บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รู้เขารู้เรา : ท่ารำไทยและหนังใหญ่เป็นของใครกันแน่ ?



ท่ารำไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับท่ารำ The Royal Ballet of Cambodia
ปลุกกระแสความรักชาติหวงแหนศิลปวัฒนธรรมในสายเลือดคนไทยขึ้นมาในบัดดล เมื่อประเทศกัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 2 รายการ คือ  The Royal Ballet of Cambodia และ Sbek Thom,Khmer shadow Theater ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ทำเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงกับอยู่ไม่ติดรีบดำเนินการขอเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษา มรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ทวงคืนศักดิ์ศรีชาติไทย ปลุกกระแสรักชาติขึ้นมา พร้อมทั้ง กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการอนุรักษ์หวงแหนวัฒนธรรมไทย

นายศานติ ภักดีคำ  นักวิชาการด้านเขมรศึกษา อธิบายถึงประเด็นที่กัมพูชาได้นำ The Royal Ballet of Cambodia เพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ว่า The Royal Ballet of Cambodia ที่เรียกกันว่า ละครพระราชทรัพย์ หรือ ละครหลวง มีหลายประเภท จะมีท่ารำอะไรต่างๆ เรื่องนี้มันจะบอกว่าเป็นของใครคงลำบาก จริงๆแล้วเป็นวัฒนธรรมร่วม แต่หลักฐานที่ปรากฏในฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชานำมาใช้อธิบายแตกต่างกัน คือ ฝ่ายไทย เรามีหลักฐานในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการพูดถึงในช่วงที่กษัตริย์กัมพูชา เสด็จเข้ามาประทับในกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเหตุจลาจลการแย่งชิงราชสมบัติภายในราชวงศ์ ทำให้กษัตริย์เหล่านี้ที่เข้ามาอยู่ในไทยซึมซับวัฒนธรรมของราชสำนักกรุงเทพฯ ในเวลานั้น  ต่อมาเมื่อกลับไปยังกัมพูชาก็พยายามหาครูละครจากของไทยไปฝึกสอนให้ และเปลี่ยนชื่อเป็นคณะละครหลวงกัมพูชาขึ้นมานี่คือมุมมองในฝ่ายไทย

แต่ถ้ามุมมองในฝ่ายกัมพูชาเขาจะอธิบายว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่สมัยพระนคร หรือเขมรโบราณ เขาจะไม่มีการพูดถึงความสัมพันธ์กับไทยในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับไทยสัก เท่าไหร่  เพราะฉะนั้นในเรื่องของThe Royal Ballet of Cambodiaมีหลายประเภทด้วยกัน ประเภทที่มีความสำคัญใกล้เคียงกับไทยก็คือ ละครหลวง   หากมองในมุมของไทยคือ เขารับวัฒนธรรมจากไทยแล้วเอาไปผสมผสานแล้วเกิดเป็นแบบของเขาขึ้นมา ซึ่งของเราก็เป็นแบบของเรา

อีกอันหนึ่งคือ Sbek Thom,Khmer shadow Theaterหรือหนังใหญ่ หุ่นเงา ทางเขมรใช้คำว่า แสบก ธม  คำว่า “แสบก”แปลว่า หนัง  ส่วนคำว่า “ธม”แปลว่า ใหญ่ ในเรื่องที่มาหลักฐานจริงๆที่เหลือในปัจจุบันคือ ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ในหลักฐานสมัยกรุงศรีอยุธยาเอง มีหลักฐาน ข้อมูลบางอย่างสะท้อนถึงเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา ในแง่ของวัฒนธรรมเรื่องการเล่นหนังใหญ่ ใน สมุทรโฆษคำฉันท์ วรรณคดีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พูดถึงการแกะสลักตัวหนังใหญ่ที่จะนำมาเล่น ก็เรียกว่า “แสบก”  ในบทวรรณคดีที่ระบุว่า “ให้ฉลัก แสบก ภาพอันชระ”คำว่า “แสบกภาพ” นั่นคือตัวหนัง  เพราะฉะนั้นเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่า เป็นไปได้ว่าหนังใหญ่ของไทยมีความสัมพันธ์กับกัมพูชามาแต่โบราณ เพราะเราเรียกตัวหนังว่า “แสบกภาพ”


เป็นวัฒนธรรมของใคร?
จะถามว่าเป็นวัฒนธรรมของใคร ใครเป็นเจ้าของคงบอกยาก จริงๆวัฒนธรรมการเล่นหนังใหญ่ มันมีทั้งในชวา  ในอินโดนีเซียมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ  มีการแลกเปลี่ยนรับกันมา ทั้งความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ รับเข้ามาดัดแปลงเป็นเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นมา คงตอบยากเหมือนกัน ถ้าถามว่าเป็นของใคร เพราะวัฒนธรรมพวกนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันมีความสัมพันธ์กันหมด และบ่อเกิดของคำที่นำไปสู่การพัฒนามาเป็นศิลปะแบบนี้ ปฏิเสธถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอินเดียได้เหมือนกัน

สรุปว่ามีความเหมือนและความต่างกันอย่างไร
 รายละเอียดลึกๆมีความต่างกัน ลักษณะวิธีการเล่น อย่างในละครหลวงของเขา หรือ The Royal Ballet of Cambodia ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเพลงก็ดี ท่ารำประกอบก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่เราเห็นกันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นทั้งนั้น เพราะเขานำครูฝึกไปจากไทย

    กษัตริย์ของกัมพูชาที่เข้ามาลี้ภัยทางการเมืองและนำครูฝึกจากไทยไปสอนละครหลวงให้กับเขมรมีใครบ้าง
     มีหลายองค์ที่มีความสำคัญ องค์แรกที่ปรากฏหลักฐานว่ามีครูละครไปฝึกสอนการละครให้กับเขมร คือ  สมเด็จพระอุทัยราชา หรือนักองค์จัน ที่ 2  (ปี พ.ศ. 2349 - พ.ศ.2380)  ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ได้แบบแผนละครนอก  ส่วนในสมัยสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี หรือ นักองค์ด้วง (พ.ศ.2348- 2403) จะได้แบบแผนที่เป็นละครในไป  และถัดมาสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์  หรือ นักองค์ราชาวดี ซึ่งเป็นทวดของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหนุ ทรงได้แบบแผนจากคณะละครของไทยไป จึงมีความสัมพันธ์กันในช่วงรัตนโกสินทร์ และกลายมาเป็นแบบแผนที่ปรากฏอยู่ในราชสำนักของกัมพูชาที่สืบทอดมาจนถึง ปัจจุบัน

    ในอนาคตจะส่งผลต่อการอ้างความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมไทยหรือไม่
ถ้าถามในเรื่องจะส่งผลหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ทางฝ่ายไทยต้องพิจารณาควรต้องมีความพยายามจดทะเบียนเป็นมรดก โลกในขณะเดียวกัน แต่จะส่งผลถึงขั้นห้ามรำ ห้ามร้อง ห้ามเล่น คงไม่เหมือนกันทั้งหมด  ถึงแม้ว่าเขาจะมีท่ารำที่คล้ายกับไทย แต่มีความแตกต่าง  ลักษณะท่ารำบางอย่างก็ไม่เหมือนกัน ดนตรีถึงจะใกล้เคียงกันแต่บทร้องของเขา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสมัยก่อนเขาใช้บทร้องภาษาไทย แต่ตอนหลังมีการแปลเป็นภาษาเขมร และนำมาร้องแม้จะมีทำนองที่คล้ายคลึงกันแต่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ถ้าพูดในภาครวมคือ มันมีลักษณะร่วมในการร่วมกันอยู่ แต่ในลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ คิดว่ามีลักษณะเด่น เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ตรงนี้เราควรชี้ให้เห็น อธิบายให้ง่ายๆ

“ผมว่าประเด็นสำคัญมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ความเป็น เจ้าของอะไรอย่างไร แต่อยู่ที่คนไทยน่าจะตระหนัก กระตุ้นสังคมไทยในเรื่องวัฒนธรรมของไทยให้มากขึ้น โดยการให้ความสนใจ ศึกษา และเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรมของไทยไปสู่สากลมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่กัมพูชาเองตื่นตัวพยายามเสนอวัฒนธรรมของเขาสู่สังคมโลกสากล ให้เป็นที่ยอมรับ แต่ขณะที่ประเทศไทยเป็นเพียงการศึกษาเฉพาะกลุ่มที่ศึกษาภายในประเทศเท่า นั้น”


เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมองว่าเป็นประเด็นปลุกกระแสรักษ์ชาติหรือไม่
กัมพูชาพยายามที่จะรวบรวมวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกทางวัฒนธรรมแบบนี้ ตั้งแต่ปี 2003-2004 หลายปีมาแล้ว เหตุผลเข้าใจว่านโยบายความเป็นชาติในเชิงอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของคนกัมพูชา เกิดมาจากการที่กัมพูชาตกอยู่ภายใต้สภาวะสงครามนานนับ 30 ปี เพราะฉะนั้น จึงมีผลทำให้วัฒนธรรมสูญหาย ล้มตายจำนวนมาก เมื่อเขาฟื้นฟูประเทศรวบรวมวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่จัดให้เป็นระบบจึงกลาย เป็นประเด็นที่แตกต่างกับทางบ้านเรา  ที่ถามว่าเป็นกระแสชาตินิยมหรือไม่ ในกัมพูชาอาจจะไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่เป็นการปลุกกระแสในความพยายามรักษาอัตลักษณ์  Identity และคุณลักษณะเฉพาะของความเป็นกัมพูชา แน่นอนว่าเขาปฏิเสธคำอธิบายบางอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทาง วัฒนธรรมกับไทย เพราะกัมพูชาพยายามเน้นว่าเป็นของเขาแท้ๆ ของเขาจริงๆ

“ไทยไม่ได้ล้าหลังตามก้นกัมพูชาหรอก แต่คิดว่าคนไทยไม่ค่อยตื่นตัวในเรื่องการใส่ใจทางวัฒนธรรม ประเด็นคือ ถ้าเราพยายามใส่ใจนำเสนอวัฒนธรรมต่างๆเหล่านี้สู่สังคมโลกและส่งเสริมใน สังคมไทยมันคงจะดีกว่านี้  อยู่ในเรื่องกระแสความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จึงถูกหยิบยกขึ้นมา จริงๆประเด็นนี้นักวิชาการด้านกัมพูชาศึกษาพูดถึงเรื่องนี้กันมาพอสมควร แต่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในสังคมไทยเท่านั้นเอง”


ท้ายที่สุดแล้วเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราต้องมากระตุ้นเรื่องการศึกษา วัฒนธรรมในระดับกว้างและระดับลึก จัดระบบให้เป็นหมวดหมู่ นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ให้เผยแพร่วงกว้างมากขึ้น ในระดับลึกสังคมไทยต้องเปิดพื้นที่ให้กับวัฒนธรรมไทยให้มากขึ้นด้วย สื่อต่างๆควรให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมให้มากกว่านี้  เพราะปัจจุบันเรามองเป็นเรื่องของกระแส มองเป็นเรื่องพาณิชย์  ซึ่งวัฒนธรรมไทยไม่ใช่วัฒนธรรมในเชิงพาณิชย์แล้วในปัจจุบัน ประเด็นสำคัญคือ ต้องหาวิธีพัฒนาไปข้างหน้า พร้อมๆไปกับการพัฒนาสังคม และอนุรักษ์แบบแผนดั้งเดิมไว้ด้วย เพื่อบ่งบอกความเป็นคนไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง