บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การฟ้องศาลโลก อุทธรณ์ ขอแก้ไขและขอตีความคำพิพากษา โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์



ศาลโลก (International Court of Justice : ICJ) หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตั้งขึ้นตามมาตรา 92 ของกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2489

 มีอำนาจหน้าที่ตามที่ บัญญัติไว้ในธรรมนูญศาลโลก (STATUTE OF THE INTERNATIONAL COURT OF JUSTICE) ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ถือว่าประเทศสมาชิกทั้งปวงขององค์การสหประชาชาติเป็นภาคี (party to) ของธรรมนูญศาลโลกได้โดยพฤตินัย (มาตรา 93) สมาชิกขององค์การสหประชาชาติยอมรับที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในทุก คดีที่สมาชิกนั้นเป็นคู่กรณี (มาตรา 94) คู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาอาจถูกคณะมนตรีความมั่นคง ดำเนินมาตรการที่เห็นว่าเหมาะสมตามที่คู่กรณีอีกฝ่ายร้องขอได้ (มาตรา 94)          


อำนาจหน้าที่ของศาลโลกและกระบวนการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาลโลก เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญศาลโลก กฎของศาลโลก (Rules of Court) และข้อปฏิบัติของศาล (Practice Directions) 

ตามธรรมนูญศาลโลก ศาลโลกมี เขตอำนาจพิจารณาเฉพาะคดีพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น และจะมีอำนาจพิจารณาคดีต่อเมื่อรัฐคู่กรณีฝ่ายที่ถูกฟ้องยอมเข้ามาสู้คดีและ ยอมรับเขตอำนาจของศาลโลก คำพิพากษาของศาลโลกผูกพันเฉพาะคู่กรณีและเฉพาะเรื่องที่เป็นคดีนั้นเท่านั้น (มาตรา 59) คำพิพากษาของศาลโลกให้เป็นที่สุดไม่อาจอุทธรณ์ต่อไปอีกได้ เว้นแต่กรณีที่มีข้อพิพาท (Dispute) เกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลจะเป็นผู้ตีความตามที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ (มาตรา 60)    

แม้จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลโลกไม่ได้ แต่คู่กรณีสามารถยื่นคำร้องขอให้แก้ไข (Revision) คำพิพากษา ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 ได้ คือ ต้องเป็นกรณีที่มีการพบข้อเท็จจริงใหม่อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพิจารณา ตัดสิน ซึ่งในขณะพิจารณาตัดสินนั้นศาลไม่ได้รู้ถึงการมีอยู่ของข้อเท็จจริงนั้น รวมทั้งผู้ยื่นคำร้องเองก็ไม่รู้เพราะมิใช่ความเลินเล่อ โดยจะต้องยื่นคำร้องภายในหกเดือน นับแต่วันที่พบข้อเท็จจริงใหม่  แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เลยกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา

ตามข้อมูลของศาลโลก ณ ต้นเดือนพฤษภาคม 2554 มีคำร้องขอแก้ไขและขอตีความคำพิพากษา คือ ขอแก้ไขพร้อมขอตีความ 1 คดี ขอแก้ไขคำพิพากษา 2 คดี ขอตีความคำพิพากษา 4 คดี คือ

1. เรื่องที่ โคลัมเบีย ยื่นคำขอให้ศาลตีความคำตัดสิน ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน  2493 คดีมีผู้ขอลี้ภัยเข้าไปในสถานทูตโคลัมเบีย ศาลโลก มีคำพิพากษาลงวันที่  27 พฤศจิกายน  2493 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

2. เรื่องที่ ตูนิเซีย ยื่นคำขอให้ศาลแก้ไขและตีความคำพิพากษา ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2525 คดีพิพาทเรื่องไหล่ทวีป ระหว่างตูนิเซีย และลิเบีย ศาลมีคำพิพากษาลงวันที่ 10 ธันวาคม 2528 โดยสรุปคือไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษา รับพิจารณาคำขอตีความเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งของไหล่ทวีปเฉพาะจุดที่มี ความไม่ชัดเจนจุดเดียว

3. เรื่องที่ ไนจีเรีย ร้องขอให้ตีความคำพิพากษา ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2541 คดีพิพาทเรื่องเขตแดน ระหว่าง คาเมอรูน และไนจีเรีย ในคำตัดสินคำคัดค้านเบื้องต้น ศาลมีคำพิพากษา เมื่อ วันที่ 25 มีนาคม 2542 ไม่รับคำร้อง

4. เรื่องที่ ยูโกสลาเวีย ร้องขอให้แก้ไขคำพิพากษาลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 คดีทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ระหว่างประเทศบอสเนียและเฮซีโกวีนา และประเทศยูโกสลาเวีย ในคำตัดสินคำคัดค้านเบื้องต้น ศาลมีคำพิพากษาลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ไม่รับคำร้อง   

5. เรื่องที่ เอลซัลวาดอร์ ร้องขอให้แก้ไขคำพิพากษา ลงวันที่ 11 กันยายน  2535 คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนระหว่าง เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส โดยมีนิการากัวร้องสอดเข้ามาในคดี ศาลโดยแชมเบอร์ (Chamber) มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 ไม่รับคำร้อง

6. เรื่องที่ เม็กซิโก ยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 ขอให้ตีความคำพิพากษาลงวันที่ 31 มีนาคม 2547 คดี Avena กับชาวเม็กซิกันอีกหลายคนที่ถูกลงโทษประหาร ระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก ร้องขอความคุ้มครองชั่วคราว ศาลมีคำพิพากษาลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 ให้ความคุ้มครองชั่วคราว โดยให้สหรัฐดำเนินมาตรการที่แน่ใจได้ว่า นักโทษ 5 คนนั้นจะไม่ถูกประหารชีวิต จนกว่าการพิจารณาคดีนี้จะเสร็จสิ้น

7. เรื่อง ล่าสุด ตามเอกสารข่าวแจก (Press Release) ของศาลโลกลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 แจงว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2505 คดี เขาพระวิหาร ระหว่างไทยและกัมพูชา โดย สรุปคำร้องของกัมพูชา คือ ขอให้ศาลตีความ ที่ตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนอันเป็นอธิปไตยของกัมพูชา ว่า นอกจากตัวปราสาทและบริเวณ (vicinity) แล้วให้กินความถึงพื้นที่ (area) ด้วย โดยอ้างถึงแผนที่ที่ศาลยกขึ้นเป็นหลักในการตัดสินคดีดังกล่าว ในการยื่นคำร้องนี้กัมพูชาอ้างเหตุตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก ว่า เกิดข้อพิพาท (Dispute) ขึ้นจากการตีความคำพิพากษา  ด้วยการยกกรณีความขัดแย้งในการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก และการสู้รบ ตามชายแดนไทยกัมพูชาที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนเมษายน 2554 เป็นข้ออ้าง และได้ขอคุ้มครองชั่วคราวด้วย   

คำร้องขอของกัมพูชา มีข้อสังเกต (ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง) คือ

1. การสู้รบตามชายแดนไทยที่เกิดขึ้นมาตลอดและที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นที่ชัดเจนว่า เป็นเรื่องที่กัมพูชาเตรียมการไว้ และจงใจก่อเรื่อง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่ามีข้อพิพาทจากการตีความคำพิพากษา    

2. คำร้องของกัมพูชาไม่ใช่การขอตีความ แต่เป็นการขอขยายความคำพิพากษา ให้กินความเกินเลยไปจากคำพิพากษาเท่ากับเป็นการเปิดคดีใหม่ แม้แต่ตามข่าวแจกของศาลโลกก็เห็นว่าเป็นการเปิดคดี ใหม่                      

3. คำพิพากษาเรื่องนี้ล่วงเลยมา 49 ปีแล้ว แม้การขอตีความจะไม่ได้กำหนดอายุความไว้ แต่ก็สามารถเทียบเคียงได้จากคำขอแก้ไขคำพิพากษา ตามาตรา 61 ที่กำหนดอายุความไว้ 10 ปี      

ความจริงยังมีข้อสังเกตอีกหลายประการ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา ตามรูปคดีแล้วไทยสู้ได้แน่ ขอเพียงคนไทยร่วมใจผนึกกันช่วยกันสู้คดีกับเขมรไปในทิศทางเดียวกัน เขมรแพ้เราแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง