บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

เขตแดนทางทะเลเอื่อย! เหตุกลัวนักการเมืองจุ้น นายพลสีเหลืองวิพากษ์ เจรจาล็อกสเปก-เอื้อปย.




กมธ.ต่าง ประเทศวุฒิฯ แนะกต.เร่งตั้งหัวหน้าทีมเจรจาด้านเทคนิคไทย-เขมร หวั่นมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเลในอนาคตหากชักช้า อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯชี้ไทยขุดเจาะทรัพยากรที่เกาะกูดได้เลย ไม่ต้องรอแบ่งแดน เพราะเป็นของไทย นายทหารพธม.ฉะเจรจาแบบล็อกสเปค
วันที่ 28 ก.ย.2554 เวลา 09.30 น. ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนอโศกมนตรี คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ได้จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง“ปัญหา MOU พ.ศ.2544 : เขตไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา ไทยเสียเปรียบจริงหรือ?” โดยผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ กรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ นายสมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตเสนาธิการฐานทัพเรือสัตหีบ และนายชุมพร ปัจจุสานนท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยนายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ กรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า การเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(เจบีซี)ไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทย จากเดิมคือนายอัษฎา ชัยนาม ไปเป็นนายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์นั้น จะไม่กระทบต่อแผนการเจรจาพื้นที่เขตแดนทางบกที่เคยได้ดำเนินการมา เพราะเจ้าหน้าที่ได้วางแนวทางการเจรจาเรื่องนี้ไว้แล้ว และคงไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดน เพราะการเจรจาเรื่องเขตแดนใดๆ ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพียงแต่รัฐบาลสามารถกำหนดขอบเขตและแนวทางการเจรจาเรื่องเขตแดนได้ผ่านทาง ประธานเจบีซี สำหรับพื้นที่เขตแดนทางทะเลนั้นยังไม่มีความคืบหน้า เพราะรัฐบาล โดยกระทรวงการต่างประเทศยังไม่มีการตั้งหัวหน้าคณะเจรจาด้านเทคนิค ไทย-กัมพูชา(ซับเจทีซี - Sub JTC ) เพราะมีความหวาดระแวงว่าฝ่ายการเมืองจะเข้าไปมีผลประโยชน์ ซึ่งตนมองว่าถ้าฝ่ายการเมืองจะเข้าไปมีผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ มีเพียงวิธีเดียวคือการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานในแหล่ง พลังงาน ทั้งนี้ ตนเป็นห่วงว่าถ้าไม่เร่งตั้งซับเจทีซี อาจทำให้ไทยเสียเวลาจำนวนมากในขั้นตอนการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลใน พื้นที่ทับซ้อน และอาจกระทบต่อการใช้พลังงานด้านปิโตเลียมในอนาคตได้
ด้านนายสมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตนยังไม่เคยพบเอกสารใดที่ระบุว่าไทยกับฝรั่งเศสไม่เคยมีการแบ่งพื้นที่ไหล่ ทวีปเลย ส่วนประเด็นของเกาะกูดที่มีการพูดถึงกันนั้น ตนยืนยันว่าเป็นของไทย เพราะในสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 21 มี.ค.2449 ระบุว่าฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราดกับเกาะหลายที่อยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปถึงเกาะกูดให้แก่ไทย ทั้งนี้ เกาะกูดไม่ใช่พื้นที่ไหล่ทวีปแต่เป็นจุดทางบกที่เป็นแผ่นดินของไทยเช่นกัน จึงไม่ต้องมีการแบ่งในพื้นที่นี้ ซึ่งถ้ามีทรัพยากรใดที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้ เราก็สามารถขุดเจาะได้ อย่างไรก็ตาม แม้ฝรั่งเศสจะสละเกาะกูดให้กับไทยแล้ว แต่ยังมีกรณีที่กัมพูชาลากเส้นแบ่งเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไทยจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ได้ และไทยสามารถขุดเจาะใช้ทรัพยากรได้เลย ถ้าเกิดข้อพิพาทกับกัมพูชาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรากลับให้มีการบรรจุการลากเส้นโดยกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวลงในเอ็มโอยู ปี 2544 จึงถือว่าฝ่ายไทยยอมรับและรับรู้แล้ว ทำให้เกิดผลทางกฎหมายที่เปลี่ยนไป
ด้านนายชุมพร ปัจจุสานนท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมองว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบนั้นต้องดูที่กฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เส้นกำกับที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นบริเวณไหล่ทวีปนั้นถือว่ากัมพูชาทำไม่ถูก ต้อง เพราะไม่ควรอ้างถึงเกาะกูดที่เป็นของไทย และการที่ฝ่ายไทยกับกัมพูชาลากเส้นกำกับก็เป็นการที่ต่างฝ่ายต่างอ้าง อาณาเขตอย่างสูงสุด โดยเป็นการประกาศฝ่ายเดียวที่ผูกพันผู้นั้นเอง ไม่เกี่ยวกับอีกฝ่าย ดังนั้นหากต้องการทำเรื่องเขตแดนทางทะเลให้ได้ข้อยุติ มี 2 ทาง คือ 1.การเจรจา และ 2.นำเรื่องให้ศาลโลกเป็นผู้ตัดสินตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่หากนำเรื่องให้ศาลโลกพิจารณา ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน ทั้ง 2 ประเทศก็ต้องยอมรับ สำหรับประเด็นเรื่องพื้นที่ในขณะนี้ ตนมองว่าสิ่งที่ควรจะนำมาคิดและเร่งเจรจา คือ พื้นที่โดยรอบเกาะกูด ว่าจะกำหนดเส้นอาณาเขตรอบเกาะกูดด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เส้นที่ต่างฝ่ายต่างอ้างนั้นสามารถถูกนำมารวมกันได้เพื่อนำมาพัฒนาหรือใช้ ประโยชน์ร่วมกัน และลืมการแบ่งเขตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้ง
               
พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่าตนขอให้ข้อมูลว่าเส้นเขตแดนทางบกและทางทะเล ระหว่างไทย – กัมพูชา เป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นหากเส้นเขตแดนบนบกเป็นเช่นไร จะไม่มีผลผูกพันกับเส้นเขตแดนทางทะเล ซึ่งเขตแดนทางทะเลนั้น ตามหลักสากล กำหนดให้เป็นสิทธิของรัฐที่จะประกาศพื้นที่ใช้สอย หรือเสรีภาพทางทะเล ตามหลักสากลกำหนดให้เขตครอบครองนั้นมีเนื้อที่ 3 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 5 กม. จากเส้นไหล่ทวีป นอกจากนั้นให้ถือว่าเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน สำหรับประเด็นบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วย พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปซับซ้อนกัน พ.ศ.2544 (เอ็มโอยู 2544) จะยกเลิกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะพิจารณา แต่หากมีการยกเลิก ตนรู้สึกเสียดายในส่วนที่บัญญัติไว้ในเอ็มโอยู 2544 ที่มีประโยชน์ คือ ในข้อ 2 (ฉ.) ระบุให้มีการแบ่งเขตแดนซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกัน ซึ่งในส่วนดังกล่าวถือว่าเป็นความหวังที่เฝ้ารอมานานว่าหากเมื่อมีการเจรจา เรื่องเขตแดนที่ยอมรับได้ร่วมกัน เส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาเขียนไว้จะหายไป เพื่อมากำหนดเส้นเขตแดนร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชาเส้นใหม่
ขณะที่พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตเสนาธิการฐานทัพเรือสัตหีบ และโฆษกพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า เอ็มโอยู ปี 2544 มีตัวละครที่ควบคุมเรื่องผลประโยชน์ คือ 1.นักการเมืองที่ควบคุมและอยู่เบื้องหลังเจ้าหน้าที่ผู้เจรจา 2.นักวิชาการ และ 3.ข้าราชการที่จะรับลูกจากนักการเมือง ส่วนประชาชนถ้ารู้ไม่ทันนักการเมือง ก็จะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ขณะที่บทบาทนักการเมืองเข้าไปกำกับเป็นส่วนมาก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เป็นตัวควบคุมนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และนายวาร์ คิมฮง ประธานเจบีซีฯ ฝ่ายกัมพูชา อีกทั้งการเจรจาในปัจจุบัน นักการเมืองเข้ามา ทั้งนี้ คำตอบสุดท้ายของเอ็มโอยูนี้มีผลต่อผลประโยชน์ของชาติอย่างมาก เราจึงต้องมองก้าวไปสู่ตรงนั้นด้วย และหลังจากมีเอ็มโอยูฉบับนี้แล้ว ทำให้การเจรจาไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องเส้นเขตแดน มีแต่ความก้าวหน้าเรื่องผลประโยชน์ นอกจากนี้ การเจรจาทุกครั้งต้องมีการเจรจานอกโต๊ะโดยนักการเมือง ซึ่งกัมพูชายืนยันว่าต้องการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน โดยไม่สนใจเรื่องเส้นเขตแดน แต่ไทยยืนยันว่าต้องแบ่งเส้นเขตแดนก่อนแบ่งผลประโยชน์ ตนเรียกว่าเป็นการเจรจาแบบล็อกสเปคและเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง