บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผ่าปมร้อนขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรม ตอบโจทย์“ไทย”ช้ากว่า“เขมร”?

tcijthai


ท่ารำไทย
แกะรอย ก.วัฒนธรรมขอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หลังเขมรขึ้นทะเบียน “ละโคนพระกรุณา- แสบก ธม” ยันไม่ส่งผลกระทบเกิดกรณีพิพาทหลังไทยขอขึ้นทะเบียนบ้าง ยอมรับมีลักษณะใกล้เคียงหลังรับอิทธิพลแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในแถบอุษาคเนย์
ทันทีที่ทางกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  The Royal Ballet of Cambodia หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามละครหลวง  และ Sbek Thom,Khmer shadow Theater (แสบก ธม) หรือที่คนไทยเรียกว่า หนังใหญ่ ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชา แต่พอคนไทยรู้ข่าว ก็เกิดอาการเดือดดาล โทสะ โมหะ จนหลงลืมใช้เหตุผลและพิจารณาศึกษาถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กลายเป็นประเด็นปลุกความเป็นชาตินิยมขึ้นมา ซึ่งเข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา”  ทั้งที่ก่อนหน้าไม่มีคนให้ความสนใจขอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้อง ไม่ได้เกี่ยวกับท่ารำไทย หรือแม้แต่การนำศิลปะไทยไปขอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมแม้แต่น้อย

ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (TCIJ)สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ทางยูเนสโก ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “ความ รู้ ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือแนวปฏิบัติทุกรูปแบบ ทั้งที่เป็นสากลและของท้องถิ่น ซึ่งถูกสร้างขึ้นและถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่ว่าด้วยวาจาหรือวิธีการอื่น ใดผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้โดยกระบวนการสั่งสมความรู้และประยุกต์ใช้”

นอกจากนี้ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ยังมีการกำหนดคุ้มครองสิ่งซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม เช่น มุขปาฐะ การแสดงออก ภาษา ศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล ความรู้และการปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ฝีมือช่าง แนวประเพณี มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ยังเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และถูกสร้างใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยชุมชนเพื่อตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ ช่วยให้ชุมชนมีอัตลักษณ์และความต่อเนื่อง โดยความต่อเนื่องถือเป็นลักษณะสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ตัวอย่างมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
  • ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของกรรมวิธีสำหรับการรักษาโรคบางอย่างหรือส่วนผสมของยารักษาโรคที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษในชุมชน
  • ความรู้ด้านการนวดแผนไทยและการแพทย์แผนไทย
  • ความรู้ในการนำพืชสมุนไพรมาทำอาหารหรือขนม เช่น การทำต้มยำที่มีส่วนผสมของตะไคร้ซึ่งมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ และหอมแดงซึ่งมีสรรพคุณไล่หวัด การทำแกงส้มดอกแคซึ่งมีสรรพคุณในการลดไข้
  • ความรู้เชิงอุดมคติที่นำมาสู่การสร้างสรรค์งานด้านสถาปัตยกรรม เช่น การสร้างเจดีย์ที่ต้องสร้างให้มีฐานโค้งครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ เนื่องมาจากความรู้เชิงอุดมคติที่ว่า เป็นการแสดงถึงการลดความยึดมั่นในตัวตน ช่วยให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่ง และแสดงถึงอำนาจทางการเมืองและสภาพสังคมของช่วงเวลาที่สร้างเจดีย์ และที่สำคัญเป็นการสะท้อนอุดมคติของศาสนาที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเจดีย์ นั้นด้วย
  • การละเล่นพื้นบ้าน เช่น การเล่นสะบ้า การเล่นเพลงเรือ
  • ประเพณีท้องถิ่น
  • ภาษาประจำชาติ  ภาษาพื้นเมือง และการแสดงออกทางภาษา
  • พิธีกรรม ความเชื่อ เช่น พิธีบวชต้นไม้ พิธีแห่นางแมว
  • พิธีการทางสังคม เช่น การคำนับ การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ซึ่งเป็นการกราบที่แสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อบุคคลที่ควรเคารพ
  • วัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดง สาขางานฝีมือดั้งเดิม สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและสาขากีฬาภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ควรสืบทอด ให้รุ่นต่อๆ ไปได้รับรู้ถึงคุณค่าของวัฒนธรรมที่อาจสูญหายไปได้
  • ทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านภาษาพูด ดนตรี
  • การฟ้อนรำ ประเพณี งานเทศกาล ความเชื่อ ความลับของธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความรู้เชิงช่าง

สุจิตต์ วงษ์เทศคอลัมนิสต์ด้านศิลปวัฒนธรรม  ให้ความเห็นต่อเรื่องท่ารำ และหนังใหญ่ไว้ว่า การร้องรำทำเพลง ดนตรีและนาฏศิลป์ว่า  เป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ Southeast Asia ไม่ ใช่สมบัติของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไทยก็ไม่ใช่เจ้าของแต่ผู้เดียว กรุณาอย่าตีขลุมว่าของไทยไม่เหมือนคนอื่น แล้วเหมารวมเอาของเขาเป็นของตัว

ทั้งนี้ สุจิตต์ ได้อธิบายขยายความถึง The Royal Ballet of Cambodia ว่า คงหมายถึงละโคนพระกรุณา (ละครหลวง) ของกัมพูชาที่มีท่ารำต่างๆการแสดงนี้ทางไทยเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai Classical Masked Performanceแล้วไทยขอยืมคำชวา-มลายู โดยผ่านเขมรมาเรียกว่า ละคร และโขน (คำว่าละคร เขมรออกเสียง ละโคน แต่ก่อนไทยรับมาใช้แยกเป็น 2 คำ คือ ละคอน, โขน)นอกจากนี้คำว่า Sbek Thom เป็นคำเขมรว่า แสบก ธม ถ่ายเป็นคำไทยว่า หนังใหญ่ (แสบก แปลว่า หนังสัตว์, ธม แปลว่า ใหญ่โต)

ดังนั้นเมื่อทางกัมพูชา ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้สำเร็จ คนไทยกลับรู้สึกเดือดดาล เต้นแร้งเต้นกาเหมือนมีใครมาแย่งของรัก ของหวง ทำให้หลายหน่วยงานกระตือรือร้นรีบดำเนินการขอเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่า ด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กับยูเนสโก โดยทางกระทรวงวัฒนธรรม ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นผู้ดำเนินการ  โดยคณะกรรมการได้สืบค้นข้อมูลและศึกษาผลกระทบจากการขึ้นทะเบียนมรดกทาง วัฒนธรรมจับที่จับต้องไม่ได้ของกัมพูชา จะส่งผลต่อมรดกทางวัฒนธรรมไทยหรือไม่
พบว่า ประการแรก การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของกัมพูชาได้รับการประกาศจากยู เนสโกให้เป็นงานชิ้นเอกในฐานะมรดกทางมุขปาฐะและที่จับต้องไม่ได้ ของมนุษยชาติ 2 รายการ ได้แก่ The Royal Ballet of Cambodia ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโขนและละครรำของไทย  และ Sbek Thom,Khmer Shadow Theater ลักษณะคล้ายหนังใหญ่

ในปี 2546 ยูเนสโกได้ประกาศใช้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้อง ไม่ได้ โดยกำหนดบทเฉพาะกาล ข้อ 31  ให้งานชิ้นเอกในฐานะมรดกทางมุกขปาฐะและที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่ได้ รับการประกาศไว้แล้ว 90 รายการ  รวมทั้งเป็นรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในการนี้The Royal Ballet of Cambodiaและ Sbek Thom,Khmer Shadow Theaterของกัมพูชาจึงได้รับประกาศเป็นรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับ ต้องไม่ได้ อีก 76 รายการในปี 2551 อย่างไรก็ตามภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้อง ไม่ได้ประกาศการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสงวนรักษาไว้อย่างเร่งด่วน
ประการที่สองการดำเนินการของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการเข้า เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยู เนสโก โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับมอบหมายให้พิจารณาการเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาฯ  สรุปผลการดำเนินงานดังนี้ หลังจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการ สงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับยูเนสโก รวม 5 คณะ สรุปผลเสนอต่อสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมในช่วงเดือนสิงหาคม 2550 โดยผลสรุปในที่ประชุมเห็นด้วยกับการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวน รักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการด้านวัฒนธรรมในระดับจังหวัด พบว่า ร้อยละ 99 เห็นว่าประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยเร่งด่วนเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของไทย  ส่วนทางสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดประชุมหารือโดยมีความเห็นให้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมพิจารณาดำเนินการ เช่น การออกพระราชบัญญัติ กฎหมายกำหนดมาตรการ ดำเนินงาน และจัดเวทีรับฟังความเห็นในวงกว้างมากยิ่งขึ้น


 ประการที่สาม การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ของไทยนั้น ได้นิยามศัพท์คำว่า “Intangible Culture Heritage” เป็นภาษาไทย และมีมติให้ใช้คำว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” ตั้งแต่ปี 2552 ต่อมาในปี 2553 ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้วจำนวน 50 รายการ  อาทิ โขนและหนังใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ปี 2552 , ละครใน รำเพลงช้า-เพลงเร็ว แม่ท่ายักษ์- ลิง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2553 ในสาขาศิลปะการแสดง รวมทั้งส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆจัดทำทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของ ท้องถิ่น
และประการสุดท้าย เรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของกัมพูชาที่มีลักษณะ ใกล้เคียงกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยนั้น ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า การประกาศเป็นรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในกรณี The Royal Ballet of Cambodiaและ Sbek Thom,Khmer Shadow Theater  หรือประกาศอื่นๆ


“ในอนาคตจะไม่ส่งผลต่อการอ้างความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมดัง กล่าวของไทย แม้ว่ามรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายประเทศมีลักษณะ ใกล้เคียงกัน เนื่องจากได้รับอิทธิพลและมีการแพร่กระจาย แลกเปลี่ยนกันในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาช้านาน และหากไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับ ต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก  ประเทศไทยก็สามารถนำเสนอ โขน และหนังใหญ่ ของไทยเป็นรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโกได้ เนื่องจากมรดกทางวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน รวมทั้งการยอมรับและปฏิบัติกันโดยชุมชนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและชัดเจน สุดท้าย ยืนยันว่า การประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2552 สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสำคัญถึงความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรมของประเทศ รวมถึงเป็นเครื่องมือป้องกันกรณีพิพาททั้งในและต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นใน อนาคต”

ท้ายที่สุดแล้วการปกป้องศิลปวัฒนธรรมของชาติจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสำนึก ตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่  หาใช่เพียงกระแส หรือสักว่าเป็นหน้าที่ต้องรักษาหรืออนุรักษ์ไว้ให้ได้ขึ้นชื่อถึงความเป็น มรดกโลก หรือเพียงเพื่อหวังเอาชนะชาติอื่น !


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง