นายกษิต กล่าวว่า คณะดำเนินการด้านกฎหมายของไทย นำโดยนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ได้ให้ข้อมูลต่อศาล ในเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยมให้การโต้แย้งคำให้การของกัมพูชา เน้นว่าการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นอำนาจนอกเหนือศาลโลก
ส่วนการที่กัมพูชาเรียกร้องให้ขยายความคำตัดสินกรณีปราสาทพระวิหาร ในเรื่องเส้นเขตแดนนั้น เป็นเรื่องเกินขอบเขตอำนาจศาล และศาลก็ไม่มีอำนาจพิจารณาในคดีเดิม เนื่องจากการยื่นร้องกรณีปราสาทพระวิหารปี 2505 ที่ไม่ได้ร้องขอต่อศาลเกี่ยวกับเรื่องเขตแดน หากกัมพูชาอยากจะทราบในส่วนนี้ ก็ต้องยื่นร้องต่อศาลใหม่
ระบุไทยปฏิบัติตามคำตัดสินศาลโลกมาตลอดแต่เขมรกล่าวหาไม่หยุด
ทั้งนี้เนื่องจาก ในปี 2505 ศาลโลกมีคำตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา แต่ศาลก็ไม่ได้มีคำตัดสินในเรื่องเขตแดน ขณะที่ไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกครบถ้วนแล้ว ทั้งการถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร และคืนวัตถุโบราณให้กับกัมพูชาไปแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน แต่กัมพูชายังกล่าวหาว่าไทยยังไม่ถอนทหาร ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริง ไทยจึงต้องเน้นย้ำในเรื่องนี้ให้ศาลโลกได้ทราบ
"ตลอดเวลาที่ผ่านมา กัมพูชายอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ตามมติของคณะรัฐมนตรี ยุครัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 10 ก.ค. 2505 ที่มีขึ้นเพื่อเป็นการปฎิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยฝ่ายกัมพูชานิ่งเฉย และไม่ได้ทักท้วงใดๆมานานกว่า 40 ปี แต่การที่กัมพูชาพึ่งจะออกมาเรียกร้อง สืบเนื่องจากที่กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และต้องการพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งหมายถึงพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เข้ามาประกอบในแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร"นายกษิตกล่าว
นายกษิต กล่าวว่า ในระหว่างที่ไทยชี้แจงต่อศาลและโต้แย้งคำให้การของกัมพูชา ฝ่ายไทยได้แสดงภาพถ่ายสไลด์ต่อศาลโลก ที่ทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 10 ก.ค. 2505 ซึ่งเป็นภาพถ่ายรั้วแนวเส้นแบ่งเขตตรงปราสาทพระวิหาร ที่ระบุชัดว่า พื้นที่หลังรั้วตรงตัวเป็นปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ที่กัมพูชายอมรับ แม้ว่าแนวรั้วจริงจะทรุดโทรมไปบ้างในสมัยเขมรแดง แต่มีบางส่วนที่มีร่องรอยให้เห็นอยู่สามารถตรวจสอบได้
นายกษิต ระบุว่า การที่กัมพูชาต้องการให้ถอนทหารก็ต้องยื่นฟ้องใหม่ และต้องระบุให้ครบถ้วนว่า มีทหารกัมพูชา และไทยอยู่ตรงชุดไหนบ้าง เนื่องจากเรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจศาลเช่นกัน
เชื่อประเทศมหาอำนาจเข้าใจข้อเท็จจริงมากขึ้น
เมื่อถามว่า มีความมั่นใจขนาดไหน เนื่องจากมีประเทศมหาอำนาจให้การสนับสนุนกัมพูชาอยู่ นายกษิต กล่าวว่า คงไม่เหมือนเดิม เนื่องจากครั้งนั้นกัมพูชาพึ่งประกาศเอกราช แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เป็นเรื่องผลประโยชน์และความร่วมมือที่ทับซ้อนกัน จะบอกว่าประเทศไหนสนับสนุนประเทศใดคงจะลำบาก ซึ่งในศาลโลกประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 คน ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่หลากหลาย
ขณะที่ ผู้พิพากษาเฉพาะกิจที่ไทยและกัมพูชาแต่งตั้งขึ้น ฝ่ายละ 1 คน จะช่วยถึงการให้ข้อมูลต่อศาลโลกเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ความมั่นใจขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อม ซึ่งเราได้เตรียมการมา 2 ปีแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีการพบปะกับที่ปรึกษาชาวต่างชาติกว่า 10 ครั้ง และยังมีการลงพื้นที่ใกล้กับประสาทพระวิหารเพื่อดูสถานที่จริงทั้งทางบกและ ทางทะเลที่บริเวณเกาะกูด
อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาครั้งนี้ จะทราบอีก 4 สัปดาห์ข้างหน้า หรือประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2554
ซัดทักษิณให้ท้ายเขมร
เมื่อถามว่า การที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า เอะอ่ะอะไรประเทศไทยก็ยิงเข้าประเทศเพื่อนบ้าน นายกษิต กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชาอยู่หรือไม่ พูดได้อย่างไร ทำไมถึงให้ท้ายกัมพูชาตลอดเวลา มีเหตุผลอะไรที่ประเทศไทยจะทำร้ายประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา สิ่งสำคัญอยู่ที่ประเทศไทยไม่เคยกุเรื่องขึ้นมาเพื่อต้องการดินแดนของประเทศ อื่น
"ความเป็นจริงเราให้ความช่วยเหลือกัมพูชาเสมอมา เหตุใด พ.ต.ท.ทักษิณจึงพูดกล่าร้ายต่อไทย ขอให้คิดใหม่และพูดใหม่ในเรื่องนี้"นายกษิต กล่าว
ส่วนที่มีการปลุกระดมคนผ่านทางเฟสบุ๊กให้ไปชุมนุมประท้วงหน้าศาลโลกนั้น ก็มีชาวกัมพูชาประมาณ 20 คน ไปชุมนุมบริเวณหน้าศาลโลกได้สักพัก และก็เดินทางกลับ โดยในกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่มีคนไทยแต่อย่างใด เนื่องจากคนไทยรู้ว่าอะไรเป็นอะไร"นายกษิตกล่าว
ที่มา : ไทยโพส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น