***** บทความนี้ของอาจารย์ เทพมนตรี ลิปพยอม ที่เขียนลงในผู้จัดการออนไลน์ จำนวน 3 ครั้ง เมื่ออาจารย์ท่านเขียนจบแล้วเปลี่ยนเรื่องเขียนผมจึงเอามารวมลงไว้เพื่อความต่อเนื่องของบทความครับ*****
จากการศึกษาเรื่อง MOU 43 และ MOU 44 โดยละเอียดกับทั้งหนังสือต้นร่างที่มีการประชุมตกลงกันระหว่างไทยกับกัมพูชา เราอาจมองเห็นภาพความต่อเนื่องกันของการทำ MOU 43 และ MOU 44 โดยที่ MOU ทั้งสองฉบับนี้ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) กับไม่ใส่ใจที่จะนำเรื่องนี้ไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาตามที่ตราไว้ในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปีพุทธศักราช 2540 ผมจึงถือว่า MOU ดังกล่าว เป็น MOU เถื่อนทั้ง 2 ฉบับ แต่อย่างไรก็ดี MOU ต่างถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและดูเหมือนว่าจะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองทั้งสองประเทศไม่ว่าจะเป็นไทยหรือกัมพูชามากกว่าที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม
MOU 43 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำเขตแดนทางบก ส่วน MOU 44 เป็นเรื่องการแบ่งพื้นที่ทะเลและมีส่วนเกี่ยวเนื่องกัน เพราะโดยหลักการแล้วต้องจัดการกับเขตแดนทางบกให้จบเสียก่อน ก่อนที่จะจัดการผลประโยชน์ในพื้นที่ทะเล อย่างไรก็ดี การจัดทำ MOU ทั้งสองฉบับมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้ทางฝ่ายกัมพูชาแทบทั้งสิ้น
MOU (Memorandum of Understanding) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “บันทึกความเข้าใจ” ฉบับที่จะกล่าวถึงก่อนได้แก่
1. MOU 43 “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก” ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ระหว่างม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และนายวาร์ คิม ฮง ภายใต้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย หนังสือต้นร่างที่ระบุถึงเรื่องนี้ได้แก่
หนังสือลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นรายงานผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาอันเป็นที่มาของการจัดทำ MOU 43 โดยสาระสำคัญในเนื้อหาของหนังสือฉบับนี้ก็คือ
1. เป็นการนำเสนอนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) ให้อนุมัติเพื่อดำเนินการจัดทำ MOU
2. เป็นการรายงานผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 5-7 มิถุนายน 2543
3. เป็นการไปหยิบเอาแผนที่เก๊ 11 ระวาง ที่อ้างว่าจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามอินโดจีน (เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา) มาเป็นเอกสารที่ผูกพันไทยกับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ
4. เป็นจุดเริ่มต้นของ TOR 46 ที่เน้นย้ำแผนที่เก๊ทั้ง 11 ระวางว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก อันเป็นผลทำให้กัมพูชาเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารและแนวชายแดนไทย-กัมพูชาโดยรัฐบาลและทหารไทยนิ่งเฉย
5. เป็นที่มาของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วม ที่มีหน้าที่เป็นผู้กำหนด TOR (ซึ่งเป็นที่มาของ TOR 46 ซึ่งทำเสร็จสิ้นไปตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) และทำการพิสูจน์หลักเขตแดนรวมถึงการกำหนดเขตแดนร่วมกันกับฝ่ายกัมพูชา ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผลงานที่มีปัญหาคือ รายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับที่ยังไม่ผ่านที่ประชุมของรัฐสภา
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทั้ง MOU 43 และ MOU 44 ไม่ได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบจากรัฐสภาแต่เป็นอำนาจเผด็จการทั้งรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ดอดไปทำ MOU กับรัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซน ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐ และนิติธรรมอย่างไม่เป็นที่สงสัย (และถ้ารัฐบาลปัจจุบันจะเถียงว่าไม่จริงก็ขอให้นำ MOU ทั้ง 2 ฉบับนี้เข้าสู่ขบวนการตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ) ปัญหาสำคัญคือ MOU 43 และ MOU 44 มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในวันที่ทำ MOU 44 นั้นได้มีการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมเพิ่มเติมไปด้วยว่า เมื่อจัดทำหลักเขตแดนทางบก (MOU 43) เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะหันมาพิจารณาพื้นที่ที่เรียกว่าเขตทับซ้อนทางทะเลอันเป็นเนื้อหาของ MOU 44 ล้วนๆ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าการไปยอมรับสิ่งที่เขมรได้กระทำไปนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องขาดหลักความยุติธรรม
MOU 44 แม้จะมีวัตถุประสงค์ที่ดีแต่ผิดหลักการในการทำ MOU และการไปยอมรับสิ่งที่ผิดพลาดที่เขมรได้ทำขึ้น ข้อสังเกตก็คือ การประกาศเขตพื้นที่ของเขมรได้ประกาศขอบเขตเส้นไหล่ทวีปเมื่อปี 2515 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า
ก. จุดเริ่มต้นของเส้นไหล่ทวีปยังไม่มีค่าพิกัดที่แน่นอน
ข. เส้นไหล่ทวีปที่ลากผ่านเกาะกูดของไทยไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ
ค. เส้นไหล่ทวีปในแนวเหนือ-ใต้กำหนดจากเกาะของฝ่ายกัมพูชา โดยไม่คำนึงถึงเกาะของฝ่ายไทย
การไปทำ MOU 44 คือ การที่ไปยอมรับเส้นที่เขมรสร้างขึ้นตามพิกัดบริเวณอ่าวไทยซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นของไทย แต่ MOU 44 ไปสร้างหลักการแบ่งตามที่เขมรอ้างสิทธิ
สำหรับประเทศไทยเราแล้ว เราก็ได้ประกาศเส้นไหล่ทวีปบริเวณอ่าวไทยในปี พ.ศ. 2516 เหมือนกันและมีหลักการแบ่งที่ถูกต้องตามหลักสากลดังนี้
ก. จุดเริ่มของเส้นไหล่ทวีปยังมีค่าพิกัดไม่แน่นอนเช่นกัน
ข. เส้นช่วงแรกใช้แนวแบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา
ค. ส่วนที่เหลือเป็นเส้นแบ่งครึ่งทะเลระหว่างแนวเกาะของไทยกับกัมพูชาโดยใช้หลักการของเส้นมัธยะ (Equidistance line) ตามหลักสากล
ดังนั้น หากเราพิจารณาสถานภาพของ MOU 44 แล้วจะพบว่า
1. เป็น MOU เถื่อน เพราะไม่ผ่านขั้นตอนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถือว่าเป็นโมฆะ
2. เป็น MOU เถื่อนที่ไปยอมรับความผิดพลาดของเขมร
3. ถ้าไม่ยกเลิก MOU ฉบับนี้แสดงว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลย่อมรู้เห็นเป็นใจต่อการกระทำที่ฉ้อฉล และมุ่งผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง สมควรที่จะมีการทบทวนและยกเลิก
ผมคิดว่าโดยหลักการแล้ว MOU 43 และ MOU 44 เป็น MOU เถื่อน และเป็น MOU ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติธรรมและนิติรัฐ อีกทั้งยังขัดแย้งต่ออนุสัญญา ปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ปี ค.ศ. 1907 กับขัดต่อกฎหมายทางทะเลซึ่งเป็นหลักกฎหมายสากลโดยทั่วไป
เมื่อผมเขียนบทความเรื่องนี้ไปสองตอนปรากฏว่านักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกรุงเทพมหานครท่านหนึ่งได้โทรศัพท์มา และถามความเห็นผมเกี่ยวกับเรื่อง MOU 44 ผมก็คุยด้วยความปรารถนาดีและได้แสดงความเห็นไปในประเด็นต่างๆ เหมือนที่ผมได้นำเสนอไปในบทความ ผมได้เสนอเงื่อนไขประการสำคัญต่อพรรคประชาธิปัตย์ว่า หากต้องการกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีคืนก็ควรทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคควรแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้และควรใช้เสียงของ ส.ส.เข้าชื่อแล้วส่ง MOU 43 ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าถูกต้องหรือไม่ในการไปทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 มาตรา 224 การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต้องผ่านขบวนการของรัฐสภาเสียก่อน และเมื่อเกิดการตีความจากศาลแล้วผลเป็นประการใดก็ย่อมช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้นในสายตาของประชาชน รวมทั้งหากการทำ MOU 43 ผิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็จะพาให้ MOU 44 ต้องมีปัญหาแน่นอน เพราะเมื่อการจัดทำหลักเขตแดนทางบกตาม MOU 43 ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาจะหาเหตุผลเพื่อเอาประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรนั้นไม่ได้เลย
เมื่อผมพูดเสร็จสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติมีชื่อผู้นั้นก็ยังบอกว่าอดีตนายกฯ มาร์คเป็นห่วงเรื่องนี้มากกำชับมาว่า จะต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างและตั้งอยู่บนประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ (ผมคิดในใจว่าเอาอีกแล้ว) ไม่แปลกเลยที่พรรคประชาธิปัตย์จะเหมาะสมกับความเป็นพรรคที่ซื่อสัตย์มืออาชีพ หรือรัฐบาลรู้อย่างไรประชาชนรู้แบบนั้น (ผมไม่เห็นจะเป็นมืออาชีพตรงไหน) เรื่องข้อมูลข่าวสารเราต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยยอมบอกอะไรเลย ประชาชนรู้เรื่องทีหลังแทบทั้งสิ้น
MOU 43 เป็นการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งใช้แผนที่ 1:200,000 เป็นข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งการปักหลักเขตมีทั้งหมด 74 หลัก (ปัจจุบันเหลือ 73 หลัก) เพราะหลักเขตที่ 22 มีสองหลัก ต่อมาภายหลังจึงยกเลิกไป 1 หลักและการที่จะต้องทำ MOU 43 นี้ก็เพื่อการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนที่สูญหายหรือถูกเคลื่อนย้ายให้กลับมาสู่ที่เดิม
ความมุ่งมาดปรารถนาของกัมพูชาที่ใช้แผนที่ 1:200,000 ก็คงมีเหตุผลมาจากความพยายามจะย้ายหลักเขตที่ 73 ไปในตำแหน่งที่ต้องการเพื่อให้การประกาศเขตไหล่ทวีปในปี พ.ศ. 2515 ของกัมพูชามีจุดอ้างอิงที่สมบูรณ์ในการลากเส้นไปผ่านเกาะกูดเพื่อเป็นอาณาเขตทางทะเลของกัมพูชา กัมพูชาก็คงรู้ว่าประเทศไทยก็คงไม่ยอมแน่ ต่อมาประเทศไทยในปี พ.ศ. 2516 จึงทำการประกาศพื้นที่ไหล่ทวีปบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดพื้นที่ที่ทับซ้อนกันขึ้น และต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิในอ่าวไทย ทั้งๆ ที่วิธีการของกัมพูชานั้นได้กระทำผิดมาตรฐานทางหลักวิชาการและการแบ่งเขตในทะเล
ด้วยเหตุนี้การที่กัมพูชากล่าวอ้างสิทธิในทะเลของไทยถือเป็นการมั่วเอา และคิดไปเองว่าเขตแดนในทะเลนั้นจะต้องอ้างอิงหลักเขตที่ 73 แล้วยิงตรงลงมาผ่านจุดสูงสุดของเกาะกูด การที่รัฐบาลไทยในสมัยทักษิณไปทำ MOU 44 ยอมรับเส้นเขตแดนก็เท่ากับว่าไปรับรองสิ่งที่กัมพูชาประกาศเอาไว้ ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในปี พ.ศ. 2544 นั้นก็เลยอดที่จะไปทำ MOU ด้วยตนเอง ซึ่งก่อนหน้านั้นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมการเอาไว้แล้ว
อนึ่ง ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ MOU 44 เป็น MOU เถื่อนและถือเป็นโมฆะอย่างแน่นอน เพียงแต่จะมีผู้ใดหากกล้าส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือชื่ออ่าวไทยควรเปลี่ยนเป็นชื่ออ่าวเขมร-ไทยถึงจะสาสมกับการแบ่งพื้นที่ทางทะเล และการยอมรับของประเทศไทยในเส้นที่เขมรลากมั่วๆ โดยมิชอบใน MOU 44
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น