บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

จับมือเอื้อผลประโยชน์กันสุดๆ ฮุนเซน-บิ๊กคนไทย ฮุบขุมทรัพย์อ่าวไทย...!!! 12 ส.ค. 10, 19:30 น

ตีแผ่ข้อเท็จจริงพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา
- ฮุนเซน-บิ๊กการเมืองและนักธุรกิจไทย ร่วมกันฮุบผลประโยชน์ชาติ
- ดึงต่างชาติร่วมกันจัดสรรผลประโยชน์กันอย่างลงตัว
- แถมพบเงื่อนงำ บริษัท เพิร์ลออยล์ จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน คว้าสัมปทานเพียบ
ปลุกคนไทยลุกขึ้นสู้ชิงผลประโยชน์ชาติกลับคืน

แม้ว่าปมปัญหาพิพาทไทย-กัมพูชาในเรื่องเขตพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิก MOU 2543 ที่เป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดนั้นจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เรื่องดังกล่าวนั้นมีความสำคัญนอกเหนือจากอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาทดังกล่าว อีกด้วย

เนื่องจากปมดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปิดประตูขุมทรัพย์ทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยกัมพูชาพยายามที่จะผลักดันการแบ่งเส้นเขตแดนด้วยแผนที่ 1 : 200,000 ที่แนบตาม MOU 2543 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ทับซ้อนของเขตแดนทางบกเชื่อมโยงไปถึงเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่มีมูลค่าอภิมหาศาล ตั้งแต่ปราสาทพระวิหาร ไปทางจังหวัดสระแก้ว-สุรินทร์-อุบลราชธานี-จันทบุรี และตราด

จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ล้วนจับจ้องขุมทรัพย์นี้ตาเป็นมันโดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่พยายามเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากขุมทรัพย์ใต้ทะเลที่มีการประเมินว่าเป็นแหล่งพลังงานที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งที่ 2 ของโลกที่ยังเหลืออยู่ และจุดนี้เองที่นักการเมืองไทยและสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาต่างรู้ดี และได้กลายเป็นแหล่งที่เตรียมผลประโยชน์รองรับไว้แล้วก่อนหน้า

ดังนั้น หากกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา จบลงที่ไทยไปเสียท่ายอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ก็จะส่งผลกระทบต่อหลักหมุด 73ซึ่งคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสจัดทำขึ้น ตั้งแต่ปี 2451 ซึ่งมีการปักหลักหมุดทั้งหมด 73 หมุด ตั้งแต่หมุดหลักที่ 1 บริเวณช่องสำงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ มาถึงหลักหมุด 73 ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยที่ผ่านมาไทย-กัมพูชามีปัญหาเรื่องหลักหมุดต่อกันมาตลอด โดยเฉพาะมีหลายหลักหมุดในบางพื้นที่ที่สูญหายไป

หลักหมุด 73 นี้เองที่เป็นที่รู้กันดีว่าหากมีการคลาดเคลื่อนแม้เพียง 1-2 ลิปดาแล้ว พื้นที่ทับซ้อนบริเวณอ่าวไทยที่มีอยู่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรจะกลายเป็นของกัมพูชาทั้งหมด นอกเหนือจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 กิโลเมตรแล้ว หลักหมุด 73 นี้ก็เป็นจุดที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญ และยืนกรานว่าจะยอมไม่ได้เด็ดขาด


ในส่วนของขุมทรัพย์ทางทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตรที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชานี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งมีการประเมินว่ามีมูลค่าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสูงถึง 5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรและถ้ามีการขุดเจาะจริงอาจพบในปริมาณมากกว่าที่ประมาณเบื้องต้นมากกว่าด้วย

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงาน เปิดเผยว่า ล่าสุดองค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา หรือ Cambodian National Petroleum Authority (CNPA) ได้ว่าจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญทำการสำรวจและขุดเจาะและพัฒนาทรัพยากรจากแหล่งพลังงานในพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นจำนวน 10 หลุม และพบว่าบริเวณไหล่ทวีปของกัมพูชามีปริมาณก๊าซธรรมชาติกว่า 4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันกว่า 200 ล้านบาร์เรล ขณะที่บริเวณไหล่ทวีปฝั่งไทยก็มีการสำรวจและขุดเจาะพบว่ามีปริมาณก๊าซธรรมชาติและน้ำมันกว่า 7 แสนล้านบาร์เรล

“การขุดเจาะสำรวจแหล่งพลังงานใต้ทะเลทั้งของไทยและกัมพูชาบริเวณใกล้เคียงกับแอ่งพลังานที่อยู่ใจกลางพื้นที่ทับซ้อน ที่ถือว่ามีอยู่ในปริมาณมากซึ่งพูดง่ายๆว่านี่เป็นเพียงชายขอบของแอ่งพลังงาน ซึ่งหากมีการสำรวจพื้นที่ทับซ้อนใต้ทะเลก็ประมาณการได้ว่าจะมีพลังงานมหาศาลอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็ให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก”

สอดคล้องกับข้อมูลรายงานของบริษัทเชฟรอนที่ทำไว้เมื่อปี 2548 ว่า ได้มีการค้นพบบ่อน้ำมันและก๊าซขนาดใหญ่ ในพื้นที่ 2,427 ตารางกิโลเมตรทางตอนใต้ของกัมพูชา โดยเฉพาะพื้นที่สัมปทานแปลงเอ เนื้อที่ 6,278 ตารางกิโลเมตร ที่คาดว่าจะมีน้ำมันสำรองถึง 700 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติอีก 3-5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่าแหล่งพลังงานในกัมพูชาน่าจะมีน้ำมันถึง 2 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติอีก 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไหล่ทวีป ขณะที่เขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา นั้นลักษณะทางธรณีวิทยาที่ชี้ว่าเป็นแอ่งกะทะที่มีการประเมินว่าคุณภาพของทรัพยากรใต้ทะเลมีคุณภาพระดับดีหรือใกล้เคียงกับแหล่งพลังงานของประเทศมาเลเซียเนื่องจากการทับถมในยุคเดียวกันนั่นเอง

แต่การที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงนั้น จำเป็นต้องสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้งว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ปริมาณเท่าใด จำเป็นจะต้องมีการขุดเจาะขึ้นมาก่อนจึงจะประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้ แต่ขณะนี้แม้ว่าทั้งรัฐบาลไทย-กัมพูชาจะมีการให้สัมปทานบริษัทต่างๆ เพื่อทำการสำรวจแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครที่สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาได้จริง เนื่องจากยังติดปัญหาข้อขัดแย้งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา

ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในพื้นที่ทางทะเลของกัมพูชา บริษัท เชฟรอน ได้รับสัมปทานอนุญาตขุดเจาะ และยังมีบริษัทจากไทยคือบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (PTTEPI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ได้ร่วมทุน 30% กับอีก 2 บริษัท คือ บริษัท Resourceful Petroleum Ltd. และ SPC Cambodia Ltd. อีก 10% เป็นของ CE Cambodia B Ltd. ทั้งนี้ ปตท.สผ.อ.ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ นอกชายฝั่ง ในบริเวณอ่าวไทย แต่ยังมีพื้นที่แหล่งนี้ที่กัมพูชาเรียกว่า “บล็อก B” และ ปตท.สผ. ตั้งรหัสว่าโครงการจี 9/43 มีการพบเบื้องต้นว่ามีน้ำมันและก๊าซจำนวนมาก แต่ในหนังสือรายงานประจำปี 2550 ได้ระบุว่าเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างไทย-กัมพูชา และกำลังแก้ไขปัญหาเรื่องเส้นแบ่งเขตทางทะเล หรือเป็นหนึ่งในพื้นทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาอีกพื้นที่หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการให้สัมปทานบริษัทต่างๆ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าคนในแวดวงพลังงานรู้กันดีว่า ผลประโยชน์ด้านพลังงานกับภาคการเมืองของไทยนั้นมีสัมพันธ์อันแนบแน่น ซึ่งนักการเมืองไทยมักจะได้ประโยชน์จากการให้สัมปทาน และสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นยุคสมัยที่ได้ชื่อว่ามีการแลกผลประโยชน์ด้านสัมปทานมากที่สุดด้วย


ปมดังกล่าวต้องย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณที่หลังจากได้ผลักดันจนสามารถแปรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ให้เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้สำเร็จ ก็เชื่อว่าได้เห็นลู่ทางการแสวงหาผลประโยชน์จากการลงทุนขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและพยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด

ทั้งในแง่ของพฤติกรรมส่วนตัวโดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี พ.ต.ท.ทักษิณไปเยือนกัมพูชา 4 ครั้ง และสมเด็จฮุนเซนมาเยือนไทย 4 ครั้งโดยขณะนั้นยังไม่มีการตั้งข้อสงสัยต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว

จนกระทั่ง นพดล ปัทมะ ขณะที่ดำรงตำแหน่งรมว.การต่างประเทศได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ในวันที่ 18 มิ.ย.2551จนวันที่ 8 ก.ค.2551 คณะกรรมการมรดกโลกได้ทำการรับรองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาในที่สุด ซึ่งขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้ถูกยึดอำนาจจากรัฐบาลทหารตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 เรื่องดังกล่าวจึงชะงักและยุติลงโดยปริยายเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณสิ้นอำนาจ

ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐการความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นปรากฏอย่างมากมาย ซึ่ง เจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.พังงา และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร อธิบายว่า ในปี 2547 รัฐบาลทักษิณได้อนุมัติให้เงินกู้กัมพูชาอัตราดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 827.4 ล้านบาท เพื่อสร้างถนนแบบให้เปล่ากว่า 4 แห่งโดยที่กรมทางหลวงออกแบบให้ จนทำให้มีการตั้งข้อสังเกตจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถึง 2 โครงการใหญ่ คือโครงการปรับปรุงและลาดยางผิดจราจรเส้นทางสายตราด/เกาะกง-สะแรอัมเปิล (R48)และโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 67 (R67) อันลองเวง-เสียมราฐ

ในเวลาต่อมาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้องไปลงทุนทำธุรกิจ Entertainment complex ที่เกาะกงในกัมพูชาด้วย โดยมีการจั้งข้อสังเกตว่าอาจโดย นสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 ส.ค. 2551 เรื่อง “สตง.พบ 2 โครงการปล่อยกู้ 'ฮุนเซน' เอื้อชินคอร์ป? คดีเอ็กซิมแบงก์ โผล่เขมร ทักษิณ!ตัวการอีกแล้ว” โดยมองว่าโครงการดังกล่าวอาจมีการเอื้อผลประโยชน์ชาติเพื่อแลกผลประโยชน์ส่วนตัวคล้ายกรณี Exim bank ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่า

รวมถึงข้อสงสัยในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยการทำธุรกิจโทรคมนาคมร่วมกัน ซึ่งกัมพูชาได้มอบสัมปทานให้ บริษัท แมคโบเดีย ชินวัตร (CamShin) ให้บริการระบบดาวเทียมไอพีสตาร์ มือถือ ฯลฯ โดยในปี 50 บริษัทแคมโบเดีย ชินวัตร มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ สูงถึง 72% และลูกค้าในระบบ Prepaid มีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยังมีธุรกิจไอบีซีเคเบิลทีวีประเทศกัมพูชา ของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ที่มี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เคยเป็นผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ และช่วงนั้นยังเป็นช่วงเดียวกันกับการที่ สมเด็จฯ ฮุนเซนเดินทางมาไทยเพื่อเยี่ยมชมกิจการชินคอร์ป ในวันที่ 10 ส.ค.2549 ด้วย

ที่น่าสนใจก็คือว่าแม้เส้นทางอันลองเวง-เสียมราฐ จะมีเหตุผลเรื่องของการเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงมาถึง จ.ศรีสะเกษ ของไทย แต่ในเส้นทาง ตราด-เกาะกง-สะแรอัมเบิล กลับยังไม่ชัดเจนว่ามีเหตุผลเช่นใดหรือมีความจำป็นมาก-น้อยแค่ไหน เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีการตัดถนนเส้นหนึ่งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาไปแล้ว รวมถึงเส้นทางตราด-เกาะกง-สะแรอัมเบิล มีจุดที่กระทรวงคมนาคมเสนอการกู้เป็น 2 ระยะ และมีการเพิ่มวงเงินอีก 300 ล้านบาท จนเป็นจุดที่น่าสังเกตโดยข้อเท็จจริงเมื่อปล่อยกู้ไปแล้วรัฐบาลกัมพูชาจะต้องเป็นผู้ควบคุมโครงการ แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังคงติดตามรายละเอียดโครงการต่อให้กับกัมพูชา เพราะการปล่อยกู้เงินกู้เพิ่มโดยสำนักงบประมาณอีก แต่ก็ไม่ปรากฎว่าโครงการนี้สตงยังคงติดตามอยู่หรือไม่ แต่พฤติกรรมต่างๆที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นคำถามที่โยงไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณเรืองอำนาจ ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ธุรกิจพลังงานที่หลายฝ่ายเริ่มมีความสงสัย ก็มีความชัดเจนขึ้นเมื่อ พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา ได้ให้สัมภาษณ์ก่อน นพดล จะไปลงนามแถลงการร่วมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความสนใจที่จะลงทุนธุรกิจพลังงานในกัมพูชา เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในกัมพูชา โดยเฉพาะการเช่า เกาะกง ซึ่งมีรีสอร์ตดังอย่าง “สีหนุวิลล์” เป็นจุดขาย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หารือกับสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว

ความสัมพันธ์ของบุคคลทั้ง 2 ในอดีตจึงสามารถประเมินได้ว่ามีการติดต่อและดำเนินธุรกิจซึ่งธุรกิจพลังงานจากกรณีอ่าวไทยก็เป็นสิ่งที่ยังต้องจับตา ขณะที่การแสวงหาประโยชน์ทางทะเลนั้น ว่ากันว่ามีกลุ่มทุนซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาดำเนินธุรกิจการสำรวจและขุดเจาะพลังงานในพื้นที่อ่าวไทยอย่างจริงจัง

เจะอามิง ยังตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งก็คือ บริษัท เพิร์ลออย (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานในการดำเนินกิจการสำรวจและขุดเจาะแหล่งพลังงานในอ่าวไทยในหลายพื้นที่ซึ่งหากเป็นบริษัททั่วไปคงไม่มีข้อสงสัยมากนัก แต่การสำรวจข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า กรรมการของเพิร์ลออย มีตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทที่เกี่ยวข้องรวม 8 บริษัท โดยล้วนแล้วแต่ประกอบธุรกิจรับสัมปทานสำรวจ และขุดเจาะน้ำมันแทบทั้งสิ้นโดยที่มีทุนจดทะเบียนเพียงบริษัทละ 100 ล้านบาท รวมถึงบางบริษัทยังไม่ได้บันทึกรายได้ โดยบริษัทที่มีรายได้สูงสุดคือเพิร์ลออย (ประเทศไทย) มีรายได้ปี 2549 รวม 7,071 ล้านบาท กำไร 1,654 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 16.54 บาท

เมื่อตรวจสอบย้อนไปพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า บริษัทเพิร์ลออย (ประเทศไทย) จำกัด แต่เดิมชื่อ บริษัท แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ ประเทศไทย จำกัด จัดตั้งเมื่อ 16 ก.พ.2547 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า เวสท์ ชั้น 10 นอกจากนี้ยังพบว่า “เพิร์ลออยล์ (สยาม) ได้จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติซ เวอร์จิน อังกฤษ โดยมีผู้ถือหุ้นอื่นเป็นบุคคลสัญชาติแคนาดา อินโดนีเซีย 3 คน อังกฤษ 1 คน และอเมริกา 1 คน เพียงคนละ 1 หุ้น เท่านั้น โดยยังพบว่าบริษัทอื่นที่คาดว่ามีความเกี่ยวพันกับเพิร์ลออย โดยตั้งอยู่ในอาคารเดียวกัน ดังนี้ 1.บ.เพิร์ลออย (ประเทศไทย) จำกัด 2.บริษัท เพิร์ลออยล์ บางกอก จำกัด 3.บริษัท เพิร์ล ออยล์ ออฟเชอร์ จำกัด 4.เพิร์ลออย (ปิโตรเลียม) จำกัด 5.เพิร์ลออย (รีซอสเซส) จำกัด 6.บริษัท เพริ์ล ออยล์ (อมตะ) จำกัด 7.เพิร์ลออย ออนชอร์ จำกัด และ 8.บริษัท เพิร์ล ออยล์ (อ่าวไทย) จำกัด

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ไม่อาจมองข้ามได้ ก็คือ ในช่วงปี 2542 โมฮัมหมัด อัลฟาเยด (Mohamed Al Fayed) เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ (harrods) เพื่อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้จัดตั้ง บริษัท แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ขึ้นเพื่อขอสัมปทานทำธุรกิจน้ำมันในไทย อีกด้วย

“หากมีการประเมินว่า แหล่งพลังงานในอ่าวไทยนี้ไม่มีศักยภาพมากพอ ก็สวนทางกับการที่บริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เข้าพบกัมพูชา เพื่อหวังที่จะเข้าขุดเจาะ ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นกรณีสำคัญ ที่มองข้ามไม่ได้”

ขณะที่ข้อมูลซึ่งแสดงในแผนที่แสดงแปลงสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย ของ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แสดงให้เห็นการได้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ของบริษัทด้านสำรวจพลังานยักษ์ใหญ่ของโลกไม่ว่าจะเป็น บ.ยูโนแคล บ.เชฟรอน บ.ไอเดนมิตซุย ซึ่งถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญแทบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ บริเวณทรัพยากรทางทะเลบริเวณอ่าวไทยซึ่งเป็นสิทธิของไทยโดยตรงมีการเปิดเผยว่ามีโครงการเจาะสำรวจในปี 53 ดังนี้ 1.โครงการผลิตปิโตรเลี่ยมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข B12/27 แหล่งอุบล ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด 2.โครงการผลิตปิโตรเลี่ยมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข G1/48 ของบริษัท เพริ์ล ออยล์ (อมตะ) จำกัด 3.โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งมโนราห์ทะเลอ่าวไทย (เฟส 2) แปลงสำรวจหมายเลข G2/48 ของบริษัท เพิร์ล ออยล์ ออฟเชอร์ จำกัด 4.โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข G3/48 ของบริษัท เพริ์ล ออยล์ (อ่าวไทย) จำกัด 5. โครงการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งวาสนาทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข G10/48 ของบริษัท เพริ์ลออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด 6. โครงการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งนงเยาว์ทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข G11/48 ของบริษัท เพิร์ลออยล์ บางกอก จำกัด

อย่างไรก็ตาม ข้อเคลือบแคลงสงสัยในบริษัท เพิร์ลออย ไม่อาจที่จะตรวจสอบไปยังผู้ถือหุ้นได้ เนื่องจากบริษัทดังกล่าว ได้จดทะเบียนในหมูเกาะบริติช เวอร์จิ้นซึ่งได้รับสิทธิการปกปิดข้อมูลของผู้ถือหุ้นจึงทำให้ยากต่อการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณจะสิ้นสุดลงจากการรัฐประหารแต่การแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มทุนและนักการเมืองยังคงไม่จบสิ้น เนื่องจากมีการตั้งสังเกตจากแหล่งข่าวในแวดวงพลังงานว่า อาจมีการเปิดช่องครั้งสำคัญในยุคของรัฐบาล พ.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ว่าในขณะนั้นได้แก้ไขพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ด้วยการออก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2550) โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อนักลงทุนต่างชาติ และแหล่งพลังงานในอ่าวไทยมีขนาดเล็กจึงทำให้มีความเสี่ยงสูง รวมถึงช่วยให้มีการคล่องตัวในการดำเนินกิจการ

กล่าวโดยสังเขป ดังนี้ 1.มาตรา 14 รัฐมนตรีว่าการระทรวงพลังงานมีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวง ซึ่งควรที่จะออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี 2.มาตรา 33 การโอนสัมปทานสามารถทำได้เพียงได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี และ3. มาตรา 99 (ตรี) ลดหย่อนค่าภาคหลวงจากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 30 หรือรัฐจะได้ค่าภาคหลวงร้อยละ60-70 แต่แก้ไขให้สามารถลดหย่อนค่าภาคหลวงได้ถึงร้อยละ90 หรือรัฐได้เพียงร้อยละ10 เท่านั้นทำให้มีเงินส่งรัฐลดลงเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

“มีการมองว่าผู้ที่มีอำนาจในแวดวงพลังงานทั้งนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงพยายามที่จะแก้ไขกฎหมาย โดยในขณะนั้นอาจมี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวละครหลัก แต่การแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมก็พบว่า อาจเป็นการเปิดช่องให้กับกลุ่มต่างๆ ง่ายขึ้นทั้งในกลุ่มนักการเมือง หรือบริษัทเอกชนในลักษณะที่รัฐอาจเสียประโยชน์อย่างมหาศาล ”

ด้วยเหตุนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงส่งผลโดยตรงต่อการเข้าขอสัมปทานของบริษัทต่างๆโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กอย่างเพิร์ลออย ที่ได้รับสัมปทานในการสำรวจเป็นจำนวนมากแต่จุดสำคัญอีกประการก็คือ ผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้รับอย่างคุ้มค่าอาจจะได้น้อยลงอย่างมากและอยู่บนอำนาจตัดสินใจของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเพียงบางส่วนเท่านั้น และการต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิบนพื้นที่บนบก-ทางทะเล แม้ว่าไทยจะได้รับชนะในอนาคตผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตก็อาจไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปอย่างแน่นอน

ดังนั้น ความคืบหน้าจากฝั่งของประเทศกัมพูชาที่มีการสำรวจแหล่งพลังงานในอ่าวไทย ได้เริ่มต้นทำมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2540 เป็นต้นมา โดยอาศัยความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ เพื่อนำไปสู่ก้าวต่อไปในการขุดเจาะแหล่งพลังงาน คำถามก็คือ เหตุใดบริษัทธุรกิจพลังงานของประเทศมหาอำนาจจึงมีความสนใจในซึ่งต้องยอมรับว่า ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศกัมพูชาทั้งทางบก-ทะเลนั้นมีจำนวนมหาศาล ประกอบกับสงครามภายในประเทศที่สงบไปไม่นานนักทำให้กัมพูชาต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งเอื้อต่อการเข้าไปลงทุนได้ง่ายขึ้น

จุดสำคัญที่ถือว่าเป็นแม่เหล็กอีกประการหนึ่ง ก็คือ สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถือว่ามีอำนาจสูงสุด สามารถมีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินนโยบายและให้สิทธิสัมปทานให้กับบริษัทต่างประเทศ รวมถึงพื้นฐานด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา และความเข้มแข็งในการตรวจสอบจากสื่อมวลชนหรือ ภาคประชาสังคม นั้นไม่เข้มข้นและแข็งแกร่งเท่ากับประเทศไทย

“การลงทุนในไทยนั้นค่อนข้างยากหากจะเทียบกับการลงทุนในกัมพูชาและมีการเฝ้าระวังจากสื่อมวลชน ฝ่ายค้าน กลุ่มธุรกิจ รวมถึงภาคประชาชนที่เข้มแข็งกว่า ทำให้นักลงทุนหรือนักการเมืองเลือกที่จะแฝงตัวและเข้าไปขอสัมปทานในกัมพูชามากกว่า เนื่องจากเพียงเข้าติดต่อกับสมเด็จฯ ฮุนเซนก็เพียงพอแล้ว”

จึงแทบจะเรียกได้ว่าหากซื้อใจหรือมีผลประโยชน์ที่มากเพียงพอต่อสมเด็จฮุนเซนโครงการต่างๆก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ยากเย็น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง ยูโนแคล เชฟรอน เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ยักษ์ใหญ่ที่ได้เข้าไปขอสัมปทานกับกัมพูชาเป็นจำนวนมาก

เมื่อย้อนกลับมามองในฝั่งไทยอีกครั้ง การสำรวจและรับทราบถึงแหล่งพลังงานในอ่าวไทย เชื่อว่าในอดีตอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของความรู้และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและขุดสำรวจแต่หลังจากที่ไทยจัดตั้ง บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. (ภายหลังแปรรูปเป็น บริษัท ปตท.จำกัด มหาชน) เชื่อว่าองค์ความรู้ด้านพลังงานมีมากขึ้น รวมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้บริษัทเอกชนควรที่จะมีความรัดกุมและสร้างประโยชน์กับประเทศมากที่สุด

แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เมื่อพบว่าพื้นที่ในหลายแปลงมีการให้สัมปทานไปด้วยกันหลายแปลง และมีการโอนสัมปทานต่อให้กับผู้ประกอบการรายอื่น รวมถึงจากเดิมที่การให้สิทธิสัมปทานจะผ่านการพิจารณาโดยการลงมติของคณะรัฐมนตรี (พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ปี 2514) แต่ในปัจจุบันให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเท่านั้น ซึ่งแต่เดิมที่ถือว่าน้อยแล้ว เมื่อแก้ปัญหากับยิ่งน้อยลงและทำให้สามารถให้สัมปทานได้ง่ายขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจพลังงานในประเทศสหรัฐอเมริกา การอนุมัติให้สิทธิสัมปทานในการขุดเจาะและสำรวจพลังงานจะต้องผ่านการลงมติจากสภาครองเกรสหรือในประเทศเม็กซิโกจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะอนุมัติให้สิทธิสัมปทานแก่เอกชนหรือการโอนสัมปทานให้กับผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

“วันนี้จึงมองว่านักการเมืองและข้าราชการทำตัวคล้ายกับนายหน้าที่ขายทรัพยากรของชาติให้กับชาวต่างชาติ โดยมีการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้มีสิทธิทำธุรกิจได้มากขึ้นโดยไม่จำกัดจำนวนมากและปริมาณของพื้นที่ในการถือครอง โดยให้ผลตอบแทนต่อรัฐลดลง รวมถึงข้อสงสัยในแวดงวงพลังงานถึงการประมูลที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเงินทุนในหลักหมื่นล้านที่แพ้การประมูลสัมปทานจากการเขียนแผนธุรกิจให้กับบริษัทที่มีเงินทุนในหลัก 100 ล้าน ซึ่งว่าแทบไม่มีความเป็นไปได้เลย หรืออาจมองได้ว่ามีผู้อิทธิพลบางส่วนยอมให้สิทธิ์ในอ่าวไทยหรือแบ่งกันเล่นคนละพื้นที่มากกว่า”

ดังนั้น จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า การให้สัมปทานในอ่าวไทยซึ่งในพื้นที่ของไทย มีการให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนไปหมดทุกแปลงแล้ว โดยมีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่แต่ที่น่าจับตาอย่างที่สุดก็คือ บริษัท เพิร์ลออย ที่มีทุนจดทะเบียนในหลัก 100 ล้าน บาทเท่านั้นแต่กลับชนะการประมูลขอสัมปทานต่อบริษัทใหญ่ได้เป็นจำนวนมาก

รวมถึงหลักเกณฑ์ในการประมูลสัมปทานของธุรกิจขพลังงาน ที่นอกเหนือจากการให้ราคาที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐมากที่สุดแล้ว แผนทางธุรกิจและการพัฒนาเครือข่ายในการขุดเจาะและนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ในแง่ต่างๆก็ถือเป็นเกณฑ์สำคัญในการให้สิทธิสัมปทานด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเม็ดเงินกับบริษัทเล็กๆอย่างเพิร์ลออย และบริษัทใหญ่ของไทยอย่าง ปตท.สผ.ก็มีความเป็นไปได้ว่าแผนงานของ ปตท.สผ.ควรจะมีศักยภาพที่ดีกว่าโดยไม่นับรวมถึงบริษัทธุรกิจพลังงานของต่างประเทศที่มีเม็ดเงินเป็นจำนวนมากอย่าง เชฟรอนหรือยูโนแคลที่ไม่ได้สิทธิในพื้นที่ดังกล่าวด้วย จึงชวนให้คิดว่า ผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นผู้มีสิทธิในการให้สัมปทานมากพอที่จะกดดันบริษัทเหล่านี้หรือไม่

นอกจากนี้ ข้อเท็จริงที่พบจาก ข้อมูลการให้สัมปทานขุดเจาะพลังงานพบว่าในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ทะเลอันดามัน) ของไทยมีบริษัท ปตท.สผ.ได้รับสิทธิเพียงเจ้าเดียว ขณะที่พื้นที่ของอ่าวไทยนั้นมีความหลากหลายของการลงทุนมากว่า ขณะที่บริษัทเล็กๆ อย่างเพิร์ลออยก็ได้สิทธิทั้งบนบก-ทะเลอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณพื้นที่ทับซ้อนของไทย-กัมพูชาด้วย

ทั้งนี้ ยังรวมถึงการแก้ไขการลดหย่อนค่าภาคหลวงจากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 30% เป็น 90% ในกรณีที่เอกชนเข้าขุดเจาะและสำรวจแล้วไม่พบแหล่งพลังงานหรือพบน้อยจนทำให้ไม่คุ้มค่าการลงทุนก็จะเสียค่าภาคหลวงให้กับรัฐเป็นสัดส่วนที่ลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่สวนทางกับการให้ความผลสำรวจและความสนใจของบริษัทยักษ์ใหญ่ในแหล่งพลังงานอ่าวไทย

“สิ่งที่เห็นในตอนนี้ก็คือมันมากกว่าการขายชาติ เพราะเป็นการขายอนาคต เป็นการขายขุมทรัพย์ของไทย ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากไทยได้ประโยชน์จากการให้สัมปทานอย่างคุ้มค่าแล้ว การทำรัฐสวัสดิการย่อมเป็นไปได้แต่การให้สิทธิเช่นนี้ ทำให้ประโยชน์ที่ควรได้ลดลงอย่างมาก” แหล่งข่าวในแวดวงพลังงาน ทิ้งท้าย

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต่อจากนี้จำเป็นต้องมองใน 3 แนวทาง ดังนี้

1. กรณีพิพาทในเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเน้นในจุดของพื้นที่เขาพระวิหาร เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับจากเอ็มโอยู 43 โดยกัมพูชาแนบแผนที่ 1ต่อ 200,000 ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบกับพูชาทั้งในทางบกและทางทะเล ซึ่งจากกัมพูชาใด้ใช้แผนที่ดังกล้าวในการลากเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในอ่าวไทยและกินเนื้อที่ของอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะมีแหล่งพลังงานมหาศาลอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเดินหน้าเพื่อยกเลิก 43 ก่อน

2. กรณีการจำเป็นต้องยกเลิกเอ็มโอยู ปี 44 ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำลงนามข้อตกลงในการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลร่วมกับกัมพูชา เท่ากับว่าไทยยอมรับว่าพื้นที่ทับซ้อนเป็นของไทย-กัมพูชาที่ต้องแสวงประโยชน์ร่วมกันแม้ว่าจะเห็นได้ชัดจากกรณีของเกาะกูด จ.ตราด จะถูกแบ่งให้กับกัมพูชาเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ให้การให้สิทธิสัมปทานแก่บริษัทพลังงานได้ จึงจำเป็นต้องยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าวเช่นกัน

3.พ.ร.บ.ปิโตรเลียมแห่งชาติ ที่ยังถือว่าเป็นปัญหาในหลายส่วนจำเป็นต้องนำมาปรับแก้เนื่องจากรัฐได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และหากรัฐบาลไทยต่อสู้ในเรื่องพื้นที่พิพาททั้งทางบก-ทะเลจนได้รับชัยชนะก็อาจได้ประโยชน์จากทรัพยากรของชาติที่เสียไปน้อยเกินไปกว่าที่ควรจะเป็น

แหล่งข่าวด้านพลังงาน ย้ำด้วยว่า แม้ภาคประชาชน หรือรัฐบาลจะพยายามต่อสู้จนสามารถชนะและได้สิทธิ์ในอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาททางบกในกรณีเขาพระวิหารแล้ว แต่จุดที่น่ากังวลคือความเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ทางทะเลก็ยังคงมีปัญหาให้กลับมาแก้ไขด้วยเช่นกันเนื่องจากสัมปทานที่ให้ไปนั้นพร้อมที่จะเดินหน้าโดยบริษัทต่างๆโดยที่ประเทศไทยอาจจะได้รับผลตอบแทนจากการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาแสวงหาทรัพยกรสำคัญนี้โดยที่รัฐบาลอาจได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น...

“นักวิชาการ-ความมั่นคง” ยันปมความขัดแย้งพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.จะนำไปสู่การปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาแน่ แต่จะไม่พัฒนาไปถึงขั้นสงครามระหว่างประเทศ เนื่องจากจะเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ ยันรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องกล้าที่จะไล่คนเขมรออกจากพื้นที่ขัดแย้งก่อนครอบครองปฏิปักษ์ เปิดโปงปัญหาใหญ่ “นักการเมืองไทยกลุ่มใกล้ชิดทักษิณ-ทหาร” ตัวดี กดดันมาร์คยอมเขมร!

กรณีความขัดแย้งปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารนั้น ได้กลายเป็นเรื่องร้อนแรงที่สุดในประเทศไทยเวลานี้ ที่เกิดความตื่นตัวอย่างสูงสุดในภาคประชาชน โดยเฉพาะประเด็นการขับไล่ประชาชนชาวกัมพูชาที่รุกล้ำมาตั้งรกรากในบริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกตัดสินไปแล้วว่าเป็นของไทยตั้งแต่ พ.ศ.2505 และเป็นการละเมิดข้อตกลง ไทย-กัมพูชาใน MOU43 ที่ชัดเจนที่สุด จนนิด้าโพลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนแล้วได้ผลว่า 69.55% ของประชาชนไทยหนุนให้ผลักดันเขมรพ้นพื้นที่ร้อนดังกล่าว รวมกับภาคประชาชนที่บีบให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกระทำการเพื่อรักษาดินแดนไทยด้วยวิธีที่เด็ดขาด จนสมเด็จฯ ฮุนเซนเองก็ประกาศพร้อมนองเลือดหากไทยมีการยิงเข้าไปในพื้นที่ปัญหาดังกล่าว

ความขัดแย้งทั้งหมดในปมปราสาทพระวิหารนี้ รวมไปถึงการขับไล่ประชาชนกัมพูชาออกจากพื้นที่ของไทยนั้น ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากทุกฝ่ายว่า อาจเป็นชนวนที่นำไปสู่สงครามระหว่างประเทศหรือไม่?


เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยถือว่าได้เปรียบประเทศกัมพูชาอย่างมาก ถ้ายึดเอาคำตัดสินของศาลโลกปี 2505 ขึ้นมา เพราะไทยมีหลักฐานแน่นหนาว่ากัมพูชากำลังทำผิดต่อคำสั่งศาลโลก อีกทั้งยังมีสนธิสัญญาสันปันน้ำที่กัมพูชาจะเข้าครอบครองพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของไทยไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นหลักฐานสำคัญ และไทยได้เปรียบ แต่ปัญหาติดอยู่ที่รัฐบาลกับกระทรวงต่างประเทศเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศดีพอหรือไม่

รวมทั้งรัฐบาลมีความกล้าหาญแค่ไหนที่จะเข้ายึดพื้นที่เป้ยตาดี และล้อมรั้วลวดหนามใหม่ ซึ่งกัมพูชาจะไม่สามารถมาคัดค้านต่อต้านได้ เพราะไทยยึดหลักสันปันน้ำเป็นอธิปไตยของชาติ

“ตอนนี้รัฐบาลต้องเลือกว่าจะทำอย่างไร หรือปล่อยให้ประชาชนกัมพูชาครอบครองในเขตพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารต่อ จนกลายเป็นปัญหาครอบครองปฏิปักษ์ หรือจะเผชิญหน้ารักษาผลประโยชน์ชาติ ซึ่งสุดท้ายแล้วยังเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะเลือกมีปัญหาภายนอกประเทศมากกว่าเผชิญปัญหาภายในประเทศ เพราะมีศักดิ์ศรีและได้คะแนนเสียง”

อย่างไรก็ดี ทันทีที่รัฐบาลไทยกล้าหาญ และเข้าไปยึดพื้นที่ความขัดแย้งคืน เชื่อว่าจะเกิดการปะทะกันในพื้นที่ทันที เนื่องจากสมเด็จฮุน เซน ประกาศแล้วว่าพร้อมนองเลือดทันที แต่ไม่ใช่สิ่งที่ไทยต้องกลัว เพราะไทยเป็นฝ่ายถูกต้องตามกติกาสากล โดยเฉพาะต่อคำสั่งศาลโลกปี 2505

“ปะทะกันแน่ แต่พอเกิดการปะทะแล้วก็จะสามารถเคลียร์ได้ และจะกลับไปอยู่ในสภาพเดิมตามคำตัดสินของศาลโลก แม้กระทั่ง สมเด็จสีหนุก็ทราบดีว่าการขึ้นสู่ปราสาทพระวิหารจำเป็นต้องเดินขึ้นบันไดเล็กเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยจะทำหรือไม่”

นอกจากนี้ ยังมั่นใจว่าการปะทะจะไม่กลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ หากรัฐบาลไทยทำการยึดคืนพื้นที่อย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลามาก แต่ถ้ายืดเยื้อ กัมพูชาก็จะใช้วิธีไปร้องสหประชาชนติ หรือคณะมนตรีความมั่นคง และอาจทำให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าใจประเทศไทยผิด ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่ และกระทรวงต่างประเทศของไทยจำเป็นต้องชี้แจงตามหลักฐานข้อเท็จจริง

ด้าน ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ประเมินว่า ความขัดแย้งเรื่องปราสาทพระวิหารของไทย-กัมพูชา จะเกิดการปะทะตามพื้นที่ปัญหาแน่นอน และอาจจะมีการปะทะหลายครั้ง แต่จะไม่พัฒนาต่อเป็นสงครามระหว่างประเทศ เพราะไทยและเขมรยังมีสัญญาณที่ส่งออกมาบ่งบอกว่า ทั้งสองจะยังยึดหลักมาตรการทางการทูตเป็นหลัก

โดยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีระดับความสัมพันธ์ 3 ระดับด้วยกัน คือ

1.ในกรณีผลประโยชน์ของทั้ง 2 หรือมากกว่า สอดคล้องกัน ความสัมพันธ์ถือว่าดี

2.กรณีผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศขัดแย้งกัน แต่สามารถตกลงกันได้ ก็สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีได้

3.กรณีผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศขัดแย้งกัน โดยเฉพาะผลประโยชน์สำคัญยิ่งของชาติ ไม่สามารถประนีประนอมได้ คือเรื่องเกี่ยวกับ อธิปไตย,ดินแดนของชาติ,และระบอบการปกครองของชาติ

ในส่วนนี้ประเทศต่างๆ จะใช้มาตรการด้านอื่น เช่น มาตรการทางการฑูต ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง เพื่อหาวิธีประนีประนอม แต่หากไม่ได้ผล ถึงจะมีการใช้มาตรการทางการทหาร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะมีแค่ 2 คำตอบคือ แพ้ หรือชนะ เท่านั้น ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องการที่จะเป็นผู้ชนะ ดังนั้นจึงจะมีการต่อสู้กันเสียเลือดเนื้ออย่างมาก

“ไม่มีประเทศไหนที่จะอยากใช้มาตรการทางการทหารในการแก้ปัญหา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เล็กกว่าอย่างกัมพูชา คือไม่มีผู้นำประเทศที่เล็กกว่าประเทศใดที่ใช้มาตรการทางการทหารกับประเทศใหญ่กว่า เพราะถ้าทำอย่างนั้นไม่บ้า ก็เมา ยกเว้นว่าจะดึงประเทศอื่นที่ใหญ่กว่ามาร่วม แต่ก็ไม่มีผู้นำประเทศไหนเห็นด้วยกับการใช้กำลังทหาร ซึ่งเชื่อว่ากัมพูชาก็ตระหนักในเหตุผลนี้ดี แม้สมเด็จฯ ฮุนเซนจะมีลักษณะเขี้ยวลากดิน ซึ่งตรงนี้เป็นแค่เกมการเมืองที่เก่งของฮุนเซน เพราะอยู่ในอำนาจถึง 20 กว่าปีเท่านั้น”

ขณะที่ แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าสงครามระหว่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นได้ยากกว่านั้นคือ ปัญหาภายในประเทศไทยเอง

“คนไทยโดยเฉพาะนักการเมืองหลายกลุ่มเข้าไปมีผลประโยชน์ในกัมพูชาเยอะมาก คนเหล่านี้กำลังลอบบี้รัฐบาลเพื่อไม่ให้ทำอะไรที่จะนำไปสู่การปะทะและสงครามระหว่างประเทศ เพราะห่วงธุรกิจของตัวเอง”

โดยธุรกิจที่กลุ่มนักการเมืองไทยเข้าไปหาผลประโยชน์ในประเทศกัมพูชาอย่างมากนั้นประกอบด้วย ธุรกิจบ่อนกาสิโน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าชายแดน และบริษัทน้ำมันทั้งไทยและต่างประเทศที่หวังผลประโยชน์การได้สัมปทานน้ำมันจากประเทศกัมพูชา

“ตอนนี้มีความเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลใต้ดินกันเยอะมาก โดยเฉพาะธุรกิจการค้าชายแดน กับ บ่อนกาสิโนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดหากมีสงครามเกิดขึ้น”

เขาบอกอีกว่า นักธุรกิจไทยที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในกัมพูชานั้น ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองไทย และเป็นกลุ่มทุนที่ผูกอยู่กับระบบการเมืองไทยอย่างแยกไม่ออก โดยกลุ่มนักการเมืองไทยที่ไปมีผลประโยชน์ในกัมพูชามากที่สุดเป็นกลุ่มทุนในกลุ่มคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนอกจากนี้ยังมีกลุ่มทหารที่เข้าสู่การเมืองที่เข้าไปมีผลประโยชน์ด้านการค้าชายแดนด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้หลายคนมีอิทธิพลกับพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เนื่องจากสนับสนุนด้านทุนให้กับพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ดังนั้นจึงมีอิทธิพลมากพอที่จะบีบรัฐบาลไม่ให้กระทำการรุนแรง เพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านการค้าของกลุ่มตัวเองด้วย

“ทหารมีทั้งฝ่ายที่ไปอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และฝ่ายตรงข้ามก็มี คือมีผลประโยชน์ด้านการค้าชายแดน โดยเฉพาะทหารระดับสูง ส่วนทหารที่อยากรักษาดินแดนก็เป็นทหารระดับล่าง จึงถูกกุมอำนาจตัดสินใจจากกลุ่มทหารการเมืองไปหมด”

และนี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด!

พลเรือโท ประทีป ชื่นอารมณ์ แนะเลิกMOU44 พับเก็บการลากเส้นเขตแดนทางทะเลของไทยและกัมพูชาทั้ง 2ฉบับ เดินหน้าใช้วิธีการฑูตดึงฮุนเซ็นเข้าสู่โต๊ะเจรจาใหม่ เพื่อดำเนินการลากเส้นเขตแดนทางทะเลใหม่ ระบุจะเป็นประโยชน์กับไทยมากกว่า เพราะจะทำทำให้ได้พื้นที่ทางทะเลมากขึ้น และลดอำนาจต่อรอง ผลประโยชน์กัมพูชาต่อชาติมหาอำนาจ เพราะจำนวนพื้นที่ผลประโยชน์ลดน้อยลง

จากกรณีการตอบกระทู้ของรัฐมนตรีต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ตัวแทนนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเกี่ยวกับ 3แนวทางเลือกดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา ได้แก่ หนึ่ง-ขีดเส้นแบ่งชายฝั่ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน สอง-หาเส้นตรงตรงระหว่าง 2ประเทศ และสาม-หาเส้นแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2ประเทศ

พลเรือโท ประทีป ชื่นอารมณ์ นายทหารเรือที่เกาะติดสถานการณ์ไทย-กัมพูชามาโดยตลอด ให้ความเห็นต่อท่าทีล่าสุดของผู้นำกัมพูชาที่แสดงออกอย่างแข็งกร้าว และการสนับสนุนของประเทศมหาอำนาจเช่น ฝรั่งเศส ต่อปมปัญหาดังกล่าว กับ “ ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” ว่า เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ตอกย้ำว่า กัมพูชากับชาติมหาอำนาจเอื้อผลประโยชน์ทางทะเลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ หากเอ็มโอยู 2544 ไม่สามารถยกเลิกได้และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลยังคงอยู่ จะทำให้กัมพูชามีอำนาจต่อรองกับชาติมหาอำนาจได้มาก โดยเฉพาะปริมาณแหล่งผลประโยชน์ของกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อนกว่าเท่าที่ควร เพราะหากเอ็มโอยู 2544 ยกเลิกและมีการขีดเส้นเขตแดนทาง
ทะเลกันใหม่ จะส่งผลให้พื้นที่ปริมาณแหล่งผลประโยชน์ของกัมพูชาลดน้อยลง และทำให้อำนาจต่อรองของกัมพูชาลด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวก็มีคำถามกลับมาว่า ไทยเอื้อผลประโยชน์ให้กับชาติมหาอำนาจน้อยกว่ากัมพูชาหรือไม่ ทั้งที่พื้นที่ทับซ้อนบริเวณนั้นไทยมีสิทธิและเอื้อผลประโยชน์ได้เช่นเดียวกันและตรงกันอาจให้มากกว่า แต่หากพิจารณาในมุมมองของชาติมหาอำนาจในการเลือกร่วมมือแบ่งผลประโยชน์ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเจริญแตกต่างกันเช่นไทยกับกัมพูชา ชาติมหาอำนาจย่อมเลือกกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญน้อยกว่าไทย เพราะง่ายต่อการยื่นข้อเสนอแบ่งปันผลประโยชน์

โดยเฉพาะผู้นำกัมพูชาอย่างฮุนเซ็นที่มีความไม่แตกต่างไปจากทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่คำนึงถึงว่า ประชาชนกัมพูชาจะยากจนอย่างไรและ ยังคงใช้อำนาจอย่างเผด็จการในการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับชาติมหาอำนาจตจำนวนเท่าไหร่ ประชาชนก็ไม่สามารถแสดงออกคัดค้านได้ ซึ่งเป็นข้อด้อยของกัมพูชา แต่เป็นจุดแข็งในการแสดงหาผลประโยชน์ร่วมกับชาติมหาอำนาจ

“พื้นที่ทับซ้อน ผลประโยชน์ของกัมพูชาที่จะได้รับลดน้อยลงอย่างแน่นอน หากมีการยกเลิกเอ็มโอยู 2544 และยกเลิกการขีดเส้นเขตแดนทางทะเลของทั้งสองประเทศแล้วมีเจรจาตกลงกันใหม่ ส่วนตัวเชื่อว่า วิธีการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากกว่า เพราะเราเชื่อว่าเส้นเขตไหล่ทวีปที่ไทยขีดนั้นถูกต้องตามหลักวิชาการมากกว่ากัมพูชา กล่าวคือ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เกิดขึ้นจากข้อโต้แย้งที่มีเหตุมีผลจะมีพื้นที่ทับซ้อนน้อยกว่านี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าของพื้นที่อ่าวไทยอย่างสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียวและในพื้นที่จำนวนมากกว่านี้”

ทั้งนี้ตามหลักวิชาการนั้น ในแง่ความชอบธรรมในการกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทยและกัมพูชานั้น ทางกัมพูชามีความไม่ชอบธรรมากกว่า เพราะการลากเส้นเขตไหล่ทวีปต้องลากจากเส้นฐาน โดยรัฐชายฝั่งของแต่ละประเทศจะต้องกำหนดขีดจากเส้นฐาน ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ เส้นฐานตรง เป็นเส้นฐานที่ลากเชื่อมระหว่างเกาะกับเกาะ หรือ หินกับหิน และเส้นฐานปกติ เป็นเส้นที่แนบตามขอบชายฝั่งตามระดับน้ำทะเลลดต่ำสุดหรือปานกลางให้ได้ก่อน จากนั้นจึงดำเนินการตาม 3 แนวทางที่กำหนดไว้

“หนทางที่ดีที่สุดในการปฏิเสธก็คือ การยกเลิกเอ็มโอยู 2544 จากนั้นก็ใช้วิธีดำเนินการทางการฑูตระหว่างประเทศให้กัมพูชามาตกลงเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลกับไทย โดยกัมพูชาให้ยกเลิกการลากเส้นเขตแดนทางทะเลที่ได้ทำไว้ในปี พ.ศ.2515 ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องยกเลิกการลากเส้นเขตแดนบริเวณไหล่ทวีป เมื่อปี พ.ศ.2506 เช่นเดียวกัน แล้วจากตั้งโต๊ะเจรจาในประเด็นดังกล่าวกันทั้งสองประเทศ” นายทหารเรือคนเดิมบอกในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง