บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คำเตือนถึงอภิสิทธิ์: โปรดอย่าปล่อยให้ศาลโลกแปลคำผิด โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์


วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผู้เขียนขอส่งคำเตือนด้วยความปรารถนาดีไปยังรัฐบาลรักษาการและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้รอบคอบว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กำลังเข้าใจจุดยืนไทยผิดหรือไม่?
     เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ หนังสือพิมพ์ประชาไทได้เผยแพร่บทความเรื่อง “คำถามถึงอภิสิทธิ์ ทำไมทะเลาะกับเขมรแทบตาย เพื่อกลับไปที่เดิม?” โดย ผศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35327  ผู้เขียนเห็นว่าบทความดังกล่าวมีข้อคิดที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในแง่การให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในอดีต และการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศอย่างมีสติและจิตวิทยา.
     กระนั้นก็ดี ด้วยความเชื่อมั่นในน้ำใจความเป็นนักวิชาการของ ผศ. ดร. พวงทอง ผู้เขียนพึงเสนอความเห็นแย้งต่อบทความดังกล่าวอย่างน้อยสองประการ ดังต่อไปนี้.
ประการแรก: “ขอบเขต” ปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่สิ่งเดียวกันหรือส่วนหนึ่งของ “เขตแดน” ไทย-กัมพูชา
             บทความของ ผศ. ดร. พวงทอง สื่อให้เห็นว่าศาลโลกอาจแปลคำพูดของไทยผิด หรือไม่ก็อาจแปลให้มีผู้อ่านเข้าใจผิดได้ ดังนี้.

           ผศ. ดร. พวงทองกล่าวถึงถ้อยแถลงของไทย ณ ศาลโลก เมื่อวันที่ ๓๐-๓๑ พ.ค. ที่ผ่านมาว่า:
“[นาย วีรชัย พลาศรัย] แถลงว่า ‘ประเทศไทยมีความสม่ำเสมอในจุดยืนของตนที่ยอมรับคำตัดสิน ของศาลเมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย. ๒๕๐๕ และได้ปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าวอย่างสมบูรณ์’ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากศาลมีคำตัดสินออกมา คณะรัฐมนตรี (ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ได้จัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ ๑๐ ก.ค. เพื่อกำหนดพื้นที่ของพระวิหารให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาล ต่อมาในวันที่ ๑๙ ก.ค. ฝ่ายไทยได้จัดทำรั้ว[ลวดหนาม]ขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ ๑๐ ก.ค. เพื่อเป็นเครื่องหมายเขตแดนของพระวิหาร และฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับเส้นเขตแดนดังกล่าวตลอด ๔๐ ปีที่ผ่านมา”
          จากนั้น ผศ. ดร. พวงทอง ตั้งข้อสังเกตโดยกล่าวเชิงสรุปว่า:
“คำ แถลงของฝ่ายไทยชี้ว่านับแต่ปี ๒๕๐๕ เป็นต้นมา ฝ่ายไทยได้ยึดรั้ว[ลวดหนาม]ที่ตั้งขึ้นในสมัย รบ.สฤษดิ์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร”
     เนื่องจากมิได้มีการระบุเอกสารอ้างอิงไว้ ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า ผศ. ดร. พวงทอง อ้างถ้อยคำจากเอกสารบันทึกของศาล CR 2011/14 หน้า ๑๒ ในส่วนที่นายวีรชัย พลาศรัยกล่าวเป็นถ้อยคำภาษาฝรั่งเศส ความว่า:
“10. Le 19 juillet, des travaux commencèrent pour ériger une clôture en fil de fer barbelé et un panneau marquant la limite de la zone du temple, conformément à la ligne qui avait été retenue par le conseil des ministres du 10 juillet aux fins de l’exécution de l’arrêt de 1962. Vers le 5 août, les travaux furent terminés” (เน้นคำโดยผู้เขียน)
     ศาลโลกได้แปลเอกสาร CR 2011/14  เป็นฉบับ uncorrected (ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยคู่ความ) ซึ่งเอกสารแปล หน้าที่ ๔ ได้แปลถ้อยคำภาษาฝรั่งเศสของนายวีรชัย พลาศรัยข้างต้น เป็นภาษาอังกฤษดังนี้:
“On 19 July, work began to erect a barbed wire fence and a sign marking the boundary of the Temple area, according to the line which had been adopted by the Council of Ministers on 10 July for the purposes of implementing the 1962 Judgment. The work was completed by around 5 August.” (เน้นคำโดยผู้เขียน)
     หากข้อสันนิษฐานถูกต้อง ผู้เขียนจำต้องทำความเห็นแย้งว่า ลวดหนามที่ ผศ. ดร. พวงทอง อธิบายว่าเป็น “เครื่องหมายเขตแดนของพระวิหาร” และเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร” นั้น เป็นการแปลถ้อยคำที่คลาดเคลื่อนในทางกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ตรงกับสิ่งที่นายวีรชัยเรียกว่า “la limite de la zone du temple” ดังนี้:
         ๑.    ในบริบทคดีปราสาทพระวิหาร คำว่า “เขตแดน” เป็นคำเฉพาะในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ต่างจากคำว่า “la limite” ในภาษาฝรั่งเศสที่นายวีรชัยใช้ ซึ่งมีความหมายยืดหยุ่นกว่า กล่าวคือ “la limite” ในทางหนึ่งอาจแปลโดยเจาะจงว่า “เขตแดน” กล่าวคือเขตที่ถูกกำหนดเพื่อบ่งชี้หรือแบ่งดินแดนของรัฐหรือดินแดนอื่นในทาง กฎหมาย  แต่ในอีกทางหนึ่ง คำว่า “la limite” คำเดียวกันนี้ยังสามารถแปลอย่างทั่วไปได้ว่า “ขอบเขต” คือเขตที่กำหนดจุดสิ้นสุดของบริเวณหรือสถานที่ เช่น ขอบเขตของวัดนั้นสิ้นสุดที่กำแพงวัด .
          ๒.    ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่นายวีรชัยในฐานะตัวแทนประเทศไทยเรียกว่า “la limite de la zone du temple” นั้นหมายถึง “ขอบเขตของตัวปราสาทพระวิหาร” ซึ่งในทางกฎหมายไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ตามที่ ผศ. ดร. พวงทองกล่าวถึง. ถามว่าเป็นเพราะอะไร ตอบได้ว่า:
               ๒.๑    เขตแดนที่มีการกล่าวถึงในบริบทของคดีนี้คือเขตแดนของรัฐ ประสาทพระวิหารเป็นเพียงวัตถุ ไม่อาจมีเขตแดนของตนเองในทางกฎหมายได้.
               ๒.๒    ไทยและกัมพูชาไม่เคยทำข้อตกลงเรื่องเขตแดนหรือขอบเขตเฉพาะบริเวณปราสาทพระ วิหาร มีแต่อนุสัญญาเรื่องเขตแดนสมัยที่สยามทำกับฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ได้กล่าวถึงปราสาทพระวิหารไว้ ดังนั้น “เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร” จะมีอยู่หรือไม่อย่างไรจึงต้องว่าไปตาม อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ.
               ๒.๓    ศาลโลกไม่เคย “วินิจฉัย” (adjudge) ว่าเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาคือเส้นใด คำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เพียงแต่วินิจฉัยผูกพันไทยว่า อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ ส่งผลให้ประสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนกัมพูชา. จริงอยู่ว่าการที่ศาลวินิจฉัยเช่นนั้นศาลได้นำ “แผนที่ภาคผนวก ๑” มา “พิจารณา” แต่ศาลเองก็ย้ำในคำพิพากษาว่า “การพิจารณาแผนที่” มิใช่ “การวินิจฉัย” ว่าเส้นเขตแดนหรือแผนที่ใดผูกพันไทยหรือไม่ เพราะศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะ “วินิจฉัย” เรื่องเขตแดน.
               ๒.๔    การจะตอบว่าเส้นเขตแดนที่แท้จริงคือเส้นใด ต้องว่าไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ และข้อตกลงอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของการตีความสนธิสัญญาในสมัยปัจจุบัน ผู้มีอำนาจตีความคือไทยและกัมพูชา (ยกเว้นไทยและกัมพูชาจะมอบอำนาจให้ศาลตีความ) ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องสนธิสัญญาเปิดช่องให้ไทยและกัมพูชาตีความได้ แตกต่างจาก “แนวพิจารณา” ของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ (ซึ่งศาลโลกย้ำเองว่าไม่ผูกพันไทย).
(ประเด็นเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนในทางกฎหมาย และอาจเกิดความสับสนได้ง่าย ผู้เขียนได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962#TOC-17)
     ๓.    การจะกล่าวว่า ผศ. ดร. พวงทอง เข้าใจคลาดเคลื่อนไปฝ่ายเดียวก็คงไม่เป็นธรรมนัก เพราะนิติกรศาลโลกเองก็แปลเอกสาร CR 2011/14  ฉบับ uncorrected  อย่างไม่ถี่ถ้วน โดยในหน้า ๑๒ นิติกรได้แปลคำฝรั่งเศส “la limite” เป็นอังกฤษว่า “boundary”. ที่ว่าแปลไม่ถี่ถ้วน ก็เพราะว่าคำว่า “boundary” เองแม้โดยทั่วไปจะสื่อความหมายถึง “เขตแดน” แต่ก็มีความหมายกว้างพอที่จะหมายถึง “ขอบเขต” ได้ ซึ่งต่างไปจากคำอื่น เช่น คำว่า “frontier” (พรมแดน) ซึ่งมีนัยในทางเขตแดนที่ชัดเจนกว่า.
     ๔.    ที่สำคัญที่สุด ที่ว่านิติกรศาลโลกไม่ถี่ถ้วนนั้น เป็นเพราะว่าตลอดการแถลงคดีทั้งสองวัน ตัวแทนและทนายความฝ่ายไทยเองต่างก็ได้แถลงคำพูดทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่า คำว่า “เขตแดน” ฝ่ายไทยเลือกใช้คำฝรั่งเศสว่า “la frontière” คู่กับคำอังกฤษว่า “boundary” (ตัวอย่าง ดู CR 2011/14 หน้า ๑๒ ย่อหน้าที่ ๘, หน้า ๑๕ ย่อหน้าที่ ๑๒, หน้า ๑๙ ย่อหน้า ที่ ๓๓, หน้า ๒๘-๓๐ ฯลฯ) ทั้งนี้ นายวีรชัยก็ได้ย้ำจุดยืนของไทยอีกครั้ง เช่น ตามบันทึกเอกสาร CR 2011/16 หน้าที่ ใน ๒๕-๒๖ ว่าคำพิพากษาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม่ได้ตัดสินเรื่อง “เขตแดน” แต่อย่างใด แนวของลวดหนาม หรือ “la limite” เป็นเพียงเส้นปฏิบัติการตามคำพิพากษาที่นำมาใช้ระหว่างกระบวนการจัดทำเขตแดน ยังไม่สิ้นสุด.
     5.    ในทางกลับกัน หากผู้ใดหลงแปลคำว่า “la limite” ว่า “เขตแดน” แล้ว ก็อาจสับสนว่าไทยยอมรับ “เขตแดน” ไปแล้วและพูดจาขัดกันเองหรือไม่ อาจเป็นการเสียรูปคดีในที่สุด.
     6.    ข้อที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า คำว่า “la limite” ในเอกสาร CR 2011/14  หน้าที่ ๑๒ นั้น มิได้หมายถึง “เขตแดน” หรือ “boundary” ตามที่ผศ. ดร. พวงทองเข้าใจ ส่วนคำว่า “boundary” ที่นิติกรศาลโลกใช้ ก็เป็นการแปลถ้อยคำอย่างไม่รอบคอบ อีกทั้งรัฐบาลไทยเองก็น่าจะนำกรณีดังกล่าวไปทบทวนการใช้ถ้อยคำให้ระมัดระวัง มากขึ้น หากจะต้องมีการใช้ถ้อยคำลักษณะดังกล่าวในอนาคต.
     เมื่อบัดนี้มีผู้นำถ้อยคำ “la limite-boundary-เขตแดน” มากล่าวอ้างในสื่อมวลชนแล้ว อีกทั้งคำว่า “boundary” ที่นิติกรศาลใช้ก็ดูสุ่มเสี่ยง  ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายก็ขอแนะนำให้รัฐบาลไทยตรวจสอบคำแปลคำแถลงที่จัดทำ โดยนิติกรศาลโลกอย่างละเอียด แม้จะเป็นเพียงเอกสารที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ (uncorrected) ก็ตาม เพราะไทยก็มิอาจนิ่งนอนใจว่าจะมีผู้พิพากษาศาลโลกท่านใดที่ไม่ชำนาญภาษา ฝรั่งเศสและนำคำแปลภาษาอังกฤษที่นิติกรแปลอย่างไม่รอบคอบไปพิจารณาหรือไม่ หรือฝ่ายกัมพูชาจะนำไปใช้อ้างต่อไปอย่างไร หากจำเป็นไทยก็สามารถแสดงท่าทีที่ชัดเจน เช่น ท้วงติงเอกสารคำแปลว่า “la limite de la zone du temple” มิใช่ “เขตแดน (boundary) ในบริเวณปราสาทพระวิหาร”  แต่หมายถึง “ขอบเขต (limit) ของบริเวณปราสาทพระวิหาร” เป็นต้น.
ประการที่สอง การ“สงวนสิทธิ์” เป็นได้มากกว่าเครื่องมือหากินทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ
          ผศ. ดร. พวงทองกล่าวว่า:
“คำพูดเรื่อง ‘สงวนสิทธิ์’ ที่จะเอาพระวิหารคืนมานั้น มีที่มาจากจอมพลสฤษดิ์ และจดหมายที่นายถนัด คอมันตร์ รมต.กต. มีถึงเลขาธิการยูเอ็น แต่การพูดแบบนี้เมื่อปี ๒๕๐๕ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะยังมีอายุความอยู่ แต่เมื่ออายุความหมดไปตั้งเกือบ ๔๐ ปีแล้ว โดยที่ไทยไม่เคยพยายามรื้อฟื้นคดีในช่วงที่ผ่านมาเลย มันย่อมเป็นได้แค่เครื่องมือหากินทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ”
     ผู้เขียนไม่ขอโต้เถียงว่าเคยมีใครใช้เรื่อง  “สงวนสิทธิ์” มาเป็นเครื่องมือหากินทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบหรือไม่ แต่หากมีผู้ทำจริง ก็ต้องขอชื่นชม สนับสนุน และเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่นำประเด็นมาตีแผ่และเตือนสติให้แก่สังคม.
     กระนั้นก็ดี ผู้เขียนจำต้องแย้งว่าการ “สงวนสิทธิ์” เอาปราสาทพระวิหารคืนมาตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น “เป็นไปได้” ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ การสงวนสิทธิในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องการขอให้ศาลทบทวนคำ พิพากษาหรืออายุความเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสงวนอย่างทั่วไป ต่อเนื่อง และไม่มีระยะเวลาจำกัด ที่ผ่านมาไม่มีนักกฎหมายอธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดเจน แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้เขียนจะขอยกกรณีที่เป็นไปได้ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ (ซึ่งแม้เป็นกรณีสุดวิสัยและเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังเป็นไปได้) ให้เป็นตัวอย่างพอสังเขปดังนี้.
     ตัวอย่างแรก เป็นเรื่องหลักการได้มาซึ่งอธิปไตยเหนือดินแดนทั่วไป เช่น หากในอนาคต มีสถานการณ์หรือเหตุที่ทำให้กัมพูชาไม่ใส่ใจที่จะครอบครองปราสาทพระวิหาร หรือ สละการครอบครองปราสาทพระวิหาร หรือมีเหตุตามกฎหมายทำให้สงสัยได้ว่าบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารถือเป็นดิน แดนที่ไม่มีเจ้าของ (terra nullius) การประพฤติปฏิบัติของไทย  เช่นการ “สงวนสิทธิ์” ย่อมเป็นข้อสนับสนุนการอ้างสิทธิ (claim) การได้มาซึ่งอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารตามกฎหมาย เช่น ในดคีศาลโลกระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซีย มีการโต้เถียงทำนองเดียวกันว่าโขดหินในทะเลที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิไม่ ชัดเจนนั้นเป็นของใคร (ICJ Reports 2008).
     ตัวอย่างที่สองเป็นกรณีที่การใช้อำนาจตามหมวดที่ ๗ (Chapter 7) ประกอบกับข้อ ๒ (๗) และ ข้อ ๑๐๓ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ เช่น กรณีที่สถานการณ์ไทยและกัมพูชาทวีความรุนแรงจนกระทบถึงสันติภาพและความมั่น คงระหว่างประเทศ คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) อาจมีมาตรการตามความจำเป็นเพื่อปกป้องรักษาสันติภาพและความมั่นคงดังกล่าว ซึ่งไทยและกัมพูชามีหน้าที่ตามกฎหมายต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ไม่มีข้อห้ามในทางกฎหมายที่จะห้ามมิให้มีมาตรการเกี่ยวกับตัว ปราสาทพระวิหาร หากมาตรการนั้นมีความจำเป็นและชอบธรรม. ในเรื่องการพิจารณาความชอบธรรมของมาตรการนั้น ส่วนหนึ่งย่อมขึ่นอยู่กับว่าไทยได้สงวนสิทธิทวงคืนปราสาทพระวิหารและโต้แย้ง คำพิพากษาศาลโลกอย่างชอบธรรมมาโดยตลอดหรือไม่.
     แม้จะไม่มีหลักประกันใดว่าการสงวนสิทธิจะก่อให้เกิดสิทธิ ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐบาลพึงระวังสงวนสิทธิไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ในอนาคต อย่างแยบยลและถูกกาลเทศะ หากแต่มิใช่เป็นเงื่อนไขที่ขัดขวางโอกาสสร้างประโยชน์ร่วมกันในปัจจุบัน หรือเป็นเครื่องมือหากินกับประชาชน.
บทย่อและบทวิเคราะห์คดีปราสาทพระวิหารฉบับเต็ม อ่านได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962
—————————————————-
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
อดีต นักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย Freshfields Bruckhaus Deringer (กรุงปารีส). นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด.  http://www.facebook.com/verapat.pariyawong

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง