บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ * ตอบอาจารย์พวงทอง ( ประชาไท )

ตอบอาจารย์พวงทอง (1): โปรดอย่าปล่อยให้ศาลโลกแปลคำผิด

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ * 

ที่มา http://www.facebook.com/verapat.pariyawong

____________________________________________________________________________________

บท ความนี้เป็นการสนทนาทางวิชาการที่ต่อเนื่องจาก บทความ “คำเตือนถึงนักวิชาการ ต้องระวังการแปลคำทางสังคมศาสตร์” โดย ผศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ (“อ. พวงทอง”) เผยแพร่โดยประชาไท เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2554 ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35399

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ใจความสำคัญ:

ผู้ เขียนขอส่งคำเตือนด้วยความปรารถนาดีไปยังรัฐบาลรักษาการและผู้เกี่ยวข้อง (อีกครั้ง) เพื่อพิจารณาให้รอบคอบว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กำลังเข้าใจจุดยืนไทยผิดหรือไม่?

ผู้เขียนเห็นว่านิติกรศาล โลกได้แปลถ้อยคำที่ตัวแทนฝ่ายไทยแถลงต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 อย่างไม่รอบคอบ กล่าวคือ ไทยอธิบายเป็นภาษาฝรั่งเศสถึงรั้วลวดหนามที่ไทยนำไปกั้นรอบปราสาทพระวิหาร เพื่อแสดง “la limite de la zone du temple” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหมายถึง “ขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหาร” หรือ “the limit of the Temple area”.

อย่างไรก็ดี นิติกรศาลโลกได้ทำเอกสารแปลคำแถลงของไทย (เอกสารแปล CR 2011/14  ฉบับ uncorrected  หน้าที่ 4) ซึ่งแปล “la limite de la zone du temple” เป็นภาษาอังกฤษว่า  “the boundary of the Temple area” ซึ่งในทางหนึ่งแม้อาจจะแปลได้ว่า “ขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหาร” แต่ก็เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่ระมัดระวัง ส่งผลให้มีผู้เข้าใจผิดเป็น “เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ซึ่งเป็นการเข้าใจจุดยืนของไทยที่ผิดอย่างมีนัยสำคัญ.

แม้ เอกสารแปลฉบับนั้นจะไม่มีผลเป็นทางการ แต่ไทยไม่ควรนิ่งนอนใจปล่อยให้ถูกกัมพูชานำไปอ้างให้เสียรูปคดี หรือยิ่งไปกว่านั้น คือปล่อยให้สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจไทยผิดโดยผู้พิพากษาได้. ผู้เขียนจึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ และทักท้วงหรือชี้แจงหากเห็นว่าจำเป็น.

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ผู้ เขียนขอบคุณน้ำใจของ อ. พวงทอง ในฐานะนักวิชาการรุ่นพี่ที่ให้เกียรติร่วมสนทนาด้วย  แม้ผู้เขียนเองจะมีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่น้อยกว่าก็ตาม และขอใช้โอกาสนี้กล่าวซ้ำอีกครั้งว่า แม้ผู้เขียนอาจไม่เห็นพ้องกับ อ. พวงทอง ทุกเรื่อง แต่งานเขียนของ อ. พวงทอง ในเรื่องปราสาทพระวิหารมีข้อคิดที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในแง่การให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในอดีต และการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศอย่างมีสติและจิตวิทยา ผู้เขียนเองเคยนำงานของ อ. พวงทอง บางส่วนไปแสดงในฐานะข้อมูลที่น่าสนใจ ขอเชิญชวนให้ผู้สนใจได้อ่านงานของ อ. พวงทอง และของผู้อื่นที่หลากหลายได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple.

ที่ สำคัญที่สุด ผู้เขียนขอหวังร่วมกับ อ. พวงทอง ว่าการสนทนาเรื่องปราสาทพระวิหารและประเด็นสำคัญอื่นๆในสังคมไทย ไม่ว่าจะโดยนักวิชาการหรือผู้มีความเห็นท่านใด มิควรเป็นการโจมตีหรือเพิกเฉยเย็นชา แต่ควรสนทนาแลกเปลี่ยนกันด้วยไมตรีจิต หลักการ เหตุผล และน้ำใจของผู้ที่ล้วนห่วงใยต่อสังคมไม่น้อยไปกว่ากัน ดังที่ผู้เขียนได้รับเกียรติให้สนทนาตอบบทความ “คำเตือนถึงนักวิชาการฯ” ของ อ. พวงทอง ดังนี้.

1. เรื่องความหมายของ “la limite”  “frontier” และ “boundary”  

อ. พวงทอง กล่าวในย่อหน้าที่ 2 ว่า ผู้เขียนเห็นว่า “…‘la limite-boundary’ นอกจากจะหมายถึงเส้นเขตแดนแล้ว ยังหมายถึงพื้นที่ที่ติดกับเส้นเขตแดน หรือที่คนไทยมักเรียกว่า ‘พื้นที่ชายแดน’ ได้ด้วย boundary จึงมีความหนา มีขอบเขต หรืออาณาบริเวณ ส่วนคำว่า frontier คุณวีรพัฒน์เห็นว่าหมายถึง (เส้น)เขตแดน หรือเส้นพรมแดน ที่เป็นเส้นตรงหรือเส้นเดี่ยว…”

จาก นั้น ในย่อหน้าที่ 4-6 อ. พวงทอง ได้อ้างถึงคำนิยามของคำว่า “boundary” และ “frontier” จากพจนานุกรม 3 ฉบับ และสรุปในย่อหน้าที่ 7 ว่า “…boundary ต่าง หากที่หมายถึง เส้นเขตแดน/เส้นพรมแดน (เป็นเส้นเดี่ยว ไม่มีความหนา) แต่ frontier มีความหมายกว้างกว่า ที่สามารถหมายถึงพื้นที่บริเวณชายแดน เป็นพื้นที่ที่มีความหนา ยากที่จะกำหนดขอบเขต ในบางพื้นที่อาจมีผู้คนมากมายอาศัยอยู่, มีตลาดการค้าชายแดน, หมู่บ้าน, ฯลฯ ก็ได้) ดิฉันกล้ายืนยันได้ว่า นี่คือความหมายที่ใช้กัน อย่างน้อยก็ในแวดวงของสังคมศาสตร์”.

ในขั้นแรก เกรงว่า อ. พวงทอง อาจเข้าใจบทความ “คำเตือนถึงอภิสิทธิ์” ของผู้เขียนผิด ผู้เขียนไม่เคยให้นิยามคำว่า “boundary” หรือ “frontier” ว่าสิ่งใดหนา สิ่งใดเป็นเส้นเดี่ยว หรือสิ่งใดเป็นบริเวณพื้นที่ แต่ประเด็นสำคัญของผู้เขียนอยู่ที่ว่า “la limite” ในบริบทที่ฝ่ายไทยใช้นั้น หมายความว่า “เขตเเดน” หรือ “ขอบเขต” กันแน่.

อัน ที่จริง คำนิยามจากพจนานุกรมที่ อ. พวงทอง ยกมาเองนั้นกลับเป็นการสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนว่า “boundary” โดยทั่วไปแปลได้สองทาง.

ทางแรกแปลได้ว่า “เขตแดน” (ไม่ว่าจะเป็นเส้น “line” หรือ บางสิ่ง “something” ซึ่งรวมถึง “national boundaries”) ที่ใช้แบ่งดินแดน เช่น เขตแดนระหว่างประเทศ.

ทาง ที่สองแปลได้ว่า “ขอบเขตของพื้นที่หรือบริเวณ” (“farthest limit, as of an area”  หรือ “limit or edges of something”) เช่น ขอบเขตของปราสาทหรือวัด.

ประเด็น หลักที่ อ.พวงทอง ยังเห็นไม่ตรงกับผู้เขียนก็คือ คำต้นฉบับที่ฝ่ายไทยใช้ว่า “la limite” นั้นแปลว่าอะไร. ที่ผู้เขียนมีความเป็นห่วงก็เพราะนิติกรศาลโลกได้เลือกใช้คำภาษาอังกฤษที่ ไม่ระมัดระวัง เพราะเลือกใช้คำว่า “boundary” (ซึ่งตามนิยามที่ อ. พวงทอง ยกมาอ้างก็แสดงให้เห็นได้ว่า “boundary” แปลได้สองทาง) แต่ในกรณีนี้ อ. พวงทอง มองว่า “la limite” แปลว่า “เขตแดน” แต่สำหรับผู้เขียนนั้นแปลว่า “ขอบเขต”.

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า แท้จริงแล้วฝ่ายไทยต้องการจะสื่อถึงอะไรกันแน่ (เรื่องนี้จะตอบในข้อที่ 2).

ในย่อหน้าที่ 8 อ. พวงทอง ได้เชิญชวนให้ผู้เขียนอธิบายถ้อยคำเพิ่มเติมในทางนิติศาสตร์ อาจกล่าวพอสังเขปดังนี้.

ประเด็น ที่ว่า “เขตแดน” ระหว่างไทยและกัมพูชาจะเป็นเส้นเดี่ยว หรือเป็นบริเวณที่มีความหนา หรือไม่อย่างไรนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะโต้แย้ง ณ ที่นี้ เพราะสำหรับผู้เขียนแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศและหลักการจัดทำเขตแดนไม่ได้กำหนดบทนิยามตายตัวว่า “เขตแดน” (boundary) จะต้องเป็นเส้นเดี่ยวเท่านั้นหรือไม่อย่างไร แต่ “เขตแดน”  เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการ (process) ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอนที่หลากหลาย เช่น อาจอาศัยการลากเส้นสมมติบนแผนที่ (ไม่ว่าจะเป็นแผนที่จากสำรวจหรือไม่) หรือ อาศัยพรมแดนตามธรรมชาติ เช่น แนวยอดเขา แนวสันปันน้ำ หรือร่องน้ำลึกมาเป็นเขตแดน (ไม่ว่าจะเป็นเพียงบทนิยามหรือมีการสำรวจปักปัน) หรือ อาศัยวัตถุอื่น เช่น แนวกำแพงโบราณหรือรางรถไฟ ก็เป็นได้.

เรื่องเขตแดนมิใช่เรื่องที่อธิบายได้โดยสั้น ผู้เขียนเคยอธิบายเพิ่มไว้แล้วที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962#TOC-21. [ดูข้อ ๓ (จ.)]

นอก จากนี้ ที่ อ. พวงทอง ยืนยันว่า “frontier” มีความหมายกว้างกว่าในแวดวงของสังคมศาสตร์ ก็มิได้ขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ เพราะผู้เขียนเองก็ได้กำกับคำภาษาไทยว่า frontier หมายถึง “พรมแดน” เหตุที่ผู้เขียนอ้างถึงคำว่า frontier ก็เพียงเพื่อยกตัวอย่างว่าคำต่างๆที่มีความหมายเกี่ยวข้องกัน มิได้มีความชัดเจนเท่ากัน จึงต้องเลือกใช้คำอย่างระวัง. ศาลโลกเองก็เคยใช้คำว่า “frontier” หรือ “frontier line” ในคำพิพากษา พ.ศ. 2505 เพื่อสื่อถึงพรมแดนหรือเส้นพรมแดนที่ถูกใช้เป็น “เขตแดน” ตามอนุสัญญาฯ สยาม-ฝรั่งเศส และศาลเองก็เลี่ยงคำว่า “boundary” ซึ่งผู้เขียนได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962#TOC-23.

สรุป ผู้ เขียนเห็นว่า บทความ “คำเตือนถึงนักวิชาการฯ” ของ อ. พวงทองในย่อหน้าที่ 2 -7 ดูจะเป็นการเข้าใจประเด็นของผู้เขียนผิดไป แต่โดยรวมแล้วบทนิยามที่ อ. พวงทอง ยกมานั้นกลับสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนว่า “boundary” แปลความหมายได้ทั้งสองทาง คือ “เขตแดน” หรือ “ขอบเขต” แม้ ในกรณีนี้ อ. พวงทองจะเห็นว่าต้องแปลว่า “เขตแดน” ก็ตาม.

2. “la limite” ที่ฝ่ายไทยใช้แถลงต่อศาลโลก นั้น หมายถึง “เขตแดน” ไทย-กัมพูชา หรือ “ขอบเขต” ปราสาทพระวิหาร กันแน่?

บท ความของ อ. พวงทองในย่อหน้าที่ 11-14 เป็นเครื่องยืนยันว่าคำว่า “boundary” ที่นิติกรศาลโลกเลือกใช้นั้นได้สร้างปัญหาและความสับสนอย่างน่าเป็นห่วง และรัฐบาลไทยต้องพิจารณาให้รอบคอบอย่างยิ่ง.

อ. พวงทองกล่าวเชิงสรุปในย่อหน้าที่ 12 “...ดิฉัน กลับไปอ่านคำแถลงของฝ่ายไทยอีกครั้ง ดิฉันก็ยังเห็นว่าฝ่ายไทยต้องการยืนยันว่ารั้วที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล สฤษดิ์ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร

เหตุผลหลักที่ อ.พวงทองใช้อ้างสนับสนุนข้อสรุปของตนก็คือย่อหน้าที่ 13 ซึ่งเป็น ความเข้าใจส่วนตัว ของ อ.พวงทองเอง กล่าวคือ อ.พวงทองได้แปลคำในเอกสารแปล CR 2011/14 ฉบับ uncorrected  ว่า “ได้มีการจัดทำรั้วลวดหนามและป้ายแสดงเขตแดนของพื้นที่ของพระวิหาร ซึ่งเป็นไปตามมติครม.วันที่ 10 ก.ค. เพื่อปฏิบัติตามคำตัดสินปี 2505 การทำรั้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณวันที่ 5 ส.ค. (เน้นคำโดยผู้เขียน) กล่าวคือตามความเข้าใจส่วนตัวของ อ. พวงทองนั้น คำของฝ่ายไทยที่ว่า “la limite de la zone du temple”  หรือที่นิติกรศาลแปลว่า “boundary of the Temple area” ต้องหมายถึง “เขตแดนของพื้นที่ของพระวิหาร(ซึ่ง อ. พวงทองอธิบายว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร”) เท่านั้น.

ตรรกะ การให้เหตุผลดังกล่าวมีลักษณะวกวน (circular logic) เพราะเป็นการให้เหตุผลซ้อนเหตุผลของตนเอง และนำมาอ้างไม่ได้เพราะหาก อ. พวงทอง เชื่อว่าตนแปล “boundary” ว่า “เขตแดน” ถูกมาแต่ต้น ข้อสรุปจากคำแปลก็ย่อมต้องถูกเช่นกัน. คำสำคัญที่ อ. พวงทอง ต้องวิเคราะห์คือคำว่า “la limite”  ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศสต้นฉบับที่นายวีรชัย พลาศรัย ตัวแทนฝ่ายไทยได้ใช้ แต่ อ. พวงทอง เองกลับมิได้โต้แย้งถึงความหมายของคำดังกล่าว.

ที่ น่าแปลกใจก็คือ ในย่อหน้าที่ 14 อ. พวงทอง เองกลับอ้างข้อมูลที่ขัดแย้งตัวเอง คืออ้างถึง “ใบแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศไทยวันที่ 31 พ.ค.” ซึ่งย้ำว่า “คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาท ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตาม มติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว โดยนิ่งเฉยมิได้มีการทักท้วงใด ๆ มากว่า ๔๐ ปี จนเมื่อไม่นานมานี้กัมพูชาถึงได้เปลี่ยนท่าทีเนื่องจากต้องการขึ้น ทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก” (ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน).

หากอาศัยใบแถลงข่าวมาเป็นเหตุผล ก็ย่อมหักล้างข้อสรุปของ อ. พวงทองเองว่า “la limite de la zone du temple”  หรือที่นิติกรศาลแปลว่า “boundary of the Temple area” ไม่สามารถหมายถึง “เขตแดนของพื้นที่ของพระวิหาร ได้ เพราะในเมื่อคำพิพากษามิได้ตัดสินเรื่องเขตแดน แล้วไทยจะมาล้อมลวดหนามเป็นเขตแดนได้อย่างไร? อีกทั้งคำว่า “เส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ที่กระทรวงการต่างประเทศใช้ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่าลวดหนามที่กำกับ “la limite de la zone du temple” นั้นหมายถึง “ขอบเขต” มิใช่ “เขตแดน”.

หาก ยังมีผู้ไม่แน่ใจ ผู้เขียนก็ขอให้อ้างตามบันทึกเอกสาร CR 2011/16 หน้าที่ ใน 25-26 ซึ่งนายวีรชัย พลาศรัย ตัวแทนฝ่ายไทยได้ย้ำเองว่าคำพิพากษาปี พ.ศ. 2505 ไม่ได้ตัดสินเรื่อง “เขตแดน” แต่อย่างใด แนวของลวดหนาม (ที่อ้างถึง “la limite”) เป็นเพียงเส้นปฏิบัติการตามคำพิพากษาที่นำมาใช้ระหว่างกระบวนการจัดทำเขตแดน ยังไม่สิ้นสุด.

หากยังไม่ชัดเจนอีก ผู้เขียนก็หวังว่าผู้สื่อข่าวจะได้สอบถามกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ความปรากฏชัด.

สรุป หลักฐานใบแถลงข่าวที่ อ. พวงทอง ยกมานั้น ประกอบกับคำพูดของนายวีรชัย พลาศรัย เองเป็นการสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนว่า “la limite de la zone du temple” หรือที่นิติกรแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า  “the boundary of the Temple area” ต้องแปลว่า “ขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหาร” ไม่สามารถแปลว่า “เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ซึ่งเป็นการเข้าใจจุดยืนของไทยที่ผิดอย่างมีนัยสำคัญ.

3.  “เขตแดน” ไทย-กัมพูชา และ “ขอบเขต” ปราสาทพระวิหาร ต่างกันอย่างไร?

อาจมีผู้สงสัยว่าที่ถกเถียงกันว่า “boundary” ที่นิติกรศาลโลกใช้นั้น หมายถึง “เขตแดน” หรือ “ขอบเขต” และต่างกันอย่างไร?

ขอ อธิบายว่าการที่ไทยต้องล้อมรั้ว “ขอบเขต” บริเวณปราสาทพระวิหาร ก็เพราะคำพิพากษา พ.ศ. 2505 วินิจฉัยให้ไทยต้องถอนกำลังออกไปจาก “บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร” (vicinity) แต่เมื่อคำพิพากษามิได้ระบุ “ขอบเขต” ของ “บริเวณใกล้เคียง” ไว้ ฝ่ายไทยจึงได้ทำรั้วลวดหนามเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ส่วนที่กัมพูชาเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของการตีความคำพิพากษาซึ่งมีกระบวนพิจารณาอยู่ในปัจจุบัน.

เรื่องนี้ผู้เขียนเคยอธิบายไว้แล้วที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962#TOC-16

ใน ทางกลับกัน หากเราไปถือว่ารั้วลวดหนามที่แสดง “boundary of the Temple area” นั้น หมายถึง “เขตแดน” ก็เสมือนว่าเรากำลังตีความว่าศาลได้พิพากษาเรื่องเขตแดนไปแล้วใน ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นความเข้าใจที่อันตรายอย่างยิ่ง.

4. ความสำคัญของ “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ “แผนที่ 1:200000”  

อ. พวงทองกล่าวในย่อหน้าที่ 12 ว่า “ดิฉันเห็นด้วยกับคุณวีรพัฒน์ที่ว่า “การ จะตอบว่าเส้นเขตแดนที่แท้จริงคือเส้นใด ต้องว่าไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ และข้อตกลงอื่น ฯ” ซึ่งดิฉันขอย้ำว่า ข้อตกลงอื่นๆที่ว่านี้ รวมถึงแผนที่จากการปักปันของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส หรือแผนที่ที่คนไทยเรียกติดปากว่า 1:200000 ด้วย “ 

ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อความหลักของ อ. พวงทอง และไม่ประสงค์จะโต้แย้ง แต่ขออธิบายดังนี้.

ประการแรกต้องเข้าใจเสียก่อนว่า “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ “แผนที่ 1:200000” นั้นไม่ใช่ผลงานของ “คณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสตาม ที่ อ. พวงทอง เข้าใจ แต่เป็นผลงานของฝรั่งเศสฝ่ายเดียว ศาลโลกได้ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ชัดเจนในคำพิพากษาหน้า 21 เพียงแต่ศาลนำแผนที่ดังกล่าวมาพิจารณาในการตีความอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904.

ผู้ เขียนได้เคยอธิบายไว้แล้วว่า “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ “แผนที่ 1:200000” นั้นย่อมเป็นข้อที่ต้องพิจารณาประกอบการตีความสนธิสัญญาระหว่างไทยและ กัมพูชาในปัจจุบัน และด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงต้องเน้นว่าการตีความสนธิสัญญาในปัจจุบันมิได้ผูกมัดไทยและ กัมพูชาว่าต้องยึดตามเส้นที่ปรากฎใน “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือ ยึด “สันปันน้ำ” ตามอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 หรือยึด “แนวพิจารณา” ของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 อย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างละเอียดและครบถ้วน.

หาก ถามว่าหลักดังกล่าวมีว่าอย่างไร ผู้เขียนเห็นว่าต้องอาศัยกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่สะท้อนอยู่ใน อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ซึ่งกำหนดให้ไทยและกัมพูชาตีความ อนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 โดยยึดความหมายปกติของถ้อยคำตัวอักษรในอนุสัญญาฯ เป็นหลัก ประกอบกับบริบทการประพฤติปฏิบัติ (subsequent practice) และความตกลง (subsequent agreement) ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยและกัมพูชาได้มีมาตลอดกว่าร้อยปีหลังได้ตกลงอนุสัญญาฯ เมื่อ ค.ศ. 1904 ไปแล้ว.

ยกตัวอย่าง เช่น  สมมติว่าไทยพิสูจน์ได้ว่ามีความตกลงในรูปแบบ “บันทึกความเข้าใจ” (MOU) พ.ศ. 2543 ฉบับหนึ่ง ประกอบกับ “แถลงการณ์ร่วม” (Joint Communiqué) พ.ศ. 2551 อีกฉบับหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าไทยกับกัมพูชามีเจตนาจะร่วมกันสำรวจเขตแดนและทำแผนที่ฉบับ ใหม่ขึ้นมาใช้แทนที่แผนที่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหน้านี้ ไทยย่อมอาศัยข้อตกลงดังกล่าวมาตีความอนุสัญญาฯค.ศ. 1904 ได้ว่า “แผนที่ภาคผนวก 1” ที่กัมพูชาอ้างต่อศาลโลกเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว แม้ตอนนั้นศาลจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาฯ แต่การกระทำและการตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาตลอดเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า ณ วันนี้แผนที่ฯ มิได้มีสาระสำคัญสำหรับไทยและกัมพูชาดังที่ศาลเห็นในอดีตอีกต่อไป ดังนั้นบริบทการตีความถ้อยคำในอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 ที่ว่าด้วยเขตแดนไทย-กัมพูชา ในวันนี้จึงต่างไปจากเมื่อ พ.ศ. 2505 เป็นต้น. ฉันใดก็ฉันนั้น กัมพูชาก็อาจนำข้อตกลงและการประพฤติปฏิบัติต่างๆของไทยมาอ้างตีความในทางตรง กันข้ามได้.

สรุป ผู้เขียนย้ำว่า การจะทราบถึงเขตแดนของไทยและกัมพูชา ต้องว่าไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ หลักใหญ่อยู่ที่ถ้อยคำในอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 ประกอบการประพฤติปฏิบัติ (เช่นการยอมรับหรือปฏิเสธแผนที่) และข้อตกลงต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่มองไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว. สันติภาพและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเรื่องของกระบวนการที่สอดคล้องกับความ เป็นจริงในปัจจุบัน มิได้ยึดติดอยู่กับแผ่นกระดาษหรือภาพวาดในอดีตแต่อย่างใด.


อนึ่ง ผู้เขียนก็ไม่ต่างไปจากชาวไทยหรือกัมพูชาที่เป็นมนุษย์ธรรมดา รู้สึกรันทดหดหู่ใจทุกครั้งที่เห็นชาวบ้านไม่ว่าเชื้อชาติใดต้องมารับกรรม จากปัญหาที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ สิ่งที่ผู้เขียนพอทำได้ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง ก็คือการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรมตามกฎหมาย ซึ่งอย่างน้อยต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจในหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ถูก ต้องร่วมกัน เมื่อหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีย่อมมีโอกาสสำเร็จได้ แต่หากมนต์ที่สวดพร้อมกันยังเป็นคนละเล่มไซร้ มนต์อธิษฐานภาวนาไม่ว่าจะหวังดีหรือไพเราะเช่นใด ก็คงมิอาจฟังกันรู้เรื่อง.

(จบ บทความตอบ อ. พวงทอง ตอนที่ 1: สำหรับประเด็นเรื่อง ไทยสามารถ “สงวนสิทธิ” เอาปราสาทพระวิหารคืนมาได้หรือไม่? ศาลได้ “วินิจฉัย” เรื่อง “แผนที่” หรือไม่? และศาลพิจารณาการประพฤติปฏิบัติของไทยอย่างไร? ผู้เขียนจะขอนำมาตอบในโอกาสต่อไป)

ประเด็นที่กล่าวมาเหล่านี้ มีความละเอียดอ่อนและต้องศึกษาจากคำพิพากษาทั้งฉบับ ผู้เขียนเคยอธิบายไว้แล้วบางส่วน ขอเชิญชวน อ. พวงทอง และผู้สนใจดูบทวิเคราะห์ฉบับเต็มที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962

____________________________________________________________________________________
* อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย Freshfields Bruckhaus Deringer (กรุงปารีส).
นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด.

- บทวิเคราะห์คดีปราสาทพระวิหารฉบับเต็ม อ่านได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962

- รูปภาพบรรยากาศศาลโลก ดูได้ที่ http://www.facebook.com/verapat.pariyawong (photos)

*** สำหรับผู้ต้องการแสดงความไม่เห็นด้วย หรือ เห็นด้วย หรือความเห็นอื่นๆ เกี่ยวกับความเห็นบทความนี้ ท่านสามารถกลับไป กด "like" ที่ http://www.facebook.com/verapat.pariyawong ก่อนครับ ***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง