บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เบื้องหลังไทยถอนตัวจากมรดกโลก จาก "เทพมนตรี ลิปพยอม"

สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศลาออกจากกรรมการและภาคีสมาชิกกลางที่ประชุม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา
       
       หลังจากที่ไม่สามารถโน้มน้าวให้ภาคีสมาชิกเลื่อนการพิจารณาแผนการบริหารจัดการดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ที่ประเทศกัมพูชาได้นำดินแดนของประเทศไทยเข้าไปรวมด้วยออกไปได้
       
       งานนี้จึงขอถือโอกาสไปพูดคุยกับ เทพมนตรี ลิมปพยอม ตัวแทนคณะกรรมการปกป้องราชอาณาจักรไทย ในฐานะของผู้ที่เข้าไปอยู่ร่วมเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นว่า อะไรที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังของการลาออกครั้งนี้กันแน่
       
       อยากทราบก่อนว่า บทบาทของคุณในการประชุมครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง
       
       ผมไปสังเกตการณ์ว่า คณะกรรมการมรดกโลกและคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปว่าความเป็นอย่างไร และผลสรุปที่ได้เป็นอย่างไร ซึ่งคุณสุวิทย์เองก็เห็นด้วยที่มีผมเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ และอาจจะเข้ามาช่วยในเรื่องข้อมูลให้เขา คุณสุวิทย์ก็เลยอนุญาตให้ผมเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้ แต่ผมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เองก็มีเป้าหมายอยู่แล้วว่า อยากให้คุณสุวิทย์ลาออกจากภาคีของมรดกโลก
       
       จากการสังเกตการณ์ เห็นบรรยากาศภายในห้องประชุมเป็นอย่างไรบ้าง
       
       ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของประชุมหลายอย่างนะ อย่างครั้งนี้ก็จะมี 40 ประเทศเสนอแหล่งมรดกโลก 42 แห่งเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็จะมีการต่อรองกัน ล็อบบี้กัน และก็มีหลายประเทศที่เข้ามาล็อบบี้ฝ่ายไทยให้ช่วยสนับสนุน อีกส่วนหนึ่งเป็นการอนุมัติวงเงินสำหรับการดูแลรักษา บูรณปฏิสังขรณ์หรือนำเงินไปเพื่อพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ของมรดกโลก นอกจากนี้ก็มีเรื่องของมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่มีลักษณะเป็นอันตรายหรือสมควรที่จะถูกลบชื่อออกไป ก็จะเกิดขึ้นในเวทีนี้
       
       แต่สำหรับของคนไทย คุณสุวิทย์เองก็ต่อสู้อย่างแข็งขัน ส่วนผมก็อย่างที่ทราบกันว่า คนในคณะก็มีหลายคนที่ไม่ชอบผม ก็ถูกกีดกันบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่ผมก็พยายามคุยกับคุณสุวิทย์และผู้ใหญ่ในทีมที่มาว่า ทำไมเราถึงจำเป็นต้องลาออก เพราะแผนบริหารจัดการที่เขมรเสนอกับที่ประชุม มันรุกล้ำอธิปไตย เราจะยอมเสียดินแดนไปแบบนี้ไม่ได้
       
       แต่เท่าที่สังเกตมา ผมคิดว่าทีมนี้ส่วนหนึ่งก็คงไม่อยากให้ลาออกหรอก บางคนก็ไม่พอใจมากที่คุณสุวิทย์จะลาออก แต่เขาก็เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยทำให้ไม่สามารถแสดงออกได้
       
       อย่างนี้แสดงว่าทีมงานของฝ่ายไทยเองก็มีความขัดแย้งกันสูงเหมือนกัน
       
       ความขัดแย้งของเขาเป็นขัดแย้งในที เพราะไม่กล้าแสดงออก และคุณสุวิทย์เองก็เป็น
       หัวหน้าคณะ เป็นรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มา แต่ที่ขัดแย้งหนักน่าจะเป็นขัดแย้งกับผม (หัวเราะ) เพราะบางคนก็มีแค้นเก่าอยู่ ตั้งแต่สมัยเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน หรือการลักลอบค้าโบราณวัตถุที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับกรมศิลปากร ซึ่งคนกรมศิลป์ซึ่งมาที่นี่ เขาก็ไม่ค่อยพอใจผมสักเท่าไหร่หรอก เพราะถือว่าเป็นศัตรูของกรม แล้วคงกลัวว่าผมจะไปบอกให้คุณสุวิทย์ลาออก ดังนั้นพอเห็นผมมาก็เลยพยายามบอกว่า ไม่น่าให้ผมมาอยู่ตรงนี้ อะไรแบบนี้
       
       แต่ผมก็เชื่อว่า คุณสุวิทย์เองก็คงมีธงอยู่ในใจ อย่างเช่นแรกเริ่มมาก็ต้องการให้เลื่อนไปเป็นปีหน้า แล้วท่านนายกฯ เองก็มีลักษณะเป็นเช่นนั้น แต่พอมาถึงที่นี่ กัมพูชาก็ไม่ยอมเลื่อน อยากจะให้แผนปฏิบัติการ โหวตลงมติไปเลย ซึ่งเราก็ทราบอยู่แล้วว่า หากโหวตกันจริง เราก็ต้องแพ้ คุณสุวิทย์เองก็เลยพยายามจะล็อบบี้ประเทศที่น่าสนับสนุน รวมไปถึงฝรั่งในศูนย์มรดกโลก
       
       พอเปิดเผยได้ไหมว่า ประเทศไหนที่เราเข้าไปล็อบบี้
       
       หลายประเทศเลย เช่น มาลี แล้วก็ยังมีอีกหลายประเทศที่สนับสนุนอยู่ แต่ประเทศที่ไม่สนับสนุนตอนนี้ก็คือ บาห์เรน ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม คือเดิมเขาสนับสนุนไทย แต่ตอนนี้รู้สึกจะเฉยเมยมาก เราก็เลยขาดผู้สนับสนุนหลักไป ประกอบกับเขมรเองก็เป็นรองประธานในที่ประชุมด้วย มันก็เลยทำให้หลายๆ ประเทศที่เขาเสนอมรดกโลกเข้ามาเลยเกรงใจ เนื่องจากต้องยอมรับว่าการเสนอมรดกโลกเข้ามาต้องมีเสียงสนับสนุนจาก 24 ประเทศ อย่างประเทศเราก็มีหลายๆ ประเทศที่เข้ามาล็อบบี้ เพราะแม้แต่วินาทีสุดท้ายก่อนที่คุณสุวิทย์จะลาออก ผมก็ยังเห็นประเทศออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศสเองก็เข้ามาคุยกับคุณสุวิทย์
       
       เขามาคุยเรื่องอะไร
       
       ผมไม่ทราบรายละเอียด แต่น่าจะเป็นเรื่องการที่เรายอมรับข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้
       
       แล้วประเด็นไหนที่ถือว่าจุดแตกหักของเรื่องนี้
       
       คงเป็นเรื่องการบูรณะ กับการเข้าไปยอมรับว่าจะต้องอนุรักษ์จะต้องดูแล ซึ่งพอถึงเวลากลายเป็นว่า เขมรไม่ยอมทั้งหมด ไม่ใช่ไทยไม่ยอม ของเราก็แค่เอาไปปรับเปลี่ยนข้อความให้เรายอมรับได้ แต่เขมรมาตู้มเดียว ไม่ยอมเลย เพราะเขามีธงอยู่แล้วว่าจะเอาเข้าที่ประชุมให้โหวต
       
       ที่ผ่านมาพอเห็นท่าทีของคุณสุวิทย์บ้างไหมว่า จะตัดสินใจลาออก
       
       ก็พอเห็น เพราะเราคุยกันตลอด ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ตอนนั้นเราพบกันอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งผมก็บอกว่าในบั้นปลายของเรื่องนี้ คุณสุวิทย์ต้องลาออก เพราะอย่างน้อยๆ เราก็ไม่อยากเสียดินแดนไป โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งเป็นปีมหามงคลด้วย หากเราทำอะไรไปก็ต้องทำภายใต้พระปรมาภิไธยของในหลวง ดังนั้นเราจึงไม่ควรทำอะไรที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ยิ่งถ้าเห็นว่าเสียดินแดนจริง ก็ไม่เห็นจำเป็นจะต้องอยู่ต่อ เพราะถึงเราจะลาออกไป แต่พอเราจัดการเรื่องเขตแดนกับเขมรได้ ก็สามารถกลับมาเป็นสมาชิกได้
       
       และอย่างเมื่อที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมก็เอาจดหมายลาออกที่ผมร่างแล้วก็แปลเป็นภาษาอังกฤษให้คุณสุวิทย์ถือเอาไว้ ถ้าคุณสุวิทย์เห็นด้วยกับจดหมายนี้ก็ดำเนินการได้ เขายังมีแซวผมเลยว่า จดหมายฉบับนี้มันแรงไป แล้วเขากำลังร่างใหม่กับทีมงาน ซึ่งแสดงว่าเขามีแนวโน้มที่จะลาออก พูดง่ายๆ คือจะเลื่อนนั้นแหละ แต่พอเลื่อนไม่ได้ก็เลยลาออก
       
       แล้วในทีมล่ะ เขาเห็นในทิศทางเดียวกับคุณสุวิทย์หรือเปล่า
       
       ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะผมถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปนั่งฟังด้วย เพราะเขาคงเริ่มรู้แกวว่า ผมคงไปไซโค (เล่นจิตวิทยา) คุณสุวิทย์ให้ลาออก (หัวเราะ) แต่ที่ผมทราบ กลุ่มที่ไม่อยากให้ลาออกก็เช่นส่วนที่เป็นคณะกรรมการมรดกโลก เพราะการลาออกก็คือ การเสียผลประโยชน์ขององค์กร ซึ่งผมเข้าใจว่า เขาคงคิดถึงหน้าตาประเทศ กลัวต่างชาติจะว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ของคนไทย คือกลัวเสียหน้า แต่ผมคิดว่า เสียแผ่นดินมันหนักกว่าเสียหน้า ดังนั้นเสียหน้าไปเถอะ แต่ก็มีบางส่วนเหมือนกันที่สนับสนุน โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือกลุ่มที่เห็นแล้วว่าร่างมติมันแย่มาก
       
       ซึ่งพอลาออกแล้วก็ถือว่ามีผลมากๆ เพราะตอนที่คุณสุวิทย์ประกาศ วงแตกเลยนะครับ ฝรั่งเดินออกมา แล้วตอนหลังเขาก็พยายามจะล็อบบี้ให้เรากลับไป แต่คุณสุวิทย์ไม่ยอม
       
       แสดงว่าเราก็มีโอกาสต่อรองให้คณะกรรมการมรดกโลกมีมติกลับมาเข้าข้างเรา
       
       ไม่มีหรอกครับ คือผมว่าตอนนี้เหมือนเป็นการแสดงละคร พยายามตะล่อมให้เรากลับไป แต่เอาจริงๆ แล้วก็ยังเข้าข้างเขมรเหมือนเดิม คือพยายามให้เราไปยอมรับเขมรให้ได้
       
       และที่สำคัญประธานครั้งนี้เป็นราชนิกูลของบาห์เรน เป็นชนชั้นสูง ดังนั้นเขาจึงเสียหน้ามาก ที่จู่ๆ ก็มีสมาชิกลาออกในที่ประชุม แล้วมันก็จะส่งผลต่อการประชุมคราวต่อไปว่าจะไปทำที่ไหน ซึ่งบาห์เรนก็อยากจะเป็นเจ้าภาพ แต่ผมคิดว่าตอนนี้คงไม่ได้หรอก เพราะพอมีกรณีแบบนี้ก็เลยเหมือนว่า เขาขาดประสิทธิภาพในการควบคุมการประชุม
       
       พอทราบไหมว่า ณ วันนี้คุณสุวิทย์และทีมงานมีแผนจะทำอะไรต่อบ้าง
       
       คงไม่มีมั้ง คุณสุวิทย์เองก็คงต้องไปตั้งหน้าตั้งตาหาเสียงเลือกตั้ง ก็อยู่ที่ประชาชนจะให้เขากลับมาหรือเปล่า (หัวเราะ) ส่วนคณะกรรมการมรดกโลกก็ถือว่าสลายตัวไป เพราะโดยนัยพอเราลาออก เมื่อขอรับหนังสือ ก็ต้องรอผลตอบกลับภายใน 1 ปี แต่ในประเทศเราก็คงทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะถ้าทำก็มีสิทธิถูกฟ้องอีก เพราะถ้ากลับไปก็เหมือนไปรับมติเขา ซึ่งเท่ากับคุณก็ไปยืนยอมให้เราเสียดินแดน พูดง่ายๆ ก็ทำผิดกฎหมายอาญาในประเทศ
       
       อย่างนี้กลัวไหมว่า พอประเทศได้รัฐบาลใหม่ อาจจะมีการทบทวนเรื่องลาออกหรือกลับลำไปรับมติ
       
       ตอนนี้เราก็ทำดีที่สุดแล้ว คือปลดพันธนาการออกไป แต่ถ้ารัฐบาลหน้าจะกลับเข้าสู่พันธนาการใหม่ก็คงต้องมาว่ากันอีกที
       
       แล้วในส่วนของคุณกับพันธมิตรฯ ล่ะ ถึงตอนนี้ มีแผนจะทำอะไรต่อไป
       
       ผมว่าเราต้องจัดการเรื่องยูเนสโกด้วย เพราะตัวผู้อำนวยการใหญ่ (อิรินา โบโกวา) ก็ลำเอียงเข้าข้างกัมพูชา เพราะฉะนั้นเราจะต้องกดดันยูเนสโกเมืองไทย เพราะถือเป็นสาขาในภูมิภาคแปซิฟิกที่ใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญกับยูเนสโก ดังนั้นเราต้องประท้วง กดดันให้อิรินาพ้นจากตำแหน่ง เพราะเขาเป็นคนสนับสนุนให้กัมพูชามารุกล้ำดินแดนของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากตามกฎบัตรสหประชาชาติที่ไม่อนุญาตให้ยูเนสโกยกดินแดนให้ใคร
       
       นอกจากนี้เราก็มีแผนจะให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความเอ็มโอยู 43 ให้ได้ ซึ่งอาจจะต้องพึ่งหน่วยงานอิสระอย่างสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะพลเมืองให้ส่งไป ซึ่งหากทำได้ โอกาสที่จะชนะก็มีสูงมาก เพราะมันผิดอยู่แล้ว
       >>>>>>>>>>
       ……….
       เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
       ภาพ : ธนารักษ์ คุณทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง