จับตาศาลโลก 18 กรกฎาคม: ความผิดพลาด เขตแดนไทย และ MOU ปี 2543
|
โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
|
หลายคนคงทราบแล้วว่าในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จะอ่านคำสั่งกรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว
ศาลจะสั่งหรือไม่สั่งตามที่กัมพูชาขอหรือไม่อย่างไร ต้องรอลุ้นกัน
แต่น้อยคนคงทราบว่า ช่วงก่อนวันเลือกตั้งที่ผ่านพ้นมา ศาลโลกได้ให้เจ้าที่ดำเนินการ (อย่างเงียบๆ) เพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขคำแปลคำพูดของฝ่ายไทย ซึ่งศาลเคยแปลผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้
คำแปลฉบับเดิมที่ผิดพลาด เมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2554 ฝ่ายไทยได้ชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลโลก กรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลมีคำสั่งระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505) และศาลได้บันทึกคำชี้แจงของฝ่ายไทยส่วนหนึ่งเป็นเอกสาร CR 2011/14 เป็นฉบับ uncorrected (คือยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยคู่ความ)
ต่อมาช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2554 เจ้าหน้าที่ศาลโลกได้แปลเอกสาร CR 2011/14 ดังกล่า
ว ซึ่งในคำแปลหน้าที่ 4 ได้แปลคำพูดย่อหน้าที่ 10 ของนายวีรชัย พลาศรัย
(ตัวแทนฝ่ายไทย ซึ่งชี้แจงต่อศาลเป็นภาษาฝรั่งเศส) มาเป็นภาษาอังกฤษดังนี้:
"On 19 July, work began to erect a barbed wire fence and a sign marking the boundary of the Temple area,
according to the line which had been adopted by the Council of
Ministers on 10 July for the purposes of implementing the 1962
Judgment..."
(เน้นคำโดยผู้เขียน, ทั้งนี้ "a sign marking the boundary of the Temple area" ถูกแปลจากภาษา
ฝรั่งเศสต้นฉบับของนายวีรชัยที่ว่า "...un panneau marquant la limite de
la zone du temple..." ดู http://bit.ly/n7fnFx และ http://bit.ly/qLpWUN)
คำแปลข้างต้นปรากฏอยู่ในบริบทที่ว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2505 ศาลโลกได้พิพากษาว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาและไทยต้องถอนกำลังทหารออกจาก "บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท" (vicinity) แต่เมื่อคำพิพากษาไม่ได้ระบุขอบเขตของบริเวณดังกล่าวไว้ คณะรัฐมนตรีไทยจึงได้กำหนด "เส้นปฏิบัติการ" เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 เพื่อให้ไทยสามารถปฏิบัติตามคำพิพากษา
และจากนั้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2505 ไทยจึงเริ่มดำเนินการวางรั้วหลวดหนามรอบตัวปราสาทและตั้งป้ายเพื่อบ่งบอก "boundary" (ซึ่งอาจแปลว่า "เขตแดน" หรือ "ขอบเขต") ของบริเวณปราสาทพระวิหาร ตาม "เส้นปฏิบัติการ" เพื่อให้เกิดความชัดเจน
ต่อมาคำแปลดังกล่าวได้ทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับคำว่า "la limite" และ "boundary" ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้เขียนจำต้องให้ความเห็นทางกฎหมายในบทความเรื่อง "คำเตือนถึงอภิสิทธิ์: โปรดอย่าปล่อยให้ศาลโลกแปลคำผิด" (http://on.fb.me/mVaV6i) เพื่อเตือนรัฐบาลไทยว่า ไม่ควรปล่อยให้ศาลใช้ถ้อยคำที่ไม่รัดกุมและอาจมีปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ
กล่าวคือ การที่ศาลนำคำว่า "la limite" ที่นายวีรชัยใช้มาแปลเป็น "boundary" นั้นสามารถทำให้ผู้อ่าน (ซึ่งอาจรวมไปถึงผู้พิพากษาในคดี) เข้าใจไทยผิด
เพราะคำฝรั่งเศส "la limite" ที่นายวีรชัยกล่าวไปนั้น หมายถึง "ขอบเขต" หรือ "the limit" ของบริเวณปราสาทพระวิหาร แต่คำอังกฤษ "boundary" ที่ศาลนำมาใช้แปล แม้ทางหนึ่งอาจแปลว่า "ขอบเขต" ได้ แต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดว่าหมายถึง "เขตแดน" (ระหว่างไทยและกัมพูชา) บริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งกระทบต่อรูปคดีอย่างมาก เพราะหากศาลนึกว่าไทยกำลังพูดถึง "เขตแดน" ก็เสมือนว่าไทยยอมรับว่าคำพิพากษา พ.ศ.2505 ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไปแล้ว (ซึ่งผู้เขียนย้ำว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะคำพิพากษา พ.ศ.2505 นั้น ศาลเพียงตีความสนธิสัญญา และมิได้ลากเส้นเขตแดนแต่อย่างใด)
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2554 กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่คำแปลภาษาไทยในส่วนที่ตรงกับข้อความดังกล่าว โดยใช้คำว่า "ขอบเขต" แทนคำว่า "la limite" เช่นกัน (http://bit.ly/oVLzUz)
ศาลโลกแก้ไขคำผิด ล่าสุดช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2554 ศาลโลกได้ดำเนินการอย่างเงียบๆ เพื่อแก้ไขคำแปลเอกสาร CR1 2011/14 ฉบับ uncorrected หน้าที่ 4 ให้ปรากฏเป็นคำแปลปัจจุบัน (ฉบับ uncorrected เช่นเดิม) ดังนี้:
"On 19 July, work began to erect a barbed wire fence and a sign marking the limit of the Temple area,
according to the line which had been adopted by the Council of
Ministers on 10 July for the purposes of implementing the 1962
Judgment..."
(เน้นคำโดยผู้เขียน, นอกจากนี้ศาลยังได้แก้ไขถ้อยคำลักษณะเดียวกันในย่อหน้าที่ 11 คือเปลี่ยนคำว่า "boundary" มาเป็นคำว่า "limit" แทน, ดู http://bit.ly/pvXo6d)
กล่าวคือ ศาลได้แก้ไขคำแปลคำชี้แจงของฝ่ายไทย จากเดิมที่ศาลใช้คำว่า "the boundary of the Temple area" มาเป็น "the limit of the Temple area" เพื่อเป็นการรับทราบจุดยืนของไทยอย่างชัดเจนว่า ไทยไม่ได้ยอมรับว่าคำพิพากษา พ.ศ.2505 เป็นเรื่องการกำหนด "เขตแดน" (ระหว่างไทยและกัมพูชา) บริเวณปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด แนวรั้วรอบปราสาทจึงเป็นเพียง "ขอบเขต" เท่านั้น (ผู้สนใจประเด็นดังกล่าว ดูคำอธิบายได้ที่ http://on.fb.me/oq6cUZ)
ดังนั้น "เขตแดน" ที่แท้จริงระหว่างไทยและกัมพูชา ณ วันนี้คือเส้นหรือบริเวณใด จึงมิได้เกี่ยวข้องกับศาลโลก และย่อมไม่ใช่สิ่งที่ศาลจะตีความได้ แต่ "เขตแดน" เป็นเรื่องที่ต้องว่าไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ.2543 (ส่วนจะส่งผลดีต่อไทยหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นที่สำคัญเช่นกัน)
แม้คำแปลดังกล่าวไม่มีผลผูกพันศาลโดยตรง แต่อย่างน้อย การที่ศาลให้เจ้าหน้าที่แก้ไขคำว่า "boundary" (เขตแดน) มาเป็น "limit" (ขอบเขต) นี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าศาลให้ความสำคัญกับประเด็นละเอียดอ่อนดังกล่าว ที่ไทยต่อสู้ไว้ว่า คดีนี้มิใช่เรื่องเขตแดนดั่งที่กัมพูชาพยายามจะทำให้เป็น
คำชมถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์และกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ว่ารัฐบาลจะทราบเรื่องคำแปลที่ผิดพลาดนี้มาก่อนอยู่แล้ว หรือจะได้ทราบจากบทความของผู้เขียนนั้นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับประเด็นที่ว่ารัฐบาลต้องรับฟังเสียงของประชาชน และทันทีที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งได้แก่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ทราบถึงความผิดพลาดดังกล่าว ก็ได้ดำเนินการประสานงานเพื่อให้ศาลแก้ไขคำแปลดังกล่าวให้ถูกต้อง
ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันสมควรได้รับคำชม และกำลังใจจากประชาชนเช่นกัน จริงอยู่ ที่ผ่านมาได้มีคำถามตลอดจนเสียงต่อว่าวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีปราสาทพระวิหารโดยตรงอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบันทึกความเข้าใจ MOU พ.ศ.2543 สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มาจนถึงแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique**) พ.ศ.2551 สมัยรัฐบาลพลังประชาชน จนถึงกรณีภาคีอนุสัญญามรดกโลก (ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่ชัดว่าการถอนตัวมีผลหรือไม่ ผู้สนใจโปรดดู http://on.fb.me/1WBhHm)
แต่ในขณะเดียวกันการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศก็สมควรได้รับคำชื่นชมในบางเรื่องเช่นกัน นอกจากเรื่องคำแปลข้างต้นแล้ว ยังมีตัวอย่างอื่น อาทิ การใช้เทคโนโลยี twitter รายงานความเคลื่อนไหวของฝ่ายไทยที่ศาลโลก คล้ายการรายงานสด ช่วงวันที่ 29-30 พฤษภาคมที่ผ่านมา (http://bit.ly/pGjO1M) แม้เจ้าหน้าที่อาจได้ย่อข้อความจากบทแถลงที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว และเป็นการเสนอข้อมูลข้างเดียวของฝ่ายไทยก็ตาม แต่อย่างน้อยประชาชนคนไทยก็สามารถติดตามข่าวสารได้รวดเร็วทันเหตุการณ์
การใช้เทคโนโลยี facebook เผยแพร่รูปภาพการทำงานของคณะทำงานฝ่ายไทยที่ศาลโลก (http://on.fb.me/nSQlj5) แม้เจ้าหน้าที่อาจจะคัดมาเฉพาะภาพขณะทำงานเพียงไม่กี่รูป ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดเหตุการณ์จริงได้หมด แต่อย่างน้อยประชาชนก็ได้ทราบถึงบรรยากาศของการสู้คดีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
การให้ข้อมูลประชาชนในลักษณะ
ถาม-ตอบ หรือ ย่อสรุปข้อต่อสู้ที่ฝ่ายไทยได้แถลงต่อศาล
(http://bit.ly/nJOt1Q) แม้เจ้าหน้าที่จะนำเสนอข้อมูลฝ่ายเดียว
โดยที่ไม่ได้สรุปข้อกล่าวหาและข้อต่อสู้ที่กัมพูชาอ้างในลักษณะเดียวกัน แต่ก็ถือว่าแปลและสรุปได้ดีในระดับหนึ่ง คือย่อคำแถลงของตัวแทนและทนายความฝ่ายไทยเป็นรายบุคคลและแยกเป็นประเด็น ทำให้ประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเป็นภาษาไทยได้สะดวก
นอกจากนี้ ในฐานะผู้ที่เคยช่วยทำคดีในศาลโลกและศาลอื่นมาบ้าง ผู้เขียนมั่นใจว่ายังมีความดีของข้าราชการไทยผู้อดหลับอดนอนอีกหลายกรณีที่อาจมิได้เปิดเผยต่อประชาชน
ที่กล่าวมา มิได้หวังให้กระทรวงการต่างประเทศรู้สึกปลื้มอกปลื้มใจ แต่ผู้เขียนประสงค์จะสื่อถึงความดังต่อไปนี้
1.ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 คือสิทธิได้รับและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของราชการ ยกเว้นมีความจำเป็นที่เปิดเผยไม่ได้ เช่น เรื่องความมั่นคง ราชการทุกหน่วยงานต้องเคารพสิทธินี้ และหน่วยงานที่ดีย่อมต้องยึดมาตรฐานที่สูงกว่าพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 (ซึ่งสมควรได้รับการแก้ไข) โดยเฉพาะการอาศัยเทคโนโลยีที่ประหยัดและรวดเร็ว ดังที่กระทรวงการต่างประเทศได้ทำเป็นตัวอย่าง
2.ข้าราชการมืออาชีพที่ทำงานฉับไวมีประสิทธิภาพและโปร่งใสต่อประชาชน มีได้อีกในประเทศไทย และประชาชนควรเรียกร้องให้ข้าราชการยึดมาตรฐานดังกล่าว มิใช่จำยอมว่า "เช้าชามเย็นชาม" คือเรื่องปกติ และไม่จำกัดเฉพาะข้าราชการประจำทั่วไปเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงข้าราชการหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น เข้าประชุมสภาตรงเวลาหรือไม่ หรือสละเวลามาพบปะประชาชนหลังวันเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน หรือข้าราชการในมหาวิทยาลัย เช่น สอนหนังสือ ตรวจข้อสอบและผลิตผลงานอย่างท่วงทันเหตุการณ์หรือไม่ หรือแม้แต่ข้าราชการตุลาการ ประชาชนผู้เป็นเจ้านายตัวจริงย่อมมีสิทธิถามว่า เหตุใดคดีความในศาลไทยจึงใช้เวลานานและคั่งค้างยืดเยื้อจำนวนมาก เป็นต้น
3.ในยามที่ประเทศชาติมีปัญหาต้องฝ่าฟันร่วมกัน การมองเห็นความดี กล่าวชม และให้กำลังใจกันในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นั้น ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าการต่อว่า ตักเตือน หรือติติงกันในเรื่องที่ใหญ่ และหากเราเพ่งเล็งทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง การฝ่าฟันปัญหาร่วมกันย่อมเป็นไปโดยลำบาก
4.เมื่อผู้ใดทราบถึงความผิดพลาดของตน ไม่ว่าผู้นั้นจะสูงศักดิ์ดั่งศาลที่นานาชาติเคารพ หรือทรงอำนาจดั่งนักการเมืองที่ได้รับคะแนนท่วมท้นจากทั่วประเทศ หากผู้นั้นกล้าหาญที่จะยอมรับข้อผิดพลาดและปรับปรุงแก้ไข ย่อมมิใช่เรื่องที่จะซ้ำเติมกัน แต่เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันสนับสนุนและชื่นชม
จับตาศาลโลกวันที่ 18 กรกฎาคม ! นอกจากศาลโลกจะได้แก้ไขคำแปลผิดให้ถูกต้องแล้ว ล่าสุดศาลยังได้แจ้งว่าในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมนี้ ศาลจะอ่านคำสั่งกรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งกัมพูชาขอไว้สามข้อ คือ
(1)สั่งให้ไทยถอนทหารออกไปจากดินแดนของกัมพูชา (territoire cambodgien) ในบริเวณปราสาทพระวิหาร
(2)สั่งห้ามไม่ให้ไทยดำเนินการทางทหารในบริเวณปราสาทพระวิหาร
(3)สั่งให้ไทยงดเว้นการกระทำที่อาจกระทบต่อสิทธิของกัมพูชา หรืออาจทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น
ผู้เขียนมิอาจล่วงรู้ผลของคำสั่งในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมนี้ได้ แต่อาจตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นดังนี้
1.จับตาเรื่อง "เขตแดน" ที่แฝงมาในคำขอของกัมพูชา จากคำขอทั้งสามข้อข้างต้น คำขอข้อแรกมีนัยเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนชัดเจน คือ หากศาลสั่งตามที่กัมพูชาขอ ย่อมแปลว่ามี "พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร" ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา ในขณะที่คำขอสองข้อหลัง แม้หากศาลสั่งตามที่กัมพูชาขอ ก็มองได้ว่าไม่เกี่ยวกับเขตแดนโดยตรง เช่น อาจมองเป็นเรื่องการรักษาตัวปราสาทที่เป็นวัตถุแห่งคดี
ไม่ว่าวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ศาลจะมีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่แบบใด สิ่งที่ควรจับตามองก็ คือ ศาลจะแสดงจุดยืนในเรื่องคำขอข้อแรกที่กล่าวถึง "เขตแดน" อย่างไร? ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้สามแนวทาง
แนวแรก ศาลอาจปฏิเสธคำขอข้อแรกโดย
สิ้นเชิง
จะด้วยเหตุผลว่าศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตแดนหรือด้วยเหตุผลอื่นที่
ฝ่ายไทยอ้าง เช่น ประเด็นเขตแดนในปัจจุบันต้องว่าไปตาม MOU พ.ศ.2543 ฯลฯ
ทั้งนี้ การที่ศาลได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขคำแปลผิด จากคำว่า "boundary" (เขตแดน) มาเป็น "limit" (ขอบเขต) นี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า ศาลให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวที่ไทยต่อสู้ไว้
แนวที่สอง ศาลอาจมีคำสั่งเป็นการทั่วไปตามที่กัมพูชาขอ อาจสั่งโดยไม่อธิบายว่า "พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร" ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา คือ พื้นที่ใด ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจน แต่ก็เป็นความคลุมเครือที่กัมพูชาอาจนำมาใช้อ้างต่อได้
แนวที่สาม ซึ่งน่ากังวลที่สุดและไม่น่าจะเป็น คือ ศาลอาจอ้างถึงข้อเท็จจริงหรือเอกสารบางอย่าง เช่น MOU พ.ศ.2543 หรือแผนที่ภาคผนวก 1 (ซึ่ง MOU ได้อ้างถึงโดยไม่เจาะจง) และกล่าวโดยตรงหรือโดยอ้อมในทำนองว่า "พื้นที่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร" ที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชาอาจเกี่ยวข้องกับเอกสารหรือแผนที่ดังกล่าว
ซึ่งอาจเป็นการตีความกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงเรื่องเขตแดน ดังที่มีผู้ห่วงใยได้เตือนเกี่ยวกับ MOU ตลอดมา
สำหรับประเด็นที่ไทยได้ชี้แจงต่อศาลโลกไปเมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2554 ดูรายละเอียดได้ที่ http://sites.google.com/site/verapat/temple/2011
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น