บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หยุดยิงและยิงไม่หยุด?? โดยอ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

กัมพูชาซึ่งได้สร้างสถานการณ์ยิงอาวุธสงครามใส่ทหารไทยและราษฎรไทยมาจนถึงวันนี้ ทั้งๆ ที่ศักยภาพทางการทหารของกัมพูชาไม่สามารถจะเทียบกับทหารไทยได้
      
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบกมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย และกองทัพอากาศที่แข็งแกร่งเหนือกว่ากัมพูชาอย่างเทียบกันไม่ได้
      
       การเจรจาและข้อตกลงหยุดยิงแล้วกัมพูชาไม่ยอมหยุดยิงนั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกลายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนาน สร้างความสูญเสียให้กับทหารและราษฎรไทยอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
      
       อย่างที่พูดกันมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่า การที่กัมพูชายิงใส่ทหารไทยและราษฎรไทยอย่างไม่หยุดยั้งเพราะมีแรงจูงใจ 2 ประการ
      
       ประการแรก กัมพูชามีแรงจูงใจจากแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 ที่มีสภาพบังคับให้ไทยและกัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เป็นครั้งแรก เป็นผลทำให้กัมพูชาสบโอกาสขยายผลการบรรยายคำฟ้องของศาลโลกเกี่ยวกับกฎหมายปิดปากเกี่ยวกับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งศาลโลกใช้เป็นมูลฐานในการตัดสินอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชา มาบังคับให้ไทยต้องใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 แต่เพียงอย่างเดียวใน MOU 2543
      
       กัมพูชาจึงอาศัยการปะทะกับไทยเพื่อสร้างสถานการณ์ใช้เป็นข้ออ้างนำไปสู่การแสวงหา “คนกลาง” ไม่ว่าจะเป็นศาลโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรืออาเซียน เข้ามากดดันหรือตัดสินให้ไทยต้องยึดตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งปรากฏเป็นข้อความอยู่ในข้อผูกพันระหว่างไทยและกัมพูชาตาม MOU 2543
      
       ด้วยเหตุผลนี้กัมพูชาจึงต้องสร้างสถานการณ์ให้มีความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลาเพื่อเชื้อเชิญประเทศที่ 3 เข้ามาเป็นคนกลางระหว่างไทยและกัมพูชา
      
       และด้วยเหตุผลนี้กัมพูชาจึงกอด MOU 2543 เอาไว้อย่างเหนียวแน่นในเวลาเดียวกัน ไม่เคยปริปากที่จะยกเลิก MOU 2543 แม้แต่น้อย มีแต่จะหาหนทางที่จะหาคนกลางมาช่วยกัมพูชาภายใต้สภาพของ MOU 2543
      
       ประการที่สอง กัมพูชามีแรงจูงใจเพราะฝ่ายยึดครองแผ่นดินไทยอยู่แล้ว ทั้งบริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ภูมะเขือ ครึ่งหนึ่งของปราสาทตาควาย บริเวณใกล้ปราสาทพระวิหาร ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแผ่นดินไทยที่ทหารกัมพูชาเดิมอยู่ที่ตีนหน้าผาฝั่งกัมพูชา รุกรานขึ้นมายึดครองยอดหน้าผาฝั่งไทยทั้งสิ้น
      
       ด้วยเหตุผลนี้กัมพูชาจึงต้องการให้ มีทหารอินโดนีเซีย หรือทหารจากองค์การสหประชาชาติเข้ามาสังเกตการณ์ บนพื้นที่ซึ่งมีการปะทะกันโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่ต้องการให้มีการทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร ซึ่งมีความหมายเท่ากับว่าห้ามทหารไทยผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย และมีความหมายเท่ากับว่ากัมพูชาสามารถยึดครองแผ่นดินไทยได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาจนกว่าผลการเจรจาจะเป็นที่พอใจของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งก็คือประเทศไทยต้องเสียดินแดนให้กับกัมพูชาเป็นการถาวรแล้ว
      
       และเนื่องจากการปะทะครั้งนี้ค่อนข้างยาวนานกว่าปกติ ฝ่ายกัมพูชายิงมาเท่าไรฝ่ายไทยก็ยิงสวนกลับไปมากยิ่งกว่าสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับทางกัมพูชาและมีทหารกัมพูชาต้องเสียชีวิตจำนวนมาก
      
       แต่ถึงกระนั้นนายฮุนเซน ก็ไม่สนใจว่าจะสูญเสียทหารกัมพูชาไปเท่าใด เพราะนายฮุนเซนมีความอำมหิตที่พร้อมเอาชีวิตเขมรแดงซึ่งส่วนใหญ่อยู่ชายแดนไทย-กัมพูชาไปแลกเพื่อให้ได้เป้าหมายเดียวคือปะทะกับทหารไทยสร้างสถานการณ์ให้นานาชาติมาแทรกแซงด้วยแรงจูงใจทั้งสองประการข้างต้นให้จงได้
      
       ด้วยเหตุผลนี้การเรียกร้องโดยกัมพูชาเพื่อหยุดยิงจึงเกิดขึ้นเพื่อหยุดความเสียหายของทหารกัมพูชา ในขณะที่อีกด้านหนึ่งกัมพูชาก็ยิงไม่หยุดเพื่อสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งให้ดำรงอยู่ก่อนที่จะไปต่อสู้กันในเวทีนานาชาติ
      
       สิ่งที่ฝ่ายไทยควรจะต้องกระทำมากที่สุดในเวลานี้ก็คือทำลายแรงจูงใจของกัมพูชาให้หมดสิ้นไปก่อน ดังนี้คือ
      
       ประการแรก ผลักดันให้ทหารกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย เพื่อลดแรงจูงใจที่กัมพูชาต้องการให้นานาชาติเข้ามาสังเกตการณ์เพื่อให้หยุดยิงทั้ง 2 ฝ่าย เพราะหากไทยผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยแล้วมีผู้สังเกตการณ์เข้ามาเป็นสักขีพยานห้ามปะทะกันทั้ง 2 ฝ่าย กัมพูชาจะไม่สามารถรุกรานแผ่นดินไทยต่อไปได้อีก ยิ่งไปกว่านั้นหากไทยยึดขอบหน้าผาบริเวณเขาพระวิหารได้ คณะกรรมการมรดกโลกก็ไม่สามารถเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่บริเวณรอบตัวปราสาทพระวิหารได้ ทำให้แผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชาต้องยุติลงไปโดยปริยาย
      
       ประการที่สอง อาศัยการที่กัมพูชาละเมิดข้อ 5 ใน MOU 2543 ฝ่ายไทยจึงสามารถยกเลิก MOU 2543 อันจะเป็นการลดแรงจูงใจในเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ที่ปรากฏข้อความอยู่ใน MOU 2543 ที่กัมพูชามีความคาดหวังให้นานาชาติเข้ามาขยายผลกฎหมายปิดปากให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติม
      
       เพราะในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ได้พิสูจน์ว่าแม้ประเทศไทยจะมี MOU 2543 แต่ก็มีการปะทะกันไม่ได้หยุดหย่อน ต้องถูกลากไปในเวทีองค์การสหประชาชาติ อาเซียน และยังไปสู้กันในเวทีศาลโลกอีก
      
       แท้ที่จริงแล้ว MOU 2543 คือชนวนปะทะสงคราม!!!
      
       เพราะกัมพูชามีทั้งแรงจูงใจจากแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ใน MOU 2543 และมีแรงจูงใจจากที่ทหารกัมพูชาเข้ามายึดครองแผ่นดินไทยได้เพราะทหารต้องปฏิบัติตามแนวทางสันติวิธีตาม MOU 2543 กัมพูชารุกรานแผ่นดินไทยตาม MOU 2543
      
       แต่ในเวลานี้ปรากฏว่าฝ่ายไทยกลับดำเนินนโยบายกลับด้านกันอย่างสิ้นเชิง ยิ่งดำเนินการไปยิ่งถลำลึกเข้าไปในเกมกัมพูชาดังต่อไปนี้
      
       1. ฝ่ายทหารไทยยิงถล่มทหารกัมพูชาได้อย่างแม่นยำ แต่ไม่ผลักดันกัมพูชาออกจากจุดสูงข่มบนผืนแผ่นดินไทย ทำให้กัมพูชายังคงมีแรงจูงใจในการปะทะกับฝ่ายไทยอย่างต่อเนื่อง
      
       2. ฝ่ายไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ยังคงเดินหน้าเรื่องร่างทีโออาร์ หรือแผนแม่บทและในการให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ทั้งๆ ที่กัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยอยู่
      
       3. ฝ่ายไทยมีทิศทางที่จะต่อสู้คดีพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารกับกัมพูชาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยกัมพูชาหวังที่จะเรียกร้องให้มีมาตรการอนุรักษ์ หรือการคุ้มครองชั่วคราว ให้กองกำลังทหารขององค์การสหประชาชาติเข้ามาเป็นสักขีพยานห้ามทหารไทยใช้กำลังทหารผลักดันทหารกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย
      
       ความบังเอิญ 3 ประการข้างต้น รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง จนมีความน่าเคลือบแคลงสงสัยว่า รัฐบาลไทยจะทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่อสิ่งใด
      
       เพราะถ้าคิดว่าจะต้องการใช้แสนยานุภาพทางการทหารเพียงแค่ระดับไม่ให้กัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยไปมากกว่านี้ ถ้าจะเลือกรบเพียงแค่ระดับตอบโต้ตามสมควรแก่เหตุ โดยไม่สามารถยึดครองแผ่นดินไทยกลับมาได้ ก็ไม่รู้ว่ากระทรวงกลาโหมจะสั่งซื้ออาวุธอย่างมหาศาลในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายไปเพื่ออะไร?
      
       ที่น่าประหลาดอยู่พอสมควร ก็เพราะรัฐบาลไทยตัดสินใจจ้างทนายความชาวฝรั่งเศสมาสู้กับกัมพูชาในเวทีศาลโลก ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยควรจะดำเนินการตัดฟ้องของกัมพูชาและไม่ยินยอมให้ศาลโลกมาตัดสินขยายขอบเขตคำตัดสินไปเกินกว่าอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ. 2505
      
       อันที่จริงแล้วการที่รัฐบาลไทยจ้างทนายสัญชาติฝรั่งเศสนั้น ไม่มีใครจะสามารถล่วงรู้จิตใจและเครือข่ายของทนายชาวฝรั่งเศสได้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของตน หรือจะแฝงซ่อนเร้นด้วยผลประโยชน์และเครือข่ายในประเทศฝรั่งเศสเอง
      
       เรื่องนี้ถือว่ามีความละเอียดอ่อนอยู่มากถึง 3 ประการคือ
      
       1. ฝรั่งเศสเคยเป็นประเทศที่ล่าอาณานิคมและได้กัมพูชามาเป็นเมืองขึ้นของตัวเอง จึงมีประวัติศาสตร์ที่โอนเอียงยืนข้างประเทศกัมพูชามาโดยตลอด
      
       2. ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่จัดทำแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ขึ้นมาเองฝ่ายเดียวโดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส ทั้งมีความผิดพลาดในเรื่องแผนที่ และยังรุกรานสยามประเทศโดยไม่เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ สนธิสัญญา ค.ศ. 1907 จึงเป็นเรื่องยากที่ทนายฝรั่งเศสจะตำหนิหรือทำลายประเทศฝรั่งเศสเองว่าเป็นฝ่ายกระทำผิดต่อสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส
      
       3. ปัจจุบันฝรั่งเศสมีบริษัท โททาล ออยล์ เข้าไปสัมปทานขุดเจาะสำรวจน้ำมันในอ่าวไทยกับกัมพูชา ทั้งๆ ที่ฝ่ายไทยและกัมพูชายังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องเส้นเขตไหล่ทวีปทางทะเลที่แท้จริง
      
       ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ไม่มีใครสามารถจะมั่นใจได้ว่าทนายความฝรั่งเศสคนนี้จะยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศไทย หรือจะยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของฝรั่งเศสกันแน่
      
       อันที่จริงแล้วคนไทยมีนักกฎหมายระหว่างประเทศที่อยู่ในแนวหน้าระดับโลก อย่าง ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ที่นอกจากจะเคยดำรงตำแหน่งๆ สำคัญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศในเวทีนานาชาติแล้ว ยังเคยเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้เคยไปบรรยายเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศที่สถาบัน เฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศชั้นนำระดับโลก
      
       ที่น่าสนใจก็คือ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล เมื่อ 29 ปีที่แล้ว แม้จะไม่ใช่ทนายความโดยตรงในคดีปราสาทพระวิหาร แต่ก็เป็นทนายผู้ประสานงานแสดงออกอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยไม่ควรขึ้นศาลโลก เพียงแต่ว่ารัฐบาลในช่วงเวลานั้นไม่คาดคิดว่าศาลโลกจะเป็นศาลการเมืองระหว่างประเทศจึงไม่เคยได้ฟังคำทักท้วงจาก ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล จนต้องพ่ายแพ้ในคดีปราสาทพระวิหารในศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 ในท้ายที่สุด
      
       29 ปีผ่านไป ก็ไม่น่าเชื่อว่าคำทักท้วงจาก ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ก็เกิดขึ้นอีกครั้งทั้งการเสนอให้รัฐบาลไทยต้องยกเลิก MOU 2543, ถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก และผลักดันทหารกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ตลอดจนตัดฟ้องอำนาจศาลโลกว่าไม่มีอำนาจพิจารณาขยายตีความเกินขอบเขตคำพิพากษาศาลโลก ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะยังคงไม่ฟังอยู่เหมือนในอดีตเช่นกัน
      
       ที่น่าหดหู่และน่าเศร้าใจที่สุดก็คือภาพคนไทยต้องอพยพหนีออกจากแผ่นดินไทย ต้องสร้างหลุมหลบภัย ปิดศูนย์อพยพไปเพื่อกลับบ้าน แต่ทหารกัมพูชายังคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทยแล้วยังยิงอาวุธสงครามใส่ราษฎรไทยอย่างต่อเนื่อง
      
       นึกไม่ถึงว่าวันนี้ราษฎรไทยต้องหลบหนี และหวาดกลัว เพราะทหารจากประเทศที่เล็กกว่าอย่างกัมพูชาสามารถรุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง