงไปอีกแทนที่จะดีขึ้น และจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมรับในคำพิพากษาของศาลใน คดีหลักอันเกี่ยวข้องกับการกำหนดบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารที่อยู่ภาย ใต้อธิปไตยของกัมพูชา
">มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
2.3.1 การ ที่ผู้นำระดับสูงฝ่ายไทยหลายคนออกมาแสดงความพอใจต่อคำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ เป็นการสมควร ที่ถูกแล้วถึงแม้ฝ่ายไทยได้แสดงเจตนาว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลในฐานะที่ เป็นสมาชิกสหประชาชาติก็ตาม แต่ควรที่จะต้องแสดงความไม่เห็นด้วยและท้วงติงในการที่ศาลได้ใช้อำนาจเกิน ขอบเขตอำนาจศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยไปกำหนดเขตปลอดทหารรุกล้ำเข้ามาใน ดินแดนอันอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทยอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ทั้งนี้เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของฝ่ายไทยซึ่งตั้งอยู่บนความถูกต้อง ความยุติธรรม และความชอบธรรมในการปกป้องรักษาอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนไทย
2.3.2 สำหรับ เขตปลอดทหารชั่วคราวที่ศาลกำหนดนั้น ศาลระบุอย่างชัดเจนในย่อหน้าที่ 61 ของคำสั่งศาลว่า ย่อมไม่กระทบต่อการดำเนินการทางปกครองตามปกติ ซึ่งรวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารเข้าไปประจำการในส่วนที่จำเป็นต่อ การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทรัพย์สิน ดังนั้นฝ่ายไทยควรต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำการในเขตดังกล่าวเพื่อ ดำเนินการต่างๆ ทางปกครอง และคอยสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายกัมพูชาด้วย ทั้งนี้ควรต้องมีการตกลงหาข้อสรุปอย่างชัดเจนกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อป้องกัน ปัญหาขัดแย้งที่อาจเกิดในประเด็นนี้ด้วยว่า เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารนั้นหมายรวมถึงเจ้าหน้าที่ในลักษณะใดบ้าง มีพื้นที่ประจำการที่ใดได้ และอนุญาตให้มีอาวุธแบบใดได้บ้างในการใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในเขต ดังกล่าว
นอกจากนี้คำสั่งศาลไม่ได้ให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตดังกล่าวต้องออก ไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญเนื่องจากมี ตลาด วัด และชุมชนกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวที่อยู่ในพื้นที่พิพาทบนเขาพระวิหาร อีกทั้งชุมชนดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นครอบครัวของทหารกัมพูชา รวมทั้งเป็นการยากที่จะแยกแยะว่าบุคคลใดเป็นทหารหรือไม่หากอยู่ในชุด พลเรือน และจะมีหลักประกันอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้มีชาวกัมพูชาเข้ามาอาศัยเพิ่ม ขึ้นอีก หรือมีการก่อสร้างอะไรเพิ่มเติม ดังนั้นจึงต้องมีการตกลงหาข้อสรุปอย่างชัดเจนกับฝ่ายกัมพูชาในประเด็นนี้ ด้วย
เขตปลอดทหารชั่วคราวที่ศาลกำหนดมีแนวเขตตามเส้นสีแดงของรูปที่ 1 ซึ่งแสดงบนแผนที่ มาตราส่วน 1: 50,000 ลำดับชุด L 7017 ระวาง 5937 IV บ้านภูมิซรอล เขตดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 17 ตารางกิโลเมตรกว่า หากพิจารณาภูมิประเทศตามลำดับความสูง (เส้นสีส้ม) และใช้เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา (เส้นปะสีส้ม) ตามที่แสดงในแผนที่ดังกล่าว จะเห็นว่าพื้นที่ที่ฝ่ายไทยต้องถอนกำลังทหารส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงซึ่งมี ชัยภูมิการรบที่ดี ส่วนพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาต้องถอนกำลังทหารนั้น ยกเว้นบริเวณบนเขาพระวิหารที่ปัจจุบันมีกำลังทหารกัมพูชาประจำการอยู่แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดลงของเชิงเขาซึ่งมีชัยภูมิรบที่ไม่ดีเลย
ถึงแม้ฝ่ายกัมพูชาจะต้องถอนกำลังทหารประมาณ 4,000 คน ในขณะที่ฝ่ายไทยต้องถอนกำลังทหารประมาณ 1,000 คน แต่ก็ไม่ได้แสดงว่าฝ่ายไทยได้เปรียบตามที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องถอนอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดออกจากบริเวณที่ตั้ง ปัจจุบันด้วย ซึ่งฝ่ายไทยถึงแม้นจะได้วางกำลังทหารจำนวนน้อยกว่าฝ่ายกัมพูชามาก แต่ฝ่ายไทยอาศัยอาวุธยุทโธปกรณ์และชัยภูมิที่เหนือกว่าในการต่อสู้
2.4 คำสั่งศาลข้อ (2): สำหรับคำสั่งศาลในข้อนี้ ศาลได้กำหนดให้ฝ่ายไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้าถึงอย่างอิสระของกัมพูชาไปยัง ปราสาทพระวิหาร หรือการจัดส่งเสบียงของกัมพูชาให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของตนในปราสาทพระ วิหาร โดยความมุ่งหมายของคำสั่งศาลในข้อนี้แล้ว มิได้หมายความว่ากัมพูชาจะสามารถรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยเพื่อผ่านไปยัง ปราสาทพระวิหารได้อย่างอิสระและไม่มีเงื่อนไขใดๆ
แต่หมายความว่าหากกัมพูชามีเหตุผลอันจำเป็นที่จะต้องเข้ามาในดินแดนไทย เพื่อผ่านไปยังปราสาทพระวิหาร ไทยต้องยอมให้ผ่านจะไปขัดขวางไม่ได้ ทั้งนี้ไทยย่อมมีสิทธิในการที่จะสอบถามเหตุผลและตรวจสอบตามความเหมาะสมก่อน เพื่อพิจารณาให้ผ่านไปได้ แต่ไทยไม่สามารถตั้งเงื่อนไขในการให้ผ่านใดๆ ที่ไม่สมเหตุผลหรือไม่เหมาะสมได้ ในส่วนนี้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
เนื่องจากปัจจุบันมีทางเข้าถึงปราสาทพระวิหารได้ถึง 3 ทาง คือ ทางบันไดทางขึ้นใหญ่ทางทิศเหนือ ทางบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกตรงช่องบันไดหัก และทางถนนทางทิศตะวันตกจากบ้านโกมุยในฝั่งกัมพูชาที่กัมพูชาได้สร้างรุกล้ำ ผ่านพื้นที่ 4.6 ก.ม. ขึ้นไปยังปราสาทพระวิหาร สำหรับบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกซึ่งมีความสูงชันมากนั้น เดิมเป็นบันไดหินขนาดเล็กและมีหลายส่วนที่ชำรุดเสียหาย แต่ปัจจุบันกัมพูชาได้สร้างบันไดไม้คร่อมบนบันไดหินดังกล่าวตามรูปที่ 2 เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เป็นเส้นทางเดินขึ้นไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารตาม แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาได้ส่งให้ศูนย์มรดกโลก เนื่องจากบันไดทางขึ้นใหญ่ทางทิศเหนือและถนนทางทิศตะวันตกจากบ้านโกมุย หากกัมพูชาจะใช้ผ่านขึ้นไปยังปราสาทพระวิหารจะต้องผ่านพื้นที่ 4.6 ก.ม. ที่เป็นข้อพิพาท
ดังนั้นไทยจึงไม่ควรให้กัมพูชาผ่านไปยังปราสาทพระวิหารโดยใช้สองเส้นทาง นี้ ไทยควรต้องเจรจาตกลงกับกัมพูชาให้กัมพูชาใช้เฉพาะบันไดทางขึ้นทางทิศตะวัน ออกดังกล่าวเพื่อขึ้นไปถึงยังปราสาทพระวิหารเท่านั้น ส่วนทางขึ้นอื่นควรใช้ได้เฉพาะเมื่อมีเหตุผลจำเป็นอันไม่สามารถหลีกเลี่ยง ได้ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะได้ตกลงกัน แต่ทางที่ดีที่สุดควรให้กัมพูชาใช้ทางขึ้นเฉพาะทางบันไดทางทิศตะวันออกดัง กล่าวเท่านั้น
2.5 คำสั่งศาลข้อ (3): สำหรับคำสั่งศาลในข้อนี้ ศาลให้ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินความร่วมมือกันต่อไปตามที่ทั้งสองฝ่ายได้เข้า ร่วมในกรอบอาเซียน และโดยเฉพาะต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์ที่แต่งตั้งโดยอาเซียนเข้าไปยัง เขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้ ในส่วนนี้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
คำ สั่งนี้ศาลโลกไม่ได้กำหนดว่า คณะผู้สังเกตการณ์จะต้องเข้าไปในเขตปลอดทหารชั่วคราวในทันทีหรือก่อนที่จะมี การถอนกำลังทหารออกจากเขตดังกล่าว แต่ปรากฏว่า นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลับออกมาแถลงยืนยันว่า ทหารกัมพูชาจะถอนออกจากเขตดังกล่าวก็ต่อเมื่อคณะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าไปใน เขตดังกล่าวก่อน การกระทำดังกล่าวของนายฮุน เซน จึงเป็นการไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับคำสั่งศาล เพราะศาลสั่งตามข้อ (1) ให้ถอนกำลังทหารทั้งสองฝ่ายออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวในทันที แต่ไม่ได้สั่งตามข้อ (3) ว่าคณะผู้สังเกตการณ์ต้องเข้าไปยังเขตดังกล่าวในทันทีหรือก่อนที่จะมีการถอน กำลังทหารของทั้งสองฝ่าย
ก่อนหน้านี้ในการประชุมอย่างไม่เป็นทาง การของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 ไทยและกัมพูชาได้ให้คำมั่นต่อกันและต่ออาเซียนที่จะไม่ให้เกิดการปะทะกัน อีก และเพื่อให้ความมั่นใจต่อกัน ต่ออาเซียน และต่อประชาคมโลก ทั้งสองประเทศได้เชิญรัฐบาลอินโดนีเซียให้ส่งคณะผู้สังเกตการณ์ไปในพื้นที่ บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ฝั่งละ 15 คน โดยอินโดนีเซียจะได้มีหนังสือถึงไทยและกัมพูชาเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (Terms of Reference on the Deployment of the Indonesian Observers Team in the Affected Areas of the Cambodia-Thailand Border: TOR)
แต่หลังจากนั้นไทยและกัมพูชาก็ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขการส่งคณะผู้ สังเกตการณ์อินโดนีเซียไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากไทยยืนยีนว่าคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ได้ก็ต่อเมื่อกองกำลังกัมพูชาต้องถอนออกจากปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา ชุมชน และตลาดก่อน
ทั้งนี้หากคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปโดยที่ยังมีกองกำลัง กัมพูชาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเท่ากับเป็นการยอมรับการกระทำดังกล่าวของ กัมพูชา อีกทั้งยังเป็นการยอมรับการสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนไทย แต่กัมพูชาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามที่ไทยยืนยัน ดังนั้นคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจึงยังไม่สามารถเขาปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่เมื่อศาลโลกมีคำสั่งตามข้อ (1) ให้ทั้งสองฝ่ายถอนฝ่ายถอนกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว การส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปปฏิบัติหน้าที่จึงไม่น่าจะมีปัญหา อีกต่อไป
2.6 คำสั่งศาลข้อ (4): สำหรับคำสั่งศาลในข้อนี้ ศาลให้ทั้งสองฝ่ายต้องงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ข้อพิพาทที่ปรากฏต่อศาลเลวร้ายลงหรือเกิดมากขึ้น หรือทำให้มันยากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข ในส่วนนี้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
สำหรับคำสั่งศาลในข้อ นี้ ศาลได้กำหนดเป็นหลักการอย่างกว้างๆ ไม่ได้ระบุเป็นการเฉพาะเจาะจงอย่างชัดเจนว่าการกระทำใดที่ทั้งสองฝ่ายต้องด เว้น ดังนั้นไทยควรต้องเจรจาหารือกับกัมพูชาเพื่อให้มีการกำหนดอย่างชัดเจนใน ประเด็นนี้อันจะเป็นการป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างของการกระทำที่กัมพูชาอาจทำ เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวกัมพูชาขึ้นไปอยู่อาศัยในชุมชนบนเขาพระวิหาร มากขึ้น และการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่วัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา ชุมชน หรือตลาด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กัมพูชาควรงดเว้นเพราะจะทำให้มีข้อพิพาทเกิดมากขึ้น
2.7 คำ สั่งศาลข้อ (C)-(D): สำหรับคำสั่งศาลในข้อ (C) ศาลสั่งให้แต่ละฝ่ายต้องแจ้งต่อศาลถึงการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ข้างต้น ในส่วนนี้คงไม่มีประเด็นปัญหา แต่สำหรับคำสั่งศาลในข้อ (D) ที่ศาลสั่งว่าจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาต่อคำร้องขอสำหรับการตีความ ศาลยังคงอำนาจต่อไปในการพิจารณาเรื่องราวสาระที่ก่อให้เกิดคำสั่งครั้งนี้ นั้น มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
หลังจากที่ศาลมีคำสั่งแล้ว หากสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการกระทำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขัดต่อคำสั่งศาลในข้อหนึ่งข้อใดและทั้งสอง ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบย่อมสามารถที่จะนำประเด็นดังกล่าวให้ศาลพิจารณาเพื่อ เปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ทั้งนี้ตามระเบียบของศาลโลก ข้อ 76 ตัวอย่างเช่น หากมีการขยายชุมชนกัมพูชาบนเขาพระวิหาร หรือกัมพูชามีการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่บนเขาพระวิหาร โดยกัมพูชาปฏิเสธที่จะระงับการกระทำดังกล่าวตามที่ไทยเรียกร้อง ไทยย่อมสามารถนำประเด็นดังกล่าวไปขอให้ศาลพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งเกี่ยว กับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวได้
สุดท้ายนี้ใน การสู้คดีที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลไทยไม่ควรปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบต่อสู้คดีนี้ แต่เพียงฝ่ายเดียว ควรให้ผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดำเนินการต่อสู้คดีด้วย โดยอาจตั้งเป็นรูปของคณะกรรมการกลาง นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศควรแปลเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับคำสั่งศาลโลก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นี้ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลด้วย
( โดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ )