บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตรวจชายแดนจรวดตก คนไทยฉุน 'ระบอบฮุน เซน'



     
         วัน ที่ 26 เมษายน 2554 สำหรับหลายคนอาจไม่มีความหมาย แต่กับคนไทยตามแนวชายแดนกัมพูชา บ้านโคกกระชาย ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง, บ้านหัวอ่าง บ้านรุน บ้านอำปึล ต.บักได อ.พนมดงรัก, ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ต้องจดจำ
จำจรวดชุด บีเอ็ม 21 หลายลูกของเขมรหลายร้อยลูกพุ่งตกกลางหมู่บ้าน หลังคาบ้าน กลางสวนยาง นา ไร่ เสียหายยับ ถ้าไม่มีแจ้งเตือนและอพยพคนออกมาก่อนสองสามระลอก คงจะล้มตาย บาดเจ็บมากกว่าที่เห็น

เฉพาะบ้านโคกกระชาย ม.13 ต.สายตะกู นับได้ 6 ลูก ชาวบ้านบาดเจ็บ 4 คน คือ 1) นายสนั่น เติมประโคนชัย แขนขวาหัก แผลฉีกขาดถึงกระดูกข้อศอก 2) นายธนาศิลป์ เสาเปรีย สะเก็ดเข้าข้อเท้าขวา 3) นางบานเย็น หาญเชี่ยว และ 4) นายสนม เติมประโคน สะเก็ดระเบิดเข้าแผ่นหลัง บ้านเสียหาย 2 หลัง และวัวตาย 1 ตัว
ที่บ้านหัวอ่าง ต.บักได พ่อบ้านคนหนึ่งเล่าว่า จรวดตกสวนยางพาราไหม้เกือบวายวอด อีกลูกตกศาลากลางหมู่บ้าน อีกลูกตกในวัดแต่ไม่แตก ต้องพากันวิ่งลงหลุมหลบที่ขุดเอง เสียงวี้ด ด ข้ามหัว เสี้ยววินาทีก็ดังตึ้ม ดินสะเทือน ผ่านไปหลายวัน กลับจกอพยพตามครอบครัวไปอยู่ศูนย์ไทยอพยพอย่างน่าอนาถใจ เมื่อกลับมาดู เล่าสู่กันฟังก็รู้ว่า เจ้าของบ้านพ้นบ้านไปแค่ 5 นาทีเท่านั้น ไม่งั้น...
อีกจุด จรวดพุ่งตัดต้นขนุนกระจุย แล้วพุ่งเฉียดต้นมะพร้าวเป็นแผลเหวอะ ราวกับขวานยักษ์จาม แล้วพุ่งตกสะเก็ดระเบิดถูกโอ่งขนาดใหญ่ ห้องสุขาพังสองหลัง
ข้ามไป อ.กาบเชิง จุดนี้จรวดก็ลงแบบเกาะกลุ่มคล้ายปูพรมลง นิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหมจังหวัดสุรินทร์ ในพระบรมราชานุเคราะห์ และข้างเคียง คือ บ้านนาน้อยร่มเย็น  
นายพรชัย จงกุฎ ผู้ใหญ่บ้านนาน้อยร่มเย็น ม.8 ต.กาบเชิง เล่าว่าจรวดตก 3 ลูก แตกเพียงลูกเดียว ถึงกระนั้น บ้านก็พังทั้งหลัง อีกสองหลังข้างเคียงหลังคาเปิดเปิง วัวถูกสะเก็ดตาย 3 ตัว บาดเจ็บอีก 7 ตัว ที่สำคัญลูกสาวคือ น.ส.จีรนันท์ วัย 15 ปี กระดูกข้อศอกซ้ายแตก แผลฉีกขาดที่หัวเข่า ถูกนำส่งโรงพยาบาล หวุดหวิดจบชีวิต
"บ้านนาน้อยร่มเย็น ห่างจากจุดช่องจอมไม่เกิน 2 กิโลเมตร ตอนระเบิดลงผมทำอะไรไม่ถูกเลย คนแตกตื่นออกมาดูคนบาดเจ็บ ลูกสาวผมถูกเอาตัวไปส่งโรงพยาบาลตอนไหนผมก็ยังไม่รู้”
ผู้ใหญ่บ้านนาน้อยร่มเย็น เปรยด้วยว่า "อย่าทำอะไรโหดเหี้ยมกันขนาดนี้อีกเลย เราก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันมาแต่โบราณ" 
ห่างออกไปเล็กน้อย นายวีรยุทธ คำบาน ชาวศรีสะเกษ มารับจ้างเกี่ยวข้าวนาปรังกับน้า อยู่หลังนิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหมฯ โดนจรวดอย่างจังเสียชีวิตคาที่ ยิ่งกว่านั้นอาคารโรงเรือนของนิคมฯ ถูกถล่มเสียหาย บาดความรู้สึกคนมีส่วนร่วมในโครงการนี่อย่างยิ่ง
เสียดายสัมพันธภาพ สะบั้นเพราะฤทธิ์ "ฮุนเซน"นายอาทร แสงโสมวงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ มีกิจการค้าเกี่ยวกับผ้าไหม บอกว่า เราสูญเสียครั้งนี้พอซ่อมแซมได้ แต่วันข้างหน้าจะเจอแบบนี้อีกไหม สมมุติถ้าเกิดอีก อยากจะไม่ใช่เป็นเป้าหมายโจมตี เพราะนี่คือพลเรือน ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจงใจยิงใส่จุดนี้หรอก แต่เมื่อไปสำรวจแล้ว มันเหมือนตั้งใจยิงเข้าจุดนี้ สถานที่นี้เป็นพื้นที่เปิดเผย เขมรไม่รู้เลยหรือตรงนี้คืออะไร เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ พื้นที่ทางทหารหรือเปล่า
ถามถึงความเสียหายหรือ เรื่องคนเสียชีวิต คนบาดเจ็บ อาจจะไม่มาก เพราะทหารให้อพยพออกไปก่อน แต่ก็มีคนบางกลุ่มยังอยู่ วันนั้นหลบเข้าบังเกอร์ประมาณ 30 คน เพราะไม่น่าใช่เป้าหมายการยิง เขาก็อยู่ มีทั้งหญิง ทั้งชาย ในบ้านพักสมาชิกนิคม 17 ครอบครัว ตอนประมาณ 6 โมงเย็น กำลังกินข้าวระเบิดก็ลง
นอกจากโรงสาวไหม จรวจยังตกใกล้ห้องเย็นเก็บไข่ไหม อาคารเลี้ยงไหม บ้านสมาชิกนิคม โดยเฉพาะร้านอาหารหน้านิคม ถ้าเลื่อนไปตกอีกราว 30 เมตร เจอบ้านสมาชิกนิคม ความเสียหายจะอีกหลายเท่า วันนั้นจรวดลงหนัก ชาวนิคมไม่กล้าจะโงหัว ต้องค่อย ๆ คลานเข้าบังเกอร์
ความเสียหายเป็นมูลค่าเงินยังไม่ได้ประเมิน แต่ความเสียหายทางจิตใจ หลายคนยังหวาดระแวง  ตอนนี้กลับมาทำงานไม่ถึงครึ่ง 

"สัปดาห์ถัดมา เราขอแรงผู้ชายเข้าไปดูอะไรเสียหายบ้าง และอันไหนขนย้ายหรือเก็บออกมาได้ เขาไม่อยากกลับเข้าไป เพราะกลัวจรวดมันตกเป็นชุด ตรงนั้นตูม ตรงนี้ก็ตูม ไม่รู้จะวิ่งไปทางไหน บางคนคิดจะไปทำงานที่อื่น อาจจะอยู่ในเมืองใหญ่ อยู่ในนิคมต่อไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน"
รองประธานสภาอุตสาหกรรมสุรินทร์ บอกอีกว่า ความเสียหายส่วนใหญ่เป็นตัวอาคาร เป็นทรัพย์สินราชการ แต่ก็ยังคิดในแง่ดี โชคดีจรวดไม่ตกใส่เครื่องจักร ไม่ตกใส่แท็งก์น้ำมัน ไม่งั้นจะเกิดทะเลเพลิงย่อม ๆ
ถ้าตกกลางโรงสาวไหม เครื่องจักรมูลค่า 7 ล้านบาทต้องพัง ถึงกระนั้นผนังปูนกั้นก็พังไปทั้งแถบ คิดในแง่ดีอีกอย่าง เพิ่มเริ่มสร้างโรงฟอกย้อม เครื่องฟอกย้อมตั้งไว้ ก็คลาดแคล้ว 
แต่ความเสียใจอย่างสุดซึ้ง คือ นิคมแห่งนี้เคยรองรับการอบรมเกษตรกรชาวกัมพูชาจาก จ.อุดรมีชัย 2 รุ่นแล้ว ให้ความรู้วิทยาการด้านเกษตรกร โดยเฉพาะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แน่นอนรายได้เกษตรกรชาวเขมรย่อมจะน้อยกว่าฝั่งไทย สิ่งที่ได้อบรมไปจะสร้างอาชีพในประเทศเขา เราคาดหวังทางโน้นจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้วขายรังไหมให้กับโรงสาวไหมฝั่งไทย ทำอย่างนี้แล้วก็น่าจะเป็นการสร้างสัมพันธภาพได้อย่างดีและยั่งยืน 
อีกอย่างรากฐานวัฒนธรรมสองฝั่งไม่แตก ต่างกันนัก เราคิดว่าอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นรากฐานของสองประเทศ ซึ่งก็จะช่วยกันดำรงรักษาวัฒนธรรมในประเทศกัมพูชาด้วย  
"เรื่องคนทำงานวิตกกังวล ตอนนี้เรายังไม่รู้จะเยียวยาได้แค่ไหน คนทำงานกับเราจะเหลืออยู่สักกี่คนยังไม่รู้คำตอบชัดเจน" นายอาทร บอกพรางครุ่นคิด
นายอาทร ย้อนเล่าการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานราชการหม่อนไหมว่า ได้เริ่มรับซื้อรังไหมจากนิคมฯ เพราะอยากฟื้นฟูอาชีพนี้ของชาวสุรินทร์ จากจุดนี้นำไปสู่ใน พ.ศ.2547 ได้ลงทุนเครื่องจักรสาวไหมรวมกับอาคารเป็น 10 ล้านบาท แม้วัตถุดิบป้อนยังไม่เพียงพอ แต่เราก็เลี้ยงคนงานไว้ 
และความจริงพ.ศ.2549 จะยังไม่มีโรงสาวไหม เพียงแต่เห็นนิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหมฯ มีศักยภาพ เป็นสถานที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน มีวัตถุประสงค์จะให้นิคมสร้างตนเอง จัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกร ให้สมาชิกนิคมประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แล้วรับซื้อ 
"ก่อนนั้น ซื้อรังไหมแล้วก็ไปจ้างเครื่องจักรที่เขาว่าง ต้องส่งไปถึงจังหวัดลำปาง แถว ๆ บ้านเรา ไม่มี เพราะเจ๊งไปแล้ว ท่านผู้ว่าฯ สมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ เคยแนะนำ ทำไมไม่เอาเครื่องจักรมาตั้งในสุรินทร์เลยล่ะ เราก็ยังไม่มั่นใจวัตถุดิบจะเพียงพอหรือเปล่า คิดว่าจะใช้งบผู้ว่าซีอีโอ 2550 ซื้อเครื่องสาวไหม แต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 49 เสียก่อน งบก็เลยหายไป"
ประชาคมอาเซียน หมองเพราะผู้นำกัมพูชา
นาย อาทร เล่าต่อว่า เราไปบอกไปส่งเสริมเขาแล้ว ไม่อยากให้เกษตรกรรู้สึกโดนหลอก ผมเลยตัดสินใจไปหาเครื่องจักรมือสองมาติดตั้ง พอติดตั้งแล้ว ขณะนั้นเราก็รู้สถานการณ์วัตถุดิบคงไม่เพียงพอ เราคาดหวังมันคงจะขยายตัวไปทั้งจังหวัดสุรินทร์ ขณะเดียวกันก็มองเรื่องการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยอาชีพ ตรงนี้ห่างชายแดนแค่ 10 กิโลเมตร ถ้ารัศมีการขนส่งใกล้เท่าไหร่ก็ยิ่งดี

"เรามองไปอีก 2- 3 ปีข้างหน้า หวังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นจริง การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปเสรีแล้ว เราจะเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจของอาเซียน การค้าก็คงไม่มีพรมแดนมาขวางกั้นแล้ว น่าจะเกิดผลดีกับทั้งสองประเทศ แต่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น รอยแผลเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่รู้จะเยียวยาได้แค่ไหน” รองประธานสภาอุตสาหกรรมสุรินทร์ กล่าวในที่สุด
การยิงจรวดชุดบีเอ็ม 21 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่กัมพูชากระทำต่อไทยประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้ชิด เฉพาะด้านช่องจอม-โอร์เสม็ด มีฐานยิงห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตรเศษ เขต อ.สำโรง จ.อุดรมีชัย
วอนนักการเมือง นักเลือกตั้งทั้งสองชาติ อย่าก่อกรรมทำเข็ญเอาประชาชนเป็นเหยื่อเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง อีกเลย ชีวิตคนมีค่า มีความหมาย ให้คิดยาวๆ ถึงมิตรภาพในสายเลือด และสายธารวัฒนธรรมร่วมกันด้วย
----------------------------------------------------------------------------
ประวัติความเป็นมา
นิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหมจังหวัดสุรินทร์ ในพระบรมราชานุเคราะห์ บนทางหลวง 214 ถนนสุรินทร์ - ช่องจอม  กิโลเมตรที่ 58–59 ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เดิมเป็นที่ดินบริษัท พรหมสุวรรณไหมไทย ต่อมา นายเล็ก สิงห์สมบุญ นางสุวรรณี พัวไพโรจน์ สามีภรรยา กราบบังคมทูลน้อมเกล้าฯ ถวายกิจการ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อพระราชทานให้กับประชาชนผู้ยากไร้

วันที่ 12  พฤษภาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมประชาสงเคราะห์ ดำเนินโครงการเลี้ยงไหมจังหวัดสุรินทร์ จัดที่ดินให้ผู้ยากไร้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และตั้งเป็นนิคมฯ
พ.ศ.2549 หน่วยงานราชการกับภาคเอกชน มี นางพนิดา กำภู ณ อยุธยา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายวิทยา รอดบุญพา ผอ.สำนักพัฒนาสังคม นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผวจ.สุรินทร์ และนายอาทร แสงโสมวงศ์ ผู้จัดการ หจก.เรือนไหม-ใบหม่อน ลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างครบวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง