วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554
แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร: ปัญหาและข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการมรดกโลกในสมัยประชุมที่ 32 ณ เมืองควิเบก ประเทศแคนนาดา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ได้มีมติที่ 32 COM 8B.102 ให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยให้กัมพูชาส่งแผนบริหารจัดการฉบับสมบูรณ์พร้อมทั้งแผนที่ฉบับสรุปสุดท้ายให้ศูนย์มรดกโลกภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ถึงแม้คณะผู้แทนฝ่ายไทยได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อคณะกรรมการมรดกโลกทั้งในสมัยประชุมดังกล่าวและในสมัยประชุมที่ 33 ณ เมืองเซบีญา ประเทศสเปน แต่ไม่บังเกิดผล
กัมพูชาได้ยื่นรายงานสถานการณ์อนุรักษ์ปราสาทพระวิหารพร้อมแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารต่อศูนย์มรดกโลกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาอนุมัติในการสมัยประชุมที่ 34 ณ เมืองบราซิเลีย ประเทศบราซิล ช่วงวันที่ 25 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 แต่ปรากฏว่าศูนย์มรดกโลกได้จัดทำเอกสาร WHC-10/34.COM/7B.Add.3 ซึ่งรายงานสรุปสถานการณ์อนุรักษ์ปราสาทพระวิหารตาม
รายงานของกัมพูชาและส่งให้กรรมการมรดกโลกและผู้ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ทั้งๆ ที่ตามกฎขั้นตอนการปฏิบัติของคณะกรรมการมรดกโลกในข้อ 45 ได้กำหนดให้เอกสารที่เกี่ยวกับวาระการประชุมต้องส่งให้กรรมการมรดกโลกและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยหกสัปดาห์ก่อนเริ่มสมัยการประชุม ไทยซึ่งมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนได้ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาเอกสารดังกล่าวออกไปก่อน โดยมีเหตุผลที่สำคัญคือแผนบริหารจัดการที่กัมพูชาเสนอมีการกำหนดเขตกันชน (Buffer zone) ที่ไม่ชัดเจนซึ่งอาจรุกล้ำเข้ามาในเขตไทย จึงควรรอให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย–กัมพูชา (JBC) ได้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในบริเวณดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน ในขณะที่กัมพูชาซึ่งมีนายซกอานเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนยืนยันให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติแผนบริหารจัดการดังกล่าว ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ในที่สุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ประธานกรรมการมรดกโลกชาวบราซิลได้เข้ามาไกล่เกลี่ยจนทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้โดยให้เลื่อนการพิจารณาเอกสารดังกล่าวไปในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อไป
ในวันที่ 25–27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการประชุมหารือระหว่างไทยกับกัมพูชาที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ในเรื่องแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร แต่ก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้ ถึงแม้นางอิรินา โบโควา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้เข้ามาช่วยเรื่องการเจรจาของทั้งสองฝ่ายก็ตาม ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในสมัยประชุมที่ 35 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ช่วงวันที่ 19–29 มิถุนายนพ.ศ. 2554 โดยเรื่องปราสาทพระวิหารได้จัดอยู่ในวาระที่ 7B ลำดับที่ 62 และคาดว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาเรื่องกล่าวในวันที่ 23 หรือ 24 มิถุนายนนี้
แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเสนอนั้นได้จัดทำโดย ดร.ดิเวย์ กัพต้า ชาวอินเดียซึ่งเป็นสถาปนิกการอนุรักษ์และผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการมรดก และเคยได้รับมอบหมายจาก ICOMOS ในการเตรียมรายงาน 2007 ICOMOS การประเมินการเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นที่น่าสังเกตว่าแผนบริหารจัดการนี้ไม่ได้จัดทำโดยชาวกัมพูชา ทั้งๆ ที่กัมพูชาอ้างตลอดมาว่าปราสาทพระวิหารเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศตน แต่กลับให้ชาวอินเดียเป็นผู้จัดทำแผนให้ แผนบริหารจัดการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 7 บท มีจำนวนทั้งหมด 115 หน้า และมีเนื้อหาเฉพาะส่วนที่สำคัญที่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องเขตแดนดังต่อไปนี้
บทที่ 1 ความเป็นมาและวิธีการ มีข้อความในข้อ 1.1 ความเป็นมา หน้าที่ 2 กล่าวว่า “ภายใต้สนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ค.ศ. 1904 และ 1907 เส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทยตามเทือกเขาดงรักได้ถูกกำหนดขึ้น ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1963 ตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ปราสาทพระวิหารและบริเวณข้างเคียงได้กลับมาอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” ข้อความดังกล่าวอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามีความชัดเจน และทั้งสองประเทศไม่มีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคณะผู้แทนฝ่ายไทยที่จะต้องชี้แจงให้คณะกรรมการมรดกโลกและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
บทที่ 2 มรดกทางวัฒนธรรมและความสำคัญของปราสาทพระวิหาร มีข้อความในข้อ 2.3 สถาปัตยกรรมของปราสาทพระวิหาร หน้าที่ 9 ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ปราสาทสามารถเข้าถึงได้สองทางโดยผ่านบันไดใหญ่ ทางหนึ่งจากทิศตะวันออก และอีกทางหนึ่งจากทิศเหนือ” จะเห็นว่าผู้จัดทำแผนเขียนในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่ามีบันไดทางขึ้นใหญ่สองทาง โดยเลือกที่จะกล่าวถึงบันไดทางทิศตะวันออกก่อนบันไดทางทิศเหนือ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าบันไดทางทิศตะวันออกเป็นบันไดทางขึ้นหลัก แต่ที่จริงแล้วบันไดทางทิศตะวันออกเป็นทางขึ้นที่เรียกกันว่า “ช่องบันไดหัก” โดยเป็นบันไดหินที่มีขนาดเล็กและทางขึ้นโดยบันไดดังกล่าวมีความสูงชันมาก ใช้เป็นทางขึ้นมาจากฝั่งเขมรต่ำซึ่งก็คือกัมพูชาในปัจจุบัน บันไดทางทิศเหนือต่างหากที่เป็นบันไดทางขึ้นหลักซึ่งมีขนาดใหญ่และอยู่ด้านหน้าตัวปราสาท บันไดดังกล่าวเป็นบันไดหินช่วงแรกกว้างถึง 8 เมตร และยาว 78.50 เมตร ช่วงที่สองกว้าง 4 เมตร และยาว 27 เมตร บันไดดังกล่าวใช้เป็นทางขึ้นจากฝั่งไทย
คณะผู้แทนฝ่ายไทยควรเสนอให้ปรับปรุงเอกสารในประเด็นดังกล่าวให้ตรงกับข้อเท็จจริง และสร้างความเข้าใจในเรื่องบันไดทางขึ้นปราสาทพระวิหารให้กับคณะกรรมการมรดกโลกและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะจะช่วยทำให้เกิดคำถามว่าแล้วทำไมปราสาทพระวิหารจึงเป็นของกัมพูชาในเมื่อทางขึ้นหลักมาจากฝั่งไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อไป
บทที่ 3 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในข้อ 3.1 หน้าที่ 31 โดยกำหนดบางส่วนว่า “เข้าถึงได้ทุกคน” และ “เพื่อสนับสนุนสันติภาพ” แต่ปรากฏว่าหลังจากปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ในช่วงที่กัมพูชาเปิดปราสาทพระวิหารให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ กัมพูชากลับไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าเยี่ยมชมปราสาทพระวิหาร ซึ่งขัดกับวิสัยทัศน์ที่กำหนดในเรื่อง “เข้าถึงได้ทุกคน”
และยิ่งไปกล่าวนั้นการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกยังเป็นต้นเหตุให้เกิดการความขัดแย้งและการสู้รบกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณเขาพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง จนมีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นทหารและพลเรือนทั้งไทยและกัมพูชาจำนวนมาก นอกจากนี้ในบางครั้งกัมพูชายังใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานที่ตั้งของกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อต่อสู้กับไทย ซึ่งขัดกับวิสัยทัศน์ที่กำหนดในเรื่อง “เพื่อสนับสนุนสันติภาพ” อย่างชัดเจน คณะผู้แทนฝ่ายไทยจึงควรยกประเด็นดังกล่าวซึ่งขัดกับวิสัยทัศน์ที่กัมพูชาได้กำหนด ให้คณะกรรมการมรดกโลกและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยทั่วกัน และเรียกร้องให้กัมพูชาดำเนินการแก้ไข
บทที่ 4 การบ่งชี้ประเด็นและข้อแนะนำ มีข้อความในข้อ 4.1 ทรัพย์สินของสถานที่ หน้าที่ 40 กล่าวบางส่วนว่า “สถานที่มรดกโลกที่ได้ขึ้นทะเบียนได้ถูกแสดงใน RGPP ที่ล้อมปิดดังแสดงในหน้า 52 เขตที่แตกต่างตามที่แสดงใน RGPP เป็นเขตชั่วคราว เพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของสถานที่”
และ “อย่างไรก็ตามกันชนไม่ได้รวมพื้นที่ทางทิศเหนือและตะวันตกของปราสาท นี้ควรได้รับพิจารณาอย่างชั่วคราวเพราะการกำหนดเขตแดนขั้นสุดท้ายของกันชนจะได้ถูกกำหนดตามผลของ JBC ระหว่างกัมพูชากับไทย” RGPP (Revised Graphic Plan of the Property) ที่กล่าวถึงนั้น เป็นแผนผังเดิมที่กัมพูชาได้ยื่นต่อศูนย์มรดกโลก และคณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาแล้วตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2551 ในสมัยประชุมที่ 32 และได้มีมติที่ 32 COM 8B.102 ให้กัมพูชาส่งแผนบริหารจัดการฉบับสมบูรณ์พร้อมทั้งแผนที่ฉบับสรุปสุดท้ายให้ศูนย์มรดกโลกภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 แต่จนถึงปัจจุบันกัมพูชาก็ยังไม่ได้ส่งแผนที่ฉบับสรุปสุดท้ายดังกล่าว และยังคงใช้แผนผัง RGPP อ้างอิงแทนแผนที่ในแผนบริหารจัดการฉบับนี้
ในแผนผัง RGPP นั้น ได้มีการกำหนดเขตกันชนโดยใช้เพียงสัญญาลักษณ์เลข 2 แทนโดยไม่มีการลากเส้นแสดงอาณาเขตใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากดูจากแผนผัง RGPP จะพบว่าเขตกันชนที่กำหนดไม่มีความชัดเจนเลย จึงไม่ทราบได้ว่าครอบคลุมถึงพื้นที่บริเวณใดบ้าง และรุกล้ำเข้ามาในเขตไทยหรือไม่ ดังนั้นคณะผู้แทนฝ่ายไทยจึงไม่ควรรับแผนบริหารจัดการดังกล่าว และควรเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาแผนการบริหารจัดการดังกล่าวไปก่อนจนกว่ากัมพูชาจะได้จัดทำแผนที่ฉบับสรุปสุดท้ายตามมติที่ 32 COM 8B.102 ที่มีการกำหนดเขตต่างๆ ในแผนที่ให้มีความละเอียดถูกต้องชัดเจน หลังจาก JBC ได้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในบริเวณดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว
นอกจากนี้คณะผู้แทนฝ่ายไทยควรใช้ประโยชน์ข้อความดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้คณะกรรมการมรดกโลกและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า กัมพูชาเองก็ได้ยอมรับว่าบริเวณปราสาทพระวิหารยังมีความไม่ชัดเจนของเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา และต้องรอจนกว่า JBC จะได้กำหนดเขตแดนในบริเวณดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน
บทที่ 5 การอนุรักษ์และโบราณคดี – การประเมินและยุทธ์ศาสตร์ มีข้อความในข้อ 5.4 การประเมินและการแทรกแซงเพื่อการอนุรักษ์ หน้าที่ 75 กล่าวตอนหนึ่งถึงบันไดใหญ่และลานนาคราช รวมทั้งตลาดและสระน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้จัดทำแผนได้ยอมรับว่าบันไดทางขึ้นทางทิศเหนือเป็นบันไดทางขึ้นหลักซึ่งมีความยิ่งใหญ่ แต่ผู้จัดทำแผนให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนขั้นของบันไดผิด สำหรับตลาดที่กล่าวถึงน่าจะหมายถึงตลาดที่ตั้งอยู่ในฝั่งไทยก่อนถึงบันไดทางขึ้นดังกล่าว ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วตลาดนี้ชุมชนกัมพูชาพึ่งเริ่มเข้ามาตั้งร้านค้าเพื่อขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2541 ไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณอย่างที่ผู้จัดทำแผนเข้าใจ
ส่วนสระน้ำที่กล่าวถึงน่าจะหมายถึงสระตราวซึ่งเป็นสระน้ำอยู่ในฝั่งไทย โดยสระตราวนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มโบราณสถานประกอบของปราสาทพระวิหารที่อยู่ในฝั่งไทย เช่นเดียวกับ ผามออีแดง สถูปคู่ และแหล่งตัดหินที่ไปสร้างปราสาท เป็นต้น แต่ผู้จัดทำแผนกลับไม่ได้ให้ความสำคัญแก่สระตราว และส่วนประกอบอื่นๆ ที่อยู่ในฝั่งไทยเลย สิ่งที่กล่าวทั้งหมดข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้จัดทำแผนยังมีความรู้และความเชี่ยวชาญไม่เพียงพอเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและเขาพระวิหาร คณะผู้แทนฝ่ายไทยควรเสนอให้ปรับปรุงเอกสารในส่วนนี้ให้ตรงกับข้อเท็จจริง
บทที่ 6 การดำเนินการแผนงาน มีข้อความในข้อ 6.1 การคุ้มครองที่บัญญัติตามกฎหมาย หน้าที่ 97 กล่าวถึงกฎหมายต่างๆ ที่กัมพูชาประกาศใช้สำหรับการคุ้มครองปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบ ดังนั้นหากไทยยอมรับแผนบริหารจัดการนี้ กัมพูชาอาจนำมากล่าวอ้างได้ว่าไทยยอมรับสิ่งที่กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้ได้
จากการตรวจสอบพบว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดตั้งสถานที่ปราสาทพระวิหาร ค.ศ. 2003 อนุกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดตั้งป่าที่คุ้มครองสำหรับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสัตว์ “พระวิหาร” ค.ศ. 2002 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดขอบเขตของสถานที่ปราสาทพระวิหาร ค.ศ. 2006 มีการกำหนดอาณาเขตที่ล่วงล้ำเข้ามาในเขตไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดขอบเขตของสถานที่ปราสาทพระวิหาร ค.ศ. 2006 ในมาตรา 4 ได้กำหนดเขต 1 เขต 2 และเขต 3 ตามแผนที่ประกอบที่เกินเข้ามาในเขตไทยอย่างชัดเจน คณะผู้แทนฝ่ายไทยจึงควรยกประเด็นนี้เป็นเหตุผลประกอบการคัดค้านแผนบริหารจัดการดังกล่าว
บทที่ 7 โปรแกรมที่เสนอสำหรับการปฏิบัติ ในบทนี้ไม่มีเนื้อหาส่วนที่สำคัญที่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องเขตแดน
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านโดยทั่วไปที่จะได้ทราบถึงรายละเอียดที่สำคัญของแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารในส่วนที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องเขตแดน รวมทั้งหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่คณะผู้แทนฝ่ายไทยในนำไปใช้ประกอบการคัดค้านแผนบริหารจัดการดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป
(โดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ suwanchai.ss@gmail.com )
Notice: Undefined index: subcatid in /mnt/public_html/news_detail.php on line 200
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น