ผู้ช่วยรัฐมนตรี
เมื่อแรกเริ่มที่จะมีตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น เกิดจากรัฐมนตรีหลายคนปรารภว่าการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ลดจำนวนรัฐมนตรีทั้งคณะจาก 49 คน เหลือ 36 คน ทำให้ไม่พอแก่การทำงาน บางกระทรวงงานล้นมือ รัฐมนตรีต้องเดินทางไปเจรจาความเมืองต่างประเทศบ่อย ม็อบก็มากันจริง นายกฯ ยังจะขยันเรียกประชุมหัวไม่ได้วาง หางไม่ได้เว้น รัฐมนตรีช่วยก็ไม่มี เพราะโควตาครบ 36 คนเสียแล้ว
ต่อมาเสียงบ่นเป็นว่าเวลาเราไปเมืองนอกเขาก็จัดให้แค่ผู้ช่วยรัฐมนตรีมาต้อนรับ ของเราเวลาผู้ช่วยรัฐมนตรีเขามา รัฐมนตรีช่วยว่าการเขามา ต้องเดือดร้อนถึงรัฐมนตรีทุกทีไป ไหนจะต้อนรับ ไหนจะนั่งโต๊ะเจรจา ไหนจะพาไปเลี้ยง มันเป็นภาระไปโหม้ด!
ว่าแล้วก็มีการทวงถามขึ้นกลาง ครม. ว่าทำไมเราจึงไม่มีผู้ช่วยรัฐมนตรีบ้าง นายกฯ ทักษิณชี้มาที่ผมว่าให้ไปดูว่าทำอย่างไรถึงจะมีได้
ผมปรึกษากับผู้รู้หลายคนเห็นว่าตามระบบและโดยกฎหมายของเราไม่อาจทำได้ แต่ที่จะพออนุโลมใกล้เคียงโดยมีกฎหมายรองรับที่สุดก็คือการให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทำนองเดียวกับที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการต่าง ๆ แต่ให้เรียกว่ากรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
เมื่อเป็นกรรมการก็ต้องมีการประชุมกันในรูปของคณะกรรมการ แต่ยามใดไม่มีการประชุม นายกฯ อาจมอบหมายให้กรรมการแต่ละคนไปช่วยงานกระทรวงต่าง ๆ ได้
ผมเป็นคนยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีซึ่งใช้มาจนบัดนี้ร่วม 5 รัฐบาลแล้ว สาระสำคัญคือกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่ตั้งจากข้าราชการประจำ และไม่ตั้งจาก ส.ส. ส.ว. เพราะเจตนาให้มาช่วยงานจริง ๆ ไม่ใช่มาเป็นไม้ประดับหรือเป็นเกียรติยศ และไม่ได้ต้องการให้เป็นที่ปรึกษาเพราะมีอยู่ต่างหากแล้ว
งานจริง ๆ ของกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคือให้ช่วยรับแขก ให้ช่วยรับปัญหาร้องทุกข์ ไปบรรยายหรือเปิดงานปิดงานแทนรัฐมนตรี ช่วยเจรจาเบื้องต้นที่ไม่ผูกมัด กระทรวง รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี เวลาตั้งไม่ต้องโปรดเกล้าฯ และเข้าประชุมสภาหรือ ครม.ไม่ได้ รัฐมนตรีตัวจริงจะได้เอาเวลาไปทำเรื่องที่เป็นชิ้นเป็นอันกว่าการยืนเกาะโพเดียม ตัดริบบิ้น หรือเก๊กท่าถ่ายรูปหมู่ ในระเบียบที่ว่านั้นเขียนไว้ด้วยว่าห้ามผู้ช่วยรัฐมนตรีแทรกแซงราชการประจำ ห้ามก้าวก่ายการบริหารราชการแผ่นดินและนโยบาย และห้ามเรียกข้าราชการประจำมาสั่งงาน
ส่วนค่าตอบแทนให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งผมไม่นึกเลยว่ากระทรวงการคลังเกิดจะมือเติบให้ค่าตอบแทนกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีเดือนละหลายหมื่นบาทต่อคน
ผมเคยส่งเรื่องไปขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดให้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเสียด้วย แต่ท่านตอบมาว่ายังไม่จำเป็น!
คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความแล้วว่าแม้ผู้ช่วยรัฐมนตรีจะไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีจึงเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจไม่ได้
จากวันนั้นถึงวันนี้การตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีดูจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และแบ่งโควตากันตามพรรคร่วมรัฐบาลเสียด้วย ผู้ช่วยรัฐมนตรีบางคนบางสมัยทำตัวเป็นรัฐมนโททั้งที่ลำดับอาวุโสต่ำกว่ารัฐมนตรีช่วยหรือปลัดกระทรวง เช่น ทำบัญชีโยกย้ายในกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ เรียกข้าราชการมาพินอบพิเทา ให้สัมภาษณ์รายวัน บางคนก้าวลงไปถึงเรื่องนโยบาย ที่สำคัญคือไม่เคยประชุมประเมินผลงานร่วมกันทั้งที่ตำแหน่งจริง ๆ คือคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่ผู้ช่วยรัฐมนตรีบางคนก็มือถึงจริง ๆ จนน่าจะตั้งให้เป็นรัฐมนตรีตัวจริงเสียเลยแล้วเอารัฐมนตรีลงมาเป็นผู้ช่วยคอยเปิดงานปิดงานแจกถ้วยรางวัล
ไหน ๆ จะยอมให้มีแล้ว ใครก็ได้ช่วยทำกฎหมายว่าด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรีทีเถอะครับ กำหนดคุณสมบัติ ค่าตอบแทนและหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้ด้วย รวมทั้งช่วยเขียนหน้าที่ วินัย และโทษสำหรับพวกเข้ามาแสวงหาประโยชน์หรือทำผิดหน้าที่ให้ชัดเจน เรื่องพวกนี้กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกฯ ไม่ได้ จึงต้องตราเป็นกฎหมาย ถ้าทำไม่ได้ก็ยกเลิกผู้ช่วยรัฐมนตรีเสีย
ไหน ๆ ก็จะปฏิรูปการเมืองกันแล้ว ผมว่าเรื่องนี้น่าทำกว่าสูตรพรรคไหนได้คะแนนปาร์ตี้ ลิสต์มากกว่าก็ให้เป็นคนตั้งรัฐบาลเสียอีก.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น