บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

"เขาพระวิหาร" บนเส้นทางความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา


      กระแสของ "ปราสาทเขาพระวิหาร"โบราณสถานของประเทศกัมพูชา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กับกรณีการยื่นเสนอเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก ยังคงประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้
      
       ทั้งนี้แผนผลักดันเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ได้เริ่มขึ้นในปี 2547 ที่คณะรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา มีมติเห็นชอบให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เขาพระวิหารเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ศึกษาประวัติศาสตร์ และกำหนดให้ดำเนินการเสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก
      
       ทางรัฐบาลกัมพูชาจะเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารที่ตั้งอยู่ในฝั่งกัมพูชาแต่โดยลำพัง หากแต่ฝ่ายไทยเล็งเห็นว่าข้อเท็จจริงแล้วยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกที่ต้องเสนอประกอบพร้อมไปด้วย อาทิ ปราสาทโดนตวล,บรรณาลัย,สถูปคู่,สระตราว และทางขึ้นปราสาท ซึ่งอยู่ในประเทศไทย จึงควรที่จะเสนอพร้อมกันทั้งสองประเทศ
      
       ไทยจึงยื่นประท้วงให้เป็นมรดกโลกร่วมกัน จากผลการประท้วงดังกล่าว ยูเนสโกจึงเลื่อนการพิจารณาออกไป โดยให้ 2 ประเทศ(ไทย-กัมพูชา)ไปตกลงหาข้อยุติ แล้วค่อยนำเสนอที่ประชุมในเดือนมิถุนายน 2551 แต่การหารือของ 2 ประเทศนอกจากไม่มีอะไรคืบหน้าแล้ว ทางกัมพูชายังมีโครงการสร้างถนนจาก จ.พระวิหาร และ จ.กัมปงธม ขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหาร และยังมีโครงการสร้างกระเช้า เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาทางขึ้นจากฝั่งไทย

       
แผนที่เจ้าปัญหา
      
       เมื่อวันที่12 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดงานเสวนาหยิบยกเอาประเด็นเรื่องปราสาทเขาพระวิหารขึ้นมาพูดคุยกันอีกครั้ง ในหัวข้อเรื่อง "เขาพระวิหาร กับอนาคตความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา" โดยมีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวหลายท่าน
      
       พ.อ.นพดล โชติศิริ นายทหารจากกรมแผนที่ทหาร หนึ่งในผู้อภิปรายได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเขตแดนที่เกิดขึ้นจากแนวชายแดนของทั้งสองประเทศว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสิ่งหนึ่ง คือ การยึดถือแผนที่คนละฉบับระหว่างสองประเทศ จะเห็นได้ว่าตลอดแนวเขตแดน ที่เป็นที่ตั้งของเขาพระวิหารยังไม่เคยมีการปักปันเขตแดน เนื่องจากยังหาบทสรุประหว่างสองประเทศไม่ได้ แม้ว่าศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้ตัดสินให้เส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนอินโดจีน -สยาม(แผนที่ซึ่งทำขึ้นโดยฝรั่งเศส)
      
       ประกอบกับแผนที่ดังกล่าวเขียนสันปันน้ำผิด ฉะนั้นสันปันน้ำตามแผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดน จึงไม่มีปรากฏบนภูมิประเทศจริง รัฐบาลไทยจึงตัดให้กัมพูชาเฉพาะตัวปราสาท แล้วจัดทำรั้วลวดหนามกันพื้นที่ดังกล่าวไว้ ซึ่งทหารกัมพูชาก็ยอบรับไม่เคยละเมิดดินแดนนอกรั้วลวดหนามที่ไทยกันไว้ตั้งแต่ปี2505
      
       "ไทยยึดถือแผนที่ ที่เป็นฉบับอัตราส่วน 1:50,000 ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2505 ภายหลังที่ศาลโลกได้ตัดสินให้ไทยแพ้คดี ก็ได้เฉือนเฉพาะส่วนปราสาทเขาพระวิหารให้กัมพูชาไปเท่านั้น แต่กัมพูชายึดถือแผนที่อัตราส่วน 1:200,000 ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นเมื่อครั้งได้ พระตะบอง ศรีโสภณ เสียมราฐ ไป ซึ่งกินอาณาบริเวณล้ำเข้ามาในฝ่ายไทย"
      
       "หากมองตามแผนที่ของไทยที่ถืออยู่ จึงถือเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของฝ่ายไทย ล้ำเข้ามา 2.5 กิโลเมตร หรือ1,500 ไร่ หากกัมพูชาสามารถเสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงลำพัง โดยไม่รวมเอาโบราณสถานทางฝั่งไทยรวมเข้าไปด้วย เท่ากับว่าแผนที่ของฝ่ายกัมพูชาจะกลายเป็นที่ยอมรับในหลักสากลทันที ตามกฎของการคุ้มครองมรดกโลกเท่ากับว่าไทยต้องเสียดินแดนเพิ่ม 2.5 กิโลเมตร"พ.อ.นพดลกล่าว ซึ่งปัญหานี้ยังคงเป็นเรื่องมีหาข้อยุติไม่ได้ แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเปราะบางเป็นอย่างมาก อาจะกระเทือนถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศได้

       ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
      
       เชื่อแน่ว่าในฐานะมิตรประเทศ คงไม่มีใครต้องการเห็นความบาดหมางระหว่างกัน รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเดียวกันถึงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า
      
       "ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นสิ่งสำคัญที่คนลืม แต่เดิมพื้นที่แถบอาเซียนไม่มีเส้นเขตแดน เราเพิ่งรับวัฒนธรรมมาจากยุโรป ยุโรปเป็นรัฐสมัยใหม่ได้นำระบบอาณานิคมเข้ามา เอาเรื่องของรัฐและเส้นเขตแดนเข้ามาด้วย สนธิสัญญาในยุคอาณานิคมไม่มีประเทศเล็กใดได้เปรียบ สิ่งที่ไทยต้องการรู้ในขณะนี้ คือ ความชัดเจนว่าเส้นเขตแดนเราอยู่ตรงไหน จะได้รู้ว่าอำนาจประชาธิปไตยของไทยสิ้นสุดตรงไหนเท่านั้น"
      
       รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า วันนี้เราต้องยอมรับอดีตคืออดีต ปัญหาเส้นเขตแดนเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่สุด ปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนเป็นปัญหาที่ตกค้างแล้วแก้ไม่ได้ ในกรณีนี้กัมพูชา คือ ผู้สืบสิทธิ์ของอาณานิคม คือ ผู้ได้รับผลประโยชน์ย่อมไม่ยอมเสียสิทธิ์ที่ได้
      
       หลังคำตัดสินของศาลโลกปราสาทเขาพระวิหารกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาตลอด ภูมิศาสตร์ตอบได้อย่างหนึ่งชอบไม่ชอบก็ต้องอยู่ร่วมกัน ต้องคิดว่าตอบอะไรได้มากกว่าเรื่องปัญหาการทำสงคราม คำตัดสินของยูเนสโกที่กำลังจะออกมาแน่นอนว่าไทยทำใจลำบาก แต่คงต้องมองด้วยความสัมพันธ์เชิงเสมอภาค ที่ควรจะถูกส่งผ่านในหลายๆส่วน
      
       "ในศาลโลกมีอยู่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญซึ่งทางกัมพูชายกมาอ้างคือ การที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปเขาพระวิหารท่านได้ทำหนังสือขอแก่ทางฝรั่งเศสเท่ากับเป็นการยอมรับ หลังคำตัดสินของศาลโลกในเวทีระหว่างประเทศไทยก็ยอมรับไม่เคยโต้แย้ง วันนี้เรื่องนี้กลับมาอีกครั้ง ทั้งที่หลังปีพ.ศ.2505ปราสาทเขาพระวิหารลางเลือนไปจากความทรงจำของคนไทย ผมจึงมองว่าเรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นเรื่องของความรู้สึก เราต้องคิดว่าเรากับเพื่อนบ้านมีอะไรเป็นตะกอนใจ ผมเดินขบวนครั้งแรกก็เรื่องเขาพระวิหารที่จอมพลสฤษดิ์สั่งให้นักเรียนทั่วประเทศเดินขบวน เรื่องนี้ผมจึงรู้สึกผูกพันอยู่ไม่น้อย เรื่องนี้เป็นปัญหาของคนร่วมสมัย แต่ละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นอย่างมาก" รศ.ดร.สุรชาติกล่าว

       ทางออก
      
       ด้านความเห็นของ อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ตนมองว่าปัญหา ณ ขณะนี้ เป็นความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มบ้าอำนาจบางกลุ่มเท่านั้นเอง ไม่เชื่อว่าเป็นความขัดแย้งที่มาจากความรู้สึกของประชาชนทั้งหมด เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่เขามีปัญญาเขามองเห็นถึงอนาคตการอยู่ร่วมกันของอาเซียนว่าควรอยู่ด้วยกันอย่างสงบ
      
       "เรื่องการเสียดินแดนเพิ่มเราต้องมาทบทวน ขณะนี้ตัวสิทธิมันอยู่ที่ปราสาทเขาพระวิหารต้องเอาอดีตที่ผิดพลาดมาทบทวน ถึงแม้โดยความเป็นจริงตามแนวธรรมชาติแนวสันปันน้ำ แล้วสายน้ำมันตกเขตเรา แต่เมื่อเราแพ้เขาในกรณีของสนธิสัญญาต่างๆเหล่านั้นก็ต้องยอมมัน หันมาร่วมมือ และคุยกันเป็นประเทศเพื่อนบ้านอยู่กันมาตลอด ย้ายหนีก็ไม่ได้ เรื้อรังไปก็ไม่มีประโยชน์ ข้อยุติหนึ่งขึ้นอยู่กับในประเทศเราเอง กลุ่มผลประโยชน์ยอมไหม นักการเมืองยอมไหม ทหารต่างๆยอมไหม ประชาชนไม่รู้เรื่องแต่ได้รับผลเดือดร้อนก็คือคนที่อยู่ในเขาพระวิหารเป็นคนต่างถิ่นทั้งนั้น"อ.ศรีศักดิ์กล่าว
      
       อ.ยังได้กล่าวแนะถึงทางออกของปัญหาดังกล่าวว่า ตนอยากให้มองในเรื่องของการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นของโลก เมื่อเขาจะเป็นมรดกโลกย่อมหมายความว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้าอยู่ร่วมกันอย่างสันติเราจะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เรื่องการดูแลบูรณะเป็นปล่อยเป็นเรื่องของเขา แต่การเป็นมรดกโลกต้องร่วมกันทั้งสองประเทศจึงจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้ามัวทะเลาะมันจะมีแต่เสีย ตอนนี้ต่างชาติก็กำลังจ้องตาเป็นมันอยู่
      
       "การเป็นมรดกโลกจะช่วยประสานความสัมพันธ์ของเรา ไทย-กัมพูชาให้อยู่ร่วมกันและได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผมเชื่อว่า 80 % ผลได้อยู่กับเรา 20 %อยู่กับกัมพูชา แต่ถ้ายังทะเลาะไม่เลิกเราจะชิบหาย เพราะเราเสียเปรียบมาก ต้องถอดรหัสปัญหาความรู้ต่างๆที่ฝรั่งมาครอบงำให้ดี ที่เรามาทะเลาะกันเป็นปัญหาเรื่องเทคนิค เรื่องแผนที่ฝรั่งหลอกใช้เทคนิคเรื่องแผนที่ แต่ไม่เคยอบรมเรื่องความรู้ เราไม่พยายามจะทบทวนหน้าที่ของเราแล้วเอามาเป็นตัวตั้งทะเลาะกันไปก็ไม่มีประโยชน์ เป็นเหยื่อของนักการเมืองผู้มีอำนาจแล้วคนเคราะห์ร้ายคือประชาชนในท้องถิ่น"
      
       "กัมพูชามีสิทธิ์ในเขาพระวิหารในฐานะเป็นโบราณสถานและศิลปวัฒนธรรมของประเทศเขา ควรเลิกทะเลาะกันและหันมาร่วมมือกันดีกว่า อย่างป่าไม้ในแถบนั้นก็น่าห่วง เพราะขณะนี้มีการลักลอบตัดมากค้าข้ามชาติมากกัมพูชาต้องให้ความสนใจ เราก็ต้องให้ความสนใจ ทำไมเราไม่ร่วมมือกับเขาให้เป็นมรดกโลกอนุรักษ์ไม่ให้เสื่อมสลาย ขณะเดียวกันก็อนุรักษ์มรดกโลกให้นานาชาติเขาไปท่องเที่ยว ถ้าเราไม่ยอมเขาสร้างกระเช้าเราก็เสียไม่มีได้ การสร้างกระเช้าทำให้ความเป็นมรดกโลกไม่สมบูรณ์ เพราะความสำคัญของการเป็นมรดกโลกนั้น คือ การรักษาบรรยากาศเก่าๆในอดีต ไม่ใช่ขึ้นกระเช้ามา แต่ถ้าไทยร่วมมือด้วยมันจะได้ทั้งสองฝ่ายเราก็ได้ เขาก็ได้" อ.ศรีศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งแสดงในเห็นอย่างหนึ่งว่ายังคงมีอีกหลายๆฝ่าย ที่ปรารถนาเห็นสันติเกิดขึ้นจากกรณีนี้
      
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
      
       
ปราสาทเขาพระวิหาร หรือ ศรีศิขเรศวร เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักกั้นระหว่างแผ่นดินเขมรต่ำกลุ่มเมืองพระนคร และเขมรสูงในภาคอีสานของไทย สร้างขึ้นก่อนนครวัดถึง100 ปีอยู่ในจังหวัดพระวิหาร ของกัมพูชา ติดชายแดนไทย ที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
      
       กล่าวกันว่าสร้างเพื่อการแสดงอำนาจของกษัตริย์แห่งเมืองพระนคร ที่มีความเชื่อถือในเรื่องเทวราชา อันหมายถึงกษัตริย์คืออวตารหนึ่งของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เป็นศูนย์รวมแห่งคติความเชื่อ คือการสร้างมหาปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะและพระมหากษัตริย์
      
       เมื่อปี พ.ศ.2483 เกิดสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสอ่อนแอ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงพรมแดนไทย-อินโดจีน เป็นให้ไทยได้ 4 จังหวัดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงครอบครอง พ.ศ.2487เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ไทยต้องปรับตัวเองมิให้เป็นประเทศแพ้สงคราม จึงต้องคืนดินแดนที่ได้มาแก่ฝรั่งเศสไปรวมทั้งเขาพระวิหาร
      
       พ.ศ.2502 รัฐบาลกัมพูชานำด้วยสมเด็จพระนโรดมสีหนุยื่นฟ้องต่อศาลโลกที่กรุงเฮกประเทศเนเธอร์แลนด์ว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา พ.ศ.2505 ศาลโลกมีมติ 9 ต่อ 3 ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา และพ.ศ.2550กัมพูชาได้ยื่นเรื่องต่อองค์การยูเนสโกเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกซึ่งอาจกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งครั้งใหม่ก็เป็นได้
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง