แขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ เปลี่ยนป้าย “เขาพระวิหาร” เป็น “เพรี๊ยะวิเฮียร์” ตามเขมร ขณะที่ประธาน คปศ. โวย อย่าตามแบบอย่างเขมร
ขณะนี้ตามถนนทุกสายที่เข้าสู่ ตัวเมืองศรีสะเกษ และเส้นทางที่ไปสู่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ปรากฏว่า ป้ายบอกเส้นทางท่องเที่ยวทุกป้ายที่จะไปสู่ปราสาทพระวิหาร ที่อยู่ติดกับแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทางด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของแขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ ที่สังกัดสำนักทางหลวงที่ 7 (อุบลราชธานี) ได้ถูกเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษใหม่ จากเดิมเคยใช้ทับศัพท์ภาษาไทยว่า “Khoa Phrawihan” ได้ถูกเปลี่ยนป็น “Khao Preah Vihear” ตามอย่างที่ประเทศกัมพูชา ใช้มาตลอด โดยได้ถูกนำขึ้นไปติดตั้งใหม่กว่า 30 จุด ตลอดเส้นทางที่มุ่งไปสู่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
นายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนา จ.ศรีสะเกษ (คปศ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนป้ายใหม่ตามแบบที่กัมพูชาเขียนไว้นั้น ตนเห็นว่าน่าที่จะเป็นการไม่ถูกต้อง เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกราช
ไม่ใช่เมืองขึ้นของใคร เหมือนกับประเทศกัมพูชา ที่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นป้ายชื่อจึงควรที่จะเป็นภาษาที่ประเทศไทยกำหนดขึ้นมาเองตามหลักภาษา สากลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปเปลี่ยนชื่อตามแบบของกัมพูชาที่เขียนขึ้นไว้ก่อน ตนจึงขอเรียกร้องไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า ขอให้ดำเนินการเปลี่ยนมาใช้ตามแบบเดิมที่ทำไว้จะเหมาะสมและถูกต้องมากกว่า และที่สำคัญก็คือ ไม่ระทบกับความรู้สึกของชาวไทยทั้งชาติอีกด้วย
ภาคประชาชนสุดทน! นัดรวมตัวจัดการป้ายภาษาเขมรบอกทางไปเขาวิหาร หลังกระตุ้นภาครัฐรื้อป้ายเดือนกว่าไม่คืบ แถมไม่มีการตอบสนอง เผยซ้ำร้าย “วีรพันธุ์” เคยยื่นหนังสือร้องเรียนถึง “ยิ่งลักษณ์” ก็ไม่มีท่าทีตอบรับเช่นกัน ล่าสุดบุกพบการท่องเที่ยวฯ โยนกลองอ้างส่งมอบให้กรมทางหลวงแล้ว หมดอำนาจจัดการ . ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคประชาชนในจังหวัดศรีสะเกษ และอีกหลายจังหวัด ร่วมกับนักวิชาการด้านโบราณคดี นายวีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นัดรวมตัวกันที่ศาลหลักเมือง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ในวันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม 2554 ในเวลา 09.00 น. เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับป้ายบอกทางแหล่งท่องเที่ยวปราสาทพระวิหาร ที่เขียนกำกับเป็นภาษาอังกฤษว่า Preah Vihear ตามอย่างกัมพูชา ซึ่งมีอยู่ 29 แห่ง ทั่วจุดสำคัญใน จ.ศรีสะเกษ หลังหน่วยงานภาครัฐเพิกเฉยที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไข แหล่งข่าวระบุว่า การนัดหมายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตและติดตั้ง เพิกเฉยที่จะดำเนินการแก้ไข แม้นายวิเชษฐ์ วัฒนโสภณ ผู้อำนวยการแขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ ระบุว่าได้เร่งประสานงานไปยังอธิบดีกรมทางหลวงและผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้จัดทำป้ายใหม่มาเปลี่ยนเป็นการเร่งด่วนแล้วก็ตามที แต่ระยะเวลาผ่านไปกว่าหนึ่งเดือนกลับไม่มีความคืบหน้า และไม่มีการตอบรับจากสองหน่วยงานที่กล่าวถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตป้ายดังกล่าวมีทีท่าที่จะไม่ดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา นายวีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์ ได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รื้อถอนป้ายชื่อ Preah Vihear ออกจากที่สาธารณะ แต่ไม่มีท่าทีตอบรับแต่อย่างใดเช่นกัน แหล่งข่าวระบุอีกว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ นายวีรพันธุ์ ได้พบหารือกับผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยการท่องเที่ยวฯ รับทราบและรับปากจะดำเนินการ แต่ระบุว่าป้ายดังกล่าวได้ส่งมอบให้กับกรมทางหลวงแล้ว จึงเป็นทรัพย์สินของกรมทางหลวง การท่องเที่ยวฯ ไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับการนัดหมายรวมตัวที่ศาลหลักเมือง อ.กันทรลักษ์ ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า ภาคประชาชนที่เข้าร่วมอาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับป้ายดังกล่าว ซื้อมีความเป็นไปได้ว่าจะทำการรื้อถอนป้าย หรือนำสติกเกอร์ที่เขียนสะกดที่ถูกต้องขึ้นปิดทับ อย่างไรก็ดียังไม่มีการกำหนดชัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น